ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 10 Jan 2022 04:33:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รู้จัก “Blue Finance” แหล่งเงินทุนเชื่อมโยงการอนุรักษ์มหาสมุทรจาก “ไทยยูเนี่ยน” บริษัทอาหารทะเลระดับโลก https://positioningmag.com/1369771 Mon, 10 Jan 2022 10:00:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369771

เครื่องมือทางการเงินแบบใหม่ที่ผูกโยงกับเป้าหมายด้านการอนุรักษ์ สะท้อนความตั้งใจในการทำงานด้านความยั่งยืน “ไทยยูเนี่ยน” เปิดช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance” ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการอนุรักษ์มหาสมุทรโดยเฉพาะ มีการออกหุ้นกู้ลักษณะ Step up / Step down อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นลงตามความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยไทยยูเนี่ยนวางเป้าจะเพิ่มแหล่งเงินทุน Blue Finance นี้ให้มีสัดส่วนถึง 75% ภายในปี 2568

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ถือเป็นบริษัทอาหารทะเลไทยที่ก้าวไปสู่ระดับโลก สร้างยอดขาย 44% จากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 29% จากยุโรป 10% จากประเทศไทย และ 17% จากกลุ่มประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา และอเมริกาใต้

ปี 2563 ที่ผ่านมาแม้จะเกิดวิกฤต COVID-19 แต่ไทยยูเนี่ยนยังสร้างยอดขายได้ถึง 132,400 ล้านบาท เติบโต 4.9% และมีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เติบโตถึง 63.7%

ขณะที่รอบ 9 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายยังทำได้ 102,547 ล้านบาท เติบโต 3.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิ 6,083 ล้านบาท เติบโต 27% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ไทยยูเนี่ยนมีธุรกิจหลัก 3 ส่วนคือ 1) ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ 2) ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น 3) ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า โดยเป็นเจ้าของแบรนด์ทั้งในระดับโลก เช่น Chicken of the Sea, John West, Petit Navire และแบรนด์ชื่อดังในไทย เช่น ซีเล็ค, QFresh และโมโนริ เป็นต้น


ไม่มีทะเล ไม่มีไทยยูเนี่ยน

เห็นได้ว่าธุรกิจของไทยยูเนี่ยนเชื่อมโยงกับ “มหาสมุทร” ตลอดทั้งห่วงโซ่ ทำให้ไทยยูเนี่ยนตระหนักถึงความสำคัญของการรับผิดชอบที่ต้องมีต่อมหาสมุทร เพราะเล็งเห็นว่า หากไม่มีทะเลแล้ว ก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจอาหารทะเลได้

นี่จึงเป็นต้นธารของแนวคิด Healthy Living, Healthy Oceans กล่าวคือ ไทยยูเนี่ยนจะดูแลความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงการดูแลทรัพยากรทางทะเลด้วย โดยยึดเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSDG

เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ชัดเจน ไทยยูเนี่ยนมีการวางกลยุทธ์ SeaChange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558 เน้นด้านการดูแลแรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและทำงานอย่างปลอดภัย เพื่อให้การจัดหาวัตถุดิบของบริษัทมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากกลยุทธ์นี้แล้ว เช่น บริษัทได้เข้าร่วมในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) รวมถึงเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน

จากแนวคิดของไทยยูเนี่ยนและการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ปี 2564 นี้บริษัทได้ยกระดับไปอีกขั้นโดยการนำเรื่องความยั่งยืนมาเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนของบริษัท เพื่อสะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงที่จะสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบ “Blue Finance”


Blue Finance คืออะไร?

โดยทั่วไปแล้วในวงการการเงินมีเครื่องมือทางการเงินประเภทที่เรียกว่า การเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน” (Sustainability Linked Financings) หมายถึงเครื่องมือทางการเงินชนิดใดก็ได้ที่ทางผู้ออกได้ตกลงในข้อกำหนดว่าจะต้องมีเป้าหมายด้านความยั่งยืน หรือ ESG ที่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืน และเป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่ต้องดำเนินให้สำเร็จตามเป้าในช่วงอายุของเครื่องมือทางการเงินนั้นๆ ซึ่งผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้กับนักลงทุน

สำหรับบริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งมีเป้าหมายหลักด้าน ความยั่งยืนในการอนุรักษ์มหาสมุทร รักษาทรัพยากรในทะเล และสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม การใช้เครื่องมือทางการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนตามเป้าหมายของบริษัทจึงเรียกว่า “Blue Finance”

การจัดหาแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance นั้นทำได้ผ่านหลายช่องทาง เช่น สินเชื่อธนาคาร การออกหุ้นกู้ โดยเฉพาะหุ้นกู้นั้นมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบ Step up / Step down อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นลงตามความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืน หากบริษัททำได้สำเร็จตามเป้าอัตราดอกเบี้ยจะลดลง ซึ่งไทยยูเนี่ยนระบุ ดัชนีชี้วัด 3 ด้าน ที่จะมาวัดผลว่าบริษัททำได้สำเร็จตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนหรือไม่ ดังนี้

  • การได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือ DJSI ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
  • การลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้า
  • บริษัทต้องซื้อปลาจากเรือที่มีเครื่องมือการตรวจสอบอิเล็คทรอนิคส์และ/หรือผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของซัพพลายเชนในจัดหาปลาทูน่าทั่วโลก

กลยุทธ์ดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนจัดหาแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance ไปเป็นจำนวนมาก ดังนี้

  • ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Loan) เป็นครั้งแรกทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย สินเชื่อที่ออกในประเทศไทยเป็นสกุลเงินไทยบาทและดอลล่าร์สหรัฐ และสินเชื่อนินจา/ซามูไรในประเทศญี่ปุ่นเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐและเยน โดยสินเชื่อทั้งสองจำนวนนี้รวมกันเป็นจำนวนเทียบเท่า 12,000 ล้านบาท ระยะเวลาในการกู้ยืม 5 ปี ซึ่งมีการกู้ยืมครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยการขอสินเชื่อในครั้งนี้ของไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับมากกว่าสินเชื่อที่ต้องการมากกว่า 2 เท่า
  • การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.47% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยมีจำนวนยอดจองซื้อมากกว่า 2 เท่า
  • การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ต่อเนื่องจากครั้งแรก มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้จำนวน 2 รุ่นเพื่อกระจายให้คลอบคลุมกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวได้ดียิ่งขั้น ประกอบด้วย รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.27% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.36% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 โดยมีจำนวนยอดจองซื้อมากกว่า 2 เท่าเช่นกัน
  • การออกสินเชื่อนินจาที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นครั้งที่สองที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยเป็นสินเชื่อสกุลเงินเยนทั้งหมดจำนวน 14,000 ล้านเยน ระยะเวลา 5 ปี และจากผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก JCR อยู่ที่ A- ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินมากกว่าสองเท่าตัวจากจำนวนสินเชื่อที่ต้องการ
  • สินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ท้องทะเล จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารชั้นนำในประเทศไทย เมื่อ 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้ง บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบางธนาคารในประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นและตราสารอนุพันธ์ให้เป็นวงเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนมากขึ้น

จากการดำเนินงานตลอดปี 2564 ไทยยูเนี่ยนคาดว่าสัดส่วนแหล่งเงินทุนแบบ Blue Finance จะขึ้นไปแตะ 50% ของสัดส่วนหนี้สินระยะยาวทั้งหมดของบริษัทได้ภายในเดือนมกราคม 2565

รวมถึงตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนของ Blue Finance ต่อหนี้สินระยะยาวทั้งหมดให้ไปแตะ 75% ภายในปี 2568 อีกด้วย

“Blue Finance สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถร่วมกับภาคการเงินในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยให้เราสามารถอนุรักษ์ท้องทะเลได้อย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการผลิตสินค้าอาหารที่ดีมีคุณค่าต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภคทั่วโลกไปพร้อมกัน” นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ด้านการบริหารการเงินและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว “เรามีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืนในตลาดทุนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนไทยยูเนี่ยนและพันธกิจในการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

 

 

]]>
1369771
“ไทยยูเนี่ยน” แตกไลน์สร้างโรงงาน “คอลลาเจน” จากทะเล ตามแนวทางมุ่งสินค้ากำไรสูง https://positioningmag.com/1306833 Thu, 19 Nov 2020 10:50:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306833
  • ไทยยูเนี่ยน (TU) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/63 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดในรอบหลายปี เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 49.7% YoY หลังตลาดอาหารแช่แข็งฟื้นตัว และผลจากการรีดไขมันองค์กรต่อเนื่อง 2 ปี
  • ปี 2564 เดินหน้าลงทุน 6,000 ล้านบาท โดยงบลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐในจำนวนนี้จะลงทุนโรงงานคอลลาเจนเปปไทด์และโปรตีนไฮโดรไลเซต ที่จังหวัดสมุทรสาคร
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่ม “อินกรีเดียนท์” เพื่อเป็นอาหารเสริมมีมูลค่าสูงและกำไรสูง เป็นทิศทางใหม่ของไทยยูเนี่ยน รวมถึงบริษัทมีการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีโอกาสโตได้แบบก้าวกระโดด
  • หนึ่งในบริษัทยักษ์ที่รอดพ้นช่วงสถานการณ์วิกฤตมาได้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/63 เป็นหนึ่งในไตรมาสที่ดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา วัดจากผลกำไรสุทธิ โดยไตรมาสล่าสุดนี้ TU มียอดขาย 3.48 หมื่นล้านบาท เติบโต 9.3% YoY และกำไรสุทธิ 2,056 ล้านบาท เติบโตถึง 49.7% YoY และนับเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของบริษัทที่มีกำไรสุทธิมากกว่า 2 พันล้านในไตรมาสเดียว

    เมื่อรวมผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรก TU มียอดขายสะสม 9.89 หมื่นล้านบาท เติบโต 5.9% YoY และกำไรสุทธิ 4,789 ล้านบาท เติบโต 74% YoY

    ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนมีธุรกิจหลักวัดตามรายได้มาจาก ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เช่น ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง แมคเคอเรลกระป๋อง สัดส่วน 45-50% ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง แช่เย็น เช่น กุ้ง แซลมอน ล็อบสเตอร์ สัดส่วน 35-40% และส่วนที่เหลือเป็น ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้ามูลค่าเพิ่มอื่นๆ อีกประมาณ 15%

    ช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้นในไตรมาส 2/63 ไทยยูเนี่ยนได้รับผลบวกในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปเติบโต 16.8% เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้กลุ่มอาหารกระป๋องเติบโต ขณะที่ยอดขายกลุ่มอาหารแช่แข็ง แช่เย็น กลับติดลบ 14% กลุ่มนี้ได้รับผลลบเพราะปกติเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งตามร้านอาหาร ภัตตาคาร ซึ่งต้องปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์

    เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3/63 ไทยยูเนี่ยนพบว่ายอดขายอาหารกระป๋องยังเติบโตสม่ำเสมอ ส่วนยอดขายกลุ่มอาหารแช่แข็งเปลี่ยนจากติดลบมาเป็นการเติบโต 4.7% เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่กลับมาให้บริการแล้ว ทำให้ยอดขายโดยรวมสูงขึ้น

    ตัวอย่างแบรนด์ปลากระป๋องในเครือไทยยูเนี่ยน

    “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาสนี้ว่า COVID-19 ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ส่งผลบวกต่อกำไรบริษัท แต่การที่บริษัทมีกำไร เกิดจากการลดต้นทุน-รีดไขมันองค์กรที่บริษัทได้ทำมาตลอด 2 ปีทำให้จากเดิมที่เคยมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) สูง 1.35-1.40 เท่า ขณะนี้ลดเหลือ 0.97 เท่า

    สิ่งที่บริษัทดำเนินการคือการเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร เช่น การปิดโรงงานแซลมอนที่สกอตแลนด์ตั้งแต่ปี 2561 มีการยุบรวมออฟฟิศหลายแห่งให้เล็กลง เช่น ปิดออฟฟิศในเมืองซานดิเอโก สหรัฐฯ และปรับมาใช้ระบบ Shared Office แทนสำหรับแผนกไอที การเงิน กฎหมาย เพื่อใช้พื้นที่เช่่าให้น้อยลง ลดการเดินทางของบุคลากร เน้นใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เป็นต้น

    ธีรพงศ์ประเมินว่าปี 2563 ยอดขายบริษัทน่าจะเติบโตราว 5% และเชื่อว่าปี 2564 น่าจะเติบโต 5% เช่นกัน เนื่องจากบริษัทตั้งสมมติฐานว่าตลอดปี 2564 ภาวะ COVID-19 น่าจะคงตัวเช่นนี้ตลอดทั้งปี

     

    ปี 2564 เดินหน้าลงทุน 6,000 ล้านบาท

    สำหรับการลงทุนปี 2563 ธีรพงศ์กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทลดงบการลงทุนลงจาก 4.9 พันล้านบาทเหลือ 3.7 พันล้านบาท แต่ในปี 2564 บริษัทจะกลับมาลงทุนอย่างเต็มที่ โดยตั้งงบลงทุนรวมกว่า 6 พันล้านบาท

    สัดส่วนหลักของการลงทุนราว 4.5 พันล้านบาทจะใช้สำหรับการซ่อมแซมบำรุงสายการผลิตที่มีการลงทุนอยู่ 13 ประเทศทั่วโลก ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนสายการผลิตใหม่ ดังนี้

    1) โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซตและคอลลาเจนเปปไทด์ จ.สมุทรสาคร มูลค่าลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
    2) โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป จ.สมุทรสาคร มูลค่าลงทุน 1,000 ล้านบาท
    3) ห้องเย็นในประเทศกานา มูลค่าลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ทั้งนี้ บริษัทยังไม่เปิดเผยกำลังการผลิตหรือข้อมูลเชิงลึกในการผลิต แต่โปรตีนไฮโดรไลเซตและคอลลาเจนเปปไทด์เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมที่มีราคาสูง และสามารถสกัดได้จากปลาทะเล สินค้าหลักของ TU

     

    มุ่งสู่กลุ่ม “อาหารฟังก์ชัน-อาหารอนาคต”

    “เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น ต่อไปสินค้าอาหารจะต้องเจาะเรื่องอาหารฟังก์ชัน เช่น Medical Food อาหารที่เหมาะกับช่วงวัยหรือผู้ป่วยโรคต่างๆ Beauty Food อาหารที่เน้นเพื่อความงาม” ธีรพงศ์กล่าว

    ด้วยมุมมองนี้ทำให้ TU เริ่มลงทุนหน่วยธุรกิจ ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อนำ by-products จากซัพพลายเชนการผลิตผลิตภัณฑ์เดิมมาสร้างให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง มีโรงงานและผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จพร้อมจำหน่ายแล้ว คือ น้ำมันปลาทูน่า และ แคลเซียมจากกระดูกปลาทูน่า ทั้งสองผลิตภัณฑ์เน้นหนักการขายแบบ B2B ให้กับผู้ผลิตนมและนมผงนำไปผสมกับอาหารสำหรับทารกและเด็ก เพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการ

    ผลิตภัณฑ์อินกรีเดียนท์ของไทยยูเนี่ยน : น้ำมันปลาทูน่า และ แคลเซียมจากกระดูกปลาทูน่า

    อย่างไรก็ตาม หน่วยธุรกิจนี้เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นแม้จะมีมูลค่าสูงแต่ยังมีสัดส่วนน้อยมากในยอดขายรวมของไทยยูเนี่ยน แต่ธีรพงศ์มองว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเป็นอนาคตให้กับบริษัท เพราะเป็นสินค้ากำไรสูง ต้องมีกำไรขั้นต้นอย่างน้อย 20% จึงจะลงทุนพัฒนา ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่บริษัทผลิตอยู่ขณะนี้จะมีกำไรขั้นต้น 16-17% เท่านั้น

    นอกจากการผลิตสินค้ามูลค่าสูงจาก by-products ของผลิตภัณฑ์เดิมคือสัตว์ทะเล ไทยยูเนี่ยนยังลงทุนในสตาร์ทอัพด้วย โดยจัดตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล มูลค่ารวม 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2562 กรอบการลงทุนระยะ 3-5 ปี ซึ่งธีรพงศ์บอกว่า ปัจจุบันเริ่มลงทุนไปไม่ถึง 10 ล้านเหรียญ เนื่องจากมีนโยบายกระจายความเสี่ยง จะลงทุนให้กับสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งๆ ไม่เกิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนจาก TU แล้วมี 4 บริษัท ได้แก่

    1) บริษัท อัลเคมีฟู้ดเทค บริษัทสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
    2) บริษัท มันนา ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทโปรตีนจากแมลงและอีคอมเมิร์ซ จากสหรัฐอเมริกา
    3) บริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและเยอรมัน
    4) บริษัท วิสไวร์ส นิวโปรตีน บริษัทเงินทุนสัญชาติสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจบริหารกองทุนที่มองหาโอกาสความร่วมมือและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอาหาร

    จะเห็นได้ว่าบริษัทไม่ได้ลงทุนสตาร์ทอัพเฉพาะที่เกี่ยวกับสินค้าเดิมของบริษัท แต่มีการลงทุนในบริษัทโปรตีนจากแมลงด้วย เพราะพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ดีมานด์อาหารอื่นของโลก ซึ่งอาจจะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้

    “เราต้องเปลี่ยน mindset ตามโลกให้ได้ เมื่อก่อนเราเคยมีมุมมองว่าเราต้องมี economy of scale ผลิตให้ได้ปริมาณมาก แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เรามองว่า Less is more ทำน้อยแต่ต้องได้กำไรเยอะ ไม่ต้องเน้นการเติบโตที่บรรทัดแรก แต่เน้นที่บรรทัดสุดท้าย ซึ่งเราเริ่มปรับมุมมองใหม่เหล่านี้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา” ธีรพงศ์กล่าว

    ]]>
    1306833
    ครั้งแรกของการผนึกพลังองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทย ในงาน “Thailand Sustainability Expo 2020” “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” https://positioningmag.com/1293789 Mon, 24 Aug 2020 04:00:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293789

    นับเป็นปรากฏการณ์ความร่วมมือครั้งสำคัญ และยิ่งใหญ่ขององค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทยที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX) ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) โดยการนำของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (มหาชน) (TU) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) รวมถึงเครือข่าย TSCN (Thailand Supply Chain Network) หรือ เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย และองค์กรอื่น ๆ โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาท สมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา และต่อยอด” มาเป็นแนวทางในการจัดงานตามศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาส และสร้างเครือข่ายสังคมของการมีส่วนร่วมสู่การนำไปปฏิบัติที่ใช้ได้ผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยมีกำหนดจัดงานนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 ตุลาคม 2563 นี้ ณ ห้างสรรพสินค้า สามย่านมิตรทาวน์ ชั้น G ชั้น 3 และ ชั้น 5

    เกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องนี้ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยเบฟ ไทยเบฟได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) มาเป็นหลักปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ จะเห็นได้ว่าไทยเบฟเป็นบริษัทแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืน DJSI ระดับโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI กลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 นอกจากนี้ในปี 2562 ไทยเบฟยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์โลก ให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ไทยเบฟจึงยึดมั่นและทุ่มเทเพื่อ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโตที่ยั่งยืน” ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ไทยเบฟมุ่งมั่นที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมเพราะเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมถือเป็นรากฐานของชุมชนและสังคมที่แข็งแกร่ง และส่งผลให้การวางรากฐานทางธุรกิจมั่นคงเช่นกัน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตทางธุรกิจของไทยเบฟที่เป็นไปตามเป้าหมายการ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

    คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนมาโดยตลอดและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบสากลแล้ว เรายังมุ่งมั่นในพันธกิจที่จะเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก โดยเรามีนโยบายความยั่งยืนตามกลยุทธ์ SeaChange® ที่เราดำเนินควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2561 และ 2562 ไทยยูเนี่ยนได้เป็นผู้นำอันดับ 1 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของโลกจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ไทยยูเนี่ยนยังมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในวันนี้ไทยยูเนี่ยนมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX) ในครั้งนี้” 

    ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า

    “GC ต้นแบบด้านความยั่งยืนของโลก ภายใต้แนวคิด Circular for Better Living ด้วย 3 นโยบายตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ Smart Operating คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและนำมาหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า Responsible Caring คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆ และ Loop Connecting คือ การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อธุรกิจแบบครบวงจร นอกจากนี้ GC ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อาทิ United Nations Global Compact หรือ UNGC ประเมินให้ GC เป็น GLOBAL COMPACT LEAD หนึ่งเดียวในประเทศไทย จาก 37 องค์กรทั่วโลก และ ในปี 2019 ดัชนีด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ DJSI ได้จัดอันดับให้ GC เป็นที่ 1 ของโลก และ อยู่ในระดับ Top 10 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ใน Chemical Sector”

    เรียกว่าเป็น Big Event แห่งปีที่เป็นการรวมตัวขององค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของประเทศไทยที่จะมาร่วมกันสร้าง “พลังร่วม” ในครั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนอย่างแท้จริง

    ]]>
    1293789