วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 03 Oct 2022 08:33:23 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จะหยุดวิกฤต ‘ขยะ’ อย่างไรในมุมมอง ‘สิงห์ วรรณสิงห์’ จากงาน Sustainability Expo 2022 https://positioningmag.com/1402733 Tue, 04 Oct 2022 10:00:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1402733

ถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วสำหรับ Sustainability Expo 2022 (SX2022) หรือมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ได้ 5 องค์กรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผนึกกำลังกันพัฒนา โดยภายในงานก็มีการจัดกิจกรรมมากมาย และหนึ่งในความน่าสนใจคือ การพูดคุยถึงแนวทางการสร้างความยั่งยืนจาก Speaker ที่มีชื่อเสียงในวงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘สิงห์ วรรณสิงห์’


จากทำคลิปกำจัดขยะ สู่การศึกษาอย่างจริงจัง

เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จัก สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล จากรายการ เถื่อน Travel ที่พาไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่หลายคนอาจไม่คิดที่จะไป แต่หลังจากที่สิงห์ได้เดินทางไปทั่วโลกทำให้เขาได้เห็น ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม ทำให้เริ่มหันมันศึกษาอย่างจริงจัง

“ความตั้งใจตอนแรกคือ ว่าจะเดินทางไปทั่วโลกเพื่อไปสร้างทำสารคดีเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนทุกมุมโลกเลย แต่โดน COVID-19 เบรกไว้ เลยหันมาดูว่าในไทยมีปัญหาวิกฤตอะไรบ้าง ซึ่งก็มีเยอะมาก เพราะมันแบ่งซอยย่อยเป็นหลายหัวข้อมาก” วรรณสิงห์ อธิบาย

วรรณสิงห์ เล่าว่า สาเหตุที่เขาหันมาศึกษาเรื่อง วิกฤตขยะ อย่างจริงจังเป็นเพราะเคยถูกจ้างให้ทำวิดีโอเกี่ยวกับการ สถานีการจัดการขยะอ่อนนุช ว่า แยกไปก็เทรวม มันจริงไหม จากนั้นก็มีโอกาสได้ทำสารคดีเกี่ยวกับขยะเรื่อยมา จนในที่สุดก็ตัดสินใจ เรียนปริญญาโทด้านการจัดการขยะพลาสติกทางทะเล


ไทยติด Top 10 ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยติด อันดับ 6 ของโลก ที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล แม้ตอนนี้อันดับจะลดลงเป็นที่ 9-10 แต่ก็ยังถือว่าติด Top Ten ของโลกอยู่ดี ซึ่งปัญหาไม่ได้เกิดจากการ มีขยะพลาสติกเยอะกว่าประเทศอื่น แต่จัดการได้แย่กว่าประเทศอื่นมาก

“ปัญหาของไทยไม่ใช่การปล่อยคาร์บอน แต่เป็นปัญหาขยะทางทะเล เพราะมลพิษของมันกระจายไปทั่วโลก ซึ่งถ้าดูเฉพาะการปล่อยคาร์บอนของไทยจะประมาณ 3.7-3.8 ตันต่อหัวต่อปี จากค่าเฉลี่ยโลกที่ 4 ตันต่อคนต่อปี ส่วนประเทศที่ปล่อยเยอะ ๆ จะเป็นประเทศในตะวันออกกลางซึ่งปล่อยกันปีละ 20 ตันต่อคนต่อปี หรือ อเมริกาที่ปล่อยปีละ 16 ตันต่อคนต่อปี”


ขยะเป็นปัญหาปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าพฤติกรรม

แน่นอนว่าเรื่อง ขยะ มีความละเอียดอ่อนในการในการจัดการดูแลเพราะมีแยกเยอะมาก ขณะที่หลายคนมองเป็น ปัญหาเชิงพฤติกรรม คือ คนไม่แยกขยะ, คนทิ้งไม่เป็นที่, คนไม่มีจิตสำนึก แต่จากข้อมูลที่ได้เห็นเรื่องขยะกลับเป็น ปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบ ไม่ว่าจะเรื่องการจัดการบริหารจัดการ, เรื่องของกฎหมายรองรับ, เรื่องของงบประมาณและเงินทุน และการนำเทคโนโลยีต่างประเทศที่นำมาประยุกต์ใช้

“แน่นอนว่าในระบบจัดการขยะมันมีเรื่องพฤติกรรมมนุษย์รวมอยู่ในนั้น แต่มันไม่ใช่เป็นส่วนใหญ่อย่างที่เราเข้าใจกัน เรามักจะคิดว่าเราต้องแก้ที่พฤติกรรม แก้ที่จิตสำนึก ผมว่ามันเป็นส่วนที่น้อยมากในการแก้ปัญหาวิกฤตขยะ”

ปัจจุบัน การจัดการขยะทางอบต. อบจ. จัดการกันเอง ส่วนในแง่ของกฎหมายรองรับมีแค่ พ.ร.บ รักษาความสะอาดฯ พ.ร.บ.อนามัย ไม่ให้ไปปนเปื้อนในที่สาธารณะ แต่ไม่มีกฎหมายระดับชาติ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้มันไม่ได้มีมาตรฐานระดับชาติ แล้วไม่มีงบประมาณมากพอ ที่จะทำให้ทุกท้องถิ่นสามารถทำได้ระดับที่ดีเท่ากัน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจก็ต้องรับผิดชอบด้วย ใครที่ผลิตอะไรก็ควรรับผิดชอบจัดการสิ่งเหล่านั้นให้จบสุดทาง

“พอจัดการขยะต้นทางไม่ดี สุดท้ายไปลงบ่อฝังกลบ หรือในบางจังหวัดไม่มีรถขยับไปเก็บด้วยซ้ำ ชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำไง ก็เผาทิ้ง กลายเป็นเกิดมลพิษในบนดิน เป็นมลพิษในอากาศ หรือในกรุงเทพที่การจัดการขยะไปไม่ถึงเขาก็ทิ้งลงน้ำ จะเห็นว่ามีเตียงเต็มไปหมด”


ระบบดีจิตสำนึกจะตามมา

หากสามารถสร้างระบบที่ดี มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเหมือนที่ต่างประเทศมี ก็จะช่วย เปลี่ยนพฤติกรรม โดยคนไทยทุกคนรู้ว่าการแยกขยะนั้นดี แต่ 9 ใน 10 คน ไม่ศรัทธาเรื่องแยกขยะ เพราะยังคิดว่าแยกไปก็เทรวม ซึ่งตอนนี้มันมีแค่ระบบของเอกชน ไม่มีระบบของภาครัฐในการรับรอง ดังนั้น ไทยต้องมีโครงสร้างทางกฎหมายที่บังคับใช้ มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้ ต้องให้การศึกษาประชาชนในเรื่องเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่มีหลักสูตรในโรงเรียนเรื่องการแยกขยะ

“การแยกต้นทางจะนำไปสู่ต้นทุนปลายทางในการจัดการที่ต่ำลงอย่างมหาศาล ซึ่งจุดเริ่มต้นง่าย ๆ คือ แยกเศษอาหารออกจากขยะที่เหลือ การจัดการจะง่ายขึ้นเยอะมาก แต่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะการปรับระบบต่างหากที่เป็นสิ่งทำให้อิมแพ็คมากกว่า”


จัดการขยะดี ๆ สร้างรายได้กว่าที่คิด

วรรณสิงห์ ยกตัวอย่าง ประเทศสวีเดน มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งได้ทั้งพลังงานและกำจัดขยะ และถ้าจัดการขี้เถ้าดี ๆก็ไม่ทำให้เกิดมลพิษลงสู่สิ่งแวดล้อม โดยทางสวีเดนมีขยะน้อยจนต้องนำเข้าขยะมาเผาเพราะทำกำไรได้ หรือที่เมือง คามิคาสึ ของญี่ปุ่นก็มีการแยกขยะเป็น 37 ประเภท โดยรีไซเคิลทุกอย่างเอากลับมาใช้ หรืออย่างกรุงเทพ ก็มีการนำเอาขยะเศษอาหารไปหมักเป็นปุ๋ย ซึ่งปัจจุบัน 15-50% ของขยะทั้งหมดในกรุงเทพเป็นขยะเศษอาหาร

“หลายคนก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วขยะเป็นเงินเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก อลูมีเนียม แก้ว มันกลับเข้ามาสู่ระบบได้ อย่างกระป๋องอลูมิเนียมก็ราคาดีมากกิโลกรัมละ 50-60 บาท แล้วก็ขยะรีไซเคิลที่ไม่ถูกนำมารีไซเคิลก็เป็นการสูญเสียเชิงทรัพยากร ตอนนี้คนเดียวที่เห็นคุณค่าเหล่านี้คือซาเล้ง”

วรรณสิงห์ ทิ้งท้ายว่า ปัญหาบนโลกนี้อีกมากมายที่มากกว่าขยะ โดยเฉพาะ เรื่องโลกรวน ซึ่งจะเห็นว่าหน้าฝนที่ยาว 6 เดือนนี้ พายุที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แม้ไทยจะไม่ได้มีผลเยอะนักในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโลก แต่สิ่งที่เมืองไทยควรจะทำคือ ลดขยะ และ เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม กับสภาวะของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องการผลิตพลังงาน เรื่องของการผลิตอาหาร และเรื่องของโครงสร้างการคมนาคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกสูงมากในช่วง 10-20 ปีจากนี้ ซึ่งมันเข้ามาใกล้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

]]>
1402733