FTA – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 12 Sep 2013 00:00:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ไทยพร้อมลงนาม FTA ไทย-ชิลี เพิ่มโอกาสสินค้าไทยรุกตลาดละตินอเมริกา https://positioningmag.com/57192 Thu, 12 Sep 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=57192

นับจากที่ไทยและชิลีสามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน และที่ประชุมรัฐสภาของไทยได้เห็นชอบความตกลงฯดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2556 นั้น ในขณะนี้ ไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อลงนาม FTA ไทย-ชิลี ในช่วงที่ประธานาธิบดีของชิลีเดินทางเยือนระหว่างวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2556 และคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปลายปี 2556 นี้ FTA ไทย-ชิลีนับเป็นความตกลงแบบกรอบกว้าง (Comprehensive Agreement) ที่ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ พิธีการศุลกากร กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความโปร่งใส ส่วนประเด็นด้านการลงทุนจะมีการเจรจาภายใน 2 ปี นับจาก FTA มีผลบังคับใช้

การเปิดการค้าเสรีกับประเทศในอเมริกาใต้นั้นมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าตลาดอเมริกาใต้เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยดึงดูดการค้าการลงทุนหลายประการ โดยเฉพาะชิลี เนื่องจากเป็นประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจและการเมืองมั่นคงมากที่สุดประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ มีอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยร้อยละ 4-6 ต่อปี จากการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 40 ของจีดีพี โดยมีทองแดงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้ขนาดเศรษฐกิจของชิลีจะใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาค แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ของชิลีสะท้อนให้เห็นว่าชาวชิลีนั้นเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเฉลี่ยสูงที่สุดในภูมิภาค (15,315 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี)

ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดชิลี การยกเลิก/ลดมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีระหว่างกันจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยให้สินค้าไทยขยายปริมาณการส่งออกไปยังชิลีและประเทศอื่นๆในภูมิภาคอเมริกาใต้ได้มากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการส่งออกที่เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศที่ได้ทำ FTA กับชิลีไปก่อนหน้านี้อย่างจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า โดยเฉพาะทองแดงและสินแร่เหล็ก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตได้อีกด้วย โดย FTA ไทย-ชิลีนี้จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้ากว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดและของมูลค่านำเข้าลดลงเหลือร้อยละ 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และอีกร้อยละ 10 ที่เหลือนั้นจะทยอยลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของชิลีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6

ประเภทสินค้าที่ไทยคาดว่าจะได้ประโยชน์จาก FTA ฉบับนี้ ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง อาหารแปรรูป ผลไม้กระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา เม็ดพลาสติก ปูนซิเมนต์ อัญมณีและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ในส่วนของยานยนต์และส่วนประกอบ ตลาดรถยนต์และรถกระบะในชิลีนับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก ปัจจุบันยานพาหนะในชิลีมีจำนวนประมาณ 3.5 ล้านคัน แต่เนื่องจากปัจจุบันชิลีเป็นประเทศที่ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ จึงต้องนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) จากต่างประเทศทั้งหมด ในปี 2555 ชิลีมีการนำเข้ารถยนต์จำนวนทั้งสิ้น 350,699 คัน เป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้มากที่สุด (ประมาณ 1 แสนคัน) รองลงมา คือ จีน (6 หมื่นคัน) และญี่ปุ่น (4 หมื่นคัน) โดยไทยเป็นอันดับที่ 4 (2.5 หมื่นคัน) ในจำนวนรถที่นำเข้าจากไทยนี้ราวร้อยละ 96 เป็นรถกระบะขนาด 1 ตัน และในอนาคตคาดว่า เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ในชิลีมีแนวโน้มจะขยายตัวเช่นกัน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยเฉพาะรถยนต์ประเภท SUV (Sport Utility Vehicle) จะเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภคในเมืองใหญ่ๆเพิ่มมากขึ้น กระนั้น คู่แข่งที่สำคัญของไทยอย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นยังครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ซึ่งนิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะรถกระบะขนาด 1 ตัน นับเป็นโอกาสทองของไทยเนื่องจากรถกระบะจากไทยเป็นที่ยอมรับทั้งด้านราคาและคุณภาพในตลาดชิลีอยู่แล้ว ดังนั้น หากการทำ FTA ไทย-ชิลีทำให้อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์จากไทยลดลง ย่อมมีส่วนอย่างสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ชิลีนำเข้ารถยนต์และรถกระบะจากไทยเพิ่มขึ้น และนอกจากรถยนต์สำเร็จรูปแล้ว ชิลียังมีความต้องการนำเข้าอุปกรณ์ประดับยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ไทยมีโอกาสเข้าไปทำตลาดในชิลี

ในปัจจุบัน ชิลีมีข้อตกลงทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนประมาณ 24 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศในเอเชียที่ได้จัดทำ FTA กับชิลีและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ในขณะที่ FTA เวียดนาม-ชิลีมีการลงนามไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2554 แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าชิลีมุ่งเน้นสนับสนุนการค้าเสรีกับประเทศต่างๆในหลายภูมิภาค และมีนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างเปิดกว้าง โดยจากสถิติในปี 2555 ชิลีมีมูลค่านำเข้า 70,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เชื้อเพลิง ยานยนต์ เครื่องจักร และพลาสติก แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อาร์เจนตินา และบราซิล โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 18 ในส่วนของการส่งออก และในส่วนของมูลค่าการส่งออกนั้นอยู่ที่ประมาณ 76,791 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ทองแดง (ร้อยละ 34.4 ของมูลค่าส่งออก) สินแร่เหล็ก (ร้อยละ 24.7 ของมูลค่าส่งออก) และผลไม้ โดยเป็นการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และบราซิลเป็นหลัก ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 29 ของชิลี

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะพบว่าทุกวันนี้ไทยมีมูลค่าการค้ากับชิลีมากที่สุดในภูมิภาค รองลงมาคือเวียดนามและมาเลเซีย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) การค้าระหว่างไทยกับชิลีมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยราวปีละ 702 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.17 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย

ในปี 2555 ไทยส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า 628 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละ 0.27 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) และนำเข้าประมาณ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละ 0.14 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาโดยตลอด (ยกเว้นปี 2552)

กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและชิลีในปัจจุบันจะยังไม่สูงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดทำ FTA ไทย-ชิลีจึงเอื้อให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดชิลีได้อย่างสะดวกขึ้น และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยให้รักษาส่วนแบ่งตลาดในชิลีไว้ได้ นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการไทย FTA ไทย-ชิลีจะเป็นประโยชน์ในแง่ของต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตที่ลดลงจากการลด/ยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะ 5 ปีนับจาก FTA ไทย-ชิลีมีผลบังคับใช้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยและชิลีจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 13 ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าการค้ามีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 1 เท่าตัว จาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2556 เป็น 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 ชิลีจึงเป็นประเทศที่น่าจับมองในฐานะคู่ค้าที่มีศักยภาพของไทยในอนาคต และเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยในการขยายตลาดในละตินอเมริกา

]]>
57192
FTAไทย-เปรู…อีกหนึ่งย่างก้าวที่น่าจับตามอง https://positioningmag.com/53747 Fri, 17 Dec 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=53747

กรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-เปรูที่เริ่มเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ารอบแรกตั้งแต่มกราคม 2547 นั้น มีการร่วมกันลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ.2548 ไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554

ความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู…คาดมีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554
ในการหารือทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีเปรูกับนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงการประชุมผู้นำเอเปค เมื่อเดือนตุลาคม 2545 ณ ประเทศเม็กซิโก ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงการจัดตั้ง FTA ไทย-เปรู ขึ้น ต่อมาก็ได้จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และมีการลงนามเมื่อวันที่ 17ตุลาคม 2546 ซึ่งครอบคลุมในเรื่องการเปิดเสรี การอำนวยความสะดวก และความร่วมมือด้านการค้าสินค้า บริการและการลงทุน รวมทั้งการขยายความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยได้เริ่มเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ารอบแรกตั้งแต่มกราคม 2547 ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปผลการเจรจาเร่งเปิดเสรีสินค้าบางส่วนก่อน (ร้อยละ 70 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด แบ่งเป็นลดภาษีศูนย์ทันที ร้อยละ 50 และภายใน 5 ปี ร้อยละ 20) ในรอบที่ 7 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 จากนั้นก็มีการดำเนินการตามลำดับดังนี้

19 พฤศจิกายน 2548 ณ นครปูซาน ประเทศเกาหลี
ได้มีการลงนามพิธีสารเพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Early Harvest) โดยมีสาระครอบคลุมเรื่องการค้าสินค้า กฎเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการปกป้อง มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า พิธีการศุลกากร การบริหารจัดการกฎหมาย กฎระเบียบที่โปร่งใส กลไกระงับข้อพิพาท และการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม

16 พฤศจิกายน 2549 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
ไทยและเปรูได้มีการลงนามพิธีสารเพิ่มเติมเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า อย่างไรก็ตาม ความตกลงฯยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากทั้งสองประเทศต้องปรับเปลี่ยนรายการสินค้าและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าจากระบบ HS 2002 เป็น HS 2007 ตามพันธกรณีภายใต้องค์การศุลกากรโลก

13 พฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศสิงคโปร์
มีการลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 เพื่อเป็นการยอมรับร่วมกันในการปรับเปลี่ยน HS 2007 รวมทั้งมีการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ในไตรมาสแรกของปี 2553 แต่เนื่องจากฝ่ายเปรูได้ขอให้มีการแก้ไขพิธีสารฉบับปี 2548 โดยขอปรับเปลี่ยนถ้อยคำในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งมีข้อความบางส่วนที่ขัดต่อกฎหมายของเปรู ทำให้ความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Early Harvest) จึงยังไม่มีผลใช้บังคับตามที่ช่วงเวลาที่วางเป้าหมายไว้

18 พฤศจิกายน 2553 ณ ประเทศไทย
ไทย-เปรูได้ร่วมกันลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ.2548 ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาเพื่อแก้ไขกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้พิธีสารฯไทย-เปรู พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553

ทั้งนี้ การลงนามพิธีสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 มีผลให้พิธีสารอีก 3 ฉบับที่ได้ลงนามไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ช่วงปี 2548-2552 สามารถมีผลใช้บังคับด้วย โดยต่างมีความเห็นร่วมกันที่จะให้ความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู มีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554 ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการค้า และการลงทุนของทั้งสองฝ่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่เปรูยกเลิกภาษีสินค้าทันทีรวม 3,985 รายการ หรือร้อยละ 54.2 ของรายการสินค้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 77.2 ของการนำเข้าเฉลี่ยจากไทยในปี 2549-2552(132.24ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ไทยจะยกเลิกภาษีทันทีให้กับการนำเข้าสินค้าจากเปรูจำนวน 3,844 รายการ หรือร้อยละ 46.3 ของรายการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 92.2 ของรายการนำเข้าเฉลี่ยจากเปรู ในปี 2549-2552 (70.78 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ซึ่งนอกจากกรอบความตกลงดังกล่าว ปัจจุบันไทยและเปรูได้ลงนามความตกลงทวิภาคีแล้ว 26 ฉบับ และยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกจำนวน 15 ฉบับ โดยความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกับกับ National Aerospace Research and Development Commission of Peru (CONIDA) การติดตามการทำลายป่าไม้ (Deforestation monitoring) และการทำแผนที่เพื่อการจัดการพื้นที่ (Cartography for land-use management) เป็นต้น

การค้าไทย-เปรูส่อแววดีต่อเนื่อง
เปรู เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของภูมิภาคลาตินอเมริกาซึ่งประกอบด้วยประเทศ 17 ประเทศด้วยกัน และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยกับลาตินอเมริกา รองจากบราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี และโคลอมเบีย ซึ่งแม้ว่าการค้าระหว่างไทย-เปรูในช่วงที่ผ่านมาจะไม่โดดเด่นนัก หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.11 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย แต่มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี (ยกเว้นปี 2552 ที่ต่างก็เผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้การเติบโตของมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเปรูในปี 2552 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี)
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับเปรูในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 คิดเป็นมูลค่ารวม 352.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนกว่า 2 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าที่ 165.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการที่ไทยส่งออกไปเปรูเป็นมูลค่า 259.0 ล้านเหรียญสหรัฐ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 294.6) อันเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.16 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทย ส่งผลผลักดันให้มูลค่าการส่งออกระหว่างไทย-ภูมิภาคลาตินอเมริกาในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553เพิ่มขึ้นเป็น 4,788.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.6 (YoY) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากเปรูเองก็ทำสถิติสูงสุดเช่นกัน ด้วยมูลค่า 93.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 171.2) และมีผลให้การนำเข้าจากภูมิภาคลาตินอเมริกาขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบจากช่วง 10 เดือนแรกปี 2552 จึงมีความเป็นไปได้ว่าการส่งเสริมความร่วมมือกับระหว่างไทยและเปรูกันมากขึ้น น่าจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดด้านการส่งออกและสร้างประโยชน์สูงสุดจากการนำเข้าทั้งจากตลาดเปรูและตลาดในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้พอสมควร โดยไทยยังมีแผนที่จะเปิดการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับชิลีในปี2554 ด้วย
รายการสินค้าส่งออก-นำเข้าระหว่างไทยกับเปรู

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีเป็น 0 ระหว่างไทย-เปรู ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ไทยส่งออกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของสินค้าส่งออกไปเปรู) เครื่องซักผ้า และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ในด้านการนำเข้า เปรูเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และสินแร่ต่างๆ ได้แก่ สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ป่าไม้ สินค้าประมง เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้นำเข้าไทยที่จะสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากเปรูได้ในราคาถูกจากผลของภาษีนำเข้าที่ลดลง และสามารถใช้เปรูเป็นฐานการผลิตหรือร่วมลงทุน เพื่อส่งออกไปยังตลาดสำคัญของเปรูได้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ลดภาษีสินค้าอ่อนไหว รวมทั้งปลาป่นภายใต้พิธีสารดังกล่าว

สำหรับด้านการลงทุน พบว่าปัจจุบันไทย-เปรูยังมีการลงทุนระหว่างกันไม่มากนัก แต่ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลเปรูค่อนข้างเป็นมิตรกับนักลงทุน และนอกจากจะมีนโยบายเพิ่มการลงทุนภาคสาธารณะแล้ว ยังต้องการเพิ่มการลงทุนภาคเอกชนในสาขาที่มีศักยภาพ รวมทั้งสาขาการขนส่ง ซึ่งรัฐบาลเปรูให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีด้านการลงทุนพอสมควร และมีการวางรากฐานการเปิดเสรีการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2533 โดยได้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น โครงสร้างภาษี และกฎหมาย ประเทศเปรูให้สิทธินักลงทุนต่างชาติเท่าเทียมกับนักลงทุนเปรูในการลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆ โดยไม่มีนโยบายจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน และค่อนข้างยืดหยุ่นในเรื่องการจ้างงานต่างชาติ ซึ่งสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะมีศักยภาพในการเข้าไปลงทุน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เหมืองแร่ และประมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญระหว่างไทยและเปรูได้แก่ 1.ระยะทางที่ห่างไกลของทั้งสองประเทศ และการขนส่งที่ต้องผ่านประเทศที่สาม ทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น 2.เปรูใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสื่อสารติดต่อทางการค้า และ 3.เปรูมีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องตลาดให้กับสินค้าเกษตรของตน เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสินค้าเกษตร (อัตราร้อยละ 5-10) และการเก็บ Variable specific duty กับสินค้าเกษตรบางชนิด ได้แก่ ข้าว น้ำตาล นมและผลิตภัณฑ์ และข้าวโพด โดยทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าไทยครองส่วนแบ่งตลาดในเปรูสัดส่วนร้อยละ 1 ติดอันดับที่ 23 ตามรายงานของ Global Trade Atlas ขณะที่แหล่งนำเข้าที่สำคัญของเปรูได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 20) จีน(สัดส่วนร้อยละ 15) บราซิล(สัดส่วนร้อยละ 8) เอกวาดอร์(สัดส่วนร้อยละ 5) และชิลี(สัดส่วนร้อยละ 5)

บทสรุป
เศรษฐกิจของเปรูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี โดยมีเพียงปี 2552 ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 0.9 อันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังสามารถเติบโตในแดนบวกได้ โดยมีภาคการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าประมงและแร่ธาตุ และการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ส่งผลให้ความยากจนในประเทศลดลงติดต่อกันถึงสี่ปี ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเปรูในปี 2553 ก็มีโอกาสจะขยายตัวถึงร้อยละ 8.31 นอกจากนี้ เปรูยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญนโยบายเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมที่มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันหมายรวมถึงภูมิภาคเอเชียด้วยซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคของเปรู รวมถึงการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ จีน หรือไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จากการที่การค้าระหว่างไทยและเปรูเป็นไปในลักษณะที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง เพราะไทยผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป ส่วนเปรูส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ยังไม่ได้แปรรูป ได้แก่ สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ป่าไม้ สินค้าประมง เป็นต้น จึงเป็นไปได้ว่าความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรูที่คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554 น่าจะส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่งออกของไทยที่น่าจะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีเป็น 0 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ในด้านการนำเข้านั้นน่าจะเป็นโอกาสดีของผู้นำเข้าไทยที่จะสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากเปรูได้ในราคาถูกจากผลของภาษีนำเข้าที่ลดลง และสามารถใช้เปรูเป็นฐานการผลิตหรือร่วมลงทุน เพื่อส่งออกไปยังตลาดสำคัญของเปรูได้ ขณะที่ด้านการลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะมีศักยภาพ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เหมืองแร่ และประมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาลู่ทางด้านการตลาด กฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศเปรู ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเปรูยังมีไม่มาก อีกทั้งเป็นประเทศที่ห่างไกลจากไทย แต่จากระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรูที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและจากสถิติการค้าที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเปรูน่าจะยังขยายได้อีก อันหมายรวมถึงโอกาสกระจายสินค้าไปยังประเทศในแถบลาตินอเมริกาอื่นๆที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าค่อนข้างใกล้ชิดต่อกันในระดับภูมิภาค ด้วยขนาดประชากรราว 382 ล้านคน และมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 4,204 ดอลลาร์สหรัฐฯที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตลาดลาตินอเมริกาจึงนับเป็นตลาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามอีกหนึ่งตลาดท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวที่ยังค่อนข้างเปราะบางของตลาดหลักเดิมของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

]]>
53747
ยางพาราและผลิตภัณฑ์ : กรอบ FTA ผลักดันส่งออกพุ่ง…นำเข้าเพิ่ม https://positioningmag.com/52793 Wed, 04 Aug 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=52793

ในปี 2553 เป็นปีที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและผลิตภัณฑ์พลิกฟื้นจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2552 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีน และตามมาด้วยการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ความต้องการยางพาราและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนประการสำคัญที่ช่วยพยุงอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ของไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 2552 คือ การที่จีนลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางตามกรอบข้อตกลง FTA อาเซียนจีนก่อนที่จะถึงกำหนดในปี 2553 ทำให้ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ผู้ส่งออกของไทยมีการปรับตัวโดยการหันไปผลิตยางคอมปาวน์ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาง แทนการผลิตยางแท่ง ซึ่งถือว่าเป็นยางแปรรูปขั้นต้น โดยอานิสงส์นี้ยังคงเป็นปัจจัยหนุนต่อเนื่องในปี 2553 ด้วย ในขณะที่กรอบข้อตกลง FTA อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงอาฟตา อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย และอาเซียน-นิวซีแลนด์ ช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวด้วย

นอกจากปริมาณความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงก็เป็นปัจจัยหนุนราคายางเช่นกัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ราคายางธรรมชาติจะมีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 คาดว่าจะส่งผลให้ราคายางชะลอการเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป เนื่องจากความต้องการยางสำหรับอุตสาหกรรมยางวงล้อยังเป็นปัจจัยหนุนอยู่ รวมทั้งความต้องการยางสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะยางเพื่ออุตสาหกรรมรองเท้า และอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยได้รับอานิสงส์ทั้งจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และกรอบ FTA ต่างๆ กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกยางเพิ่มขึ้นเป็น 3,551.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 109.2 (y-o-y) โดยเฉพาะการส่งออกยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.3 (y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3,013.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกยางคอมปาวน์ ยางรถยนต์ และถุงมือยาง ตลาดส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่เจรจาของกรอบ FTA ยกเว้นสหรัฐฯ บราซิล และสหภาพยุโรป

ผลของกรอบFTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์แล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ของไทยในปี 2553 เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 การนำเข้ายางและเศษยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 134.6 (y-o-y)เป็น 417.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการนำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้ายางสังเคราะห์ ส่วนมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นเป็น 423.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.3 (y-o-y) ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางที่นำเข้าแยกเป็น ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้นและปิดผนัง ผลิตภัณฑ์ยางวัลแคไนซ์ ท่อ ข้อต่อ และสายพานที่ทำด้วยาง ซึ่งประเด็นที่ต้องกังวล คือ การเข้ามาแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศของผลิตภัณฑ์ยาง 3 รายการ ในขณะที่ยางรถยนต์(โดยเฉพาะยางเรเดียลใช้กับรถบัส และรถบรรทุก และยางรถจักรยานยนต์) ไทยจะลดภาษีเป็นร้อยละ 5 ในปี 2561 ปัจจุบันอัตราภาษีอยู่ในระดับร้อยละ 20-30 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของยางรถยนต์

ประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อไปเกี่ยวกับผลของกรอบ FTA ดังนี้
-อานิสงส์ที่ไทยได้รับจากประเทศคู่เจรจากรอบ FTA ประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนและเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกก็ได้รับอานิสงส์นี้ด้วย ทำให้ผู้ส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ของไทยก็ยังคงเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง

ในระยะยาวแล้วไทยยังจะสามารถขยายการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์จากการที่ประเทศคู่เจรจา FTA ทยอยลดภาษีตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป เช่น อินเดียลดภาษีนำเข้ายางผสมคาร์บอนเบล็กหรือซิลิก้า ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเภสัชกรรม(ไม่รวมถุงยางอนามัย) และถุงมือเล่นกีฬา จากร้อยละ5-7 เหลือร้อยละ 0 ในปี 2556 จีนลดภาษีนำเข้ายางธรรมชาติในลักษณะปฐมจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 ในปี 2558 เป็นต้น

-การย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน โดยอาศัยอานิสงส์จากกรอบ FTA เข้ามาตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์ยางในไทย ทั้งยางแผ่น ยางแท่ง ยางคอมปาวน์ และยางรถยนต์ แล้วส่งกลับไปจีน ประเด็นที่นักลงทุนจีนเลือกมาลงทุนในไทย เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก มีความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน และมีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างไทยกับจีน โดยขนส่งผลิตภัณฑ์ยางจากแหล่งผลิตยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังจีน หรือเลือกเส้นทางขนส่งไปยังท่าเรือดานัง ในเวียดนามแล้วส่งต่อไปจีน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าขนส่งมากกว่าการใช้เส้นทางขนส่งมาท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืองกรุงเทพฯ นอกจากนี้ นักลงุทนต่างประเทศยังสามารถอาศัยฐานการผลิตจากไทย ส่งออกไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาค และประเทศที่สามได้อีกด้วย

-การย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนไทยไปยังต่างประเทศ ซึ่งแยกออกได้เป็นการเข้าลงทุนปลูกยางในกัมพูชา ลาว และพม่า ทำให้ในอนาคตไทยจะมีคู่แข่งรายใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้งจีนและเวียดนามก็เข้าไปลงทุนปลูกยางในประเทศเหล่านี้เช่นกัน ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ก็จะเป็นแหล่งวัตถุดิบของไทยในอนาคตเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติการนำเข้าของทั้งจีนและไทย เริ่มมีการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้แล้ว แม้ว่ามูลค่ายังไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนไทยการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์ยางในเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งในอนาคตจะเป็นคู่แข่งในการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทย

ยางและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับอานิสงส์กรอบ FTA ผลักดันการส่งออก เนื่องจากประเทศคู่เจรจาเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ผนวกกับการพลิกฟื้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ส่งผลให้ความต้องการยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กรอบ FTA ส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้นด้วย ผู้ผลิตยางและผลิตภัณฑ์ในบางสินค้าต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไปคือ การทยอยลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ รวมทั้งการเตรียมรับมือกับการย้ายฐานการลงทุนทั้งการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

]]>
52793
สินค้าเกษตรและอาหาร : ผลผลิตลด…ส่งออกพุ่ง อานิสงส์ FTA https://positioningmag.com/52738 Thu, 29 Jul 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=52738

ในปี 2553 แม้ว่าการผลิตสินค้าเกษตรต้องเผชิญกับปัญหาแมลงศัตรูระบาด และปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง โดยเฉพาะผลผลิตที่ปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือในช่วงไตรมาสสอง อย่างไรก็ตาม มาตรการประกันรายได้เกษตรกรสำหรับสินค้าข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เกษตรกรขยายการผลิต ในขณะที่การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 พุ่งสูงขึ้น จากปัจจัยหนุนคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอานิสงส์จาก FTA กรอบต่างๆ จากปัจจัยหนุนดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สินค้าเกษตรที่ยังคงมีปัญหาเพียงสินค้าเดียว คือ ข้าว เนื่องจากเผชิญภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนาม ทำให้ปริมาณการส่งออกชะลอตัว และราคายังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2553 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังคงขยายตัว และอานิสงส์จาก FTA กรอบต่างๆที่ยังส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องจับตามอง คือ สภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปสรรคสำคัญที่ประเทศคู่เจรจานำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร (Non-Tariff Barrier Measures : NTMs)

การผลิต…เผชิญปัญหาแมลงศัตรูระบาด และปัญหาฝนทิ้งช่วง
ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และภาวะการแพร่ระบาดของแมลงศัตรู ที่สร้างความเสียหายให้กับปริมาณผลผลิต โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ซึ่งผลผลิตลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาเพลี้ยแป้ง และผลผลิตในช่วงกลางปี 2553 เผชิญปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่วนข้าวนาปีก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และปัญหาภัยแล้ง สำหรับยางก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำยางน้อยลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2553

คาดการณ์ว่าในปีเพาะปลูก 2553/54 ยังต้องติดตามปริมาณน้ำ และสภาพอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลขอความร่วมมือให้เลื่อนการผลิตข้าวนาปีไปอีก 1 เดือน และกำลังพิจารณาที่จะออกมาตรการให้ปลูกข้าวเพียงปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และปริมาณน้ำที่จะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าว สำหรับสินค้าเกษตรที่ยังต้องจับตามอง คือ มันสำปะหลัง เนื่องจากคาดการณ์ว่าในปี 2553/54 ผลผลิตจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไม่เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับสินค้าปศุสัตว์และประมงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วงมากนัก อีกทั้งเกษตรกรมีการขยายการเลี้ยง เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง อันเป็นผลมาจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์ดี

แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ…จับตามันสำปะหลัง และยาง
จากปัจจัยในเรื่องปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดลดลง ในขณะที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น ยกเว้นข้าวอย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 3 ราคาอาจกระเตื้องขึ้นในช่วงที่มีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ โดยคาดว่าจะเป็นการส่งออกระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามมาตรการระบายสต็อกของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลระบายเป็นข้าวถุงสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะส่งผลกระทบค่อนข้างน้อยต่อราคา แต่ถ้ารัฐบาลใช้วีธีการให้ผู้ส่งออกมาประมูลเพื่อระบายไปตลาดต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะมีผู้ส่งออกเข้าร่วมประมูลน้อย เพราะอยู่ในช่วงจังหวะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างรอดูราคาข้าวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง ในไตรมาส 4 ผลผลิตข้าวนาปีฤดูการผลิต 2553/54 ออกสู่ตลาด ซึ่งผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงต้องเผชิญการแข่งรุนแรงจากทั้งเวียดนาม และอินเดียที่คาดว่าจะกลับมาส่งออกข้าวขาว(หลังจากงดส่งออก 2 ปี) ซึ่งอินเดียจะมาเบียดแย่งตลาดข้าวในแอฟริกา และตะวันออกกลางกลับคืนไป รวมทั้งยังต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะพม่าและกัมพูชาด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 ใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการส่งออกข้าวส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าประเทศผู้นำเข้าสำคัญคือ ฟิลิปปินส์และไนจีเรีย ผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวลดลง

สำหรับแนวโน้มราคาข้าวปี 2554 คาดการณ์ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะที่คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวนาปีในปีเพาะปลูก 2553/54 ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2552/53 และมาตรการประกันรายได้เกษตรกรยังกำหนดราคาประกันเท่ากับปี 2553 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ข้าวไทยอาจจะยังคงเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสภาพอากาศที่แปรปรวนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตของทั้งประเทศคู่แข่งและคู่ค้า

ส่วนสินค้าเกษตรที่น่าจับตามอง คือ มันสำปะหลัง และยางพารา สำหรับมันสำปะหลังคาดว่าราคาทรงตัวในระดับสูง จากความต้องการของจีน และคาดการณ์ปริมาณการผลิตปี 2553/54 ที่ลดลง (ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดในเดือนกันยายน) จากปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยแป้ง กอปรกับมาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ยังคงอัตราประกันไว้ที่ 1.70 บาท/ก.ก. แนวโน้มปี 2554 คาดว่าจีนยังคงมีความต้องการมันเม็ดและแป้งมันจากไทยเพิ่มขึ้น ราคาน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ราคาอาจจะผันผวน ต้องติดตามปริมาณการผลิตของเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดจีน

ส่วนยางพาราราคาแนวโน้มกระเตื้องต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย และแนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งส่งผลให้ราคายางสงเคราะห์ ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนอยู่ในเกณฑ์สูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และผันผวนในบางช่วง เนื่องจากประเทศผู้ซื้อจะทยอยซื้อเพื่อเก็บเข้าสต็อกให้เพียงพอป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศของตน และป้องกันปัญหาการขาดแคลนในบางช่วงที่ปริมาณผลผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากเป็นช่วงยางผลัดใบ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี แนวโน้มปี 2554 คาดการณ์ผลผลิตยางไทย และประเทศผู้ผลิตยางสำคัญ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าอุตสาหกรรมรถยนต์ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ราคายางก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวลคือ การที่รัฐบาลจีนปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น และอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนเริ่มชะลออัตราการเติบโต อาจจะส่งผลให้ความต้องการยางของจีนชะลอตัว ความต้องการนำเข้ายางของจีน

การส่งออก…เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ากระเตื้อง และอานิสงส์ FTA
ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 10,023.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 (y-o-y) และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,917.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ากระเตื้องขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้แรงหนุนจาก FTA กรอบต่างๆ ที่ทำให้การส่งออกพุ่งสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าปัจจัยหนุนดังกล่าวจะยังคงหนุนเนื่องการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรตลอดทั้งปี 2553 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น18,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 (y-o-y) โดยประเทศคู่ค้าสำคัญคือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ อาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

อานิสงส์จากเอฟทีเอ…ปัจจัยหนุนส่งออกพุ่ง
การปรับลดอัตราภาษีของสินค้าเกษตรและอาหารลงเหลือร้อยละ 0 มีส่วนช่วยให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาต่ำลง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดที่มีข้อตดลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งการลดภาษีในปี 2553 โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นการลดเพิ่มเติมจากที่ทยอยลดภาษีลงมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ในปี 2559-2563 กรอบการลดภาษีจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้น จากการที่สินค้าอ่อนไหวส่วนใหญ่ต้องลดภาษีเป็นร้อยละ 0-5

ผลของการปรับลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ มีส่วนผลักดันให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเป็นคู่เจรจา FTA กล่าวคือ การส่งออกสินค้ากสิกรรม(สินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้น)ไปยังจีน และอาเซียน เพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้ากสิกรรมในช่วงครึ่งแรกปี 2553 โดยเฉพาะยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.5 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.7(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1,513 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าแปรรูป (สินค้าประมง ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมเกษตร) ไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ผักผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าว โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2,258 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.8(y-o-y)

ในด้านการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหรือวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ไทยจะมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค คือ นำเข้าวัตถุดิบมาผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งออกกลับไปยังอาเซียน และประเทศอื่นๆ เนื่องจากไทยมีมาตรฐานการผลิต และสุขอนามัยในการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากอาเซียนในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 611 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการบริโภคในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจากตลาดจีน และอาเซียน รวมทั้งนิวซีแลนด์ ซึ่งบางส่วนเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ เช่น การนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์ แต่บางส่วนก็เป็นการนำเข้าเพื่อตอบสนองผู้ที่มีรายได้สูง หรือผู้ที่นิยมบริโภคสินค้าต่างประเทศ

เมื่อเปรียบเทียบดุลการค้าในกรอบ FTA ต่างๆ ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 แล้วพบว่าไทยได้ดุลการค้ากับประเทศคู่เจรจา ยกเว้นกับนิวซีแลนด์ที่ไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม โดยประเทศคู่เจรจาที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร คือ อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งในช่วงครี่งแรกปี 2553 ไทยได้ดุลการค้า 2,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ

ประเด็นที่ยังต้องติดตามภายหลังการเปิด FTA กรอบต่างๆ ก็คือ การเปิดเสรีเกษตรและอาหารในปัจจุบัน อุปสรรคด้านภาษีไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากประเทศคู่เจรจาลดอัตราภาษีสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญที่ประเทศคู่เจรจานำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ มาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร (Non-Tariff Barrier Measures : NTMs) ทั้งมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศโดยทั่วไป (Technical Barriers to Trade : TBT ) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่อาจมีความสามารถในการรับมือได้มากกว่าธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ ในระยะยาวไทยต้องเตรียมรับมือกับข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับมาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังมีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา NTMs ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการของไทยสามารถปรับตัว โดยสามารถผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรการ TBT/SPS ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และหากทำได้ตามแหล่งกำเนิดของสินค้าก็น่าจะได้สิทธิประโยชน์จาก FTA กรอบต่างๆ

โจทย์ใหญ่ที่ทางภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ คือ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนทางด้านการขนส่ง เสริมสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน รวมถึงการให้ความรู้และความเข้าใจต่อเกษตรกรในการปรับตัวในกรอบ FTA โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันภายใต้กรอบ FTA ทั้งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการส่งเสริมทั้งทางด้านทรัพยากร และการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่

แม้ว่าปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรในปี 2553 บางส่วนจะได้รับความเสียหายจากปัญหาแมลงศัตรูระบาด และปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมทั้งอานิสงส์จากกรอบ FTA ต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารพุ่งสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2553 อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ การที่ประเทศคู่เจรจานำมาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร ทั้งมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศโดยทั่วไป และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการกระตุ้นการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อย โดยการให้ความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งการส่งเสริมทั้งทางด้านทรัพยากร และการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยปรับประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับมาตรฐานการผลิต เตรียมพร้อมรับการแข่งขันในตลาดโลก และรับมือกับสินค้านำเข้า

]]>
52738
โอกาสสินค้าไทยในช่วงครึ่งหลังปี 53 … เร่งใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาด CLMV https://positioningmag.com/52319 Mon, 21 Jun 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=52319

การส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่มสมาชิกใหม่ของอาเซียน (CLMV) อย่างกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น หลังจากกลุ่ม CLMV ลดภาษีสินค้าจนเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ในช่วงต้นปี ตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ภายใต้กรอบ AFTA เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ที่ยังคงอยู่ในแดนบวกในช่วงครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาหนี้ในยุโรปต่อกลุ่ม CLMV น่าจะไม่มากนัก กลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับภาคการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเจาะตลาด CLMV ควรคำนึงถึงศักยภาพของสินค้าส่งออกไทยและสภาพตลาดของกลุ่ม CLMV เพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงและแข่งขันกับสินค้าจากคู่แข่งได้ เพราะการเปิดตลาดสินค้าในกรอบ AFTA อาจจะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนภาษีต่ำลง แต่สินค้าไทยอาจเผชิญกับมาตรการที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ รวมถึงการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มี FTA กับ CLMV อย่างจีนและสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

เศรษฐกิจ CLMV มีขนาดเล็กแต่เติบโตสูง…เน้นจับกลุ่มผู้บริโภคและเจาะเมืองสำคัญ

แม้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV จะมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทย แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของ CLMV แม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ที่ประเทศอาเซียนเดิมต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว แต่ประเทศ CLMV (ยกเว้นกัมพูชา) ยังคงมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะเศรษฐกิจลาว ที่แม้ว่าจะพึ่งพาการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงาน เหมืองแร่และการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง แต่ยังสามารถขยายถึงร้อยละ 7.2 ในปี 2552 สูงเป็นลำดับที่ 2 ของเอเชียรองจากจีน ส่วนเศรษฐกิจพม่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกค่อนข้างน้อย เพราะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทำให้พม่าซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจจีนและประเทศอาเซียนอย่างมาก มีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในปีนี้ตามเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจของกัมพูชาและเวียดนาม ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า จึงไม่สามารถหลบเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกไปได้ ทั้งนี้เศรษฐกิจของกัมพูชาหดตัวถึงร้อยละ 2.5 เพราะรายได้หลักจากการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปหดตัวลงในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกน้อยกว่ากัมพูชา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวียดนามมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่กว่ากัมพูชาถึง 6.2 เท่า และชาวเวียดนามมีกำลังซื้อสูงกว่าชาวกัมพูชา อีกปัจจัยหนึ่งคือ เวียดนามพึ่งพาการส่งออกสินค้าหลายชนิดและกระจายตลาดไปทั่วโลก

เศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจยุโรปอยู่ในขณะนี้ไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของ CLMV พึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากประเทศในแถบเอเชียเป็นหลักโดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงชาติอาเซียนคือ ไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเศรษฐกิจของลาวและพม่า มีรายได้หลักจากการส่งออกพลังงานอาทิ ไฟฟ้าพลังน้ำของลาว รวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่าให้กับจีนและอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงในปีนี้ ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของกัมพูชาและเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ตามภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะประเทศนักลงทุนหลักคือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น

AFTA และ FTA กรอบอาเซียน 5 ฉบับ …เพิ่มโอกาสสินค้าไทยในตลาด CLMV

การเปิดตลาดสินค้าของไทยภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีถึง 6 ฉบับที่ไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV มีร่วมกันภายใต้ FTA กรอบอาเซียน ช่วยให้สินค้าไทยได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการเข้าสู่ตลาด CLMV ทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยในปี 2553 นี้มี FTA 2 ฉบับที่กลุ่ม CLMV ลดภาษีสินค้าให้กับไทยจนอยู่ในระดับต่ำและจะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในอีก 5 ปีคือ AFTA และFTA อาเซียน-จีน ขณะที่ FTA อีก 3 ฉบับที่ไทยเพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2553 นี้ คือ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ FTA อาเซียน-อินเดียและ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ถือเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับสินค้าไทยในตลาด CLMV โดยเฉพาะสินค้าไทยที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศคู่เจรจานอกอาเซียนสูงกว่าร้อยละ 40 สามารถใช้การสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าในการเจาะตลาด CLMV ได้

AFTA และ ACFTA ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ค่อนข้างมากเพราะ AFTA กำหนดให้สมาชิกเดิม 6 ประเทศ ประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ต้องลดภาษีสินค้าในบัญชีลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ส่วนสมาชิกใหม่อย่างกลุ่ม CLMV จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 ในปี 2553 และทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่อาเซียนก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นอกจากนี้ ACFTA กำหนดให้อาเซียนเดิมและจีนลดภาษีระหว่างกันเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าปกติ ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ขณะที่ CLMV จะลดภาษีเหลือไม่เกินร้อยละ 15 ในปี 2554 และทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558 หากพิจารณาการลดภาษีของ AFTA และ ACFTA กล่าวได้ว่า ในปี 2553 สินค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการลดภาษีของ CLMV ภายใต้กรอบ AFTA ได้มากกว่า ACFTA และ CLMV ผูกพันการเปิดตลาดสินค้าในกรอบ AFTA หรือมีจำนวนสินค้าที่ที่มีภาษีร้อยละ 0 มากกว่าในกรอบ ACFTA สินค้าไทยใน CLMV จึงน่าจะได้แต้มต่อภายใต้ AFTA มากกว่าสินค้าจากจีน

แม้ว่าการลดหรือยกเลิกภาษีในกรอบ AFTA ในปี 2553 อาจมีผลกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมเพียงเล็กน้อย เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าของอาเซียนเดิมอยู่ในระดับต่ำและสินค้าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีร้อยละ 0 ไปแล้ว นอกจากนี้การลดภาษีจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0 อาจจะให้สินค้าไทยมีต้นทุนทางภาษีลดลงไม่มากนัก แต่การลดภาษีของอาเซียนใหม่จากที่สูงกว่าร้อยละ 60 เหลือไม่เกินร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมา และเหลือไม่เกินร้อยละ 0-5 ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 ช่วยให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดอาเซียนใหม่ขยายตัวขึ้น โดยการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.9 (YoY) เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ร้อยละ 49.7 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ภายใต้กรอบ AFTA น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยและความต้องการสินค้าในตลาด CLMV ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

การส่งออกสินค้าไปยังตลาด CLMV โดยใช้สิทธิทางภาษีจาก AFTA สามารถขยายตัวเป็นบวกขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนโดยรวมหดตัวลงในปี 2552 ส่วนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 (YoY) สูงกว่าการส่งออกรวมของไทยไปยังตลาด CLMV ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 (YoY) โดยตลาดที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้ AFTA สูงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 คือ เวียดนามและลาว หลังจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวถึงกว่าร้อยละ 80.0 (YoY) หากพิจารณาตลาดส่งออกที่ไทยมีอัตราการใช้สิทธิ AFTA สูง (สัดส่วนการส่งออกภายใต้ AFTA ต่อการส่งออกรวม) พบว่าผู้ส่งออกไทยมีอัตราการใช้สิทธิฯ ไปเวียดนามสูงถึงร้อยละ 55.2 ขณะที่กัมพูชา ลาวและพม่ามีอัตราใช้สิทธิราวร้อยละ 0.6-3.8 สาเหตุหนึ่งที่ไทยใช้สิทธิ AFTA ส่งออกสินค้าไปยังลาว พม่าและกัมพูชาน้อย อาจเป็นเพราะการค้าระหว่างไทยกับทั้งสามประเทศซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นการค้าตามแนวชายแดน ซึ่งมักไม่ผ่านระบบภาษีศุลกากรระหว่างประเทศอยู่แล้ว ในขณะที่การค้ากับเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นการค้าผ่านแดนจากชายแดนกัมพูชาไปยังเวียดนาม ซึ่งบางส่วนอาจไม่ผ่านระบบศุลกากรเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ว่ากลุ่ม CLMV ยังคงมีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากและประชากรส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียนเดิม อีกทั้งการลดภาษีภายใต้กรอบ AFTA ที่กลุ่ม CLMV ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนสินค้าส่วนใหญ่มีภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ 5 สินค้าไทยจึงอาจได้ประโยชน์จากการลดและยกเลิกภาษีของกลุ่ม CLMV ในปี 2558 ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ CLMV น่าจะมีอัตราสูงกว่าตลาดอาเซียนเดิมในช่วงปี 2554-2558 ก่อนที่อาเซียนจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อาจทำให้ตลาด CLMV มีศักยภาพเพิ่มขึ้นที่จะรองรับสินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูงในปัจจุบันอาทิ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้น่าจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของ CLMV มากที่สุด

ประกอบกับศักยภาพในการรองรับสินค้าไทยของกลุ่มผู้บริโภคท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของประชากรผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไปและอายุเฉลี่ยของคนวัยทำงานในแต่ละประเทศที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากผู้ส่งออกไทยควรจะต้องให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก AFTA แล้ว การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศ CLMV ควรเน้นการคัดเลือกสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะเข้าไปทำตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงและเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่ม CLMV แต่ละประเทศยังคงมีการกระจุกตัวของผู้บริโภคเป้าหมายของสินค้าไทยในบางพื้นที่เท่านั้น ทั้งนี้ประเภทสินค้าส่งออกไทยและพื้นที่ที่ควรเข้าไปทำตลาดในกลุ่ม CLMV จำแนกเป็นรายประเทศได้ดังนี้

บทสรุปและข้อเสนอแนะ การส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่มสมาชิกใหม่ของอาเซียน (CLMV) อย่างกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ CLMV ที่ยังคงเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาการเงินในยุโรปน่าจะมีผลต่อ CLMV ไม่มากนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในอนาคตโอกาสการส่งออกของไทยในตลาด CLMV น่าจะเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก แม้ว่าเศรษฐกิจของ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าตลาดอาเซียนเดิมในช่วงปี 2554-2558 เนื่องจากกลุ่ม CLMV ยังคงมีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากและประชากรส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียนเดิม นอกจากนี้อัตราภาษีนำเข้าของกลุ่ม CLMV ที่ทะยอยลดภาษีมาอย่างต่อเนื่องจนสินค้าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 5 อาจจะทำให้สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการทยอยลดและยกเลิกภาษีของกลุ่ม CLMV ในปี 2558 ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสินค้าอีกหลายรายการที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูงในปัจจุบันเช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีของ CLMV มากที่สุด ประกอบกับกำลังชื้อของคนท้องถิ่นที่มีอายุแรงงานเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญโดยเน้นคัดเลือกสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะเข้าไปทำตลาด โดยเฉพาะเมืองหลวงและเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขั้น ทั้งนี้สินค้าไทยอาจเผชิญกับมาตรการที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ รวมถึงการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มี FTA กับ CLMV อย่างจีนและสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

ประเภทสินค้าส่งออกไทยที่ควรเข้าไปทำตลาดในกลุ่ม CLMV อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค (สบู่ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์รักษาผิว) ผ้าผืน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซม ยางรถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่ง หมวกกันน็อค อุปกรณ์เสริมสำหรับรถจักรยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลทางการเกษตรและสินค้าเพื่อสุขภาพ/ความงาม (เวชสำอางค์ อุปกรณ์ทำสีผม น้ำมันหอมระเหย)

]]>
52319
FTA กรอบอาเซียน ช่วยดึงดูด FDI … ไทยเผชิญการแข่งขัน https://positioningmag.com/50659 Mon, 25 Jan 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=50659

การลดภาษีสินค้าปกติภายใต้กรอบอาเซียน (AFTA) เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าภายในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ สัดส่วนกว่าร้อยละ 95 แทบจะไม่มีอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร ขณะเดียวกันการจัดทำความตกลง FTA ที่ลดภาษีสินค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ช่วยสนับสนุนให้สินค้าส่งออกของอาเซียนเข้าสู่ตลาดประเทศเหล่านี้ได้สะดวกขึ้น ส่วนความ ตกลง FTA อาเซียน-จีนเป็นอีกหนึ่งความตกลงที่ภาษีสินค้าปกติลดเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 เช่นกัน ครอบคลุมสินค้าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ขณะที่สินค้าอ่อนไหวของจีนที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรยังคงภาษีในระดับสูง คาดว่านักลงทุนจีนมีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบและส่งออกสินค้าแปรรูปกลับไปจีนโดยได้ผลดีจากภาษีเหลือร้อยละ 0 หรือส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียนโดยได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ FTA กรอบต่างๆ ของอาเซียน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

เปิดเสรีภายในอาเซียน … ดึงดูด FDI
นอกจากการลดภาษีสินค้าปกติภายใต้กรอบอาเซียน (AFTA) เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศแล้ว การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าภาคบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) และความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA) ที่มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ตามเป้าหมายการจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีฐานการผลิตและตลาดร่วมกัน โดยเป็นการเปิดเสรีทั้งด้านสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ รวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนที่เสรีมากขึ้น ทำให้ธุรกิจในอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและโอกาสการขยายตลาดในอาเซียนที่ประกอบด้วยประชากรรวมกว่า 580 ล้านคน และขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียนด้วย

แม้ว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้มูลค่า FDI จากประเทศนอกอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในอาเซียนปรับลดลงไปจนทำให้มูลค่า FDI โดยรวมของอาเซียนในปี 2551 ลดลงเหลือ 60,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 69,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 แต่มูลค่าการลงทุนจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองยังคงปรับเพิ่มขึ้นในปี 2551 ทั้งนี้ มูลค่า FDI ของอาเซียนจนถึงปี 2551 (FDI Inward Stock) อยู่ที่ 663,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 614,690 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2550 และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2546 เทียบกับมูลค่า FDI ของเอเชียโดยรวมและมูลค่า FDI ของโลกจนถึงปี 2551 ที่ปรับลดลง เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ธุรกิจประสบปัญหาการเงินตึงตัวโดยเฉพาะธุรกิจของประเทศในกลุ่มจี 3 อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จึงทำให้ถอนการลงทุนกลับประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการลงทุน FDI ของอาเซียนจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนทางตรงที่ไหลเข้าอินโดนีเซียและเวียดนามค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนด้านแรงงานในสองประเทศนี้ค่อนข้างต่ำ ประกอบกับความมั่นคงทางการเมืองที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

ปัจจุบันอาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย การลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใต้ AFTA ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนจากอาเซียนเพื่อการผลิตในไทยไม่มีต้นทุนด้านภาษี โดยมูลค่านำเข้าของไทยจากอาเซียนใกล้เคียงกับมูลค่านำเข้าของไทยจากญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 18 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยในปี 2552 สินค้านำเข้าสำคัญจากอาเซียนเป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 35 ของการนำเข้าของไทยทั้งหมดจากอาเซียนในปี 2552 รองลงมาเป็นเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 27 และสินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 26 โดยสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ จากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย) ไม้ซุง/ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (มาเลเซีย พม่า ลาว อินโดนีเซีย) และสัตว์น้ำสด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป/กึ่งแปรรูป (อินโดนีเซีย เวียดนาม) สินค้าเชื้อเพลิงสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ จากพม่า น้ำมันดิบจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม สินค้าทุนที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย)

FTA อาเซียน-จีน … ผลักดันจีนลงทุนในอาเซียนและไทย
ขณะเดียวกันความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA) เป็นอีกความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมากโดยภาษีของสินค้าปกติลดลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ครอบคลุมสินค้าราวร้อยละ 90 ส่วนสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นสินค้ากลุ่มอ่อนไหวที่ยังคงภาษีไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จีนยังต้องการปกป้องผู้ผลิตภายใน เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม ข้าว กาแฟ และน้ำตาล ที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของจีนซึ่งจะต้องปรับลดภาษีเหลือร้อยละ 20 ในปี 2555 และเหลือร้อยละ 0-5 ในเดือนมกราคม 2561 การที่จีนปรับลดภาษีสินค้าปกติเหลือร้อยละ 0 แล้ว ขณะที่สินค้าขั้นต้นหลายรายการยังมีภาษีอยู่ จะสนับสนุนให้จีนเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยเพื่อส่งออกกลับไปประเทศโดยได้สิทธิภาษีเป็นร้อยละ 0 เช่น ภาษีผลิตภัณฑ์ยางของจีนปรับลดลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2551 ส่งผลให้นักลงทุนจีนมีแนวโน้มเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในอาเซียนรวมทั้งไทยมากขึ้นและส่งออกกลับไปจีนได้โดยได้สิทธิประโยชน์ภาษีเป็นร้อยละ 0 แทนการนำเข้ายางพาราจากอาเซียนและไทยเพื่อแปรรูปในจีนที่ยังต้องเสียภาษีในระดับสูง

นอกจากนี้ สินค้าหลายรายการที่อาเซียนยังไม่ได้ลดภาษีให้กับจีนภายใต้ FTA อาเซียน-จีน เช่น สินค้าบางรายการในหมวดสิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นสินค้าอ่อนไหวของอาเซียนที่อาเซียนยังคงภาษีไว้เพื่อปกป้องตลาดภายในประเทศ ขณะที่ภาษีการส่งออกภายในอาเซียนด้วยกันภายใต้ AFTA เหลือร้อยละ 0 แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเร่งลดภาษีของอาเซียน 9 สาขาที่ภาษีของสมาชิกเดิม 6 ประเทศเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2550 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอและเสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป สินค้าประมง สินค้า IT และสินค้าสุขภาพ ถือเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้นักลงทุนจีนเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนมากขึ้นเพื่อส่งออกไปภายในอาเซียน 6 ประเทศโดยได้สิทธิภาษีเป็นร้อยละ 0 หรือส่งออกไปยังประเทศที่อาเซียนมีความตกลง FTA ด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจีนยังไม่มีความตกลง FTA กับประเทศเหล่านี้ ซึ่งนอกจากจะได้รับผลดีจากการขยายตลาดส่งออกจากอานิสงส์ของการปรับลดภาษีภายใต้ FTA แล้ว ยังได้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบสะสมในอาเซียน (Rule of Origins : ROOs) ด้วย

ปัจจัยหนุนที่คาดว่าจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากจีนเข้ามาในอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้น นอกจากการเปิดเสรีสินค้าระหว่างอาเซียนกับจีนแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากการเปิดเสรีภาคบริการภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีรอบที่ 2 ที่ครอบคลุมกิจกรรมในสาขาบริการที่กว้างขึ้น ซึ่งนอกจากจะผลักดันให้ธุรกิจในอาเซียนออกไปลงทุนในจีนได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นให้นักลงทุนจีนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจภาคบริการในอาเซียนสะดวกขึ้นจากการลดกฎระเบียบและเงื่อนไขการจัดตั้งธุรกิจ คาดว่าจะกระตุ้นให้การลงทุนของจีนในอาเซียนเติบโตได้ดีขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนอีกประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งของจีน แม้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรงที่เริ่มต้นในไตรมาสที่ 4/2551 ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกชะลอเหลือร้อยละ 6.1 แต่ก็สามารถขยายตัวสูงขึ้นเป็นลำดับเป็นร้อยละ 7.9 และร้อยละ 8.9 ในไตรมาสที่ 2-3 คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ของจีนจะมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 10.0 ส่งผลให้จีดีพีของจีนในปี 2552 มีแนวโน้มเติบโตกว่าร้อยละ 8.0 เนื่องจากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของทางการจีน ที่ทำให้ความต้องการภายในจีนยังเติบโตได้ ขณะเดียวกันเงินทุนสำรองต่างประเทศในระดับสูงของจีน โดยในปี 2552 เงินสำรองต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็น 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงที่สุดในโลก ทำให้ทางการจีนสนับสนุนให้วิสาหกิจจีนและธุรกิจเอกชนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้จีนมีแนวโน้มเข้ามาใช้ประโยชน์จากการจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้นในฐานะที่อาเซียนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนให้ธุรกิจจีนที่มีศักยภาพทางการเงินออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนนอกประเทศ มูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ (Overseas Direct Investment : ODI) ของจีนที่ไม่รวมสาขาการเงินคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 จาก 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2551

สำหรับมูลค่าโครงการลงทุนของจีนที่เข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2552 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 21 โครงการในปี 2551 เป็น 25 โครงการ และมูลค่าโครงการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านบาทในปี 2551 เป็น 43.18 พันล้านบาท คาดว่ามูลค่า FDI ของจีนในไทยและในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่จีนยังมีบทบาทด้านการเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่มากนัก โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการลงทุนสะสมในอาเซียนในช่วงระหว่างปี 2549-2551 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน ได้แก่ สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า FDI สะสมในระหว่างปี 2549-2551 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 ร้อยละ 15 ร้อยละ 14 และร้อยละ 7 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเปิดเสรี FTA ภายใต้กรอบอาเซียนต่างๆ จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยที่สามารถนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปเข้ามาใช้ในการผลิตโดยมีอัตราภาษีลดลง ทำให้มีต้นทุนการผลิตลดต่ำลง แต่ขณะเดียวกันภาคเกษตรของไทยก็ต้องได้รับผลกระทบเนื่องจากการปรับลดภาษีภายใต้ความตกลงฯ ทำให้สินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียนเข้ามาไทยมากขึ้นเช่นกัน สำหรับอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพที่น่าจะได้รับผลดีจากการลดภาษีตามความตกลง FTA ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เช่น อาหารทะเลแปรรูปที่นำเข้าสินค้าประมงจากอินโดนีเซียและเวียดนาม หรือการเข้าไปลงทุนผลิตของไทยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาวตามโครงการ Contract Farming ในสินค้าหลายรายการ เช่น มันฝรั่ง ข้าวโพดหวาน ถั่วเหลืองและยูคาลิปตัส และส่งกลับเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารของไทย อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น การนำเข้าเมล็ดกาแฟและชาที่ปรับลดภาษีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกาแฟ/ชาสำเร็จรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์จากประเทศอาเซียนที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันมีอัตราภาษีลดลง อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันไทยนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ทำให้ต้นทุนต่ำลงจากการปรับลดภาษี

นอกจากการหาแนวทางลดผลกระทบจากการเปิดเสรี FTA ต่อภาคธุรกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรแล้ว ภาครัฐควรหาแนวทางช่วยให้ธุรกิจไทยได้ใช้ประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้ความตกลง FTA ต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการเปิดเสรี หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่ ขั้นตอนการขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ ซึ่งควรมีความชัดเจนและเข้าใจง่าย สะดวกและรวดเร็ว เพื่อลดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ ซึ่งน่าจะช่วยให้การใช้ประโยชน์จากช่องทางส่งออกภายใต้ FTA มีความคล่องตัวมากขึ้น สำหรับการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีกรอบอาเซียนนั้น เป็นโจทย์สำคัญที่ไทยต้องแข่งขันดึงดูด FDI กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามที่มีข้อได้เปรียบจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและความมีเสถียรภาพทางการเมือง ขณะที่อุตสาหกรรมไทยที่ยกระดับการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีที่สูงขึ้นก็จะต้องแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไทยต้องแข่งขันดึงดูด FDI กับประเทศอาเซียนอื่นๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันความพร้อมทางเทคโนโลยี การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของและนวัตกรรมใหม่ๆ ของไทยยังไม่มากนัก อีกทั้งปัญหาภายในจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหามาบตาพุดในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกดดันให้บรรยากาศด้านการลงทุนของไทยมีความน่าดึงดูดลดลงในสายตานักลงทุนต่างชาติ และอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้

สรุป
การเปิดเสรีตามความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีอัตราภาษีสินค้าปกติมากกว่าร้อยละ 95 ลดลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคธุรกิจในอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปภายในกลุ่มด้วยต้นทุนที่ลดลงจากการปรับลดหรือยกเลิกภาษี และเป็นการดึงดูด FDI ให้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยมากขึ้น เพื่อประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในอาเซียนและสามารถส่งออกไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่เหลือ รวมทั้งประเทศนอกกลุ่มอาเซียนที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA ต่างๆ ซึ่งทำให้ตลาดส่งออกขยายกว้างขวางมากขึ้น อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพและน่าจะได้รับผลดีจากการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าขั้นต้นและกึ่งวัตถุดิบ ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเกษตรของไทยต้องได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่เข้าสู่ตลาดไทยได้มากขึ้นเช่นกัน สำหรับผลดีจากการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าอาเซียนนั้น แม้ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีศักยภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยต้องเผชิญปัญหาภายในที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหามาบตาพุด ซึ่งทำให้บรรยากาศความน่าลงทุนของไทยลดลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะปัญหามาบตาพุดที่ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญที่ทางการไทยควรพิจารณาเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว

]]>
50659
FTA อาเซียน-จีน: โอกาสขยายการค้าของไทยและอาเซียนในมณฑลกว่างซี https://positioningmag.com/49771 Thu, 22 Oct 2009 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=49771

งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-Asean Expo) ครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2552 ณ นครหนานหนิง มณฑลกว่างซี (เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานบริหารด้านเศรษฐกิจและการค้าของจีน และประเทศสมาชิกอาเซียนรวม 10 ประเทศได้แก่ ประเทศบรูไน พม่า มาเลเซีย สปป.ลาว สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย เพื่อขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของอาเซียน สัดส่วนราวร้อยละ 11.3 รองจากญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ตามลำดับ โดยในปี 2551 มีมูลค่าการค้ากว่า 192 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ1 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 ส่งผลให้การค้าระหว่างจีน-อาเซียนชะลอตัวลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างจีน-อาเซียนคิดเป็น 88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 23.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (y-o-y) มูลค่าการส่งออกของจีนไปประเทศอาเซียนคิดเป็น 44.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าของจีนจากประเทศอาเซียนคิดเป็น 43.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเกือบร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y)

สำหรับมณฑลกว่างซีนั้น มีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์โดยมีพื้นที่ติดกับทะเลจีนใต้และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่เชื่อมโยงภาคต่าง ๆ ของจีนกับประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ กว่างซีถือเป็นมณฑลแห่งเดียวของจีนที่สามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างจีนและอาเซียนทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้กว่างซีดำเนินแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ กว่างซี ซึ่งมีผลให้แผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป้ยปู้กว่างซีได้รับการยกระดับเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติ และได้ถูกรวมเข้าไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติจีน2 ทำให้การค้าระหว่างประเทศของมณฑลกว่างซีกับอาเซียนมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนกับประเทศจีนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ตั้งของไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและอยู่ไม่ไกลจากมณฑลกว่างซี โดยสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไทยที่มีโครงการเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทย-จีนที่นครหนานหนิง ในมณฑลกว่างซีและนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยรัฐบาลไทยได้จัดเตรียมงบประมาณการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าติดตามคือ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ รัฐบาลไทยเตรียมเสนอโครงการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในอาเซียนรวม 3 โครงการต่อกองทุนอาเซียน-จีน3 โดยโครงการก่อสร้างเส้นทางอาร์ 12 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งจากกรุงเทพฯ เชื่อมต่อไปยังเมืองผิงเสียง ในมณฑลกว่างซีรวมอยู่ในโครงการนี้ด้วยซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างเสร็จในปี 2554 โดยเส้นทางขนส่งดังกล่าว น่าจะทำให้เส้นทางการขนส่งอาร์ 12 จากกรุงเทพฯ ไปยังมณฑลกว่างซีมีบทบาทมากขึ้น จะเป็นโอกาสขยายช่องทางการค้าของไทยในตลาดอาเซียนที่มีขนาดประชากรราว 560 ล้านคน และประเทศจีนซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยจำนวนประชากรสูงถึง 1.3 พันล้านคน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ภาพรวมการค้ามณฑลกว่างซีกับอาเซียน และการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับไทย รวมถึงแนวโน้มและโอกาสการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีภายใต้การเปิดเสรีการค้าอาเซียน-จีนดังนี้

ภาพรวมการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียน
อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการค้ารวมทั้งหมดในมณฑลกว่างซี รองลงมาได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป บราซิล และสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยของการค้ารวมระหว่างมณฑลกว่างซีและอาเซียนปี 2549- 2551 อยู่ที่ร้อยละ 48.5 ส่วนอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยของการส่งออกและการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 50.4 และร้อยละ 53.8 ตามลำดับ โดยในปี 2550 การค้ารวมระหว่างมณฑลกว่างซีและอาเซียนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 59.2 จากปี 2549 (y-o-y) ส่วนอัตราการขยายตัวของการส่งออกพุ่งสูงถึงร้อยละ 76.1 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเหลือร้อยละ 39.4 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ส่งผลให้การค้ารวมในปี 2551 ขยายตัวต่ำกว่าปี 2550 ร้อยละ 22.1 (y-o-y) ส่วนการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 8 จากปี 2550 (y-o-y) สำหรับการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ลดลงเกือบร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) เหลือมูลค่า 2,539 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,827 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.8 (y-o-y) ส่วนมูลค่าการนำเข้า 819 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.6 (y-o-y)

เป็นที่น่าสังเกตว่า การชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดของการนำเข้าในปี 2551 และการหดตัวของทั้งการส่งออกและนำเข้าระหว่างมณฑลกว่างซีและอาเซียนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากผลกระทบของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคการส่งออกของจีนชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศปรับตัวลงตามกำลังซื้อที่ถดถอยในตลาดต่างประเทศ ส่งผลเชื่อมโยงให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/ขั้นกลางของมณฑลกว่างซีเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัวตามไปด้วย โดยสินค้านำเข้าสำคัญของมณฑลกว่างซีที่ลดลงในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ได้แก่ สินค้าแร่ธาตุ ลดลงร้อยละ 21.9 ถั่วลิสง ลดลงร้อยละ 14.8 เคมีภัณฑ์ ลดลงเกือบร้อยละ 30 เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 23.3 และเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 21.8 เป็นต้น

หากพิจารณาการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนเป็นรายประเทศ พบว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี รองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ โดยในปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างกว่างซี-เวียดนามสูงถึง 3,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเกือบร้อยละ 32 จากปี 2550 (y-o-y) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.3 ของมูลค่าการค้าระหว่างกว่างซีและอาเซียนทั้งหมด โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.3 จากปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวจากปี 2550 ร้อยละ 10.1 (y-o-y) ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนการค้ารวมระหว่างกว่างซีกับไทยน้อยกว่าเวียดนามอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.9 ของการค้ารวมทั้งหมดของกว่างซี มีมูลค่าการค้ารวม 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 37.8 จากปี 2550 (y-o-y) อัตราการขยายตัวของการส่งออกของกว่างซีไปไทยในปี 2551 เติบโตร้อยละ 47.3 จากปี 2550 (y-o-y) และส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 20.4 จากปี 2550 สำหรับการค้ารวมระหว่างกว่างซีและไทยในช่วง ม.ค.-ส.ค.ของปี 2552 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หดตัวกว่าร้อยละ 37.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2551(y-o-y) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังมณฑลกว่างซีได้แก่ สินค้าเกษตรอาทิ ผัก ผลไม้ และยางพารา รวมถึงอัญมณี และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เวียดนามมีศักยภาพทางการค้าในมณฑลกว่างซีสูงกว่าไทยนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับมณฑลกว่างซี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับเวียดนาม อีกทั้งเวียดนามยังได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีจากจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกันด้วย ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของเวียดนามในอาเซียน อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนา โลจิสติกส์ของไทยที่เชื่อมโยงระบบขนส่งสินค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าเข้าสู่มณฑลกว่างซีของจีนผ่านเส้นทางอาร์ 9 และอาร์ 12 น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยกับคู่แข่งทางการค้ากับประเทศอื่นในอาเซียน ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการส่งออกของสินค้าไทยไปยังตลาดจีนจากประโยชน์ของการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของทั้งตลาดอาเซียนและจีนในอนาคต

แนวโน้มและโอกาสการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีภายใต้การเปิดเสรีการค้าอาเซียน-จีน
สำหรับแนวโน้มการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีและไทยคาดว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และขยายตัวในแดนบวกในปี 2553 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2552 เติบโตดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (y-o-y) เทียบกับในไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโตในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (y-o-y) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของทางการจีนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ได้ทุ่มงบประมาณฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในการกระตุ้นภาคบริโภคภายในประเทศที่ช่วยบรรเทาปัญหาการหดตัวของภาคการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก กอปรกับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนอย่างสมบูรณ์ในปี 2553 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการผลักดันความสัมพันธ์ด้านการค้าและโอกาสการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีและไทยให้ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

ทั้งนี้ การเปิดเสรีการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนกับจีนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Program) และการลดภาษีสินค้าทั่วไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้4

การลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Program)
ในส่วนของการลดภาษีสินค้าบางส่วนทันทีนั้น ไทยและจีนได้มีการลงนามความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการลดภาษีสินค้าเกษตรพิกัด 07-08 (ผักและผลไม้) เหลือร้อยละ 0 ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เนื่องจากจีนและไทยเล็งเห็นศักยภาพทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 กำหนดลดภาษีสินค้าพิกัด 01-08 (สัตว์และพืช) เหลือร้อยละ 0 นอกจากนี้ไทยและจีนยังได้ลงนามตกลงเร่งลดภาษีสินค้าเฉพาะอีก 2 รายการคือ ถ่านหินแอนทราไซด์และถ่านหินโค้ก/เซมิโค้ก โดยกำหนดให้จีนและประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ5 ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2549 ส่วนประเทศอาเซียนใหม่อีก 4 ประเทศ6จะยืดหยุ่นระยะเวลาให้ถึงปี 2553 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนได้แก่ ลำใยแห้ง ทุเรียน ส้มโอ สับปะรด และมันสำปะหลัง ขณะที่สินค้านำเข้าของไทยจากจีนได้แก่ แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ควิน เห็ด หอมและกระเทียม7 และมันฝรั่ง เป็นต้น

การลดภาษีสินค้าทั่วไป
การเปิดเสรีสินค้าทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ สินค้าปกติ (Normal Track) สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track) และสินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive Track) สำหรับสินค้าปกติ กว่า 6,500 รายการ เริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 โดยกำหนดให้อัตราภาษีของสินค้าทั้งหมดจะต้องลดลงเหลือร้อยละ 0 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2553 ส่วนสินค้าอ่อนไหว จะลดภาษีเหลือร้อยละ 20 ในปี 2555 และมีอัตราภาษีสุดท้ายอยู่ที่ร้อยละ 0-5 ในปี 2561 รายการสินค้าอ่อนไหวได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำตาล กาแฟ ชา ข้าวบางชนิด หินอ่อน รองเท้าที่ทำด้วยยาง แก้วและกระจก เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ และของเล่น เป็นต้น ขณะที่สินค้าอ่อนไหวสูง จะต้องลดภาษีมาอยู่ไม่เกินร้อยละ 50 ภายในปี 2558 โดยสินค้าอ่อนไหวสูงได้แก่ กาแฟ ข้าวสาลี ปุ๋ย ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์สี รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายใต้สิทธิประโยชน์การลดภาษีเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน สินค้าที่ได้รับสิทธิการลดภาษีต้องอยู่ภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า คือ สินค้าเกษตรพื้นฐานต้องใช้วัตถุดิบภายในทั้งหมด ส่วนสินค้าอื่น ๆ ต้องมีมูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ภายในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 โดยสามารถนำมูลค่าของวัตถุดิบจากทุกประเทศสมาชิกมารวมกันได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในแง่ของต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าในการเสาะหาและเลือกสรรวัตถุดิบที่เหมาะสมและมีต้นทุนต่ำในแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าภายใต้การเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน-จีนดังกล่าว เป็นโอกาสการขยายช่องทางส่งออกสินค้าของไทยไปยังมณฑลกว่างซีให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่มีศักยภาพในตลาดจีนเนื่องจากความต้องการในผู้บริโภคชาวจีนที่ขยายตัวมากขึ้น โดยผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคจีนได้แก่ ทุเรียน ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ลำใย มังคุด มะขาม มะม่วง เงาะ และกล้วย ส่วนสินค้าส่งออกของไทยประเภทอื่นที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันพืช ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางการขนส่งสินค้าทางเส้นทางอาร์ 9 จากจังหวัดมุกดาหาร ผ่านประเทศลาว เวียดนาม เข้าสู่ประเทศจีนทางด่านผิงเสียงเป็นเส้นทางกระจายสินค้าเข้าไปยังมณฑลกว่างซี และเส้นทางอาร์ 12 ที่อยู่ในแผนก่อสร้างเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งไปยังด่านผิงเสียงที่คาดว่าจะสร้างเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นในอาเซียน อีกทั้ง ในช่วงปลายปีนี้ทางการไทยและจีนมีแผนหารือร่วมกันในรายละเอียดด้านเทคนิคด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามันพืชไทย-จีน ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างกันมากขึ้น8 นอกจากโอกาสทางการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังเปิดโอกาสการขยายตัวของภาคการลงทุนและการค้าบริการในภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ของผู้ประกอบการไทย โดยอุตสาหกรรมการลงทุนของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบ ส่วนโอกาสการลงทุนในภาคธุรกิจบริการได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีก การเงินและธนาคาร เป็นต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายทางการจีนที่ต้องการขยายความเจริญจากทางตะวันออกเข้ามายังพื้นที่ตอนใน โดยเน้นการพัฒนาหลายสาขาโดยเฉพาะภาคบริการเช่น ภาคธนาคารและโลจิสติกส์ รวมทั้งยังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยวและค้าปลีก เป็นต้น

สรุปและข้อคิดเห็น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-Asean Expo) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2552 ณ นครหนานหนิง มณฑลกว่างซี (เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี) เป็นการขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างจีน-อาเซียน โดยเฉพาะการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีซึ่งเปรียบเสมือนประตูการค้าสำคัญระหว่างจีนและอาเซียน โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าของไทยและประเทศอาเซียนกับประเทศจีนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไทยที่มีโครงการเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทย-จีนที่นครหนาน หนิง ในมณฑลกว่างซีและนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ รัฐบาลไทยได้เตรียมเสนอโครงการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในอาเซียนรวม 3 โครงการต่อกองทุนอาเซียน-จีน โดยมีโครงการก่อสร้างเส้นทางอาร์ 12 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งจากกรุงเทพฯ เชื่อมต่อไปยังเมืองผิงเสียง ในมณฑลกว่างซีรวมอยู่ด้วย การขยายเส้นทางขนส่งอาร์ 12 ไปยังมณฑลกว่างซีดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสนับสนุนโอกาสการขยายช่องทางการค้าของไทยในตลาดจีนผ่านมณฑลกว่างซี

ปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการค้ารวมทั้งหมดในมณฑลกว่างซี โดยในปี 2551 การค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนมีมูลค่ารวม 3,987 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว่าร้อยละ 37 จากปี 2550 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอาเซียนขยายตัวร้อยละ 56.8 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) ส่วนมูลค่าการนำเข้าจากประเทศอาเซียนขยายตัวร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้การค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ลดลงเกือบร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) โดยสินค้านำเข้าสำคัญที่ขยายตัวลดลงในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ได้แก่ สินค้าแร่ธาตุ ถั่วลิสง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนเป็นรายประเทศ พบว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี รองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ โดยในปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างกว่างซี-เวียดนามสูงถึง 3,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเกือบร้อยละ 32 จากปี 2550 (y-o-y) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.3 ของมูลค่าการค้าระหว่างกว่างซีและอาเซียนทั้งหมด ขณะที่ไทยมีสัดส่วนการค้ารวมระหว่างกว่างซีกับไทยน้อยกว่าเวียดนามอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.9 ของการค้ารวมทั้งหมดของกว่างซี มีมูลค่าการค้ารวม 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 37.8 จากปี 2550 (y-o-y) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังมณฑลกว่างซีได้แก่ สินค้าเกษตรอาทิ ผัก ผลไม้ และยางพารา รวมถึงอัญมณี และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ การที่เวียดนามมีศักยภาพทางการค้าในมณฑลกว่างซีสูงกว่าไทยน่าจะมีสาเหตุมาจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับมณฑลกว่างซี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับเวียดนาม และยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากจีนสำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกันด้วย อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนา โลจิสติกส์ของไทยที่เชื่อมโยงระบบขนส่งสินค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าเข้าสู่มณฑลกว่างซีของจีนทางเส้นอาร์ 9 และอาร์ 12 น่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยกับคู่แข่งทางการค้าในประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความทัดเทียมกันโดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของไทย นอกจากนี้ ไทยยังจะได้รับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของทั้งตลาดอาเซียนและจีน

ทั้งนี้ คาดว่าการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น และขยายตัวในแดนบวกในปี 2553 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากขยายตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 และปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนอย่างสมบูรณ์ในปี 2553 โดยสินค้าในบัญชีปกติจะมีภาษีเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีของจีนคือ ผลไม้ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคจีนที่ขยายตัวมากขึ้น ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนได้แก่ ทุเรียน ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ลำใย มังคุด มะขาม มะม่วง เงาะ และกล้วย ส่วนสินค้าส่งออกของไทยประเภทอื่นที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันพืช ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น นอกจากโอกาสทางการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่โอกาสการขยายตัวของภาคลงทุนและการค้าภาคบริการในภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ของผู้ประกอบการไทยโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและจีน อุตสาหกรรมการลงทุนของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบ ส่วนโอกาสการลงทุนในภาคธุรกิจบริการได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีก การเงินและธนาคาร เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานงานและขยายความร่วมมือกับประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายละเอียดพิธีการการขนส่งสินค้าระหว่างกัน เพื่อขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมแก่การคมนาคมขนส่งของไทยมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการไทยควรทำการศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในตลาดจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังควรคำนึงถึงคุณภาพสินค้าและการพัฒนาตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคเพื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐในการให้ข้อมูลด้านการค้าที่เป็นประโยชน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ

]]>
49771
FTA ปี 2553 : โอกาสและการปรับตัวของธุรกิจไทย https://positioningmag.com/49514 Thu, 01 Oct 2009 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=49514

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ไทยและประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีนำเข้า (ภาษีร้อยละ 0 ) สินค้านับหลายพันรายการระหว่างกันตามข้อตกลงการเปิดตลาดสินค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 7 ฉบับ โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าในกรอบอาฟตา FTA ไทย-อินเดียและ FTA อาเซียน-จีน ที่จะมีผลให้สินค้าทุกรายการในบัญชีลดภาษี (Inclusion List) มีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ของผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าเข้าไปในตลาดของประเทศคู่เจรจาในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในกลุ่มสินค้าชนิดเดียวกัน แม้ว่าไทยและประเทศคู่เจรจาได้ทยอยลดและยกเลิกภาษีระหว่างกันจนสินค้ากว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้ามีภาษีอยู่ระดับต่ำแล้วก็ตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งศึกษาหาแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้นพร้อมกับเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลดและยกเลิกภาษีภายใต้กรอบความตกลงฯ FTA เกือบ 10 ฉบับที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันและครอบคลุมสินค้าหลายรายการ

การเปิดตลาดสินค้าในกรอบความตกลงฯ FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 7 ฉบับส่งผลให้ไทยและประเทศคู่เจรจาได้ลดและยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้สินค้าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าในปีหน้าจะมีสินค้าอีกหลายรายการที่จะเริ่มลดและยกเลิกภาษีเพิ่มเติมจากความตกลงฯ ที่จะมีผลบังคับใช้อีก 2 ฉบับ คือ อาเซียน-อินเดีย และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ จะทำให้สินค้าอีกหลายรายการมีอัตราภาษีลดลงหรือถูกยกเลิกภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ การเปิดตลาดสินค้าระหว่างไทยกับประเทศภาคีภายใต้ความตกลงฯ FTA ที่จะเพิ่มจำนวนจาก 7 ฉบับเป็น 9 ฉบับในปี 2553 ย่อมจะช่วยให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดของประเทศคู่เจรจาได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและอินเดียที่มีความตกลงฯ FTA กับไทยทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศญี่ปุ่นและอินเดียจะสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตของผู้ประกอบการแต่ละรายมากที่สุด เพราะผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากประเทศอาเซียนมาเข้ามาผลิตสินค้าโดยมีต้นทุนการผลิตในประเทศต่ำกว่าร้อยละ 40 จะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ไทย-อินเดีย และ FTA ไทย-ญี่ปุ่นได้ เนื่องจากไทยไม่สามารถนำวัตถุดิบจากประเทศอาเซียนซึ่งไม่ได้เป็นประเทศคู่เจรจาในความตกลง FTA ทวิภาคีเข้ามาสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้ ในขณะที่กฎแหล่งกำเนิดสินค้าของ FTA อาเซียน-อินเดียและ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นจะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถนำต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศอาเซียนมารวมกับต้นทุนที่ผลิตในประเทศไทยจนมีสัดส่วนต้นทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 โดยมีเงื่อนไขว่าสินค้าส่งออกนั้นต้องใช้วัตถุดิบในประเทศไทยอย่างน้อยร้อยละ 20 ของราคาสินค้า จึงจะได้แหล่งกำเนิดสินค้าและสามารถใช้สิทธิจากการลดภาษีในกรอบ FTA ทั้งนี้การเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้กรอบอาฟตาที่กำหนดให้อาเซียนเดิม 6 ประเทศรวมถึงไทยต้องลดภาษีสินค้าทุกรายระหว่างกันเหลือร้อยละ 0 ในปีหน้าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับโครงสร้างการผลิตโดยหันไปใช้วัตถุดิบจากอาเซียนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สินค้าไทยมีโอกาสได้แหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงฯ FTA อื่นๆ ที่อาเซียนทำกับประเทศคู่เจรจาได้ง่ายขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป สินค้าของไทยและประเทศคู่เจรจาในทุกกรอบความตกลงฯ ที่มีผลบังคับใช้แล้วถึงกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนพิกัดสินค้าทั้งหมดจะมีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 ยกเว้นการลดภาษีของไทยและญี่ปุ่นในกรอบ JTEPA หรือ FTA ไทย-ญี่ปุ่น ที่จะยกเลิกภาษี (ภาษีร้อยละ 0) เฉพาะสินค้าเพียงร้อยละ 60-80 ของจำนวนพิกัดสินค้า โดยความตกลงฯ FTA ที่ไทยและประเทศคู่เจรจาจะเปิดตลาดสินค้าระหว่างกันสูงสุดคือ อาฟตา FTA ไทย-อินเดีย FTA อาเซียน-จีน เพราะสินค้าทุกรายการในกลุ่มสินค้าที่นำมาลดภาษีตามปกติ (Normal Track) ของทุกประเทศภาคีจะถูกยกเลิกภาษีทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะสามารถส่งออกมากขึ้นคือ ปลาแซลมอนปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีน ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบรถยนต์ ตู้เย็น มอเตอร์ไฟฟ้า อาหารปรุงแต่ง ปลาหมึกแช่แข็ง ปู เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยจะยกเลิกภาษีได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก กระดาษ ยา ฝ้าย ผ้าผืน อะลูมิเนียม ทองแดง หล็ก ไม้ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เซรามิก แก้วและกระจก และยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในแต่ละความตกลงฯ ได้เปิดโอกาสให้ไทยและประเทศคู่เจรจาสามารถนำสินค้าที่มีความสามารถการแข่งขันต่ำและต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกระยะหนึ่งเข้าไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวและสินค้าอ่อนไหวสูงซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยสินค้าอ่อนไหวจะยืดเวลาการลดภาษีออกไปและจะลดภาษีจนถึงระดับที่ได้ตกลงกันไว้ ขณะที่รายการสินค้าอ่อนไหวสูงซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่จะได้รับการปกป้องพิเศษเพราะประเทศคู่เจรจาสามารถนำมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ขัดกับหลัก WTO เข้ามาใช้ปกป้องเพิ่มเติมได้ด้วย ในกรณีของอาฟตาที่กำหนดให้ไทยรวมถึงอาเซียนเดิมอีก 5 ประเทศจะต้องลดภาษีสินค้าทุกรายการเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ยกเว้นรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าเกษตรจะมีภาษีร้อยละ 5 โดยไทยมี 13 รายการจาก 4 กลุ่มสินค้าคือดอกไม้สด มะพร้าวแห้ง กาแฟและมันฝรั่ง ลาวมี 88 รายการ ส่วนฟิลิปปินส์มีสินค้าอ่อนไหว 58 รายการและสินค้าอ่อนไหวสูง 4 รายการจาก 1 กลุ่มสินค้าคือ ข้าว

แม้ว่าไทยและประเทศคู่เจรจาได้ทยอยลดและยกเลิกภาษีระหว่างกันจนสินค้ากว่าร้อยละ 90 มีภาษีอยู่ในระดับต่ำ แต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2552 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศคู่เจรจาในกรอบ FTA มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 32.5 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยประเทศที่ไทยส่งออกภายใต้กรอบ FTA สูงอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น เนื่องจากไทยได้ลดภาษีจนสินค้านำเข้าถึงร้อยละ 90.5 ของมูลค่าการนำเข้าในปี 2549 มีภาษีร้อยละ 0 แล้วในปัจจุบัน ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยไปยังอินเดียภายใต้ FTA ที่อินเดียเปิดตลาดให้สินค้าไทยเพียง 82 รายการจากจำนวนพิกัดสินค้าทั้งหมด ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิจาก FTA ในการส่งออกสินค้า 82 รายการถึงร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกสินค้า 82 รายการทั้งหมด ดังนั้นหากมีการยกเลิกภาษีสินค้าเพิ่มเติมอีกในปีหน้าอาจจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปปัจจัยที่อาจมีผลต่อโอกาสการส่งออกของไทยรวมถึงเสนอแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์และการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยหลังการยกเลิกภาษีสินค้าในปีหน้า ดังนี้

– สินค้าไทยหลายรายการมีภาษีต่ำอยู่แล้ว การยกเลิกภาษีสินค้าในปีหน้าจึงอาจจะทำให้ราคาวัตถุดิบที่ไทยนำเข้าหรือราคาสินค้าไทยในตลาดประเทศคู่เจรจาเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เช่นการยกเลิกภาษีสินค้าทุกรายการในกลุ่มสินค้าปกติของอาฟตาอาจจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่มีการลดภาษีไปแล้วไม่มาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีอัตราภาษีนำเข้าเส้นด้ายและเครื่องจักรกลเท่ากับร้อยละ 1 และผ้าผืนเท่ากับร้อยละ 5 ขณะที่เครื่องนุ่งห่มไทยได้รับการยกเลิกภาษีทั้งภายใต้กรอบอาฟตาและกรอบอาเซียน-จีนอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้การส่งออกสินค้าบางรายการที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจาก FTA ไม่สามารถขยายตัวได้มากเท่าที่ควร เกิดจากผู้ผลิตสินค้าไทยไม่สามารถตอบสนองต่อรสนิยมของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศได้และผู้บริโภคยังยอมรับและเชื่อถือตราสินค้าไทยในวงจำกัด ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรเน้นการพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความหลากหลายและสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดควบคู่กับสร้างการรับรู้คุณประโยชน์ที่เป็นจุดเด่นของสินค้า

– สินค้าไทยที่มีขีดความสามารถการแข่งขันสูงมักได้รับการปกป้องจากประเทศคู่ค้า เช่น การเปิดตลาดของอาฟตานั้น ข้าวและน้ำตาลจัดเป็นสินค้าอ่อนไหวสูงที่ 3 ประเทศอาเซียนคือ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ขอสงวนไว้ โดยในปีหน้าภาษีข้าวของ 3 ประเทศจะมีอัตราภาษีสูงกว่าร้อยละ 20 ขณะที่ไทยจะยกเลิกภาษีนำเข้าข้าวและน้ำตาลให้กับอาเซียน การส่งออกข้าวไทยจึงยังคงเผชิญกับอุปสรรคทางภาษีที่ยังคงอยู่และอาจจะแข่งขันกับสินค้าข้าวจากต่างประเทศที่จะเข้ามามากขึ้น นอกจากนี้หลายประเทศในอาเซียนยังมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและการอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ เพราะได้บทเรียนจากวิกฤตอาหารในช่วงที่ผ่านมา โดย มูลค่าการส่งออกข้าวจากไทยไปยังมาเลเซียในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ลดลงถึงร้อยละ 82.24 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 209.74 แม้ว่าจะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคาข้าวที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการผลิตข้าวในประเทศมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายสนับสนุนการปลูกข้าวเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศของมาเลเซีย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลผลิตทางเกษตร โดยควรสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคพร้อมกับพัฒนาคุณภาพของสินค้าโดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศคู่เจรจามีแนวโน้มจะนำมาใช้มากขึ้นหลังการยกเลิกภาษีไปแล้ว

– สินค้าของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศไทย เพราะ1.) โครงสร้างการผลิตสินค้าไม่สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ข้อนี้คือ ก.) ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้กับสินค้าเกษตรเช่น พืช สัตว์มีชีวิตและแร่ ข.) สินค้าต้องแปรสภาพจากวัตถุดิบอย่างเพียงพอ โดยพิจารณาจากพิกัดสินค้าเป็นหลัก ค.) สินค้าจะต้องมีการใช้วัตถุดิบในประเทศไทยอย่างน้อยร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้า จึงไม่สามารถใช้สิทธิ FTA ในการส่งออกสินค้าได้ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ผลิตของไทยได้กระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้การเปิดตลาดของ 6 ชาติอาเซียนภายใต้กรอบอาฟตาในปีหน้าอาจจะเป็นแต้มต่อสำคัญที่ช่วยให้การปรับโครงสร้างการผลิตของผู้ประกอบการไทยง่ายขึ้นเพราะไม่เพียงแต่ต้นทุนทางภาษีของสินค้านำเข้าจากอาเซียนจะลดลง ผู้ผลิตไทยยังสามารถสะสมแหล่งกำเนิดจากอาเซียนได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้า ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของอาฟตาไปยังประเทศอาเซียนจะต้องแสดงแบบฟอร์ม D ของกรมการค้าต่างประเทศเพื่อแสดงต่อประเทศนำเข้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2555 อาเซียนจะเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเองเหมือน FTA ไทย-นิวซีแลนด์แทนการยื่นขอจากหน่วยงานภาครัฐ 2.) ประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่สูงนักทำให้กรอกข้อมูลต้นทุนสินค้าไม่ครบถ้วนหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเมื่อมีการตรวจพบจากประเทศคู่ค้าในภายหลังจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยถูกเรียกเก็บค่าปรับในอัตราที่สูงกว่าการเสียภาษีตามปกติ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวก้บกฎแหล่งกำเนิดสินค้าของแต่ละความตกลงฯ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการส่งออกได้สูงสุด

– มาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบทางเทคนิคของคู่เจรจาเป็นอุปสรรคสำคัญของการส่งออกภายใต้ FTA จากการศึกษาผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีของผู้ประกอบการไทย 400 รายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในปี 2550 พบว่า ผู้ส่งออกไทยกว่าร้อยละ 63.0 ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะมาตรการสุขอนามัย (SPS) ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารไทยไม่สามารถเข้าตลาดส่งออกได้ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมักได้รับผลกระทบจากมาตรการด้านเทคนิคเช่น การติดฉลากสินค้า นอกจากนี้ยังมีการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการสิ่งแวดล้อมและแรงงานเป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หลังยกเลิกมาตรการภาษีระหว่างกันแล้ว ประเทศคู่เจรจามีแนวโน้มจะนำมาตรการที่มิใช่ภาษีทอาทิ มาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงกฎระเบียบทางเทคนิคมาใช้มากขึ้นทั้งในด้านความเข้มงวดและครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายในอนาคต นอกจากนี้กระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม การต่อต้านภาวะโลกร้อน รวมถึงจริยธรรมผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อาจจะกลายเป็นมาตรการทางการค้าในกระบวนการค้าระหว่างประเทศและอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทยที่ไม่สามารถปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

บทสรุป ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยและประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีสินค้าหลายพันรายการในกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 7 ฉบับและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า 2 ฉบับคือ FTA อาเซียน-อินเดียและ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ทั้งนี้สินค้าทุกรายการในบัญชีลดภาษีของอาฟตา FTA ไทย-อินเดียและ FTA อาเซียน-จีนจะมีอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 แม้ว่าสินค้าไทยและคู่เจรจากว่าร้อยละ 90 ของจำนวนพิกัดสินค้าทั้งหมดจะมีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 แต่ในปัจจุบันผู้ส่งออกไทยยังคงใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาไม่มากนัก ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากโครงสร้างการผลิตของไทยที่ไม่สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าทำให้สินค้าไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA สินค้าที่ไทยมีศักยภาพสูงโดยเฉพาะสินค้าเกษตรมักถูกประเทศคู่เจรจานำไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งมีภาษีสูงและมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีรวมถึงกฎระเบียบทางเทคนิคที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ที่สำคัญได้แก่ ปลาแซลมอนปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีน ยางรถยนต์ ถุงมือยาง เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบรถยนต์ ฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า อาหารปรุงแต่ง ปลาหมึกแช่แข็ง ปู เป็นต้น

สำหรับสินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ประเทศคู่เจรจามักมีมาตรการการนำเข้าที่ค่อนข้างเข้มงวดหรือไทยมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งอาทิ สินค้าเกษตรที่ไทยจะยกเลิกโควตาในกรอบอาฟตา 10 รายการ ได้แก่ มะพร้าว เนื้อมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว น้ำนมดิบ นมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ชา เมล็ดกาแฟ กาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟ เมล็ดถั่วเหลือง และข้าว เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับแหล่งกำเนิดสินค้าซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละความตกลง แนวทางหนึ่งคือ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีในการสร้างเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำในกระบวนการผลิตจนถึงภาคการส่งออกเพื่อให้สินค้ามีต้นทุนการผลิตต่ำลง มีโอกาสได้รับแหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศไทยได้มากขึ้นและสามารถผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแบบย้อนกลับในตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้ผู้ผลิตควรจะพัฒนาและแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้นโดยเน้นการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในด้านคุณภาพและการออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่างของสินค้า ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมและต่อต้านโลกร้อนรวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมเพราะคาดว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าของประเทศคู่เจรจามากขึ้นในอนาคต

]]>
49514
FTA อาเซียน-จีน…โอกาสขยายธุรกิจบริการของไทย https://positioningmag.com/48730 Fri, 31 Jul 2009 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=48730

การเปิดเสรีด้านการค้าบริการระหว่างอาเซียนและจีนกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการเปิดตลาดรอบที่สองครอบคลุมการค้าบริการ 12 สาขา โดยคาดว่าน่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีนในเดือนตุลาคมซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area) เป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเข้าไปขยายการลงทุนในภาคบริการของจีนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนจีนก็สามารถเข้ามาขยายธุรกิจบริการในอาเซียนและไทยได้มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ กรอบข้อตกลง FTA อาเซียน-จีนซึ่งได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ครอบคลุมการเปิดเสรีด้านสินค้า ด้านการบริการและการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ สำหรับการเปิดเสรีด้านการค้าบริการนั้น อาเซียนและจีนได้ลงนามความตกลง ฯ พร้อมข้อผูกพันการเปิดตลาดภาคบริการรอบแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา ส่งผลให้โอกาสการลงทุนในธุรกิจบริการระหว่างประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยและจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนในด้านธุรกิจบริการให้แก่กัน โดยไทยได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้แก่นักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยโดยเพิ่มการเปิดสาขาธุรกิจบริการวิชาชีพได้แก่ การศึกษา ท่องเที่ยว การบริการสุขภาพ และการขนส่งทางเรือ โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ขณะที่ทางฝ่ายจีนได้เสนอให้มีการลดกฎระเบียบให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนครอบคลุมธุรกิจบริการสาขากิจกรรมด้านคอมพิวเตอร์ บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ และบริการขนส่งสินค้าทางถนน อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดตลาดภาคบริการรอบแรกระหว่างอาเซียนและจีน พบว่า การเข้าไปลงทุนของนักลงทุนไทยในภาคบริการของจีนยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากนัก คาดว่าเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดตลาดภาคบริการและส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนจะอยู่ในภาคการค้าสินค้ามากกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปิดตลาดภาคบริการเพิ่มเติมในรอบที่สองนี้ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมในสาขาบริการที่กว้างและลึกขึ้นน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจภาคบริการระหว่างไทยและจีนให้ขยายตัวได้ดีขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรงของจีนไม่เพียงส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมภาคบริการของจีนได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจบริการในประเทศจีนขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาขยายการลงทุนและแข่งขันกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นของจีนได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยมีปัจจัยเอื้อหนุนสำคัญมาจากความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้สามารถเติบโตได้ดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (yoy) เทียบกับไตรมาสแรกที่เติบโตชะลอเหลือร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก (yoy) โดยรายงาน Consensus Forecast เดือนกรกฎาคม คาดการณ์ว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตร้อยละ 7.5 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2553 ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 8.5 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ โอกาสที่เพิ่มขึ้นของการขยายธุรกิจบริการของไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงจีนภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีน โดยผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลง ฯ ในการขยายการลงทุนด้านธุรกิจภาคบริการในประเทศจีนและในขณะเดียวไทยยังได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนในธุรกิจภาคบริการของนักลงทุนจีน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปภาพรวมธุรกิจภาคบริการในจีนและแนวโน้มของการค้าบริการในปี 2553 รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยและจีนในธุรกิจบริการภายใต้กรอบการค้า FTA อาเซียน-จีน ดังนี้

ภาพรวมของธุรกิจภาคบริการในจีน
ภาคบริการของจีนเป็นธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-2550 โดยในปี 2550 มูลค่าของธุรกิจบริการในประเทศจีนทะลุ 960 หมื่นล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 11.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปี 2549 อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา จีนต้องประสบปัญหาภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจภายในและภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลงทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการของจีนในปี 2551 ที่ผ่านมา ชะลอตัวเหลือร้อยละ 9.5 เป็นมูลค่า 1,204.87 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของจีดีพี อีกทั้ง ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การเติบโตของธุรกิจภาคบริการจีนยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงเหลือร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่า 290.7 หมื่นล้านหยวน ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาธุรกิจบริการของจีน ทางคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติของจีนได้ออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนในส่วนของธุรกิจบริการและปรับปรุงการจัดการของธุรกิจบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการปฏิรูปและเปิดการค้าเสรีในภาคธุรกิจบริการในประเทศจีนมากขึ้น ซึ่งทางการจีนได้ดำเนินนโยบายพัฒนาธุรกิจบริการที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2549-2553) ทั้งนี้ ธุรกิจบริการสำคัญของจีน ได้แก่ ธุรกิจภาคการเงินและการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม โลจิสติกส์ โรงพยาบาล ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกและค้าส่ง และการศึกษา เป็นต้น

แนวโน้มของธุรกิจบริการในจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบริการของจีนในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากระดับต่ำสุดในไตรมาสแรก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา โดยคาดว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 อีกทั้ง จากการที่ทางการจีนได้ทยอยออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับฟื้นทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ภาคบริการสำคัญในจีนยังขยายตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากยอดค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ที่ยังขยายตัวร้อยละ 15 แม้จะชะลอตัวก็ตาม อีกทั้งในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ มูลค่าค้าปลีกและค้าส่งเติบโตร้อยละ 14.7 ส่วนธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารขยายตัวกว่าร้อยละ 18 ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการของภาครัฐเหล่านี้น่าจะช่วยให้ทิศทางธุรกิจบริการของจีนปรับตัวดีขึ้น กอปรกับการขยายตัวทางรายได้ของประชากรชาวจีนทั้งในเขตเมืองและชนบทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชั้นกลางและสูงที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองสำคัญ ๆ ของประเทศ อาทิ มหานครปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เซินเจิ้น รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ทางตอนกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีนอาทิ มณฑลยูนนาน กว่างซี และเสฉวน เป็นต้น ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาความเจริญออกสู่พื้นที่เหล่านี้โดยการสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและปรับปรุงระบบคมนาคม น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนธุรกิจภาคบริการของจีนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เติบโตขึ้นของผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการในสาขาก่อสร้าง โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาประเทศของทางการจีน ได้ตั้งเป้าขยายสัดส่วนของธุรกิจภาคบริการเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี ภายในปี 2563

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบริการของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนคาดว่า การเจรจาเปิดตลาด FTA อาเซียน-จีนรอบที่สองที่ครอบคลุมการเปิดสาขาธุรกิจบริการทั้งหมด 12 สาขา เพิ่มเติมกิจกรรมหลายๆ ด้านจากที่จีนเปิดตลาดให้ไทยก่อนหน้านี้ในรอบแรกอาทิ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสปา ธุรกิจโรงแรมและนำเที่ยว น่าจะทำให้ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนดีขึ้น และเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน โดยคาดว่าธุรกิจภาคบริการของไทยที่มีศักยภาพน่าจะได้รับประโยชน์ภายใต้ความข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ในภาคการค้าบริการได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการศึกษา เป็นต้น การเข้าสู่ตลาดภาคบริการในจีนได้มากขึ้นในสาขาต่าง ๆ ข้างต้นจากข้อตกลง FTA ดังกล่าวน่าจะทำให้ธุรกิจบริการไทยได้รับผลดีจากการเติบโตของภาคการบริโภคภายในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามนโยบายสนับสนุนของทางการจีนที่ตั้งเป้าหมายให้ภาคบริการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันยังคงประสบอุปสรรคและปัญหาในการเข้าไปลงทุนและประกอบธุรกิจภาคบริการในจีน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันสาขาบริการที่มีศักยภาพที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในจีนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้ข้อผูกพันการเปิดตลาดจีนในกรอบ WTO เท่านั้น ส่วนสาขาที่เปิดภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีนซึ่งยังไม่มีการเปิดตลาดในกรอบ WTO ยังมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในจีนค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ตัวอย่างอุปสรรคจากกฎระเบียบของจีนในสาขาบริการที่จีนเปิดให้อาเซียนและไทยภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีน เช่น กฎระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมายภายในประเทศของการลงทุนธุรกิจสปาในจีนดังนี้

กฎระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมายของธุรกิจสปาภายในประเทศจีน
• ต้องมีใบอนุญาตต่าง ๆ ได้แก่ ใบอนุญาตความปลอดภัยจากหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะ ใบอนุญาตสาธารณสุข จากหน่วยงานสาธารณสุขและใบอนุญาตประกอบกิจการจาก SAIC ระดับอำเภอขึ้นไป
• สถานประกอบการมาตรฐาน เช่น มีความสว่างเหมาะสม ติดกระจกใส มีระบบป้องกันอัคคีภัย และระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
• คุณสมบัติผู้ให้บริการ หนังสือผ่านการอบรมวิชาชีพด้านสุขภาพและสาธารณสุขและหนังสือรับรองคุณสมบัติของการทำงานและใบรับรองระดับชั้นความรู้ในการฝึกอบรมวิชาชีพ

*** ที่มา: สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) โครงการวิจัยเรื่อง ”เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนและการเข้าสู่ตลาดจีนของภาคบริการไทย”

นอกจากอุปสรรคด้านใบอนุญาตการจัดตั้งธุรกิจและมาตรฐานการให้บริการและผู้ให้บริการแล้ว ยังมีปัญหาด้านภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในประเทศจีน อีกทั้งยังมีอุปสรรคด้านการนำเข้าผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอางที่ใช้ประกอบการให้บริการซึ่งทางการจีนมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

สำหรับโอกาสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการไม่เพียงเอื้อหนุนโอกาสดำเนินธุรกิจภาคบริการสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในจีนเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มการจ้างงานในประเทศและช่วยพัฒนาประเทศจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีน โดยปัจจุบันมีนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงแรมในไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวซึ่งได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้แก่นักลงทุนจีนไปบ้างแล้ว อีกทั้ง กิจกรรมในสาขาบริการหลายด้านที่ไทยมีแนวโน้มเปิดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น ภายใต้การเจรจาเปิดตลาดภาคบริการรอบที่สองของ FTA อาเซียน-จีน เช่น ภาคก่อสร้างและธุรกิจขนส่งสินค้า โดยคาดว่า ธุรกิจภาคบริการที่จีนเข้ามาลงทุนน่าขยายตัวมากขึ้นในไทยจากข้อตกลงFTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการที่ทยอยเปิดเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเพิ่มการแข่งขันของธุรกิจภาคบริการในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาศักยภาพในการให้บริการเพื่อตั้งรับกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเปิดเสรีภาคบริการที่ขยายสาขามากขึ้น และครอบคลุมหลายประเทศมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะเดียวกันการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนในภาคบริการของไทยยังช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศและช่วยเพิ่มการจ้างงานด้วย

สรุป การเปิดเสรีด้านการค้าบริการระหว่างอาเซียนและจีนกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการเปิดตลาดรอบที่สอง โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีนในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area) เป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเข้าไปขยายการลงทุนในภาคบริการของจีนได้มากขึ้นจากการผ่อนคลายกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนในด้านธุรกิจบริการให้แก่กัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจีนก็มีโอกาสขยายการลงทุนภาคบริการในอาเซียนและไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 จากไตรมาสแรกที่ชะลอลงในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 6.1 โดยรายงาน Consensus Forecast เดือนกรกฎาคม คาดการณ์ว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตได้ที่ร้อยละ 7.5 แม้จะชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2553 ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 8.5 ซึ่งน่าจะช่วยขับเคลื่อนภาคบริการของจีนให้ขยายตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีนด้านภาคบริการนี้ได้ช่วยเพิ่มความทัดเทียมด้านการแข่งขันในตลาดจีนระหว่างประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน กับประเทศเอเชียอื่นๆ ที่ค่อนข้างเข้าไปมีบทบาทในภาคบริการหลายสาขาในจีนจากการจัดทำความตกลงความร่วมมือหรือการเปิดเสรีภาคบริการกับจีนได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลงฯ ในการขยายการลงทุนด้านการค้าบริการในประเทศจีน ซึ่งการค้าบริการของจีนเป็นธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-2550 จากนโยบายพัฒนาธุรกิจบริการที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2549-2553) และการปฏิรูปและเปิดการค้าเสรีของภาคธุรกิจบริการในประเทศจีนมากขึ้น โดยธุรกิจบริการสำคัญของจีน ได้แก่ ธุรกิจภาคการเงินและการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม โลจิสติกส์ โรงพยาบาล ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกและค้าส่ง และการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจภายในและภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลง ทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการของจีนในปี 2551 ที่ผ่านมา ชะลอตัวเหลือร้อยละ 9.5 โดยมีมูลค่า 1,204.87 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.1 ของจีดีพี อีกทั้ง ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การเติบโตของธุรกิจภาคบริการจีนมีมูลค่าเป็น 290.7 หมื่นล้านหยวน ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบริการในประเทศจีนในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แม้ว่ามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซาแม้จะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ทยอยออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับฟื้นทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลให้ทิศทางธุรกิจบริการของจีนปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กอปรกับการขยายตัวทางรายได้ของประชากรชาวจีนทั้งในเขตเมืองและชนบทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจบริการขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาประเทศของทางการจีนได้ตั้งเป้าขยายสัดส่วนของธุรกิจภาคบริการเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่ภาคบริการมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของจีดีพี

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบริการของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนคาดว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการที่มีกำหนดเปิดตลาดมากขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาดรอบที่สองนั้นน่าจะทำให้ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นในตลาดจีนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน รวมทั้งเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ การเจรจาเปิดตลาด FTA อาเซียน-จีนรอบที่สองที่ครอบคลุมการเปิดสาขาธุรกิจบริการทั้งหมด 12 สาขาเพิ่มเติมจากที่จีนเปิดตลาดให้ไทยก่อนหน้านี้ในรอบแรก คาดว่าธุรกิจภาคบริการของไทยที่จะได้รับประโยชน์ภายใต้ความข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน เพิ่มเติมในภาคการค้าบริการได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการศึกษา เป็นต้น การเข้าสู่ตลาดภาคบริการในจีนได้มากขึ้นในสาขาต่าง ๆ ข้างต้นจากข้อตกลง FTA ดังกล่าวน่าจะทำให้ธุรกิจบริการไทยได้รับผลดีจากการเติบโตของภาคการบริโภคภายในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามนโยบายสนับสนุนของทางการจีนที่ตั้งเป้าหมายให้ภาคบริการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการไทยต้องตั้งรับกับกฎระเบียบ/ข้อกำหนดในสาขาบริการในจีนที่ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการดำเนินธุรกิจภาคบริการในจีน เช่น มาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานแรงงานในภาคบริการ นอกจากนี้ ธุรกิจไทยยังน่าจะได้รับผลดีจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคบริการในจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ความต้องการบริการสาขาต่างๆ น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจให้บริการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่ทางการจีนสนับสนุนแผนปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพโดยตั้งเป้าหมายขยายระบบการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 1,300 ล้านคน ภายในปี 2554

สำหรับโอกาสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการไม่เพียงเอื้อหนุนโอกาสการดำเนินธุรกิจภาคบริการสำหรับผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปลงทุนในจีนเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มการจ้างงานในประเทศและช่วยพัฒนาประเทศจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีน โดยกิจกรรมในสาขาบริการหลายด้านที่ไทยมีแนวโน้มเปิดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้นภายใต้การเจรจาเปิดตลาดภาคบริการรอบที่ 2 อาทิ ภาคก่อสร้างและธุรกิจขนส่งสินค้า น่าจะส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการของจีนขยายตัวมากขึ้นในไทยเช่นกัน

]]>
48730
FTA อาเซียน-อียูชะงัก…ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวจากภาวะถดถอยของยุโรป https://positioningmag.com/47111 Tue, 31 Mar 2009 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=47111

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (FTA อาเซียน-อียู) ต้องยุติลงชั่วคราว หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปครั้งที่ 7 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2552 ที่มาเลเซีย ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาจากระดับภูมิภาคต่อภูมิภาคไปเป็นระดับทวิภาคีในกรอบ FTA อาเซียน-อียูระหว่างสหภาพยุโรปกับสมาชิกอาเซียนเดิมคือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนรวมถึงเวียดนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วก่อนที่จะขยายขอบเขตออกไปยังสมาชิกที่เหลือ ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความหลากหลายของพัฒนาการทางกฎหมายทำให้อาเซียนเดิม กับกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม มีความต้องการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุนแตกต่างกันและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเจรจามาเป็นระดับทวิภาคีจะลดอำนาจการต่อรองของไทยซึ่งมีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและกฎหมายต่ำกว่าสหภาพยุโรปและอาจจะกระทบต่อโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในอนาคต นอกจากนี้การเจรจาแบบทวิภาคีจะทำให้สมาชิกอาเซียนต้องแข่งขันกันเปิดการเจรจากับอียูก่อนเพื่อฉกฉวยโอกาสและชิงความได้เปรียบ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับไทยโดยเฉพาะหลังจากอาเซียนต้องลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2558 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากสหภาพยุโรปที่มีธุรกิจในอาเซียนสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ได้เช่นเดียวกับนักธุรกิจสัญชาติอาเซียนเอง โดยเฉพาะการใช้สิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการและลงทุนในกรอบ AEC ทำให้นักลงทุนจากสหภาพยุโรปสามารถเข้ามาให้บริการและลงทุนในสาขาบริการที่ไทยมีความอ่อนไหวสูงได้มากขึ้นเช่น บริการทางการเงิน บริการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าการเจรจาจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม การเจรจา FTA อาเซียน-อียูอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ จากประสบการณ์ของอาเซียนในการเจรจา FTA แต่ละกรอบความตกลงฯ ที่ผ่านมา มักจะใช้เวลาราว 3-4 ปีจึงจะได้ข้อตกลงร่วมกัน หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งสำหรับการลงนามและให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน สวนทางกับความต้องการของอียูที่จะผลักดันให้การเจรจา FTA แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพราะการเจรจาที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนของการร่างกรอบความตกลงและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งยังไม่ได้เริ่มต้นการเจรจารายละเอียดของข้อบทในความตกลงฯ แต่อย่างใด ความเห็นที่ต่างกันมากของอาเซียนกับอียูในเรื่องรูปแบบการลดภาษีของการเปิดตลาดสินค้า รูปแบบการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงนโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมถึงประเด็นสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่อียูต้องการผลักดันให้บรรจุเป็นข้อบทในความตกลงฯ ขณะที่อาเซียนถือเป็นประเด็นอ่อนไหวเพราะไม่เคยมีประสบการณ์เจรจาเพื่อยกร่างเป็นข้อบทในความตกลงฯ มาก่อนเนื่องจากความไม่พร้อมของสมาชิกอาเซียนบางประเทศ

การหยุดพักการเจรจา FTA อาเซียน-อียู ลงชั่วคราวเพื่อรอการตัดสินใจจากเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมหารือกันในเรื่องรูปแบบของการเจรจาในคราวการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนราวต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเจรจา FTA อาเซียน-อียูที่ยุติลงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อทิศทางการส่งออกของไทยในปีนี้ แต่คาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่กำลังคุกคามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภูมิภาคเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างหนัก แม้ว่าสินค้าไทยจะได้รับสิทธิ GSP รอบใหม่จากสหภาพยุโรปเป็นจำนวนมากก็ตาม นอกจากนี้ FTA อาเซียน-อียูที่ล่าช้าออกไปอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยต้านทานกระแสกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรปที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกของไทยได้ในขณะนี้

? วิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยรองจากอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้หดตัวลงเพราะขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยในสหภาพยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีต่างเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหภาพยุโรปลดลงจนแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหดตัวลงถึงร้อยละ 28.2 (yoy) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 (yoy) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น จะกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 2552 หดตัวลงถึงร้อยละ 13.5-20.0 แม้ว่าสินค้าส่งออกที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเช่น สินค้าอาหาร อาหารแปรรูป จะขยายตัวได้ดี ประกอบกับผู้ผลิตไทยบางส่วนปรับตัวโดยหันไปผลิตสินค้าที่มีราคาลดลงตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องนุ่งหุ่มสำหรับตลาดระดับกลางและล่างมากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลของหลายชาติสมาชิกในสภาพยุโรปต่างออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีมูลค่า 101.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ถึงร้อยละ 78.7 ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมูลค่า 35.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กลับเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (ร้อยละ 71.5 ของวงเงิน) อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังไม่เห็นผลนั้น คาดว่า การส่งออกของไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากกำลังซื้อที่หดตัวลงพร้อมกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะอันใกล้นี้ สะท้อนจากปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง

? ปัจจุบันสินค้าส่งออกไทยกว่า 7,000 รายการยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือสิทธิ GSP (Generalized System of Preference) จากสหภาพยุโรปส่งผลให้สินค้าไทยถูกเรียกภาษีในระดับต่ำหรือได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งนี้จากการพิจารณาสิทธิ GSP ช่วงที่ 2 ของสหภาพยุโรปที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 จนถึง 31 ธันวาคม 2554 มีสินค้าของไทยจำนวน 20 หมวดสินค้าที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP ที่สำคัญเช่น เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง เป็นต้น โดยมีสินค้าที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP คือ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ(HS 71) และกลุ่มสินค้าที่ได้คืนสิทธิ GSP คือ ยานพาหนะและอุปกรณ์ (HS 86-89) ส่งผลให้สินค้ากลุ่มยานยนต์ของไทยได้รับการยกเว้นภาษีอีกครั้งในปีนี้ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของไทยให้เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการเจรจา FTA เกาหลีใต้-อียูมีผลบังคับใช้อาจจะทำให้ผู้ส่งออกสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ไทยเผชิญกับการแข่งขันจากเกาหลีใต้ในตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้น นอกจากนี้ไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของการได้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปในรอบต่อไปด้วย

นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปไม่มากนักคิดเป็นร้อยละ 45.75 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ในปี 2550 โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP ไม่มากนักได้แก่ เครื่องหนัง อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เซรามิกและของที่ทำจากแก้ว ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์และของเล่นเด็ก เป็นต้น คาดว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบ GSP ที่ค่อนข้างเข้มงวดของสหภาพยุโรปซึ่งกำหนดให้สินค้าไทยที่จะใช้สิทธิ GSP ต้องใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 50-60 ขณะที่กฎแหล่งกำเนิดของอาเซียนกำหนดให้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นร้อยละ 40 นอกจากนี้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตของไทยก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งทำให้สินค้าไทยที่แม้จะอยู่ในรายการที่จะได้รับสิทธิ GSP แต่ก็ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ที่สหภาพยุโรปกำหนดให้ปลาทูน่าที่ถูกจับในน่านน้ำไทยเท่านั้นจึงจะได้รับสิทธิ GSP ขณะที่ไทยไม่มีปลาทูน่าในประเทศต้องอาศัยการนำเข้าจากญี่ปุ่นมาผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

? มาตรการและกฎระเบียบทางการค้าของสหภาพยุโรปบางรายการที่เข้มงวดและยากต่อการปฏิบัติถือเป็นอุปสรรคและสร้างภาระต้นทุนให้กับผู้ส่งออกของไทยมาโดยตลอด ผนวกกับภาวะปัจจุบันที่กระแสกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศกำลังมาแรงนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการหรือกฎระเบียบทางการค้าที่อียูทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้สร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังอียูอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นมาตรการทางด้านสุขอนามัยคน พืชและสัตว์ ที่อยู่ในระดับสูงซึ่งอียูให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และเป็นที่น่าสังเกตว่า อียูเพิ่มความเข้มงวดหรือยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยของสินค้านำเข้าให้สูงขึ้นทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้มาตรฐานสินค้า มาตรฐานสุขอนามัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นจะสร้างภาระต้นทุนให้กับสินค้าส่งออกของไทยที่จะต้องเร่งพัฒนามาตรฐานสินค้า มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสหภาพยุโรปได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ยังมีสินค้าส่งออกของไทยที่กำลังถูกมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ อย่างการกำหนดโควตาภาษีสำหรับสินค้าบางรายการของไทยเช่น ไก่ปรุงสุกและปลาทูน่ากระป๋อง และการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) ซึ่งถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่สหภาพยุโรปใช้มากที่สุด โดยปี 2551 สหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษี AD กับสินค้าจากไทย 7 รายการได้แก่ (1) Coumarin (2) ท่อ/ข้อต่อทำด้วยเหล็ก (Tube and pipe fitting, of iron or steel) (3) เม็ดพลาสติก (Polyethylene terephthalate: P.E.T) (4) ถุงหรือกระสอบพลาสติก(Plastic sacks and bags) (5) ท่อเหล็ก (Welded tubes and pipes, of iron or non-alloy steel) (6) สลักภัณฑ์ (Stainless steel fasteners and parts thereof) (7) ข้าวโพดหวาน (prepared or preserved, in kernels)

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (FTA อาเซียน-อียู) ที่ต้องยุติลงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมในปี 2552 ที่มีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ 13.5-20.0 มากนัก เพราะกระบวนการเจรจา FTA จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะเสร็จสิ้นซึ่งอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกท่ามกลางกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายได้ แม้ว่าไทยจะกระตุ้นการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยรองจากอาเซียนโดยเน้นการส่งออกสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตรวมถึงสินค้าที่มีราคาต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่คุกคามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงอย่างหนักถึงร้อยละ 28.2 (yoy) ลดลงจากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 (yoy)

แม้ว่าสินค้าไทยกว่า 7,000 รายการเช่น เครื่องปรับอากาศ กุ้งแปรรูปและปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็ง จะได้รับสิทธิ GSP รอบใหม่จากสหภาพยุโรปที่เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นมา แต่การส่งออกของไทยส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงซบเซาอย่างหนัก เห็นได้จากสินค้ากลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์ ที่ไทยเพิ่งได้คืนสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปในรอบนี้ แม้ว่าไทยจะสามารถส่งออกยานยนต์ไปยังสหภาพยุโรปได้โดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษี แต่การส่งออกรถยนต์ของไทยกลับหดตัวถึงร้อยละ 62 ขณะที่การส่งออกรถจักรยานยนต์ซึ่งมีราคาต่ำกว่ารถยนต์กลับขยายตัวถึงร้อยละ 46.3 แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากปี 2551 ก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแรงของผู้บริโภคและภาคการผลิตในสหภาพยุโรปโดยเฉพาะรถแวน รถกระบะและรถบรรทุกที่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างสูง

นอกจากนี้การเจรจา FTA อาเซียน-อียูที่ล่าช้าออกไปอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยต้านทานกระแสกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรปที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกของไทยได้ในขณะนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปทยอยประกาศมาตรการและกฎระเบียบทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสุขอนามัยคน พืชและสัตว์ และมาตรการสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญค่อนข้างมาก คาดว่าการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปในปีนี้คงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลงอย่างหนักและอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการต่างๆ ของสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

]]>
47111