โทรคมนาคมแห่งชาติ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 14 Jan 2021 07:23:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 5 เรื่องน่ารู้ บิ๊กดีลควบรวม TOT-CAT สู่ NT พร้อมจับตาการขึ้นเป็น ‘Top 3’ ตลาดโทรคมนาคม https://positioningmag.com/1314137 Thu, 14 Jan 2021 06:04:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1314137 ปิดฉากมหากาพย์การควบรวมของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT สักทีหลังจากยืดเยื้อมานาน โดยจากนี้จะไม่มี TOT กับ CAT แต่เป็น ‘บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘NT’ ดังนั้นลองไปย้อนรอยกันว่ากว่าจะเป็น NT นั้นผ่านอะไรมาบ้าง พอเป็น NT แล้วดีอย่างไร และเป้าหมายจากนี้ของ NT คืออะไร

จุดกำเนิด TOT และ CAT

ย้อนไปที่จุดกำเนิดของทั้ง 2 บริษัทกันดู โดยเริ่มจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT Public Company Limited) เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสื่อสารโทรคมนาคมในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทีโอทีนั้นได้แปรรูปมาจาก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2497 ปัจจุบัน ทีโอที ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโทรศัพท์และการสื่อสารมาเป็นระยะเวลา 67 ปี โดยทำหน้าที่ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกประเภททั้งในและระหว่างประเทศ ผ่านบริการต่าง ๆ ทั้งทางสายโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งประกอบด้วยใบอนุญาตแบบที่ 3 (ที่มีโครงข่ายของตนเองเพื่อให้เช่าใช้)

ส่วน ‘บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘CAT Telecom Public Company Limited’ ก็เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในรูปบริษัทมหาชน โดยเกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2519 ที่ดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งในและระหว่างประเทศ และในอดีตยังทำหน้าที่ให้บริการกิจการไปรษณีย์เพิ่มด้วย แต่หลังจากที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงได้แยกกิจการไปรษณีย์ออกจากกัน โดยกิจการไปรษณีย์ได้จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่วนกิจการโทรคมนาคมได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ กสท โทรคมนาคมในปัจจุบัน

18 ปีแห่งความพยายามสู่ ‘NT’

จริง ๆ เรื่องการควบรวมของ TOT และ CAT เป็นอะไรที่ดำเนินการมานาน โดยนโยบายเริ่มต้นเมื่อปี 2545 แต่ที่ไม่สำเร็จเพราะถูกคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานของทั้ง 2 แห่ง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หารือร่วมระหว่างผู้บริหาร และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.แผนบริหารจัดการบุคลากร 2.สินทรัพย์และหนี้สิน และ 3.สัญญา และสัมปทานต่าง ๆ เพื่อให้มีความชัดเจนและไม่เกิดผลกระทบ จนในวันที่ 14 มกราคม 2563 ครม. ก็มีมติอนุมัติให้ TOT และ CAT ควบรวม โดยเปลี่ยนเป็น ‘บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘NT’

แน่นอนว่าการควบรวม 2 บริษัทไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังมีการระบาดของ COVID-19 อีก ดังนั้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติขยายเวลาดำเนินการควบรวมให้อีก 6 เดือน จนมาควบรวมสำเร็จเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ยังคงมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ควบรวมแล้วได้อะไร ?

2 บริษัทให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเหมือนกัน ซึ่งแปลว่ามีการทำงานที่ถือว่าทับซ้อนกันรวมไปถึงการลงทุน หากอ้างอิงจากข้อมูลปี 2562 TOT มีสินทรัพย์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง 1.5 ล้านคอลต่อกิโมเลตร, โครงการเคเบิลใต้น้ำ 2 ระบบ, ท่อร้อยสายใต้ดิน 32,173 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 13,445 ต้น, ศูนย์ข้อมูล 4 แห่ง และมีพนักงานทั้งหมด 13,026 คน

ส่วน CAT มีสินทรัพย์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเคเบิลใต้น้ำ 6 ระบบ อยู่ระหว่างสร้าง 1 ระบบ, โครงการเคเบิลใยแแก้วนำแสง 0.7 ล้านคอลต่อกิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 18,159 ต้น, ท่อร้อยสาย 5,677 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร และศูนย์ข้อมูล 9 แห่ง และพนักงาน 5,117 คน

จะเห็นว่ามีหลายส่วนที่ทั้ง 2 บริษัทลงทุนซ้ำซ้อนกันอยู่ ไม่ว่าจะท่อร้อยสายใต้ดิน, โครงการเคเบิลใต้น้ำ และศูนย์ข้อมูล ซึ่งถ้ารวมกันแล้ว ‘สังวรณ์ พุ่มเทียน’ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ CAT ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาชาติว่า แผนที่เสนอมีความชัดเจนมากว่าการควบรวมจะช่วยให้รัฐประหยัดเงินลงทุนตั้งแต่ปี 2562-2570 ได้ถึง 1,137 ล้านบาท เพราะไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน ก่อให้เกิดกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 33%

ขึ้นเบอร์ 3 แซง Dtac

หนึ่งในสิ่งที่น่าจับตาคือ การขึ้นเป็น ‘เบอร์ 3’ ในตลาดโทรคมนาคมไทย เพราะเมื่อนำผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัท อ้างอิงจากข้อมูลปี 2562 พบว่า TOT มีทรัพย์สินรวม 142,352 ล้านบาท มีรายได้รวม 67,847 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,896 ล้านบาท ส่วน CAT มีสินทรัพย์รวม 132,915 ล้านบาท รายได้รวม 87,533 ล้านบาท กำไรสุทธิ 28,025 ล้านบาท เมื่อรวมกันแล้วมูลค่าบริษัทของ NT สามารทถทะยานสู่ระดับ 3 แสนล้าน โดยมีรายได้รวม 155,380 ล้านบาท และมีกำไร 30,921 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้เล่นเบอร์ 3 ในตลาดอย่าง Dtac ที่ในปี 2562 มีรายได้ 81,228 ล้านบาท กำไร 5,422 ล้านบาท นั่นแสดงให้เห็นว่ารายได้ของ NT ได้แซงผู้เล่นเบอร์ 3 ของตลาดไปแล้ว

Photo : Shutterstock

จับตากลยุทธ์โกยลูกค้า

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากบริการด้านโทรคมนาคมเหมือนกับคู่แข่งในตลาดรายอื่น ๆ อย่างบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง, บริการโทรศัพท์มือถือของทั้ง TOT และ CAT รวมกันยังสู้ทั้ง 3 รายใหญ่ที่ทิ้งห่างไปไกลมากแล้ว โดยลูกค้าตลาดโมบายของ TOT Mobile มีอยู่ 1.8 แสนราย ส่วน My By CAT อยู่ที่ 2.5 ล้านราย เมื่อนำมาบริหารจัดการร่วมกันในฐานะ NT จะมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 2.68 ล้านราย ส่วน อินเตอร์เน็ตบ้าน TOT มีลูกค้าประมาณ 1.5 ล้านราย ส่วน CAT มีเพียง 2 แสนราย รวมกันไม่ถึง 2 ล้านราย แม้ว่า TOT จะถือว่าเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นในตลาดเน็ตบ้าน เเต่ผู้เล่นรายใหม่อย่าง ‘AIS’ ก็หายใจรดต้นคอมาเเล้ว

ดังนั้น ต้องจับตาดูว่าหลังจากควบรวมจนกลายเป็น NT โดยสมบูรณ์แล้วบริษัทจะนำคลื่นไปต่อยอดการรุกตลาดคอมเมอร์เชียลอย่างไรบ้าง เพราะการควบรวมทำให้มีคลื่นในมือถึง 600 MHz ได้แก่ จาก 6 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 MHz, 26 GHz, 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 900 MHz เป็นรองเพียง AIS ที่มีรวม 1,450 MHz และ Truemove H 1020 MHz ส่วน Dtac ปัจจุบันมี 330 MHz และในส่วนของสาขาให้บริการเมื่อรวมกันทำให้มีถึง 536 แห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเเข่งขันของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายก็ไม่มีใครยอมใคร ทั้งด้านราคาแพ็กเกจ, ประสิทธิภาพของเครือข่าย, สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แม้กระทั่งเรื่องของคอนเทนต์ก็ไม่มีใครยอมใคร ซึ่งคงเป็นโจทย์หนักของ NT ถ้าอยากจะขึ้นเป็นผู้เล่น Top3 อย่างแท้จริง

]]>
1314137