นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงิน Wells Fargo โชว์ผลวิจัยล่าสุดพบสินค้าสไตล์ย้อนยุคอาจถึงจุดอิ่มตัว หลังจากสไตล์ Retro กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นร้อนแรงที่ฮอตฮิตเพิ่มขึ้นจากช่วงทศวรรษก่อน เบื้องต้นพบปริมาณการเสิร์ชหาร้านขายแฟชั่นวินเทจลดลงชัดเจน สะท้อนว่าสินค้ากลุ่มนี้อาจแผ่วลงต่อเนื่องในอนาคต
Ike Boruchow นักวิเคราะห์ของ Wells Fargo ระบุในเอกสารถึงลูกค้าธนาคารว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทีมวิจัยพบว่าแนวโน้มความสนใจสินค้าสไตล์ย้อนยุคเริ่มลดลง จนกลายเป็นความชัดเจนว่าตลาดแฟชั่นวินเทจอาจมีอายุสั้นลง
การสำรวจนี้ Wells Fargo ยกให้แบรนด์ Champion ของบริษัท HanesBrands Inc. เป็นแบรนด์ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากแนวโน้มนี้ ยังมีแบรนด์อย่าง Tommy Hilfiger ในเครือ PVH Corp. รวมถึง Fila และ Adidas ทั้งหมดล้วนเป็นแบรนด์ที่ถูกมองว่าได้รับประโยชน์มากที่สุดจากกลุ่มนักช้อปที่ชื่นชอบสินค้าสไตล์ยุคปี 1980-1990 ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา
จากการวิเคราะห์สถิติการค้นหาที่เกิดขึ้นบน Google พบว่าการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในแบรนด์ย้อนยุคหลายเจ้าลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่ายอดการเสิร์ชแบรนด์ Champion พุ่งสูงเมื่อไตรมาส 3 ปี 2018 แต่แล้วก็ลดลงในไตรมาส 2 ปี 2019
นอกจากการเสิร์ชที่ลดลง หลายแบรนด์ยังเริ่มลดราคาสินค้ากลุ่มวินเทจลง ซึ่งแปลได้ไม่ยากว่าเป็นความพยายามที่จะล้างสต็อกสินค้าคงคลังส่วนเกิน
กรณีของ Champion ข้อมูลจาก Gerald Evans Jr. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ HanesBrands ประกาศว่าแบรนด์ Champion เป็น 1 ใน 3 หน่วยธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทอย่างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความนิยมในสินค้าวินเทจทำให้สินค้า Champion มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลักตลอดช่วงเทศกาลวันหยุด ความแรงนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่ง Evans กล่าวว่า Champion มียอดขายสูงกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022
แม้การค้นหาสินค้า Champion บน Google จะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ Wells Fargo ยืนยันว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าเมื่อก่อน ประเด็นนี้ทำให้ Matt Hall โฆษกของ HanesBrands ปฏิเสธว่า Champion จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างที่การสำรวจฟันธง เพราะกลยุทธ์ทางธุรกิจของ Champion ไม่ได้พึ่งพาแนวโน้มที่เฉพาะเจาะจงมากเกินไป และบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหาร Champion ย้ำว่าแบรนด์ Champion มีความแข็งแกร่งมาก โดยแบรนด์เป็นมากกว่า ‘so-called’ retro brand หรือแบรนด์ที่เรียกกันไปเองว่าย้อนยุค ขณะเดียวกันเทรนด์ชุดกีฬาแบบลำลองก็ไม่ได้หายไปจากตลาด ทั้งในสหรัฐอเมริกาหรือตลาดอื่นทั่วโลก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการความสะดวกสบายจากสินค้าเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเห็นจากตัวแทน Fila และ PVH เช่นเดียวกับ Adidas ที่ปฏิเสธไม่แสดงความคิดเห็นในรายงานฉบับนี้.
]]>การแต่งตัวแนว “สปอร์ตแวร์” กำลังเป็นเทรนด์ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากคนทำงานออฟฟิศ ที่ไม่จำเป็นต้องใส่สูทผูกไทอีกแล้ว หากสามารถใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ทับด้วยสูทและรองเท้าผ้าใบ ก็ดูเป็นชุดลำลองที่สุภาพ และเข้าทำงานได้
เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้ “ตลาดแฟชั่น” ของเมืองไทยในปี 2018 เติบโตขึ้น 20-30% มีมูลค่าราว 704 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,640 ล้านบาท (คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ)
เซ็กเมนต์ที่มีขนาดใหญ่สุดและเติบโตสูงคือ “เสื้อผ้า” ที่มีมูลค่าประมาณ 16,415 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 22.4% โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,044 บาท/ชิ้น
ที่สำคัญ “เสื้อผ้า” ยังมีแนวโน้มที่สัดส่วนในตลาดจะเพิ่มจาก 37.8% ในปี 2018 ไปเป็น 51.1% ภายในปี 2022
ด้วยแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปิดรับ และสถานการณ์ตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้ “สปอร์ต รีโวลูชั่น” ผู้นำเข้า จำหน่าย และบริหารธุรกิจร้านค้าปลีก สินค้ากลุ่มสปอร์ตและไลฟ์สไตล์แฟชั่น ตัดสินใจนำ “Champion” (แชมเปี้ยน) แบรนด์สปอร์ตแฟชั่นสัญชาติอเมริกา ที่มีอายุ 99 ปีให้เข้ามาให้เมืองไทยอีกครั้ง
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว Champion เคยมีผู้รับสิทธิ์เข้ามาวางขายแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ลูกค้าเท่าไหร่นัก จึงต้องออกจากตลาดไป และเริ่มกลับเป็นที่รู้จักอีกครั้งเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยการพรีออเดอร์ของกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบ และมีบางร้านเช่น Footwork Noir ที่นำเข้ามาวางขาย แต่ก็ไม่ได้เป็นดิสทริบิวเตอร์
พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สปอร์ต รีโวลูชั่น จำกัด กล่าวว่า
“ดีลนี้ใช้เวลากว่า 2 ปีในการเจรจา และเพิ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อปลายปีก่อน โดยสปอร์ต รีโวลูชั่นจะเป็นดิสทริบิวเตอร์รายเดียวในเมืองไทย และถือเป็นรายแรกของอาเซียนด้วย ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกันแล้วตลาดแฟชั่นในสิงคโปร์ใหญ่ที่สุด รองลองมาเป็นไทยที่สูสีกับมาเลเซีย แต่ Champion ตัดสินใจเซ็นสัญญากับเรา ซึ่งเชื่อว่าเหตุผลที่เลือกมาจากภาพรวมตลาดที่โตต่อเนื่อง และมั่นใจในตัวสปอร์ต รีโวลูชั่นที่มีประสบการณ์ในด้านนี้”
เขายังกล่าวอีกว่าการนำเข้า Champion จะช่วยเข้ามาเสริมภาพความเป็นไลฟ์สไตล์แฟชั่นของสปอร์ต รีโวลูชั่นให้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้แบรนด์ที่มีอยู่ในมือจำนวน 13 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์กีฬาทั้งนั้น เช่น Nike, Under Armour, ASICS เป็นต้น
Champion สาขาแรกเปิดขึ้นที่ชั้น 3 โซนเอเทรียม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อ 1 กันยายน 2018 โดยวางให้เป็นแฟล็กชิพสโตร์ ใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 80 – 100 ตารางเมตร
สินค้าถูกนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 100% ซึ่งหลักๆ แล้วสินค้าของ Champion จะมีฐานผลิตอยู่ที่อเมริกาและญี่ปุ่น แต่เหตุผลที่เลือกญี่ปุ่นเนื่องจากมีดีไซน์แบบมินิมอล (Minimal) และมีขนาดที่เหมาะกับคนไทย ส่วนอเมริกาจะเน้นสินค้ากลุ่มสปอร์ตมากกว่าไลฟ์สไตล์ อีกทั้งถ้านำเข้าจากที่นี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท
ราคาจะห่างจากญี่ปุ่นประมาณ 10-15% มีตั้งแต่ 1,100 บาท เป็นเสื้อทีเชิ้ต ไปจนถึง 7,000 บาท ที่เป็นแจ็กเก็ต โดยรวมๆ จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3,200 บาท
Champion วางตำแหน่งตัวเองให้อยู่ในกลุ่มเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ และเสื้อผ้ากีฬา โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับ B ขึ้นไป อายุ 18-34 ปี เป็นผู้ชาย 60% และผู้หญิง 40%
เป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยทำงานตอนต้นถึงกลาง มีกำลังซื้อสูง มีพฤติกรรมความต้องการสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีสไตล์เป็นของตนเอง ส่วนกลุ่มรองลงมาคือกลุ่มวัย 40 ปีขึ้นไปที่เคยใช้ Champion มาก่อน และอยากจะใช้อีกครั้ง
ส่วนแผนการตลาดในเบื้องต้นมีเป้าหมายสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายว่า Champion กลับมาแล้ว จะเน้นใช้ช่องทางดิจิทัลผ่านสื่อออนไลน์และ Influencers เข้ามาเสริม
“สปอร์ต รีโวลูชั่น จะพยายามไม่ให้มีอุปสรรคในเรื่องของราคา แต่จะกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อด้วยสินค้า ไปพร้อมๆ กับการสร้างลอยัลตี้”
“ถามว่าคู่แข่งของ Champion คือใคร ถ้าเป็นทางตรงก็คงไม่มี เนื่องจากเสื้อผ้าและ Accessories มี Category เป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เป็น ส่วนทางอ้อมก็เป็นแบรนด์กีฬาอื่นๆ ที่มีสินค้าไลฟ์สไตล์อยู่ในพอร์ต”
นอกจากสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์แล้ว ในปีนี้ยังวางแผนเปิดอีก 2 สาขา ไอคอนสยาม และเมกาบางนา คาดว่าจะสามารถเปิดร้านได้ในเดือนพฤศจิกายน
ส่วนปีหน้าวางแผนเปิดอีก 5-6 สาขา หลักๆ มีสถานที่เตรียมไว้หมดแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลใจกลางเมืองและเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า คาดว่าจะใช้งบลงทุนสาขาละ 20 ล้านบาท มีพื้นที่ 80-100 ตารางเมตร โดยปีถัดไปวางแผนจะเริ่มขยายไปในหัวเมืองอื่นๆ ด้วย
สำหรับสปอร์ต รีโวลูชั่นปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 2,000 ล้านบาท หลักๆ จะมาจาก 4 แบรนด์ คือ Nike, Under Armour, ASICS และ Crocs
ส่วน Champion มีการตั้งเป้ารายได้ 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20-25% ภายในปี 2020 หรือจะมีรายได้รวมทั้งบริษัทที่ 3,000 ล้านบาท หลังจากนี้มีแผนที่จะนำเข้าแบรนด์ใหญ่อีก 2-3 แบรนด์.
]]>