Bicycle – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 05 Nov 2013 00:00:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “โค้ก” ชวนร่วมงาน“Coca-Cola presents a day BIKE FEST 2013” จัดหนัก Active Healthy Living Zone เพื่อคนรักสุขภาพ https://positioningmag.com/57368 Tue, 05 Nov 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57368

“โคคา-โคลา” หรือ “โค้ก” ร่วมกับ นิตยสาร “อะ เดย์” ขอเชิญคนรักการปั่นและคนที่สนใจอยากจะเริ่มปั่น ร่วมงาน “Coca-Cola presents a day BIKE FEST 2013” เทศกาลที่ครบเครื่องทุกเรื่องจักรยานเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ในพฤหัสบดีที่ 7 ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ณ สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ มักกะสัน เวลา 10.00-21.00 น. โดย “โค้ก” ร่วมกับ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เปิด Active Healthy Living Zone ยกทัพผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมาร่วมพบปะให้ความรู้และคำแนะนำครบ 3อ – อาหาร ออกกำลังกาย และอารมรณ์ แก่นักปั่นและผู้เข้าชมงาน พร้อมกิจกรรมสนุกๆ เพื่อสุขภาพมากมาย อาทิ ฐานเกมส์เพื่อลับสมองประลองความรู้ด้านสุขภาพ นิทรรศการรวบรวมเรื่องสุขภาพที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน และการตรวจความฟิตทั้งกายและใจให้คุณแบบฟรีๆ

]]>
57368
“แอล เอ ไบซิเคิ้ล” ทุ่ม 40 ล้าน ผุด “ซีซี ช็อป” ผสานแนวคิด ‘ไบค์ดูเทนเม้นท์’ ปั้น 5 โซนสำหรับนักปั่นโดยเฉพาะ https://positioningmag.com/57220 Wed, 18 Sep 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57220

บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ปั้นโมเดลไบค์สตูดิโอรูปแบบใหม่ ไบค์ดูเทนเม้นท์ (BIKEDUTAINMENT) ในชื่อ “CULTURE CYCLISTE SHOP: คัลเจอร์ ไซคลิสท์ ช็อป” หรือ ซีซี ช็อป ผสาน 5 แนวคิดสำหรับนักปั่นโดยเฉพาะ พร้อมเสริมทัพด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เปิดไบค์สตูดิโอครบวงจรและใหญ่ที่สุดบนพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตรแห่งแรกในประเทศไทย

นายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “คัลเจอร์ ไซคลิสท์ ช็อป หรือซีซีช็อป แห่งนี้ เรียกว่าเป็นสถานที่ที่รวมตัวผู้ที่มีใจรักในการปั่นจักรยานโดยเฉพาะ เราสร้างที่นี่ด้วยความเชื่อว่าจักรยานจะสามารถเคลื่อนที่ไปได้นั้น ต้องอาศัยแรงของคนปั่น พร้อมด้วยใจรักที่ปั่นไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจักรยานแบบใด สไตล์ไหน จะมีความชอบแบบกีฬา แบบท่องเที่ยว หรือปั่นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่ารสนิยมการปั่นจะเป็นแบบใด Culture Cycliste Shop จึงคือคำตอบ เรียกว่าใครก็ตามที่รักการปั่นจะสามารถคอนเน็คท์หรือเชื่อมโยงกับจักรยานได้นั้น ต้องมีสถานที่ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับเขาได้”

นายสุรสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ซีซี ช็อปแห่งนี้ นับเป็นแห่งที่สอง หลังจากนำร่องเปิดไปแล้วเมื่อ 1 ที่ผ่านมาคือ 23 กันยายน 2555 ที่อาคารอินโดสุเอช หลังสวน พื้นที่ 135 ตารางเมตร แต่สำหรับที่นี่ (โครงการอิมเมจมอลล์ พุทธมณฑลสาย 4) เราเป็นพื้นที่ 2 ชั้น รวมกว่า 1,000 ตารางเมตร คอนเซ็ปท์หลักของซีซีช็อปแห่งนี้คือ Show Your Bike, Show Your Life ที่เน้นการเป็นศูนย์รวมสำหรับนักปั่นจริงๆ นักปั่นที่มาซีซีช็อปจะได้พบกับประสบการณ์ตรงรูปแบบใหม่ผ่านทั้ง 5 โซนได้แก่ 1) ศูนย์รวมจักรยานและอุปกรณ์ตกแต่ง (Product Zone) ที่รวมจักรยานแบรนด์ชั้นนำกว่า 30 แบรนด์ดังจากทั่วโลก รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งไว้มากที่สุดกว่า 100 แบรนด์ 2) ศูนย์รวมบริการครบวงจรและการดูแลรักษา (Certified Bike Care) ที่ได้รับมาตรฐานทั้งบุคลากรและสินค้าที่นำมาดูแลจักรยาน 3) ศูนย์ฝึกภาคสนามและในร่ม (Indoor Training) มีเครื่องสำหรับฝึกที่ได้มาตรฐานและมีผู้เชี่ยวชาญในการแนะนำการใช้อย่างถูกวิธี เพียงแค่นำจักรยานมาขับขี่แบบอินดอร์ในวันที่อากาศไม่เป็นใจก็สามารถทำได้ พร้อมทั้งมีโซน rest room สำหรับนักปั่นที่ต้องการเก็บของและชำระล้างร่างกาย และโซนสุดท้าย 4) โภชนาการสำหรับนักปั่น (Nutrition food for Cyclist) ที่นอกจากจะดูแลสุขภาพของจักรยานแล้ว สุขภาพของนักปั่นก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเราจึงจัดโซนไบค์คาเฟ่ขนาดกระทัดรัด ที่มีโภชนากรที่เชี่ยวชาญมาดูแลเรื่องของอาหารสำหรับนักปั่นโดยเฉพาะ เพราะคุณค่าทางสารอาหารบางอย่างอาจจำเป็นสำหรับนักปั่นมากกว่าคนทั่วไป และ 5) ศูนย์รวมบอดี้ฟิตติ้ง การวัดตัวเพื่อให้ลูกค้าเลือกจักรยานที่เหมาะสมกับสรีระ ด้วยเครื่องมือล่าสุดที่ล้ำสมัย”

“ทั้งนี้ คัลเจอร์ ไซคลิสท์ ช็อป หรือซีซี ช็อป มีการลงทุนไปกว่า 40 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการและสมัครเป็นเมมเบอร์จากบริการที่ครบครันในทุกด้านเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เรามีฐานสมาชิกอยู่กว่า 800 คน เป็น 1,500 คน ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเปิดบริการเต็มรูปแบบวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีทั้งสิ้น 2 สาขา และน่าจะมีการขยายสาขาออกไปเพื่อรองรับกลุ่มนักปั่นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งด้วยแอล เอ ไบซิเคิ้ลเอง ก็ถือเป็นผู้นำในตลาดและมีฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ เราจึงมองว่าการเตรียมพร้อมในการเป็นไบค์ฮับของอาเซียนหลังจากการเปิดเออีซีในปี 2558 ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ในส่วนของซีซี ช็อปเอง เราก็มองว่าหากมีโอกาสที่ดี ก็เป็นไปได้ที่ขยายสาขาอย่างเต็มรูปแบบไปยังต่างประเทศ แต่เบื้องต้นขอสร้างฐานกลุ่มผู้ใช้บริการในประเทศไทยก่อน เพราะหากเรามีการสนับสนุนในประเทศดีเยี่ยมแล้ว การขยายไปยังต่างประเทศจึงเป็นโมเดลที่เราต้องศึกษาตลาดต่อไป” นายสุรสิทธิ์ กล่าว

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Culture Cycliste Shop หรือ CC Shop ได้ที่ www.culturecycliste.com หรือช่องทางอื่นๆ ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ CultureCycliste

]]>
57220
YouBike ยานพาหนะใหม่ในไทเป https://positioningmag.com/15004 Fri, 16 Nov 2012 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=15004

 

โครงการจักรยานเช่าสาธารณะเริ่มต้นเป็นเทรนด์ใหม่ของ “กรีนซิตี้” อย่างจริงจังเมื่อ 5 ปีก่อน ด้วยการนำร่องของประเทศต่างๆ ในยุโรป อันได้แก่ ปารีส ลอนดอน สเปน อิตาลี เยอรมัน แต่โครงการที่ใหญ่สุดอยู่ที่หังโจว ด้วยจำนวนรถ 61,000 คัน และมี 2,400 สถานีทั่วเมือง ปัจจุบันมี 165 เมืองทั่วโลกที่ได้ทำโครงการนี้ รวมถึง Green Bangkok Bike ของกทม. ด้วย

และที่ไต้หวันองก็ได้เริ่มโครงการนี้ที่แรกทางเมืองเกาฉงทางตอนใต้ของไต้หวัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ด้วยเป้าหมายที่จะลดมลพิษ และการลดใช้พลังงานอย่างจริงจัง โครงการนี้จึงถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งที่ไทเปในชื่อโครงการว่า “YouBike” และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโดยตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีต่อจากนี้จะเปิดให้ครบ 162 สถานี และมีรถพร้อมให้เช่า 5,300 คัน

โดยทุกเมืองที่กล่าวมาทั้งหมดมีความตั้งใจที่จะทำให้ “จักรยาน” กลายเป็นยานพาหนะที่เติมเต็มรอยต่อของการเดินทาง จากประตูทางออกของรถไฟใต้ดิน รวมถึงระยะทางที่ไกลเกินไปที่จะเดิน หรือใกล้เกินไปที่จะขับรถ ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการมาได้เดือนกว่า ก็จะเห็นว่าได้รับความนิยมมากระดับหนึ่งโดยเฉพาะกับวัยรุ่นและนักท่องเที่ยว

YouBike เป็นโครงการของรัฐ และมีพันธมิตรหลักด้านเทคโนโลยีรวมๆ กัน 15 ราย อาทิ บริษัทโทรศัพท์จงหัวทำระบบ SMS ส่งรหัสผ่านยืนยันการสมัครสมาชิก, ไมโครซอฟท์ดูแลเรื่องระบบในตู้สมัครสมาชิกแบบจอสัมผัส บริษัท EasyCard Corporation ทำระบบใช้บัตรที่มีชิป RFID สำหรับใช้กับรถไฟฟ้าสามารถใช้จ่ายเงินค่าเช่ารถจักรยานได้ในบัตรเดียวกัน และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ บริษัทไจแอนท์ ผู้ผลิตจักรยานคุณภาพซึ่งเป็นแบรนด์ท้องถิ่นของไต้หวันนั่นเอง 

นอกจากนี้แล้วด้านที่หุ้มล้อรถจักรยานด้านหลังยังมีพื้นที่สำหรับการลงโฆษณาสินค้าแบรนด์ต่างๆ ด้วย

 

จุดเด่นของ Youbike

– มี 42 สถานทีทั่วไทเป จะรับจากจุดไหนและคืนที่จุดไหนก็ได้ แต่ละสถานีจะมีรถจอดรอไว้ 10 คันขึ้นไป

– ใช้บัตรสมาร์ดการ์ดแบบเดียวกับที่ใช้ในรถไฟฟ้ามาจ่ายเงินค่าเช่าจักรยานได้

– ฟรี 30 นาทีแรก และคิด 10 บาททุกๆ ครึ่งชั่วโมง

– สมัครสมาชิกที่ตู้จอสัมผัส ณ สถานีจอดรถได้ และรอรับรหัสผ่านทางมือถือ เพื่อยืนยันตัวตน

วิธีการใช้งานเช่าจักรยาน : แค่แตะบัตรถไฟฟ้าที่เครื่องอ่าน จากนั้นดึงจักรยานออกจากที่จอด เมื่อต้องการจะคืนก็นำจักรยานไปจอดเข้าที่จอดและแตะบัตรอีกครั้งก็จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการเช่าเท่าไหร่ ซึ่งก็จะทำการหักเงินจากบัตรโดยอัตโนมัติ

การวัดความสำเร็จของโครงการ YouBike มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ 5,000 ตันในไทเปภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

]]>
15004
Bike Chic ฮิตของจริง https://positioningmag.com/14183 Thu, 27 Oct 2011 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=14183

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา POSITIONING นำเสนอเรื่องราวของจักรยาน Bike Chic จับเทรนด์ของนักปั่นจักรยานที่กลายเป็นกระแสที่ไดรับความนิยมไปทั่ว หลังจากนั้นไม่นาน ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ก็เกิดคำถาม “ปั่นแล้วไปไหน”แล้วจัดงานนิทรรศกาลชื่อเดียวกัน เพื่อนำผู้ชมงานร่วมเดินทางไปกับเรื่องราวบนรอยล้อของจักรยาน เพื่อซึมซับเอาวิถีชีวิตที่ผู้คนมากมายได้เรียนรู้ผ่านหลังอานจักรยาน และธุรกิจที่สามารถเอาเทรนด์ดังกล่าวไปสร้างเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ของตัวเอง 

ในงานนี้นิทรรศกาลถูกจัดเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ไลฟ์สไตล์สองล้อจากมุมมองการใช้ชีวิตของสิงห์นักปั่น ส่วนที่ 2 เมื่อพาหนะสองล้อถูกต่อยอดให้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ส่วนแรกนำเอาจักรยานของคนดัง พร้อมทั้งบันทึกเรื่องราวของเขาเหล่านั้นว่าหลังจากขี่จักรยานแล้วชีวิตของพวกเขาเป็นเช่นไร โดยตัวอย่างเช่น เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ที่ค้นพบร้านอาหารใหม่ๆ และนำไปสู่เส้นทางที่ตัวเองไม่เคยผ่านมาก่อน ขณะที่ประหยัดเวลาเดินทางในบริเวณใกล้บ้านตัวเอง 

ส่วนที่ 2 สำรวจแนวทางของธุรกิจยุคใหม่ ผ่านวิดีโอสัมภาษณ์ผู้คนที่ต่อยอดเรื่องราวและความรู้สึกพิเศษจากการปั่นจักรยานออกไปเป็นธุรกิจทั้งในรูปแบบของสิ่งของเครื่องใช้และบริการ เช่น กลุ่มนักปั่นจักรยานส่งเอกสาร BikeXenger, ร้าน Pedalicious ร้านอาหารที่ใช้จักรยานมาตกแต่งร้าน และกลายเป็นศูนย์กลางคอมมูนิตี้จักรยานสำหรับเหล่าครีเอทีฟ 

นิทรรศการทั้งสองส่วนนี้ยังคงจัดแสดงอยู่ที่ TCDC ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน – 6 พฤศจิกายน 2554 สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะปั่นจักรยานหรือไม่ ลองไปถามใจตัวเองก่อนว่า “ปั่นแล้วไปไหน”

]]>
14183
เรื่องเล่าหลังอานจักรยาน “ยุทธนา ม้ามณีแดง” https://positioningmag.com/13978 Wed, 10 Aug 2011 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=13978

เวลา 13 ปีเต็ม ที่ “มะม่วง หรือ ยุทธนา ม้ามณีแดง” ผู้อำนวยการขายและการตลาด บีเอ็มดับเบิลยู ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทยจำกัด เลือก“จักรยาน” ออกกำลังกายยามว่าง ที่บอกถึงดีกรีความหลงใหลในอุปกรณ์สองล้อของผู้บริหารวัย 43 ปี คนนี้ได้เป็นอย่างดี

“ตะวัน mtb” คือ ชื่อที่คุ้นเคยดีของชาวเสือภูเขา ในห้อง blue panet ในเว็บ pantip.com คอมมูนิตี้ออนไลน์ ที่มะม่วงใช้โพสท์ข้อความกับกลุ่มเพื่อนๆในนี้ ที่เขาเริ่มต้นมาจากความต้องการหากีฬาอื่นๆ ที่ไม่ใช่กีฬายอดฮิต อย่างตีกอล์ฟจนมาเจอกลุ่มเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์ วัยใกล้เคียงกัน และสนใจไอที และจักรยานเหมือนกัน

จากนั้นโลกในวันพักผ่อนทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ของเขาก็วนเวียนอยู่บนหลังอานจักรยาน จนมาถึงทุกวันนี้

“ ทุกครั้งที่ขี่รู้สึกสนุก ผ่อนคลาย มีลมเย็นๆ ปะทะหน้า ทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับเป็นเด็กอีกครั้ง ได้เห็นทั้งโลกกว้าง เห็นชีวิต กีฬาชนิดอื่นๆ ก็ให้ได้ไม่เหมือน ”มะม่วงบอกถึงความรู้สึกเมื่ออยู่บนหลังอานจักรยาน

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ มะม่วงจะออกทริปขี่จักรยาน ไปกับกลุ่มเพื่อนๆ ที่รู้จักกันดีจากเว็บไซต์ bikelove.com และกลุ่มไบคฟลายเดย์ โดยจะมีกลุ่มเพื่อนที่ขี่ร่วมกันเป็นประจำ ที่เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูง องค์กรธุรกิจ และรัฐวิสาหกิจ นัดกันขี่ตามสวนสาธารณะ แต่หากเป็นวันหยุดยาวจะนัดไปขี่ เชียงใหม่ เป็นประจำทุกปี

ถ้าไม่มีทริปต่างจังหวัด มะม่วงจะคว้าจักรยานคู่ใจออกท่องเที่ยวตามย่านเมืองเก่า ของกรุงเทพฯ ขี่จากบ้านพักถนนราชพฤกษ์ พระราม 5 ลัดเลาะไปตามเส้นทาง หาของกินแถวเยาวราช เป็นอีกทางเลือกกิจกรรมที่สร้างสนุก และผ่อนคลายได้ไม่แพ้กัน

ความสุขและสนุกที่จากกีฬาชนิดนี้ ยังแฝงด้วยแง่คิดสอนใจเขาได้ตลอด การขี่จักรยานที่มีแค่ 2 ล้อ ต้องรักษาสมดุลย์ให้ดี เปรียบแล้วเหมือนกับชีวิตจริงของคนเรา ที่ต้องรักษาสมดุลย์ระหว่างงานและชีวิตครอบครัวให้ดี ถ้าไม่บาลานซ์ให้ดีชีวิตก็แย่

ส่วนการ ขี่จักรยานเสือภูเขา ที่ต้องฝ่าเส้นทางวิบาก ไต่เขาลงเนิน เปรียบได้กับชีวิตการทำงานเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้วย่อมมีลง ช่วงขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่ว่ายากแล้ว ชีวิตช่วงขาลงก็ลำบากไม่แพ้กัน

ถึงวันนี้ เขาจะไม่ได้เลือก ความสนุก สุดมันในการบุกป่า ฝ่าเส้นทางที่เต็มไปด้วยโขดหิน เนินเขาของเสือภูเขาเหมือนเมื่อเริ่มขี่ใหม่ๆ โดยมาขี่เสือหมอบบนเส้นทางเรียบเน้นการขี่ระยะทางไกล เน้นความเร็ว ไม่ว่าเสือภูเขา หรือ เสือหมอบก็ให้แง่คิดในเรื่องของ “สมาธิ” เพราะขี่ระยะทางไกล ที่อาศัยความเร็วแบบนี้ หากขาดสมาธิ และสตินิดเดียว โอกาสพลาดย่อมสูงมาก

มะม่วงบอกเคล็ดลับว่ายิ่งต้องใช้สมาธิแบบนี้ เป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริหาร เมื่อไม่ต้องหมกมุ่นอยู่กับปัญหา วนเวียนเรื่องงาน ย่อม “คลายเครียด” ไปได้โดยปริยาย

การเลือกใช้จักรยานมีคุณภาพ เป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะทริปต่างจังหวัด ต้องขี่ทางไกล หรือเส้นทางวิบาก ถึงรแม้าคาจะสูงกว่าจักรยานธรรมดาทั่วไป แต่เรื่องความปลอดภัยแล้วเทียบกันไม่ได้

ส่วนเรื่องการแต่งกายด้วยชุดจักรยาน ไม่ใช่เรื่องจำเป็น หรือเป็นข้อจำกัด ที่จะทำให้คนไม่ขี่จักรยาน “ชุดแบบไหนก็ขี่จักรยานได้ หากต้องการออกกำลังกาย”

ความนิยมของจักรยานวันนี้เพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากโซเชียลมีเดียทำให้คนเข้าถึงข้อมูลง่าย ความพร้อมของอุปกรณ์ ราคาจักรยานถูกลงกว่าในอดีต การขี่จักรยานเลยแพร่หลาย

“เพื่อนๆหลายคนกำลังเลิกตีกอล์ฟ หันมาขี่จักรยาน เพราะเวลาไปตีกอล์ฟต่างจังหวัด เห็นพื้นที่แค่ 9 หลุม หรือ 18 หลุม แต่จักรยาน ใช้เวลาเท่ากัน ได้เห็นสัมผัสชีวิตได้มากกว่า จะขี่กี่คนก็ได้ ไม่ต้องจำกัดเหมือนกับกอล์ฟตีได้ก็แค่ก๊วนละ 4 คน ”มะม่วงบอกถึงเสนห์ของจักรยานสองล้อที่หาไม่ได้ในกีฬาชนิดอื่น

ทุกคันออกแบบได้
เราพบกับมะม่วง พร้อมกับจักรยานคันงาม ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างเสือภูเขาและเสือหมอบ และฟิกซเกียร์ที่เขาประกอบขึ้นเอง รูปทรงที่ดูเหมือนจักรยานแม่บ้าน เป็นความตั้งใจ เพื่อให้ภรรยาที่ประกอบอาชีพแอร์โฮสเตท ได้หันมาขี่จักรยานออกกำลังกาย

ประสบการณ์บนหลังอาน เป็นเวลาถึง 13 ปี กับการเป็นเจ้าของจักรยาน 10 คัน ที่มีทั้งเสือภูเขา เสือหมอบ ฟิกซเกียร์ ที่เขาประกอบเองทั้งหมด ทำให้มะม่วง คัดสรรชิ้นส่วนอย่างมั่นใจ จนได้จักรยานคันสวยสไตล์ย้อนยุค ที่ใช้ชิ้นส่วนอย่างดี อย่าง เกียร์ที่ใช้ระบบ “สับถัง” ซึ่งเป็นสไตล์เสือหมอบย้อนยุค ดุมล้อม เสือหมอบ ยี่ห้อ White industry มีจุดเด่นเรื่อง ความลื่นแม้ว่าจะต้องแลกด้วยเงิน 10,000 บาท แต่ก็คุ้ม

จานเป็นของเสือหมอบ แต่ตีนผีหลัง เป็นเสือภูเขา ใช้วงล้อ fixed gear ส่วนเฟรม ใช้โคโมรี่ หรือ เหล็กผสมโมลีบัม เลือกทรง mixzey สไตล์ ผ่าหวายของฝรั่งเศส ที่ออกแบบมาให้ผู้หญิงใช้งาน

เบาะหนังยี่ห้อแท้ brook ราคาแค่ 3,000 บาท รวมแล้วใช้เงินไป 50,000 บาท แน่นอนว่าแลกไม่ได้กับความสุข ภูมิใจ และสุขภาพของภรรยาที่จะตามมาอย่างแน่นอน

]]>
13978
“ฮาร์ท” สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล Happy & Money Wheel https://positioningmag.com/13979 Wed, 10 Aug 2011 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=13979

“ฮาร์ท สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล” ถือเป็นคนดังในวงการบันเทิงคนแรกๆ ที่มีข่าวเรื่องการปั่นจักรยาน ซึ่งก็ผ่านมาได้เกือบ 10 ปีแล้ว หัวข้อที่เป็นข่าวของเขานอกจากผลงานเพลง การทำงานเป็นพิธีกรข่าว และงานต่างๆ แล้ว เรื่องจักรยานก็ทำให้เขาฮอตไม่แพ้กัน

แน่นอนว่าความดังของเขาก็ทำให้การปั่นจักรยานกลายเป็นที่สนใจของผู้ชมไปด้วย แบบที่รู้สึกกันว่าขนาดดาราที่ต้องหน้าตาดี รักษาผิวพรรณเพื่อออกหน้ากล้อง ยังกล้าปั่นจักรยานลุยถนน ไม่กลัวดำแดด หรือการเจอฝุ่นควัน แล้วคนทั่วไปจะไปกลัวทำไม

“ฮาร์ท” เป็นคนดัง แต่เขาก็บอกว่า “ผมไม่ใช่ ณเดชน์ เลยไม่กลัว ซึ่งแม้แต่ครีมกันแดดยังไม่ทาเลย มีแค่หมวกกันแดด ก็พอแล้ว”

เขาปั่นจักรยานตั้งแต่ช่วงปี 2546-2547 ซื้อคันแรกราคาประมาณ 20,000 บาท เพราะเบื่อรถติดในกรุงเทพฯ ช่วงนั้นอ่านข่าวอยู่ที่ช่อง 3 ซึ่งอยู่ตึกเอ็มโพเรียม ถนนสุขุมวิท หากไม่อยากเจอรถติดก็ต้องออกจากบ้านแถวพหลโยธินเร็วและไปรอล่วงหน้านานเป็นชั่วโมง ทุกวันนี้ก็ยังปั่นไปทำงานที่ส่วนใหญ่จะเป็นงานพิธีกรอิสระ จริงๆ ชีวิตไม่ได้เร่งรีบนัก มีเวลาเหลือเฟือ แต่ที่ใช้จักรยานก็เพราะกลายเป็นความชอบไปแล้ว

ขณะนี้เขามีจักรยานที่ใช้ประจำ 3 คัน ที่ได้รับมาจากผู้บริหารของบริษัท Sport Bicycle เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ที่ “ฮาร์ท” รับจ้างเป็นพิธีกรที่ผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้เสนอจักรยาน 1 คันพร้อมกับค่าจ้าง ที่แม้ตอนแรก “ฮาร์ท” จะลังเล แต่ก็คิดว่าพอรับได้เพราะตัวเองปั่นจักรยานอยู่แล้ว ซึ่งนำมาสู่สิ่งที่เขาบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ได้ผลดีตามมา ที่ไม่เพียงเขาได้รับงานต่อเนื่อง แต่ยังได้จักรยานมาอีก 2 คัน

คันแรก Specialized –Sirrus จากการเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างเป็นพิธีกร (มูลค่าประมาณ 30,000 บาท) คันที่สองตามมาเมื่อเจอผู้บริหารของ Sport Bicycle และถูกถามว่าจักรยานคันนั้นได้ใช้หรือไม่ แน่นอน “ฮาร์ท” ใช้ จึงตามมาด้วยเสือหมอบ Specialized –Tarmac ที่ส่งมาให้ (มูลค่าประมาณ 90,000 บาท) และคันล่าสุดคือ เสือภูเขา Specialized รุ่นท็อปของปี (มูลค่า 1.2 แสนบาท)

มีหลายคนที่มาถามเรื่องการปั่นจักรยานจาก “ฮาร์ท” บ้าง แต่สิ่งที่เขาย้ำคือถนนในกรุงเทพฯ ก็มีความเสี่ยง เป็นไปได้ก็ไม่อยากแนะนำ เพราะหลายจุดในกรุงเทพฯ ที่ทำทางสำหรับจักรยานก็ไม่มีคุณภาพดีพอ

ในวันที่ทีม Positioning สัมภาษณ์ “ฮาร์ท” ที่บ้านย่านพหลโยธิน 30 นั้น เขาเพิ่งกลับจากรับงานช่วงเช้าย่านเยาวราช แล้วไปเจอเพื่อนตอนบ่ายที่โรงพยาบาลพญาไท 2 จากนั้นในช่วงเย็นขี่จักรยานไปรับลูกกลับจากโรงเรียนในละแวกบ้าน

เสื้อเชิ้ตผ้าบางเบา และกางเกงขาสั้น รองเท้าผ้าใบไนกี้ คือชุดประจำสำหรับปั่นจักรยาน เมื่อถึงสถานที่ทำงานก็ล้างหน้า เซตผม อบแอร์ เปลี่ยนชุดที่มีทั้งสูทและรองเท้าเตรียมพร้อมอยู่ในเป้ท้ายจักรยาน เขาผ่านการใช้จักรยานมาแล้วหลายรูปแบบการเดินทาง รวมทั้งการแบกจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า ที่ไม่เวิร์คสำหรับเขาเพราะต้องแบก ยิ่งอายุมากแล้วยิ่งรู้สึกหนัก และรู้สึกว่าการต่อรถไฟฟ้าก็ช้าเกินไป ทุกวันนี้จึงลงตัวด้วยจักรยานอย่างเดียวก็ถึงทุกที่หมาย

จักรยานทำให้ “ฮาร์ท” ไม่เสียเวลาบนท้องถนน ถึงที่หมายได้เร็ว ที่เขาบอกว่าเขาปั่นจักรยานไปทำงานและได้เงินกลับมา คือความสุขและเป็นเหตุผลที่เขาเลือกใช้พาหนะนี้ เขาไม่ได้ปั่นจักรยานเพื่อเข้าสังคม หรือคลับต่างๆ เพราะไม่ได้รู้สึกมีความสุขในการทำกิจกรรมนั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องของความชอบของแต่ละคนมากกว่า

แม้จะปั่นเพื่อทำงานไม่ได้เพื่อชิลล์ แต่ดูเหมือนว่าความสุขระหว่างอยู่บนสองล้อนี้สำหรับ “ฮาร์ท” ก็น่าสัมผัสยิ่งนัก “ฮาร์ท” บอกว่าขณะกำลังปั่นจักรยาน มีความรู้สึกเป็นอิสระ เพราะได้อยู่กับตัวเอง จะหยุดหรือจะไปขึ้นอยู่กับเรา เพราะจักรยานเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เราควบคุมได้เต็มที่ เป็นความรู้สึกสุขที่ได้เป็นอิสระจริงๆ

]]>
13979
ภูมิ ศิรประภาศิริ มาปั่นจักรยานกันเถอะ https://positioningmag.com/13980 Wed, 10 Aug 2011 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=13980

“มาปั่นจักรยานกันเถอะ” คงเป็นประโยคที่ ภูมิ ศิรประภาศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทบุญ พร็อพเพอร์ตี้และนักกิจกรรมร่วมรณรงค์ให้คนหันมาขี่จักรยาน อยากบอกกับใครต่อใครเพื่อให้หันมาใช้จักรยานในการเดินทางในกรุงเทพฯ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว

ชีวิตบนหลังอานจักรยานของ “ภูมิ” หนุ่มนักเศรษศาสตร์และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เริ่มขึ้นเมื่อบินไปศึกษาต่อปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนับจากนั้นจักรยานก็กลายเป็นทางเลือกของเขาจนถึงทุกวันนี้

หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ภูมิเข้าเรียนต่อปริญญาโทบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยดุ๊ก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ จักรยานเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดปั่นไปเรียนและท่องเที่ยวไปในตัว แม้กระทั่งเมื่อเรียนจบไปทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่วอชิงตันดีซี การขี่จักรยานก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่

“พอมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในวิชิงตัน ดีซี เพื่อนๆที่ทำงานเขาก็ปั่นจักรยานมาทำงานกัน คนในเมือง ที่เป็นคนรุ่นใหม่เขาก็ปั่นกัน ก็เลยติดนิสัยขี่จักรยานมาตลอด”

เมื่อกลับมาทำงานเมืองไทย อากาศร้อน แถมรถราบนถนนขับขี่กันน่ากลัว จักรยานที่นำกลับมาก็เลยต้องเก็บใส่กล่องเลิกใช้จักรยานไปพักใหญ่ จนได้มาเข้าสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย การออกทริปท่องเที่ยวในย่านเก่าๆ ในกรุงเทพฯ ที่มีทั้งผู้อาวุโส คนเกษียณอายุไปจนถึงวัยเด็ก ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ออกกำลังกายและความเพลิดเพลิน ภูมิจึงเลือกหวนสู่โลกจักรยานอีกครั้ง เมื่อเห็นแล้วว่า ไม่ว่าถนนกรุงเทพฯ หรือเมืองไหนก็ปั่นจักรยานได้เหมือนกัน หากรู้จักการปั่นอย่างถูกวิธี

“การที่ปั่นในกรุงเทพฯ ใช้ความระวัง รู้เขารู้เรา ไม่ได้ขี่ทุกที่ ที่ไหนอันตราย เช่น บนถนนที่รถวิ่งเร็ว หรือไปขี่ในจุดที่เขามองไม่เห็นเรา ถ้าจะกลับรถก็ควรใช้ทางม้าลาย หรือไม่ก็ควรใช้สะพานลอย ดูข้างนอกอาจรู้สึกว่าอันตราย แต่ถ้าได้ลองปั่นแล้ว จะรู้สึกปลอดภัยกว่าซ้อนมอเตอร์ไซค์อีก”

ทุกวันนี้ภูมิเลือกขี่จักรยานจากบ้านที่นวมินทร์ไปทำงานที่ออฟฟิศบริเวณถนนเพชรบุรีตัดใหม่เป็นประจำ ด้วยระยะทาง 14 กิโลเมตร ใช้เวลา 35 นาทีก็ถึงที่ทำงาน ข้อดี คือได้ทั้งออกกำลังกาย กำหนดเวลาเดินทางแน่นอน ไม่ต้องเจอปัญหารถติด ได้ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่ต้องปล่อยมลพิษ จะใช้รถยนต์ส่วนตัวเมื่อจำเป็นเท่านั้น หรือไม่ก็ใช้บริการขนส่งมวลชนแทน

เมื่อเห็นถึงข้อดีหลายอย่าง ภูมิ จึงเข้าร่วมทำกิจกรรมกับสมาคม และหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนขี่จักรยาน เช่น สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย กลุ่มจักรยานจามจุรีสแควร์ มูลนิธิโลกสีเขียว และยังได้ร่วมก่อตั้งบางกอกไบซิเคิลแคมเปญรณรงค์ในเฟซบุ๊ก เชื่อมโยงผู้ใช้จักรยานทั้งมือเก่าและมือใหม่แลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นช่องทางรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐ อย่างกรุงเทพมหานคร ผลักดันให้รัฐเห็นความสำคัญกับขี่จักรยานมากขึ้น

ภูมิบอกว่า เขาไม่หวังว่าเมืองไทยจะต้องมีเส้นทางจักรยานดีๆ เหมือนในเมืองนอก เพราะหลายเมืองก็ไม่มีทางจักรยาน แต่การขี่จักรยานก็เป็นเรื่องปกติที่ทำได้ ดังนั้นสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้น คือ ขอให้จักรยานได้เป็นส่วนหนึ่งในท้องถนนที่ขี่ได้ปลอดภัย

“สิ่งที่ต้องผลักดันคือ การเพิ่มพลเมืองจักรยาน เพราะยิ่งมีคนขี่จักรยานมากขึ้น การขี่ก็ยิ่งปลอดภัย ถ้าเพิ่มจำนวนคนขี่จักรยาน ยิ่งคนเห็นคนขี่จักรยานมากขึ้น อุบัติเหตุจะลดลงตามไปด้วย” นี่คือความหวังของภูมิ

    ขี่บนถนนยังไงให้ปลอดภัย

  1. เมาไม่ปั่น
  2. ปั่นกลางคืนต้องติดไฟที่จักรยาน
  3. ใส่หมวก
  4. ไม่ปั่นย้อนศร
]]>
13980
ประเภทของจักรยานปั่นแบบไหนที่ใช่คุณ https://positioningmag.com/13981 Wed, 10 Aug 2011 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=13981

ทุกวันนี้จักรยานไม่ใช่เพียงแค่ยานพาหนะที่นำเราจากต้นทางไปสู่ปลายทางเท่านั้น หากแต่ยังมีสถานะเป็น Fashion Statement สำหรับใครหลายคนอีกด้วย แต่เหนือไปกว่านั้น การเลือกจักรยานที่เหมาะสมกับตัวเองทั้งด้านกายภาพ ความชื่นชอบและสไตล์ในการปั่น ตลอดจนกำลังทรัพย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้เรื่องจักรยานมาก่อนเลย ต้องทำความเข้าใจกับประเภทของจักรยานกันก่อน โดยประเภทของจักรยานสามารถแบ่งได้ด้วยเกณฑ์ที่หลากหลาย ดังนั้นจักรยานคันหนึ่งๆ อาจมีคุณสมบัติจัดอยู่ในหลายประเภทก็ได้ และเพื่อทำความเข้าใจกับประเภทของจักรยานโดยง่าย จึงขอนำเสนอในหมวดหมู่ ดังนี้

1. แบ่งตามประเภทการใช้งาน

  • Road Bicycle จักรยานที่ออกแบบมาให้ขับขี่บนท้องถนน คุ้นหูกันในชื่อเสือหมอบ บ้างเปรียบเปรยว่าเป็นประหนึ่งรถสปอร์ต แรงและเร็วในทางเรียบ แบ่งออกได้หลายประเภท เช่น
    • Touring Bicycle จักรยานสำหรับปั่นท่องเที่ยว ในระยะทางไกลๆ ตามชนบท มีที่เก็บสัมภาระอย่างเป็นระบบ สะดวกสบายและคงทน ท่านั่งไม่ต้องโค้งตัวงอเข่ามากนัก ทำให้สามารถปั่นได้นานๆ ไม่เมื่อย
    • Hybrid Bicycle จักรยานลูกผสมระหว่างเสือภูเขาและจักรยานท่องเที่ยว เฟรมเบา ปั่นง่าย สบาย จะขับขี่ในเมืองหรือปั่นเที่ยวก็ได้ หรือจะติดตะกร้าไปจ่ายตลาดก็ได้ไม่ว่ากัน
  • Mountain Bicycle จักรยานเสือภูเขา มีเฟรมและล้อคงทน เหมาะกับสภาพเส้นทางที่สมบุกสมบัน เหมือนรถโฟร์วีล ลัดเลาะตามป่าตามเขาได้ดี เหมาะกับการปั่นแบบโลดโผนโจนทะยานในแทบทุกสภาพพื้นผิว รวมถึงการปั่นแบบออฟโรด เพราะยางล้อหน้ากว้างมีดอกใหญ่และลึก โดยมากหรือเกือบทั้งหมดจะมีล้อขนาด26 นิ้ว โดยปกติมีตั้งแต่ 16-28 เกียร์
  • Racing Bicycle จักรยานที่ถูกออกแบบมาสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ เฟรมมีน้ำหนักเบา และมีแอคเซสซอรี่น้อย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำเวลา
  • BMX จักรยานคันเล็กแต่ประสิทธิภาพเกินตัว สำหรับขี่ผาดโผน โดยล้อมีขนาดเล็กเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ใช้ในการแข่งขันกีฬาประเภทเอ็กซ์ตรีม ไม่เหมาะกับนำมาปั่นทั่วไป เนื่องจากรูปทรงที่เตี้ยอาจทำให้ปวดเมื่อยบริเวณหัวเข่าได้

2. แบ่งตามโครงสร้างหรือการดีไซน์ของเฟรม เช่น

  • Folding Bicycle จักรยานพับได้ สะดวกต่อการพกติดตัวขึ้นรถสาธารณะ เครื่องบิน และเหมาะกับการปั่นเพื่อผ่อนคลายและออกกำลังกาย
  • Bamboo Bicycle จักรยานไม้ไผ่ นับเป็นจักรยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีคาร์บอน ฟุตปริ้นท์ในอัตราที่ต่ำ ผลิตออกมาหลายประเภท แต่ราคากลับไม่ธรรมดาเฉพาะเฟรมก็ปาเข้าไปเกือบ 200,000 บาทแล้ว (แบรนด์ Calfee)
  • Wood Bicycle จักรยานที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง จำพวกเมเปิ้ล มะฮอกกานี วอลนัทดำ ไม่ใช่แค่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่กลับมีประสิทธภาพสูงด้วย

3. แบ่งตามสไตล์ ดีไซน์ที่เด่นเด้งสะดุดตา ไม่ใช่แค่ฟังก์ชันแต่พกพาแฟชั่นและจินตนาการอันก้าวล้ำ เช่น

  • Art Bicycle อาจไม่เป็นที่พบเห็นทั่วไป เพราะดีไซน์เหนือจินตนาการ ด้วยรูปทรงและสีสันสุดประหลาด ประหนึ่งจักรยานแฟนซี พร้อมใช้ในงานคาร์นิวัล
  • Clown Bicycle จักรยานสำหรับนักแสดงตลก เป็นคันเล็กๆ ไม่สามารถนำมาปั่นบนท้องถนนได้ พบเห็นได้บ่อยในคณะละครสัตว์
  • Luxury Bicycle จักรยานหรูหรามีระดับ ส่วนใหญ่มาจากการรังสรรค์ของแบรนด์แฟชั่นหรู รวมถึงจักรยานจากค่ายรถยนต์ใหญ่ ที่พกพาความอลังการมาเต็มพิกัดชนิดที่ว่าเห็นแค่เงาก็รู้แล้ว่าแพงระยับ ขณะที่ฟังก์ชันก็จัดเต็มไม่แพ้ใคร
  • Vintage Bicycle เมื่อเรโทรมาแรง ไม่ใช่แค่เทรนด์แต่กลายเป็นหนึ่งในกระแสหลัก จักรยานดีไซน์โบราณกลับมาเปรี้ยวปรี๊ดอีกครั้ง ในราคาที่ไม่ได้ถูกเลย
]]>
13981
ต่อยอดโปรเจกต์ “สีเขียว” ด้วย “จักรยาน” https://positioningmag.com/13982 Wed, 10 Aug 2011 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=13982

เทรนด์ความนิยมจักรยาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมซีเอสอาร์ และแคมเปญการตลาดอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา และจะมีต่อเนื่องนับจากนี้ กลายเป็นเสน่ห์ดึงความสนใจ ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างดี นี่คือกระแสที่ทำให้หลายหน่วยงานใช้เป็นจังหวะสร้างโปรเจกต์ โดยส่วนใหญ่มาจากจุดเริ่มต้นของแนวคิดการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งบางหน่วยงานทำต่อเนื่อง แต่บางแห่งก็แค่ชั่วคราว มีตัวอย่างดังนี้

“มหิดล” จักก้า (ยาน) is cool
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีแนวคิดเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เริ่มจากโครงการ “จักรยานสีขาว” นำจักรยานเก่ามาซ่อมและใช้เป็นจักรยานสาธารณะ ใครจะมาใช้ก็ได้ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นการเปิดศูนย์ “จักก้าเซ็นเตอร์” ซ่อม ขาย ไม่เอากำไร รณรงค์ให้คนในมหาวิทยาลัยใช้จักรยานมากกว่าใช้รถยนต์ จนขณะนี้มีจักรยานสีขาวกว่า 400 คัน จักรยานผู้บริหาร 80 คัน และจักรยานส่วนบุคคล 3,700 คน จากจำนวนบุคลากรและนักศึกษาทั้งหมด 20,000 คน เพิ่มเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัยจาก 2.5 กิโลเมตร เป็น 5 กิโลเมตร

งานนี้ โค้ก ที่กำลังเดินหน้ากิจกรรมเพื่อมัดใจกลุ่มนักศึกษา จึงโดดเข้าร่วมโครงการนี้ทันที มอบรถจักรยาน 520 คัน ให้กับมหิดลไปใช้งาน นี้เรียว่าได้ทั้งแบรนด์ได้ทั้ง CSR

จักรยานกลางเมือง
มูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นสปอนเซอร์ โครงการจักรยานกลางเมือง ระยะเวลาโครงการ มกราคม 2554 – ธันวาคม 2555 เพื่อรณรงค์และจุดประเด็นให้คนกรุงเทพฯ มีความสนใจในการเลือกใช้จักรยานเพื่อสัญจรในกรุงเทพฯ ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2554 ได้เริ่มสำรวจเส้นทางจักรยาน ไว้เป็นข้อมูลจัดทำแผนที่ขี่จักรยานใน กทม.

Bangkok Car Free Sunday
กรุงเทพมหานครร่วมกับเครือข่ายรณรงค์การใช้จักรยานในกรุงเทพฯ (Bangkok Bicycle Campaign) , กลุ่มต้นไม้มหานคร (Bangkok Big Trees และมูลนิธิโลกสีเขียว ชวนชาวกรุงเทพฯ ร่วมปั่นจักรยาน เริ่มกิจกรรมไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี แน่นอนมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพร้อมคณะผู้บริหารร่วมอีเวนต์นี้ด้วย

จักรยานปั่นปัน
ในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีกลุ่มจักรยาน อย่างเช่น กลุ่ม Bike in University คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เพิ่งจัดโครงการจักรยานปั่นปัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการแบ่งปันจักรยานเพื่อใช้ในมหาวิทยาลัย เพื่อลดโลกร้อน เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากโครงการประกวด “โครงการลดโลกร้อน” ของ British Council ในชื่อโครงการ Climate Cool โดยความร่วมมือระหว่างสถานทูตอังกฤษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นิตยสาร a day และ Youth Venture Thailand ซึ่งนักศึกษาของคณะได้ร่วมโครงการ และได้รับมอบเงินสนับสนุนโครงการมาจัดซื้อจักรยาน 8 คันมาให้บริการแก่นักศึกษาในสถาบัน

จักรยานชมเกาะ (รัตนโกสินทร์)
โครงการ “จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์” (Green Bangkok Bike) ตามนโยบายกรุงเทพฯ สีเขียว เริ่มตั้งแต่สมัย “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน เพื่อบริการนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีบริการ 300 คน มีจุดจอด 8 จุด รอบเกาะรัตนโกสินทร์

อีเวนต์ท้องถิ่นปั่นสะสมทุน
จักรยานยังเป็นสีสันของอีเวนต์ทั่วประเทศ อย่างเช่น สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 102.75 MHz. อุบลราชธานี ร่วมกับ ชมรมจักรยานจังหวัดอุบลราชธานี ดีแทค และกลุ่มบริษัทเบญจจินดา มีโครงการปั่นจักรยานเพื่อน้อง เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีที่ 3 เพื่อรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน และปั่นเพื่อสะสมระยะทาง นำระยะทางแลกเงินซื้อจักรยานใหม่ให้น้อง โดยผู้สนับสนุนโครงการจะมอบเงินสนับสนุน กิโลเมตรละ 10 บาท

หาที่จอดให้จักรยาน
ขึ้นอยู่ว่าใครเห็นปรากฎการณ์นี้ก่อนกัน เพราะบรรดานักปั่นเวลานี้ ล้วนแต่เป็นคนชั้นกลางที่มีสตางค์ เป็นอีกปรากฎการณ์ ที่เป็นผลมาจากกระแสความนิยมจักรยานของคนเมืองเวลานี้ ส่งให้อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าสยามพารารอน ห้างคอมมูนิตี้มอลล์ อย่างเค วิลเลจ ต้องลงทุนขยายที่จอดจักรยานสำหรับนักปั่นโดยเฉพาะ อาคารบางแห่งอย่างตึกอื้อจือเหลียง ที่มีธุรกิจนำเข้ารถจักรยาน นอกจากมีที่จอดรถให้แล้ว แล้วยังมีห้องอาบน้ำให้ชาวจักรยานด้วย

จะเป็นเพราะเจ้าของห้างสรรพสินหรือเจ้าของอาคาร จะหันมาออกกำลังกายด้วยจักรยานหรือไม่ก็ตาม แต่นี่คือโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์คนเมือง พักอยู่คอนโดมิเนียม นั่งชิลตามร้านกาแฟ ร้านอาหารดีไซน์ มีจักรยานไว้ว้ขี่ชมเมือง งานนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นโอกาสนี้ก่อนกัน

]]>
13982
สีสันวงล้อ https://positioningmag.com/13983 Wed, 10 Aug 2011 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=13983

“Life is like riding a bicycle. To keep your balance you must keep moving” โดย Albert Einstein

เมื่อปี 2553 IKEA สหรัฐอเมริกามอบจักรยานจำนวน 12,400 คัน ใหักับพนักงานที่นั่น ก่อนหน้านั้นในปี 2549 IKEA สหราชอาณาจักร มอบจักรยานจำนวน 9,000 คัน ให้กับพนักงานเช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพแข็งแรง จากยานพาหนะแห่งความยั่งยืนนี้

ไม่ใช่แค่แบรนด์จักรยาน แต่แบรนด์รถยนต์ และแบรนด์แฟชั่นหรูก็หันมาผลิตจักรยานระดับไฮเอนด์จำหน่าย ด้วยดีไซน์ที่หรูหรา ทันสมัย เช่นMINI, AUDI, LEXUS, PEUGEOT, MERCEDESBENZ, LOTUS, PORCHE, CHANEL, HERMES, EMPORIO ARMANI

นิวยอร์กได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีสีสัน อะไรล้ำๆ ต้องเกิดขึ้นที่นี่ ดูแต่ที่จอดรถจักรยานก็กลายเป็น Street Furniture ได้ สะท้อนถึงไอเดียสุดบรรเจิดได้เป็นอย่างดี

นักปั่น Celebrity
คนดังระดับโลกก็มี Bike Style กับเขาเหมือนกัน เช่น Jenifer Aniston ปั่นจักรยาน CHANEL แบบเลิศๆ ในราคา 12,000 เหรียญสหรัฐ หรือเบาะๆ แค่คันละ 360,000 บาท เท่านั้นเอง ส่วน Pamela Anderson และJennifer Love Hewitt เป็นปลื้มกับ Paul Frank สีชมพูสด ด้าน Paris Hilton อินเทรนด์กับ Electra Cruiser ขณะที่ Beyonce ก็มี GIANT เป็นคันโปรด และอดีตประธานาธิบดี George W.Bush เลือกเสือภูเขาของ Trek ปั่นสบายๆ ในราคาคันละ 120,000 บาท

งานแสดงจักรยานระดับโลกมีอยู่หลายงาน ที่ขึ้นชื่อและใหญ่สุดในเอเชีย คือ Taipei International Cycle Show จัดขึ้นเป็นประจำช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยสำหรับปี 2555 ซึ่งเป็นครั้งที่ 25 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 มีนาคม โดยสำหรับปี 2554 มีผู้เข้าชมงาน 5,701 คน มีบริษัทผลิตและจำหน่ายรถจักรยานเข้าร่วมออกบูธ 948 บริษัท จาก 36 ประเทศ

จีน อดีตเมืองหลวงแห่งจักรยานของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา บนท้องถนนเต็มไปด้วยจักรยาน คิดเป็น 60% ของยานพาหนะทั้งหมด แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 18% เท่านั้น

The World’s Top Bike Cities

    เมืองแห่งจักรยานระดับโลกที่จัดอันดับโดยนิตยสาร TRAVEL+LEISURE มีดังนี้

  1. โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก 36% ของประชากรเดินทางไปทำงานและไปโรงเรียนโดยจักรยาน มีเลนสำหรับจักรยานยาวกว่า 180 ไมล์ (ผู้หญิงและผู้ชายเมืองนี้แต่งตัวแฟชั่น มีสไตล์แต่ปั่นจักรยานได้อย่างคล่องแคล่ว ทำนองว่า Style over Speed)
  2. พอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา มีเลนสำหรับจักรยาน 270 ไมล์ ป้ายสัญลักษณ์สิงห์นักปั่นอีกนับร้อย รวมถึงล็อกเกอร์เก็บสัมภาระและห้องอาบน้ำไว้บริการ
  3. มิวนิก เยอรมัน เมืองที่ได้ชื่อว่าเดินทางได้สะดวก รวดเร็วที่สุดด้วยจักรยาน สำหรับใครต้องการเช่าจักรยานมาปั่นเล่นก็มีศูนย์ฮอตไลน์ไว้บริการ
  4. มอนทรีอัล แคนาดา ทำเก๋เมื่อออกโครงการ Bike Share ในปี 2552 นำจักรยาน 3,000 คัน มาบริการเช่าเพียงคันละ 5 เหรียญสหรัฐ ต่อวัน
  5. เพิร์ท ออสเตรเลีย เป็นเมืองที่มีนักปั่นจำนวนมหาศาล Perth Bicycle Network จัดเป็นเครือข่ายนักปั่นที่มีความเคลื่อนไหวสูงมาก
  6. อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ จากประชากร 750,000 คน แต่มีจักรยานปั่นไปมาบนท้องถนนถึง 600,000 คัน ยิ่งไม่กี่ปีที่มากฎหมายกำหนดให้รถยนต์ทั้งหลายขับขี่ด้วยความเร็วต่ำลง ยิ่งทำให้คนหันมาปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น
  7. ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เมืองนี้มี Bicycle Ambassadors คอยกระตุ้นและเพิ่มจำนวนนักปั่น รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปั่นจักรยาน
  8. ปารีส ฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในเมืองที่มีโครงการ Bike Share ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กับบริการเช่าจักรยานกว่า 20,000 คัน ในอัตราชั่วโมงละ 1.5 เหรียญสหรัฐ แต่ถ้าปั่นไม่ถึงครึ่งชั่วโมง “ฟรี”
  9. มินนิอาโปลิส สหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีชุมชนจักรยานใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ
  10. โบโกตา โคลัมเบีย เมืองหลวงแห่งจักรยานของอเมริกาใต้
]]>
13983