แอปเรียกแท็กซี่ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 27 May 2021 07:13:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 3 ปีที่รอคอยกับ “กม. แอปเรียกรถ” ถูกกฎหมาย จับตาโค้งสุดท้ายก่อนใช้จริง https://positioningmag.com/1333971 Thu, 27 May 2021 06:44:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333971 เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้พยายามผลักดันให้รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถนำมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย

จนกระทั่งถึง “โค้งสุดท้าย” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เผยว่า ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ .. …. ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยหลังจากนี้จะจัดทำประกาศตามกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

คาดว่าประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

รู้จักบริการ และร่างกฎหมายแอปเรียกรถ

ในยุคสมัยที่ชีวิตของผู้คนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตที่ง่ายและสะดวกสบาย ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัลที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของสังคมเมือง รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงบริการ เรียกรถผ่านแอป (Ride-hailing) มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลาง เพื่อเชื่อมต่อผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการให้สามารถเจอกับผู้ขับขี่ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้กฎหมายไทยยังไม่ได้เปิดกว้างหรือรองรับให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการสาธารณะได้ โดยเน้นให้ความสำคัญไปกับรถรับจ้างอย่างแท็กซี่เท่านั้น

กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเป็น “รถยนต์รับจ้าง” กับกรมการขนส่งทางบกเพื่อนำไปให้บริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (หรือแอปพลิเคชัน) ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถหลายราย ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ (Grab), โบลท์ (Bolt), ไลน์แมน แท็กซี่ (LINE MAN Taxi), โกเจ็ก (Gojek), ทรูไรด์ (True Ryde) และบอนกุ (Bonku)

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวยังครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดขนาด กำลังขับเคลื่อน (กิโลวัตต์) หรือประเภทของรถที่จะสามารถนำมาให้บริการ การต้องติดเครื่องหมายบนตัวรถว่าเป็นรถที่ให้บริการผ่านแอป การกำหนดอายุการใช้งานของรถที่ต้องไม่เกิน 9 ปี และต้องตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ของกระทรวง รวมไปถึงการกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายสะอาดและสุภาพ

ขณะที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต้องมีระบบการลงทะเบียนคนขับ การกำหนดให้ต้องมีการแสดงตัวตนของคนขับ เลขทะเบียนรถ ระยะทาง ระบบติดตาม-ตรวจสอบเวลา สถานที่รับส่ง ระบบคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ตลอดจนระบบแจ้งข้อร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ เป็นต้น

เมื่อถูกกฎหมาย ใครบ้างที่ได้ประโยชน์

  • ผู้โดยสาร

หรือประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะได้รับความสะดวกสบายในการสัญจรเดินทาง ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้สามารถใช้บริการได้ทั้งการโบกรถแท็กซี่แบบเดิม หรือเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้มารับได้ถึงที่โดยไม่ต้องรอนาน สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเดินทางได้ ทั้งยังมีการแสดงราคาที่โปร่งใสให้ทราบก่อนการเดินทางทุกครั้ง

และยังสามารถเลือกวิธีการชำระเงินได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะด้วยเงินสดหรือตัดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันได้เลย  ที่สำคัญคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัย เพราะมีระบบติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ มีฐานข้อมูลของคนขับที่สามารถตรวจสอบได้หากมีเหตุฉุกเฉิน และมีระบบร้องเรียนหรือระบบให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา

  • ผู้ขับขี่

สามารถหารายได้เสริม และสร้างประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างรถยนต์ที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องโดนดำเนินคดีทางกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหลายรายยังมอบสิทธิประโยชน์ให้กับคนขับเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุในขณะให้บริการ ระบบหรือเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ช่วยสร้างความอุ่นใจให้คนขับ รวมไปถึงบางรายอาจมีผลิตภัณฑ์ด้านการเงินอย่างสินเชื่อ หรือการผ่อนชำระสินค้าเพื่อสนับสนุนหรือแบ่งเบาภาระให้กับคนขับด้วย

  • แพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน

ถือเป็นโอกาสในการพัฒนา และขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อเปิดให้มีการแข่งอย่างเสรี ย่อมส่งผลให้เกิดการยกระดับของทั้งอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น ทั้งในด้านมาตรฐานการบริการที่ดียิ่งขึ้น ราคาในการให้บริการที่สมเหตุสมผล  ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

  • คนขับรถแท็กซี่

ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าบริการเหล่านี้จะมาแย่งอาชีพหรือแย่งผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาครัฐพยายามสร้างความสมดุลเพื่อให้อุตสาหกรรมบริการเดินทางขนส่งสาธารณะ เกิดการพัฒนาและเดินหน้าได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ในหลายมิติ เช่น การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 เป็น 12 ปี การลดภาระต้นทุนติดตั้งอุปกรณ์ส่วนตัว โดยสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันเข้ามาแทนที่

ปัจจุบัน คนขับแท็กซี่หลายหมื่นรายหันมาหารายได้จากการรับงานผ่านแอปเรียกรถเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสในการหารายได้ได้สองช่องทาง ทั้งจากการรับงานแบบดั้งเดิมที่ผู้โดยสารโบกเรียกตามท้องถนน และการรับผู้โดยสารจากแอปเรียกรถที่จะช่วยประหยัดเวลาในการวนหาลูกค้า

  • ผลประโยชน์ที่เกิดกับประเทศ

การที่แอปเรียกรถถูกกฎหมายถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) ของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนของรายได้ในระบบเศรษฐกิจมหภาค ยกระดับมาตรฐานในด้านการเดินทางและขนส่ง

รวมไปถึงช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คุ้นชินกับการเรียกรถผ่านแอป รวมทั้งการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะในเมืองรอง ซึ่งไม่มีระบบขนส่งสาธารณะรองรับ ที่สำคัญ การทำให้แอปเรียกรถถูกกฎหมาย ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันและเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดัน และพัฒนากฎหมายรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับบริบทของธุรกิจดิจิทัลในปัจจุบันต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับส่งคนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นับหลายหมื่นคัน ยังไม่นับรวมคนขับแท็กซี่จำนวนมากที่หันมารับงานจากแอปเรียกรถเหล่านี้ ฝันของประชาชนคนไทยที่จะสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวมาประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป แม้จะตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเวียดนาม แต่ก็ยังไม่สายเกินไป… อดใจอีกนิด ไม่นานเกินรอ

]]>
1333971
แท็กซี่มีหนาว! CABB ขอบุกตลาด ต้นแบบลอนดอนแท็กซี่-เรียกผ่านแอป นำร่องที่ “เดอะมอลล์” https://positioningmag.com/1291448 Thu, 06 Aug 2020 16:59:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291448 งานนี้รถแท็กซี่เริ่มมีสะเทือน “เอเชีย แค็บ” ส่ง CABB แท็กซี่มาตรฐานใหม่ โดยใช้ต้นแบบลอนดอนแท็กซี่ ใช้งานโดยเรียกผ่านแอปพลิเคชัน นำร่องที่กลุ่มเดอะมอลล์ 7 แห่ง จับมือ “กลุ่มเดอะมอลล์”

“เอเชีย แค็บ” เกิดมาเพื่อผลิตแท็กซี่

ถ้าย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงการรถแท็กซี่เริ่มมีสีสันมากขึ้น มีการเข้ามาของแอปพลิเคชันเรียกรถอย่าง Uber และ Grab รวมถึง “นครชัยแอร์” ที่เคยส่งบริการ All Thai Taxi ลงมาบุกตลาดแท็กซี่เช่นกัน แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก

ตอนนี้เมืองไทยได้มีแท็กซี่รูปแบบใหม่กำเนิดอีกแล้ว ในชื่อ CABB หรือแค็บบ์ เป็นรถแท็กซี่ที่มีต้นแบบรถจาก “ลอนดอนแท็กซี่” มีสีน้ำเงินโดดเด่น เป็นมาตรฐานใหม่ของวงการ

ซึ่งต้องบอกว่า CABB เกิดมาเพื่อเป็นรถแท็กซี่จริงๆ ไม่ได้นำรถยนต์ รถเก๋งยี่ห้อต่างๆ มาดัดแปลง บริหารงานโดย “บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด” เป็นบริษัทสัญชาติไทยแท้ ต่างชาติไม่ได้เข้ามาทำตลาดแต่อย่างใด แม้ชื่อเอเชีย แค็บ จะดูใหม่ แต่ถ้าพูดชื่อผู้ก่อตั้งคงจะต้องร้องอ๋อแน่นอน

เอเชีย แค็บได้ก่อตั้งโดย “กลุ่ม ซี.เอ.เอส” ซึ่งมีบริษัทในเครือมากมาย ทั้งบริษัท เจริญอักษร จำกัด ทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ และบริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ทำตลาดถุงยางอนามัย ONETOUCH และ Playboy ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์มาก่อนเลย แต่ “สมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์” ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม ซี.เอ.เอส และประธานกรรมการ บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด อยากเห็นจุดเปลี่ยนของแท็กซี่ จึงกำเนิดเป็นเอเชีย แค็บ

ที่บอกว่า CABB เกิดมาเป็นรถแท็กซี่โดยเฉพาะนั้น ก็เพราะว่าทางเอเชีย แค็บได้ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เอง ได้ร่วมมือกับบริษัท Zhejiang Geely New Energy Commercial Vehicle Group (GCV) ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน เปิดฐานการผลิตรถยนต์แบรนด์ ASIA CAB รุ่น AS4 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน โดยคงรูปทรงคลาสสิก และเปี่ยมด้วยนวัตกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของรถลอนดอนแท็กซี่ รุ่น TX4 ที่เป็นโมเดลต้นแบบ มีความสวยงาม โอ่โถง โปร่งสบาย

โดยได้ซื้อลิขสิทธิ์ลอนดอนแท็กซี่มาจากอังกฤษ เพราะมองว่าลอนดอนแท็กซี่เหมาะกับการเป็นรถแท็กซี่มากที่สุดแล้ว

มีฉากใสกั้น คนขับไม่ต้องชวนคุย!

หลายคนที่ขึ้นรถแท็กซี่อาจจะเจอปัญหาแตกต่างกันออกไป บางคนไม่ชอบรถอับ เบาะผ้า หรือคนขับที่ชอบชวนคุยเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องของตัวเอง ยาวไปถึงเรื่องการเมืองก็มี

แต่ CABB ได้เอามาตรฐานของลอนดอนแท็กซี่มาใช้ มีจุดเด่นหลายอย่าง

  • มีการแยกส่วนระหว่างห้องคนขับและห้องโดยสารด้วยฉากกั้นใส (Partition screen)
  • ระบบแอร์แยกส่วน
  • ใช้ระบบอินเตอร์คอม (Intercom) ในการสื่อสารกับพนักงานขับรถ
  • ไม่ใช้เบาะผ้าเพื่อลดการสะสมของฝุ่น และสิ่งปนเปื้อน
  • มีมาตรการทำความสะอาดฆ่าเชื้อทั้งก่อน และหลังรับผู้โดยสาร
  • รองรับผู้โดยสารได้ถึง 5 ที่นั่ง มีทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ ราวจับในห้องโดยสาร 7 จุด
  • ผู้โดยสารปรับอุณหภูมิแอร์เองได้ตามต้องการ
  • มีที่ชาร์จ USB และ Wi-fi ฟรีตลอดการเดินทาง
  • มีปุ่ม SOS ในกรณีฉุกเฉิน กล้องบันทึกภาพ และระบบ GPS

เรียกผ่านแอปฯ ราคาเริ่มต้น 60 บาท ไม่รับเงินสด

การใช้งานของ CABB จะเป็นการเรียกผ่านแอปพลิเคชันที่ได้พัฒนาขึ้นมาเอง

  • ค่าโดยสารเริ่มต้น 60 บาท
  • กิโลเมตรต่อไป 6-8 บาท/กิโลเมตร (ตามช่วงเวลา)
  • กรณีรถติด 2.5 บาท/นาที
  • ไปสนามบิน +50 บาท
  • ค่าโดยสารขั้นต่ำ 70 บาท
  • ไม่มีค่าเรียกเพิ่ม

ระบบการชำระเงินของ CABB จะไม่รับเงินสด เป็น Cashless Society รับบัตรเครดิต และคิวอาร์โค้ด

การันตีรายได้คนขับ 20,000 บาท

โมเดลของ CABB ต้องการให้คนขับเป็นผู้ประกอบการ จะมีโมเดลรายได้ 2 แบบ ทั้งมีส่วนแบ่งรายได้กัน และคิดค่าเช่ารายวันกับคนขับ เปิดรับคนขับทั้งชาย และหญิง ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 23-70 ปี และมีใบอนุญาตขับขี่ส่วนบุคคลอย่างน้อย 1 ปี

โดยที่มาตรฐานคนขับต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ ผ่านการตรวจสุขภาพ ประวัติอาชญากร และอื่นๆ รวมถึงการเข้าอบรมตามหลักสูตรของบริษัท เอเชีย แค็บ ก่อนให้บริการครั้งแรก อาทิ การเรียนรู้เส้นทาง การปฐม พยาบาลเบื้องต้น มารยาทการให้บริการ เป็นต้น

สิทธิประโยชน์คนขับ CABB

  • การันตีรายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาท/เดือน
  • เงินรายได้เข้าบัญชีทุกวัน
  • ฟรีค่าธรรมเนียมเปิดบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ
  • ดูแลค่าซ่อมบำรุงรถให้
  • ขับ 6 วัน ฟรี 1 วัน
  • ขับครบ 2 ปี ฟรี ประกันสุขภาพ
  • ขับครบ 7 ปี และ 8 ปี รับโบนัสปีละ 100,000 บาท
  • ขับครบ 9 ปี รับสิทธิ์เป็นเจ้าของรถสไตล์อังกฤษได้เลย

ทดลองระบบ นำร่องที่เครือเดอะมอลล์

ตอนนี้ CABB ได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้ โดยจะแบ่งการบริการออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การจองรถล่วงหน้า ผ่านแอปพลิเคชัน CABB หรือ คอลเซ็นเตอร์ 02-026-8888

แรกเริ่มจะให้บริการที่จุดจอดรถแท็กซี่ของห้างสรรพสินค้าที่เป็นพันธมิตรกับ เอเชีย แค็บ ซึ่งล่าสุดได้จับมือกับห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเดอะมอลล์เป็นรายแรก เพื่อนำ CABB จำนวน 30 คัน ออกให้บริการลูกค้าของห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเดอะมอลล์ 7 แห่ง ได้แก่ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ เดอะมอลล์ สาขารามคำแหง ท่าพระ งามวงศ์วาน บางกะปิ และบางแค

]]>
1291448