ไอที – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 28 Dec 2023 04:52:13 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุปวงการ ‘ไอที’ 2023 ปีแห่ง เอไอ, การควบรวม และปลดพนักงาน  https://positioningmag.com/1457349 Thu, 28 Dec 2023 01:43:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457349 สำหรับวงการไอทีในปีนี้คงต้องยกให้เป็นปีแห่งการ ควบรวม, เอไอ และการ ปลดพนักงาน อย่างแท้จริง เพราะทั้งไทยและต่างประเทศต่างก็มีดีลการควบรวมใหญ่ ๆ ที่สำเร็จเสร็จสิ้นในปีนี้ ขณะที่เอไอเองก็กลายเป็น Topic สำคัญที่ทุกคนพูดถึง แต่นอกจากเรื่องควบรวมกับเอไอ ยังมีเหตุการณ์อะไรน่าสนใจอีกบ้าง Positioning สรุปมาไว้แล้ว 

ควบรวม True-Dtac

หลังจากที่มีข่าวลือตั้งแต่ปี 2022 และแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากหลาย ๆ ที่ แต่ในที่สุดวันที่ 1 มีนาคม 2023 True และ Dtac บอร์ 2 และ 3 ของตลาดโทรคมนาคมไทย (ตามลำดับ) ก็ควบรวมกันสำเร็จ โดยมีมูลค่าดีลสูงถึง 1.38 แสนล้านบาท พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม แม้จะควบรวมกันสำเร็จแต่ทั้ง True และ Dtac ก็ยังคงทำตลาดภายใต้แบรนด์เดิมไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขของกสทช. และหลังจากที่ควบรวมกันได้ไม่ถึงปี หลายคนเริ่มบ่นว่าค่าบริการปรับแพงขึ้น แต่คุณภาพลดลง จนในที่สุด กสทช. ก็ออกมาลงดาบให้ต้องลดค่าบริการลง 12%

โดยหลังจากควบรวม ส่งผลให้ทรู คอร์ปอเรชั่นเป็น เบอร์ 1 ของตลาด มีลูกค้ารวม 51.7 ล้านเลขหมาย (True 32.6 + Dtac 19.1 ล้านเลขหมาย) แซงหน้า AIS ที่มี 42.8 ล้านเลขหมาย

ควบรวม AIS Fiber-3BB

ถ้า True ได้ Dtac ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตลาดโมบาย AIS เองก็ขอดึง 3BB เข้ามาเป็นครอบครัวเพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ตลาดเน็ตบ้าน โดยดีลนี้ AIS ได้ยื่นเรื่องถึงกสทช. เพื่อขออนุญาตซื้อหุ้น TTTBB หรือ 3BB ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งบอร์ดก็ได้พิจารณาการควบรวมไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา เรียกว่าใช้เวลาเกือบ 1 ปีพอดี กว่าดีลมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท จะเสร็จสิ้น

ที่ผ่านมา 3BB มีลูกค้าจำนวน 2.31 ล้านครัวเรือน ถือเป็นเบอร์ 3 ของตลาด ขณะที่ AIS เป็นเบอร์ 2 ของตลาดด้วยจำนวนลูกค้า 2.38 ล้านครัวเรือน ซึ่งการควบรวมนี้ทำให้เอไอเอสมีลูกค้ารวม 4.69 ล้านครัวเรือน ขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้า True ที่มีลูกค้า 3.79 ล้านครัวเรือน

ปีของเอไอ

หลังจากที่ ChatGPT เอไอสุดอัจฉริยะที่พัฒนาโดย OpenAI สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ทำให้ Microsoft ยอมที่จะควักเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงในทุนกับ OpenAI โดยได้ผลตอบแทนเป็นการใช้โมเดลของ OpenAI กับผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ อาทิ Microsoft Office ไม่ว่าจะเป็น Outlook, PowerPoint, Excel และ Word

หลังจากที่ Microsoft ได้ลงทุนใน OpenAI แล้ว บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่น ๆ ก็ไม่น้อยหน้า อย่าง Google ประกาศเปิดตัว Bard เอไอแชทบอทมาชนกับ ChatGPT จากนั้นก็เปิดตัว ตัวโมเดลเอไอของตัวเองในชื่อ Gemini ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ก็มี Adobe ที่เปิดตัว Firefly เครื่องมือช่วยสร้างภาพโดยเอไอ

ภาพจาก Shutterstock

Microsoft ปิดดีล Activision Blizzard

นอกจากนี้ Microsoft ยังปิดดีลค่ายเกม Activision Blizzard ในมูลค่าสูงถึง 68,700 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ประกาศว่าจะเข้าซื้อตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่ดีลก็ต้องสะดุดเนื่องจากถูกหน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรและยุโรประงับการเข้าซื้อ เพราะกังวลว่าอาจจะ ผูกขาดธุรกิจเกม โดยหลังจากที่ Microsoft ได้ Activision Blizzard ทำให้ Microsoft ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเกมอันดับ 3 ของโลก เป็นรองจาก Tencent และ Sony 

สำหรับ Activision Blizzard ถือเป็นค่ายเกมที่มีเกมดัง ๆ มากมาย อาทิ Call of Duty, Candy Cruch, Overwatch, Diablo และ Warcraft

ปีแห่งการลดคนของบริษัทไอที

เริ่มปลดพนักงานตั้งแต่ปี 2022 ลากยาวมาถึง 2023 ที่รวม ๆ แล้วแตะหลักแสนคนเลยทีเดียว สำหรับพนักงานบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกที่แทบจะนับนิ้วไม่ไหว โดยข้อมูลจาก Trueup แพลตฟอร์มติดตามการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกพบว่า ปีนี้มีบริษัทเทคโนโลยีถึง 1,992 ราย ที่ทำการปลดพนักงาน รวมแล้วเป็นจำนวนสูงถึง 428,335 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2023) ซึ่ง สูงกว่าปีก่อนถึง 50% โดยบริษัทใหญ่ ๆ ที่ลดคน ได้แก่

  • Amazon – 27,000 คน
  • Google – 12,000 คน
  • Microsoft – 10,000 คน
  • Meta – 10,000 คน
  • Nokia – 14,000 คน
  • Spotify – 1,500 คน
  • Dell – 6,650 คน
  • Accenture – 19,000 คน
  • Zoom – 1,300 คน

NFT ที่ล่มสลาย

NFT หรือ Non-fungible token กระแสรุ่งพุ่งแรงในปี 2021-2022 ที่ตลาดสามารถเติบโตได้ถีง 21,000% มีมูลค่าตลาดทะลุ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2023 ตลาด NFTs ไม่ต่างอะไรจากอากาศ เพราะ 95% ของงานศิลปะดิจิทัลในตลาดลดมูลค่าลงเหลือ 0 ETH ส่วนคอลเลกชันที่ยังมีการถือครองแลกเปลี่ยน 5% ที่เหลือนั้นส่วนใหญ่มีราคาเพียงชิ้นละ 5-100 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 180-3,600 บาท) กลายเป็นว่านักสะสม 23 ล้านคน คงเอามือมาก่ายหน้าผากไม่พอแล้ว

ยกตัวอย่าง Bored Ape Yacht Club หนึ่งในคอลเลกชัน NFT ชื่อดังที่เคยมีมูลค่าหลายล้าน กลับตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองปี โดยคอลเลกชัน NFTs Bored Ape Yacht Club ของคนดังอย่าง Justin Bieber ที่เคยซื้อมาในราคา 1.3 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันมูลค่าลดลงประมาณ 95% เหลือเพียงประมาณ 59,000 ดอลลาร์เท่านั้น

จาก Twitter สู่ X และ Threads คู่แข่งใหม่

นับตั้งแต่ที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นเจ้าของ Twitter แพลตฟอร์มก็อยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ มัสก์ยังเลือกที่จะ รีแบรนด์ใหม่ จาก Twitter เป็น X ชื่อฟังก์ชันอย่าง ทวีต และ รีทวีต ก็เปลี่ยนชื่อเป็น โพสต์ และ รีโพสต์ เหมือนแพลตฟอร์มปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่มัสก์เปลี่ยนจาก Twitter เป็น X ก็เพราะเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแพลตฟอร์มให้เป็นซูเปอร์แอปฯ

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะขาลงของ Twitter หรือเปล่า ที่ทำให้ Meta เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลฯ อย่าง Facebook และ Instagram ได้เปิดตัว Threads แพลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์คล้ายกับ Twitter โดยในช่วงที่เปิดตัวเพียงแค่ 7 ชั่วโมงที่เปิดให้โหลด Threads ก็มียอดผู้ใช้กว่า 10 ล้านราย แม้ว่าหลังจากนั้นการใช้งานจะลดลงฮวบฮาบก็ตาม

ปีแห่งการขึ้นราคาสตรีมมิ่ง

2 แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Netflix และ Disney+ ต่างจับมือกัน ขึ้นราคา โดยหลังจากที่ Netflix ประสบความสำเร็จในการป้องกันการแชร์รหัสผ่าน โดยใครที่มีปาร์ตี้นอกเหนือจากบ้านเดียวกันต้องจ่ายเพิ่มอีก 99 บาท แต่ดูเหมือนแค่นั้นยังไม่พอ เพราะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Netflix ได้ประกาศขึ้นราคาสำหรับบางแผนการใช้งานใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส แม้ไทยจะยังไม่ขึ้นราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าปีหน้าจะรอดไหม

ส่วน Disney+ Hotstar ในไทยขึ้นแน่นอน โดยตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายนเป็นต้นไป จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่จาก 799 บาทต่อปี จะใช้ได้สำหรับมือถือเท่านั้น ถ้าจะรับชมผ่านทีวีต้องสมัคร Disney+ Hotstar พรีเมียม ซึ่งมีค่าบริการรายเดือน 289 บาท และค่าบริการรายปี 2,290 บาท และในปีหน้าคาดว่าแพลตฟอร์มจะออกมาตรการป้องกันการแชร์รหัสผ่านเหมือนกับ Netflix ด้วย

สมาร์ทโฟนตัวแพงขายดี

อ้างอิงจากข้อมูลของ IDC พบว่า ตลาดสมาร์ทโฟนไทยช่วง Q3/2023 เติบโตขึ้น 1.6% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ถือเป็นการสิ้นสุดการหดตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาสติด และที่น่าสนใจคือ การเติบโตในกลุ่มพรีเมียม (ราคา 35,000 บาทขึ้นไป) เติบโตได้ถึง +25.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงหนุนจากการเปิดตัวรุ่นใหม่ เช่น iPhone 15 series ของ Apple และ Galaxy Z Flip5 และ Galaxy Z Fold5 ของ Samsung 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้เล่นหลายรายจะเน้นหนักไปที่สมาร์ทโฟนเรือธง รวมถึง สมาร์ทโฟนจอพับ เพื่อที่จะดึงดูดผู้บริโภคกระเป๋าหนักให้มาซื้อ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่กระทบคนมีเงิน ทำให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้สามารถ เปลี่ยนมือถือบ่อยกว่า และมีแนวโน้มจะ ซื้อในราคาที่สูงขึ้น ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้มีการ แข่งขันราคาน้อย กว่ากลุ่มล่าง ดังนั้น แบรนด์มือถือก็คิดแล้วว่าจะไปหั่นราคาแข่งกันในตลาดเริ่มต้นทำไม มาจับพรีเมียมดีกว่าเพราะผู้บริโภคยอมจ่าย

จะเห็นว่ากระเเสบางอย่างที่เคยมาแรงสุด ๆ ในปีที่ผ่านมา กลับกลายเป็นดาวดับในปีนี้ เช่น NFT ที่แทบจะกลายเป็นของไร้ค่าไปเลย ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าปีหน้าในวงการไอทีจะมีอะไรใหม่ ๆ ที่ขึ้นมาเป็นกระแสอีกบ้าง หรืออะไรที่ในปีนี้ที่จะกลายเป็นดาวดับในปีหน้า

]]>
1457349
เปิดแผน ‘หัวเว่ย’ ประเทศไทยใต้วิสัยทัศน์ ‘เดวิด หลี่’ ซีอีโอใหม่ที่ยังหวังดันไทย ‘ฮับดิจิทัลอาเซียน’ https://positioningmag.com/1418335 Wed, 08 Feb 2023 04:00:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1418335 นับตั้งแต่ที่โดนสหรัฐฯ แบนขึ้นบัญชีดำ ทำให้การดำเนินธุรกิจฝั่ง ‘สมาร์ทโฟน’ ของ หัวเว่ย ต้องชะงักไปหลายปีแล้ว ทำให้หัวเว่ยต้องเน้นไปที่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเรื่อง 5G และสำหรับประเทศไทยหัวเว่ยเพิ่งแต่งตั้งซีอีโอใหม่ เดวิด หลี่ ซึ่งจะมาเล่าถึงทิศทางของหัวเว่ยประเทศไทยในปีนี้จะเป็นอย่างไร

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า วิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี 2566 จะเน้นที่ 6 ด้านหลัก

1.ยกระดับการเชื่อมต่อ 5G โดยหัวเว่ยจะใช้เครือข่ายไฟเบอร์เพื่อเชื่อมต่อทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และจะขยายความครอบคลุมของโครงข่ายเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในปีนี้จะมุ่งขยายความครอบคลุมของโครงข่ายแบบไฟเบอร์ในชนบทของประเทศไทยและทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อให้สามารถส่งมอบบริการ 5G ที่มีคุณภาพและมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้

ปัจจุบัน การใช้งาน 5G ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนนั้นค่อนข้างที่จะครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว อีกทั้งยังมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย กระจายไปในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับประเทศอย่างเกาหลีใต้ ที่มีการใช้ 5G ในสื่อความบันเทิง เช่น เทคโนโลยี AR, VR ถือเป็นส่วนที่ไทยยังสามารถนำไปปรับใช้ได้อีก

2.ธุรกิจคลาวด์ ที่ผ่านมา ในส่วนของธุรกิจคลาวด์หัวเว่ยได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้ทำการติดตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์ในประเทศไทยแล้ว 3 แห่ง และการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์กว่า 300 ราย การนำโซลูชันเข้าประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทยกว่า 10 ประเภท โดยปีนี้ หัวเว่ยวางเป้าหมายให้บริการโซลูชันไอซีทีบนคลาวด์อย่างต่อเนื่อง

3.การต่อยอดธุรกิจ Enterprise Business Group (EBG) ที่ผ่านมาหัวเว่ยให้ความร่วมมือในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร โรงพยาบาล เพื่อร่วมสร้าง ICT โซลูชัน ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมจะมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น ดังนั้น เราจะยังสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างความเติบโตในอนาคต

4.ด้านความยั่งยืน เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในส่วนนี้จะเป็นอีกส่วนที่หัวเว่ยจะเน้นเพื่อช่วยให้ไทยเป็น EV HUB ในอนาคต โดยหัวเว่ยจะเข้าไปช่วยในการทำโซลาร์ฟาร์มเมอร์เพื่อลดการใช้พลังงาน

5.ความปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากที่ไทยจะมีกฎหมาย PDPA ที่ทำให้ทั้งภาคประชาชนและองค์กรตื่นตัวแล้ว เป้าหมายของหัวเว่ยคือต้องยกระดับซีเคียวริตี้ให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก โดยวางเป้าหมายทำให้ไทยมีดัชนีความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับโลก (GCI) ที่น่าเชื่อถือติดอันดับต้นของโลก

6.การบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลไทย ที่ผ่านมา หัวเว่ยสามารถสร้างงานให้คนไทยกว่า 8,500 ตำแหน่ง และอบรมไปแล้วกว่า 65,000 คน โดยภายใน 3 ปีนี้จากนี้ หัวเว่ยวางแผนที่วางไว้คือการฝึกอบรมนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้ได้ถึง 20,000 คน เช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจเอสเอ็มอี Spark Ignite โครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคมซึ่งจะต่อยอดให้ครอบคลุมในพื้นที่ 10 จังหวัด ฝึกอบรมนักเรียนให้ถึง 2,000 คน

“เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถช่วยสนับสนุนประเทศไทยได้ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำ โซลูชัน และหลักปฏิบัติด้านพลังงานดิจิทัลของเรา ด้วยทีมบุคลากรและพาร์ตเนอร์ในประเทศระดับคุณภาพของเรา เราหวังว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีและหลักปฏิบัติในระดับโลกมาช่วยผลักดันให้ประเทศไทยในการมุ่งสู่ผู้นำในอาเซียนในด้านดิจิทัล

]]>
1418335
คาดเม็ดเงินลงทุน ‘ไอที’ ไทยยังเติบโต 4.2% ‘ซอฟต์แวร์-ไอทีเซอร์วิส’ ขึ้นแท่น 2 กลุ่มเติบโตสูงสุด https://positioningmag.com/1416182 Sun, 22 Jan 2023 01:39:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416182 การ์ทเนอร์ อิงค์ เผยคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปี 2566 จะเติบโตเพิ่ม 2.4% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่ารวม 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 5.1% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของไตรมาสที่แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อยังตัดกำลังซื้อของผู้บริโภคและส่งผลให้การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอทีเติบโตลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายไอทีขององค์กรในภาพรวมจะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลร้ายแรงต่อตลาดผู้บริโภค และมีส่วนทำให้ธุรกิจแบบ B2C จำนวนมากเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ภาคองค์กรจะมียอดการใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มขึ้นกับโครงการดิจิทัลต่าง ๆ แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงชะลอตัวก็ตาม

“เศรษฐกิจที่ผันผวนได้เปลี่ยนบริบทการตัดสินใจของธุรกิจและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารไอทีเกิดความลังเลมากขึ้นและตัดสินใจล่าช้า หรือต้องจัดลำดับความสำคัญของงานกันใหม่ ซึ่งเราได้เห็นธุรกิจแบบ B2B ได้ดำเนินการทำนองนี้ไปแล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นลงทุนเกินตัวไปกับการสร้างการเติบโต อย่างไรก็ตามงบประมาณด้านไอทีไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และการใช้จ่ายด้านไอทียังไม่ได้อยู่ในช่วงภาวะถดถอย”

การ์ทเนอร์คาดว่าในปีนี้ (2566) กลุ่มซอฟต์แวร์ (Software) และ บริการไอที (IT Services) จะเติบโตสูงสุดที่ 9.3% และ 5.5% ตามลำดับ โดย กลุ่มอุปกรณ์ไอที (Devices) คาดว่าจะ เติบโตลดลงถึง 5.1% เนื่องจากทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจขยายรอบอายุการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ออกไป

“ช่วงการระบาดใหญ่ พนักงานและผู้บริโภคต่างเปลี่ยนอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานและการศึกษาแบบรีโมทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแท็บเล็ต แล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากไม่มีเหตุผลอันจำเป็นในการอัปเกรด ผู้บริโภคจะยังใช้อุปกรณ์เดิมต่อไปเป็นระยะเวลานานขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าและอุปกรณ์ไอที”

สำหรับยอดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยในปี 2566 คาดว่าจะสูงแตะ 9.3 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 4.2% จากปี 2565 โดยใน กลุ่มซอฟต์แวร์และกลุ่มบริการด้านไอทีจะเติบโตระดับเลขสองหลัก เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ เพิ่มการใช้จ่ายกับโครงการดิจิทัล

“ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนทักษะ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ทำให้ผู้บริหารด้านไอทีเกิดการลังเล ชะลอการตัดสินใจ และต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เรายังเห็นองค์กรท้องถิ่นมียอดการใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น”

ตลาดแรงงานส่งผลต่อการลงทุนไอที

ตำแหน่งงานว่างมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส และในหลายประเทศมีอัตราตำแหน่งงานที่เปิดรับต่ออัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยภาวะการแข่งขันแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถจะเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของผู้บริหารไอที สำหรับการว่าจ้างพนักงานไอทีที่มีทักษะ และยังจำกัดการเติบโตของบริษัทที่พยายามขยายขนาดโดยปราศจากทีมงานที่มีทักษะที่จำเป็น

การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ยังเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดบริการด้านไอที เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ต้องการดึงพนักงานที่มีทักษะด้านไอทีจากภายนอกเพื่องานวางระบบและสนับสนุนการทำงานในองค์กร ตัวอย่างเช่น มูลค่าใช้จ่ายด้านบริการให้คำปรึกษาคาดว่าจะสูงแตะระดับ 264.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 2565

“ผู้บริหารไอทีกำลังประสบความล้มเหลวในด้านการแข่งขันชิงตัวพนักงานที่มีทักษะ โดยยอดการใช้จ่ายบริการทางด้านไอทีนั้นกำลังเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าบริการภายในอื่น ๆ ขององค์กรในทุกอุตสาหกรรม พนักงานไอทีระดับหัวกะทิกำลังโยกย้ายจากการเป็นผู้บริหารไอทีขององค์กรไปสู่การเป็นผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยี (Technology and Service Providers หรือ TSPs) พร้อมมีความต้องการค่าจ้างเพิ่มขึ้น ขณะที่ก็มองหาโอกาสในการทำงานและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ”

]]>
1416182
เงินเฟ้อทำตลาด ‘ไอที’ ทั่วโลกดิ่งหนัก เหตุผู้บริโภครัดเข็มขัดเบรกซื้อ ‘คอม-มือถือ’ ใหม่ https://positioningmag.com/1391660 Thu, 07 Jul 2022 05:42:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1391660 ช่วงเวลาขาขึ้นผ่านไปไวกว่าที่คิดสำหรับตลาดสินค้า ‘ไอที’ หลังจากที่ 2 ปีก่อนสามารถเติบโตได้เนื่องจากผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น จึงมีความต้องการอุปกรณ์ไอทีสำหรับใช้เรียน ทำงาน รวมถึงกิจกรรมคลายเครียดแก้เบื่ออย่างการเล่นเกม บริษัทวิจัยหลายสำนักคาดว่าขาลงของตลาดจะเริ่มเห็นชัดในปีหน้า แต่จากภาวะเศรษฐกิจก็ย่นเวลาให้ตลาดดิ่งหนักในปีนี้

ตัวเลขจาก Gartner ได้ชี้ให้เห็นว่า ตลาดไอที กำลังจะตกต่ำอย่างมากในปีนี้ โดยคาดว่าตัวเลขยอดจัดส่ง พีซี จะลดลง -9.5% แบ่งเป็น ตลาดคอนซูมเมอร์ -13.5% ส่วน ตลาดองค์กรลดลง 7.2% โดยเฉพาะในทวีปยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริกาในภูมิภาค จะแย่ที่สุดโดยลดลงถึง -14%

ไม่ใช่แค่ตลาดพีซี แต่ ตลาดแท็บเล็ต คาดว่าจะลดลง -9% และ สมาร์ทโฟน -7.1% จากที่ปี 2021 สามารถเติบโต 5% โดยรวมแล้ว ภาพรวมตลาดไอทีลดลง -7.6% จากที่ปี 2021 แต่ที่หนักสุดก็คือ ตลาดพีซี

ของแพงและเงินเฟ้อทำรัดเข็มขัด

Ranjit Atwal นักวิเคราะห์อาวุโสของ Gartner กล่าวว่า สำหรับตลาดพีซี กลุ่ม Chromebook เป็นหมวดหมู่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากในอเมริกาไม่มีความต้องการซื้อ เพื่อการศึกษา เนื่องจากเด็ก ๆ กลับไปเรียนได้ตามปกติ ส่วนในยุโรปยังพอมีความต้องการระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน การปรับขึ้นราคาสินค้าเนื่องจากซัพพลายเชน และปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการเปลี่ยนไปใช้ของใหม่ รวมไปถึงการล็อกดาวน์ในจีนยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก

“ตอนแรกเราคาดว่าตลาดจะเริ่มลดลงในปี 2023 แต่มันกลับเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด เนื่องจากการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลงอย่างรวดเร็ว”

5G ไม่ช่วยอย่างที่คิด

หลังจากตลาดเริ่มอิ่มตัว 5G ที่ถือเป็นอีกความหวังใหม่ของตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก ก็ไม่ได้ช่วยอย่างที่คิด อย่างในจีนช่วงปี 2021 ยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟน 5G จะเติบโตขึ้น 65% แต่ในปี 2022 นี้คาดว่าจะเติบโตเพียง 2% เท่านั้น

“ในช่วงต้นปี ตลาดโทรศัพท์ 5G ของจีนในแผ่นดินใหญ่ คาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก แต่ผลกระทบของนโยบาย Zero COVID-19 ของจีน และผลจากการล็อกดาวน์ได้พลิกกลับแนวโน้มนี้อย่างมาก เพราะผู้บริโภคหยุดซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงสมาร์ทโฟน 5G”

ส่วนภาพรวมทั่วโลก อยากจัดส่งสมาร์ทโฟน 5G จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ Gartner ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตจาก 47% ในปี 2021 เหลือเพียง 29% เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของ IDC ที่คาดการณ์ว่าจะมีการชะลอตัวในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม Gartner คาดว่าความต้องการเปลี่ยนไปใช้สมาร์ทโฟน 5G จะเริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2023 หลังจากที่สมาร์ทโฟน 4G เริ่มตกรุ่น

]]>
1391660
ยุคแย่งทาเลนต์! เพดานเงินเดือนสาย “ไอที-ดิจิทัล” ขยับเพิ่มเกือบเท่าตัว https://positioningmag.com/1371292 Mon, 24 Jan 2022 07:37:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371292 Adecco เปิดเผยข้อมูลฐานเงินเดือนปี 64 โดยเฉลี่ยปรับลดลง ตำแหน่งรับเด็กจบใหม่ลดลง แต่เพดานเงินเดือนขยับขึ้นในสายไอที-ดิจิทัล และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เป็นยุคภาวะขาดแคลนทาเลนต์เฉพาะทาง

บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เปิดตัว Salary Guide 2022 เผยข้อมูลอัตราเงินเดือนประจำปีที่ผ่านมาในสายอาชีพต่างๆ จากบริษัทชั้นนำที่เป็นลูกค้าของ Adecco กว่า 3,000 บริษัท

จากฐานข้อมูลเงินเดือนปี 2564 พบว่าภาพรวมอัตราเงินเดือนเริ่มต้นมีการขยับลดลงจากปีก่อน แต่ในหลายตำแหน่งงานกลับมีเพดานเงินเดือนที่สูงขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะตลาดแรงงานยังขาดแคลนคนเก่งในด้านนี้สืบเนื่องจากผลกระทบ COVID-19 ที่ทุกองค์กรต่างต้องเร่งขยับขยาย และปรับธุรกิจให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นรวมถึงเรื่องการเงินที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนให้คุ้มค่า และแสวงหาโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง

พนักงานระดับต้นการแข่งขันสูง อัตราการจ้างเด็กจบใหม่ลดลง 24%

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงภาพรวมการจ้างงานและอัตราเงินเดือนในปีที่ผ่านมาว่า

“ผลกระทบจาก COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้ตลาดแรงงานมีผู้ว่างงานจำนวนมากจากการเลิกจ้าง หลายองค์กรต้องรัดเข็มขัดชะลอการรับพนักงานใหม่ และปรับโครงสร้างเงินเดือน ปัจจัยนี้ส่งผลให้เด็กจบใหม่หางานยากขึ้นเนื่องจากในอัตราเงินเดือนเดียวกันองค์กรยังสามารถจ้างผู้ที่มีประสบการณ์ได้ ซึ่งในปีนี้จากข้อมูลพบว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับเด็กจบใหม่ในปีที่ผ่านมาลดลงจากปี 2563 ราว 24%

ขณะที่พนักงานระดับต้นต้องเจอกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และฐานเงินเดือนเริ่มต้นที่ปรับลดลงในบางตำแหน่งจากภาวะแรงงานล้นตลาดที่ทำให้องค์กรมีผู้สมัครจำนวนมากที่มีทักษะพื้นฐานใกล้เคียงกันเป็นตัวเลือกจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สมัครต้องพัฒนาทักษะอยู่เสมอแม้จะอยู่ในช่วงว่างงาน”

ภาวะขาดแคลนทาเลนต์ดันเพดานเงินเดือนขยับขึ้น

ในทางกลับกันแรงงานที่มีทักษะที่ตลาดต้องการและประสบการณ์สูง เช่น ทักษะดิจิทัล และประสบการณ์ตรงในธุรกิจอุตสากรรมเดียวกันกลับหาได้ยากขึ้นส่งผลให้องค์กรต้องเพิ่มอัตรา เงินเดือนเพื่อจูงใจผู้สมัครทำให้ค่าสูงสุดของอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เช่น

  • ตำแหน่ง E-Commerce Manager จากเดิมที่สูงสุด 120,000 ขยับเพดานเป็น 300,000
  • ตำแหน่ง Finance Controller ขยับเพดานจาก 250,000 เป็น 350,000
  • ตำแหน่ง Senior Solution Architect ขยับเพดานจาก 160,000 เป็น 250,000
  • ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงก็ขยับเพดานเงินเดือนจาก 500,000 บาท เป็น 700,000 บาท

6 สายงานมาแรงปี 2565 – IT & Digital บูมที่สุด

สายงาน IT & Digital เป็นสายงานที่มาแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยข้อมูลพบว่าในปีที่ผ่านมามีจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับในสายงานนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 38% และเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2562 โดยอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูง ได้แก่

Programmer, Data Analyst, Project Manager, งานด้าน E-Commerce, Digital Marketing และ CRM/Customer Insight 


ส่วนสายงานอื่นที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ สายการเงิน และบัญชี ที่กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการเติบโตของธุรกิจ Fintech สินทรัพย์ ดิจิทัล และการควบรวมกิจการต่างๆ ที่ทำให้มีความต้องการจ้างงานในสายนี้มากขึ้นกว่าปี 2563

สายงานขาย แม้มีการเติบโตจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย แต่ในภาพรวมจำนวนการจ้างงานยังสูงติดลำดับต้นๆ และเติบโตได้ดีในหมวด B2B เนื่องจากองค์กรต้องการขยายช่องทางการขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ ด้าน สายงานโลจิสติกส์ ก็เติบโตขึ้นเช่นกันจากอานิสงส์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ สายงานวิศวกรรม มีความต้องการแรงงานสูงในสายงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติและการพัฒนาขั้นตอนในสายการผลิต

ทักษะดิจิทัล-ดาต้าหนุนเงินเดือนสูง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงานในปีที่ผ่านมาของ Adecco พบว่าผู้สมัครที่ได้รับเงินเดือนสูงในแต่ละสายงานมักมีทักษะแบบ T-shape คือ รู้ลึกในสาขาเฉพาะทาง และรู้รอบในส่วนงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งมี soft skill ที่จะสามารถทำงานแบบ cross functional ร่วมกับทีมอื่นๆ

โดยทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องมีเพิ่มเติมคือ ทักษะดิจิทัล เนื่องจากองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่ได้ปรับตัวเข้าสู่การทำงานในระบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว รวมถึง ทักษะการใช้และวิเคราะห์ฐานข้อมูล (data analytics) ที่สามารถช่วยต่อยอดและยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในแทบทุกสายงาน นอกจากนี้ ประสบการณ์ตรงในธุรกิจอุตสากรรมเดียวกัน

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตไม่ว่าจะเป็น Fintech, E-commerce, Logistic, Technology, Medical & Wellness, EV Technology, OTT หรือ แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ ก็จะช่วยเพิ่มแต้มต่อในการสมัครงานให้กับผู้สมัครมากขึ้น ในฝั่งของผู้บริหารและผู้บริหารระดับสูงหากเคยมีประสบการณ์ในการทำ digital transformation การสร้างธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะเป็นที่น่าสนใจสำหรับหลายองค์กรในปัจจุบันที่ต้องการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี และแสวงหาโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัล

]]>
1371292
‘หัวเว่ย’ เปิด ‘ธุรกิจพลังงาน’ ครั้งแรกในไทย ย้ำ ลงทุนต่อเนื่องหวังดันไทยเป็น ‘ดิจิทัลฮับอาเซียน’ https://positioningmag.com/1346418 Thu, 12 Aug 2021 08:24:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346418 แม้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ‘หัวเว่ย’ (Huawei) จะสะดุดในกลุ่มของสมาร์ทดีไวซ์ โดยเฉพาะการผลิต ‘สมาร์ทโฟน’ ที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากโดนสหรัฐฯ แบน แต่บริษัทเองยังคงมีธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทั้ง เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที และบริการคลาวด์ ซึ่งบริการทั้ง 3 ส่วนในไทยนี้ หัวเว่ยก็ยืนยันว่าจะยังลงทุนต่อเนื่อง โดยย้ำว่าไทยยังคงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของบริษัท

ย้ำชัด ลงทุนในไทย ต่อเนื่อง

อาเบล เติ้ง ซีอีโอหัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า หัวเว่ยประเทศไทยมีแผนที่จะลงทุนใน 4 ด้าน ได้แก่ 5G, Data Center & Cloud, mPower (ธุรกิจพลังงานดิจิทัล) และ การพัฒนาทักษะดิจิทัล

โดยหัวเว่ยได้ลงทุนจำนวน 475 ล้านบาท ในโครงการ 5G EIC และเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการทำ 5G City ในอนาคต นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อจัดงานประชุมสุดยอด 5G Summit ในไทยในปีนี้

“จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าคนใช้ 5G ในไทยมีกว่า 2 ล้านคน และใน eec มีแผนว่าจะเปลี่ยนโรงงานกว่า 5 หมื่นแห่งใช้ 5G รวมถึงการปรับใช้ 5G ในชุมชน ซึ่งเราคาดว่าจำนวนการใช้ 5G ในไทยจะเพิ่มเป็น 16% ในไม่ช้าซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบมากขึ้น”

ส่วนด้าน Data Center & Cloud ที่ให้บริการมาแล้ว 2 ปี ปัจจุบันรั้งอันดับ 3 ในไทย ซึ่งในกลุ่มธุรกิจนี้ หัวเว่ยได้เตรียมลงทุนอีก 700 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่ 3 โดยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างงานในไทยกว่า 200 ตำแหน่ง ด้วยความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในไทยกว่า 200 ราย

อาเบล เติ้ง ซีอีโอหัวเว่ย ประเทศไทย

ธุรกิจพลังงานดิจิทัล ครั้งแรกในไทย

ส่วน ธุรกิจพลังงานดิจิทัล ถือเป็นครั้งแรกที่ลงทุนในไทย โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางดิจิทัลและเป็นผู้นำด้านคาร์บอนที่เป็นกลางในอาเซียน นอกจากนี้ ยังจะช่วยเพิ่มงานในไทยกว่า 1 พันตำแหน่ง โดยในส่วนของธุรกิจพลังงานดิจิทัลจะประกอบด้วย Prefabricated Modular Data Center, Smart PV และ Site Power Facility

ปัจจุบัน ตลาดประเทศไทยมีลูกค้าระดับองค์กรธุรกิจมากกว่า 1,000 ราย และองค์กรธุรกิจ 35 แห่งจาก 50 แห่ง มีหัวเว่ยเป็นพาร์ตเนอร์ ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี หัวเว่ยตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากธุรกิจพลังงานดิจิทัลเป็น 2 เท่าเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์ทั่วโลก

เพิ่มแรงงานดิจิทัล 1 แสนคนใน 5 ปี

ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุนกว่า 180 ล้านบาท ทำโครงการ Huawei ASEAN Academy เพื่อพัฒนาคนดิจิทัลซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัล โดยหัวเว่ยมีเป้าหมายพัฒนาคนดิจิทัลให้ได้ 1 แสนคนใน 5 ปี

“การรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดทำให้ทุกประเทศหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น หัวเว่ยพบว่าประเทศที่มีความพร้อมทางด้านไอทีมากกว่าประเทศอื่นจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยไทยถือเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ และเป็นประเทศผู้นำการลงทุน 5G เราจึงหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในอนาคตอันใกล้”

]]>
1346418
ภาพรวมมูลค่าการใช้จ่ายด้านบริการไอทีทั่วโลกและไทยช่วง COVID-19 https://positioningmag.com/1296812 Mon, 14 Sep 2020 08:48:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1296812 1296812 Work from Home ไม่ช่วย ลงทุนไอที -4.7% องค์กรเบรกซื้อ ‘อุปกรณ์’ และ ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ https://positioningmag.com/1296360 Thu, 10 Sep 2020 12:32:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1296360 หลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 ไปทั่วโลกนั้น หลายองค์กรในช่วงแรกก็ได้เริ่มเพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์ โดยให้พนักงานทำงานผ่านระบบทางไกล รวมถึงการศึกษาช่องทางดิจิทัลใหม่ ๆ และการกู้คืนความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่เกิดความไม่มั่นใจ แต่ถึงกระนั้น ‘การ์ทเนอร์’ (Gartner) ได้ระบุว่าเม็ดเงินลงทุนในไอทีทั่วโลกจะลดลง -4.7%

เจฟฟ์ เคซี่ย์ นักวิเคราะห์อาวุโสของการ์ทเนอร์ ระบุว่า หลังการเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 5% ในปี 2562 แต่ผลจาก COVID-19 ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านบริการไอทีลดลง ไม่ว่าจะเป็น ขนาด เงื่อนไข และประเภทของดีลในสัญญาทางการค้าล้วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ ๆ ถูกตัดทอนหรือยกเลิกไป โดยคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงราว -4.7% หรือคิดเป็นมูลค่า 514,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอที อาทิ ในหมวดพีซีและอุปกรณ์เคลื่อนที่จะเห็นการเติบโตลดลงมากที่สุด -12.1% ตามมาด้วยในหมวดของระบบดาต้าเซ็นเตอร์

COVID-19 ไม่เพียงเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีในแวดวงธนาคารและหลักทรัพย์นั้นเกิดความผันผวน แต่ยังเป็นตัวกำหนดวิธีการทำธุรกรรมของลูกค้าต่อสถาบันการเงินให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย บริษัทเหล่านี้ยังต้องเดินหน้าให้บริการและตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำและการสนับสนุนน้อยลงจากภาครัฐ”

การ์ทเนอร์คาดการณ์การใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการทางเทคโนโลยี รวมไปถึงระบบไอทีสำหรับการดำเนินงานภายในองค์กรของธุรกิจธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ของโลกนั้นจะกลับมาพลิกฟื้นในช่วงปี 2564 ด้วยอัตราการเติบโตที่ 6.6% ทั่วโลก และสำหรับประเทศไทยคาดว่าปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนราว 48,900 ล้านบาท โดยลดลงจากปีที่แล้ว -1.7% และคาดว่าในปี 2564 จะกลับมาเติบโต 6.6% เช่นกัน

“ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ที่ดีขึ้น ตอนนี้ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ต่างกำลังเร่งผลักดันและริเริ่มการใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น แชทบอทสื่อสารกับลูกค้า กระบวนการอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ (RPA) และโซลูชันการสร้างบัญชีแบบ end-to-end นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การออกแบบโครงสร้างองค์กรและขั้นตอนการทำงาน รวมถึงการหันมาจัดลำดับความสำคัญของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ทันสมัยในปีหน้า” นายเคซี่ย์ กล่าวเพิ่มเติม

การ์ทเนอร์เชื่อว่าความสามารถของการสร้างมูลค่าให้กับบริการและที่มาของรายได้แหล่งใหม่ ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อสร้างความสำเร็จระยะยาวตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ COVID-19 ชี้ให้ธนาคารมองเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มบทบาทของการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลและขยายบริการให้ครอบคลุม จากผลสำรวจ 2020 Gartner CIO Survey ระบุว่าปัจจุบันธนาคารมีรายได้ที่มาจากบริการดิจิทัลเพียง 27% เท่านั้น

]]>
1296360
ยังขาดแคลนหนัก! Huawei ICT Academy ตั้งเป้าฝึกทักษะคนไอทีไทยเพิ่มเป็น 1,200 คน https://positioningmag.com/1291064 Tue, 04 Aug 2020 11:38:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291064 โครงการ Huawei ICT Academy เริ่มขึ้นในไทยเมื่อปี 2561 ปัจจุบันมีผู้ผ่านหลักสูตรและได้ใบรับรองไปแล้ว 350 คน และตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 1,200 คนภายในสิ้นปีนี้ จุดประสงค์เพื่อแก้โจทย์บุคลากรด้านไอซีทียังขาดแคลนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

ไมเคิล แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล และที่ปรึกษาผู้บริหาร Huawei Asia Pacific เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการ Huawei ICT Academy และการให้ ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของ Huawei ซึ่งทั่วโลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ส่วนในไทยเริ่มปี 2561

ปัจจุบันทั่วโลกมีเยาวชนและคนทำงานที่ได้รับใบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพ Huawei ไปแล้วกว่า 260,000 คน โดยบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเป็น 700,000 คนภายในปี 2566 ส่วนในประเทศไทยนั้น มีผู้ได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพแล้ว 350 คน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,200 คนภายในสิ้นปีนี้

โครงการ Huawei ICT Academy นั้นเป็นโครงการฝึกทักษะให้คนที่สนใจและต้องการทำงานด้านไอซีที แยกหลักสูตรออกเป็น 22 สาขา ครอบคลุมทั้งด้าน โครงสร้างพื้นฐานไอซีที เช่น 5G, WLAN, SDN และด้าน แพลตฟอร์ม-บริการ เช่น บิ๊กดาต้า, AI, IoT ผู้ผ่านการอบรมสามารถไปสอบรับใบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของ Huawei ได้ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ Associate, Professional และระดับ Expert

หลักสูตรและระดับขั้นของประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพ Huawei

การเข้าร่วมอบรมจะมีทั้งคอร์สอบรมในรั้วมหาวิทยาลัยให้กับกลุ่มนักศึกษา โดยทาง Huawei เข้าไปอบรมอาจารย์ให้เป็นผู้อบรมนักศึกษาต่ออีกทอดหนึ่ง ส่วนคนทำงานหรือผู้ที่สนใจสามารถเรียนกับศูนย์เทรนนิ่งของ Huawei หรือเรียนออนไลน์ในระบบ Learn On ได้ฟรี เมื่อเรียนจบหลักสูตรออนไลน์สามารถรับวอชเชอร์เพื่อไว้ใช้สอบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพได้

โดยไมเคิลมองว่า กลุ่มที่ Huawei โฟกัสเป็นพิเศษคือกลุ่มนักศึกษา ซึ่งจะมาเป็นกำลังสำคัญในภาคแรงงานไอซีทีของไทย ทำให้บริษัทขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากเดิมมี 13 แห่งที่เข้าร่วม เช่น KMITL, ม.เทคโนโลยีมหานคร, ม.สงขลานครินทร์ ปีนี้จะเพิ่มความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรวมเป็น 20 แห่ง

 

ทาเลนต์ด้านไอซีทีทั่วโลกยังขาดแคลน 5 ล้านคน

จุดประสงค์ของ Huawei ในการสร้างโปรแกรมฝึกทักษะแบบนี้ ไมเคิลกล่าวว่า เพราะบริษัทเล็งเห็นถึงความขาดแคลนทาเลนต์ด้านไอซีทีทั่วโลก โดยเฉพาะใน 5 ปีข้างหน้า ภูมิทัศน์ของการใช้เทคโนโลยีไอซีทีจะยิ่งก้าวหน้ารวดเร็วไปกว่านี้มากและอยู่ในทุกอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีอย่างบิ๊กดาต้า AI IoT คลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้บริษัทคาดว่าทั่วโลกจะยังขาดแคลนทาเลนต์ขั้นสูงอีกถึง 5 ล้านคน

ส่วนในประเทศไทยแม้จะไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่ไมเคิลเชื่อว่าจำนวนบุคลากรที่มี “ยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเพียงพอ” และที่ขาดแคลนมากที่สุดคือทาเลนต์ที่มีความรู้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G

ไมเคิล แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล และที่ปรึกษาผู้บริหาร Huawei Asia Pacific

ทั้งนี้ หลักสูตรที่ฝึกทักษะและประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพที่ให้จะทำให้ผู้ผ่านการอบรมคุ้นเคยกับระบบของ Huawei แต่หลักสูตรจะเน้นสอนทักษะความรู้พื้นฐานที่นำไปใช้ได้กับทุกระบบ และไม่มีข้อผูกมัดว่าจะต้องทำงานให้กับบริษัท

“ประโยชน์ที่ผู้รับการอบรมจะได้คือ นักเรียนนักศึกษาจะมีความพร้อมเข้าสู่ตลาดงานทันที เพราะมีความรู้แบบพร้อมใช้  มีโอกาสได้งานเร็วขึ้น มั่นคงในอาชีพมากขึ้น น่าจะเรียกค่าตอบแทนได้มากขึ้นด้วย ส่วนคนทำงานที่เข้าอบรมและได้ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพก็สามารถนำไปเพิ่มความสามารถตนเองเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ” ไมเคิลกล่าว

ขณะที่ประเทศไทยก็จะมีโอกาสวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีตอบรับโลกยุคใหม่ได้เร็วกว่าเดิม เมื่อเรามีทาเลนต์ขั้นสูงที่พร้อม

]]>
1291064
‘ซินเน็ค’ จับกระแส ‘New Normal’ ลุยตลาด เกมมิ่งเกียร์-เน็ตเวิร์กกิ้งโปรดักส์ https://positioningmag.com/1281853 Wed, 03 Jun 2020 04:52:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281853 สำหรับใครที่ซื้อสินค้าไอทีไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, สมาร์ทวอชท์, หูฟัง ฯลฯ คงจะต้องเคยเห็นสติกเกอร์ ‘Trusted by synnex’ หรือการรับประกันโดย ‘Synnex’ (ซินเน็ค) ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะซินเน็คเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอทีจากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกแทบทุกแบรนด์ แต่เนื่องจากตลาดไอทีที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ซินเน็คเองก็ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อสร้างการเติบโตต่อไป โดยมีหมัดเด็ดคือ ‘Gaming Gear’

นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX กล่าวว่า แม้ผลกระทบจาก COVID-19 จะทำให้หน้าร้านสินค้าไอทีต้องปิดตัวลงจำนวนมาก แต่ยังได้อานิสงค์ของ ‘New Normal’ ที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตและการทำงาน เช่น e-Meeting หรือการที่มีเวลาเล่นเกมมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าอย่าง ระบบประชุมทางไกล กลุ่มสินค้าเกมมิ่ง โน้ตบุ๊ก กล้องเว็บแคม และสมาร์ทโฟนราคาต่ำกว่า 10,000 บาทก็เติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ ซินเน็คเองโฟกัสตลาดเกมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากกลุ่มเกมมิ่งเกียร์ 2,000 ล้านบาท เป็นเบอร์ 1 ในตลาด ซึ่งปัจจุบันตลาดเกมมิ่งเกียร์มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท และด้วยอานิสงส์จาก COVID-19 ที่ทำให้เกมเมอร์มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ซินเน็คมั่นใจว่าจะสามารถเติบโตได้ 20% ทำรายได้ 3,000 ล้านบาท โดยล่าสุดได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ ‘เลเซอร์’ (razer) เกมมิ่งเกียร์ระดับไฮเอนด์แต่เพียงผู้เดียว

“ตลาดเกมมิ่งมีขนาดใหญ่มากทั้งเกม อีสปอร์ต และเกมมิ่งเกียร์มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท มีผู้เล่นในไทยกว่า 27 ล้านคน คิดเป็น 41% ของประชากร ซึ่ง COVID-19 ทำให้เกมเมอร์เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงซื้อเกมมิ่งเกียร์และโน้ตบุ๊กมากขึ้น โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราทำยอดขายได้มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่า”

สินค้าจำพวกเมมโมรี่การ์ด แฟลชไดรฟ์ แกดเจ็ตราคาสูง และพรินเตอร์มียอดขายลดลงในช่วง COVID-19 เพราะผู้บริโภคไม่สามารถออกไปเที่ยวไหน อีกทั้งยังต้อง Work from Home ส่งผลให้สินค้าเน็ตเวิร์กกิ้งโปรดักส์ อาทิ กล้องวิดีโอตัวเล็ก ๆ โน้ตบุ๊ก และเครื่องพิมพ์ขนาดเล็กเติบโตขึ้น ดังนั้นซินเน็คจึงขยับมาจับเทรนด์นี้เต็มตัว โดยไม่ได้มีแค่ฮาร์ดแวร์ แต่ยังมีพาร์ตเนอร์ที่ให้บริการโซลูชันการประชุมอีกด้วย อาทิ WebX ของ cisco ก็เป็นพาร์ตเนอร์กับซินเน็ค

“เมื่อก่อนคนใช้ไม่ใช้วิดีโอในการประชุม แต่ตอนนี้มันเป็นของจำเป็น ดังนั้นเราจึงโฟกัสที่ตลาดนี้ นอกจากนี้สินค้ากลุ่มสมาร์ทเฮลท์ก็ขายดี เช่น กล้องวงจรปิดที่จับอุณหภูมิ ซึ่งเราขยับมาถูกทางแล้ว”

ที่ผ่านมา COVID-19 ได้ส่งผลกระทบกับซินเน็คในด้านซัพพลายเชนบ้าง รวมถึงลูกค้าที่ไม่สต๊อกสินค้า เพราะหน้าร้านถูกปิด แต่หลังจากเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ภาพรวมตลาดก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านซัพพลายเชนและการสั่งซื้อของจากคู่ค้า ซึ่งในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ซินเน็คเองก็มีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการพักชำระ และสอนให้ Go Online

“ในไตรมาสแรกยอดนำเข้าเราลดเยอะมาก เพราะซัพพลายมาช้า แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก และหลังจากเปิดห้างลูกค้าสั่งของเพิ่มเยอะมาก ถือเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากนี้เรายังเห็นโอกาสจากแพลตฟอร์ม b2b ออนไลน์ของเราที่มีการใช้งานมากขึ้นเป็น 50% ดังนั้นอนาคตเราอาจต่อยอดเป็นบริการฟูลฟิลเมนต์ คือ ไม่ต้องสต๊อกสินค้า แต่เราจะส่งสินค้าให้ลูกค้าเลย”

ปีนี้คาดว่ารายได้ของซินเน็คจะอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท โดยมี Gross Profit (GP) ประมาณ 4% เติบโต 1% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งจากนี้ซินเน็คจะไม่ได้โฟกัสเรื่องของรายได้เป็นหลัก แต่จะเน้นที่ผลกำไร ดังนั้นจะโฟกัสที่สินค้าที่มี GP สูง ๆ ซึ่งเกมมิ่งเกียร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น และในส่วนของภาพรวมตลาดไอทีปีนี้ คาดว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในไตรมาส 4 และมองว่าเทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในปีหน้า โดยเฉพาะสินค้า IoT ซึ่งเป็นอีกตลาดที่ซินเน็คมีความสนใจ

นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
]]>
1281853