โยโกฮาม่า – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 11 Dec 2020 02:21:45 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดโผ 8 เมืองดาวรุ่ง แหล่งดึงดูด “เทคสตาร์ทอัพ” แห่งปี 2020 https://positioningmag.com/1310010 Thu, 10 Dec 2020 16:16:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310010 “เทคสตาร์ทอัพ” เป็นธุรกิจและวิธีลงทุนแบบใหม่ของโลก จนทำให้หลายเมืองปั้นตนเองให้มีระบบนิเวศเอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพ ที่ผ่านมาแหล่งดึงดูดใหญ่ๆ จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ของจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่ในระยะหลัง เมืองอื่นของโลกก็ต้องการส่วนแบ่งจากตลาดนี้บ้าง จึงพยายามสร้างจุดเด่นดึงการลงทุนและบรรดาบุคลากรหัวกะทิด้านเทคโนโลยีเข้ามาอยู่อาศัย เกิดเป็น 8 เมืองดาวรุ่งเหล่านี้

Savills บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เริ่มศึกษาและรายงานเมืองที่โดดเด่นด้านการลงทุนของกลุ่มเทคสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ปี 2015 จนปัจจุบันการลงทุนกลุ่มนี้แพร่หลายออกไปทั่วโลก และทำให้หลายเมืองได้รับอานิสงส์ของการลงทุน โดยปี 2020 บริษัทจัดทำรายงานแบ่งเมืองแหล่งเทคสตาร์ทอัพออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มหานครแห่งเทคโนโลยี, เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคโนโลยี และ เมืองดาวรุ่งด้านเทคโนโลยี

สองกลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่มีตัวตนบนแผนที่โลกในฐานะศูนย์รวมเทคสตาร์ทอัพอยู่แล้ว โดยข้อแตกต่างของ “มหานคร” กับ “เมืองไลฟ์สไตล์” คือกลุ่มมหานครเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกิน 5 ล้านคน และเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนเมืองแห่งไลฟ์สไตล์นั้นเป็นเมืองขนาดเล็กกว่า 5 ล้านคน ดึงดูดเงินลงทุนจากเวนเจอร์แคปิตอลได้น้อยกว่า แต่ไลฟ์สไตล์เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตของชาวเทคมากกว่า

แผนที่เมืองแหล่งเทคสตาร์ทอัพ 3 กลุ่ม คือ มหานครแห่งเทคโนโลยี, เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคโนโลยี และเมืองดาวรุ่งด้านเทคโนโลยี

มหานครแห่งเทคฯ นั้น Savills ประเมินไว้ 16 แห่งทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้
– อเมริกาเหนือ : ลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ก, ซานฟรานซิสโก, โตรอนโต
– ยุโรป : ลอนดอน, ปารีส
– จีน : ปักกิ่ง, เฉิงตู, หางโจว, ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, เสิ่นเจิ้น
– เอเชีย : บังกาลอร์, โซล, สิงคโปร์, โตเกียว

ด้าน เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคฯ ประเมินไว้ 12 แห่งทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้
– อเมริกาเหนือ : ออสติน, บอสตัน, เดนเวอร์, ซีแอตเทิล
– ยุโรป : อัมสเตอร์ดัม, บาร์เซโลนา, เบอร์ลิน, โคเปนเฮเกน, ดับลิน, สตอล์กโฮม
– ตะวันออกกลาง : เทลอาวีฟ
– เอเชีย : เมลเบิร์น

ในขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือ “เมืองดาวรุ่ง” เป็นเมืองที่น่าจับตามองของปี 2020 คู่แข่งใหม่ในตลาดโลกเหล่านี้เริ่มได้รับความสนใจจากโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ปูทางมาตลอด และอีกส่วนหนึ่งคือการระบาดของ COVID-19 ทำให้เหล่าหัวกะทิเทคโนโลยีเริ่มมองหาเมืองที่ประชากรหนาแน่นน้อยลงและดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองใหญ่ด้วย ติดตามข้อมูลได้ด้านล่าง

 

8 เมืองดาวรุ่ง แหล่งดึงดูด “เทคสตาร์ทอัพ” แห่งปี 2020

1.ดีทรอยต์, สหรัฐอเมริกา
(Photo : Mohtashim Mahin/Pixabay)

เมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ แห่งนี้กำลังร้างผู้คน เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เองกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ทำให้ดีทรอยต์ต้องเปลี่ยนจุดยืนตัวเองใหม่จาก “เมืองแห่งรถยนต์” เป็น “เมืองแห่งการเดินทาง” โดยปรับตัวเองมามุ่งเน้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง

ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่เข้ามาลงทุนทั้ง Fiat-Chrysler, Google, GM, Ford และ Lyft จนถึงบริษัทสตาร์ทอัพด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง เช่น Rivian ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของที่นี่ปรับไปมีเทคโนโลยีเป็นแกนกลางแทนได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ดีทรอยต์เป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าครองชีพต่ำของสหรัฐฯ ทำให้เมืองสามารถให้ไลฟ์สไตล์ที่ราคาถูกกว่าเมืองชายฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกของประเทศ ดีทรอยต์ยังติดอันดับ 6 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด” ด้วย โดยการจัดอันดับดังกล่าวของ Savills วัดจากดัชนีคุณภาพชีวิตคนสายเทค 6 ประการคือ ราคาเบอร์เกอร์วีแกนกับกาแฟแฟลตไวท์, ราคา MacBook Pro, ราคารองเท้ากีฬาทั่วไปกับหูฟังไร้สายแบบพรีเมียม, ความเร็วอินเทอร์เน็ต, ราคาโต๊ะทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ และคุณภาพอากาศ

 

2.โยโกฮาม่า, ญี่ปุ่น
(Photo : Pixabay)

หนึ่งเดียวจากเอเชียที่ติดผลสำรวจนี้ โยโกฮาม่าเป็นเมืองท่าแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่นที่เปิดรับการค้าระหว่างประเทศในช่วงศตวรรษที่ 19 ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของญี่ปุ่นมานานกว่า 150 ปี ในหลายปีที่ผ่านมา โยโกฮาม่าสามารถดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศและการย้ายฐานบริษัทได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำเลที่เข้าโตเกียวสะดวกและการเป็นแหล่งแรงงานฝีมือ

ในที่สุด โยโกฮาม่าประกาศตนเองเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาแห่งทวีปเอเชีย โดยมีบริษัทใหญ่มาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแล้ว คือ Apple, Lenovo, Samsung, Huawei และ LG ทำให้เมืองยิ่งติดสปีดการเป็นเมืองเทคโนโลยีระดับโลก โดยมีแรงหนุนคือการเป็นเมืองท่าส่งออกของประเทศ

สำหรับผู้อยู่อาศัย ค่าครองชีพของโยโกฮาม่าต่ำกว่าโตเกียว และมีประชากรหนาแน่นน้อยกว่า ทำให้น่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น

 

3.ทาลลินน์, เอสโตเนีย
(Photo : Pixabay)

ยุคแห่งยุโรปตะวันออกต้องมีเอสโตเนียเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่รัฐบาลอื่นทั่วโลกต้องหัวหมุนกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานและเชื่อมโยงกับประชาชนของตน แต่ภาครัฐของเอสโตเนียสามารถนำกิจกรรมของรัฐถึง 99% มาอยู่บนออนไลน์ได้ทั้งหมด (เหลือเพียงการสมรส-หย่าร้าง และซื้อขายอสังหาฯ ที่ต้องไปติดต่อสำนักงาน)

ประเทศนี้ยังมีการออกโปรแกรม e-Residency เมื่อปี 2014 เพื่อให้ใครๆ ก็เป็นประชากรเอสโตเนียแบบข้ามโลกเสมือนจริงได้ ปลดล็อกให้คุณสามารถตั้งบริษัทในเอสโตเนียได้โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ที่เอสโตเนียเลย ต่อมาเอสโตเนียยังออกวีซ่าสำหรับดิจิทัล โนแมดโดยเฉพาะ เพื่อให้กลุ่มคนทำงานระยะไกลกลุ่มนี้สามารถมาทำงานพร้อมใช้ชีวิตได้ในเอสโตเนียเป็นระยะเวลาสูงสุด 1 ปี

สิ่งแวดล้อมด้านเทคโนโลยีของภาครัฐและวิถีชีวิตคน ทำให้ทาลลินน์ เมืองหลวงของประเทศแห่งนี้เป็นที่น่าจับตามอง ปัจจุบันมีหน่วยงานยักษ์ใหญ่ที่เข้าไปตั้งศูนย์ในทาลลินน์แล้วคือ หน่วยงานความร่วมมือด้านการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศของ NATO

 

4.วิลนีอุส, ลิทัวเนีย
(Photo : Pixabay)

อีกหนึ่งประเทศยุโรปตะวันออกที่ตีคู่มากับเอสโตเนีย ชื่อของประเทศลิทัวเนียอาจจะไม่ค่อยคุ้นในแผนที่โลก แต่จริงๆ แล้วนี่คือผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และฟินเทค ลิทัวเนียมีสตาร์ทอัพกว่า 1,000 บริษัท และฟินเทคอีกกว่า 200 บริษัท สตาร์ทอัพดังด้านเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Revolut และ Google Payments มีสำนักงานของบริษัทอยู่ในวิลนีอุส และ ศูนย์บล็อกเชนแห่งยุโรป ที่เปิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2019 ก็ตั้งขึ้นที่เมืองนี้

เช่นเดียวกับเอสโตเนีย ลิทัวเนียก็ออกวีซ่าสำหรับคนทำงานในสตาร์ทอัพเหมือนกัน เพื่อดึงดูดคนจากประเทศ non-EU ทั้งหลายให้มาลงหลักปักฐานที่นี่

 

5.ไอนด์โฮเว่น, เนเธอร์แลนด์
(Photo : Shutterstock)

เมืองที่ท้าชิงตำแหน่งกับอัมสเตอร์ดัม เป็นที่ตั้งของย่าน Brainport พื้นที่ที่ถูกสนับสนุนให้เป็นแหล่งยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างบริษัทเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา

รวมถึงเป็นที่ตั้งของ High Tech Campus แหล่งรวมศูนย์วิจัยและพัฒนาของสารพัดบริษัทจากทั่วโลก เริ่มต้นจาก Philips เป็นบริษัทแรกที่มาลงทุน จนปัจจุบันมีมากกว่า 220 บริษัทในพื้นที่ รวมนักวิจัยมากกว่า 12,000 คน
ทำให้ High Tech Campus ประกาศตัวเองว่าเป็นพื้นที่ “ตารางกิโลเมตรที่อัจฉริยะที่สุดในยุโรป”

เมืองไอนด์โฮเว่นยังติดอันดับ 2 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด” โดยเป็นสวรรค์ของคนรักการขี่จักรยาน ด้วยทางจักรยานทั่วเมืองและมีทางจักรยานลอยฟ้าด้วย

 

6.แมนเชสเตอร์, สหราชอาณาจักร
(Photo by Nathan J Hilton from Pexels)

ไม่มีใครที่ไม่รู้จักแมนเชสเตอร์ ด้วยตำนานลูกหนังของสโมสรดังทั้งสองแห่ง แต่นั่นไม่ใช่จุดขายเดียวของแมนเชสเตอร์ เมืองนี้เป็นแหล่งรวมบริษัทเทคทั้งบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Google, Microsoft, IBM และ Cisco รวมถึงบริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพรวมมากกว่า 10,000 แห่ง

แมนเชสเตอร์เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยติดอันดับโลกถึง 3 แห่ง ทำให้มีบุคลากรชั้นนำรองรับภาคธุรกิจ และทำให้มีความร่วมมือระหว่างเอกชนกับสถาบันการศึกษาได้ง่าย

เมืองนี้ยังเป็นเมืองหัวก้าวหน้าของประเทศ โดยตั้งเป้าจะเป็นเมืองปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2038 เร็วกว่าเป้าหมายของทั้งประเทศถึง 12 ปี และยังมีแผนสร้างทางเดินและทางจักรยานรวมระยะทาง 1,800 ไมล์ในเมือง

 

7.โบโกตา, โคลอมเบีย
(Photo : Pixabay)

ดังที่เห็นว่าทวีปอเมริกาใต้ยังไม่เคยมีศูนย์รวมเทคสตาร์ทอัพเลย ทำให้โบโกตา เมืองหลวงโคลอมเบียมีสิทธิ์สูงมากที่จะได้เป็นแห่งแรก ในเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โบโกตากระโดดขึ้นมาถึง 200 อันดับเมื่อมีการจัดอันดับเมืองที่ดึงดูดเงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลได้มากที่สุด

เนื่องจากรัฐบาลโคลอมเบียลงทุนอย่างหนักในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยมีการให้แรงจูงใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง และมีโปรแกรมเทรนนิ่งพนักงาน พร้อมกับสร้างแหล่งข้อมูลสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคให้เข้ามาลงทุนที่โคลอมเบีย

พื้นฐานด้านพฤติกรรมประชากรยังมีส่วนช่วยให้โบโกตาโตอย่างก้าวกระโดด EY สำรวจเมื่อปี 2019 พบว่า ชาวโคลอมเบียมีอัตราการเปลี่ยนไปใช้บริการฟินเทคสูงที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยประชากรสัดส่วน 76% จะมีการใช้บริการฟินเทคอย่างน้อยหนึ่งอย่าง

ตัวเมืองโบโกตาเองก็ถือเป็นเมืองที่อยู่อาศัยได้ดีพอควร เป็นเมืองทางเดินดี เข้าถึงสวนสาธารณะง่าย และอยู่ในอันดับ 11 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด”

 

8.เคปทาวน์, แอฟริกาใต้
(Photo : Sharon Ang/Pixabay)

เช่นเดียวกับละตินอเมริกา ทวีปแอฟริกาก็ยังไม่มีแหล่งเทคสตาร์ทอัพ แต่เคปทาวน์กำลังจะมาคว้าตำแหน่งนี้ เคปทาวน์เป็นศูนย์รวมสถาบันการเงินในแอฟริกาอยู่แล้ว ทำให้เหล่าฟินเทคจะมาใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ รวมถึงสตาร์ทอัพสายอื่นก็เข้ามาลงทุนดึงเม็ดเงินจากเวนเจอร์ แคปิตอลให้เพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2016-2019 เงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลสู่เคปทาวน์เพิ่มขึ้น 147%

โครงสร้างพื้นฐานเมืองค่อนข้างมีเสน่ห์กับชาวเทคด้วย ด้วยที่ตั้งของเคปทาวน์ขนาบด้วยภูเขาและทะเลอย่างสวยงาม มาพร้อมกับค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองเทคใดๆ ในโลก ทำให้เป็นจุดดึงดูดคนดิจิทัลเข้ามาหา

Source

]]>
1310010
เปิดดีล AIS x อมตะ ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ Smart City เทียบโมเดล “โยโกฮาม่า” https://positioningmag.com/1289668 Sun, 26 Jul 2020 11:27:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289668 AIS สานต่อความร่วมมือกับอมตะ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ปูพรมนำเทคโนโลยีสร้างโครงข่ายดิจิทัลภายในนิคมฯ เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ Smart City ดึงดูดนักลงทุนจากต่างแดน โดยยกเทียบเท่าโมเดล “โยโกฮาม่า” ประเทศญี่ปุ่น

ปูพรม 4 ปี วางรากฐาน Infrastucture

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา AIS ได้ขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้เป็นมากกว่า “โอเปอเรเตอร์” ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องต้องเป็นผู้ให้บริการ Digital Service ที่ครบวงจร ยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีสัญญาณการมาของ 5G ทำให้ได้เห็น AIS เร่งสร้างพันธมิตรแก่ทุกอุตสาหกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย

ล่าสุด AIS ได้สานต่อความร่วมมือกับ “อมตะ” ในการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ด้วยการนำโครงข่ายดิจิทัลเข้าไปช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม

บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะ บริหารงานโดย “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการ และ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540

จริงๆ แล้วดีลนี้ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้ “บริษัท อมตะ เน็ทเวอร์ค จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านหุ้น เป็นเงิน 100 ล้านบาท โดย บริษัท แอดวานซ์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (ABN) ถือหุ้น 60% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 60 ล้านบาท และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (AMATA) ถือหุ้น 40% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 40 ล้านบาท

ในปีแรกที่เริ่มผนึกกำลังกันนั้น เป็นการเริ่มวางระบบโครงข่าย Infrastructure ต่างๆ ที่อมตะซิตี้ ชลบุรี  จากนั้นเมื่อมีการลงทุน 5G จึงสานต่อในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ  AIS  กล่าวว่า

“ตั้งแต่ปี 2559  AIS และอมตะ ได้ทำงานร่วมกันในการนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญและนำนวัตกรรม IoT เข้าไปสนับสนุนการบริหารงาน การผลิต และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่อมตะซิตี้ชลบุรี ซึ่งวันนี้เมื่อเทคโนโลยี 5G มีความพร้อมและได้กลายเป็น The Real New Normal ด้านเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านคุณสมบัติด้านความเร็ว ความเสถียร และการรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก AIS จึงได้ขยายความร่วมมือกับอมตะไปอีกขั้น เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบ

โดยนำเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่าง 5G ทั้ง 5G Stand Alone (5G SA) และ 5G Network Slicing รวมถึงโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) และ ICT Infrastructure เข้าไปยกระดับการทำงานในอมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่มากกว่า 750 แห่ง เพื่อเสริมขีดความสามารถด้านผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมเวทีโลก ตลอดจนพัฒนาโซลูชั่นส์ที่เอื้อต่อการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ทันสมัย ทั้งด้านการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร การขนส่ง และระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่”

สำหรับเหตุผลที่ AIS เลือกจับมือกับอมตะนั้น AIS มองว่าอมตะเป็นผู้นำด้านนิคมอุตสาหกรรม ต่างคนต่างเป็นเบอร์หนึ่งกันทั้งคู่ มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกันในการยกระดับนิคมด้วยนวัตกรรม ซึ่ง AIS จะใช้โมเดลพาร์ตเนอร์อยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนเองเพื่อสร้างแข่ง แต่เป็นการเติบโตไปด้วยกัน

ยกโมเดล “โยโกฮาม่า” ปั้นอมตะสู่ Smart City

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม รวมถึง 5G ที่จะเข้ามาเขย่าวงการครั้งใหญ่ ภาพของนิคมอุตสาหกรรม หรือภาคการผลิตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน จะต้องมีเทคโนโลยี ซึ่งมีการวางแผนว่านิคมฯ อมตะจะต้องเป็น Smart City เพื่อเพิ่มขีดจำกัดในการแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้

ภาพรวมของอมตะในปัจจุบัน ถ้านับเฉพาะในประเทศไทย มีลูกค้าโรงงานรวมกว่า 1,200 โรง มีประชากรอาศัยเกือบ 3 แสนคน แต่เดิมอมตะใช้โครงข่ายการสื่อสารแบบเดิมๆ เป็นสายทองแดง การร่วมมือกับ AIS จึงมีการวางระบบไฟเบอร์ออฟติก ทำให้การสื่อสารรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ คล่องตัวขึ้น โรงงานอินเตอร์ต่างๆ ที่เวลาไปลงทุนต้องใช้ความรวดเร็ว ทำให้เกิดความแตกต่างจากอดีต ทำให้โรงงานทำงานได้คล่องตัวขึ้น เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

อมตะเองมีนโยบายการทำ Smart City การใช้ 5G Infrastructure จะช่วยยกระดับได้ ซึ่งมีเมือง “โยโกฮาม่า” เป็นโมเดล

วิกรม กรมดิษฐ์ เล่าว่า “ตอนนี้อมตะเปลี่ยนตัวเองจากสายการผลิตไปสู่นวัตกรรมใหม่ ร่วมกับเมืองโยโกฮาม่าเริ่มมา 4 ปีแล้ว จะเห็นว่าเมืองโยโกฮาม่าเป็น Smart City ทั้งเมืองเลย  ร่วมกับรัฐบาลโยโกฮาม่า มาตั้งเป็นโยโกฮาม่า 2 เรากำลังก้าวเข้าสู่ Smart City ไม่ใช่เรื่องสายการผลิตอย่างเดิม การมี AIS มาช่วยทำให้ขยับตัวได้คล่อง”

ยกตัวอย่าง “ฮิตาชิ” มาสร้าง Lumada Center แห่งแรกของโลก เรียกว่าเป็นสมองของ IoT การทำงานต่อไปจะไม่ใช่แค่คนกับเครื่องจักร แต่ต่อไปจะเป็นเครื่องจักรจะคุยกับเครื่องจักรได้ โดยใช้ Smart City ในแบบโยโกฮาม่า แต่ใช้ระบบของฮิตาชิเข้ามาต่อยอด โรงงานรันด้วยตัวเองได้มากขึ้น เพราะบางช่วงถ้าต้องใช้คน บางครั้งจะมีเรื่องของเวลา

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงงาน ดูดนักลงทุนต่างชาติ

ความสำคัญของการร่วมมือกันครั้งนี้ นอกจากทางโรงงานจะได้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว การยกระดับสู่ Smart City ยังช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ใน EEC

วิกรมเสริมว่า พื้นที่ EEC ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการค้า – การลงทุนของภูมิภาคอาเซียนเข้ากับตลาดโลก อมตะจึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาอมตะซิตี้ ชลบุรี ไปสู่มาตรฐานสากล และก้าวสู่การเป็น Smart City อย่างสมบูรณ์แบบพร้อมทั้งเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้สนใจมาสร้างฐานการผลิตในพื้นที่ EEC

ความร่วมมือกับ AIS นำเทคโนโลยีอัจฉริยะ 5G และนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และความสามารถในการแข่งขันให้โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยก้าวทันประเทศชั้นนำอย่าง จีน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ที่ได้นำ 5G มาเพิ่มมูลค่าไปแล้ว

ถ้ารวมกิจการในประเทศเวียดนามจะมีโรงงานรวม 1,400 โรง คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท โดยโรงงานส่วนใหญ่ 85% เป็นโรงงานข้ามชาติ มีความต้องการประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่แล้ว

ปัจจุบันอมตะมีคนทำงานมาจาก 30 กว่าประเทศ รวม 3 แสนกว่าคน การทำ Smart City คิดค้น วิจัยสิ่งใหม่ๆ คู่กับสายการผลิตได้ วิกรมคาดว่าต่อไปจะขยายไปได้ถึง 3,000 กว่าโรง มีประชากรทำงานกว่าล้านคนได้ ซึ่งต่อไปจะไม่ใช่แค่เรื่องแรงงาน แต่เป็นทักษะใหม่ๆ

“อมตะจะไม่ใช่แค่ขายพื้นที่เปล่าๆ แต่ต้องเป็น Intelligence ต้องสร้างผลประโยชน์ระยะยาว ทำให้ไทยแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะไทยยังไม่มี Smart City ต้องสร้างเป็นสินค้าใหม่ ทำให้แข่งกับในภูมิภาคได้ ต้องเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ การบิรหารงานใหม่ๆ เข้ามาเติม”

เทคโนโลยีช่วยลับสกิล เสริมทักษะมนุษย์

เทคโนโลยีเข้ามา หลายคนกังวลเรื่องบทบาทการทำงานของมนุษย์ จะทำให้คนตกงานมากขึ้นหรือไม่?

วิกรมมองในประเด็นนี้ว่า ต่อให้มีเทคโนโลยีอย่างไร คนก็ยังสำคัญ แต่การจ้างการจะเปลี่ยนไป จะเป็นคนที่มีสกิลใหม่ๆ เป็นไฮเทคเทคโนโลยี นอกจากพัฒนาอุตสาหกรรม จะพัฒนาแรงงานคนด้วย จะช่วยปลดล็อกแก้ปัญหาแรงงานราคาถูกที่สู้กับต่างชาติไม่ได้ แก้เชิงพัฒนาคน แต่ทางรัฐบาลต้องช่วยพัฒนาทักษะให้มีฝีมือ คนที่มีทักษะจะอยู่ได้ในยุคดิจิทัล

ยกตัวอย่างตลาดไต้หวันน่าสนใจ มีโครงการซอฟต์แวร์พาร์ค ในพื้นที่ 120 ไร่ สร้างเป็นแท่งๆ มีแรงงาน 20,000-30,000 คน แรงงานปริญญาตรี-เอกทั้งนั้น การผลิตมีมูลค่า GDP ถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เราต้องมาทำเรื่องนวัตกรรมใหม่ ต้องเรียนรู้ว่าเอานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา การสื่อสารเร็วๆ ทำให้คนไทยมีความรู้ไปสู่สายตรงนั้น ต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์”

เท่ากับว่าการร่วมมือกันของ 2 ยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับภาพอุตสาหกรรมในประทเศไทยได้อย่างสิ้นเชิง รวมถึงจะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานต่อไปในอนาคตได้ด้วย เมื่อมีนวัตกรรมเข้ามา ช่วยส่งเสริมให้คนมีทักษะมากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดจำกัดในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างแน่นอน

“ประเทศไทยมีแค่งานสายการผลิต ถ้ามีการเพิ่มสายนวัตกรรม เป็นการเพิ่มโอกาสของคนในการทำงานในแง่ของเทคโนโลยีได้ เป็นการจ้างงานให้มีแรงงานสูงขึ้น”
]]>
1289668