หลอกลงทุน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 15 Oct 2024 11:34:52 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจ็บกันมาเท่าไหร่แล้วกับการลงทุน “หวังรวยเร็ว” นึกว่าทำธุรกิจแต่สุดท้ายกลายเป็น “แชร์ลูกโซ่” https://positioningmag.com/1494175 Fri, 11 Oct 2024 15:25:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1494175 ข่าวคดี “แชร์ลูกโซ่” วงแตกในประเทศไทยมีมาให้เห็นเป็นระยะๆ ตั้งแต่วงแรกที่เป็นคดีดังระดับตำนานอย่าง “แชร์แม่ชม้อย” เมื่อปี 2528 กลายเป็นต้นแบบให้มิจฉาชีพคิดไอเดียตั้งวงสารพัดรูปแบบเพื่อดึงดูดใจผู้คนที่ “หวังรวยเร็ว” รูปแบบมีการพัฒนาเปลี่ยนไปให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาตั้งแต่ลงทุนทำธุรกิจ ออมเงิน เทรดเดอร์ ขายตรง ฯลฯ แต่ใจกลางของการหลอกลวงเหล่านี้ยังคงเหมือนเดิมคือ “ลุกช้าเสียรอบวง”

ต้นตำรับ “แชร์ลูกโซ่” วงใหญ่แตกเป็นครั้งแรกในเมืองไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2528 ในนาม “แชร์แม่ชม้อย” เพราะต้นคิดคนแรกชื่อ “ชม้อย ทิพย์โส” ผู้ทำงานอยู่ในวงการธุรกิจเชื้อเพลิง

แม่ชม้อยใช้ภาพลักษณ์จากการทำงานตั้งบริษัทค้าน้ำมันขึ้นมา และเริ่มชักชวนให้คนมาลงทุนเพื่อ “ซื้อรถน้ำมัน” มาใช้ในธุรกิจ และจะให้ผลตอบแทนการลงทุน 6.5% ต่อเดือน เท่ากับผลตอบแทนสูงถึง 78% ต่อปี!

เมื่อคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาลงทุนได้ผลตอบแทนกลับคืนจริง ข่าวก็แพร่สะพัดออกไปว่ามีบริษัทที่ให้ผลตอบแทนร่วมลงทุนดีเลิศ จนมีคนมากมายตามเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ประกอบกับแม่ชม้อยมีการให้ผลตอบแทนพิเศษถ้าสามารถชวนนักลงทุนรายใหม่เข้ามาได้ จึงทำให้วงแชร์ขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งถึงจุดที่นักลงทุนหน้าใหม่เริ่มน้อยลง ความจึงแตกออกมาว่าที่ผ่านมาแม่ชม้อยไม่ได้ทำธุรกิจอันใด เพียงแต่นำเงินของนักลงทุนหน้าใหม่มาวนจ่ายให้คนที่เข้ามาลงทุนก่อน เมื่อไม่มีหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มมากพอ แชร์ลูกโซ่วงนี้จึงขาดสะบั้น ไม่มีผลตอบแทนกลับคืนให้ได้ตามสัญญา รวมแล้ววงแชร์แม่ชม้อยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 4,000 ล้านบาท และแม่ชม้อยก็ถูกจับไปตามระเบียบ

เห็นได้ว่านี่คือแพทเทิร์นตั้งต้นของการสร้างแชร์ลูกโซ่ ใจกลางของการทำธุรกิจฉ้อโกงเช่นนี้คือ

  1. สร้างภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือว่ามีการทำธุรกิจจริงหรือลงทุนจริง
  2. ขายความฝันว่าจะรวยเร็ว เพราะให้ผลตอบแทนสูงมากและเร็วกว่าปกติ
  3. มีการนำเงินมาต่อเงิน จากผู้เข้ามาใหม่จ่ายให้กับผู้ที่เข้ามาก่อน
  4. ให้ผลตอบแทนในการชักชวนคนเข้ามาร่วมในวงสำเร็จ

ที่เหลือก็คือฉากหน้าว่าจะใช้สินค้า บริการ รูปแบบการชักจูงแบบใดที่จะทำให้เหยื่อหลงเชื่อ ซึ่งขอรวบรวมกลเม็ดแชร์ลูกโซ่ที่เคยเกิดขึ้นในไทยเท่าที่ค้นได้ ดังนี้

  1. ร่วมลงทุนในธุรกิจเฉพาะทาง
    – แชร์แม่ชม้อย หลอกลงทุนธุรกิจค้าน้ำมัน
    – แชร์เสมาฟ้าคราม หลอกลงทุนพัฒนาหมู่บ้านจัดสรร
  2. เทรดหุ้น เทรดเงิน เทรดคริปโต ออมเงินรับปันผล
    – แชร์ชาร์เตอร์ หลอกลงทุนเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ
    – FOREX 3D หลอกลงทุนเทรดเงินตราต่างประเทศ
    – แชร์แม่มณี ออมเงินรับปันผลสูง
  3. ซื้อสินค้า/บริการล่วงหน้า
    – แชร์บลิสเซอร์ หลอกซื้อบัตรสมาชิกเข้าพักโรงแรมในเครือ​ (ไม่ใช่โรงแรมของบริษัท แต่เช่ามาเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ)
    – แชร์ฌาปนกิจ หลอกสมัครสมาชิกรับเงินค่าทำศพเมื่อเสียชีวิต (แต่ไม่ได้เงินจริง)
  4. ปลอมเป็นธุรกิจขายตรง
    – แชร์ยูฟัน สร้างเครือข่ายคล้ายขายตรง แต่ไม่เน้นการขาย
    – แชร์เวลธ์เอฟเวอร์ รับสมัครสมาชิกขายตรงแลกผลตอบแทนทัวร์ญี่ปุ่น (ถูกทิ้งคาสนามบิน)

 

“แชร์ลูกโซ่” หรือ “ขายตรง”

ด่านแรกที่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่จะต้องทำให้ได้คือการสร้าง “ภาพลักษณ์” ที่น่าเชื่อถือว่าเป็นธุรกิจของจริง มาร่วมลงทุนหรือทำธุรกิจด้วยกันแล้วจะรวยไปด้วยกันแน่นอน

ทำให้กลเม็ดการปลอมธุรกิจที่มีความซับซ้อนและเส้นแบ่งเลือนลางที่สุดมักจะเป็นการปลอมเป็นธุรกิจ “ขายตรง” เนื่องจากมีต้นแบบเป็นธุรกิจขายตรงตัวจริงที่แชร์ลูกโซ่จะพยายามลอกเลียนให้เหมือนมากที่สุด เช่น สั่งผลิตสินค้าจริงมาเพื่อส่งให้ตัวแทนขาย มีระบบอัพไลน์ดาวน์ไลน์ในองค์กร

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจาก “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เคยออกแจ้งเตือนประชาชนไว้แล้วว่า วิธีการจับสังเกตว่าบริษัทนั้นน่าจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่มากกว่าขายตรง ให้สังเกตดังนี้

  • คิดค่าสมัครสมาชิกในราคาสูง
  • บังคับ กดดัน หรือกระตุ้นให้ซื้อสินค้าในจำนวนมากเกินควรที่จะนำไปขายต่อได้จริง
  • โฆษณาสรรพคุณสินค้าของบริษัทเกินจริง แต่สินค้าจริงกลับไม่ได้มาตรฐานตามอ้าง
  • โฆษณาผลตอบแทนที่จะได้รับสูงผิดปกติ
  • ขายความฝันว่าจะรวยไว ไม่ต้องทำงานหนัก
  • เน้นให้หาสมาชิกตัวแทนขาย (ดาวน์ไลน์) มากกว่าการขายสินค้าให้ได้ โดยเมื่อหาดาวน์ไลน์มาได้แล้วจะได้รับผลตอบแทนทันที
  • ไม่สามารถคืนสินค้าได้หากสมาชิกต้องการลาออก

เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจขายตรงตัวจริงแล้ว มักจะมีข้อห้ามที่เข้มงวดไม่ให้มีการซื้อสินค้าไปกักตุนเกินความจำเป็นเพราะเกรงจะถูกตรวจสอบว่าหมิ่นเหม่เป็นธุรกิจแบบปิรามิดหรือแชร์ลูกโซ่ รวมถึงการชักชวนดาวน์ไลน์มาร่วมเป็นตัวแทนขาย หากไม่สามารถฝึกอบรมให้ดาวน์ไลน์สามารถขายสินค้าเพิ่มได้ อัพไลน์ก็จะไม่ได้ยอดขายและเพิ่มเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งได้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ วิธีการเบื้องต้นหากต้องการตรวจสอบว่าเป็นธุรกิจขายตรงตัวจริงหรือไม่ ให้ตรวจสอบว่าบริษัทนั้นได้รับ “ใบอนุญาต” จาก “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” (สคบ.) หรือยัง อย่างไรก็ตาม บริษัทแชร์ลูกโซ่ก็มักจะโฆษณาว่าตนเองไม่ใช่ธุรกิจขายตรงเพื่อหลบเลี่ยงว่าตนไม่ได้หลอกลวงประชาชน

“ขายตรง” กับค่านิยม Passive Income

ประเทศไทยอยู่คู่กับธุรกิจเครือข่าย (MLM) มาช้านาน หรือเราเรียกกันง่ายๆ ว่าธุรกิจขายตรง แต่เดิมมักจะมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีเหมือนธุรกิจประกัน เพราะอะไรที่เป็นการชวนเสียเงินไม่ว่าจะขายตรง, ขายประกัน หรือแม้กระทั่งซองกฐิน ซองผ้าป่า คนไทยล้วนแต่โบกมือบ๊ายบายทั้งสิ้น

แต่ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนไทยเปิดใจให้กับธุรกิจขายตรงมากขึ้น เพราะต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเงินเดือน หรือรายได้ประจำ หรือต้องการ Passive Income นั่นเอง ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้คอมมิชชันตามขั้นบันได ยิ่งมีลูกทีมมาก ย่อมได้รับผลตอบแทนมาก พร้อมกับการตลาดที่จูงใจด้วยทริปเที่ยวต่างประเทศสุดหรู มีรายได้ สามารถใช้ชีวิตดีๆ หลายคนถึงกับทำเป็นอาชีพประจำเลยก็มี

ธุรกิจขายตรงในไทยมีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เป็นที่รู้จัก 3 แบรนด์ ได้แก่ แอมเวย์, กิฟฟารีน และซูเลียน เห็นทีว่าแอมเวย์จะเป็นแบรนด์ใหญ่ในตลาดมากที่สุด ยุคหนึ่งที่ใครไม่รู้จักเครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศถือว่าเชย

แต่ก่อนแอมเวย์ก็เน้นทำการตลาดด้วยฮีโร่โปรดักส์อย่างเครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศ น้ำยาทำความสะอาด และยาสีฟัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้จับจุดคนไทยได้อย่างดีด้วยโซลูชัน “ลดน้ำหนัก” อย่าง “บอดี้คีย์” หรือเรียกว่าเป็นอาหารเสริมแทนมื้ออาหาร เพราะคนไทยมีปัญหาเรื่องการลดน้ำหนัก อยากได้ตัวช่วยในการดูแลรูปร่าง

บอดี้คีย์ประสบความสำเร็จมากถึงขนาดที่ว่า ประเทศไทยมียอดขายอันดับ 1 ของโลก แอมเวย์ ประเทศอื่นยังต้องมาขอดูงานว่าทำได้อย่างไร ซึ่งนักธุรกิจแอมเวย์ได้เปลี่ยนตัวเองเป็น Content Creator ด้วยการแทนตัวเองว่าเป็น “นักโภชนาการ” “นักปั้นหุ่น” “นักลีนหุ่น” ใช้สื่อโซเชียลมีเดียของตัวเองเป็นช่องทางการขายเพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการลงคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพ หรือการลดน้ำหนัก ลงภาพการลดน้ำหนักของตัวเองเป็นภาพ Before และ After พร้อมบอกว่ามีเคล็ดลับการลดน้ำหนักแบบไม่ต้องออกกำลังกาย (ซึ่งคนไทยไม่ชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว) จึงถูกจริตเข้าไปใหญ่

กลายเป็นว่ากลยุทธ์นี้ได้ผล เพราะเป็นการขายแบบเนียนๆ ใช้ในเรื่องของการเห็นผลจริงในการจูงใจ เป็นกลยุทธ์สไตล์ Thailand Only จนแบรนด์ดังที่กำลังเป็นกระแสอย่าง “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ก็ต้องเลียนแบบ ในการให้บอสต่างๆ ลีนร่างกายกลายเป็น “ร่างทอง” พร้อมกับขายสินค้าทดแทนมื้ออาหารเช่นเดียวกัน

 

มาใหม่ล้ำสุดๆ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป”

ธุรกิจล่าสุดที่กำลังเป็นที่โจษจันว่าจะกลายร่างเป็น “แชร์ลูกโซ่” หรือไม่นั้นคือ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 มีการรายงานข่าวว่า พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รองโฆษก ตร. แจ้งว่ามีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความแล้ว 161 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 62 ล้านบาท และกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเร่งออกหมายจับผู้บริหารภายใน 48 ชั่วโมงในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงและการฟอกเงิน

ลักษณะของ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” นั้นมีหลายประการที่หมิ่นเหม่จะเข้าข่ายการเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่มีการวิวัฒนาการไปอีกขั้นในการสร้างภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือ ถือเป็นจุดที่แตกต่างจนทำให้มีสมาชิกกว่า 3 แสนรายเข้าร่วมลงทุน

เริ่มจาก “บอสพอล-วรัทย์พล วรัตน์วรกุล” ผู้ก่อตั้ง ดิ ไอคอน กรุ๊ป สร้างโปรไฟล์ของตนเองจากการไปให้สัมภาษณ์ในรายการทอล์กโชว์ชื่อดัง จนทำให้มีชื่อเป็นนักธุรกิจพันล้านที่รวยได้จากการขายของออนไลน์ และตั้งธุรกิจดิ ไอคอน กรุ๊ปมาเพื่อเป็นธุรกิจขายออนไลน์

ดาราเซเลบที่เข้ามาร่วมงานกับดิ ไอคอน กรุ๊ป ในระดับมีชื่อตำแหน่งให้

ตามด้วยการเปิดตัว “ดารา” ระดับแถวหน้าวงการว่าไม่ใช่แค่พรีเซ็นเตอร์แต่เป็นถึงระดับผู้บริหาร ได้แก่ “บอสกันต์-กันต์ กันตถาวร” พิธีกรชื่อดัง “บอสแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี” นักแสดงรุ่นใหญ่ และ “บอสมิน-พีชญา วัฒนามนตรี” นักแสดงสาว ซึ่งทำให้ดิ ไอคอน กรุ๊ปได้รับความสนใจ และประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นเพราะมองว่าดาราเซเลบเหล่านี้มาเป็นผู้บริหารในบริษัท มีหน้าตาขึ้นบิลบอร์ดขนาดใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ ขึ้นเวทีกล่าวสนับสนุนองค์กรเป็นมั่นเหมาะ

ในด้านกลยุทธ์การดึงผู้เข้าร่วม จากการสืบค้นในอินเทอร์เน็ตพบว่า ดิ ไอคอน กรุ๊ป จะเน้นโฆษณา “เปิดคอร์สสอนขายของออนไลน์” ในราคาที่ถูกมาก เช่น 59 บาท หรือ 97 บาท ในส่วนนี้มีการเรียนการสอนจริง ทั้งการสร้างเว็บไซต์ เปิดเพจ ปักตะกร้าใน TikTok ยิงแอดโฆษณาใน Facebook

แต่ในที่สุดเมื่อใกล้จบคอร์สจะเริ่มแนะนำให้สมัครสมาชิกและสั่งสต็อกสินค้าของดิ ไอคอน กรุ๊ป ซึ่งหลักๆ จะมีสินค้าประเภทกาแฟ คอลลาเจน ครีม เซรั่ม วิตามินซี ยาสีฟัน เป็นต้น

ป้ายโฆษณาของดิ ไอคอน กรุ๊ป

ราคาการสมัครสมาชิกและซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อจะมีตั้งแต่ราคา 2,500 บาท ไปจนถึง 250,000 บาท แต่ผู้เสียหายส่วนใหญ่กล่าวตรงกันว่า แม่ทีมจะหว่านล้อมให้สมัครและซื้อสินค้าในราคา 250,000 บาท เพื่อจะได้ของแถมต่างๆ เช่น ทริปเที่ยวต่างประเทศ และการลงทุนสูงก็จะเติบโตได้เร็วกว่า จากนั้นให้หาดาวน์ไลน์มาเข้าคอร์สอบรมเพิ่ม หากมีดาวน์ไลน์เปิดบิลเพิ่มก็จะได้ค่านายหน้า

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายฝันก็ค่อยๆ สลายไป เมื่อสินค้าที่สั่งสต็อกมาในราคาหลักแสนนั้น ผู้เสียหายเล่าว่าแม้จะใช้วิชาความรู้การขายออนไลน์ที่ได้มาก็ยังขายไม่ได้ เพราะสินค้าไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ได้มีดีมานด์สูงอย่างที่โฆษณากล่าวอ้างไว้ว่าสามารถขายได้หลักล้านชิ้น เมื่อขายไม่ออกก็จะต้องยอมรับสภาพขาดทุน กรณีคนที่กู้หนี้ยืมสินมาหรือใช้เงินก้อนสุดท้ายของชีวิตลงทุนก็จะตกอยู่ในสถานการณ์สาหัสจนกระทำอัตวินิบาตกรรมดังที่เห็นกันในหน้าสื่อต่างๆ

กรณีของดิ ไอคอน กรุ๊ปนั้นยังอยู่ระหว่างตำรวจพิจารณาการออกหมายจับ แต่จะเห็นได้ว่าธุรกิจมีความหมิ่นเหม่ในการหว่านล้อมให้สต็อกสินค้าเป็นมูลค่าสูงเกินกว่าที่จะขายได้จริงซึ่งอาจจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ได้ ที่น่าสนใจมากคือการว่าจ้างเซเลบดาราแถวหน้ามาแสดงตนเป็นผู้บริหารจนทำให้ประชาชนเชื่อถือสูง รวมถึงการวางจุดขายเป็นธุรกิจที่สอนการขายของออนไลน์ในราคาถูกเพื่อดึงให้คนสมัครเข้ามาได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดเป็นเทรนด์วิวัฒนาการใหม่ของธุรกิจประเภทนี้ที่ต้องจับตามอง

 

ที่มา: สารนิพนธ์ จอมพล ลี้ภัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, เดลินิวส์, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ไทยพีบีเอส, ประชาชาติธุรกิจ, ลงทุนแมน, ไทยรัฐ, WorkpointToday, Giffarine, Facebook @Theiconprince

]]>
1494175