แกร็บ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 28 Oct 2024 09:40:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “แกร็บ” ปรับนโยบายการทำงานใหม่ ให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ มีผล 2 ธ.ค.  https://positioningmag.com/1495810 Mon, 28 Oct 2024 06:59:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1495810 แกร็บ (Grab) ได้ส่งจดหมายแจ้งแก่พนักงานในบริษัท เกี่ยวกับการปรับนโยบายการเข้าทำงานในออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2024 เป็นต้นไป

Anthony Tan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Grab กล่าวว่า การปรับนโยบายให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทํางานร่วมกันและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายและเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม Anthony Tan กล่าวว่า การปรับนโยบายดังกล่าว จะยังมีเวลาประมาณ 1  เดือน ให้พนักงานสามารถวางแผนจัดการธุระส่วนตัวต่างๆ รวมถึงการเตรียมตัวที่จะกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ โดยเฉพาะพนักงานในตำแหน่งหนัวหน้างานที่ต้องมีการเตรียมตัวค่อนข้างมาก หลังจากที่ทำงานแบบผสมผสานมานานกว่า 3 ปี 

พนักงานคนหนึ่งที่ทำงานกับ Grab มาได้กว่า 3 ปีแล้ว กล่าวว่า Grab ได้มีการเรียกพนักงานกลับไปที่สํานักงานตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้ว ทำให้การประกาศการเปลี่ยนแปลงการทำงานในครั้งนี้อาจเป็นขั้นตอนระหว่างการดําเนินการดังกล่าว 

เพราะตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการออกมาตรการทางวินัย สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายการกลับเข้ามาทํางานในออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันพนักงานหลายคนได้รับคำสั่งให้ทํางานในออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์และทํางานจากที่บ้าน 2 วัน แต่ก็ยังมีการผ่อนปรนสำหรับพนักงานที่มีกิจจำเป็น

ด้านโฆษกของ Grab กล่าวว่า หลังจากการแพร่ระบาดชองโควิด-19 ที่ลดลงและบริษัทฯ ได้ปรับนโยบายให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ บริษัทฯได้เล็งเห็นความผูกพันของทีมและการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น 

ทำให้เชื่อได้ว่า การกลับมาทํางานในออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยให้การทํางานร่วมกันและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานดีขึ้น และส่งผลต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทฯ

ทั้งนี้ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาหลังการระบาดใหญ่ หลายๆ บริษัทเริ่มมีการปรับนโยบายการทำงาน โดยเรียกพนักงานให้กลับมาทํางานในออฟฟิศอีกครั้ง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว อเมซอน เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ก็ได้กําหนดนโยบายการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศของพนักงานเป็น 5 วันต่อสัปดาห์ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2025 

รวมถึงในปี 2022 Elon Musk ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tesla ได้ออกนโยบายการกลับมาทํางานอย่างเข้มงวด โดยกําหนดให้พนักงานใช้เวลาอย่างน้อย 40 ชั่วโมงในสํานักงานต่อสัปดาห์ เช่นกัน

ที่มา : CNA

 

]]>
1495810
เพิ่มเงินไม่ได้ก็ต้องเพิ่มรอบ! อัปเดตนวัตกรรม ‘แกร็บ’ ช่วยเพิ่ม ‘เวลาทำมาหากิน’ ให้ไรเดอร์ https://positioningmag.com/1491633 Wed, 25 Sep 2024 03:37:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1491633 สำหรับตลาด Food Delivery ในปัจจุบัน อาจไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดเหมือนในอดีต หรือแม้แต่ปีนี้เองที่ ศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่า ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมแล้วตลาดน่าจะหดตัว 1% แสดงให้เห็นว่าตลาดเริ่มอยู่ตัว ดังนั้น หลายแบรนด์จึงหันมาโฟกัสที่การ ทำกำไร มากกว่าจะเผาเงินเหมือนตอนแรก รวมถึง แกร็บ (Grab) ประเทศไทย สามารถทำกำไรได้ 2 ปีติดต่อกัน

รายได้ไรเดอร์สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 3 เท่า

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน แกร็บให้บริการใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีผู้ใช้รวม 41 ล้านคน และแกร็บสามารถสร้างรายได้ให้กับคนขับ ไรเดอร์ ร้านค้า ร้านอาหารทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 แสนล้านบาท

แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายได้ของพาร์ทเนอร์ไรเดอร์ในประเทศไทย แต่ วรฉัตร เล่าว่า รายได้ของไรเดอร์ในช่วง 12 เดือน สูงขึ้น จนปัจจุบันไรเดอร์ ส่งอาหาร มีรายได้มากกว่าค่าแรงขึ้นต่ำ 2-3 เท่า ส่วนไรเดอร์ ขับรถส่งคน มากกว่า 7-8 เท่า เพราะทางแกร็บพยายามที่จะเพิ่มรายได้ แต่ไม่ใช่การเพิ่มจากเงินเข้าไปอัดจ่ายจนบริษัทขาดทุน โดยจะเน้นที่ประสิทธิภาพ เช่น ทำรอบมากขึ้น ลดต้นทุนจากโครงการรถอีวี หรือการปล่อยกู้ เพื่อไม่ต้องไปเสียดอกเบี้ยนอกระบบ

“เราพยายามจะไม่ลดรายได้คนขับ มีแต่จะเพิ่ม แต่การจะเพิ่มโดยที่ธุรกิจเราอยู่รอดได้ด้วย ก็คือ ต้องไม่ใช่การอัดเงินแล้วบริษัทขาดทุน แล้วก็เอาเงินนักลงทุนมาโปะ ดังนั้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ”

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย

เพิ่มฟู้ดล็อกเกอร์ ช่วยไรเดอร์ไม่ต้องรอ

เพราะโจทย์เดียวของแกร็บสำหรับส่วนของไรเดอร์ก็คือ เพิ่มรายได้ไรเดอร์โดยไม่เพิ่มราคา ดังนั้น ทางออกเดียวคือ เทคโนโลยี โดยแกร็บจะใช้เทคโนโลยี 3 ด้านมาประกอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ได้แก่ AI > IoT > In-App Feature เพื่อเสิร์ฟ 5 กลุ่ม ได้แก่ ลูกค้า, ร้านอาหาร, ไรเดอร์, สังคม และพนักงานแกร็บ (Grabbers)

สำหรับไรเดอร์และลูกค้าโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ แกร็บได้เพิ่ม ฟู้ดล็อกเกอร์ (Food Lockers) เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องรีบลงมารับอาหาร และไรเดอร์ก็ไม่ต้องรอลูกค้านาน สร้างความสะดวกให้ทั้งผู้สั่งอาหารและไรเดอร์ ปัจจุบัน ฟู้ดล็อกเกอร์ให้บริการใน 4 โลเคชั่น ได้แก่  Park Q, FYI Center, The 9th Towers และ CentralwOrld Offices โดยจะขยายมากขึ้นอีกในปีนี้

“ต้องยอมรับว่าเวลาของไรเดอร์มีค่า เขาก็ไม่อยากต้องมารอเพราะเสียเวลาทำมาหากิน แต่บางทีชาวออฟฟิศติดประชุม ต้องรอลิฟต์ ดังนั้น เมื่อมีฟู้ดล็อกเกอร์ไรเดอร์เขาก็ฝากไว้ได้ โดยนับตั้งแต่มีเราเห็นว่าลูกค้า 20% เปลี่ยนมาใช้ล็อกเกอร์”

ใช้ AI หาเส้นทางและคำนวณเวลารับอาหาร

อีกส่วนที่ช่วย ลดเวลาให้ไรเดอร์ คือ ระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Allocation) โดยแกร็บจะติดตั้ง IoTs (Internet of Things) เพื่อเก็บข้อมูลระยะเวลาเฉลี่ยในการทำอาหาร และใช้ Machine Learning (ML) และ Predictive Analytics มาประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้าก่อนจะส่งงานให้คนขับ เพื่อลดระยะเวลาการรอรับอาหารให้สั้นที่สุด ทำให้ไรเดอร์สามารถคำนวณเวลาในการมารับอาหารได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยให้จัดการรอบการจัดส่งได้ดียิ่งขึ้น โดยตั้งแต่เริ่มต้นใช้ระบบนี้ตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2566 พบว่า Fulfillment Rate ดีขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการรออาหารได้ถึง 50%

อีกระบบก็คือ ระบบแผนที่ทั่วไป (Hyperlocal Mapping Technology) ที่พัฒนาขึ้นเองโดย GrabMap ช่วยแนะนำเส้นทางที่แม่นยำขึ้น มีระบบที่ช่วย แจ้งอุบัติเหตุหรือปัญหาบนท้องถนนแบบเรียลไทม์ รวมถึง แผนที่ในอาคาร (Indoor Map) ที่ช่วยบอกตำแหน่งของร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร ช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาได้ถึง 20%

“การช่วยประหยัดเวลาช่วยไรเดอร์ได้มากสุด อย่างเราเปลี่ยนมาใช้แผนที่ของตัวเองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะเน้นเก็บข้อมูลเส้นทางซอยเล็ก ๆ มากกว่าถนนใหญ่เพื่อหาเส้นทางที่ดีที่สุดให้ไรเดอร์ ส่วนฟีเจอร์ที่ให้ไรเดอร์รีพอร์ตพื้นที่ปิดหรืออุบัติเหตุ ก็มีการใช้อย่างแอคทีฟ โดยที่ผ่านมามีการรีพอร์ต 3 หมื่นครั้ง เพื่อให้หลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว ยิ่งช่วงฝนตกยิ่งมีการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม”

เพิ่มฟีเจอร์แฟมิลี่แอคเคาท์

ในฝั่งของ ผู้ใช้ แกร็บได้เพิ่มฟีเจอร์ บัญชีครอบครัว (Family Account) โดยผู้ใช้บริการสามารถเรียกรถ ตรวจสอบตำแหน่งการเดินทาง สื่อสารผ่านแชตกับคนขับ และชำระค่าบริการให้กับสมาชิกในครอบครัว เพราะที่ผ่านมาแกร็บพบว่า ลูกค้าไทย 1 ใน 3 (34%) สั่งอาหารหรือเรียกรถให้คนอื่น

อีกฟีเจอร์ที่ใช้มา 9 เดือนก็คือ บริการคำสั่งซื้อกลุ่ม (Group Order) ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มพนักงงาน ออฟฟิศและนักศึกษา ปัจจุบันฟีเจอร์นี้ก็ได้พัฒนาให้สะดวกมากขึ้น เช่น สามารถเลือกแยกจ่ายได้ หรือหารเท่าได้ และสามารถแยกใช้โค้ดส่วนลดของแต่ละคนได้ เป็นต้น

“ลูกค้า 93% ระบุว่า ปกติสั่งเป็นกลุ่มอยู่แล้ว แต่ใช้วิธีการใช้คนเดียวรวบรวมคำสั่ง พอมีฟีเจอร์นี้ยิ่งตอบโจทย์ และเราปรับให้มีความเพอเซอร์นอลไรซ์มากขึ้น ตอนนี้ออเดอร์สูงสุดที่เห็นมีมูลค่ากว่า 8,000 บาท”

ร้านค้ามีเอไอช่วยสร้างภาพให้

ในส่วนของ ผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร แกร็บก็มี AI ช่วยสร้างหรือออกแบบ ภาพอาหาร เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าและเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้าโดยเฉพาะร้านเล็ก ที่มีปัญหาเรื่อง ถ่ายรูปไม่สวย หรือ ไม่มีรูปเลยมีแต่เมนู อีกส่วนคือ บริการสินเชื่อดิจิทัล โดยเพิ่มวงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท โดยนำเทคโนโลยี ML มาใช้ประเมินศักยภาพและอนุมัติวงเงินที่เหมาะสมให้พาร์ทเนอร์ร้านค้าโดยพิจารณาจากข้อมูลการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของแกร็บ ปัจจุบันเริ่มเห็นการปล่อยสินเชื่อมูลค่า 5-7 ล้านบาท แล้ว สำหรับร้านอาหาร

“หนี้เสียร้านอาหารเราอยู่ที่ 2.35% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของแบงก์ชาติอยู่ที่ 2.7% ที่เราต่ำกว่าระบบ มองว่า เขาไม่อยากทิ้งอาชีพนี้ไป และถ้าร้านเขาอยู่ในแพลตฟอร์มเรา เขาก็มีโอกาสขายมากกว่า เพราะสามารถขายคนในรัศมี 10 กม. และเรามีข้อมูลให้รู้ว่าควรขายอะไร ขายตอนไหน ช่วยคุมต้นทุน วางแผนการตลาด”

เพิ่มความปลอดภัยด้วยการอัดเสียง

ที่ผ่านมา แกร็บมักเจอปัญหา ให้เช่าแอคเคาท์ ทำให้แกร็บได้พัฒนาระบบยืนยันตัวตนของคนขับด้วยการสแกนใบหน้า (Biometric Authentication) โดยการ สุ่มตรวจ และมีระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ (Real-time Trip Monitoring) รวมถึง ระบบบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง (AudioProtect) ที่ช่วยป้องกันเหตุร้ายและใช้เป็นหลักฐานหากเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้โดยสารและคนขับ

GrabGPT สำหรับ Grabbers

ในส่วนของ พนักงาน (Grabbers) ทางแกร็บได้ร่วมกับ ChatGPT ทำ GrabGPT ที่นำเทคโนโลยี Large Language Models (LLMs) เข้ามาช่วยในการผลิตเนื้อหาและภาพประกอบ รวมถึง โปรแกรม Mystique เครื่องมือที่ช่วยในการเขียนคำโฆษณา ซึ่งจะช่วยย่นเวลาการทำงานของฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟ

ปัจจุบัน แกร็บมี Tech Hub ใน 9 ประเทศ โดยมี Hub ใหญ่อยู่ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย รวมแล้วแกร็บมี AI Model กว่า 1,000 โมเดล และมีสิทธิบัตรกว่า 1 หมื่นใบ

Photo : Sutterstock

บอกไม่ได้เบอร์ 1 และ 2 ห่างกันแค่ไหน

สำหรับช่องว่างระหว่างเบอร์ 1 และ 2 ในตลาด Food Delivery วรฉัตร มองว่า ตอบยาก เพราะธุรกิจยังไม่ Mature จนมีคนกลางที่เชื่อถือได้มาเปิดเผย ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เช่น FMCG ที่มีคนกลางอย่าง Neilson ที่เชื่อถือได้ว่าผู้เล่นแต่ละรายมี Volume เท่าไหร่

แต่ในธุรกิจ Food Delivery วรฉัตรมั่นใจว่า แกร็บยังคงเป็นผู้นำทั้งในแง่อินโนเวชั่นและการเป็นที่ยอมรับ โดยอ้างอิงจากแกร็บฟู้ดได้รับรางวัลสุดยอดแบรนด์ทรงพลัง (The Most Powerful Brands of Thailand) จากภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ที่เก็บข้อมูลจาก 24,000 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 12,000 ตัวอย่าง และใน 13 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศอีก 12,000 ตัวอย่าง

“ผมมองว่าการเป็นผู้นำคงไม่ใช่เราพูดเอง ต้องให้คนอื่นบอก แต่คนที่บอกก็ต้องดูว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน อย่างรีเสิร์ชจาก Redseer Consulting ดูชื่อเราก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน ข้อมูลที่มามาจากไหนก็ไม่รู้ เพราะเราไม่เคยแชร์ข้อมูลใคร หรือข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้บอกถึงยอดขายแกร็บฟู้ด และวิธีการที่เราคำนวณรายได้เพื่อจะดูว่าอะไรเป็นรายได้ อะไรเป็นค่าใช้จ่าย แต่ละแบรนด์ก็คิดไม่เหมือนกัน เรายึดตามมาตรฐาน Nasdaq บางอันเราไม่ได้เรียกว่าเป็นรายได้ เพราะ Nasdaq ไม่ได้นับ ซึ่งมันอาจต่างจากบริษัทในไทย” วรฉัตร กล่าว

มั่นใจแกร็บยังเติบโตแม้เศรษฐกิจแย่

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันจะไม่ค่อยดี แต่ วรฉัตร ยืนยันว่า แกร็บยังเติบโตทั้งวอลลุ่มและรายได้ โดยในส่วนของ Food Delivery ยังเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด ตามด้วยบริการเรียกรถ และบริการมาร์ทก็ยังเติบโตได้ดี แต่ที่เติบโตกว่าที่คิดจะเป็นส่วนของ โฆษณา ส่วนสินเชื่อโตขึ้นเรื่อย ๆ

“หุ้นไทยเขียว แต่ผลประกอบการเราเขียวกว่า ซึ่งเรามองว่าปีนี้ที่ดีเพราะนักท่องเที่ยวในไทยไม่ตกลงเลยนับตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งนักท่องเที่ยวมีส่วนช่วยในธุรกิจเรามาก อย่างบริการเรียกรถกลุ่มนักท่องเที่ยวก็จะเน้นพรีเมียม และเมื่อเขารู้จักเราจากบริการเรียกรถก็จะมาช่วยในบริการสั่งอาหารและมาร์ท นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบเรา เพราะเขารู้จักเราตั้งแต่สนามบิน”

]]>
1491633
มองเกมยาว จับลูกค้ากระเป๋าหนัก! จุดสำคัญพา ‘แกร็บ’ กำไร 2 ปีติด https://positioningmag.com/1467870 Wed, 27 Mar 2024 08:04:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467870 หากพูดถึงตลาด Ride-Hailing และ Food Delivery เชื่อว่าหลายคนก็รู้ดีว่าเป็นตลาดที่แข่งขันสูง โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่น อย่างไรก็ตาม มีเพียงแพลตฟอร์มเดียวในตลาดที่สามารถทำกำไรได้ 2 ปีติดต่อกันก็คือ แกร็บ (Grab) ที่ทำตลาดในไทยมาแล้ว 10 ปีเต็ม อะไรเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แกร็บทำกำไรได้ และสร้างการเติบโตจากนี้

มองเกมยาว เน้นลูกค้าคุณภาพ

ย้อนไปปี 2022 แกร็บ มีรายได้ 15,197 ล้านบาท กำไร 576 ล้านบาท ส่วนในปี 2023 แม้บริษัทจะยังไม่เปิดเผยแต่ วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เกริ่นว่า มีกำไรที่มากขึ้นเล็กน้อย ซึ่งหนึ่งในจุดที่ทำให้แกร็บสามารถทำกำไรได้ 2 ปีติดต่อกันก็คือ การมองเกมระยะยาว นั่นก็คือ การคัด ลูกค้าคุณภาพ

“หากมองอะไรระยะสั้น จะยิ่งทำให้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์บ่อย ซึ่งต้องชมทีมที่ไม่เปลี่ยนใจกับสิ่งเร้ารอบตัวเวลา โดยเฉพาะเวลามีแพลตฟอร์มใหม่กระโดดเข้ามา หรือพอคู่แข่งลดราคาแบบนี้ แล้วเราไม่เป็นลดตาม เราต้องอดทนเยอะมากนะ”

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย

หนึ่งในกลยุทธ์ที่แกร็บวางไว้สำหรับคัดลูกค้าคุณภาพก็คือ GrabUnlimited โปรแกรมสมาชิกแพ็กเกจรายเดือนที่ให้ส่วนลดและข้อเสนอพิเศษประจำเดือน ที่แกร็บออกมาตั้งแต่ปี 2020 โดยสามารถช่วยดันให้มูลค่าออเดอร์เติบโตขึ้น +17% มีมูลค่าคำสั่งซื้อเฉลี่ยที่กว่า 200 บาท/ครั้ง และมีความถี่ในการสั่งมากกว่าลูกค้าทั่วไป 20% และปีนี้ก็จะพยายามเพิ่มเมมเบอร์ในฝั่งเรียกรถ

นอกจากการทำเมมเบอร์แล้ว การมี Grab ThumbsUp หรือร้านการันตี และ Only at Grab ซึ่งปัจจุบันมีร้านรวมกว่าพันร้าน ก็ช่วยการันตีถึงคุณภาพ ช่วยให้ลูกค้าเลือกใช้บริการแกร็บ

“ยอดสั่งซื้อสูงแต่มูลค่าต่อคำสั่งซื้อต่ำแปลว่ายิ่งขาดทุน ดังนั้น เราจึงพยายามผลักดันการโฟกัสที่ลูกค้าคุณภาพ โดยเรานำเงินจากโปรโมชั่นมาใช้กับลูกค้า GrabUnlimited ทำให้ไม่ต้องทำโปรแรงตลอดเวลา ไม่ต้องลดค่ารอบไรเดอร์ ช่วยให้เรามีกำไร เกิดบาลานซ์ ไม่มีใครเสียประโยชน์ แพลตฟอร์มมีความยั่งยืน เพราะลูกค้าจะไม่ได้เปลี่ยนแบรนด์ง่ายขนาดนั้น” วรฉัตร อธิบาย

ยอมรับว่าราคาเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

แม้การที่มีลูกค้าคุณภาพจะช่วยให้ทำกำไร แต่การจะขยายฐานลูกค้าให้เติบโต ปัจจัยด้าน ราคา ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยจากการสำรวจของแกร็บในเดือนที่ผ่านมาพบว่า 62% ของผู้บริโภค มีความกังวลค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้สั่งอาหารหรือเรียกรถไม่โตเท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคมองว่า ราคาสูงเกินไป

สอดคล้องกับที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปีนี้ มูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือ หดตัว 1.0% จากปี 2566 จากปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นหรือ Food Delivery ที่คาดว่าจะยังลดลง เนื่องจากความจำเป็นในการสั่งที่ลดลง และราคาอาหารเฉลี่ยที่ปรับสูงขึ้น

ดังนั้น ราคาจับต้องได้ จะช่วยขยายตลาดให้แกร็บขยายไปยังเซกเมนต์ใหม่ ๆ อาทิ นักศึกษาและผู้ใช้ต่างจังหวัด โดยแกร็บได้ออกแคมเปญ Hot Deals โดยจะรวมเมนูลดราคาพิเศษจากหลากหลายร้านอาหาร พร้อมส่วนลดออนท็อป และ SAVER Delivery ตัวเลือกค่าส่งแบบประหยัด ในส่วนของบริการเรียกลดจะมีบริการ  GrabCar SAVER สำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ขนาดเล็กที่ถูกลงกว่าปกติ 15% และบริการ GrabBike SAVER ในระยะทางไม่เกินสี่กิโลเมตร เริ่มต้น 26 บาท

“แน่นอนว่าเราทำราคาถูกลง แต่ก็ต้องบาลานซ์กับรายได้ของไรเดอร์ ดังนั้น บริการเหล่านี้จะเปิดในช่วงที่ไม่เร่งด่วนหรือช่วงกลางคืน ซึ่งคนขับเลือกได้จะขับในเวลาถูกลง หรือจะปิดรับ หรืออย่างในต่างจังหวัดที่งานน้อย เราก็ต้องหาทางเพิ่มรอบ เพื่อให้ไรเดอร์มีรายได้มากขึ้น”

แกร็บบุกสนามบิน

หลังจากการท่องเที่ยวกลับมา การเรียกรถก็กลับมาเติบโต โดยในปีที่ผ่านมา ยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแกร็บในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตขึ้นถึง 139% หรือ 1.4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2022 และการเรียกรถไป-กลับจากสนามบินเติบโตขึ้น 2 เท่า

ที่ผ่านมา แกร็บได้เปิดบริการที่สนามบินภูเก็ต, สนามบินเชียงใหม่, สนามบินเชียงราย และสนามบินดอนเมือง ล่าสุด แกร็บกำลังจะเปิดบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิภายในสิ้นเดือนนี้

“ยอมรับว่าบริการเรียกรถที่ถูกกว่าแกร็บมีเยอะมาก และแกร็บก็ต้องเสียลูกค้าบางส่วนให้กับแพลตฟอร์มนั้น ๆ แต่เพราะคุณภาพทำให้แกร็บยังสามารถยืนในขณะนี้ได้อยู่ ดังนั้น ด้วยคุณภาพที่สูงทำให้แกร็บไม่สามารถลดราคาได้”

ยังไม่มีแผนเพิ่มบริการหรือธุรกิจใหม่ ๆ

วรฉัตร ยืนยันว่า ปีนี้ยังไม่มีแผนเพิ่มบริการหรือธุรกิจใหม่ แต่บริการใหม่ที่เปิดในปีที่ผ่านมา อาทิ Dine-in ซึ่งจะเป็นลักษณะของการขายคูปอง จะทำอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้แกร็บเข้าถึงร้านที่ไม่เปิดบริการ Food Delivery ได้มากขึ้น ส่วนการทำ Virtual Bank ก็ยังไม่มีแผนจะทำ แม้ว่าแกร็บจะมีบริการ Grab Finance มีแผนจะเพิ่มวงเงินการปล่อยกู้จากหลัก 5,000-500,000 บาท เป็น หลักล้านบาท ให้กับเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร

Virtual bank ทำได้ยาก เพราะว่าแบงก์ไทยแข็งแรงมาก และนอน-แบงก์ก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินได้เยอะมาก เช่น ประกัน, ลงทุน, ปล่อยกู้ ดังนั้น เลยรู้สึกว่าสู้กับแบงก์ไทยยาก คนที่จะเป็นดิจิทัลแบงกิ้งก็คือ แบงก์นั่นแหละ”

มองโฆษณาธุรกิจดาวรุ่งทำกำไร

แน่นอนว่าปีนี้ กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตมากที่สุดยังคงเป็นการเรียกรถ เนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยว ตามด้วยธุรกิจ Food Delivery และธุรกิจโฆษณา หรือ Grab Ads ซึ่งในอนาคต วรฉัตร มองว่า ธุรกิจโฆษณาจะเป็นธุรกิจสำคัญในการสร้างกำไรให้กับบริษัท เนื่องจากเห็นเทรนด์ในหลายประเทศ

สำหรับรายได้จากโฆษณาของแกร็บจะมาจาก Self-serve ads เครื่องมือโฆษณาสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านค้า เพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย ที่ผ่านมาพบว่า ร้านอาหารสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 6 เท่า จากเม็ดเงินโฆษณา อีกส่วนคือ Grab Ads ปีนี้แกร็บพยายามจะเชื่อมระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ให้มีความครบวงจรโดยจะโฟกัสไปที่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าสุขภาพ-ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค

“จุดแข็งของ Grab Ads คือ เรารู้ว่าลูกค้าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใช้บัตรเครดิตอะไร อยู่แถวไหน ทำให้เราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และปีนี้เราจะทำโฆษณาทั้งในรถ นอกรถ เชื่อมต่อกับในแอปฯ ด้วยเพื่อให้ครบวงจร ทำให้เราใช้พื้นที่ทำโฆษณาให้ได้มากกว่าเดิม”

]]>
1467870
Grab รายงานผลประกอบการล่าสุด กระแสเงินสดกลับมาเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ https://positioningmag.com/1451341 Fri, 10 Nov 2023 03:39:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451341 Grab รายงานผลประกอบการล่าสุดในไตรมาส 3 ของปี 2023 บริษัทมีกระแสเงินสดกลับมาเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการอยู่ที่ 29 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าในปีนี้กระแสเงินสดของบริษัทจะติดลบน้อยลงกว่าที่คาดไว้

Grab รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 ของปี 2023 โดยบริษัทมีกระแสเงินสดถึง 29 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นกระแสเงินสดเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ ซึ่งถือเป็นสัญญาณของบริษัทเทคโนโลยีในอาเซียนว่าบริษัทสามารถเข้าสู่เส้นทางของการทำกำไรได้จริง ๆ

ยอดขายสินค้าออนไลน์รวม หรือ GMV ของ Grab ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ 5,341 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตจากปีที่ผ่านมา 5% ส่งผลทำให้รายได้รวมของบริษัทนั้นอยู่ที่ 615 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตมากถึง 61% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัจจัยรายได้ของธุรกิจการส่งอาหารที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา Grab ยังรายงานว่าผู้ใช้งานทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มนั้นทำสถิติสูงสุดใหม่คือ 36 ล้านคน

กระแสเงินสดที่กลับมาบวก 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ปัจจัยมากจากธุรกิจส่งอาหารเป็นหลัก รองลงมาคือธุรกิจขนส่ง และบริการทางการเงิน ตามลำดับ

Peter Oey ประธานฝ่ายบริหารการเงินของ Grab ยังกล่าวว่า GMV ของธุรกิจส่งอาหารและธุรกิจขนส่งนั้นคาดว่าจะกลับมามีรายได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ได้

อย่างไรก็ดีในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ Grab ยังขาดทุนจากการดำเนินงาน 99 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทขาดทุนมากถึง 342 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป้าหมายของบริษัทที่วางไว้ในปีนี้คือรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2,310-2,330 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขณะที่กระแสเงินสดของบริษัททั้งปี 2023 จะติดลบอยู่ในช่วง 20-25 ล้านเหรียญสหรัฐ ดีกว่าคาดการณ์ครั้งก่อน

]]>
1451341
‘แกร็บ’ กับการปรับภาพสู่ “ผู้ให้บริการเรื่องกินครบวงจร” ที่สะท้อนว่าตลาด ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ กำลังมาเกือบสุดทาง https://positioningmag.com/1446744 Thu, 05 Oct 2023 00:46:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446744 ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของ COVID-19 กลายตัวเร่งให้ตลาด “ฟู้ดเดลิเวอรี่” เติบโตกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในวันที่ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ บริการฟู้ดเดลิเวอรี่กลายเป็นทางเลือกเหมือนที่เคยเป็น ‘แกร็บ’ (Grab) เองก็ต้องปรับตัว ซึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ‘ฟีเจอร์’ ใหม่ ๆ ที่ออกมามากกว่าบริการส่งอาหาร

แน่นอนว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยที่มีมูลค่าถึง 8.6 หมื่นล้านบาท แม้ว่าตลาดจะทรงตัวนับตั้งแต่การระบาดของโควิดคลี่คลายลง แต่ก็ยังถือเป็นตลาดที่ใหญ่อยู่ดี อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาสู่แบบเดิมแล้ว ดังนั้น คนก็ยังใช้งานอยู่ดี เพียงแต่การใช้งานอาจจะลดความถี่ลง

ในเมื่อตลาดมันทรงตัว การแข่งขันก็ยังคงดุเดือด แต่จะให้อัดโปรโมชันก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี โดยเฉพาะกับ แกร็บ ที่ออกตัวเเล้วว่าต้องการจะคืนทุนให้ได้ภายในปีนี้ ดังนั้น แกร็บเองก็ต้องปรับฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่สอดรับไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กลับสู่ภาวะปกติ พร้อมใช้คำว่าการเป็น “ผู้ให้บริการเรื่องกินครบวงจร” ไม่ใช่ผู้ให้บริการส่งอาหาร

หนึ่งในฟีเจอร์ใหม่ของแกร็บที่หลายคนน่าจะผ่านตามาเเล้วก็คือ Dine-in ซึ่งจะเป็นลักษณะของการ ขายคูปอง ซึ่งแปลว่าบริการนี้จะไม่ได้อยู่ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่เป็นตลาดร้านอาหารซึ่งมีมูลค่าถึง 4.35 ล้านล้านบาท มีการเติบโตที่ 7.1% ซึ่งฟีเจอร์นี้จะยิ่งช่วยให้แกร็บสามารถต่อยอดไปสู่บริการ เรียกรถยนต์ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางลูกค้าเรียกใช้เองเพื่อไปร้านอาหาร หรือทางร้านอาหารใช้บริการเรียกรถเป็นโปรโมชันให้ลูกค้านั่งมาฟรีก็ได้

เบื้องต้น แกร็บยังไม่ได้ให้บริการกับร้านอาหารทุกร้านในระบบ ส่วนใหญ่จะเป็นร้าน Fine-Dining และแกร็บจะ ยังไม่ข้ามไปขายคูปองวัลเชอร์อื่น ๆ เช่น ขายคูปองที่พัก โดย วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ให้เหตุผลว่ายังอยากโฟกัสที่ธุรกิจอาหารซึ่งเป็นความถนัดของแกร็บ ยังไม่อยากข้ามอุตสาหกรรม

“ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เกือบสุดเเล้ว เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้เราโตต่อได้ ก็ต้องเปิดตลาดใหม่ ๆ ตอนนี้อาจยังไม่สร้างการเปลี่ยนเเปลงนัก แต่ถ้าจุดติดเราเชื่อว่ามันจะสเกลได้เร็ว เพราะ 2 สัปดาห์ที่ทดลอง เราเห็นคนที่ไม่เคยใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่มาใช้งาน Dine-in” วรฉัตร อธิบาย

ในส่วนของฟู้ดเดลิเวอรี่ แกร็บก็ยังต้องรักษาการเติบโต โดยแบ่งฟีเจอร์ออกเป็น 2 แกน คือ ความสะดวก ได้แก่ฟีเจอร์ Self Pick-Up ที่มาตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้ที่กลับมาสู่ปกติ โดยฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องต่อคิวซื้ออาหาร ช่วยให้ประหยัดเวลา ขณะที่ร้านอาหารก็มีทราฟฟิกมากขึ้น โดยหลังจากทดลองใช้จุดที่ใช้มากสุดคือ ห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงาน

ฟีเจอร์ Group Order ที่ช่วยตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศและกลุ่มครอบครัว โดยผู้ใช้บริการหลายคนสามารถสั่งอาหารจากร้านเดียวกันรวมกันได้ผ่านออเดอร์เดียว สามารถ แชร์ค่าส่ง ได้ทำให้ประหยัดมากขึ้น ส่วนร้านเองก็จะได้มูลค่าคำสั่งซื้อที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์อาจต้องรับมือกับจำนวนอาหารที่มากขึ้นใน 1 คำสั่งซื้อ ซึ่งทางแกร็บเองก็มองมุมนี้เหมือนกัน ดังนั้น ในอนาคตแกร็บอาจมีการจำกัดจำนวนชิ้นเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย หรืออาจเป็นการให้ไรเดอร์แชร์สินค้าในการจัดส่ง

ฟีเจอร์ สั่งอาหารล่วงหน้า (Order for later) ฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้บริการสั่งอาหารได้ล่วงหน้าได้มากสุดภายใน 7 วัน โดยสามารถระบุวันและเวลาที่ต้องการรับอาหารตามความสะดวก โดย 58% ของผู้ใช้ฟีเจอร์นี้คือคนที่ยุ่งกับการทำงานระหว่างวันจนไม่มีเวลาสั่งอาหาร ขณะที่ 20% ต้องการหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในช่วงเวลา peak hours เช่น มื้อเที่ยงและมื้อเย็น

อีกแกนก็คือ ความคุ้มค่า ด้านโปรโมชันก็ยังต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้ไม่กระทบกับแผนที่จะต้องถึงจุดคุ้มทุนในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ และเริ่มทำกำไร รวมถึงบาลานซ์ระหว่างรายได้และค่ารอบของไรเดอร์ ทำให้เกิดเป็นตัวเลือก ส่งแบบประหยัด ที่จะถูกการจัดส่งมาตรฐานประมาณ 50% แต่ก็ต้องเเลกกับระยะเวลาจัดส่งที่นานขึ้น

นอกจากนี้ ก็มีฟีเจอร์ ดีลลดฟ้าผ่า (Flash Sale) ฟีเจอร์ที่นำเสนอดีลส่วนลดขั้นกว่าสำหรับผู้ใช้บริการ ที่จะให้แบบ Personalize และมีระบบแพ็กเกจสมาชิก GrabUnlimited เพื่อสร้าง Loyalty ผ่านการมอบส่วนลดให้สมาชิก

จะเห็นว่าแกร็บยังคงต้องรักษาการเติบโตในขาของฟู้ดเดลิเวอรี่ ผ่านฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกสบายและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้ ขณะที่โปรโมชันก็ยังคงมี แต่จะมีความเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการมากขึ้น เพื่อบาลานซ์ทั้งการเติบโตและการสร้างกำไร รวมไปถึงการขยับไปสู่ตลาดอาหารใหม่ ๆ โดยไม่จำกัดว่าเป็นผู้ให้บริการส่งอาหาร แต่เป็น “ผู้ให้บริการเรื่องกินครบวงจร”

]]>
1446744
‘Grab’ เริ่มทดลองฟีเจอร์ “ทานที่ร้าน” รับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น https://positioningmag.com/1439735 Thu, 03 Aug 2023 08:16:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439735 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่ไม่ได้ร้านแรงเหมือนช่วง 3 ปีที่แล้ว บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เลยไม่ได้เติบโตอย่างร้อนแรงเหมือนช่วงที่คนออกจากบ้านไปทานอาหารที่ร้านไม่ได้ ดังนั้น แกร็บ (Grab) และ ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) เลยเพิ่มบริการ ทานที่ร้าน ในรูปแบบการซื้อคูปองผ่านแพลตฟอร์ม

Grab กำลังทดสอบฟีเจอร์ การรับประทานที่ร้าน ในสิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย รวมทั้งหมด 15 เมือง โดยให้ผู้ใช้ซื้อเป็น คูปอง หรือ บัตรกำนัล สำหรับรับประทานที่ร้านล่วงหน้า โดยจะมี ส่วนลดสูงสุดถึง 50% ซึ่ง Grab มีแผนจะเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวนี้ในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

Tay Chuen Jein หัวหน้าฝ่ายจัดส่งของ Grab ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ฟีเจอร์บริการนั่งทานในร้านของ GrabFood “ทำให้การรับประทานอาหารนอกบ้านมีราคาที่ย่อมเยามากขึ้น” เนื่องจากแพลตฟอร์มได้เสนอส่วนลดให้กับลูกค้า สำหรับ Grab เองก็จะได้ค่า คอมมิชชั่น จากการขายคูปองทานอาหารแต่ละครั้ง

โดย Jonathan Woo นักวิเคราะห์อาวุโสของ Phillip Securities Research กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมองหาข้อเสนอเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในทุกที่ที่ทำได้ และแทบไม่มีความรู้สึกใดที่ดีไปกว่าการได้รับประทานอาหารดี ๆ ในราคาประหยัด

อย่างไรก็ตาม Grab ไม่ใช่ผู้เล่นรายแรกในตลาดที่ทำ แต่ Foodpanda ถือเป็นรายแรก โดยเปิดฟีเจอร์การรับประทานในร้านในปี 2021 โดยปัจจุบัน Foodpanda มีบริการทานที่ร้าน ในสิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฮ่องกง ปากีสถาน และบังกลาเทศ มีร้านอาหารที่ร่วมกับแพลตฟอร์มกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศเหล่านี้ และมีส่วนลดในการรับประทานอาหารตั้งแต่ 15% ถึง 25%

Jakob Sebastian Angele ซีอีโอประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Foodpanda กล่าวว่า บริษัทมองเห็น ศักยภาพมหาศาลในการรับประทานที่ร้าน อย่างไรก็ตาม รายได้จากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่จัดส่งอาหารยังคงเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของ Foodpanda รองลงมาคือ การจัดส่งของชำ

ทั้งนี้ จากรายงานโดย Benchmark ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนระบุว่า การจัดส่งอาหารมีการเติบโตอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตถึง 50% ต่อปี แต่ในปัจจุบัน บริการส่งอาหารยังมีการเติบโตอยู่แต่ไม่สูงเหมือนช่วง 3 ปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคกลับมาใช้กิจวัตรประจำวันตามปกติและออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยขึ้น

“ด้วยสิ่งจูงใจที่ลดลง เนื่องจากแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาเงินสด อาจส่งผลให้ผู้บริโภคสั่งอาหารน้อยลง และร้านค้ามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปเน้นการดึงดูดลูกค้าหน้าร้านมากขึ้น ซึ่งอาจชะลอการเติบโตของปริมาณการสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ในระยะสั้น”

Source

]]>
1439735
ลือหึ่ง ‘Grab’ และ ‘Gojek’ เตรียมควบรวมกิจการ https://positioningmag.com/1308949 Thu, 03 Dec 2020 11:11:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308949 มีข่าวลือว่า 2 สตาร์ทอัพที่มีค่าที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ‘Grab’ และ ‘Gojek’ เจ้าของแพลตฟอร์ม ‘Ride-Hailing’ ที่ชาวไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีอาจจะ ‘ควบรวมกิจการ’ โดยมี ‘SoftBank Group Corp.’ เป็นนักลงทุนรายใหญ่

Grab และ Gojek ทั้งคู่ต่างเป็นคู่แข่งที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดในตลาด Ride-Hailing ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยต่างคนก็ต่างผลาญเงินลงทุนจากนักลงทุนเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้มาใช้แพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ ‘SoftBank’ ต้องพยายามทำให้ทั่ง 2 ควบรวมกิจการกันเพื่อลดการผลาญเงินลงทุนและสร้าง Tech Company ที่ทรงพลังที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ก่อนที่จะไม่ได้อะไรเลย

ซึ่งถ้าเกิดการควบรวมจริง ‘Anthony Tan’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab จะกลายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหน่วยงานที่รวมกัน ในขณะที่ผู้บริหาร Gojek จะดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียภายใต้แบรนด์ Gojek เหมือนเดิม โดยทั้งสองแบรนด์อาจใช้ชื่อแบรนด์ของตัวเองทำตลาดเองทำงานแยกกันอีกนาน แต่ในท้ายที่สุดการรวมกันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็น ‘บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์’

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของ Grab, Gojek และ SoftBank ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวอาจจะล่มเนื่องจากต้องได้รับการอนุมัติตามกฎข้อบังคับ และรัฐบาลเองก็อาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับการ ‘ผูกขาด’ หากทั้ง 2 บริษัทเกิดควบรวมกันขึ้นมาจริง ๆ

คงต้องรอดูกันยาว ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะหาก 2 รายใหญ่จับมือกัน รายเล็ก ๆ ในไทยอาจจะยิ่งอยู่ยากขึ้นไม่น้อย

Source

]]>
1308949
เปลี่ยนบ้างก็ได้! ‘แกร็บ’ จัด ‘100 เมนูเอ็กซ์คลูซีฟ’ สู้ศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ https://positioningmag.com/1294094 Tue, 25 Aug 2020 14:13:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294094 จากวิกฤติ COVID-19 ส่งผลให้ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตอย่างมาก ส่งผลให้ใคร ๆ ก็อยากตบเท้าเข้ามาชิงส่วนแบ่งจากเค้กมูลค่า 35,000 ล้านบาทก้อนนี้ ดังนั้น จากที่มีคู่แข่งจากฝั่งบริษัทเทคโนโลยีด้วยกันเองอย่างฟู้ด แพนด้า, ไลน์แมน, โกเจ็ก (เก็ทเดิม) แต่กลายเป็นว่า ‘ธนาคาร’ กลับเข้ามาเล่นในตลาดนี้ด้วย เช่น โรบินฮู้ด (Robinhood) จากกลุ่มเอสซีบี หรืออีทเทเบิล (Eatable) จากบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด ในเครือกสิกรไทย คำถามคือ ‘แกร็บฟู้ด’ (Grab Food) จะทำอย่างไรในเกมนี้

COVID-19 ดันยอดโตกระโดด

ปัจจุบันแกร็บมียอดดาวน์โหลดกว่า 14 ล้านดาวน์โหลด โดยในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจส่งคนยอดหายถึง 90% แต่ในส่วนของแกร็บฟู้ดมีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ผลประกอบการเติบโตเท่าตัว ยอดออเดอร์โต 30% ส่วนพาร์ตเนอร์ผู้ขับเติบโต 40,000 ราย รวมทั้งหมดกว่า 1 แสนราย ขณะที่การเติบโตของร้านอาหารรายใหม่อยู่ที่ 2.5 เท่า รวมทั้งหมดที่ 80,000 ร้าน ส่วนมูลค่าคำสั่งซื้ออยู่ที่ประมาณ 100-200 บาท

แน่นอนว่าหลังจากที่มีการคลายล็อกดาวน์จะส่งผลให้การเติบโตของแกร็บฟู้ดลดลง แต่พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยกินอาหาร 7 ครั้งต่อวัน อีกทั้งการเข้าถึงของสมาร์ทโฟนในไทยยังสูงถึง 80% อีกทั้งพื้นที่การให้บริการแล้วยังครอบคลุมแค่ 35 เมืองใน 33 จังหวัด ซึ่งแปลว่าโอกาสเติบโตยังมีอีกมาก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครเก็บข้อมูลชัดเจนว่าผู้เล่นแต่ละรายมีส่วนแบ่งตลาดมากน้อยแค่ไหน แต่มีข้อมูลการใช้งานเป็นประจำ หรือ Most Often Used Brand ของ Kantar ที่ใช้แทนการชี้วัดมาร์เก็ตแชร์ระบุว่าแกร็บมีอยู่ที่ 56%

“แกร็บอยู่ในไทย 2 ปี เราขึ้นเบอร์ 1 ในเวลา 1 ปีนิด ๆ เท่านั้น และการที่คู่แข่งมีจำนวนมากขึ้น ก็ยิ่งดีกับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เพราะบิสซิเนสโมเดลของผู้เล่นแต่ละรายแตกต่างกัน แต่เรามั่นใจว่าแพลตฟอร์มเราสมดุลสุด ทั้งร้านค้า, ผู้ขับ และลูกค้า” นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าว

ส่งแคมเปญใหญ่เน้นเมนูหลากหลาย เพิ่มผู้ใช้ทิ้งห่างคู่แข่ง

ที่ผ่านมา แกร็บทำการสำรวจพฤติกรรมลูกค้าพบว่า ความหลากหลายของอาหาร เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญที่สุด รองลงมาเป็นเรื่อง ราคาและโปรโมชั่น ดังนั้น จึงเกิดเป็นแคมเปญ “Free Your Hunger เลิกกินตามใคร กดสั่งตามใจ” แคมเปญใหญ่สุดของปีนี้ โดยได้ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับชื่อดัง มาช่วยสร้างหนังสั้นที่แสดงโดย BNK48 พร้อมทั้งใช้การสื่อสารแบบครบทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

นอกจากนี้ ยังมีดีลและโปรโมชั่นกว่า 30,000 ดีล ทั้งส่งฟรี 3 กิโลเมตรแรก, ลด 50% และซื้อ 1 แถม 1 อีกทั้งยังมีเมนู Signature Menu กว่า 100 เมนู จากปีที่ผ่านมามี 30 เมนู ทิ้งห่างคู่เเข่งรายอื่น ๆ อย่าง LINE MAN ที่มีแค่ 17 เมนู รวมถึงการทำโปรโมชั่นร่วมกับธนาคารและผู้ให้บริการด้านการชำระเงินดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารซิตี้แบงก์ เป็นต้น โดยแคมเปญดังกล่าวมีระยะเวลาการจัดยาวที่สุดตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ถึง 4 ตุลาคม 2563

“ปกติเราจะมีแคมเปญทุกเดือน และมีแคมเปญใหญ่ 1-2 ครั้ง แต่ครั้งนี้เรามั่นใจว่าใหญ่สุดของปีและในอุตสาหกรรม  หากเทียบกับความครอบคลุมของดีลและจำนวนร้านอาหาร”

ทั้งนี้ เป้าหมายของแคมเปญดังกล่าว คือ ร้านค้าต้องมียอดขายโตขึ้น 2 เท่า ผู้ใช้ใหม่โดยเฉพาะในกลุ่ม 20-39 ปีเติบโต 1 เท่า และมี Most Often Used Brand 60% นอกจากนี้ แกร็บได้เตรียมเพิ่ม ‘คลาวด์คิทเช่น’ จาก 3 แห่ง ได้แก่ สาขาสามย่าน สาขาถนนวิภาวดี 64 และสาขาทองหล่อ เป็น 6 แห่งภายในสิ้นปีนี้

กำไรยังไม่เน้น เน้นสร้างสมดุล

ความท้าทายของแกร็บในปัจจุบัน คือ การสร้างสมดุลระหว่างแกร็บ, พาร์ตเนอร์คนขับ, ร้านอาหาร ผู้บริโภคให้พอใจทั้งหมด เรื่องรายได้และกำไรยังไม่คิด เพราะแม้ว่าในส่วนของการส่งอาหารและส่งของ (แกร็บมาร์ท) จะเติบโต แต่ยังไม่สามารถครอบคลุมในส่วนของส่งคน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้เต็มที่ เพราะลูกค้ากลุ่มต่างชาติที่คิดเป็น 20-30% ของลูกค้าแกร็บยังไม่กลับมา

“ที่ผ่านมา มีประเด็นที่พาร์ตเนอร์คนขับแกร็บได้รวมตัวประท้วง เรามีการส่งจดหมายชี้แจงแล้ว เรามีการเปิดรับฟังทุก ๆ เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยกัน อีกทั้งยังมีขาของร้านอาหารและผู้บริโภคอีก ดังนั้นโจทย์ของเราไม่ใช่กำไร แต่เป็นการรักษาสมดุล”

]]>
1294094
“แกร็บ” แจง 3 ประเด็นดราม่า หลังคนขับรวมตัวประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ https://positioningmag.com/1291778 Mon, 10 Aug 2020 04:42:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291778 ยังคงเป็นกระแสดราม่าอย่างต่อเนื่องสำหรับวงการเดลิเวอรี่ ล่าสุด “แกร็บ” เจอกับดราม่าพาร์ตเนอร์ หรือคนขับ ที่รวมตัวประท้วง อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดนลดค่าอินเซ็นทีฟ และให้ซื้อกระเป๋า ล่าสุดแกร็บได้ชี้แจง 3 ประเด็นใหญ่

ก่อนหน้านี้แกร็บได้เจอศึกใหญ่ หลังจากที่ได้ปรับขึ้นค่า GP ร้านอาหาร จนสุดท้ายต้องถอยทัพกลับมาที่ 35% เท่าเดิม จนล่าสุดก็ยังมีศึกใหญ่กับพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนขับอีก

ในช่วงที่ผ่านมาแกร็บได้ปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงปรับโครงสร้างรายได้ของพาร์ตเนอร์ด้วยเช่นกัน มีการประกาศลดค่าอินเซ็นทีฟสำหรับคนขับในต่างจังหวัด เพื่อเสริมสภาพคล่องในยุค COVID-19

จนล่าสุดมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนขับแกร็บได้รวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรม หลังจากที่พบว่าทางแกร็บได้ลดค่าอินเท็นซีฟ บังคับให้ซื้อกระเป๋า รวมถึงประเด็นอื่นๆ จนนำไปสู่การรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ที่หน้าสำนักงานใหญ่ตึกธนภูมิ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563

ทำให้ทางแกร็บออกมาชี้แจงประเด็นใหญ่ รวมถึงข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

จากกรณีที่มีพาร์ตเนอร์คนขับแกร็บไบค์ ในเขตกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกันขอเข้าพบผู้บริหารของแกร็บเพื่อยื่นข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับงานนั้น แกร็บ ประเทศไทย ได้รับทราบถึงปัญหาและข้อเสนอแนะจากพาร์ตเนอร์คนขับในประเด็นต่างๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ทำการติดต่อตัวแทนพาร์ตเนอร์คนขับ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มคนขับในเขตกรุงเทพฯ

โดยได้เชิญเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารเพื่อรับฟังถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยกลุ่มตัวแทนพาร์ตเนอร์คนขับยืนยันที่จะรวมตัวกันที่บริเวณหน้าอาคาร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ทั้งนี้ แกร็บ ประเทศไทย ใคร่ขอเรียนชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. ปัญหาการรับงานที่เกิดขึ้นจากการแบ่งเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี

สืบเนื่องมาจากการประกาศแบ่งเขตพื้นที่การรับงานของพาร์ตเนอร์คนขับในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำให้เกิดข้อจำกัดในเชิงเทคนิคบางประการ และส่งผลต่อการรับงานของพาร์ตเนอร์คนขับ รวมถึงประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าในพื้นที่ซึ่งเป็นรอยต่อ

แกร็บจึงได้ประกาศยกเลิกการแบ่งเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนกว่าระบบจะมีความพร้อมในการให้บริการแบบแบ่งเขตพื้นที่ และจะทำการสื่อสารให้พาร์ตเนอร์คนขับทราบรายละเอียดหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอนาคต

2. การเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าในการเรียกใช้บริการจัดส่งพัสดุผ่าน แกร็บ เอ็กซ์เพรส (GrabExpress)

ที่ผ่านมา แกร็บ ได้ประกาศให้พาร์ตเนอร์คนขับที่รับงานจัดส่งพัสดุผ่านบริการ แกร็บ เอ็กซ์เพรส (GrabExpress) จะต้องมีกระเป๋าแกร็บเพื่อบรรจุ และจัดเก็บสินค้าหรือพัสดุที่ผู้ใช้บริการต้องการจัดส่ง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยในระหว่างการขับรถ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าสินค้าหรือพัสดุที่ต้องการจัดส่งนั้นจะถูกจัดเก็บเป็นอย่างดีในระหว่างการขนส่งและถึงมือผู้รับปลายทางในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ตระหนักและเข้าใจถึงข้อจำกัดของพาร์ตเนอร์คนขับบางรายที่ไม่สะดวกในการซื้อ และใช้กระเป๋าแกร็บ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้พิจารณาปรับปรุงบริการในส่วนนี้ เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างกันของพาร์ตเนอร์คนขับ รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า

ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมเป็นต้นไป การจัดส่งสินค้าหรือพัสดุผ่านบริการ แกร็บ เอ็กซ์เพรส (GrabExpress) ด้วยรถจักรยานยนต์ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

  • แบบต้องการกระเป๋า และ
  • แบบไม่ต้องการกระเป๋า โดยผู้ใช้บริการจะสามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้บริการแบบใด สำหรับพาร์ตเนอร์คนขับที่เคยถูกยกเลิกไม่ให้รับงานหากไม่มีกระเป๋า บริษัทฯ ได้เปิดสิทธิให้สามารถรับงานจัดส่งพัสดุผ่านบริการ แกร็บ เอ็กซ์เพรส (GrabExpress) ได้แล้วนับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา
(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)
3. การให้ความคุ้มครองในระหว่างการรับงาน

ความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและพาร์ตเนอร์คนขับถือเป็นสิ่งที่แกร็บให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอาจมีพาร์ตเนอร์คนขับบางรายที่ไม่ทราบว่า แกร็บได้จัดทำประกันอุบัติเหตุเพื่อให้ความคุ้มครองกับพาร์ตเนอร์คนขับของเราในทุกเที่ยวของการให้บริการ โดยให้ความคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการรับงาน และให้ความคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาท ในกรณีที่เสียชีวิต ซึ่งถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในตลาด ทั้งนี้ บริษัทฯ จึงได้มีการประกาศให้พาร์ตเนอร์คนขับรับทราบอีกครั้งผ่านทางแอปพลิเคชันของพาร์ตเนอร์คนขับ

แกร็บ ประเทศไทย ขอน้อมรับทุกความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากพาร์ตเนอร์คนขับของเรา เพื่อนำมาใช้พิจารณาและปรับปรุงการให้บริการ ตลอดจนการบริหารงานในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

]]>
1291778
“แกร็บ” แจ้งปรับลด Incentive พาร์ตเนอร์ในต่างจังหวัด เสริมสภาพคล่องยุค COVID-19 https://positioningmag.com/1289144 Wed, 22 Jul 2020 15:54:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289144 แกร็บ แบกรับต้นทุนไม่ไหว แจ้งพาร์ตเนอร์คนขับที่ให้บริการจัดส่งอาหารใน 27 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เตรียมปรับลดเบี้ยขยัน (Incentive) ลดเงินเดือนผู้บริหาร เสริมความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ

การปรับค่าตอบแทนในการจัดส่งอาหารของพาร์ตเนอร์คนขับในต่างจังหวัด จะมีการปรับลดเฉพาะในส่วนของเบี้ยขยัน ซึ่งจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ แต่ยังคงค่ารอบ (Base Fare) ในทุกเที่ยวของการจัดส่งในอัตราเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการปรับลด Incentive เนื่องจากแกร็บ ต้องรักษาสภาพคล่องในยุค New Normal ไว้ให้ได้ พร้อมกับคงสภาพให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม แกร็บ ได้ประกาศเพิ่ม 3 สิทธิประโยชน์ให้แก่พาร์ตเนอร์คนขับในต่างจังหวัด นอกเหนือจากประกันอุบัติเหตุ ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาทในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการรับงาน และความคุ้มครองสูงสุด 150,000 บาทในกรณีที่เสียชีวิตแล้ว ประกอบด้วย

1.ประกันรถจักรยานยนต์

2.สิทธิประโยชน์ด้านการเงิน (เช่น การผ่อนชำระสินค้ารายวัน และโปรแกรมขอสินเชื่อรายย่อย)

3.ส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆ จากพันธมิตรหรือคู่ค้าของแกร็บ โดยรายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามผลงานของคนขับและพื้นที่การรับงาน

ทั้งนี้ แกร็บ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากโรค COVID-19 ถือเป็นวิกฤตที่หนักหนากว่าทุกครั้ง และส่งผลกระทบต่อบริษัทและทุกคน แต่ก็เชื่อมั่นจะฝ่าฟันและผ่านพ้นไปได้

Source

]]>
1289144