โทรคมนาคม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 26 Mar 2024 13:29:38 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘Ericsson’ โละพนักงานอีก 1,200 คน หลังบริษัทโทรคมนาคมไม่ได้ลงทุนกับ 5G อย่างที่คิด https://positioningmag.com/1467798 Tue, 26 Mar 2024 11:53:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467798 แม้ว่ากำไรจากผลประกอบการช่วงไตรมาส 4/2023 ที่ผ่านมาของ อีริคสัน (Ericsson) จะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดก็ตาม แต่สิ่งที่บริษัทคาดไว้ว่าความต้องการอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G จากฝั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปีนี้จะไม่พลิกโผ แถมยังทำให้บริษัทต้องลดจำนวนพนักงานอีกระลอก

อีริคสัน บริษัทซัพพลายเออร์อุปกรณ์โทรคมนาคม ได้ประเมินว่า ปี 2024 จะเป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากยอดขายอุปกรณ์ 5G ซึ่งเป็น แหล่งรายได้หลัก เริ่มชะลอตัวลงในตลาดอเมริกาเหนือ ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูง ก็อาจชะลอตัวเช่นกัน

โดยหลังจากที่บริษัทได้ลดพนักงานหลายราว 1,400 คนในปีที่แล้ว ล่าสุด บริษัทได้เปิดเผยว่า กำลัง เลิกจ้างพนักงาน 1,200 คน ในสวีเดน หลังจากเคยบอกไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมว่า บริษัทอาจพิจารณาการลดต้นทุนเพิ่มเติมในปีนี้ รวมถึงการเลิกจ้างพนักงาน แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขที่เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้ บริษัทไม่ได้ระบุว่าจะช่วยลดต้นทุนให้บริษัทเป็นเงินเท่าไหร่

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และมันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย โดยอาจมีการเลิกจ้างเพิ่มเติมในปลายปีนี้ และอาจลากยาวไปถึงปี 2025 เนื่องจากความท้าทายในตลาดโครงสร้างพื้นฐานมือถือ” เปาโล เพสคาตอเร นักวิเคราะห์จาก PP Foresight กล่าว

โดยทางอีริคสันมองว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายของตลาดเครือข่ายมือถือ โดยเห็นปริมาณการหดตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากลูกค้ายังคงลงทุนอย่างระมัดระวัง ขณะที่ เปาโล เพสคาตอเร เสริมว่า 5G ไม่ใช่อะไรที่จะประสบความสำเร็จแบบเหนือการคาดหวัง แต่เป็นอะไรที่เติบโตช้ามาก

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2023 อีริคสันมีพนักงานเกือบ 100,000 คน โดยผลประกอบการในไตรมาสที่ 4/2023 ของอีริคสัน ร่วงลงเหลือ 7.19 หมื่นล้านโครนาสวีเดน ส่วนกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ (EBIT) ซึ่งไม่รวมค่าธรรมเนียมการปรับโครงสร้าง ลดลงมาอยู่ที่ 7.37 พันล้านโครนา จาก 8.08 พันล้านโครนาเมื่อเทียบรายปี แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของ LSEG คาดไว้ที่ 6.92 พันล้านโครนา

แน่นอนว่าอีริคสันไม่ใช่บริษัทซัพพลายเออร์อุปกรณ์โทรคมนาคมเจ้าเดียวที่ลดพนักงาน แต่ปีที่ผ่านมา โนเกีย (Nokia) ที่ปลดพนักงานไปกว่า 14,000 คน เหตุจากผลประกอบการไตรมาส 3 ดิ่ง ยอดขายลดลง 20% เหลือ 4.98 พันล้านเหรียญยูโร ขณะที่กำไรลดลงถึง 69% เหลือเพียง 133 ล้านเหรียญยูโรเท่านั้น

Source

]]>
1467798
สมการใหม่สู่สมรภูมิ 6G ที่กสทช.ต้องทันเกม ควบรวม = แข่งขัน ไม่ควบรวม = ผูกขาด https://positioningmag.com/1382568 Mon, 25 Apr 2022 04:38:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382568 ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ควบรวมทรู-ดีแทค” ความยาว 3 ตอนจบ โดย ibusiness

วัดใจภารกิจแรกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่กับการตัดสินใจพลิกโฉมชี้ชะตาตลาดโทรคมนาคมยุคใหม่ ขวางหรือไปต่อ ‘ควบรวมกิจการทรู-ดีแทค’ เปิดไพ่ในมือกสทช.บนหลักการทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่และไม่ทำอะไรฝ่าฝืนกฎหมายโดยเด็ดขาด ฝ่าความขัดแย้ง 2 ฟากที่ต้องยึด “ประโยชน์สาธารณะ” เดิมพันการพิจารณาครั้งนี้ ปลายทางปลดล็อกอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้เดินหน้าแบบแข่งขันกัน หรือ กลับเข้าสู่วังวนผูกขาด

พลันที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ภายหลังพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการกสทช.ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย

  • ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.
  • พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง
  • ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์

ก็เริ่มหารือกันถึงภารกิจแรกแบบนอกรอบเฉพาะบอร์ด 5 คน ทันทีนั่นคือ เรื่องการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งในวันที่ 22 เม.ย. 2565 บอร์ดยังได้ประชุมกับสำนักงานกสทช.เพื่อฟังรายละเอียดของการควบรวมกิจการดังกล่าวอีกด้วย

“ภารกิจแรกที่ต้องเร่งทำ ก็คือภารกิจที่รู้กันอยู่ นั่นคือ เรื่องการควบกิจการของทรูกับดีแทค ซึ่งผมเองก็มีข้อมูลอยู่บ้างจากการติดตามทางสื่อและคนอื่นที่ส่งข้อมูลเข้ามา เอกสารเยอะแยะไปหมด” ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.กล่าว

นั่นแสดงให้เห็นว่า 5 กสทช.ป้ายแดง ไม่ได้นิ่งเฉย กับ ประเด็นที่ร้อนแรงในสังคมโทรคมนาคม แม้ในความเป็นจริงแล้ว หากย้อนกลับไปดูอำนาจ หน้าที่ของกสทช.ต้องยอมรับว่า การควบรวมกิจการของทรูและดีแทคสามารถทำได้ หากมีการแจ้งต่อกสทช.ก่อน 90 วันเพราะ กสทช.มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพและราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ “ประโยชน์สาธารณะ”

Photo : Shutterstock

หมายความว่า หากการควบรวมกิจการทำให้คุณภาพการให้บริการแย่ลง ราคาสูงขึ้น กสทช.มีอำนาจกำกับและดูแลได้อย่างเต็มที่ตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการมีอำนาจเหนือตลาด หรือ ผูกขาดตลาดนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่ท่วงทำนองเป็นแผ่นเสียงตกร่องแต่เพียงว่าหากหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะของตนเองก็ไปกำกับดูแลเอาเอง รวมถึงทั้ง 2 บริษัทต่างก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งไม่ได้ห้ามการควบรวมกิจการครั้งนี้ หากต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ในขณะที่กสทช.ก่อนหน้าที่ 5 กสทช.ป้ายแดงจะเข้ามา ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการ และจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวม และกำลังอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาการควบรวมกิจการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งคาดว่าจะส่งให้ภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นน่าสนใจว่า การควบรวมกิจการเป็นเหตุผลทางธุรกิจสร้างอนาคตการเดินทางไปสู่ บริษัทเทคโนโลยี เต็มรูปแบบ (Tech Company) ในขณะที่อีกบริษัทต้องการลงจากหลังเสือแบบไม่เจ็บตัว ประเด็นสำคัญวันนี้ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าการควบรวมจะทำตามกฎหมายอย่างไร? เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะมากที่สุด เมื่อเริ่มเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน

โดยฝั่งควบรวมยกเหตุผลถึง “ประกาศแก้ไขการรวมกิจการปี 2561” ที่ระบุว่า กสทช.เพียงทำหน้าที่เป็นผู้รับทราบการควบรวมและกำหนดเงื่อนไขหรือออกมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมปฎิบัติตามเท่านั้น โดยไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวมได้

ในขณะที่ฝั่งทีเห็นต่าง เช่น เอไอเอสที่ได้ส่งหนังสือ แสดงความเห็นไปยังกสทช.ซึ่งยกประเด็นข้อกฎหมายซึ่งคาดว่าเป็นแนวทางเดียวกับที่องค์กรผู้บริโภคและนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงกสทช.เพื่อยืนยันว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณา ว่า จะให้ควบรวม หรือ ไม่ให้ควบรวมโดยอ้างถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าประกาศกสทช.

ส่องไพ่ในมือกสทช.

โดยระบุย้ำชัดว่ากสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาการควบคุมธุรกิจระหว่าง ‘ทรูและดีแทค’ ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และรัฐต้องจัดให้มีองค์กรรัฐที่อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีการมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ มาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่จึงมีหน้าที่กำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งการป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว

ในหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคแรก ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งกิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับประชาชนรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ดังนั้นในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมทั้งการให้บริการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 27( 11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

นอกจากนี้ กสทช.ยังมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2544 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการการโทรคมนาคม

ด้วยบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นทำให้มองกันว่า กสทช.มีหน้าที่นำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด พ.ศ 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในอดีต กสทช.ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช.

ต่อมาเมื่อ กสทช. พิจารณารายละเอียดประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 แล้วเห็นว่า ยังไม่ครอบคลุมการควบรวมกิจการได้ทั้งหมด จึงออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยในข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศควบรวมธุรกิจดังกล่าว กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากค่าดัชนี HHI ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาดก่อนและหลังการควบรวม

กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค จึงไม่อยู่ในลักษณะที่ กสทช.จะอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ หากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยกเลิกไปในปี 2561 จากการที่ กสทช.ได้ออกประกาศควบรวมปี 2561 กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้หรือไม่ตามข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

กรณีการรายงานการรวมธุรกิจตามประกาศควบรวมปี 2561 นั้นกำหนดขออนุญาตเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่า การรายงานการรวมธุรกิจถือว่า ได้รับอนุญาตแล้ว

ดังนั้น เมื่อมีการรายงานการควบคุมธุรกิจตามนัยข้อ 5 แห่งประกาศควบรวมปี 2561 แล้ว ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามนัยข้อ 8 แห่งประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 ซึ่งกำหนดว่ากรณีที่ กสทช. เห็นว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม กสทช.อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการได้

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค กสทช.จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณา ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ กสทช.มีหน้าที่ในการนำกฎหมายว่า ด้วยการแข่งขันทางการค้ามาใช้พิจารณา เพราะการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ตามมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม

ไปต่อแข่งขันหรือกลับมาผูกขาด

ไม่เพียงเท่านี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทคและการค้าปลีก-ค้าส่ง ยังได้ส่งหนึงสือถึงคณะรัฐมนตรีระบุว่าการควบรวมครั้งนี้ควรชะลอไปก่อนเพื่อรอให้กสทช.ชุดใหม่มีเวลาศึกษาและพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆก่อน

“ในเมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสำนักงานกับคณะกรรมการกสทช.น่าจะมีปัญหา เมื่อเกิดความคลุมเครือและไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย ทางออกหนึ่งซึ่งเคยมีอดีตกสทช.บางคนเสนอให้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกา ตีความอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระดุมเม็ดแรกที่สมควรกลัดให้ถูกต้องคือเคลียร์ปัญหาข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อนว่าการควบรวมสามารถทำได้ถูกต้องมีกฎหมายรองรับ ถึงแม้มีเคสการควบรวมที่อิงตามประกาศแก้ไขการรวมกิจการปี 2561 อย่าง ALT Telecom กับ อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในปี 2562, ALT Telecom กับ สมาร์ท อินฟราเนท ในปี 2563, TOT กับ CAT ในปี 2564, ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ตกับทริปเปิลที บรอดแบนด์ ในปี 2564 ถึงแม้บางเคสจะเป็นเจ้าของเดียวกันหรือบางเคสอาจจะเป็นรายเล็ก แต่ถ้ายึดตามกฎหมายจะต้องเท่าเทียมกันหมดไม่สามารถเลือกปฎิบัติได้

“เชื่อว่าเกมที่เตรียมไว้ หากกสทช.ไม่ทำเรื่องข้อกฎหมายให้ชัดเจนคือการเตรียมฟ้องศาลปกครอง”

กระดุมเม็ดถัดไปที่ต้องกลัดตามมาคือเหตุผลและความจำเป็นในการควบรวมครั้งนี้คืออะไร ซึ่งความอยู่รอดของธุรกิจน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่พิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขที่ชัดเจนที่สุด หรือ อีกนัยหนึ่ง การปล่อยให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรมนั่นเอง

ที่ผ่านมา ธุรกิจของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายล้วนมีต้นทุนที่สูง โดยมีบางรายที่ได้เปรียบในเรื่องการแข่งขัน มิหนำซ้ำ ทุกวันนี้โอเปอเรเตอร์ ลงทุนเครือข่ายรวมกันจะสักอีกกี่แสนล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกใส่ผู้ให้บริการ OTT (Over The Top) อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ แกร็บ ลาซาด้า และที่เหลืออีกมาก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งสิ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดไว้มากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังไปยึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT

OTT หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพ และกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันทำรายได้มหาศาลเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวนเพียงน้อยนิด เพราะอาศัยวิ่งบนเครือข่ายมีสายและเครือข่ายไร้สายโทรศัพท์มือถือที่ผู้ให้บริการลงทุนหลายแสนล้านบาท การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แทบจะทั้งหมดขับเคลื่อนผ่าน OTT ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ก็ผ่านลาซาด้า ช้อปปี้ ถ้าจะหาความบันเทิงสนุกสนานดูหนังก็เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ถ้าเป็นเรื่องอาหารก็สั่งแกร็บ ไลน์แมน ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ถ้าคนไปใช้บริการก็ต้องจ่ายเงินผ่านไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด

แค่ได้ใช้ของถูกและดี มีกี่รายไม่สำคัญ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีความเห็นที่น่าสนใจกับการควบรวมครั้งนี้ว่ากลับเป็นผลดีด้วยซ้ำที่ 2 เจ้า (เอไอเอสกับบริษัทจากการควบรวมทรูดีแทค) จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งด้านบริการ คุณภาพสัญญาณ และ ราคา เพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้าและเป็นที่หนึ่งในตลาด คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคเต็มๆ

“ยอมรับว่าหากในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเหลือโอเปอเรเตอร์แค่ 2 ราย ซึ่งเสี่ยงที่จะมีการฮั้วกันเกิดขึ้นแต่มองว่าถึงมี 3 รายโครงสร้างการแข่งขันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ด้วยที่ผ่านมาพบว่า ดีแทคเริ่มอ่อนแรง ไม่มีการลงทุนด้านโครงข่ายเพิ่มเติม ในระยะยาวอาจไปต่อไม่ไหว ขณะที่ ทรูก็ประสบกับภาวะขาดทุน ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่า การควบกิจการของทั้ง 2 ราย ส่งผลดี ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเข้มแข็งขึ้น”

ดังนั้น เมื่อเกิดการควบรวมกิจการแล้ว การแข่งขันอาจจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็จะรุนแรงขึ้น เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข่งขัน ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคซึ่งไม่ได้แย่ลง เพราะเนื่องด้วยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลทำให้โอเปอเรเตอร์หลายรายไปต่อไม่ไหวรายใหม่ก็เข้ามาไม่ได้

นี่คือ สมการใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเข้าสู่บริบทใหม่ 6 G ที่กสทช.ต้องทันเกม การควบรวมเท่ากับการแข่งขัน หากไม่ควบรวมก็เท่ากับการผูกขาด

แหล่งข่าวกล่าวว่าผลจากการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค นั้น ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าหลังการควบรวมแล้วราคาค่าบริการจะสูงขึ้น เพราะแพ็กเกจที่ใช้อยู่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง การให้บริการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว และที่ผ่านมากสทช.ก็ทำได้ดี ทำให้ไม่มีผู้เล่นรายใด สามารถปรับราคาได้เกินกว่าที่กสทช.กำหนดไว้ และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราค่าบริการต่ำที่สุดในโลก

ขณะที่ต้นทุนของผู้ให้บริการหลังการควบรวมจะลดลงด้วย ทำให้มีเงินทุนไปพัฒนาบริการใหม่ๆ รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามา เช่น ดาวเทียม, Metaverse, Quantum รวมถึงรถยนต์ EV และ Smart City ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราต้านกระแสการเข้ามาของ OTT ไม่ได้ เราก็ต้องมีศักยภาพมากพอในการขยายความสามารถในการรองรับการใช้งานดาต้าให้ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างไม่สะดุดไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก,ไลน์,เน็ตฟลิกซ์ ที่เข้ามาใช้เครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ในไทย การควบรวมจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย รองรับการเติบโตของผู้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เคยมีคนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ OTT ในประเทศไทยไว้ 3 เรื่องก็คือ

  1. ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยาก เงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัลที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง

2. ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตนเอง เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มี OTT อย่างประเทศสิงคโปร์ก็มีแกร็บ มาเลเซียก็มีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียก็มี Go-Jek ซึ่งนอกจากทำรายได้ให้ประเทศตนเองแล้วยังทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

3. ถ้ายังไม่มี OTT เป็นของเราเอง รัฐบาลก็ควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ เพราะจะทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระดุมเม็ดสุดท้ายที่ควรกลัดให้สวยงามหากผ่านพ้นขั้นตอนการควบรวมสำเร็จแล้วคือการย้ำกับผู้บริโภคว่าไม่มีการขึ้นราคาค่าบริการเด็ดขาด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่มีการครอบงำหรือมีอำนาจเหนือตลาดใดๆ ทั้งสิ้น ลูกค้าจะต้องได้รับบริการด้วยคุณภาพของเครือข่ายที่ดียิ่งขึ้น

ทรูกับดีแทควันนี้อุปมาเหมือนคู่หญิงชายที่ ศึกษาดูใจ ตัดสินใจจะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ด้วยการแต่งงาน แน่นอน กสทช.ที่เหมือนผู้ใหญ่ของทั้งสองฝั่งย่อมต้องตรวจสอบไตร่ตรองก่อน จะพิจารณาตัดสินใจอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น เช่นกัน การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค หมุดหมายย่อมมองถึงอนาคตของตลาดโทรคมนาคมไทยในยุคใหม่ หรือจะมองไปอีกขั้นถึงยุค 6G ที่เป็นไฟลท์บังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวรับการแข่งขัน งานนี้จะไปต่อด้วยการแข่งขัน แบบแฟร์ๆ หรือยังผูกขาดเหมือนเช่นทุกวันนี้ก็อยู่ที่ กสทช.จะตัดสินใจชี้อนาคต

โปรดติดตาม ตอนที่ 2 “กรณี NT ควบรวมแล้วแข็งแกร่ง บทพิสูจน์รวมกันเราอยู่” ได้ในวันจันทร์หน้า

Source

]]>
1382568
ชำแหละดีลควบรวม ‘ทรู’-‘ดีแทค’ ผูกขาดหรือไม่ เสี่ยงแค่ไหน และ ‘ผู้บริโภค’ ได้หรือเสียมากกว่ากัน https://positioningmag.com/1374729 Mon, 21 Feb 2022 12:15:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374729 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา บอร์ดทรู-ดีแทค ไฟเขียวควบรวมกิจการ เคาะตั้งบริษัทใหม่เข้าตลาดหุ้น พร้อมถอนหุ้น TRUE และ DTAC ออกจากตลาด โดยทาง สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานเสวนา เรื่อง ‘ดีล True – Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค’ เพื่อสะท้อนหากเกิดการควบรวมจริงถือเป็นการ ‘ผูกขาด’ หรือไม่ และ ผู้บริโภค’ ได้หรือเสียมากกว่ากัน

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ผูกขาดชัดเจน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประโยชน์ของการควบรวมบริษัทมีอยู่ 2 ประการ คือ ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ประหยัดต้นทุนมากขึ้น ผู้บริโภคมีโอกาสได้ของดีราคาถูก อีกมุมคือ เพิ่มอำนาจการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคอาจเสียผลประโยชน์ ดังนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์ต้องชั่งน้ำหนักของ 2 ข้อนี้

“ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา องค์กรที่กำกับดูแลจะพิจารณาจาก ผลกระทบต่อผู้บริโภคเท่านั้น ว่าการควบรวมก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียกับผู้บริโภคมากกว่ากัน ถ้าเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงก็จะ ห้ามการควบรวม แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นร้ายแรงก็จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม”

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สำหรับการควบรวมของ ทรู-ดีแทค นั้นส่งผลดีหรือผลเสียให้ผู้บริโภคในทางเศรษฐศาสตร์นั้นพิจารณาจาก ผู้ประกอบการรายที่เหลือ (เอไอเอส) มีท่าทีอย่างไร ถ้ามีการ คัดค้าน หน่วยงานกำกับดูแลควรอนุญาตให้ควบรวม แต่ถ้า ไม่คัดค้านหรือสนับสนุน ควร ห้ามการควบรวม กรณีนี้ไม่มีใครคัดค้าน เพราะจะทำให้ตลาดกระจุกตัวเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์

หลักฐานที่ชัดเจนคือ ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทเพิ่มขึ้น แม้ว่าเอไอเอสไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมก็ตาม นอกจากนี้ การควบรวมทรู-ดีแทค ยังถือว่าเป็นการผูกขาดในระดับ อันตรายมาก ดังนั้น จึงไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม

“ทุกอย่างชี้ว่าการควบรวมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่เป็นผลเสียกับผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องดีลกับผู้ประกอบการที่จะเหลืออยู่ 2 รายในตลาด ไม่ว่าจะเป็นดีลเลอร์ที่เหลือแค่ 2 ทางเลือก ผู้พัฒนานวัตกรรมหรือสตาร์ทอัพก็มีทางเลือกน้อยลง จะเห็นว่าทุกฝ่ายแย่ลงหมดยกเว้นผู้ประกอบการ ดังนั้น ควรระงับไม่ให้เกิดการควบรวม”

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า การควบรวมกิจการ มีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน เพราะเมื่อทางเลือกลดลงย่อมส่งผลต่อราคา อีกทั้งยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล สิทธิในด้านกิจการโทรคมนาคมก็จะลดลงตามไปด้วย ดังนั้น หวังว่าบอร์ดใหม่กสทช. จะพิจารณาให้ถี่ถ้วน

“จากงานวิจัยในอังกฤษพบว่า เมื่อผู้เล่นลดลงจาก 4 เหลือ 3 ราย ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นถึง 20% ดังนั้นจาก 3 เหลือ 2 ย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ.

กฎหมายใหม่กสทช. มีช่องว่าง

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ทั้งทรู-ดีแทคออกมาประกาศว่า “อยู่ระหว่างการหารือเรื่องควบรวม” แต่กลับมีการเรียนอัตราการแลกหุ้นอย่างชัดเจน แสดงว่าทั้ง 2 บริษัทได้คำนวณเรื่องการควบรวมไว้แล้วแสดงว่า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน มีการเจรจากัน ก่อนที่จะมีการประกาศการควบรวม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 บริษัทตั้งใจจะควบรวมกิจการ ลึกที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ไม่ว่าจะมีการควบรวมหรือไม่นั้น กสทช. เป็นองค์กรที่ต้องออกมากำกับดูแลหากเห็นพฤติกรรมที่ส่องเค้าที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ดังนั้น กสทช. ไม่ควรรีรอบอร์ดกสทช. ชุดใหม่ ควรจะวางกระบวนการตั้งแต่วันแรกที่มีการประกาศควบรวม ต้องเรียกขอดูข้อมูล และอีกปัญหาคือ ประกาศกสทช. ฉบับปี 2561 มีช่องว่างก่อให้เกิดความเสี่ยงในการควบรวมเมื่อเทียบกับประกาศของปี 2553 จากเดิมจะ ต้องมาขออนุญาตก่อน แต่ประกาศฉบับปี 61 แค่รายงานให้ทราบ

“เห็นชัดเจนว่าถ้าจาก 3 เหลือ 2 การแข่งขันน้อยลงอย่างแน่นอน ดังนั้น ถ้าปล่อยให้ทั้ง 2 บริษัทเดินหน้าควบรวมโดยที่ไม่มีหน่วยงานไหนเลยเข้ามากำกับก็จะนำไปสู่ภาวะการผูกขาดหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่ก่อนที่การควบรวมจะสิ้นสุดด้วยซ้ำ เพราะแค่เจรจาก็สุ่มเสี่ยงแล้ว”

กสทช. รับต้องรอบอร์ดใหม่พิจารณา

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช ยอมรับว่า ตั้งแต่มีข่าวการควบรวม กสทช. ได้เรียกผู้ประกอบการมาชี้แจงบ้าง รวมถึงได้ประสานงานกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) แต่ช่วง 3 เดือนที่มีข่าว ทางกสทช. ไม่เคยนำเสนอเรื่องการควบรวมให้เป็นวาระการประชุมเลย เพิ่งมี 2 ครั้งหลังสุดที่มีการรายงานด้วยวาจา โดยไม่มีเอกสารวาระก่อนปิดประชุมทั้ง 2 ครั้ง

ดังนั้น กรรมการกสทช. จึงไม่มีเวลาถกแถลง หรือ หารือว่าจะทำอย่างไรต่อ และเป็นปัญหาที่ตัวข้อเท็จจริงยังอยู่ในชั้นสำนักงานทั้งหมด ซึ่งปัญหาที่เกิดถือเป็น จุดอ่อนของการบริหารของสำนักงานกสทช. อีกปัญหาคือ ตัวกฎหมายผู้ร่างคือสำนักงานกสทช. ซึ่งประกาศฉบับแก้ไขการรวมกิจการปี 61 ก็ร่างโดยสำนักงานกสทช. ซึ่งส่วนตัวนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายปี 53 มีความเสี่ยงในการควบรวมได้ทันที

“หลายคนไม่เอะใจเลยว่า กฎหมายปี 61 เป็นแค่การรายงานให้ทราบ แต่ไม่มีอำนาจในการพิจารณา ถือเป็นประกาศที่อำนวยความสะดวกให้ธุรกิจไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบในการควบรวม ดังนั้น ตรงนี้ตรงไปตรงมามาก และผมไม่ได้เห็นด้วย”

อีกปัญหาสำคัญคือ การควบรวมมาในช่วงคาบเกี่ยวการแต่งตั้ง กสทช. ชุดใหม่ ซึ่งทางกรรมการชุดปัจจุบันไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติเรื่องการควบรวม ดังนั้น เมื่อมีการเสนอคำขอควบรวม จึงทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อหากบอร์ดทั้ง 2 ชุดเห็นไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ ขณะที่การควบรวมคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 65

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องการควบรวมจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากมาประกอบว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ไม่เช่นนั้นจะเกิดการลำเอียงในการพิจารณาในภายหลัง ผู้ที่ขอยื่นอาจขอค้านทางปกครองในภายหลังว่าเราไม่มีความเป็นกลาง ดังนั้น โดยหลักแล้วทำให้กสทช. ต้องรอข้อมูลผลการศึกษาให้ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันข้อถกเถียงเรื่องผลดีผลเสียจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ยังเป็นแค่การพยากรณ์ทั้งสิ้น เพราะยังไม่เกิด แต่ถ้าปล่อยให้ควบรวมก็จะสายเกิดไปในการรับมือ

และทางกสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยมีการประสานงานกับ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยได้หารือว่าจะรับมืออย่างไร นอกจากนี้ คณะสภาผู้แทนราษฎรณ์ก็มีการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทางกสทช. ก็ได้หารือกันทุกสัปดาห์ มีการศึกษาผลระยะยาวสภาพตลาด ภายหลังจากการควบรวม เบื้องต้นพยายามรวมประเด็นเพื่อทำการวิเคราะห์ในทุกด้าน

“โดยสรุปแล้ว กสทช. ยังไม่ได้ฟันว่าจะไม่ให้ควบรวม หรือให้ควบรวม แต่ต้องปกป้องประโยชน์ต่อประชาชน และต้องคำนึงถึงมาตรการในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น สิ่งที่เป็นไปได้คือ ถ้าจะพิจารณาเรื่องนี้ต้องวิเคราะห์โครงสร้างตลาดที่เหมาะสมในประเทศไทย มีมาตรการเชิงโครงสร้าง และสิ่งสำคัญต้องติดตามผลกระทบจากการควบรวมจริง ๆ”

แนะ 3 ข้อ ป้องกันผูกขาด

ดร. สมเกียรติ ได้เสนอ 3 แนวทาง สำหรับป้องกันการผูกขาดที่จะเกิดจากการควบรวมทรู-ดีแทค ดังนี้

  1. ไม่อนุญาตให้ควบรวม : โดยหากดีแทคต้องการจะเลิกกิจการในประเทศไทย ควรให้ขายกิจการกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรู
  2. ควบรวมได้ แต่ต้องคืนคลื่น : อนุญาตให้ควบรวมได้แต่ต้องคืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือเหมือนเดิม
  3. ควบรวมได้แต่ต้องส่งเสริมให้เกิด MVNO หรือผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายฯ ของตัวเอง : ทางเลือกนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่มีความเหมาะสม เนื่องจาก MVNO ไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลยากมาก ดังนั้น ควรป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะเป็นเรื่องที่ยากมาก

สุดท้าย ผศ.ดร. กมลวรรณ จิรวิศิษฏ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะยังไม่ควบรวมแต่การมีการ แบ่งปันข้อมูล อาจนำไปมาซึ่งการ ไม่แข่งขัน เพราะอาจมีการ ฮั้ว กันเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เรื่องนี้หน่วยงานกำกับดูแลต้องนำมาพิจารณาด้วย

]]>
1374729
‘เอไอเอส’ ไม่ขออยู่เฉยส่งแคมเปญ ‘อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด’ พร้อมอัดส่วนลด 50% ดึงย้ายค่าย https://positioningmag.com/1363591 Tue, 23 Nov 2021 13:59:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363591 ในช่วงสัปดาห์นี้ ในแวดวงโทรคมนาคมคงไม่มีข่าวไหนจะใหญ่ไปกว่าการที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ dtac จะควบรวมกัน แน่นอนว่าหลังจากมีข่าว หลายคนต่างก็ต้องคิดแล้วว่าการแข่งขันจากนี้จะเป็นอย่างไร และพี่ใหญ่อย่าง ‘เอไอเอส’ (AIS) จะงัดไม้ไหนออกมาสู้

ในตลาดโทรคมนาคมที่ผ่านมา เอไอเอสถือว่าเป็นเบอร์ 1 ที่แข็งแรงมาโดยตลอด หากอ้างอิงจากตัวเลขไตรมาส 3 ปี 64 เอไอเอส มีลูกค้าทั้งสิ้น 43.7 ล้านเลขหมาย มีคลื่นความถี่รวม 1,420 MHz และมีรายได้ รายได้ 130,995 ล้านบาท ขณะที่เบอร์ 2 อย่าง ทรูมูฟ เอช มีลูกค้า 32 ล้านเลขหมาย มีคลื่นรวม 990 MHz มีรายได้ 96,678 ล้านบาท ส่วน ดีแทค มี 19.3 ล้านเลขหมาย มีคลื่นรวม 270 MHz และมีรายได้ 78,818 ล้านบาท

แน่นอนว่าหากทรูและดีแทคควบรวมกันแล้วจะพลิกขึ้นนำเอไอเอสทันที แต่ในส่วนของจำนวนคลื่นความถี่ยังถือว่าน้อยอยู่ ดังนั้น ก่อนที่ทั้ง 2 บริษัทจะควบรวมกันอย่างสมบูรณ์ เอไอเอสก็ไม่รอช้าที่จะสื่อสารไปยังผู้บริโภคด้วยการใช้จุดแข็งของ จำนวนคลื่นความถี่ ว่ามีมากที่สุดพร้อมทั้งขยี้ด้วยแคมเปญ อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด

โดยเอไอเอสถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่กวาดเอาดาราตัวท็อปมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้มากเบอร์ต้น ๆ ของไทย ไม่ว่าจะ เจมส์ จิรายุ, เป๊ก ผลิตโชค, เวียร์ ศุกลวัฒน์, เบลล่า ราณี, น้องเทนนิส, แบมแบม กันต์พิมุกต์, ลิซ่า ลลิษา และน้อง ๆ BNK48 ดังนั้น เอไอเอสจึงได้ปล่อยภาพเหล่าพรีเซ็นเตอร์เพื่อสื่อสารถึงความเป็น เบอร์ 1 เผยแพร่ลงในโซเชียลทุกช่องทาง โดยในทวิตเตอร์ก็ขึ้นเทรนด์เป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว

ไม่ใช่แค่ย้ำว่า อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด แต่ถ้าย้ายมาอยู่ด้วยกันมันก็จะดีนะ เพราะมีความเห็นในโซเชียลบางส่วน ที่รู้สึกอยากย้ายค่ายหากทรูและดีแทคควบรวมกัน ดังนั้น เอไอเอสจึงอัด โปรย้ายค่าย โดยโปร 4G มีส่วนลด 50% แถมใช้ฟรี 1 เดือนด้วย ส่วนโปร 5G ลด 25%

ก็ไม่รู้ว่ากว่าจะถึงเวลาที่ทรูและดีแทคควบรวมกันเสร็จ เอไอเอสจะสามารถดึงลูกค้าย้ายค่ายไปได้มากน้อยแค่ไหน และไม่รู้ว่าทางทรูและดีแทคจะออกแคมเปญอะไรออกมารักษาลูกค้าไหม หรือจัดหนักทีเดียวตอนควบรวมไปเลย คงต้องรอดูกัน

]]>
1363591
‘ดีแทค’ ย้ำกลยุทธ์ดิจิทัล ‘มัดใจลูกค้า’ ปักเป้าผู้ใช้ 10 ล้านราย/เดือน ในสิ้นปี https://positioningmag.com/1355289 Wed, 06 Oct 2021 14:22:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355289 ต้องใช้คำว่า ก่อน ที่ทั่วโลกจะเจอกับการระบาดของ COVID-19 แบบนี้ เกือบทุกอุตสาหกรรมก็ต้องการจะทรานส์ฟอร์มองค์กรหรือบริการไปสู่ดิจิทัล เช่นเดียวกันกับ ‘ดีแทค’ (Dtac) ซึ่งไม่ได้ปักธงแค่การนำดิจิทัลมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า แต่ต้องต่อยอดสู่บริการที่มากกว่าโทรคมนาคม ดังนั้น ที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นว่าดีแทคเองเริ่มแตกบริการอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

ลูกค้าเกือบครึ่งใช้ดิจิทัล

ฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของการแพร่ระบาดของ COVID-19 การใช้งานบริการดิจิทัลของลูกค้าดีแทคก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันลูกค้ากว่า 46% ใช้งานดิจิทัลแอคทีฟต่อเดือน และด้วยกลยุทธ์ที่เน้นให้ลูกค้าทุกกลุ่มเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะ dtac app Lite โมบายแอปที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแต่ให้บริการได้เหมือนดีแทคแอป ทำให้มีลูกค้าเข้าถึงบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากขึ้น โดยแต่ละวันมีลูกค้าราว 1 ล้านคนใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ขณะที่กลุ่มลูกค้าเติมเงินใช้งานเพิ่มขึ้น 3 เท่า และเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 124% ในกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ศูนย์บริการดีแทคได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบดิจิทัลเป็นแบบไร้กระดาษ 100% ร้านตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 90% ได้ใช้เครื่องมือดิจิทัลในกิจกรรมการขายและบริการในแต่ละวัน ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายดีแทคดิจิทัลทะลุ 70% ทั้งแบบเติมเงิน ชำระค่าบริการ และการซื้อบริการเสริมผ่านช่องทางของดีแทคเองและช่องทางอื่น ๆ

“ลูกค้าไทยมีความพร้อมและความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัล เรามีการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ตอนนี้ขึ้นอยู่กับเราว่าเราทำได้ดีแค่ไหนให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างดี”

ฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

เพิ่มกิจกรรม ตรึงลูกค้า ใช้แอป

ที่ผ่านมา ดีแทคเพิ่มกิจกรรมในรูปแบบของ เกม และสิทธิพิเศษจาก ดีแทครีวอร์ด Coins เป็นการดึงดูดให้ลูกค้าให้สนุกสนานในการใช้งานดิจิทัล ได้มีส่วนร่วม และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มและเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นดิจิทัลในวงที่กว้างขึ้นด้วยรูปแบบการเล่นเกมลุ้นรางวัล

นอกจากนี้ยังใช้ AI ที่สามารถวิเคราะห์และนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงช่องทางดิจิทัลเท่านั้นแต่ยังสามารถขยายการให้บริการไปในช่องทางร้านค้าอื่น ๆ ทั้งหมดได้อีกด้วย และเพื่อเข้าถึงลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน รวมถึงเจาะลูกค้ารุ่นใหม่ ด้วยการขยายสู่ตลาด เช่น Shopee, Lazada และ JD Central รวมถึงโซเชียลมีเดียอย่าง LINE , Facebook และ WeChat

“จุดสำคัญของการผลักดันลูกค้าใช้งานดิจิทัลคือ เอนเกจเมนต์ ยิ่งสามารถสร้างปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าอยู่กับเรานานขึ้น ใช้งานกับเรามากขึ้น ก็จะยิ่งสร้างความยั่งยืนให้ทั้งลูกค้าและองค์กร แต่ปลายทางเราต้องการเป็นมากกว่าโทรคมนาคม”

ต้องโตจากบริการอื่นที่ไม่ใช่โทรคมนาคม

ทั้งดีแทคและเทเลนอร์บริษัทแม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งที่จะโตในบริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โทรคมนาคม โดยที่ผ่านมา ดีแทคมีความร่วมมือจากบริการใจดี มีวงเงินให้ยืม ร่วมกับ LINE BK และเว็บเติมเกม Gaming Nation ที่ถือเป็นก้าวแรกในการขยายบริการที่ ‘มากกว่า’ โทรคมนาคม

โดยในไตรมาส 4 จะได้เห็นบริการใหม่ ๆ แน่นอน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบริษัทไม่สามารถไปได้ทุกทาง ดังนั้นจะเน้นโฟกัสในส่วนที่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดก่อน ทั้งนี้ ดีแทคตั้งเป้าให้มีผู้ใช้งานผ่านดิจิทัลที่ 10 ล้านคน/เดือน และการเข้าซื้อผ่านดิจิทัลเติบโต 5 เท่าภายในปี 2566 และเป็น ‘ซูเปอร์แอป’ ในอนาคต

]]>
1355289
สหรัฐฯ เริ่มกระบวนการเพิกถอน 3 บริษัทเทเลคอมจีน พ้นจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก https://positioningmag.com/1312769 Sun, 03 Jan 2021 14:55:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312769 ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเริ่มกระบวนการเพิกถอน 3 บริษัทโทรคมนาคมของจีน พ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่พวกเขาหาทางปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ห้ามลงทุนในบริษัทจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพพญามังกร

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก ดำดิ่งสู่ขั้นต่ำสุด สืบเนื่องจากประเด็นพิพาทต่างๆ นานา ไล่ตั้งแต่การค้า, ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และฮ่องกง ไปจนถึงซินเจียง

การซื้อขายหุ้นของไชน่า เทเลคอมมิวนิเคชันส์, ไชน่า โมบายล์ คอมมิวนิเคชันส์ และไชน่า ยูนิคอม (ฮ่องกง) ลิมิเต็ด จะสิ้นสุดลงในสัปดาห์หน้า จากการเปิดเผยของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

อย่างไรก็ตาม ด้วยทั้งสามบริษัทมีรายได้จากการกิจการในจีน และมีการดำเนินงานไม่มากนักในสหรัฐฯ รวมถึงหุ้นของทั้งสามบริษัทยังซื้อขายไม่มากนักในตลาดนิวยอร์ก เมื่อเทียบกับในตลาดฮ่องกง ดังนั้น การถอดหุ้นครั้งนี้จึงเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งพิเศษห้ามชาวอเมริกาลงทุนในบริษัทต่างๆ ของจีน ที่พวกเขามองว่าเป็นผู้จัดหาหรือเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ด้านความมั่นคงของกองทัพจีน ความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงประณามอย่างดุเดือดจากปักกิ่ง

ในคำสั่งดังกล่าวระบุชื่อ 31 บริษัท ที่ทางสหรัฐฯ ระบุว่าจีนใช้แสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องจากเงินลงทุนของสหรัฐฯ โดยนำไปเป็นทุนด้านการทหารและหน่วยข่าวกรอง ในนั้นรวมถึงพัฒนา และประจำการอาวุธทำลายล้างต่างๆ นานา

คำสั่งดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายๆ คำสั่งพิเศษ และมาตรการทางกฎระเบียบต่างๆ นานาที่มีเป้าหมายเล่นงานเศรษฐกิจจีนและความพยายามแผ่อิทธิพลด้านการทหารของปักกิ่ง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้คำสั่งของทรัมป์ ห้ามบริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯ และพลเมืองอเมริกา จากการเข้าถึงหุ้นใดๆ ใน 31 บริษัทดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงบริษัท ฮิควิชัน บริษัทกล้องวงจรปิดชั้นนำ และไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชัน รัฐวิสาหกิจด้านรถไฟความเร็วสูงของจีน

โรเบิร์ต โอไบเอน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวในตอนนั้นว่า คำสั่งนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ชาวอเมริกัน ให้เงินทุนอุดหนุนโดยไม่รู้ตัวแก่บริษัทต่างๆ ของจีน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งกลายเป็นการสนับสนุนปักกิ่ง ในการปรับปรุงกองทัพและหน่วยข่าวกรองทั้งหลาย

Source

]]>
1312769