CIO – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 14 Jun 2022 07:24:41 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 หาคนยากต้องมัดใจด้วย ‘Lenovo Workplace Solutions’ ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ช่วยลดภาระ CIO https://positioningmag.com/1388699 Tue, 14 Jun 2022 12:00:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388699

หากพูดถึงชื่อ ‘เลอโนโว’ (Lenovo) หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับภาพ ‘บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะปัจจุบันเลอโนโวขึ้นแท่นแบรนด์อันดับ 1 ของโลกด้วยยอดขายกว่า 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เลอโนโวไม่ได้มีดีแค่สินค้ากลุ่มฮาร์ดแวร์ แต่ยังมีโซลูชั่นต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับความต้องการขององค์กรธุรกิจในยุคดิจิทัลที่ต้องทรานซ์ฟอร์มสู่สมาร์ทออฟฟิศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวอย่างมากโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น แต่การอำนวยความสะดวกให้กับ ‘พนักงาน’ ถือเป็นอีกส่วนที่ต้องแข่งขันด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรก็ถือเป็นอีกความท้าทาย ดังนั้น การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีจะยิ่งช่วยดึงดูด Talent ให้อยู่กับองค์กร

สมาร์ทออฟฟิศ ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้พนักงานใช้ตัดสินใจว่าจะอยากทำงานกับองค์กรนั้น ๆ หรือไม่ เพราะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้การทำงานภายในออฟฟิศ ประหยัดแรงและเวลากับเรื่องที่ไม่จำเป็น ให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสบายและมีความสุขที่สุด ผู้บริหารเองก็สามารถควบคุมดูแลและบริหารองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจากรายงานที่เลอโนโวจัดทำพบว่า 39% ของ CIO ทั่วโลกไม่ใช่แค่ดูแลเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานโดยทั่วไป แต่ต้องดูเรื่องเทคโนโลยีด้านการจัดหาพนักงานเข้าทำงาน และด้วยความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นนี้เอง CIO จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยี โซลูชั่นเพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดการ

“พฤติกรรมและรูปแบบการทำงานของพนักงานที่เปลี่ยนไปในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้ทุกองค์กรตระหนักดีว่าการทำงานในแบบที่เคยทำก่อนการแพร่ระบาดอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป พนักงานในปัจจุบันต้องการความคล่องตัว และความยืดหยุ่นเพื่อจะสามารถทำงานได้จากทุกสถานที่และทุกเวลา” ธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคอินโดจีน เลอโนโว กล่าว

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ เริ่มมีการประกาศให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศอีกครั้ง เลอโนโวเองก็มีโซลูชั่น Lenovo Workplace Solutions เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจสามารถจัดการกับการกลับมาทำงานอีกครั้งในสำนักงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงตอบโจทย์การทำงานแบบ Hybrid อาทิ

· Workspace Booking: ซอฟต์แวร์ฟังก์ชั่นสำหรับการทำนัดหมายจองที่นั่งและการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในออฟฟิศ เพื่อลดความแอร์อัดโดยพนักงานทุกคนจะเห็นตารางการจองพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของออฟฟิศได้แบบเรียลไทม์ ลดความแออัดในการเข้ามาใช้พื้นที่ห้องประชุมหรือโต๊ะทำงาน

· Workplace Analytics: ระบบวิเคราะห์ตรวจสอบความหนาแน่นของการใช้พื้นที่ในแต่ละส่วนของออฟฟิศจากการตรวจจับการเคลื่อนไหวและความร้อนและรายงานผลบนหน้าแดชบอร์ดแบบเรียลไทม์

· Digital Signage: เปลี่ยนป้ายตัวหนังสือบอกชื่อห้องหรือชื่อบุคคลแบบธรรมดาที่แปะอยู่ที่ประตูหรือผนังห้อง ให้เป็นป้ายดิจิทัลที่สามารถเปลี่ยนแปลงแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้แบบเรียลไทม์

· Visitor Management: ระบบช่วยจัดการลงทะเบียนล่วงหน้าของบุคคลภายนอกที่จะเดินทางมาที่ออฟฟิศ เพื่อลดระยะเวลาการรอและความแออัด

· Smart Locker: ระบบบริการจัดการตู้เก็บของส่วนตัวสำหรับพนักงานที่ปลอดภัย ใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

· Smart Collaboration: โชลูชั่นเพื่อการประชุมผ่านเสียงและวีดีโอแบบออล-อิน-วัน ที่มาพร้อมทั้งซอฟท์แวร์และดีไวซ์เพื่อการประชุมทุกขนาด พร้อมเสริมความปลอดภัยด้านข้อมูลและความเป็นส่วนตัวด้วยซอฟต์แวร์โซลูชั่นอย่าง ThinkShield

· Smart Parking: ระบบการจัดการที่จอดรถอัจฉริยะที่ให้ข้อมูลพื้นที่จอดรถแบบเรียลไทม์ ว่ามีช่องจอดที่ว่างบริเวณใดบ้าง พร้อมคอยรายงานการจอดที่ไม่เป็นไปตามระบบเช่น เข้ามาจอดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือจอดเกินเวลาที่กำหนด

“Lenovo Workplace Solutions ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ ช่วยอำนวยความสะดวกให้การสื่อสารและทำงานร่วมกันทำได้ง่าย มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และที่สำคัญคือ คลอบคลุมต่อการใช้งานที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละแผนก ซึ่งโซลูชั่นดังกล่าว ไม่ใช่แค่เพิ่มความพึ่งพอใจและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน แต่จะช่วยดึงดูดผู้ที่มีความสามารถมาทำงานในองค์กรอีกด้วย” ธเนศ อังคศิริสรรพ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ Lenovo Workplace Solutions จะมาพร้อมการมอนิเตอร์ด้านสุขภาพตลอดเวลา และการเข้ารับบริการจากผู้เชี่ยวชาญของ เลอโนโวทั่วโลกสำหรับการบริการและการซ่อม อย่างไรก็ตาม Workplace เป็นเพียงโซลูชั่นหนึ่งเท่านั้น โดยเลอโนโวยังมีโซลูชั่นอื่น ๆ ที่พร้อมช่วยให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถก้าวเข้าสู่ความสำเร็จจากการให้บริการ และขยายเข้าสู่เวทีระดับโลกกับสาขาทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมั่นคง สำหรับองค์กรที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://techtoday.lenovo.com/th/th/solutions/workplace-solutions

]]>
1388699
“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” กับบทบาทที่เปลี่ยนไปของ “ซีไอโอ” พลิกโฉมองค์กร https://positioningmag.com/1247516 Wed, 25 Sep 2019 05:57:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1247516 ธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล ทำให้หน้าที่ในตำแหน่ง ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer : CIO) แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง “ซีไอโอ” มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการบริหารจัดการประสบการณ์ลูกค้า

ดังจะเห็นได้จากการประสานงานที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างฝ่ายการตลาดและซีไอโอเพื่อเตรียมรับมือกับเทศกาลช้อปปิ้งครั้งใหญ่อย่างเช่น โปรโมชั่นวันคนโสดของจีน หรือ Big Billion Sale ของ Flipkart ซึ่งจะพบว่าซีไอโอมีบทบาทอย่างมาก เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์บนหลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งโมบาย ร้านค้าปลีก และเว็บไซต์ ฝ่ายการตลาดจำเป็นที่จะต้องให้ซีไอโอเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจเสี่ยงที่จะล้มเหลว!

สถานการณ์ดังกล่าวคล้ายกับ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)โดย “ซีไอโอ” กำลังเปลี่ยนย้ายบทบาทอย่างรวดเร็วจากการดูแลข้อมูล ซอฟต์แวร์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคนิคของบริษัท ไปสู่บทบาทการชี้นำองค์กรอย่างกว้างขวางมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นทั่วโลก

ทุกวันนี้ ซีไอโอกว่า 4 ใน 5 คน มีหน้าที่นอกเหนือไปจากการดูแลส่วนงานไอทีแบบเดิมๆ โดยต้องเข้ามาจัดการดูแลเกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม การปรับปรุงองค์กร และแม้กระทั่งการตลาดและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในบางกรณี

แนวโน้มดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) เช่น ผลการสำรวจความคิดเห็น CIO Agenda ประจำปี 2561 ของการ์ทเนอร์ ระบุว่า 51% ของซีไอโอในอินเดียทำหน้าที่ชี้นำการสร้างสรรค์นวัตกรรมของบริษัท และ 49% ทำหน้าที่ดูแลโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะน่าสนใจ โดยเป็นผลมาจากความพยายามขององค์กรที่จะทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล แต่ก็ครอบคลุมขอบเขตกว้างขวางมากกว่าความถนัดของซีไอโอส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ เพื่อรับมือกับกระแสการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นทั่วโลก “ซีไอโอ” จึงจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการผสานรวมความสามารถที่มีอยู่เข้ากับเทคโนโลยีก้าวล้ำที่จะพลิกโฉมองค์กร และจะต้องขยายบทบาทหน้าที่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รวมทั้งจัดการความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และมุ่งเน้นการจัดการประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experience Management – CXM)

“3 บทบาท” ที่เปลี่ยนไปของ “ซีไอโอ”

ในเรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นที่ชัดเจนว่าซีไอโอกำลังก้าวเข้าสู่บทบาทที่หลากหลายและเกี่ยวข้องกับการกำหนดแบรนด์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันซีไอโอทั่วโลกสามารถเข้าถึงเครื่องมือ เทคโนโลยี และระบบที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อน CXM อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีแพลตฟอร์มสำหรับการประสานงานร่วมกันระหว่างแผนกและส่วนงานต่างๆ ทั่วทั้งบริษัท เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม

แม้ว่าซีไอโอจะมีมุมมองที่กว้างขวาง แต่ก็จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องชี้นำการดำเนินการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซีไอโอควรดำเนินมาตรการ 3 ข้อต่อไปนี้เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ผู้นำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. ทำหน้าที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง

บริษัทไม่ถึง 1 ใน 3 แห่งมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร ซึ่งนั่นหมายความว่าซีไอโอจำนวนมากจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยปราศจากสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนและได้รับการตกลงร่วมกัน การขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่นี้อาจต้องอาศัยการฝึกอบรมเพิ่มเติมภายในองค์กรในเรื่องของการจัดการความเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมขององค์กร

ดร.อลิสัน อายริ่ง นักจิตวิทยาองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า “โดยมากแล้ว ผู้บริหารมักจะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องถูกต่อต้าน ดังนั้นการจัดการความเปลี่ยนแปลงจึงมักจะเป็นเป็นเรื่องของการเอาชนะกระแสต่อต้าน แต่ที่จริงแล้ว…ความจำเป็นเร่งด่วนที่สำคัญไม่ใช่การเอาชนะกระแสต่อต้าน แต่เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถและสนับสนุนบุคลากรให้ปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง”

ในการขับเคลื่อน CXM ซีไอโอจำเป็นที่จะต้องผสานรวมแอปพลิเคชั่นและระบบที่หลากหลายในแผนกต่างๆ และกำหนดมาตรฐานสำหรับประสบการณ์การใช้งานผ่านทุกช่องทาง โดยจะต้องกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสายงานต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ 

นั่นหมายความว่าเมื่อมีการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้าน ทุกภาคส่วนจะต้องผนึกกำลังร่วมกัน เพื่อเร่งการปรับใช้ การใช้ประโยชน์ และการสร้างมูลค่า และจะต้องดำเนินการในลักษณะดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อปรับปรุงและขยายขอบเขตการดำเนินการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กร

2. ปรับใช้เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ลูกค้า

ประสบการณ์ลูกค้าเป็นจุดที่ต้องโฟกัสสำหรับการดำเนินการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยจะช่วยเพิ่มรายได้ รักษาฐานลูกค้าและความภักดีที่ลูกค้ามีต่อบริษัท และเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขัน

ในการมุ่งเน้น CXM ซีไอโอจะต้องผนวกรวมและบ่มเพาะโครงสร้างเทคโนโลยีแบบครบวงจรที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวบรวมและดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลที่มีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้างจากระบบนิเวศน์ดิจิทัลทั้งหมด การใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยปรับให้สอดคล้องกับบริบทมากขึ้น และกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ จะช่วยให้องค์กรธุรกิจเพิ่มมูลค่าในทุกขั้นตอนของการดำเนินการเกี่ยวกับลูกค้า 

บริษัทในภูมิภาค APAC มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าบริษัทในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก กล่าวคือ 16% ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลใน APAC มีโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เปรียบเทียบกับ 10% ในอเมริกาเหนือ และ 9% ในยุโรป แน่นอนว่าตัวเลขนี้ยังบ่งบอกถึงช่องว่างที่ซีไอโอจำนวนมากใน APAC จะต้องแก้ไขในการเตรียมโครงสร้างเทคโนโลยีให้พร้อมสำหรับการปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า

3. ขยายการเปลี่ยนผ่านในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ 33% ของซีไอโอทั่วโลกระบุว่าตนเองได้พัฒนาโครงการทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลให้ครอบคลุมขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น โดยมีแผนที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กรธุรกิจ ซีไอโอรุ่นใหม่เหล่านี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความสามารถในการปรับขนาดสำหรับการเลือกซื้อและการบูรณาการเทคโนโลยี ทำให้ AI กลายเป็นกลไกสำคัญสำหรับการปรับปรุงความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า

บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลใน APAC พร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดย 62% ยอมรับเกี่ยวกับความจำเป็นในการใช้ AI เมื่อเทียบกับบุคลากรในอเมริกาเหนือ 49% 

ช่วงเริ่มต้น “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” มักมาจากสองสามขั้นตอนแรกที่เห็นประโยชน์ทางธุรกิจจากนั้นจึงค่อยผลักดันให้มีการปรับใช้ทั้งองค์กร “ซีไอโอ” ที่โฟกัสเรื่องการจัดการความเปลี่ยนแปลงในแนวทางใหม่ โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับประสบการณ์ของลูกค้าและลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่น จะประสบความสำเร็จและเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับองค์กร.


]]>
1247516
ทำไมต้องมี “ซีไอโอ” 5 ข้อ ที่ “ซีไอโอ” ‘ควรหลีกเลี่ยง’ ในปี 2559 https://positioningmag.com/1097524 Sat, 16 Jul 2016 00:45:02 +0000 http://positioningmag.com/?p=1097524 บริษัทเทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการรักษาไว้ซึ่งแผนสำรองทางการเงินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ

ทำไมต้องมี “ซีไอโอ”

เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ตำแหน่งผู้บริหารสารสนเทศระดับสูงหรือซีไอโอ (CIO) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2523 โดยวิลเลียม ไซนอตต์ ผู้บริหารธนาคารแห่งหนึ่ง กล่าวถึง หน้าที่ของ CIO มีความสำคัญเทียบเท่ากับประธานฝ่ายบริหาร (CEO) และประธานฝ่ายการเงิน (CFO) ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีตำแหน่งนี้ แต่ CIO จะเป็นผู้จำแนกแยกแยะ เก็บรวบรวม และจัดการข้อมูลในรูปแบบของแหล่งทรัพยากรขององค์กร เป็นผู้กำหนดนโยบายด้านสารสนเทศขององค์กร และจัดการดูแลระบบในสำนักงานและที่อื่นๆ ทั้งหมด

แม้ว่าบทบาทหน้าที่ของ CIO ตามที่ไซนอตต์ได้อธิบายไว้จะกลายเป็นจริงในระดับหนึ่งแล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ CIO ก็ยังมีสถานะไม่เท่าเทียมกับ CEO และ CFO อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องจากเทรนด์ใหม่ๆ เช่น โมบิลิตี้, คลาวด์คอมพิวติ้ง, ซอฟต์แวร์ ดีฟาย ดาต้าเซ็นเตอร์ (SDDC), อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (IoT), บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ

ซีไอโอ ไม่มีไม่ได้แล้ว 

องค์กรหลายแห่งเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้ว่าสถานะของ CIO กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ บริษัทต่างๆ ต้องการ CIO ที่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้

และยังต้องมีความเข้าใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง ซึ่งรวมถึงลูกค้าด้วย รวมถึงต้องเข้าใจรูปแบบและวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทของตน บริษัทเหล่านี้ต้องการ CIO ที่สามารถทำหน้าที่ผู้นำในระดับแนวหน้า และสามารถปฏิรูปแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้กลายเป็นผู้ให้บริการที่ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านธุรกิจ

นวัตกรรมคือภารกิจใหม่ที่สำคัญของ CIO ทุกคน และถึงเวลาแล้วที่ CIO จะต้องเตรียมพร้อมและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับกรณีปัญหาข้อมูลรั่วไหลที่เกิดขึ้น โดยหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับบริษัทประกันสุขภาพ (เช่น Anthem และPremera) และกรณีข้อมูลรั่วไหลครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่สำคัญของรัฐบาลกลาง (สำนักงานบริหารจัดการบุคลากรของสหรัฐฯ) ซึ่งข้อมูลลับเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบันเกือบ 22 ล้านคนได้ถูกโจรกรรม พร้อมด้วยข้อมูลทางชีวภาพ (biometric data)ของเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 5 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้ บทบาทของ CIO จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ 91% ขององค์กรด้านสาธารณสุขทั่วโลกประสบปัญหาข้อมูลรั่วไหลอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา  

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก IBM และ Ponemon Institute ระบุว่า มูลค่าความเสียหายโดยเฉลี่ยของกรณีข้อมูลรั่วไหลในปัจจุบันแตะระดับเกือบ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2556

ในขณะที่ CIO ทุกคนกำลังจัดเตรียมรายการสิ่งที่ต้องทำในปีใหม่นี้ ควรพิจารณาสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหรือสิ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ควบคู่กันไปด้วยดังต่อไปนี้

5 ข้อที่ซีไอโอต้องหลีกเลี่ยง

1. อย่าสับสนระหว่างไซเบอร์ อินชัวรันส์ กับ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ : การรักษาไว้ซึ่งแผนสำรองทางการเงินนับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ

ตลาดด้านไซเบอร์ อินชัวรันส์กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทต่างๆ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของไซเบอร์ อินชัวรันส์ อย่างไรก็ดี ควรระลึกอยู่เสมอว่าไซเบอร์ อินชัวรันส์ไม่สามารถปกป้องข้อมูลสำคัญขององค์กรได้ และไซเบอร์ อินชัวรันส์ เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยทั้งหมดขององค์กรเท่านั้น

2. อย่าละเลยการให้ความรู้ : แก่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในเรื่องที่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ โดยมากแล้วพนักงานมักจะเป็นผู้ก่อให้เกิดจุดอ่อนในโครงสร้างพื้นฐานไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ดังนั้นองค์กรธุรกิจควรจะให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือ อีเมล และอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเครือข่ายขององค์กร ควรให้การอบรมและจัดเวิร์คช็อปเพื่อให้พนักงานทราบว่าลิงก์ที่มากับอีเมลนั้น ลิงก์ใดคลิกได้ ลิงก์ใดไม่ควรคลิก และมีเว็บไซต์อะไรบ้างที่พนักงานไม่ควรเข้าเยี่ยมชม การให้ความรู้ดังกล่าวเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อีเมลหลอกลวงและมัลแวร์เล็ดลอดเข้าสู่เครือข่ายของบริษัทได้

3. อย่าจ่ายค่าไถ่ : ก่อนอื่นคุณควรระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) การให้ความรู้แก่พนักงานและการติดตั้งโซลูชั่นป้องกันมัลแวร์เรียกค่าไถ่อาจช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม หากว่าท้ายที่สุดแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น ทีมงานที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาจะต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การแบ็คอัพข้อมูลอย่างเหมาะสมล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้คุณมั่นใจว่าจะไม่สูญเสียข้อมูลสำคัญ และคุณก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่ตามคำเรียกร้องของอาชญากรไซเบอร์

พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเหยื่อคนใดคนหนึ่งจ่ายเงินค่าไถ่ให้แก่อาชญากรไซเบอร์ นั่นหมายถึงการส่งเสริมให้คนร้ายโจมตีองค์กรหรือเหยื่อรายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ด้วย “ความรับผิดชอบต่อสังคมไซเบอร์” คุณจะต้อง “ปฏิเสธ” การจ่ายเงินค่าไถ่

4. อย่าละเลยแผนรับมือภัยพิบัติของบริษัท : องค์กรหลายแห่งไม่ได้กำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ขณะที่บางองค์กรมีแผนการรับมือที่หละหลวมและไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถใช้งานได้จริงเมื่อเกิดปัญหา หรืออาจทำให้ปัญหาลุกลามมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักเป็นเวลานานจนอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงทางการเงิน และทำให้ทั้งบริษัทกลายเป็นอัมพาต การรับมือกับกรณีการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยไม่ใช่เพียงแค่การตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่แทรกซึมเข้ามาเท่านั้น แต่จะต้องเป็นแนวทางดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งองค์กรได้พัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและทดสอบการใช้งานจริงเมื่อเกิดปัญหา

ในปี 2559 นี้ CIO จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทมีแผนรับมือกับภัยพิบัติที่ออกแบบอย่างเหมาะสม รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์และการทดสอบการใช้งาน ก่อนที่ปัญหาการเจาะระบบเครือข่ายจะเกิดขึ้นจริง

5. อย่าผ่อนผันเรื่องคุณภาพของโซลูชั่นที่เกี่ยวกับไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ : เหนือสิ่งอื่นใดคืออย่าลงทุนในเครื่องมือหรือโซลูชั่นที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีข้อมูลสำคัญทางธุรกิจเป็นเดิมพัน  บริษัทไม่สามารถแบกรับความเสียหายมูลค่ามหาศาลที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกใช้โซลูชั่นที่ไม่เหมาะสม

ระบบคลาวด์และโมบาย คอมพิวติ้ง กำลังขยายขอบเขตของสภาพแวดล้อมไอทีออกไปสู่ภายนอกองค์กร และอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) กำลังขยายพื้นที่การโจมตีให้กว้างขวางมากขึ้น แนวโน้มไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เรายังมีโอกาสที่จะชนะอยู่บ้าง เพราะอาชญากรไซเบอร์ไม่ใช่อัจฉริยะที่ไม่มีใครปราบได้ หากแต่เป็นกลุ่มคนร้ายที่ฉลาดและโจมตีอย่างเป็นระบบ กุญแจสำคัญสู่ชัยชนะก็คือการซ้อนกลเพื่อแก้ลำอาชญากรไซเบอร์เหล่านั้น ด้วยกลยุทธ์ด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ที่เหนือกว่า เช่น การเลือกใช้โซลูชั่นที่เหมาะสม การรู้ว่าควรทำและควรหลีกเลี่ยงสิ่งใด การให้ความรู้ต่อพนักงานขององค์กร เป็นต้น

]]>
1097524