Beer – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 15 Oct 2019 07:02:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Carlsberg เผยโฉมขวดเบียร์รักษ์โลกที่ทำมาจากกระดาษ! https://positioningmag.com/1249774 Mon, 14 Oct 2019 16:48:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1249774 Carlsberg พัฒนาขวดเบียร์ที่ทำจากกระดาษขวดแรกของโลก ซึ่งจะเป็นแพ็กเกจจิ้งที่สร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ได้ โดยได้เริ่มเผยโฉมแนวคิด และแบบขึ้นมาก่อนผลิตจริง

ขวดเบียร์รักษ์โลกที่ว่านี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน โดยที่ขวดจะเรียกว่า Green Fibre Bottle ทำมาจากเส้นใยจากไม้ ส่วนภายในจะมีคุณสมบัติพิเศษที่จะสามารถบรรจุของเหลวได้ โดยที่แบบที่ 1 จะถูกเคลือบด้วยฟิล์มที่ทำมาจากพลาสติก PET รีไซเคิล ส่วนอีกรุ่นหนึ่งจะใช้ฟิล์มที่ทำมาจากไบโอพลาสติก 100% ซึ่ง Carlsberg จะต้องทำการทดสอบทั้ง 2 รูปแบบดูก่อนว่าแบบไหนดีที่สุด

ซึ่งจริงๆ แล้วโปรเจกต์นี้ Carlsberg ได้เริ่มออกแบบขวดกระดาษมาตั้งแต่ปี 2558 ทำงานร่วมกับ ecoXpac และ BillerudKorsnäs เป็นบริษัทด้านแพ็กเกจจิ้งชื่อดัง รวมถึงนักวิจัยจาก Danish Technical University

จุดประสงค์ของการออกขวดเบียร์รักษ์โลกนี้ Carlsberg ต้องการผลิตขวดที่ทำจากวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ 100% โดยไม่มีส่วนประกอบของโพลิเมอร์ เป็นนโยบายด้านความยั่งยืน ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์สำหรับโรงานผลิต

ขวดไฟเบอร์นี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากระป๋องอะลูมิเนียมหรือว่าขวดแก้ว เพราะว่ามีแหล่งที่มาของวัสดุที่การันตีความยั่งยืนได้

เพียงแต่ว่าตอนนี้ขวดไฟเบอร์ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา คาดว่าขั้นตอนสุดท้ายก่อนเสร็จสมบูรณ์จะมาถึงภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้

Source

]]>
1249774
สมรภูมิอาเซียน-ความท้าทายบนฟองเบียร์ https://positioningmag.com/1151592 Mon, 25 Dec 2017 03:56:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1151592 ข่าวการเข้าซื้อหุ้นของโรงงานเบียร์ในเวียดนามด้วยเงินลงทุนขนาดมหึมากว่า 1.6 แสนล้านบาทโดยกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ นอกจากจะเป็นการตอกย้ำความมุ่งหมายตามยุทธศาสตร์แห่งวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟเวอเรจแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนข้อเท็จจริงของตลาดเบียร์ในอาเซียนในฐานะที่เป็นสมรภูมิทางธุรกิจที่มีความหอมหวาน และเย้ายวนผู้ประกอบการแต่ละรายให้เข้ามาร่วมช่วงชิงแบ่งปันผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหน้าอย่างชัดเจน

ความพยายามของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มุ่งหมายจะขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตลาดประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในฐานะที่เป็นประหนึ่งสนามหลังบ้าน ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้แรงเสียดทาน หากแต่ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการรุกเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสถานะไม่แตกต่างมหาอำนาจที่พรั่งพร้อมด้วยเงินทุน และความหลากหลายของแบรนด์สินค้าที่เป็นสรรพกำลังในการดูดซับอุปสงค์ของการบริโภคในตลาดแห่งนี้

การเติบโตขึ้นด้วยอัตราเร่งของการบริโภคเบียร์ในอาเซียน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะภูมิอากาศที่ร้อนชื้นหรือรสชาติอาหารที่เผ็ดร้อนจนต้องดื่มเบียร์เย็น ๆ ระงับอาการหรือดับกระหาย หากแต่เป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่า อาเซียน ยังอุดมด้วยประชากรในวัยหนุ่มสาว และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับเปลี่ยนไปจากการเป็นเพียงเครื่องดื่ม มาสู่การเป็น สัญญะ ทางสังคมอีกด้วย

นอกจากนี้ความจำเริญเติบโตของอาเซียนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ภูมิภาคแห่งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในธุรกิจหลากหลาย ในฐานะที่เป็นทั้งแหล่งลงทุนเพื่อการผลิตและเป็นตลาดที่มีศักยภาพและการเติบโตในอัตราเร่งทดแทนความอิ่มตัวที่เกิดขึ้นในระดับสากล

ตัวเลขจากการสำรวจตลาดเบียร์ใน 6 ประเทศอาเซียนที่ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมา พบว่าตลาดที่มีการบริโภคเบียร์มากถึง 7.66 ล้านกิโลลิตรแห่งนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดสามารถครอบครองตลาดระดับภูมิภาคนี้ได้อย่างมั่นคงชัดเจน

ส่วนหนึ่งเนื่องเพราะผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีความโดดเด่นจำกัดอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่ของประเทศตัวเองเป็นสำคัญ ดังกรณีที่เกิดขึ้นในบริบทของ San Miguel ซึ่งแม้จะครองส่วนแบ่งในระดับร้อยละ 20.5 แต่ตัวเลขดังกล่าวก็เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า San Miguel มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึงร้อยละ 91-95 ในฟิลิปปินส์โดยลำพัง

เช่นเดียวกับกรณีของผู้ประกอบการสัญชาติไทย ทั้งบุญรอด บริวเวอรี่ ที่ครองส่วนแบ่งในระดับ 14.5 และไทยเบฟเวอเรจ ที่อยู่ในระดับร้อยละ 8 จากการสำรวจครั้งนั้น ก็ดำเนินไปภายใต้บริบทของการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ครองพื้นที่ตลาดภายในประเทศมากกว่าที่จะสามารถฉายภาพการเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและมีแบรนด์เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค

กรณีว่าด้วยการสร้างสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการภายใต้แบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค หรือเป็น Regional Brand แห่งอาเซียนเป็นประเด็นที่เคยได้รับการกล่าวถึงมานานกว่าทศวรรษ โดยสินค้าและบริการบางชนิดสามารถยกระดับและปรากฏภาพลักษณ์เป็นตัวแทนของภูมิภาคนี้ไปบ้างแล้ว

หากแต่ในกรณีของเบียร์ ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดข้ามพ้นการเป็นตัวแทนของท้องถิ่นนิยม (localization) ไปสู่ภูมิภาคนิยม (regionalization) ในบริบทที่กว้างขวางออกไปได้มากนัก

อย่างไรก็ดี ตลาดเบียร์อาเซียนมิได้ดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดของผู้ประกอบการที่มีสถานะเป็นทุนชาติเท่านั้น หากยังมีผู้ประกอบการระดับนานาชาติที่เข้ามาลงหลักปักฐานและแสดงบทบาทนำในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย

บทบาทของ Heineken ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์อาเซียนในระดับร้อยละ 13 และ Carlsberg ที่ครองส่วนแบ่งในระดับร้อยละ 6.2 จากการประเมินเมื่อปี 2015 ล้วนแต่เป็นผลจากการลงทุนและร่วมสร้างตลาดเบียร์ในอาเซียน ขณะที่ตลาดเบียร์อาเซียนอีกมากกว่าร้อยละ 37.7 ถูกครอบครองด้วยผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

โดย Carlsberg ลงทุนทั้งในเวียดนามผ่าน Hue Brewery และ Hanoi Brewery (HABECO) และการลงทุนในมาเลเซีย ผ่าน Carlsberg Brewery Malaysia Berhad (Carlsberg Malaysia) รวมถึงการร่วมทุนกับ Myanmar Golden Star (MGS) ในเมียนมา และเป็นพันธมิตรกับบุญรอด บริวเวอรี่ในประเทศไทยด้วย

หากแต่บทบาทที่น่าสนใจติดตามและถือว่ามีความโดดเด่นในการผลักดันตลาดเบียร์อาเซียนให้เติบโตในอนาคตอยู่ที่จังหวะก้าวของผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกในนาม Heineken ที่ให้ความสำคัญกับตลาดเบียร์อาเซียนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ Heineken จะรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนมานานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

การรุกสู่ตลาดอาเซียนด้วยอัตราเร่งและอย่างจริงจังของ Heineken เริ่มปรากฏภาพชัดเจนขึ้นในปี 2012 เมื่อ Heineken ดำเนินการเพื่อครอบครอง Asia-Pacific Brewery ในมหากาพย์การช่วงชิงแข่งขันทางธุรกิจที่มีไทยเบฟเวอเรจซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อ Fraser and Neave (F&N) ปรากฏตัวเป็นคู่ต่อสู้ในครั้งนั้นด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของกรณีดังกล่าวก็คือ ในเดือนกรกฎาคม 2012 ไทยเบฟเวอเรจเข้าครอบครองหุ้นใน F&N จำนวน 22% จาก Oversea-Chinese Banking Corporation ซึ่งทำให้ไทยเบฟเวอเรจมีหุ้นใน F&N รวมร้อยละ 24.1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่จะก้าวไปสู่การเป็นบรรษัทเครื่องดื่มระดับอาเซียนของไทยเบฟเวอเรจ

ขณะเดียวกัน F&N ยังมีสถานะเป็นหุ้นส่วนกับ Heineken International ในการก่อตั้ง Malayan Breweries ที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 1931 ในฐานะผู้ผลิตเบียร์ Tiger และต่อมาได้ครอบงำกิจการของ Archipelago Brewery ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ Anchor Beer ด้วย ก่อนที่ Malayan Breweries จะเปลี่ยนชื่อเป็น Asia Pacific Breweries ในปี 1990

ความเป็นไปของ Asia Pacific Brewery ในช่วง 1996-2004 ให้ภาพที่น่าสนใจไม่น้อยเมื่อการแข่งขันฟุตบอลของสมาพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (ASEAN Football Federation: AFF Championship) เริ่มขึ้นในปี 1996 ปรากฏชื่อการแข่งขันว่า “Tiger Cup” จากผลของการที่ Asia Pacific Brewery ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ Tiger อยู่ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งบทบาทดังกล่าวในด้านหนึ่งช่วยให้เกิดภาพจำและสร้างสถานะให้เบียร์ Tiger กลายเป็นเบียร์ของภูมิภาคหรือเป็น ASEAN Branding ได้ไม่น้อยเลย ก่อนที่จะยุติการสนับสนุนนี้ไปในปี 2004

การขยายตัวของไทยเบฟเวอเรจในการเข้าครอบกิจการของ F&N ซึ่งมีส่วนอยู่ใน Asia Pacific Brewery ในด้านหนึ่งอาจเป็นแรงกระตุ้นให้ Heineken ต้องปรับยุทธศาสตร์ในการประกอบธุรกิจในอาเซียน

หากแต่ภาพที่กว้างกว่านั้นก็คือ Heineken ต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันและอยู่รอดในเวทีระดับนานาชาติ ที่มีคู่แข่งขันหมายเลขหนึ่งในนาม Anheuser-Busch InBev (AB InBev) กำลังทิ้งห่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการควบรวมกิจการระหว่าง AB InBev และ SABMiller ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเบียร์อีกรายในเวลาต่อมา

Heineken บรรลุข้อตกลงที่มูลค่ารวมกว่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในการซื้อคืนหุ้นใน Asia Pacific Brewery ที่ถือครองอยู่โดย F&N ในเดือนสิงหาคม 2012 ซึ่งถือเป็นการปิดฉากความพยายามก้าวเดินบนหนทางลัดของไทยเบฟเวอเรจ ในการสถาปนาสถานภาพการเป็นผู้ผลิตเบียร์ระดับภูมิภาคผ่าน Asia Pacific Brewery ไปโดยปริยาย ก่อนที่ Heineken Asia Pacific จะเข้ามาแทนที่และสะท้อนบทบาทของ Heineken ในตลาดแห่งนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีก

นอกเหนือจากแบรนด์ Heineken ซึ่งถือเป็นต้นทางและธงนำในการทำตลาดควบคู่กับ Tiger Beer แล้ว Heineken Asia Pacific ยังมี Bintang Beer เบียร์ยอดนิยมในประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซีย และมีประวัติการณ์ผูกพันกับการเป็นอาณานิคมดัตช์ของอินโดนีเซีย รวมถึง Anchor Beer อีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของ Heineken ที่ดำเนินผ่านตลาดเบียร์ทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 ในขณะที่อเมริกาและยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ขณะที่จีนแม้ว่าจะมีสถานะเป็นตลาดขนาดใหญ่ หากแต่การเบียดแทรกเข้าไปแข่งขันกับเจ้าตลาดรายเดิมแบบ Tsingtao Brewery ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย การโฟกัสที่อาเซียน จึงเป็นทางเลือกที่พร้อมให้ Heineken ฝากอนาคตไว้ได้

แม้ว่า Heineken จะมีภาพลักษณ์เป็นเบียร์ในตลาดระดับบน และได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์สินค้าระดับนำในตลาดเบียร์หลักทั้ง 6 ประเทศของอาเซียน แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนการจำเริญเติบโตที่ Heineken ประสงค์จะมีและได้จากภูมิภาคนี้ โดยที่ผ่านมา Heineken พยายามขยายแนวรุกทางธุรกิจเข้าสู่ทั้งฟิลิปปินส์และเมียนมา เพื่อเบียดแทรกและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการประจำถิ่น ที่สะท้อนภาพความเป็นไปและความคาดหวังของ Heineken ที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้และวางอนาคตข้างหน้าไว้กับการเติบโตของอาเซียน

การแข่งขันช่วงชิงพื้นที่และบทบาทนำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยเฉพาะเบียร์ ในภูมิภาคอาเซียนในห้วงเวลานี้จึงเป็นประหนึ่ง ปฐมบท แห่งมหากาพย์ครั้งใหม่ ที่นอกจากจะมีผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นที่ครอบครองสภาพตลาดหลัก ๆ ในแต่ละประเทศไว้ได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังปรากฏการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับสากลที่ต่างนำเสนอผลิตภัณฑ์และวางตำแหน่งสินค้าเข้าประลองกำลังช่วงชิงส่วนแบ่งจากรสนิยมของนักดื่มที่ชื่นชอบความละเมียดละไมผ่านฟองเบียร์ อย่างต่อเนื่องและและหนักหน่วง

เป็นการเดิมพันและการแข่งขันที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดีกรีความเข้มข้นทางธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังต้องประกอบส่วนด้วยความละเมียดละไม และจังหวะก้าวที่เหมาะควรในการจัดวางสรรพกำลัง

ประเด็นปัญหานับจากนี้จึงอยู่ที่การประเมินว่า ผู้ประกอบการอย่างไทยเบฟเวอเรจจะสามารถจัดวางกรอบโครงความคิดในการแข่งขันในสมรภูมิระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายแห่งวิสัยทัศน์ 2020 นี้ได้อย่างสำเร็จผลมากน้อยเพียงใด.

ที่มา : gotomanager.com/content/สมรภูมิอาเซียน-ความท้าทายบนฟองเบียร์

]]>
1151592
ไทยเบฟทุ่ม 1.52 แสนล้านบาท ซื้อเบียร์เบอร์ 1 เวียดนาม เสริมพอร์ตโฟลิโอน้ำเมา ครบเครื่องทั้งเหล้าขาว เหล้าสี https://positioningmag.com/1150832 Tue, 19 Dec 2017 03:48:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1150832 นับเป็นความพยายามของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยักษ์เครื่องดื่มจากไทยในการประมูลชนะ “ไซ่ง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ป” หรือ ซาเบคโค (Saigon Beer Alcohol Beverage Corp : Sabeco) บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นของรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเวียดนาม ด้วยการทุ่มเม็ดเงิน 4.84 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.52 แสนล้านบาท เข้าช้อนซื้อหุ้น 54% ในบริษัทดังกล่าว

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ดำเนินการผ่านบริษัทในเครือของไทยเบฟที่ชื่อ เวียดนาม เบฟเวอเรจ โคลิมิตเต็ด (Vietnam Beverage Co Ltd) ซึ่งจัดเป็น บริษัทสัญชาติเวียดนาม และไม่ได้เผชิญการแข่งขันมากนัก มีเพียงนักลงทุนที่ไม่เปิดเผยชื่อของเวียดนามอีกรายเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดการอนุญาตให้ “ต่างชาติถือหุ้นสูงสุดได้ 49%” บริษัทเบียร์รายใหญ่ของโลกจึงไม่เข้าร่วมประมูล เพราะในบริษัทซาเบคโคยังมีต่างชาติถือหุ้นอยู่แล้ว 10% รวมถึงไฮเนเก้น 5%

การชนะประมูลของไทยเบฟในซาเบคโค จะทำให้ได้ถือครองแบรนด์เบียร์ในมือ ดังนี้

  • ไซ่ง่อนเบียร์ และ 333 เบียร์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเบียร์รวมกันกว่า 46% เป็นเบอร์ 1 ในตลาด
  • ในปี 2557 ซาเบคโคมียอดขายกว่า 47,000 ล้านบาท

ความน่าสนใจของตลาดเบียร์ในเวียดนาม ต้องยอมรับว่าเริ่มจาก ตลาดมีขนาดใหญ่ จากจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน เทียบกับไทยกว่า 60 ล้านคน ทำให้การ “บริโภคเบียร์” มีมากกว่า และข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ เคยระบุปี 2558 ตลาดเบียร์ในเวียดนามจะมีมูลค่าในเชิงปริมาณเกือบ 4,000 ล้านลิตร ซึ่งสูงกว่าไทยที่อยู่ระดับ 2,000 ล้านลิตร มูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยซาเบคโคคือผู้นำตลาด ตามด้วยไฮนเก้น และฮาเบโค

ที่ผ่านมา ตลาดเบียร์เวียดนามไม่ได้มีแค่ “ผู้เล่นท้องถิ่น” แต่ยังมีซัปโปโร จากญี่ปุ่น, แอนเฮาเซอร์บุชอินเบฟ จากเบลเยียม ซึ่งทำตลาดเบียร์ยี่ห้อบัดไวเซอร์และเบคส์ รวมถึงบริษัท คาร์ลสเบิร์ก เบียร์เบอร์ 4 ของโลก จากเดนมาร์ก ที่เป็นพันธมิตรกับฮานอย เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ป หรือ ฮาเบโก ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อหุ้นเพิ่มเรียบร้อยแล้ว

++ซาเบคโค สปริงบอร์ดใหม่เจาะตลาดเบียร์เวียดนาม

วิชั่น 2020 ไทยเบฟตั้งเป้าจะมียอดขายเครื่องดื่มจากตลาดต่างประเทศ 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 20%

ในปี 2560 ความพยายามในการเข้าไปเจาะตลาดเครื่องดื่มที่ประเทศเวียดนาม เห็นชัดเจนขึ้นเมื่อมีการเข้าไปตั้งบริษัทลูก “IBHL Vietnam” และเดินเรื่องขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตปลายปีนี้ สินค้าที่จะนำเข้าไปมีตั้งแต่จับตลาดแมสไปจนถึงระดับบน โดยเฉพาะยี่ห้อ “รวงขาวซิลเวอร์” ที่เพิ่งปลุกปั้นมาใหม่ให้พรีเมี่ยมขึ้น และยังมีสก๊อตช์วิสกี้จากอินเวอร์เฮ้าส์ด้วย

ดังนั้น การได้ซาเบคโคมา ทำให้ “พอร์ตโฟลิโอ” ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบ เพราะมีทั้งสุราขาว สุราสี เหล้านอก (จากอินเวอร์เฮ้าส์) และเบียร์

นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนหน้านี้ไทยเบฟยังได้ถือหุ้นเพิ่มใน Vinamilk เวียดนาม ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์นมในอาเซียน

ทำให้เห็นว่าการทำตลาดไม่ได้มีแค่เหล้าเบียร์ แต่ยกไปทั้งพอร์ตโฟลิโอ

++อาณาจักรเจ้าสัวเจริญในเวียดนาม

การเข้าซื้อซาเบคโคของไทยเบฟ เป็นเหนึ่ง “จิ๊กซอว์” ในการขยายอาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป เพราะหากดูหมากรบธุรกิจ เรียกว่ายกโมเดลในไทยไปไว้ที่เวียดนาม ครบวงจรตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” ดังนี้

ต้นน้ำ

มีเบอร์ลี่ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี ที่ปูพรมสร้างโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม (Can) ใหญ่ระดับอาเซียน โรงงานผลิตขวดแก้ว โรงงานผลิตปลากระป๋อง ผลิตเต้าหู้

กลางน้ำ

ธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้ารายใหญ่ มีทั้งไทอัน กรุ๊ป, ไทคอร์ปอินเตอร์เนชั่นแนล และภูไท กรุ๊ป ที่ส่งสินค้าครอบคลุมตลาดเวียดนามตั้งแต่เหนือ กลาง จรดใต้ ซึ่งโดยทั่วไปการส่งสินค้าจะมีเพียงรายใดรายหนึ่งที่เป็นเจ้าถิ่นในพื้นที่ ขณะที่การซื้อกิจการ ไทอัน ไทคอร์ฟ ภูไท ทำให้บีเจซีแกร่งทุกพื้นที่

ปลายน้ำ

  • มีร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท
  • มีไฮเปอร์มาร์เก็ตประเภทค้าส่งและชำระเงินสด (แคชแอนด์แครี่) เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต

ทั้งหมดจะ “ซีนเนอร์ยี” ธุรกิจให้กับองค์กรได้อย่างดี และภาพของ “ทีซีซี กรุ๊ป” ในเวียดนาม หลังได้เบียร์เบอร์ 1 ท้องถิ่นมาครอง จะทำให้พอร์ตบริษัทมีครบทั้งโรงงานผลิตสินค้า มีอาหารและเครื่องดื่มทำตลาด (เตาหู้ ปลากระป๋อง) รวมถึงสินค้าจากบีเจซีอื่น ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว สบู่ นม ไปจำหน่าย มีการกระจายสินค้าของตัวเอง และหน้าร้านตัวเอง

เรียกว่าใหญ่ครบเครื่อง.

ที่มา : mgronline.com/around/detail/9600000127297

]]>
1150832
เบียร์เมนสตรีมร้อนฉ่า ? เมื่อ “สิงห์-เชียร์” พร้อมใจคัมแบ็ก https://positioningmag.com/1091301 Wed, 11 May 2016 15:00:27 +0000 http://positioningmag.com/?p=1091301 ตลาดเบียร์เมนสตรีมแข่งเดือด เมื่อเบียร์สิงห์ขอคัมแบ็กกลับมาสร้างแบรนด์ในรอบ 8 ปี เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายเจนวายมากขึ้น ส่วน ทีเอพี รีลอนช์ “เบียร์เชียร์” ยกเครื่องใหม่ ขอเพิ่มแชร์ในตลาดหลักที่มีค่ายช้าง แต่ดีกรีความร้อนแรงแค่ไหน เรามีคำตอบ

ด้วยไลฟ์สไตล์คนไทยในปัจจุบันที่ชอบสังสรรค์และแฮงก์เอาต์อยู่เสมอ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดเบียร์เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ยังคงมีการเติบโตขึ้นทุกปี ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีการเติบโต 3.8% มีมูลค่า 139,734 ล้านบาท หรือมีปริมาณ 1,500 ล้านลิตร เติบโต 1.3%

เซ็กเมนต์ใหญ่ที่เป็นตัวแม่สำคัญในการไดรฟ์ตลาดยังคงอยู่ที่ตลาดเบียร์เมนสตรีม มีมูลค่า 129,831 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนราว 93% ของตลาดเลยทีเดียว ตลาดนี้ยังคงถูกครองด้วย 2 ผู้เล่นรายใหญ่ “ลีโอ” ครองส่วนแบ่งตลาด 66.4% และ “ช้าง” ครองส่วนแบ่งตลาด 26.7%

และด้วยความหอมหวานของตลาดเมนสตรีมนี่เอง ทำให้แต่ละค่ายต่างแอ็กทีฟในการทำตลาด เพื่อหวังโกยมาร์เก็ตแชร์จากสองแบรนด์ได้บ้าง

“ทีเอพี” ปัดฝุ่น “เบียร์เชียร์” รีลอนซ์ใหม่ในรอบ 10 ปี

ถึงแม้ว่ากลุ่มบริษัททีเอพีจะมุ่งเน้นทำตลาดเบียร์ระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ไฮเนเก้นมาตลอดโดยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้ 96% แต่ด้วยขนาดตลาดมูลค่า 6,546 ล้านบาท มีมูลค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเซ็กเมนต์เมนสตรีมที่มีขนาดถึง 139,734 ล้านบาท

แต่ในเซ็กเมนต์เบียร์เมนสตรีม ค่ายทีเอพีเองก็ยังมี 2 แบรนด์ในมือ คือ ไทเกอร์และเชียร์ โดยที่ไทเกอร์เน้นเจาะกลุ่มไปทางด้านดนตรีอินดี้ไม่เหมือนรายอื่น ในขณะที่เบียร์เชียร์ก็ยังมีการทำตลาดอยู่แต่ไม่แอ็กทีฟมากนัก

ล่าสุด หลังจากที่กลุ่มบริษัททีเอพีได้เปิดตัวแม่ทัพคนใหม่ มร.เจฟวู เข้ามากุมบังเหียนในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ก่อนหน้านี้เจฟได้เข้าร่วมงานกับไฮเนเก้นไต้หวันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด จนได้รับตำแหน่งสูงสุดด้านฝ่ายการตลาดในปี พ.ศ. 2554 ผลงานของเจฟช่วยทำให้ไฮเนเก้นไต้หวันมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 15%

โจทย์แรกที่เจฟได้ทำการบ้านในตลาดประเทศไทยก็คือ รักษาแบรนด์ไฮเนเก้นในตลาดพรีเมียมไว้ต่อเนื่อง เพราะแข็งแรงอยู่แล้ว โดยหันมาให้น้ำหนักกับการบุกตลาดเมนสตรีมให้มากขึ้น เพราะมองว่าตลาดยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

เมื่อมองว่าตลาดยังหอมหวาน และมีโอกาสอยู่มาก กลุ่มทีเอพีจึงจับเบียร์เชียร์แบรนด์น้องเล็กสุดมาปัดฝุ่นชนิดแบบยกเครื่อง ทั้งทำการปรับภาพลักษณ์ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง ปรับรสชาติใหม่ และออกรสชาติใหม่ “เชียร์ ซีเลคชั่น ไรซ์เบอร์รี่” ที่จะเป็นรสชาติพิเศษแบบลิมิเต็ดอิดิชัน เป็นไฮไลต์สำคัญ เป็นการผสมระหว่างวัตถุดิบในประเทศไทยกับมอลต์จากต่างประเทศ

การรีลอนซ์ใหม่ครั้งนี้ของเบียร์เชียร์ ถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี หลังจากที่ทำตลาดมา 13 ปี มาในคอนเซ็ปต์ “Cheers to The World” เชียร์ไทยไประดับโลก

สาเหตุที่ได้เลือกเบียร์เชียร์มารีลอนซ์ใหม่ เพราะว่าแบรนด์ยังมีโอกาสทางการตลาดสูงอยู่ เป็นแบรนด์ที่มีคาแร็กเตอร์ของความเบียร์โลคอล เข้ากันได้ดีกับคนไทย แต่ได้กระบวนการผลิตระดับอินเตอร์แบบไฮเนเก้น และมีราคาเข้าถึงได้ง่าย โอกาสในการทำตลาดจึงไม่ใช่เรื่องยาก

ชุตา หงษ์สุวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์เบียร์ไทเกอร์ และเชียร์ กล่าวว่า “เดิมเบียร์เชียร์จะไม่เน้นการตลาดมากนัก จะมุ่งเน้นแต่การขายผ่านช่องทางการขายเป็นหลัก ซึ่งการนำมาปรับภาพลักษณ์ให้เหมือนกลับมาจากเมืองนอก น่าจะเป็นทางเลือกของผู้บริโภคได้อย่างดี

เมื่อเทียบระหว่างคาแร็กเตอร์ของเบียร์ไทเกอร์ จะเน้นความกล้าแสดงออกจับกิจกรรมการตลาดทางด้านดนตรีแนวอินดี้ เปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ได้แสดงออก ส่วนเบียร์เชียร์จะเน้นคนทั่วๆ ไป กิจกรรมการตลาดจะมุ่งไปเรื่องของกีฬา จะเป็นการชวนคนไทยมาเชียร์บอลไทย มีแคมเปญใหญ่ช่วงกลางปีนี้

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของกลุ่มบริษัททีเอพี รายได้หลักยังคงเป็นพี่ใหญ่ไฮเนเก้น 80% รองลงมาเป็นไทเกอร์ 10% และเชียร์ 10% โดยที่ตั้งเป้าการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดในส่วนเบียร์เชียร์ 7-10% และไทเกอร์ 10%

เบียร์สิงห์คัมแบ็ก เจาะใจ “เจนวาย”

ทางค่ายสิงห์นอกจากจะมีลีโอที่เป็นหัวหอกสำคัญในเมนสตรีมที่ครองเบอร์ 1 ในตลาดแล้ว ปีนี้จะหันมาให้น้ำหนักกับการทำตลาดของ “เบียร์สิงห์” มากขึ้น

การทำตลาดของเบียร์สิงห์ในปีนี้ ถือเป็นการคัมแบ็กในการสร้างแบรนด์ในรอบ 8 ปี หลังจากที่ห่างหายไปนาน โดยไปให้ความสำคัญกับในส่วนของสิงห์คอร์เปอเรชั่นในภาพลักษณ์ขององค์กรเสียมากกว่า อย่างเช่นการเป็นพาร์ตเนอร์กับทางสโมสรฟุตบอลเชลซี เน้นสร้างความเป็น International Thai Beer

โดยโฆษณาทางโทรทัศน์ที่เบียร์สิงห์ได้ใช้ล่าสุดเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ได้ดอม เหตระกูล, อู๋ ธนากร และเคน ธีระเดช มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่หลังจากที่มีกฎหมายในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาใช้อย่างจริงจัง เบียร์สิงห์จึงห่างหายจากโฆษณาทางโทรทัศน์ไปเลย

ในปีนี้จึงกลับมาพร้อมกับอาวุธครบมือด้วยแคมเปญใหญ่แห่งปี “Bring It On ถ้าใจบอกว่าใช่ แล้วจะรออะไร” ซึ่งจะใช้เป็น Tagline ตลอดปี 2559 แคมเปญนี้ได้ผสมทุกสื่อไว้ด้วยกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่จะรุกหนักออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาโฆษณา โดยใช้งบราว 15-20% จากเดิมในปีที่แล้วที่แทบจะไม่ได้ใช้เลย และเริ่มใช้อย่างจริงจังเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แนวคิดหลักของแคมเปญนี้เน้นในเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ออกไปทำอะไรที่อยากทำมากกว่า ยังคงให้น้ำหนักไปกับการสร้างแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์เป็นหลัก

ที่จริงแล้ว จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้สิงห์ต้องขยับตัวครั้งใหญ่ นอกจากต้องการแข่งขันในตลาดแล้ว และยังมีในเรื่องของการรับรู้ของแบรนด์ จากผลสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่ที่รู้จักเบียร์สิงห์คือคนกลุ่ม Gen X วัย 35 ปีขึ้นไป ส่วนคน Gen Y รู้จักแบรนด์สิงห์แต่ไม่รู้ว่าเป็นแบรนด์ “เบียร์สิงห์” ยังไม่มีความเข้าใจในแบรนด์ คนกลุ่ม Gen Y กลุ่มนี้เป็นลูกค้าหลักของลีโอและช้างอยู่แล้ว สิงห์ต้องการที่จะจับกลุ่ม GenY ให้มากขึ้น เพื่อให้แบรนด์ดูเด็กลงและทันสมัย

ธิตินันท์ ชุ่มภาณี ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “เบียร์สิงห์เป็นแบรนด์ที่คน Gen X รู้จักดีอยู่แล้ว แต่กลุ่มคน Gen Y รู้จักแบรนด์สิงห์แต่ไม่ได้รู้จักในฐานะแบรนด์เบียร์ ทำให้ปีนี้ต้องแอ็กทีฟสร้างแบรนด์มากขึ้น โจทย์ใหญ่ที่สำคัญก็คือการสร้างการรับรู้ การทำให้ผู้บริโภคจำได้ว่าสิงห์คืออะไร”

การคัมแบ็กทำตลาดในครั้งนี้ ยังเป็นเสมือนการรีโพสิชันให้เบียร์สิงห์มีการวางจุดยืนในระดับพรีเมียม-แมส มีระดับราคาอยู่กึ่งกลางระหว่างเมนสตรีมและพรีเมียม และวางกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มเดียวกับลีโอ แต่ด้วยคาแร็กเตอร์ของลีโอมีความแมสมากกว่าเพราะด้วยราคาที่คนเข้าถึงได้ง่าย วางภาพลักษณ์เป็น Sexy Entertaining Beer กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการประกวดสาวเซ็กซี่เพื่อเอาใจหนุ่มๆ ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดอีเวนต์ดนตรีเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

ส่วนกิจกรรมการตลาดของเบียร์สิงห์จะเน้นการเป็นผู้สนับสนุนกีฬา และคอนเสิร์ตเป็นหลัก แต่ในปีนี้จะมีการเลือกกิจกรรมให้มีคาแร็กเตอร์ตรงกับแบรนด์มากขึ้น ไม่ใช่การสนับสนุนทุกงานเสมอไป

2_beers

ค่ายสิงห์ยันไม่ชิงแชร์ ขอเน้นบริหารต้นทุน-กำไร

การนำเบียร์สิงห์กลับมาเจาะใจเจนวายของค่ายสิงห์รอบนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องตลาดเมนสตรีมที่กำลังคึกคัก จากการที่ “ค่ายช้าง” เปิดเกมหนัก “รีแพ็กเกจจิ้ง” ปรับรสชาติให้ถูกปากมากขึ้น แถมยังจุดติดจากกระแสโซเชียลมีเดียที่มีคนดัง ดารา ร่วมด้วยช่วยกันโพสต์ ตามมาด้วยการเดินสายจัดกิจกรรมไปทั่วประเทศ สร้างแรงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งตลาด จนมีกระแสว่าค่ายสิงห์เองก็อาจต้องกุมขมับ กับการปรับตัวของคู่แข่งรอบนี้ที่ทำเอาบัลลังก์ของ “ลีโอ” สั่นสะเทือนไปไม่น้อยทีเดียว

ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ก็ยอมรับว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา ได้ถูกคู่แข่งชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้ 3-4% จากที่เบียร์ลีโอและเบียร์สิงห์รวมกันเคยมีส่วนแบ่งตลาด 72% เหลือ 68% แต่ไม่ใช่เรื่องที่ค่ายสิงห์จะต้อง “เอาคืน” ชนิดเทกระเป๋าเท่าไหร่เท่ากัน เพราะเป้าหมายสำคัญของค่ายสิงห์ในปีนี้ คือ การเน้นบริหารต้นทุนเพื่อรักษาผลกำไร

ถ้าเราไปบ้าตาม สู้หมด หมดทุกช่องทาง ต้นทุนก็ต้องเพิ่มอีกมหาศาล ผมการันตีกับบอร์ดเลยว่า ถึงยอดขายจะลดลงเพราะการแข่งขันสูงขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนเราเพิ่มขึ้นไม่มาก เพื่อรักษากำไร 5% ของเราเอาไว้ ในมุมของเราการเป็นเจ้าตลาด ไม่จำเป็นต้องมองเรื่องส่วนแบ่งตลาดอย่างเดียว ไม่ใช่ว่ามีแชร์ตลาด80-90%  แต่ผลประกอบการติดลบ มันไม่เกิดประโยชน์

ปิติย้ำว่า “จะสู้ในสิ่งที่เราเห็นสมควรสู้ ตลาดไหนที่เราไม่เห็นความจำเป็น อย่างการปิดร้านอาหารที่ 10-20 ร้านเพื่อจัดกิจกรรมนั้น จึงไม่ใช่ทางของค่ายสิงห์”

ในเมื่อค่ายเรายังมีธุรกิจอื่นๆ มีบริษัทในเครืออีกมากมาย ปีที่ผ่านมาเราขยายจากที่เคยมีบริษัทในเครือ 50-60 บริษัท เพิ่มมาเป็น 115 บริษัท จำนวนพนักงานเพิ่มจาก 5 พันคน เป็น  1.5 หมื่นคน โดยที่มีธุรกิจเบียร์คือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจในเครือให้เติบโตเป็นแขนขาต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้สภาพตลาดเบียร์เองก็เริ่มอิ่มตัว ปีที่แล้วตลาดไม่โต บวกเพิ่มแค่ 1% ซึ่งก็มาจากการที่ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สต๊อกสินค้าไว้ ดังนั้นในปีนี้ ปิติ ประเมินว่า ตัวเลขตลาดเบียร์น่าจะ “ติดลบ” ไม่น้อยกว่า 3-5% ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของภาครัฐควบคุมโฆษณาสินค้าแอลกอฮอล์ ทำให้การทำตลาดและขายยากขึ้น

ในเมื่อตลาดไม่โต โฆษณาก็ยาก ปิติบอกว่า ยุทธศาสตร์ที่ค่ายสิงห์เลือกเดินจึงมุ่งการประคองค่าใช้จ่าย ด้วยงบการตลาด 1,600-1,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เท่ากันทุกปี ไม่เน้นแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด การปรับแพ็กเกจจิ้งของทั้งเบียร์สิงห์และลีโอ ก็เป็นเรื่องปกติที่ทำเป็นประจำ โดยเบียร์ลีโอนั้นจะหันมาเน้นโลโก้ “เสือดาว” มากกว่าตัวอักษรคำว่า “ลีโอ”

ในมุมของปิติ การแย่งชิงส่วนแบงตลาดไม่ใช่เกมยากของธุรกิจเบียร์

“แค่ผมสั่งผลิตสินค้าเพื่อเพิ่มสต๊อกจาก 45-50 ล้านลิตร เพิ่มให้เต็มพื้นที่ 100 ล้านลิตร ผมก็เพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้แล้ว แต่ถ้าเรายังดื้อดึงทำไป เท่ากับไปบิดเบือนพื้นฐานการทำธุรกิจ ถามว่าทำได้มั้ย ทำได้ แต่จะทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วผิดกฎหมายด้วย กำไรก็ไม่มี” นั่นคือคำตอบสุดท้ายจากผู้บริหารค่ายสิงห์

1_beers

]]>
1091301