วังจันทร์วัลเลย์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 18 Jul 2023 07:50:18 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะลึกโปรเจกต์ ‘Horrus’ โดรน 5G อัจฉริยะที่เกิดจากผนึกกำลังของ AIS และ ARV https://positioningmag.com/1438053 Wed, 19 Jul 2023 04:00:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438053

เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักกับ โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ (UAV : Unmanned Aerial Vehicle) และน่าจะรู้ถึงข้อจำกัดที่โดรนต้องมีคนบังคับ แต่ล่าสุดข้อจำกัดดังกล่าวได้ถูกปลดล็อคแล้ว พร้อมยกระดับความสามารถไปอีกขั้นสู่ 5G AI Autonomous Drone ที่เกิดจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่าง AIS 5G กับกลุ่ม ปตท. ผ่านการทำงานกับบริษัท ARV ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย


พัฒนากว่า 3 ปี สู่ 5G AI Autonomous Drone System

หลายคนน่าจะรู้จักกับ วังจันทร์วัลเลย์ ฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่เป็นพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอากาศยานไร้คนขับ, ยานยนต์อัตโนมัติ, นวัตกรรมพลังงาน และด้านคลื่นความถี่พิเศษ

โดยนับตั้งแต่ปี 2561 เอไอเอส ร่วมกับกลุ่ม ปตท. ในการนำ 5G และดิจิตัลแพลตฟอร์มมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ และล่าสุด AIS ได้ร่วมกับ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. พัฒนา 5G AI Autonomous Drone System โดยใช้ชื่อว่า Horrus ที่พัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด

“เทคโนโลยี 5G ไม่ใช่ประโยชน์พื้นฐานของผู้บริโภคเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมมาก 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นตัวเชื่อมของทุกเทคโนโลยีบนโลกนี้ โดยในพื้นที่โซนภาคตะวันออกซึ่งครอบคลุมพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี (EEC) รวมถึงพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ AIS 5G ได้ ครอบคลุมแล้ว 100% และครอบคลุมประเทศไทยแล้ว 87%” ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าว


5G ช่วยอัพเกรดการใช้งานโดรนไปอีกขั้น

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย เล่าว่า โจทย์ของการพัฒนา Horrus คือ การบินได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้มนุษย์มาบังคับ แต่การจะทำได้นั้นจำเป็นต้องใช้ เซลลูลาร์โดรน (Cellular Drone) เนื่องจากต้องใช้ แบนด์วิดท์ที่สูง และ ความหน่วงต่ำ เพื่อให้ตอบสนองแบบเรียลไทม์ มีระยะครอบคลุมเส้นทางการบินให้มีความเสถียรและปลอดภัย สามารถรับ-ส่งต่อข้อมูลทั้งภาพ เสียง และวิดีโอ กลับมายังศูนย์ควบคุมได้แบบรวดเร็วและเรียลไทม์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี 5G ถูกนำเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโดรนให้ตอบโจทย์การใช้งาน

ดังนั้น ทีมวิศวกรของ AIS จะต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างสมบูรณ์ อาทิ การออกแบบ Network Architecture หรือ สถาปัตยกรรมโครงข่าย 5G SA (Standalone) บนคลื่น 2600 MHz โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี Autonomous Network ซึ่งมีความอัจฉริยะในการจัดการและดูแลระบบได้ด้วยตัวเอง, การใช้ Network Slicing เพื่อตอบสนองแอปพลิเคชันที่ต้องการคุณสมบัติทางเครือข่ายที่แตกต่างกัน รวมถึงบริการ MEC (Multi-access EDGE Computing) และ PARAGON Platform เพื่อรองรับการบริหารจัดการ และพัฒนาโซลูชันที่ต้องการความหน่วงต่ำ

“ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีโดรน คือ ต้องมีคนบังคับโดรน แบบ Line of sight หรือ ต้องคือต้องบินโดรนอยู่ในระยะสายตาของผู้บังคับโดรนเท่านั้น  ดังนั้น เราจึงต้องการทำให้เหนือกว่านั้น โดยใช้เซลูลาร์โดรน จากตอนแรกเราต้องติดมือถือไปกับโดรน แต่ตอนนี้เพียงแค่ใส่ซิม โดรนก็สามารถทำงานได้เลย”


เริ่มทดลองใช้จริงกับการก่อสร้างและการจราจร

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ในเครือ ปตท. สผ. อธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยี 5G และ Network Slicing จะช่วยเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล ลดความหน่วงในการสั่งการควบคุมโดรน มีความเสถียรมากกว่าสัญญาณวิทยุและ Wifi จึงทำให้ Horrus สามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย และเป็นระบบอัตโนมัติตามเวลาและเส้นทางการบินที่กำหนดไว้ล่วงหน้าสามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติและส่งแจ้งเตือนกลับมาที่ศูนย์ควบคุมได้แบบเรียลไทม์

ที่ผ่านมาบริษัท ARV ได้เริ่มมีการทดลองใช้ Horrus ในการ ติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง โดย Horrus จะเก็บข้อมูลภาพเพื่อมาทำการเทียบกับข้อมูลก่อนหน้าเพื่อตรวจสอบความคืบหน้า นอกจากนี้ ได้มีการร่วมกับ กรมทางหลวง ในการใช้ Horrus สำรวจข้อมูลสภาพการจราจรและรายงานอุบัติเหตุต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ในอนาคตยังสามารถนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อีกมากมาย

“ด้วยเครือข่าย 5G ทำให้ Horrus สามารถบินไกลกว่าการใช้สัญญาณวิทยุทั่วไป ช่วยให้สามารถบินได้หลายครั้ง และบินพร้อมกันได้หลายลำ ไม่ว่าจะอยู่กรุงเทพหรือที่ไหนก็สามารถสั่งงานได้ โดย Horrus จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัด อาทิ การใช้โดรนตรวจสอบการทำงานในพื้นที่โรงงาน, การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในธุรกิจของกลุ่ม ปตท.” ดร.ธนา กล่าว


เชื่อ 5G จะช่วยพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือกับบริษัท ARV แสดงให้เห็นถึงภารกิจของ AIS ที่ต้องการนำนวัตกรรมมาเสริมสร้างและพัฒนา พร้อมขับเคลื่อน Digital Economy ของไทย ผ่านการเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรต่าง ๆ และ Use case ซึ่งการใช้ 5G ยกระดับโดรน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ในการใช้โดรนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

“เรามองว่าสิ่งที่เราทำเป็นแค่ 10% ของโซลูชันที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีในอนาคต ดังนั้น ต้องจับตาดูถึงความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ของ AIS ที่จะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเติบโตของภาคอุตสหกรรมในอนาคต” ธนพงษ์ ย้ำ

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน

“Your Trusted Smart Digital Partner”

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่

Email : [email protected]
Website : https://business.ais.co.th

 

 

]]>
1438053
IOC : อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ “วอร์รูม” แห่งเมืองนวัตกรรม “วังจันทร์วัลเลย์” https://positioningmag.com/1318229 Mon, 08 Feb 2021 10:00:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1318229

“วังจันทร์วัลเลย์” กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ โดยเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ และจะเป็นต้นแบบเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทย การจัดการภายในเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจึงต้องมี “วอร์รูม” ศูนย์กลางการรับข้อมูล มอนิเตอร์ และสั่งการ ซึ่งก็คือ “อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ” หรือ IOC แห่งนี้

สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นหูกับ “วังจันทร์วัลเลย์” พื้นที่นี้คือแหล่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขนาด 3,454 ไร่ ในตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดยระยอง พัฒนาโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายในประกอบด้วยโครงสร้างหลายส่วนที่จะสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของไทย สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

เมื่อเป็น “เมืองนวัตกรรม” แหล่งบ่มเพาะงานวิจัย ตัวเมืองเองจึงสร้างขึ้นบนพื้นฐานการจัดการอัจฉริยะเช่นกัน ทำให้วังจันทร์วัลเลย์มีองค์ประกอบภายในแบบ Smart City ครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Economy, Smart People, Smart Living, Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy และ Smart Governance องค์ประกอบเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดมาเป็นโครงสร้างภายในเมือง เช่น การติดโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาดกระจายไฟฟ้าไปทั้งโครงการ รถประจำทางพลังงานไฟฟ้ารับส่งภายในพื้นที่ เป็นต้น

การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะรูปแบบนี้ย่อมต้องมีดาต้ามหาศาล และต้องมีศูนย์กลางของระบบบริหาร ทำให้วังจันทร์วัลเลย์มีอาคารหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลระบบทั้งหมดโดยเฉพาะคือ “อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center หรือ IOC)”

IOC เป็นอาคารปฏิบัติการ 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,700 ตารางเมตร ยังไม่รวมพื้นที่ดาดฟ้าอีก 1,300 ตารางเมตร ภายในจะมีห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ และที่เป็นไฮไลต์ก็คือ “ห้องควบคุมปฏิบัติการ” (Control Room) ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นวอร์รูมแห่งวังจันทร์วัลเลย์ เป็นศูนย์กลางควบคุมให้ระบบในพื้นที่นี้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น

ระบบสุดไฮเทคภายในห้องควบคุมฯ ของ IOC

ภายในห้องควบคุมปฏิบัติการจะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้อย่างเต็มที่ ในแง่โครงสร้างพื้นฐาน ห้องนี้จะมี Video Wall สูงประมาณ 2.7 เมตร ยาวประมาณ 14.5 เมตร ซึ่งเกิดจากจอ LED ขนาด 55 นิ้ว จำนวน 48 ชุดเรียงต่อกัน และแน่นอนว่ามี Work Station ด้านหน้าจอเหล่านี้ให้กับพนักงานปฏิบัติการ (operators) ได้นั่งทำงานระหว่างวัน

ส่วนระบบที่มีการนำมาใช้งานเพื่อควบคุมเมืองอัจฉริยะ ได้แก่

o Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ แบบ Real-time เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบรวบรวมน้ำเสีย

o Energy Management System (EMS) : แสดงปริมาณการรับจ่ายสาธารณูปโภคแบบ Real-time โดยรับข้อมูลมาจาก Smart Meter ที่ติดตั้งใน Tie-in Building และสามารถคำนวณค่าบริการรวมถึงออกใบแจ้งหนี้

o Building Management System (BMS) : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์งานระบบของอาคาร เช่น ระบบปรับอากาศ Access Control ระบบลิฟต์ ระบบไฟส่องสว่าง ระบบ Fire Alarm ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบ Public Address

o Security Management System (SMS) : แสดงผลควบคุม และสั่งการ ระบบ CCTV ระบบ Fire Alarm ระบบ Smart Parking ระบบ Network Monitoring System ระบบ Bus Tracking ระบบ Environmental Monitoring System ระบบ Emergency Phone

o Substation Automation System (SA) : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าภายใน Substation

o Smart Street Lighting System : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของระบบไฟส่องสว่างตามแนวถนน ทางเดิน และทางจักรยาน

o Lighting Control System : ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของระบบไฟส่องสว่างของอาคารต่าง ๆ ภายใน Utility Center

ระบบล้ำสมัยเหล่านี้เมื่อนำมาใช้งานจริงจะเป็นประโยชน์อย่างไร? ขอยกตัวอย่างระบบ EMS ที่ใช้บริหารด้านพลังงาน ทำงานควบคู่ไปกับ Smart Meter ที่ส่งข้อมูลมายังห้องควบคุมส่วนกลางและเห็นข้อมูลการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า ได้แบบ real-time ดังนั้น สามารถส่งข้อมูลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบว่าตนเองกำลังใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน และจะนำไปสู่การจูงใจให้ร่วมกันประหยัดพลังงาน รวมถึงยังออกบิลค่าไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่ต้องมีพนักงานออกจดหน่วยไฟฟ้าที่ใช้จากหน้ามิเตอร์

ที่น่าสนใจอีกระบบหนึ่งคือ Smart Street Lighting System เพราะระบบนี้ทำงานร่วมกับ IoT ที่ติดตั้งในไฟส่องสว่างตามทางเดินพื้นที่สาธารณะ ทำให้ระบบสามารถสั่งเปิด-ปิดไฟได้จากระยะไกล หรือตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ ที่สำคัญคือ ถ้ามีเหตุผิดปกติ เช่น ไฟฟ้าไม่ทำงาน ระบบสามารถแจ้งเตือนเพื่อให้ห้องควบคุมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาเมืองในปัจจุบันที่เรามักจะพบไฟส่องทางเดินเสียอยู่เสมอ โดยที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ทราบว่าต้องการการซ่อมแซม

ห้องทำงานอัจฉริยะ-อาคารรักษ์สิ่งแวดล้อม

ดังที่กล่าวไปว่าใน IOC ยังมีห้องประชุมและห้องสัมมนารองรับด้วย ภายในห้องประชุมขนาด 40 ที่นั่งนี้มีการติดตั้ง Video Wall ขนาดใหญ่ ด้วยจอแสดงผล 75 นิ้วเรียงต่อกัน 2 ชุด พร้อมกับมีจอแบบ Smart Touch-screen Interactive Display ขนาด 70 นิ้ว ผู้ร่วมประชุมสามารถเขียนลงบนหน้าจอโดยตรงและบันทึกเข้าคอมพิวเตอร์หรือส่งเป็นอีเมลได้ทันที

จอภาพในห้องนี้สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟนได้ และอุปกรณ์ไฟฟ้ายังสั่งการด้วยเสียงได้ด้วย กลายเป็นห้องประชุมที่สร้างเสริมให้การทำงานคล่องตัว เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้แบบไม่มีสะดุด

การออกแบบตัวอาคาร IOC นอกจากจะเป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีทันสมัย ตัวอาคารนี้ยังก่อสร้างได้มาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ในระดับ Certified  ซึ่งเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้ประเมินมาตรฐานการออกแบบอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

การจะได้ LEED ในระดับ Certified นี้แปลว่าอาคารจะต้องเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ทั้งจากการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ภายใน เช่น ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบเครื่องปรับอากาศ ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เป็นต้น การออกแบบอาคาร IOC จึงไม่ได้คิดเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีเพียงมิติเดียว แต่ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

เพราะ กลุ่ม ปตท. มีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ภายใต้วิสัยทัศน์ Smart Natural Innovation Platform อยู่แล้ว และจะเป็นเมืองต้นแบบแห่งอนาคตในยุค Thailand 4.0 ต่อไป

 

]]>
1318229
รู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” โครงการยักษ์ 3,400 ไร่ แหล่งปั้น “นวัตกรรม” โดย ปตท. https://positioningmag.com/1311370 Mon, 28 Dec 2020 04:00:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311370
ประเทศไทยกำลังยกระดับเศรษฐกิจด้วย “นวัตกรรม” ทำให้ ปตท. เลือกลงทุนโครงการ “วังจันทร์วัลเลย์” เนื้อที่กว่า 3,400 ไร่ ในจังหวัดระยอง ให้เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation; EECi) ส่งเสริมนวัตกรรมแบบครบวงจร ทั้งการวิจัยและพัฒนา โรงเรียนนักวิทย์ จนถึงแหล่งที่อยู่อาศัยที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับนักวิจัย

บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ในตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง คือที่ตั้งของ “วังจันทร์วัลเลย์” พัฒนาโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตามนโยบาย Thailand 4.0 สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

วิสัยทัศน์แหล่งนวัตกรรมของ ปตท. ไม่ใช่แค่เพียงนวัตกรรมด้านพลังงานเท่านั้น แต่มองครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ขยายไปถึงภาคเกษตรกรรมและบริการ ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้คนไทยในอนาคต และยังเปิดให้บริษัทที่สนใจเข้าร่วมในระบบนิเวศนี้ได้ทั้งหมด

เมื่อเป็นแหล่งวิจัยนวัตกรรม วังจันทร์วัลเลย์ จึงมีทั้งพื้นที่เพื่อการศึกษา เพื่อปั้นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่รุ่นเยาว์ รวมถึงมีแหล่งที่พักอาศัย แหล่งสันทนาการ พื้นที่ธรรมชาติให้กับนักวิจัย ซึ่งเปิดให้ชุมชนใกล้เคียงเข้ามาใช้งานได้ด้วย ทำให้ภาพของโครงการนี้มีความสมบูรณ์ครบวงจร มองแบบครบลูปในการสร้างแหล่งนวัตกรรม และครอบคลุมไปไกลกว่าเฉพาะ ปตท.

3 ส่วนประกอบสร้างนวัตกรรมใน “วังจันทร์วัลเลย์”

พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ แบ่งเป็น 3 ส่วนประกอบหลักตามคอนเซ็ปต์ Smart Natural Innovation Platform ได้แก่

1) พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) กลุ่มที่ตอบโจทย์การสร้างการศึกษา คือ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นแหล่งบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศ ช่วย Up-skill หรือ Re-skill ให้บุคลากร และเป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ รวมถึงมีกลุ่มที่ตอบโจทย์ด้านการพัฒนาทางการเกษตร มุ่งสู่การสร้างประสิทธิภาพผลผลิตและ Smart Farming ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ และ ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

2) พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม หรือ Smart Innovation Platform เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร  พร้อมรองรับวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EECi  นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลาง และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) ซึ่งมีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ

3) พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) นักวิจัย นักเรียน และชุมชนที่เกี่ยวข้องจะใช้ชีวิตได้จริงในโครงการนี้ เพราะโครงการมีการพัฒนา ที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า แหล่งนันทนาการ พื้นที่อาคารต่างๆ ยังดีไซน์แบบ Universal Design ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญเพื่อดึงดูดบุคลากรชั้นนำให้มาร่วมสร้างสรรค์งานในพื้นที่นี้

วังจันทร์วัลเลย์ ยังได้รับการประกาศเป็น “เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ” (Smart City) จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น องค์ประกอบภายในโครงการจะพัฒนาตามหลักการ Smart City ครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Economy, Smart People, Smart Living, Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy และ Smart Governance ดังนั้น นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาตรงกับองค์ประกอบของ Smart City ในหลายด้าน เรายังจะได้เห็นวังจันทร์วัลเลย์เป็นเมืองตัวอย่างของการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยภายในจะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาด กระจายไฟฟ้าสู่ทั้งโครงการด้วยระบบ Smart Grid มีรถประจำทางไฟฟ้ารับส่งภายในพื้นที่ มีทางเดินและทางจักรยานที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมือง “แซนด์บ็อกซ์” ทดลองนวัตกรรมได้ที่นี่

แหล่งพัฒนานวัตกรรมคงเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลยถ้าไม่สามารถ “ทดลอง” สิ่งใหม่ได้ ดังนั้น วังจันทร์วัลเลย์จึงประสานงานทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเปิดพื้นที่ให้โครงการนี้เป็น “แซนด์บ็อกซ์” ผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ

โครงการที่ได้ดำเนินการแล้วขณะนี้คือ 5G Play Ground เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการใช้โครงข่าย 5G และ UAV Regulatory Sandbox ทดสอบเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Unmanned Aerial Vehicle หรือก็คือ “โดรน” นั่นเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือหลายฝ่าย ได้แก่

  • สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) : สนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบได้ ช่วยให้การอนุญาตปฏิบัติแตกต่างจากเงื่อนไขที่กำหนด
  • สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) : บริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ สนับสนุนการทดสอบ 5G ในพื้นที่เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) : ในฐานะผู้บริหารจัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้การสนับสนุนการดำเนินการ UAV Sandbox
  • สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ทดสอบและพัฒนาโดรนวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาสินทรัพย์
  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) : ทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องที่ควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True5G
  • บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (ดีแทค) : พัฒนาการทดสอบกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G ควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง สั่งการรวดเร็วและให้ภาพที่คมชัด

เปิดรับผู้ที่สนใจ โครงการพร้อม 100% ในปี 2564

ขณะนี้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 95% จะเสร็จสมบูรณ์ 100% ภายในไตรมาส 3 ปี 2564 ระหว่างนี้โครงการกำลังเปิดรับผู้ที่สนใจและพันธมิตรเพิ่มเติม โดย ปตท. จะทำหน้าที่เป็น Enabler ผู้สร้างระบบนิเวศความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังตัวอย่างแซนด์บ็อกซ์ 5G และ UAV ข้างต้น จุดประสงค์เพื่อมุ่งสู่นวัตกรรมสร้าง New S-Curve ให้กับธุรกิจ

วังจันทร์วัลเลย์มีสิทธิประโยชน์ให้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าใช้บริการในโครงการ ดังนี้

  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี
  • ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ
  • ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย
  • สมาร์ทวีซ่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว
  • พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox)
  • ศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อีเมล [email protected]

]]>
1311370
คุยกับ “วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” CTO แห่ง ปตท. ภารกิจปั้น “วังจันทร์วัลเลย์” บุกเบิก 5G x UAV SANDBOX ในไทย https://positioningmag.com/1304782 Mon, 02 Nov 2020 04:00:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1304782

โลกเรากำลังจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G อย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้ ว่ากันว่าด้วยความเร็วของ 5G นั้น จะเข้ามาเปลี่ยนเเปลงไลฟ์สไตล์และการเป็นอยู่ของเราอย่างมาก ดังนั้นการสร้างรากฐานที่มั่นคงเเละพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับ “สิ่งใหม่” จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญในเเวดวง 5G ไทยช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น การเปิดตัว โครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร นำเสนอมิติใหม่แห่งเทคโนโลยี 5G มาเพิ่มขีดความสามารถการใช้งาน “โดรน”  เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมทดสอบเพื่อการวิจัยเป็นแห่งแรกของไทย พร้อมรับสิทธิพิเศษในการพัฒนาธุรกิจระยะยาว…เหล่านี้ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศไม่น้อย

วันนี้เราจะมารู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” ภารกิจพัฒนาเมืองนวัตกรรม Smart City  กับการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ผ่านมุมมองของ “เเม่ทัพ Innovation” ของ ปตท. อย่าง “วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ถึงความท้าทาย เป้าหมายเเละก้าวต่อไปของ “วังจันทร์วัลเลย์” ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็น Smart City ของไทยเเบบ 100%

@รู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” 

 “ผมคิดว่า…ทุกประเทศสามารถมี Smart City ได้”

วิทวัส เล่าย้อนไปถึงการบุกเบิก “วังจันทร์วัลเลย์” สู่การเป็น Smart City ให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ดินของ IRPC หรือบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาทาง IRPC ดำเนินการขายพื้นที่แปลงนี้ให้กับ ปตท. จนกลายมาเป็น VISTEC (สถาบันวิทยสิริเมธี), KVIS (โรงเรียนกำเนิดวิทย์) และมีสถาบันปลูกป่าเกิดขึ้น โดยใช้เนื้อที่ไปประมาณ 900 ไร่

เเต่ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่ที่มีอยู่ถึง 3,500 ไร่ ณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จึงเกิดคำถามว่า…ส่วนที่เหลือจะทำอะไรต่อดี ?

จากความเห็นของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการบริษัท ปตท. ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มองว่า “ควรจะมีพื้นที่สำหรับพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศ”  ประกอบกับช่วงนั้นรัฐบาลประกาศ EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) พอดี เป็นโอกาสที่จะผลักดัน Smart City

จากนั้น จึงได้มีการเริ่มคุยกับทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) และ สวทช.ว่าควรจะทำพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่ทำนวัตกรรมของ EEC จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อว่า EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation)  “มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นเหมือนกับซิลิคอนวัลเลย์ของอเมริกา”

หลังจากเริ่มบุกเบิกมาตั้งเเต่ปี 2559 ตอนนี้ ต้องบอกว่า “วังจันทร์วัลเลย์” เข้าใกล้ความเป็น Smart City อย่างเต็มรูปแบบ โดย Smart City มีทั้งหมด 7 ด้าน ตอนนี้ปตท.ทำได้ 6 ด้านแล้ว ส่วนอีกหนึ่งด้านกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

วิทวัส อธิบายต่อว่า ถ้าพูดถึงความเป็น Smart City ของพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ถือว่า “งานเราสำเร็จแล้ว” แต่ก็ยังต้องทำเพิ่มไปเรื่อยๆ เพราะยุคนี้เทคโนโลยีเดินหน้าอยู่ตลอดเวลาและเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 “อะไรที่มันล้าหลังแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ ดังนั้นเมื่อถามถึงความเป็น Smart City จึงไม่ใช่ว่าพอทำได้สำเร็จ เสร็จสิ้นแล้วจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่เราต้องเดินหน้าต่อ ตามต่อ และต้องคงความเป็น Smart City ไว้ตลอดเวลา”

@บิ๊กมูฟ 5G x UAV SANDBOX เเห่งเเรกในไทย

ในระยะแรก EECi จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพ เช่น เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ทดสอบแบตเตอรีประสิทธิภาพสูง ทั้งขนาดที่ไม่ใหญ่นักสำหรับการใช้งานใน AGV UAV/Drone แบตเตอรีขนาดกลาง สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถรางไฟฟ้า ไปจนกระทั่งระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่

ขณะที่โรงงานต้นแบบในการผลิตแบตเตอรีและการพัฒนาการใช้งานแบตเตอรีในรูปแบบใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้งานเพื่อการป้องการประเทศ (Dual use) รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและระบบการควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีการดำเนินการในพื้นที่ EECi ด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการ “สานต่อ” พัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับการเทคโนโลยีที่ทำมาเเล้วมากมาย นำมาสู่โครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY พัฒนาที่ดินบางส่วนของวังจันทร์วัลเลย์ให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (UAV Regulatory Sandbox) โดยใช้ประสิทธิภาพของสัญญาณ 5G

ปตท. ไม่ได้ฉายเดี่ยวเพราะ “บิ๊กมูฟ” การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่าง CAAT (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย) ซึ่งสนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การอนุญาตปฏิบัติแตกต่างจากเงื่อนไขที่กำหนด

ด้าน กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้เข้ามาช่วยบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการทดสอบ 5G ในพื้นที่ เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์

ขณะที่ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้บริหารจัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ก็ให้การสนับสนุนด้านการดำเนินการ UAV Sandbox ได้อย่างสะดวกและประสบความสำเร็จ ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะ ความรู้ด้านการบินโดรนแก่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ

อีกทั้งยังมี บรรดาบริษัทเครือข่ายสัญญาณเจ้าใหญ่ของไทย อย่าง “AIS” ที่ทำงานร่วมกับ VISTEC ในการทดสอบและพัฒนาโดรนวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาสินทรัพย์

ขณะที่ “True”  ได้เข้ามาช่วยในด้านการทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องที่ควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True5G เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของพื้นที่

ส่วน “DTAC” ร่วมพัฒนาการทดสอบสู่กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G สำหรับควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง ให้การสั่งการรวดเร็วและภาพที่คมชัดเเบบเรียลไทม์

“ยิ่งมี 5G ที่พร้อมมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการดีเลย์ รวมถึงบริษัทต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศเรา ในพื้นที่ EECi หากเขาเห็นว่าเรามี 5G นั่นหมายความว่าเราทันสมัย นวัตกรรมเเละเครื่องมื่อต่างๆ ที่เขานำเข้ามาก็จะช่วยต่อยอดเทคโนโลยีไทย ผู้ที่สนใจอยากเข้ามาลงทุนจะเชื่อมั่นว่า เมื่อมาร่วมลงทุนแล้ว ไทยจะมีพื้นที่ที่มีเทคโนโลยีรองรับ ซึ่งที่วังจันทร์วัลเลย์เราได้เตรียมความพร้อมในด้านนี้ไว้อย่างครบครันและดีที่สุดแล้ว”

 อย่างไรก็ตาม เขามองว่าเรื่องของ 5G SANDBOX มันเป็นแค่ “เรื่องวันนี้” เพราะเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาพื้นที่ “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็น SANDBOX ในทุกๆ อย่าง เป็นไปได้ในทุกๆ เรื่อง

“ผมว่าโครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY มันมีพลังในการเชื้อเชิญนักลงทุนในตัวเองอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่ทั้ง สวทช., กสทช. และ CAAT มารวมอยู่ในที่แห่งนี้ เมื่อนักลงทุนได้เห็น ก็ต้องมีความสนใจแน่นอน”

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจใน ระยะยาว ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย, สมาร์ทวีซ่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว, พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

@จงไปต่อ…กับการสร้าง New S-Curve ใหม่

 ความท้าทายของการสร้าง “New S-Curve” ใหม่ จากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป เป็นความท้าทายขององค์กรเก่าเเก่ที่ประสบความสำเร็จเเล้วอย่าง “ปตท.” ไม่น้อย จากบริษัทที่ทำ Oil & Gas มาโดยตลอดหลายทศวรรษ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นยุค 5G มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า การถูก “Disrupt” ครั้งนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ออกมา

วิทวัส อธิบายว่า S-Curve กับ New S-Curve มีความหมายต่างกัน ที่ผ่านมาปตท.มีการทำ S-Curve ใหม่อยู่เสมอ เช่น การออกน้ำมันชนิดใหม่ขึ้นมา นั้นคือการต่อยอดของ S-Curve เดิม เเต่การทำ New S-Curve คือการพลิกไปทำธุรกิจอื่นไปเลย

“นี่เป็นที่มาของการตั้งตำแหน่ง CTO (Chief Technology Officer) ขึ้นมา เพื่อที่จะหา New S-Curve ใหม่ให้องค์กรเป็นหลัก ผมพูดได้เลยว่าหายากมาก แต่ผมก็ไม่หยุด และมีอะไรหลายๆ อย่างที่พอจะเริ่มเห็นแสงบ้างแล้ว” นับเป็นภารกิจที่มี “ความท้าทายสูงมาก” CTO ของปตท. บอกถึงความมุ่งมั่นว่า “การพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักให้คนเข้าใจ ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องมีเเรงบันดาลใจที่จะทำ บางทีสิ่งที่เสนอไปอาจจะไม่ได้รับการยอมรับในครั้งเเรก เเต่จงทำต่อไป และต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค”

ด้านการทำงานในองค์กรที่มีการผสม “หลายเจเนอเรชั่น” เขามองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเปิดใจ” โดยฝั่งผู้ใหญ่ต้องรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ไม่ทำให้พวกเขาเสียกำลังใจตั้งเเต่ยังไม่เริ่ม ให้คนรุ่นใหม่ได้มีทิศทางพัฒนาความคิดของตนเองต่อไป ส่วนคนรุ่นใหม่เองก็ต้องมีความตั้งใจจริง เลือกที่จะทำอะไรก็ต้องทำต่อไปให้ถึงที่สุด “ล้มเเล้วลุกให้ได้”

]]>
1304782