อาหารทะเลไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 10 Jan 2022 04:33:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รู้จัก “Blue Finance” แหล่งเงินทุนเชื่อมโยงการอนุรักษ์มหาสมุทรจาก “ไทยยูเนี่ยน” บริษัทอาหารทะเลระดับโลก https://positioningmag.com/1369771 Mon, 10 Jan 2022 10:00:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369771

เครื่องมือทางการเงินแบบใหม่ที่ผูกโยงกับเป้าหมายด้านการอนุรักษ์ สะท้อนความตั้งใจในการทำงานด้านความยั่งยืน “ไทยยูเนี่ยน” เปิดช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance” ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการอนุรักษ์มหาสมุทรโดยเฉพาะ มีการออกหุ้นกู้ลักษณะ Step up / Step down อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นลงตามความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยไทยยูเนี่ยนวางเป้าจะเพิ่มแหล่งเงินทุน Blue Finance นี้ให้มีสัดส่วนถึง 75% ภายในปี 2568

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ถือเป็นบริษัทอาหารทะเลไทยที่ก้าวไปสู่ระดับโลก สร้างยอดขาย 44% จากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 29% จากยุโรป 10% จากประเทศไทย และ 17% จากกลุ่มประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา และอเมริกาใต้

ปี 2563 ที่ผ่านมาแม้จะเกิดวิกฤต COVID-19 แต่ไทยยูเนี่ยนยังสร้างยอดขายได้ถึง 132,400 ล้านบาท เติบโต 4.9% และมีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เติบโตถึง 63.7%

ขณะที่รอบ 9 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายยังทำได้ 102,547 ล้านบาท เติบโต 3.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิ 6,083 ล้านบาท เติบโต 27% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ไทยยูเนี่ยนมีธุรกิจหลัก 3 ส่วนคือ 1) ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ 2) ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น 3) ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า โดยเป็นเจ้าของแบรนด์ทั้งในระดับโลก เช่น Chicken of the Sea, John West, Petit Navire และแบรนด์ชื่อดังในไทย เช่น ซีเล็ค, QFresh และโมโนริ เป็นต้น


ไม่มีทะเล ไม่มีไทยยูเนี่ยน

เห็นได้ว่าธุรกิจของไทยยูเนี่ยนเชื่อมโยงกับ “มหาสมุทร” ตลอดทั้งห่วงโซ่ ทำให้ไทยยูเนี่ยนตระหนักถึงความสำคัญของการรับผิดชอบที่ต้องมีต่อมหาสมุทร เพราะเล็งเห็นว่า หากไม่มีทะเลแล้ว ก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจอาหารทะเลได้

นี่จึงเป็นต้นธารของแนวคิด Healthy Living, Healthy Oceans กล่าวคือ ไทยยูเนี่ยนจะดูแลความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงการดูแลทรัพยากรทางทะเลด้วย โดยยึดเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSDG

เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ชัดเจน ไทยยูเนี่ยนมีการวางกลยุทธ์ SeaChange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558 เน้นด้านการดูแลแรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและทำงานอย่างปลอดภัย เพื่อให้การจัดหาวัตถุดิบของบริษัทมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากกลยุทธ์นี้แล้ว เช่น บริษัทได้เข้าร่วมในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) รวมถึงเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน

จากแนวคิดของไทยยูเนี่ยนและการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ปี 2564 นี้บริษัทได้ยกระดับไปอีกขั้นโดยการนำเรื่องความยั่งยืนมาเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนของบริษัท เพื่อสะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงที่จะสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบ “Blue Finance”


Blue Finance คืออะไร?

โดยทั่วไปแล้วในวงการการเงินมีเครื่องมือทางการเงินประเภทที่เรียกว่า การเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน” (Sustainability Linked Financings) หมายถึงเครื่องมือทางการเงินชนิดใดก็ได้ที่ทางผู้ออกได้ตกลงในข้อกำหนดว่าจะต้องมีเป้าหมายด้านความยั่งยืน หรือ ESG ที่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืน และเป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่ต้องดำเนินให้สำเร็จตามเป้าในช่วงอายุของเครื่องมือทางการเงินนั้นๆ ซึ่งผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้กับนักลงทุน

สำหรับบริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งมีเป้าหมายหลักด้าน ความยั่งยืนในการอนุรักษ์มหาสมุทร รักษาทรัพยากรในทะเล และสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม การใช้เครื่องมือทางการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนตามเป้าหมายของบริษัทจึงเรียกว่า “Blue Finance”

การจัดหาแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance นั้นทำได้ผ่านหลายช่องทาง เช่น สินเชื่อธนาคาร การออกหุ้นกู้ โดยเฉพาะหุ้นกู้นั้นมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบ Step up / Step down อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นลงตามความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน หากบริษัททำได้สำเร็จตามเป้าอัตราดอกเบี้ยจะลดลง ซึ่งไทยยูเนี่ยนระบุ ดัชนีชี้วัด 3 ด้าน ที่จะมาวัดผลว่าบริษัททำได้สำเร็จตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนหรือไม่ ดังนี้

  • การได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือ DJSI ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
  • การลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้า
  • บริษัทต้องซื้อปลาจากเรือที่มีเครื่องมือการตรวจสอบอิเล็คทรอนิคส์และ/หรือผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของซัพพลายเชนในจัดหาปลาทูน่าทั่วโลก

กลยุทธ์ดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนจัดหาแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance ไปเป็นจำนวนมาก ดังนี้

  • ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Loan) เป็นครั้งแรกทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย สินเชื่อที่ออกในประเทศไทยเป็นสกุลเงินไทยบาทและดอลล่าร์สหรัฐ และสินเชื่อนินจา/ซามูไรในประเทศญี่ปุ่นเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐและเยน โดยสินเชื่อทั้งสองจำนวนนี้รวมกันเป็นจำนวนเทียบเท่า 12,000 ล้านบาท ระยะเวลาในการกู้ยืม 5 ปี ซึ่งมีการกู้ยืมครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยการขอสินเชื่อในครั้งนี้ของไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับมากกว่าสินเชื่อที่ต้องการมากกว่า 2 เท่า
  • การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.47% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยมีจำนวนยอดจองซื้อมากกว่า 2 เท่า
  • การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ต่อเนื่องจากครั้งแรก มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้จำนวน 2 รุ่นเพื่อกระจายให้คลอบคลุมกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวได้ดียิ่งขั้น ประกอบด้วย รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.27% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.36% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 โดยมีจำนวนยอดจองซื้อมากกว่า 2 เท่าเช่นกัน
  • การออกสินเชื่อนินจาที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นครั้งที่สองที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยเป็นสินเชื่อสกุลเงินเยนทั้งหมดจำนวน 14,000 ล้านเยน ระยะเวลา 5 ปี และจากผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก JCR อยู่ที่ A- ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินมากกว่าสองเท่าตัวจากจำนวนสินเชื่อที่ต้องการ
  • สินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ท้องทะเล จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารชั้นนำในประเทศไทย เมื่อ 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้ง บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบางธนาคารในประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นและตราสารอนุพันธ์ให้เป็นวงเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนมากขึ้น

จากการดำเนินงานตลอดปี 2564 ไทยยูเนี่ยนคาดว่าสัดส่วนแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance จะขึ้นไปแตะ 50% ของสัดส่วนหนี้สินระยะยาวทั้งหมดของบริษัทได้ภายในเดือนมกราคม 2565

รวมถึงตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนของ Blue Finance ต่อหนี้สินระยะยาวทั้งหมดให้ไปแตะ 75% ภายในปี 2568 อีกด้วย

“Blue Finance สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถร่วมกับภาคการเงินในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยให้เราสามารถอนุรักษ์ท้องทะเลได้อย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการผลิตสินค้าอาหารที่ดีมีคุณค่าต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภคทั่วโลกไปพร้อมกัน” นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ด้านการบริหารการเงินและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว “เรามีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืนในตลาดทุนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนไทยยูเนี่ยนและพันธกิจในการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

 

 

]]>
1369771