7-Eleven – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 08 Jul 2024 03:33:43 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 7-Eleven ในญี่ปุ่นเตรียมเปิดบริการให้ลูกค้าสั่งพิซซ่าจากร้านได้ในบางพื้นที่ แถมมีแผนขยายไปยังทั่วประเทศ https://positioningmag.com/1481696 Sun, 07 Jul 2024 10:10:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481696 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดบริการให้ลูกค้าสามารถที่จะสั่งพิซซ่าอบร้อนจากร้านสะดวกซื้อได้ ซึ่งลูกค้าจะเริ่มต้นสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ในช่วงเดือนสิงหาคม และจะมีการขยายสาขาเพิ่มเติมหลังจากนี้

7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น เตรียมหารายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ล่าสุดบริษัทเตรียมนำสาขามากถึง 12,000 สาขาใน 3 เขตใหญ่ของประเทศให้บริการในการส่งพิซซ่าอบร้อน ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งผ่านแอปพลิเคชัน 7 Now และตั้งเป้าที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมหลังจากนี้

ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่นในสาขาในเขต Hokkaido เขต Kyushu รวมถึงเขต Kanto มากถึง 12,000 สาขาจะพร้อมให้บริการพิซซ่าอบร้อนส่งถึงบ้านของลูกค้า โดยค่าส่งพิซซ่าจะอยู่ในช่วง 110 เยน จนถึง 550 เยน

โดยระยะเวลาในการจัดส่งพิซซ่าของทางบริษัทนั้นจะอยู่ในช่วง 30 นาที แต่ทางบริษัทได้กล่าวว่าจะพยายามส่งพิซซ่าให้ได้ไวที่สุดภายใน 20 นาที

ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นสามารถเริ่มสั่งพิซซ่าอบร้อนจากร้านสะดวกซื้อรายดังกล่าวในช่วงเริ่มต้นจะมีพิซซ่า 2 หน้าให้เลือกคือหน้าไก่เทอริยากิในราคา 880 เยน กับ หน้ามาร์การิต้าในราคา 780 เยน ซึ่งผู้บริหารของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่าหน้าพิซซ่าทั้ง 2 เป็นหน้าที่คนญี่ปุ่นต้องการรับประทานมากที่สุด

ในช่วงที่ผ่านมา 7-Eleven ในญี่ปุ่นได้ปรับตัวในด้านธุรกิจ และมีบริการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการ Delivery หรือแม้แต่การวางจำหน่ายสินค้าประเภทใหม่ๆ เพื่อที่จะเจาะกลุ่มลูกค้า หรือแม้แต่ขยายรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มมากขึ้น

แผนของ 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่นยังเตรียมที่จะขยายบริการดังกล่าวไปยังส่วนที่เหลือภายในประเทศในภายหลัง ซึ่งขึ้นกับการขยายบริการในส่วนของแอปฯ 7 Now ของบริษัทด้วย

ที่มา – Yahoo News Japan, Asahi Shimbun, SoraNews24

]]>
1481696
‘ร้านสะดวกซื้อ’ ในญี่ปุ่นเริ่มเปิด-ปิดเป็นเวลามากขึ้น เหตุ ‘ขาดแคลนแรงงาน’ ทำให้เปิดบริการ 24 ชม. ไม่ได้ https://positioningmag.com/1472227 Tue, 07 May 2024 02:33:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472227 การเปิดร้านตลอด 24 ชั่วโมง ถือเป็นอีกเสน่ห์ของร้านสะดวกซื้อ แต่เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมานาน ส่งผลให้เชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่หลายราย ไม่สามารถให้บริการ 24 ชั่วโมงได้อีกต่อไป

จากการสํารวจผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ 7 รายของญี่ปุ่นโดย Kyodo News ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาทิ 7-Eleven และ Lawson พบว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ร้านสะดวกซื้อประมาณ 6,400 แห่ง จาก 55,000 แห่ง ในประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 12% ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง

โดยผู้นําตลาดอย่าง 7-Eleven ได้ยกเลิกการให้บริการ 24 ชั่วโมงในกว่า 200 สาขา นับตั้งแต่ปี 2020 ในขณะที่ Lawson ได้ใช้มาตรการที่คล้ายกันในร้านค้าอีกประมาณ 100 สาขา โดยสาเหตุที่บริษัทไม่สามารถเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงได้ เป็นผลมาจากการ ขาดแคลนแรงงาน และความต้องการ การใช้บริการช่วงกลางดึกลดลง

ทั้งนี้ สัดส่วนของสาขาที่ไม่เปิด 24 ชั่วโมง ของเชน Top 3 ร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ได้แก่ 7-Eleven, Lawson และ FamilyMart จะอยู่ที่ 8-10% ของสาขาทั้งหมด แต่ผู้ให้บริการรายย่อยอื่น ๆ มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ามาก อาทิ Seicomart เครือร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในฮอกไกโด มีอัตราร้านค้าที่ลดเวลาทําการสูงสุดที่ 87% รองลงมาคือ Poplar ซึ่งมีสํานักงานใหญ่ในฮิโรชิมาอยู่ที่ 79%

“เรากําลังดําเนินมาตรการโดยคํานึงถึงยอดขายและความยั่งยืน” เจ้าหน้าที่ของ Ministop กล่าว ซึ่งอนุญาตให้ร้านค้า 22% เปิดให้บริการในเวลาที่สั้นลง

ด้วยปัญหาดังกล่าว ทำให้เชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อย่าง 7-Eleven เปิด ร้านสะดวกซื้อ ไร้พนักงาน ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะลูกค้าไม่เพียงแต่แวะซื้อของทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริการทางการเงิน การจัดส่งพัสดุ และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ ด้วย

นับตั้งแต่ 7-Eleven เปิดร้านสะดวกซื้อแห่งแรกของประเทศใน Koto Ward ของโตเกียวในเดือนพฤษภาคม 1974 ร้านค้าดังกล่าวที่มีการดําเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง และแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นเริ่มอิ่มตัว และเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการทํางานหนักเกินไป ประกอบกับวิกฤตแรงงานที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้เริ่มเกิดคำถามถึงการให้บริการ 24 ชั่วโมงของร้านสะดวกซื้อ

Source

]]>
1472227
7-Eleven ตั้งเป้าภายในปี 2030 จะมี 100,000 สาขาทั่วโลก เจาะตลาดยุโรป ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง เพิ่ม https://positioningmag.com/1470845 Wed, 24 Apr 2024 01:20:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470845 เซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven) ได้ตั้งเป้ามีร้านสะดวกซื้อทั่วโลกแตะ 100,000 สาขาภายในปี 2030 โดยเน้นตั้งเป้าขยายสาขาในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่แอฟริกา 

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า Seven & i Holdings บริษัทแม่เจ้าของแฟรนไชส์ 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น ได้เตรียมที่ขยายสาขาทั่วโลก โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 บริษัทจะขยายสาขาเพิ่มอีก 18% หรือคิดเป็น 100,000 สาขา เมื่อเทียบตัวเลขดังกล่าวกับตัวเลขล่าสุด

ตลาดที่ Seven & i Holdings จะเจาะโดยการขายสิทธิแฟรนไชส์สาขาก็คือ ยุโรป ลาตินอเมริกา นอกจากนี้ยังรวมถึงตะวันออกกลาง และแอฟริกา และจะทำให้เชนร้านสะดวกซื้อนั้นขยายสาขาได้เป็น 30 ประเทศทั่วโลก จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 20 ประเทศ

แผนดังกล่าวนั้นตามมาจากแผนของ Seven & i Holdings ที่ตั้งเป้าในปี 2026 จะมีสาขาในทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นอีก 3,600 สาขา โดยมองปัจจัยสำคัญมาจากชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นตาม ขณะเดียวกันร้านสะดวกซื้อเองก็ถือว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้บริษัทได้ทุ่มงบลงทุนมากถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเร่งขยายสาขาในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ออสเตรเลียหลังจากในปีที่ผ่านมา Seven & i Holdings ได้ซื้อธุรกิจร้านสะดวกซื้อจำนวน 751 สาขากลับมา เพื่อที่จะขยายธุรกิจได้รวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้แรงกดดันจากนักลงทุนยังทำให้ Seven & i Holdings เตรียมขายสินทรัพย์ที่ไม่สร้างกำไรให้กับบริษัทอย่างธุรกิจ Supermarket ในประเทศญี่ปุ่นออกไปอีกด้วย

ข้อมูลล่าสุดช่วงปลายปี 2023 จำนวนร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven นั้นมีอยู่มากกว่า 80,000 สาขาทั่วโลก โดยจำนวนสาขาที่เยอะมากสุดคืออยู่ในทวีปเอเชีย 

]]>
1470845
7-Eleven วางเป้ามีร้านสะดวกซื้อในเอเชียแตะระดับ 50,000 สาขาภายในปี 2026 จากปัจจัยชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น https://positioningmag.com/1458325 Thu, 11 Jan 2024 03:45:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1458325 เซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven) ได้ตั้งเป้ามีร้านสะดวกซื้อในเอเชียแตะระดับ 50,000 สาขาภายในปี 2026 นอกจากนี่ยังรวมถึงเชนร้านสะดวกซื้อจากญี่ปุ่นหลายแห่งที่มองถึงการขยายสาขาในประเทศต่างๆ ในเอเชีย จากปัจจัยชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น

Nikkei Asia รายงานข่าวว่า 7-Eleven เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อจากญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าที่จะมีสาขาในทวีปเอเชียให้แตะระดับ 50,000 สาขา ขณะเดียวกันคู่แข่งร้านสะดวกซื้อรายอื่นจากญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสาขาให้ได้เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในทวีปเอเชีย

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า Seven & i Holdings เจ้าของ 7-Eleven ซึ่งถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ตั้งเป้าในปี 2026 จะมีสาขาในทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นอีก 3,600 สาขา ซึ่งจะทำให้มีสาขารวมกันแตะระดับใกล้ 50,000 สาขา มากกว่าจำนวนสาขาในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2023 ซึ่งมีสาขาราวๆ 46,000 สาขาเท่านั้น

โดยโมเดลของ Seven & i Holdings เจ้าของ 7-Eleven คือการให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับพันธมิตรในแต่ละประเทศ ปัจจุบันสาขา 7-Eleven นอกประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวนสาขาจำนวนมากกว่า 5,000 สาขา เช่น ไต้หวันที่มีสาขามากกว่า 6,600 สาขา หรือแม้แต่ในเกาหลีใต้ที่มีสาขามากกว่า 14,000 สาขา

สำหรับในประเทศไทย CPALL ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิ์เปิดร้าน 7-Eleven ในไทย ลาว รวมถึงกัมพูชา ตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนร้านสะดวกซื้อเป็นจำนวนมากถึง 14,391 ในประเทศไทย 1 สาขาในประเทศลาว และ 72 สาขาในกัมพูชา

นอกจากนี้เชนร้านสะดวกซื้อคู่แข่งอย่าง ลอว์สัน (Lawson) ยังตั้งเป้าที่จะเปิดร้านในทวีปเอเชียอีกราวๆ 6,800 สาขาในจีนและอาเซียน ภายในปี 2026 ซึ่งจะทำให้มีสาขารวมกันราวๆ 13,000 สาขา

สื่อญี่ปุ่นรายดังกล่าวได้รวบรวมตัวเลขเชนร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นนั้นได้มีจำนวนสาขานอกประเทศญี่ปุ่นรวมกันราวๆ 60,000 สาขา แซงหน้าสาขาในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมากกว่า 50,000 สาขาไปแล้วเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชนร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นขยายสาขาในทวีปเอเชียเพิ่มมากขึ้นคืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่หลายประเทศมี GDP เติบโตมากกว่า 5% ทำให้ชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันร้านสะดวกซื้อเองก็ถือว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันด้วย

เชนร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนสมรภูมิหลักจากประเทศญี่ปุ่นไปยังหลายประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งบริษัทเหล่านี้คาดหวังว่าจะสามารถเอาชนะคู่แข่งในแต่ละประเทศด้วยผลิตภัณฑ์และสินค้าคุณภาพ นอกจากนี้ยังรวมถึงบริการต่างๆ ที่ได้รับการฝึกฝนมาจากญี่ปุ่น

]]>
1458325
‘Daiso’ เริ่มวางขายสินค้าใน ‘7-Eleven’ ญี่ปุ่น แก้ปัญหายอดขาดหดเพราะคนไม่เดินทาง https://positioningmag.com/1371277 Sun, 23 Jan 2022 12:18:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371277 เชื่อว่าหลายคนชอบเข้าไปหาซื้อของใน ‘Daiso’ (ไดโซะ) ร้านทุกอย่าง 60 ที่ขายของสากกะเบือยันเรือรบ แม้ที่ไทยจะไม่ได้มีสาขามากเท่าประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเชนร้าน 100 เยนใหญ่ที่สุด และจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ Daiso ในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบทำให้ยอดขายหดตัว เนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าใกล้บ้านแทน Daiso จึงแก้เกมด้วยการ เข้าไปขายของใน 7-Eleven ซะเลย

เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่แต่บ้าน และผลจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทำให้ยอดขายของ Daiso จึงลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะลูกค้าที่ซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์ในครัวแบบใช้แล้วทิ้งมักจะไม่ค่อยอยากเดินทางไป Daiso ด้วยเหตุนี้ ลูกค้าจึงมองหาตัวเลือกที่สะดวกและใกล้บ้านมากขึ้นในการซื้อสินค้าเหล่านั้น ในราคาที่สมเหตุสมผล

นั่นคือเหตุผลที่ 7-Eleven และ Daiso ร่วมมือกันเพื่อนำผลิตภัณฑ์ Daiso มาสู่ชั้นวาง 7-Eleven จากการทดลองใช้งาน ร้าน 7-Eleven จำนวน 200 สาขา ในคานางาวะและฮอกไกโด ซึ่งผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 ก็ออกมาดีเกินคาด โดยยอดขายของใช้ประจำวันที่ 7-Elevens ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Daiso เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2020

ด้วยความสำเร็จของการทดลองใช้งานเหล่านี้ Daiso และ 7-Eleven กำลังขยายความร่วมมือจาก 200 สาขาเป็น 1 หมื่นสาขา หมายความว่าร้านค้าของ 7-Eleven ประมาณครึ่งหนึ่งจะเริ่มทยอยเพิ่มผลิตภัณฑ์ Daiso โดยเน้นที่สินค้าสะดวกซื้อในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษเช็ดมือและน้ำยาฆ่าเชื้อ ผ้าเช็ดทำความสะอาด

ทั้งนี้ การเปิดตัวจะเริ่มต้นด้วย 7-Eleven ในญี่ปุ่นตะวันออก และหากยอดขายยังเป็นที่น่าพอใจ ก็จะค่อยๆ ขยายไปยังฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น สินค้า Daiso คาดว่าจะเริ่มปรากฏใน 7-Eleven เพิ่มเติมตั้งแต่เดือนมกราคมนี้

Source

]]>
1371277
เอสซีบี ดีแบงก์ x เคาน์เตอร์เซอร์วิส เปิดสินเชื่อหมุนเวียน “ShopJai ผ่านแอปฯ 7-Eleven” รู้ผลไวสุดใน 5 นาที ด้วยพลัง AI https://positioningmag.com/1368651 Fri, 24 Dec 2021 11:00:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368651

การขอสินเชื่อหมุนเวียนจะง่ายกว่าที่เคย เพราะ เอสซีบี ดีแบงก์ (SCB DBANK) หน่วยงานด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ เคาน์เตอร์เซอร์วิส เปิดตัวสินเชื่อหมุนเวียน ShopJai ผ่านแอปฯ 7-Eleven รู้ผลไวสุดใน 5 นาที ด้วยเทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ทำให้ไม่ต้องส่งเอกสาร ไม่ต้องไปหน้าสาขา ผนึกความร่วมมือฐานลูกค้าไทยพาณิชย์และลูกค้าเคาน์เตอร์เซอร์วิส เสริมการเติบโตกลุ่ม “Digital Lending” ปี 2567 คาดทั้งกลุ่มขึ้นไปแตะ 1 แสนล้านบาท!

“ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB DBANK) เปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อหมุนเวียน ShopJai” (ชอบใจ) สินเชื่อแบบ Digital Lending ที่ลูกค้าสามารถสมัครขอสินเชื่อ ทราบผล และรับวงเงินได้ผ่านระบบดิจิทัล

โดย เอสซีบี ดีแบงก์ (SCB DBANK) ผนึกความร่วมมือกับ เคาน์เตอร์เซอร์วิส เปิดให้ลูกค้าสมัครสินเชื่อ ShopJai ผ่านแอปฯ 7-Eleven และรับวงเงินผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY ได้เลย โดยมีรายละเอียดความพิเศษของสินเชื่อ ดังนี้

  • สมัครง่ายเพียงกรอกข้อมูลผ่านแอปฯ 7-Eleven
  • ไม่ต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม ไม่ต้องไปหน้าสาขา
  • รู้ผลการอนุมัติไวสุดใน 5 นาที
  • ผ่อนได้สูงสุด 36 เดือน
  • วงเงินตั้งแต่ 2,500-50,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี
  • รับวงเงินผ่าน SCB EASY หรือกดเงินสดผ่านตู้ ATM ได้ทันที
  • เงื่อนไขการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

ธนาคารไทยพาณิชย์ยังให้โปรโมชันพิเศษสำหรับผู้ที่สมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อ ShopJai ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 จะได้รับ “ดอกเบี้ย 0%” ระยะ 3 รอบบัญชี**

สำหรับเฟสแรกที่ยังอยู่ใน ‘แซนด์บ็อกซ์’ สินเชื่อนี้จะยังสงวนไว้สำหรับผู้ที่มีบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ที่ได้รับเชิญให้สมัครบริการสินเชื่อเท่านั้น แต่เฟสต่อไป จะขยายให้กับผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์สามารถสมัครขอสินเชื่อได้เช่นกัน

**อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและวิธีการสมัครได้ที่นี่ >> https://www.scb.co.th/th/personal-banking/loans/personal-loans/shopjai/shopjai-7-eleven.html


AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล แก้ปัญหาให้ลูกค้า

ดร.ชาลีกล่าวเพิ่มเติมว่า ความสามารถที่ทำให้สินเชื่อ ShopJai อนุมัติรู้ผลได้ง่ายและเร็ว เนื่องจากเอสซีบี ดีแบงก์ (SCB DBANK) มี เทคโนโลยี AI และแมชชีน เลิร์นนิ่ง ที่ช่วยประเมินความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าด้วยโมเดลใหม่ วิเคราะห์ทั้งจากการเคลื่อนไหวในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ และข้อมูลที่ได้จากแอปฯ 7-Elevenด้วย

การประเมินความเคลื่อนไหวบัญชีจะทำให้ทราบว่าสุขภาพการเงินลูกค้าเป็นอย่างไร มีรายได้เฉลี่ยเดือนละเท่าใด มีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และใช้จ่ายกับสิ่งใดบ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นวินัยทางการเงินของลูกค้า

การวิเคราะห์ที่พิจารณาจากบัญชีธนาคารได้โดยตรง จะเป็นประโยชน์กับลูกค้าที่ทำงานอิสระ เช่น ฟรีแลนซ์ ขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งไม่ได้มีรายได้ประจำเท่ากันทุกเดือน ทำให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นกว่าการขอสินเชื่อแบบเดิมๆ

(จากซ้าย) “ปิติพร พนาภัทร์” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Digital Platform and Products SCB DBANK, “ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking SCB DBANK และ “วีรเดช อัครผลพานิช” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด


เอสซีบี ดีแบงก์ ผนึก เคาน์เตอร์เซอร์วิส เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ง่ายขึ้น

“ปิติพร พนาภัทร์” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Digital Platform and Products ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB DBANK) กล่าวถึงความร่วมมือกับ เคาน์เตอร์เซอร์วิสว่า ธนาคารมีความร่วมมือกันมานานตั้งแต่ริเริ่มโครงการ Banking Agent ให้สาขาของ 7-Eleven เปรียบเสมือนหน้าสาขาธนาคาร สามารถเปิดบัญชี SCB ได้ด้วยระบบ e-KYC ที่หน้าเคาน์เตอร์ ทำให้มีการต่อยอดความร่วมมือมาสู่การเป็นช่องทางปล่อยสินเชื่อผ่านแอปฯ 7-Elevenในครั้งนี้ และ เคาน์เตอร์เซอร์วิส จะยังเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ไทยพาณิชย์เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

ด้าน “วีรเดช อัครผลพานิช” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการผ่านช่องทางแอปฯ 7-Eleven กล่าวว่า บริษัทมองว่าจะสามารถช่วยเติมเต็มระบบนิเวศนี้ได้ เปรียบเสมือนแอปพลิเคชันเข้ามาเป็นช่องทางให้กับ SCB เพิ่มจากเดิมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็น Banking Agent มาแล้วในร้าน 7-Eleven 12,800 จุดทั่วประเทศ

ฐานลูกค้าปัจจุบันของ 7-Eleven หากนับเฉพาะยอดดาวน์โหลด 7-Eleven App มีถึง 20 ล้านดาวน์โหลด โดยมี Active Users ถึง 90% และในจำนวนนี้มีผู้ที่เป็นสมาชิก All Member แล้ว 15 ล้านคน ฐานลูกค้าเหล่านี้จะช่วยเสริมให้ SCB เป็นผู้นำในตลาด และเชื่อว่า ShopJai ผ่านแอปฯ 7-Eleven จะสามารถรองรับกลุ่มลูกค้าสมัยใหม่ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้นจาก 7-Eleven


Digital Lending ทะยานสู่ 1 แสนล้าน

ปิติพร เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายของสินเชื่อหมุนเวียน ShopJai ผ่านแอปฯ 7-Eleven ปี 2565 ตั้งเป้าดึงลูกค้า 15,000 รายต่อเดือน และคาดว่าจะปล่อยวงเงินแตะ 300 ล้านบาทในปีหน้า

โดยสินเชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม Digital Lending ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดร.ชาลีกล่าวว่า เมื่อปี 2563 สินเชื่อกลุ่ม Digital Lending มีมูลค่าวงเงินปล่อยสินเชื่อ 9,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2564 นี้จะโตถึง 60% ขึ้นไปแตะ 15,000 ล้านบาท

เอสซีบี ดีแบงก์ ยังตั้งเป้าด้วยว่าวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยผ่าน Digital Lending จะไปแตะ 1 แสนล้านบาทได้ภายในปี 2567 ซึ่งหมายถึงการขยายตัว 10 เท่าภายในเวลา 3 ปี จากเทรนด์การก้าวสู่โลกดิจิทัลของลูกค้า และเทคโนโลยีที่รุดหน้าของธนาคารที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลแม่นยำและรวดเร็ว

]]>
1368651
สหรัฐฯ สั่ง 7-Eleven ขายสาขาเกือบ 300 แห่ง ป้องกันการผูกขาด https://positioningmag.com/1339208 Sun, 27 Jun 2021 15:02:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1339208 คณะกรรมการการค้ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ 7-Eleven ในสหรัฐฯ ขายสาขาเกือบ 300 แห่ง หลังจากบริษัทค้าปลีกรายใหญแห่งนี้เพิ่งทุ่มเงิน 21,000 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการสปรีดเวย์ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และสถานีบริการน้ำมันจากมาราธอน ปิโตรเลียม

มาราธอน ปิโตรเลียม เจ้าของเครือข่ายสปรีดเวย์ และ 7-Eleven ซึ่งมีเซเว่นแอนด์ไอ โฮลดิ้งส์ (Seven & I Holdings Co Ltd) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ แถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่า พวกเขาใกล้บรรลุข้อตกลงซื้อขายกิจการมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึงธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 3,800 สาขาใน 36 รัฐ

รอยเตอร์สอ้างความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 รายของคณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ (เอฟทีซี) ซึ่งเคยบอกว่า ข้อตกลงนี้มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย ด้วยพวกเขามีความกังวลว่ามันจะทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า

สืบเนื่องจากตลาดน้ำมันเบนซิน และดีเซล คือธุรกิจท้องถิ่น จึงเกิดเสียงคร่ำครวญกล่าวอ้างว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดน้ำมัน 293 แห่งใน 20 รัฐของอเมริกา

ในคำสั่งที่เป็นไปตามความยินยอมของทั้ง 2 บริษัท ทางคณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ (เอฟทีซี) บังคับให้ 7-Eleven และมาราธอน ขายร้านสะดวกซื้อ และสถานีบริการน้ำมันให้แก่บรรดาบริษัทคู่แข่ง 293 สาขา ประกอบด้วย อานาบี ออย 124 แห่ง ครอสส์ อเมริกา พาร์ทเนอร์ส 106 แห่ง และแจ็ควัน ฟู้ด สโตร์ส 63 แห่ง

Source

]]>
1339208
OR ไฟเขียวต่อสัญญาร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ในปั๊มน้ำมัน PTT Station อีก 10 ปี https://positioningmag.com/1333898 Wed, 26 May 2021 12:22:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333898 เป็นไปตามคาด บอร์ด OR ต่อสัญญาร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) ในปั๊มน้ำมัน PTT Station อีก 10 ปี

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ต่อสัญญาหลักความร่วมมือการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันเครือข่ายของ OR กับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เพื่อดำเนินการร้านค้า 7-Eleven (ในประเทศไทย)

โดยครั้งนี้เป็นการต่ออายุสัญญาจากสัญญาเดิม ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้การดำเนินงานในส่วนของธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมันเครือข่ายของ OR มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจของ OR ทั้งนี้จะมีการเข้าทำสัญญาตามที่ได้ตกลงกับคู่สัญญาต่อไป

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา OR เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ของปี 2564 ระบุว่า มีกำไรสุทธิ 4,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,079 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.9% จากไตรมาสก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.38 บาท สูงกว่าไตรมาสก่อน 0.06 บาท หรือเพิ่มขึ้น 18.8%

สำหรับผลการดำเนินงานของ OR ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีรายได้ขายและบริการ 118,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,964 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.2% จากไตรมาสก่อน

โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ซึ่งมีราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์น้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สอดคล้องกับรายได้กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น

ส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจ Non-Oil นั้นในไตรมาสที่ผ่านมา มีรายได้รวม 4,086 ล้านบาท ลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง

ทั้งนี้ OR มีร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven และภายใต้แบรนด์ Jiffy รวม 1,995 สาขา ทั้งในประเทศไทยและสปป.ลาว

ด้านผลประกอบการของ CPALL ในไตรมาส 1 ปี 2564 นั้น เเม้ไม่ได้หยุดให้บริการร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่นเเต่ก็มีรายได้และกำไรลดลง

โดยมีรายได้รวม 133,431 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,599 ล้านบาท หรือ 0.26 บาทต่อหุ้น ลดลง 53.95% จากไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่มีกำไร 5,645 ล้านบาท หรือ 0.60 บาทต่อหุ้น

เมื่อเจาะลงไปใน ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ในไตรมาส 1/64 มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ รวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 947 ล้านบาท ลดลงถึง 75.4%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

จำนวนลูกค้าลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 845 คนต่อวัน และมียอดใช้จ่ายต่อบิลประมาณ 77 บาท ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อร้านต่อวันอยู่ที่ 65,024 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมลดลง 17.1%

 

 

]]>
1333898
โควิดสะเทือน ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ไตรมาส 1/64 ลูกค้า-ยอดขายต่อสาขาลดลง กำไรวูบ 75% https://positioningmag.com/1331873 Wed, 12 May 2021 13:55:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331873 พิษโควิด สะเทือนร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) เเม้ไม่ได้หยุดบริการ เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปีนี้ มีรายได้และกำไรลดลง เเต่ขอมุ่งลงทุน 1.15-1.2 หมื่นล้านบาท เปิดสาขาใหม่อีก 700 สาขาตามเเผนเดิม

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า มีรายได้รวม 133,431 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ส่วน กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,599 ล้านบาท หรือ 0.26 บาทต่อหุ้น ลดลง 53.95% จากไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่มีกำไร 5,645 ล้านบาท หรือ 0.60 บาทต่อหุ้น

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้รายได้ของ CPALL ลดลงคือยอดขายเเละและบริการในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ลดลง จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบทางลบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอีกครั้งโดยเฉพาะในเดือนม.. ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย กำลังซื้อลดลง รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังมีภาระดอกเบี้ยจ่ายจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ คิดเป็น 61% และธุรกิจค้าส่งแม็คโคร 39% ส่วนกำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 40%  กำไรจากธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สัดส่วน 60%

เมื่อเจาะลงไปในเซเว่น อีเลฟเว่นในไตรมาส 1/64 มีรายได้ราวจากการขายสินค้าและบริการ รวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 947 ล้านบาท ลดลงถึง 75.4%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

จำนวนลูกค้าลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 845 คนต่อวัน และมียอดใช้จ่ายต่อบิลประมาณ 77 บาท ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อร้านต่อวันอยู่ที่ 65,024 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมลดลง 17.1%

ที่ผ่านมาเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ขยายไปยังช่องทางการขายใหม่ๆอย่าง 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping แต่ก็ชดเชยรายได้ได้เพียงบางส่วน โดยได้เปิดสาขาใหม่ไปทั้งหมด 155 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาบริษัท 131 สาขา สาขา SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 24 สาขา ทำให้มีสาขารวม 12,587 สาขา

สำหรับเเผนปีนี้ CPALL ยังคงยืนยันจะเดินหน้าลงทุนตามเเผนเดิม โดยตั้งเป้าจะเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขา ใช้งบลงทุนประมาณ 11,500-12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

เปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท

ปรับปรุงร้านเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท

โครงการใหม่ บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท

สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท

CPALL มองแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในปี 2564 ว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อรายได้และค่าใช้จ่าย ยังมีความไม่เเน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจ จึงต้องปรับตัวตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

อ่านรายละเอียด : SET 

]]>
1331873
เปิดเเผน ‘ซีพี ออลล์’ มุ่ง 7 Go Green ผุดสถานีชาร์จ EV 100 แห่งในปีนี้ เตรียมใช้ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ส่งสินค้า https://positioningmag.com/1325736 Tue, 30 Mar 2021 13:44:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325736 ซีพี ออลล์ประกาศเเผน ‘7 Go Green’ เเห่งปี 2021 วางเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.28 แสนตัน ปักหมุดขยายเซเว่น-อีเลฟเว่นปีนี้เเตะ 13,000 สาขา พร้อมวางถังคัดแยกขยะลุยติดตั้งสถานีชาร์จ EV หน้าร้านอีก 100 แห่ง เตรียมใช้รถยนต์ไฟฟ้า’ กระจายส่งสินค้าทั่วประเทศ

สำหรับโครงการ ‘7 GO Green’ นั่นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อหวังลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกที่ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น โดยปล่อยเเคมแปญลดวันละถุงคุณทำได้” ออกมาในปีช่วงปลายปี 2561

โดยในปีนี้บริษัทจะสานต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่าน 4 ด้านหลักๆ ประกอบด้วย Green Building , Green Store , Green Logistic และ Green Living เพื่อลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีนี้รวม 128,426 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tC02e) หรือเปรียบเทียบการปลูกต้นไม้ยืนต้นจำนวน 347,648 ต้น 

ทั้งนี้ เซเว่น-อีเลฟเว่น เปิดให้บริการกว่า 12,400 สาขา โดยในปี 2564 นี้ จะมีการทุ่มงบลงทุนในร้านสะดวกซื้ออีก 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายให้ได้เป็น 13,000 สาขา เเละก้าวสู่เป้าหมาย 20,000 สาขาให้ได้ต่อไป

Green Building : ลดใช้พลังงานในสาขา

ซีพี ออลล์ จะเน้นออกแบบและบริหารจัดการผ่านคอนเซ็ปต์ ‘ร้านเพื่อสิ่งแวดล้อม’ ลดใช้พลังงานต่างๆ เช่น ปรับปรุงคอยล์เย็น สำหรับตู้แช่เย็นขนาดใหญ่ , เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นประเภท Inverter , ใช้หลอดไฟ LED, ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, โครงการปรับปรุงระบบทำความเย็นของตู้แสดงสินค้า ชนิดไร้บานประตูเป็นแบบรวมศูนย์, โครงการ Knockdown Store นำวัสดุเปลือกอาคารกลับมาใช้ใหม่ และ โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

Green Store : บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก กระตุ้นใช้ e-Receipt

จะเน้นไปที่การออกแบบ ‘บรรจุภัณฑ์’ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ลดปริมาณขยะพลาสติก ผ่านแนวคิด “ลด และ ทดแทน” เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง, โครงการเสื้อพนักงานที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล

นอกจากนี้ จะประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกค้า ALL member ที่มีอยู่ราว 10 ล้านคน หันมาใช้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดประมาณการใช้กระดาษ

“ปัจจุบันมียอดใช้จ่ายมากถึง 150 ล้านใบเสร็จต่อเดือน เมื่อนำมาต่อกันคิดเป็นความยาวรอบโลกได้ราว 3 รอบ เป็นขยะกระดาษจำนวนมาก” 

Green Living : รณรงค์คัดแยกขยะ

จะเน้นไปที่การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม เชิญชวนลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยล่าสุดจะจัดให้มี “ถังคัดแยกขยะ” ในทุกสาขาของเซเว่น-อีเลฟเว่น ค่อยๆ สร้างการรับรู้ให้ให้คนไทยช่วยกันคัดแยกขยะพลาสติก เพื่อนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

Green Logistic : กระจายจุดชาร์จ EV ในไทย 

จะเน้นไปที่การขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด 20 แห่งใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

ล่าสุด ซีพี ออลล์กำลัง ‘ศึกษาพัฒนารถขนส่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้า’ โดยเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับใช้ในการขนส่งของบริษัท จากปัจจุบันที่มีรถขนส่งอยู่กว่า 7,000 คัน ใช้วิ่งรับส่งสินค้าอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าจะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า(EV) หน้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นที่มีพื้นที่จอดรถให้ลูกค้า จำนวน 100 สาขาภายในปีนี้ โดยจะมีให้บริการทั้งเเบบ ‘ชาร์จเร็ว’ (Quick Charge) ใน 30 นาที หรือเเบบชาร์จช้าที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อรองรับเทรนด์พลังงานสะอาดที่ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น 

เป็นที่น่าจับตาว่า การกระจายสถานีชาร์จรถไฟฟ้าให้แพร่หลายผ่านร้านสะดวกซื้อ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยได้ดีทีเดียว โดยก่อนหน้านี้ บริษัทพลังงานอย่าง ‘เชลล์’ ก็จับมือกับ BMW เปิดตัว Shell Recharge จุดชาร์จ EV แห่งแรกในไทย

ขณะที่เจ้าใหญ่อย่าง ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เผยว่า บริษัทมีแผนจะเปิดประมูลจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในปีนี้เพิ่มเป็น 100 แห่งทั่วประเทศเน้นหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัด ในรูปแบบ Quick Charge ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา และจะขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 300 แห่งภายในปี 2565 จากปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 30 สาขา

 

]]>
1325736