Fitness – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 Jun 2020 09:49:16 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘BASE’ ชี้ ‘Hybrid Model’ ฟ้าหลังฝนของตลาด ‘Fitness’ และจะเป็น ‘New Normal’ ในอนาคต https://positioningmag.com/1284135 Thu, 18 Jun 2020 09:22:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1284135 เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ไปเต็ม ๆ สำหรับ ‘ฟิตเนส’ (Fitness) ที่ต้องปิดตัวไปนาน 75 วันเช่นเดียวกันกับโรงภาพยนตร์ และแน่นอนว่าการกลับมาเปิดอีกครั้งนั้น ไม่สามารถให้บริการได้เหมือนเดิม 100% เพราะต้องเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย หรือ Social Distancing

‘BASE’ (เบส) แบรนด์ฟิตเนส พรีเมียมที่มีเพียง 3 สาขา หลังจากเปิดมา 4 ปีก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบ โดยคุณ Jack Thomas ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BASE กล่าวว่า แน่นอนในตลาดฟิตเนสช่วงที่ผ่านมาอาจมีบางแบรนด์ที่ไม่รอดตั้งแต่แรก และจากนี้อาจ หายไปเพราะพิษเศรษฐกิจ แต่ถ้ารอดไปได้ อกาสของตลาดจากนี้จะมีมหาศาล เพราะเทรนด์ผู้บริโภคในตอนนี้คือ ต้องการดูแลสุขภาพตัวเอง ดังนั้นเขาจะมองหาฟิตเนสเพื่อออกกำลังกาย

Jack Thomas ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BASE

ความต้องการไม่เต็ม 100% ดังนั้น ไม่ต้องรีบร้อน

ในไต้หวันความต้องการเข้าฟิตเนสกลับมา 90% ส่วนเวียดนามกลับมา 80% ส่วนไทยระบุว่า 60-70% พร้อมจะกลับมา ที่เหลือรอดูอีกสักนิด แต่ไม่มีใครที่จะยกเลิกคลาส ดังนั้นหลังจากกลับมาเปิดอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือการเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับมา ถือเป็นหึ่งในเรื่องที่ท้าทาย โดยเบสเองต้องลดจำนวนคนและคลาสลง 30% และมีการเช็ดล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ทุก 20 นาที ดังนั้น ต้นทุนในการทำความสะอาดมากกว่าเดิม ดังนั้นการเปิดสาขาจึงไม่ทำทีเดียว 3 สาขา แต่เป็นการทยอยเปิดเพื่อประเมินสถานการณ์

“เราเองก็ต้องตัดต้นทุนไปบางส่วนเพื่อให้อยู่รอด แต่เราก็ยังต้องลงทุนในเทคโนโลยีเบสไลน์ (BASE LINE) ที่เป็นเทคโนโลยีในการบันทึกพัฒนาการทางด้านฟิตเนสของลูกค้า ซึ่งเป็นจุดแข็งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้เราแข็งแรง”

Hybrid Model New Normal ใหม่ของฟิตเนส

ในช่วงที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวถึง 75 วัน เบสได้ให้บริการการประชุมสายผ่านแอปพลิเคชัน Zoom หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ และได้สร้างช่องทางออกกำลงกายออนไลน์ชื่อ ‘เบส เอนี่แวร์’ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ผสมผสานระหว่างคลาสออกกำลังกายถ่ายทอดสดและวิดีโอคลาสของเบสที่ลูกค้าสามารถเล่นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพียงภายในเวลาไม่กี่เดือน ฐานสมาชิกของเบส เอนี่แวร์ได้ขยายไปถึง 150 คน นอกจากนี้ เบสยังให้ลูกค้าเช่าอุปกรณ์เพื่อใช้ออกกำลังกายที่บ้าน ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้รับผลตอบรอบดีมาก

“การให้บริการผ่านออนไลน์ในตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติของหลายธุรกิจรวมถึงธุรกิจฟิตเนส ผู้นำตลาดฟิตเนสออนไลน์อย่าง เพโลตันได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงปีนี้ทั้งในแง่ของราคาหุ้นและการขยายตัวของฐานลูกค้า”

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าการขยายเข้าสู่ออนไลน์นั้นทำให้ธุรกิจต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดออนไลน์ ซึ่งมีช่องเป็นล้าน ๆ ช่องสอนการออกกำลังกาย ดังนั้น เบสคงไม่สามารถสู้ได้ จึงขอโฟกัสในตลาดออฟไลน์เหมือนเดิม เพราะจากนี้มองว่าคนจะออกกำลังกายทั้ง 2 แบบ จะไม่เทไปส่วนไหนส่วนหนึ่ง เพราะด้วยประสบการณ์แบบออฟไลน์ที่ให้ และอุปกรณ์ที่มี เป็นสิ่งที่ออนไลน์ไม่สามารถให้ได้

โจทย์สุดท้ายทำให้คนมองการออกกำลังกายเป็นเรื่อง สำคัญ

จากนี้ต้องเจอพิษเศรษฐกิจ เพราะกำลังซื้อที่ลดลง แต่เบสไม่สามารถลดค่าบริการได้ เพราะต้องรักษาความพรีเมียมไว้ ดังนั้น โจทย์ใหญ่จากนี้คือ ต้องทำยังไงก็ได้ให้คนไม่ตัดเรื่องออกกำลังกายออกไป แต่ยอมใช้จ่ายในส่วนอื่นลดลง ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญ ทั้งนี้ เบสมีแผนจะขยายสาขาไปต่างประเทศในช่วงต้นปี 2021 เพราะจากนี้ ฟิตเนสสำคัญจะสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากคนจะหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นพ้น Covid-19 ไป ตลาดนี้จะเป็นตลาดสำคัญแน่ในอนาคต

]]>
1284135
กะเทาะดรามาธุรกิจ “ฟิตเนส” ธุรกิจอันหอมหวาน แต่สุดหินถ้าจะอยู่รอด https://positioningmag.com/1129282 Wed, 14 Jun 2017 22:55:59 +0000 http://positioningmag.com/?p=1129282 เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจ “ฟิตเนส” เมื่อ “ทรู ฟิตเนส” ลอยแพลูกค้าไม่ไยดี ซ้ำรอยแคลิฟอร์เนีย ว้าว ที่ปิดบริษัท หอบเงินหนี อะไรคือต้นตอของปัญหา

ธุรกิจฟิตเนสในช่วง 1-2 ปีมานี้ เรียกว่ามีแต่กราฟขึ้นเอาๆ มีการเติบโต และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็มีผู้เล่นล้มหายตายจากไปเช่นกัน โดยคาดกันว่า มูลค่าตลาดราว 9,000-10,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% โอกาสในการเติบโตก็ยังมีสูง เพราะเมื่อเทียบอัตราการออกกำลังกายของคนไทยถือว่ายังต่ำมาก และจำนวนฟิตเนสในไทยก็ยังไม่เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เคยมีรายงานเมื่อปี 2558 ของ International Health Racquet & Sports Club Association ที่ระบุไว้ว่า คนไทยเล่นฟิตเนสเพียงแค่ 0.6% ของประชากรทั้งหมดซึ่งถือว่ายังน้อยมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชียที่เล่นฟิตเนสอยู่ที่ 8%

แต่ธุรกิจฟิตเนสก็เริ่มมีภาพติดลบกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนหนังฉายซ้ำเหตุการณ์เดียวกันกับเมื่อหลายปีก่อนที่ แคลิฟอร์เนีย ว้าว ได้ปิดกิจการแบบกะทันหัน ไม่บอกกล่าวสมาชิกล่วงหน้า ลอยแพสมาชิก ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะจ่ายค่าสมาชิกไปล่วงหน้าแล้ว

เหตุการณ์มาซ้ำรอยกับ ทรู ฟิตเนส ที่ทำตลาดในประเทศไทยมา 11 ปี ตั้งแต่ปี 2549 มีธุรกิจทั้งทรู ฟิตเนส, ทรู สปา และทรู เอส เป็นเดจาวูภาพเดียวกัน ปิดสาขาที่เหลืออยู่ 2 แห่ง เอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย และสาขาเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศกโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ที่ผ่านมา ทรู ฟิตเนสมีปัญหาเรื่องการเงินมานานแล้ว ไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานและเทรนเนอร์ รวมถึงค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเช่าที่ ทางอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ได้มีการส่งหนังสือแจ้งว่าทรู ฟิตเนสได้ค้างชำระของเดือน พ.ค. และ มิ.ย. รวมถึงค่าสาธารณูปโภคเป็นยอดค้างชำระรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.6 ล้านบาท

หลังจากที่มีการปิดสาขาในประเทศไทย ทรู ฟิตเนส กรุ๊ป ก็ทำการปิดบริการในประเทศมาเลเซียตามมาติดๆ ลูกค้าก็ถูกลอยแพเช่นเดียวกัน ทางทรู ฟิตเนสได้แถลงผ่านทางเว็บไซต์บอกถึงสาเหตุที่ต้องปิดตัวลงเพราะการแข่งขันที่สูง แต่ได้ทำการตกลงกับฟิตเนสอีกที่หนึ่งก็คือ Chi Fitness ให้ลูกค้าฟิตเนสไปเล่นได้ แต่สำหรับทรู สปากำลังมองหาที่อื่นรองรับอยู่ แต่สำหรับเรื่องเงินส่วนต่างค่าสมาชิก และค่าเทรนเนอร์ไม่สามารถคืนให้ได้

ส่วนในไทย มีสมาชิกทั้งทรู ฟิตเนส, ทรู สปา และทรู เอส เสียหายจากเหตุการณ์นี้เยอะมาก สมาชิกทรู เอสท่านหนึ่งเพิ่งต่อสมาชิกไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมร่วมหลายหมื่นบาท ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร มีแค่สัปดาห์ก่อนตอนจะนัดเข้ามาทำสปา พนักงานได้ยกเลิกบอกว่าครีมหมด ต้องสั่งสินค้าเข้ามาใหม่ และเมื่อมาที่สาขาวันที่ 9 มิถุนายนก็พบว่าปิดทำการแล้ว โทรหาพนักงานก็ไม่ติด

สมาชิกทรู ฟิตเนสอีกท่านหนึ่งเป็นสมาชิกมานาน 4-5 ปีแล้ว ทำสมาชิกรวมทั้งตนเอง และลูกสาวได้ทำสัญญาล่วงหน้า 2 ปี พร้อมกับจ่ายค่าเทรนเนอร์เพิ่มเติม รวมๆ แล้วหมดไปเป็นแสน

ส่วนบนโลกออนไลน์มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เสียหาย ทั้งในเฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์กว่า 500 คน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าค่าเสียหายจะอยู่ที่ประมาณหลายล้านบาท โดยพบว่ามีสมาชิกที่เสียหายมากที่สุดคืออยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท เพราะซื้อทั้งคอร์สฟิตเนส สปาความงาม และอื่นๆ รวมกัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วสมาชิกแต่ละคนจะมีค่าเสียหายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณหลักพันถึงหลักแสนบาท

สมาชิกทั้งหมดได้ช่วยกันพยายามติดต่อกับทางบริษัททรู กรุ๊ป จำกัด แต่ปรากฏว่ายังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดออกมารับผิดชอบ โดยสมาชิกบางส่วนได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันรวบรวมรายชื่อและค่าเสียหายเพื่อยื่นจดหมายร้องเรียนไปยังหน่วยงาน สคบ. เพื่อให้ดำเนินการกับทางทรู ฟิตเนสต่อไป

“เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” สวมบทฮีโร่ หวังดึงเข้าสมาชิก

เพื่อนร่วมวงการอย่าง “เวอร์จิ้นแอ็คทีฟ” ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยไม่กี่ปี ใช้โอกาสนี้เพิ่มสมาชิก ด้วยการประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าให้สมาชิกของทรู ฟิตเนสมาใช้บริการเวอร์จิ้น แอ็คทีฟได้ฟรีทุกสาขา และไม่มีเงื่อนไขใดๆ ใช้ได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกปัจจุบันของเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ จนเกิดกระแสต่อต้านในออนไลน์ ไม่คำนึงถึงลูกค้าเก่าได้รับผลกระทบ ยิ่งในช่วงเวลาพีคๆ อย่างช่วง 17.00-20.00 น. หรือเป็นช่วงเวลาเลิกงาน ภายในคลับคนจะเยอะเป็นพิเศษ เมื่อมีสมาชิกเข้ามาเพิ่มก็ยิ่งเหมือนเบียดเบียนสมาชิกเดิม กระทบเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานเข้า ไปอีก

เมื่อกระแสตีกลับ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ จึงแก้ประกาศใหม่ ยังคงให้สมาชิกทรู ฟิตเนสเข้าใช้บริการได้ฟรีเหมือนเดิม เพียงแต่มีกำหนดเงื่อนไข โดยกำหนดระยะเวลาในการใช้บริการ เพื่อไม่ให้กระทบกับสมาชิกของเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ และใช้บริการได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนเช่นเคย

กะเทาะปัญหาฟิตเนสล้ม

หลังจากการล้มของทรู ฟิตเนส ในตลาดยังมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอยู่ 3 รายได้แก่ ฟิตเนส เฟิรส์ท, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ และวี ฟิตเนส แต่ละรายมียุทธศาสตร์แตกต่างกันออกไปรวมถึงมีฟิตเนสรายเล็กๆ ที่ไม่มีสาขาอีกมากมายตามแหล่งชุมชน

เมื่อมาดูถึงชนวนของปัญหา ทำไมธุรกิจฟิตเนสที่เป็นแบรนด์ใหญ่ถึง 2 ราย ถึงอยู่รอดได้ยาก ในมุมมอง อรวรรณ เกลียวปฏินนท์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ตลาดฟิตเนสดีมานด์ในตลาดสูงมาก ยังมีลูกค้าอีกมาก จะเห็นว่ามีทั้งรายเล็กรายใหญ่เข้ามาในตลาด บางรายก็ไม่ยั่งยืน ตลาดนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินทุนต้องหนาอย่างเดียว แต่อยู่ที่ Operation ล้วนๆ ทั้งเรื่องการบริหารการเงิน โมเดลธุรกิจ และเรื่องวัฒนธรรมองค์กร แต่ละที่ไม่มีใครผิดถูก แต่ขึ้นอยู่ว่าบริหารจัดการให้อยู่รอดอย่างไร

โมเดลธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนเป็นจุดยืนของแบรนด์ ทั้งในเรื่องกลยุทธ์ การเงิน การจัดการต่างๆ หลายแบรนด์ที่มีปัญหาเกิดจากการเลือกที่จะเก็บค่าสมาชิกล่วงหน้าเป็นปี หรือตลอดชีวิต ทำให้ได้เงินก้อนแรกมาก็จริง แต่มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนในระยะยาว ทำให้อยู่รอดยาก

ลองคิดดูว่าในแต่ละเดือนต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกเยอะแยะ ทั้งค่าเช่าที่ ค่าพนักงาน ค่าน้ำ-ค่าไฟ เพราะฉะนั้นการหมุนเงินเป็นเรื่องสำคัญ ฟิตเนส เฟิรส์ทเลือกใช้วิธีการเก็บค่าสมาชิกเป็นรายเดือนและเป็นสัญญาปีต่อปี ทำให้บริการจัดการเงินได้ง่ายกว่า ลูกค้าก็ไม่มีความเสี่ยงด้วย ทำให้ลูกค้ามั่นใจในแบรนด์

ช่องว่างฟิตเนสรายย่อยแจ้งเกิดในตลาด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจ เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ประสบปัญหา เป็นโอกาสให้แบรนด์เล็กได้แจ้งเกิดได้ ปัญหาใหญ่ๆ ของแบรนด์ใหญ่ก็คือเรื่องการแบกรับต้นทุน แม้จะมีทุนหนาแต่เรื่องการบริหารจัดการให้คุ้มค่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า แต่ละแบรนด์ใช้พื้นที่ใหญ่โตเฉลี่ย 3,000-4,000 ตารางเมตร

หากเทียบกับรายกลางรายย่อยที่มักใช้ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ซึ่งทำให้การบริหารจัดการรายได้ต่อตารางเมตรง่ายกว่ากันมาก และเสียค่าบริการแบบรายวันเป็นส่วนใหญ่ หรือแบบรายเดือน ทำให้การตัดสินใจใช้บริการง่ายกว่า และเป็นต้นเหตุที่ทำให้สมาชิกของรายย่อยมีเพิ่มขึ้น กลายเป็นการแย่งสมาชิกจากเชนใหญ่ไปโดยปริยายเพราะมีความยืดหยุ่นมาก และมีทำเลที่สะดวกด้วย เป็นปัจจัยทำให้รายกลางและรายเล็กอยู่รอดได้

จะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้รายกลางรายเล็กเกิดขึ้นมาด้วยการเปิดตามชานเมือง แต่เป็นย่านคนพลุกพล่านและใช้พื้นที่เฉลี่ยห้องแถว 2 ห้องและสแตนด์อโลน หรือไม่ก็เปิดในคอมมูนิตี้มอลล์เช่นแมกซ์ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ หรือเอ็ม ฟิตเนส บลิส บอดี้โยคะแอนด์มี เป็นต้น

อย่างกรณีของเอ็ม ฟิตเนสใช้กลยุทธ์พื้นที่ขนาดเล็กเจาะชุมชนชานเมือง เช่น สาขามหาชัย พระรามสองและตากสิน วางเป้าหมายในปี 2562 จะมีรวม 10 สาขา สมาชิก 5,000 ราย ไต่ระดับรายได้จาก 12 ล้านบาทจาก 2 สาขาในปี 58 เป็น 60 กว่าล้านบาท ปีนี้ ด้วยพื้นที่เฉลี่ย 400-1,200 ตารางเมตร ค่ารายเดือนเฉลี่ย 1,000 กว่าบาท

เป็นตลาดที่ยังต้องจับตามองกันไปยาวๆ เพราะมีการเติบโตสูงก็จริง แต่แบรนด์จะบริหารให้รอดได้อย่างไร รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคนับจากวันนี้ด้วย

เร่งร่างข้อปฏิบัติ ไม่บังคับจ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้า

จากเหตุการณ์ ผู้ประกอบการให้สมาชิกผูกสัญญาล่วงหน้าหลายปีและจ่ายเงินล่วงหน้าจำนวนมาก เมื่อธุรกิจล้มทำให้เรียกร้องค่าเสียหายค่อนข้างยาก เวอร์จิ้น แอ็คทีฟจึงลุกขึ้นมาเสนอให้อุตสาหกรรมฟิตเนสและสุขภาพในประเทศไทยร่างข้อปฏิบัติไม่ให้สถานประกอบการฟิตเนสบังคับสมาชิกให้คงสภาพสมาชิกอย่างน้อยเป็นเวลา 12 เดือนและไม่บังคับให้จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเกินสมควร

เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งเวอร์จิ้นกรุ๊ป กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่วงการฟิตเนสและสุขภาพกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบยังเดินหน้าลงทุนสร้างคลับใหม่ๆ ทำให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบซึ่งทำให้วงการนี้เสียชื่อเสียง การกระทำแบบนี้ควรจะหยุดลง ซึ่งเรากำลังร่างข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”

สอดคล้องกับ ฟิตเนส เฟิรส์ท เองก็มองว่า โมเดลธุรกิจที่ให้สมาชิกจ่ายล่วงหน้าเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ยั่งยืน ทำให้มีปัญหาทั้งผู้ประกอบการและสมาชิก

]]> 1129282 ตลาดฟิตเนส มูลค่าหมื่นล้านบูมจัด แบรนด์นอก-แบรนด์ไทย เร่งเปิดสาขา https://positioningmag.com/1101261 Fri, 02 Sep 2016 02:30:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=1101261 เทรนด์สุขภาพบูมจัด ส่งผลธุรกิจฟิตเนสมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาทเฟื่องตาม ผุดกว่า 1,000 แห่งในไทย ทั้งแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศ หรือแบรนด์โลคอลต่างโหมกระหน่ำดึงลูกค้า จับตาเกมรุก “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” ที่จะเข้ามาท้าชนเจ้าตลาดอย่างฟิตเนสเฟิรส์ท โลคอลแบรนด์ใหม่อย่าง “เอ็มฟิตเนส” ที่ลุกขึ้นมาปั้นแบรนด์อย่างจริงจัง แนวใหม่อย่างแทรมโพลีนของแบรนด์ “บ๊าวซ์” ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปีที่แล้ว ก็เตรียมบุกตลาดมากขึ้น

เทรนด์สุขภาพยังคงมาแรง และกระจายไปหลายธุรกิจมากขึ้นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย หรือฟิตเนสกลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง ผู้บริโภคหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าแต่ก่อนมีแบรนด์ฟิตเนสรายใหญ่เพียงไม่กี่แบรนด์ และบางแบรนด์ก็ล้มหายตายจากไปจากประเทศไทย เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ทว่าในปัจจุบันมีแบรนด์ฟิตเนสเกิดขึ้นมากมายทั้งแบรนด์อินเตอร์ที่เข้ามาตีตลาดในไทย และแบรนด์โลคอลท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาทำตลาดเอง หรือเหล่าบรรดาเซเลบริตี้ก็หันมาทำฟิตเนสเองด้วยเช่นกัน

4 แบรนด์ใหญ่ครองตลาด 90%

มีการประเมินตลาดฟิตเนสในปีนี้มีมูลค่าราว 9,000 ล้านบาท มีการเติบโต 9-10% จากการสำรวจตลาด พบว่า ในประเทศไทยมีฟิตเนสที่จดทะเบียนราว 1,000 แห่ง แต่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศเพียงแค่ 4 แบรนด์ ได้แก่ ฟิตเนส เฟิรส์ท, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ, ทรูฟิตเนส และวี ฟิตเนส มีสาขารวมกันกว่า 40 สาขา มีมูลค่าการลงทุนมหาศาลคิดเป็น 90% ของมูลค่าตลาด ส่วนสาขาที่เหลือ 900 สาขา เป็นฟิตเนสของผู้เล่นโลคอล

รายงานของ International Health Racquet & Sports Club Association ปี 2558 พบว่าสัดส่วนของประชากรไทยที่ใช้บริการฟิตเนสมีเพียง 0.6% ของประชากร ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวเลขค่าเฉลี่ยของชาติในทวีปเอเชียที่ 8% โดยที่ประเทศสิงคโปร์ที่มี 8% และออสเตรเลีย 13% เทรนด์พฤติกรรมของคนไทยได้หันมาดูแลสุขภาพร่างกาย และรูปร่างของตนเองมากยิ่งขึ้น ส่งให้ธุรกิจฟิตเนสในประเทศไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตได้อีกมาก

เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เปิดแนวรบใหม่

ล่าสุด แบรนด์ “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” ได้เข้าท้าชนเจ้าตลาดอย่างฟิตเนสเฟิรส์ท รวมถึงแบรนด์โลคอลแบรนด์ใหม่อย่าง “เอ็มฟิตเนส” ที่ลุกขึ้นมาปั้นแบรนด์อย่างจริงจัง พร้อมขยายสาขา หรือธุรกิจการออกกำลังกายแนวใหม่อย่างแทรมโพลีนของแบรนด์ “บ๊าวซ์” ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปีที่แล้ว ก็เตรียมบุกตลาดมากขึ้น

1_vergin

ในส่วน “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ใหญ่ที่เป็นเชนจากต่างประเทศ มีอายุกว่า 20 ปี มีสาขา 10 ประเทศ และได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ ตึกเอ็มไพร์, เอ็มควอเทียร์, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต และล่าสุดที่สยามดิสคัฟเวอรี่

เมื่อเทียบระหว่างไทยและต่างประเทศ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ พบว่า สมาชิกแอ็กทีฟรายสัปดาห์ของไทยจะใช้บริการเฉลี่ย 4 ครั้ง/คน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ จะเข้าคลับเฉลี่ย 2 ครั้ง/คน นอกจากนี้พฤติกรรมคนไทยชอบเล่นฟิตเนสกับกลุ่มเพื่อน และมีการเข้าคลาสราว 70% ต่างจากประเทศอื่นที่มีพฤติกรรมต่างคนต่างเล่น จึงมีการแอ็กทีฟน้อยกว่า

เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ มองว่าโอกาสในการขยายธุรกิจยังมีอยู่มาก เพราะคนไทยยังเป็นสมาชิกฟิตเนสน้อย จึงตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มให้ครบ 20 สาขาภายใน 6 ปี เน้นทำเลศูนย์การค้า อาคารสำนักงานเป็นหลัก ด้วยงบลงทุนรวม 5,200 ล้านบาท เฉลี่ยลงทุนสาขาละ 300 ล้านบาท ซึ่งสาขาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น

เนื่องจากโจทย์ใหญ่ของเวอร์จิ้น แอ็คทีฟไม่ต้องการจำกัดของการเป็นแค่ “ฟิตเนส” อย่างเดียว แต่ต้องเป็น “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” ด้านอื่นๆ ทั้งการออกกำลังกาย ทำงาน พักผ่อน ด้วยการวางโพสิชันในแบบพรีเมียมเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยออกแบบคลับ และเสริมบริการต่างๆ มีสระว่ายน้ำ หน้าผาจำลอง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นเสื้อผ้า ผ้าขนหนู เพื่อต้องการสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ

2_vergin

ด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ปัญญ์ปุริ ผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย และบำรุงผิวสำหรับใช้ในห้องน้ำ และแบรนด์กีฬา Under Armour ในการเป็นโคแบรนด์ทำเสื้อผ้าใส่ในคลับ และมีชอปภายในคลับ

แมทธิว บัคนาลล์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ก่อตั้งเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ บอกว่า “เราถือว่าเป็นน้องใหม่ในตลาดฟิตเนสในประเทศไทย  เพราะได้ทำตลาดมา 2 ปี โดยหลังจากทำวิจัยแล้วพบว่า คนไทยสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่เป็นสมาชิกฟิตเนสน้อย ทำให้ยังมีโอกาสอีกเยอะ ยิ่งเห็นตัวเลขการเข้าคลับของคนไทยที่มีความถี่มากกว่าประเทศอื่น ทำให้ยิ่งมีการเติบโตสูง

ใน 3 สาขาที่เปิดบริการไปแล้วนั้น มีสมาชิกรวมกว่า 11,400 คน แบ่งเป็นที่ตึกเอ็มไพร์ 4,700 คน เอ็มควอเทียร์ 4,000 คน และเซ็นทรัล เวสต์เกต 2,700 คน ในสาขาใหม่ๆ ที่จะเปิดได้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 3,000 คน

3_vergin

“เอ็ม ฟิตเนส” ฟิตเนสแบรนด์โลคอล เจาะกลุ่มชุมชน

สำหรับเอ็ม ฟิตเนส แบรนด์ฟิตเนสของคนไทย วางแผนลงทุนเปิด 10 สาขา ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่เปิดมาแล้ว 2 ปี มี 3 สาขา ได้แก่ มหาชัย, พระราม 2 และตากสิน แต่ละสาขาค่อนข้างอยู่นอกตัวเมือง เพราะเป็นกลยุทธ์หลักของแบรนด์ ด้วยความที่เป็นแบรนด์เล็ก จึงนำแบรนด์เข้าไปหาผู้บริโภคตามชุมชนต่างๆ รูปแบบฟิตเนสจึงเป็นแบบสแตนอโลนติดริมถนน และเลือกโลเคชันที่มีชุมชน โดยที่จะมีการดีไซน์ให้เข้าแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป แต่ละยิมจะมีพื้นที่เฉลี่ย 400-1,200 ตารางเมตร

4_M

วิสุทธิ์ สุระเฉลิมกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม ฟิตเนส จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์หลักคือเลือกเอายิมเข้าไปใกล้กับกลุ่มคน ใกล้ที่พักอาศัย และที่ทำงาน มีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำ ทำให้โลเคชันเป็นการตลาดไปในตัว เลือกติดริมถนนใหญ่ ลูกค้าสามารถนั่งรถผ่านแล้วเห็นได้ง่าย ทำให้คนได้เห็น มีป้ายเด่นชัด ให้เห็นบรรยากาศ และให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ต้องเดินทางไกลต่างจากแบรนด์อื่นที่ต้องเข้าไปอยู่ในชอปปิ้งมอลล์ และในปัจจุบันกระแสรักสุขภาพ หรือข่าวดาราก็มีส่วนช่วยทำพีอาร์ให้ ทำให้ฟิตเนสเป็นที่สนใจของผู้คน คนรุ่นใหม่เข้าใจฟิตเนสแล้ว เป็นโอกาสและจุดแข็งทำให้ตลาดเติบโต

โดยที่ 3 สาขาของเอ็มฟิตเนสมีหลักการเลือกสถานที่แตกต่างกัน สาขามหาชัย ริมถนนเอกชัย-บางบอน วิสุทธิ์บอกว่าตอนนั้นยังไม่มีฟิตเนสละแวกนั้น คนจะเล่นฟิตเนสต้องขับรถออกไป เลยยกฟิตเนสเข้าไปใกล้เขา สาขาถนนพระราม 2 ตอนนั้นก็ยังไม่มีฟิตเนสที่เห็นเด่นชัด เลยทำเป็นรายแรกที่ติดถนนใหญ่ และสาขาตากสิน แยกมไหสวรรค์ เลือกที่ตั้งให้อยู่ตรงข้ามกับชุมชน

ภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้ามีรายได้รวม 20 ล้านบาท และไปถึง 100 ล้านบาท ให้ได้ภายในในปี 2018 มีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 10 สาขา ภายใน 5 ปี ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบการลงทุนเองทั้งหมด และการร่วมลงทุนกับนักลงทุนที่สนใจ โดยการลงทุนแต่ละสาขาใช้เงินลงทุนประมาณ 9 -25 ล้านบาท และตั้งเป้ามีฐานสมาชิกได้กว่า 5,000 ราย

6_M 5_M

“บ๊าวซ์” ปลุกกระแสแทรมโพลีนในไทย

แม้จะไม่ใช่ตลาดฟิตเนสโดยตรง แต่บ๊าวซ์ก็ได้รับอานิสงส์จากกระแสการออกกำลังกายในประเทศไทยเช่นกัน หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำว่าแทรมโพลีน เพราะค่อนข้างใหม่สำหรับในประเทศไทย เป็นการออกกำลังกายแนวใหม่ แต่หลังจากที่ “บ๊าวซ์” ได้ทำตลาดมาแล้วเกือบ 1 ปีเต็ม การบุกตลาดอย่างต่อเนื่องคงเป็นคำตอบอย่างดีสำหรับผลตอบรับในประเทศไทย

9_bonce

“บ๊าวซ์ ประเทศไทย” เริ่มเปิดสาขาแรกเมื่อปลายปี 2558 ที่ห้างเดอะสตรีท รัชดาฯ ด้วยพื้นที่ 5,600 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนพร้อมค่าไลเซนส์รวม 300 ล้านบาท วางจุดยืนเป็นแทรมโพลีนพาร์คระดับพรีเมียม ซึ่งจัดอยู่ในธุรกิจสปอร์ตเทนเมนต์ เป็นการออกกำลังกายเพื่อความสนุกสนาน ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ในประเทศไทย ยังไม่มีมูลค่าตลาดที่ชัดเจน ตลาดนี้ไม่ได้เป็นคู่แข่งของฟิตเนสโดยตรง เพราะจุดประสงค์ในการเล่นแตกต่างกัน แต่จะเป็นการเสริมตลาดซึ่งกันและกันจากการออกกำลังกาย

เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ การเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยจึงเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงเรียนนานาชาติ เพราะจะมีความคุ้นเคยและรู้จักกับแทรมโพลีนอยู่แล้ว ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักของบ๊าวซ์เป็นกลุ่มเด็กราว 80%

จากนั้นจึง “สร้างกระแส” โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดีย และเซเลบริตี้ เพื่อให้คนที่ไม่เคยรู้จัก ได้รู้จักบ๊าวซ์ และแทรมโพลีนมากขึ้น ประกอบกับการเลือกโลเคชันที่อยู่ในศูนย์การค้า เพราะพฤติกรรมคนไทยมักใช้เวลาว่างในการเดินศูนย์การค้า และเดินทางสะดวกด้วย

7_bonce

“มาร์ค จอบบลิงค์” ประธานบริษัท เบ๊าซ์อิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่า การที่ บ๊าวซ์ ได้รับความนิยมขึ้นมาก็เป็นเพราะคนไทยสนใจสุขภาพมากขึ้น และหันมาเล่นกีฬาแบบเอ็กซ์ตรีมมากขึ้น รวมถึงในยุคดิจิทัลที่เด็กๆ อาจจะติดเกมหรือเชียลมีเดีย ทำให้พ่อแม่ต้องหากิจกรรมอื่นๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ

จากสาขาแรกที่เดอะสตรีทสามารถทำรายได้ 13-15 ล้านบาทต่อเดือน ในไตรมาสแรกของปี 2559 มีรายได้แล้ว 40 ล้านบาท ทำให้บ๊าวซ์ต้องรีบรุกตลาดมากขึ้นในขณะที่เหล็กยังร้อน เล็งที่จะเปิดอีก 2 สาขาในปีนี้ที่ ดิ เอ็มควอเทียร์ในเดือนกันยายน และเซ็นทรัลบางนาในเดือนธันวาคม พร้อมโซนกิจกรรมใหม่ด้วยงบลงทุนรวม 250 ล้านบาท

สาขาดิเอ็มควอเทียร์มีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 80 ล้านบาท และที่เซ็นทรัลบางนาพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 150 ล้านบาท และเปิดโซนกิจกรรมสนาม “เอ็กซ์พาร์ค” ที่สาขาเดอะสตรีทเพิ่มเติม เพื่อเป็นโซนสำหรับดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ คือกลุ่มวัยรุ่น และเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้เวลาอยู่ในบ๊าวซ์นานขึ้น ใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท

8_bonce

จากนั้นในปี 2560 หรือปีหน้าค่อยขยายไปยังต่างจังหวัด สาขาแรกที่ได้เห็นจะเป็นที่เซ็นทรัลโคราช พื้นที่ 2,000 ตารางมเตร เปิดในช่วงเดือนกันยายน และมองทำเลต่อไปก็คือราชพฤกษ์ เจริญนคร และขอนแก่น กำลังอยู่ในช่วงกำลังพูดคุยกันอยู่

บ๊าวซ์ตั้งเป้ารายได้รวมในปีหน้า 400 ล้านบาท แบ่งเป็นสาขาเดอะสตรีท 200 ล้านบาท เอ็มควอเทียร์ 100 ล้านบาท และเซ็นทรัลบางนา 100 ล้านบาท และต้องมีการเติบโตเฉลี่ย 20% ในทุกปี

10_bonce

info_fitness

]]>
1101261
มวยไทยเข้าฟิตเนส https://positioningmag.com/14758 Thu, 07 Jun 2012 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=14758

ใครว่า? มวยไทยเป็นกีฬาคนจนอาจต้องคิดใหม่ กระแสนิยมของมวยไทยทำให้ฟิตเนสไฮโซอย่าง “ทรูฟิตเนส” ยังต้องเปิดเวทีมวยกลางเมือง บรรจุมวยไทยใว้ในคอร์สออกกำลังกาย ที่กำลังได้รับความนิยมจากสาวๆ คนทำงาน นักธุรกิจ ชนิดที่ฟิตเนสไหนไม่มี อาจเชยได้ เพราะเวลานี้ป็อปปูลาร์ไม่แพ้แอโรบิกหรือโยคะไปแล้ว    

เวทีมวยขนาดย่อม เพียงแค่ 2.5 คูณ 2.5 เมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางอุปกรณ์ออกกำลังกายชั้นดี ลู่วิ่งที่เพาะกล้ามเนื้อ ยกน้ำหนัก ที่เรียงรายอยู่จำนวนมาก ข้างๆ เวทีมีหญิงสาวกำลังออกหมัด ศอก เตะ อยู่กับเทรนเนอร์อย่างเอาจริงเอาจัง เป็นภาพที่เห็นได้ชินตาของผู้ที่มาออกกำลังกายใน “ทรูฟิตเนส” ขณะนี้ 

ด้วยกระแสความนิยมของมวยไทย ทำให้ “ทรูฟิตเนส” ฟิตเนสข้ามชาติจากสิงคโปร์ ต้องบรรจุมวยไทยไว้ในคอร์สออกกำลังกาย เพื่อให้ “อินเทรนด์” ทันกับกระแสความต้องการของเหล่าสมาชิกและคนทั่วไป ที่สำคัญไม่ใช่แค่หนุ่มๆ เท่านั้น เวลานี้สาวๆ ก็เลือกฟิตหุ่นให้ “ฟิตแอนด์เฟิร์ม” ด้วยการมวยไทยไปแล้ว 

“มวยไทยเป็นหนึ่งในกีฬาป็อปปูลาร์ที่สุดเวลานี้ ขายดีมาก ทางทรูฟิตเนสไม่เคยทำตลาดหรือโปรโมตอะไรเลย ยกเว้นโปสเตอร์แผ่นเดียวภายในฟิตเนส เวลานี้มีผู้ชายแค่ 10% ที่เหลือเป็นผู้หญิงลงเรียน 90% มีทั้งต่างชาติและคนไทย ทั้งคนทำงานและวัยรุ่น“ บุญสืบ วงษ์วาร หรือครูสืบ เทรนเนอร์สอนมวยไทย วัย 38 ปี ประจำทรูฟิตเนส และเคยยึดอาชีพชกมวยไทยมาตั้งแต่เด็ก บอกกับ “POSITIONING” 

เขามองว่า ความนิยมออกกำลังด้วยมวยไทย มาจากประโยชน์ที่ผู้เล่นได้รับหลายอย่าง ตั้งแต่การเผาผลาญไขมันได้ดีกว่ากีฬาชนิดอื่น ได้กล้ามเนื้อได้ทุกส่วนของร่ายกาย รวมถึงความแข็งแรงของหัวใจ เพราะเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ได้เรื่องความทรงตัว ได้ทั้งความสนุกและคลายเครียด ทำให้ช่วงหลังๆ หญิงสาวหันมาเรียนมวยไทยกันมากขึ้น 

ณัฐพิมน ฐิติธรรมโชติ สาวเจ้าของธุรกิจวัย 47 ปี หนึ่งสมาชิกของทรูฟิตเนสที่หันมาเลือกออกกำลังกายด้วย “มวยไทย” เป็นประจำ หลังจากทดลองแล้วพบว่า มวยไทยไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับได้ทั้งเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกส่วน และสนุกกว่าการใช้เครื่องออกกำลังกาย ได้เรื่องของสมาธิและความคล่องตัวมาใช้ในชีวิตประจำวัน 

“เมื่อก่อนตัวจะผอมมาก เดินทางไปต่างประเทศที ยกกระเป๋าไม่ไหว เวลานี้สบายเลย น้ำหนักขึ้น 5 กิโลกรัม แต่รูปร่างดูดีขึ้น เฟิร์มขึ้น ไม่ได้อ้วน แต่ได้กล้ามเนื้อ ได้สมาธิ สายตาก็ไวขึ้น เดี๋ยวนี้เวลาขับรถ เราจะไวขึ้น มอเตอร์ไซค์วิ่งสวนมา เราจะเห็นทันที” 

เธอเชื่อว่า เวลานี้ถ้าฟิตเนสไหนก็ตาม หากไม่มีคอร์สมวยไทยให้เรียนก็จะไม่ได้รับความสนใจจากลูกค้า เพราะดูจากทุกวันนี้ คอร์สมวยไทยที่เรียนจะมีผู้หญิงเยอะมาก คนสูงอายุก็มี รวมถึงร้านขายอุปกรณ์มวยไทยเปิดขายก็ยังต้องมีอุปกรณ์ที่เน้นสีสันสดใสไว้ให้ลูกค้าผุ้หญิงโดยเฉพาะ

คอร์สมวยไทยของทรูฟิตเนส เริ่มมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว บรรจุอยู่ในคอร์สทางเลือกของการออกกำลังกายได้กระแสตอบรับที่ดี ทรูฟิตเนสจึงได้ให้สมาคมมวยแห่งประเทศไทยมาฝึกสอนให้กับเทรนเนอร์ทั้งหมด เพื่อให้เป็นครูสอนมวยไทย โดยสอนตั้งแต่การชกมวยไทยพื้นฐานไปจนถึงการฝึกทักษะต่างๆ ท่วงท่าการออกหมัด ศอก ตีเข่า เตะ 

หลังจากได้ใบประกาศนียบัตรรับรองการเป็น “ครูสอนมวยไทย” จากสมาคมมวยแห่งประเทศไทย ทรูฟิตเนสก็เริ่มรับเทรนเนอร์ที่เคยเป็นนักมวยไทยอาชีพ หรือบางคนจบทางด้านพละศึกษามาร่วมงาน  จากนั้นก็ปรับปรุงมาเป็นคอร์สมวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย โดยเน้นความแข็งแรงของร่างกายและหัวใจ ในลักษณะของ “คอมเพาวเอ็กเซอร์ไซค์” คือ การเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนและต่อเนื่อง เพื่อดึงพลังงานมาใช้ให้มากที่สุด คล้ายกับการออกกำลังกายด้วยแอโรบิก

การสอนมวยไทยของทรูฟิตเนสจะเริ่มตั้งแต่พื้นฐานการออกท่วงท่า การตั้งหมัด การเดิน เน้นความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและสมอง เมื่อผ่านขั้นพื้นฐานแล้ว ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 2-3 เดือน จากนั้นจะเพิ่มท่ายากไปเรื่อยๆ โดยจะเน้นการออกกำลังเป็น “ชุด” เช่น ชุดการออกหมัด  ชุดเตะ แต่ละครั้งจะใช้เวลาเรียน 1 ชั่วโมง โดยเน้นการสอนแบบตัวต่อตัวจากเพอร์ซันนัล เทรนเนอร์ 

“คนทุกวัยเรียนมวยไทยได้ โดยปรับให้เหมาะกับสุขภาพของแต่ละคน เพราะต้องตรวจสุขภาพก่อน ถ้าใครเป็นโรคหัวใจก็ต้องปรับให้เบาลง หรือถ้าตัวอ้วนมากจะให้เรียนมวยสากลแทน”

เจ้าหน้าที่เล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้ข้อมูลมวยไทยมาบ้างจากสื่อต่างๆ และมีไม่น้อยที่มาทดลองเรียนแล้วก็ชอบ ทำให้มวยไทยได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผู้หญิง ส่วนหนึ่งรับรู้กันแล้วว่าไม่ได้เป็นกีฬาของผู้ชาย ผู้หญิงเรียนได้ เรียนแล้วไม่ได้เจ็บตัว เพราะได้ทั้งออกกำลังกายและป้องกันตัว ไม่น่าเบื่อ สนุกกว่าออกกำลังกายกับเครื่อง แถมยังได้ปลดปล่อย คลายเครียดด้วย ผู้หญิงก็เลยชอบ เรียกว่าป็อปปูลาร์ไม่แพ้โยคะ พิลาทิส บอดี้คอมแบท 

สาขาของทรูฟิตเนสทุกแห่งเวลานี้จึงมีคอร์สมวยไทยและมวยสากล รวมถึงเวทีมวยขนาดย่อม อาคารเอ็กซ์เชนจ์ทาวเวอร์ หัวมุมถนนอโศก ห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด และห้างสรรพสินค้าเซน 

ค่าใช้จ่ายในการเรียนมวยไทยของที่นี่ จะเสียสมัครสมาชิกรายปี (เฉลี่ยปีละหมื่นบาท) และซื้อชั่วโมงเพอร์ซัลนัลเทรนเนอร์เพิ่มเติม ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงที่ซื้อ ซึ่งถ้าเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 พันบาทต่อครั้ง

ไม่ใช่เฉพาะทรูฟิตเนสเท่านั้น แต่ฟิตเนสรายอื่นๆ อย่างฟิตเนสเฟิร์ส แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ก็ต้องมีมวยไทยให้บริการสมาชิก เพราะมวยไทยเวลานี้ได้กลายเป็นจุดขายระดับ “แม่เหล็ก” จะขาดไม่ได้ นี่คือหนึ่งในบทพิสูจน์ของ “มวยไทย” บ้านๆ ยกระดับกลายเป็นกีฬาระดับไฮโซไปแล้ว 

 

]]>
14758
ทรู ฟิตเนส คลับเพื่อสุขภาพครบวงจรใจกลางเมือง ทุ่มงบ 200 ล้าน https://positioningmag.com/37230 Tue, 09 Oct 2007 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=37230

ทรู ฟิตเนส (True Fitness) คลับเพื่อสุขภาพครบวงจร ระดับพรีเมี่ยม ภายใต้การดำเนินงานของ “ทรู กรุ๊ป” ด้วยบริการฟิตเนส โยคะ สปา และคลินิกเวชกรรม เพื่อความงามที่สมบูรณ์แบบที่สุด ภายใต้แนวคิดที่เป็นหลักปรัชญาของ “ทรู” ทุ่มงบ 200 ล้านบาท เนรมิตชั้น 9-11 ของห้างสรรพสินค้าเซน เป็นศูนย์กลางฟิตเนสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียด้วยพื้นที่ 9000 ตร.ม. ที่รวมกิจกรรมสำหรับคนรักสุขภาพเข้าไว้ดวยกันในสถานที่เดีย ให้แก่พลพรรครักสุขภาพใจกลางกรุงมีสุขภาพดีที่ ทรู ฟิตเนส สาขาล่าสุด ที่ห้างสรรพสินค้าเซน ตุลาคมนี้

]]>
37230
ทำเลร้อน…ฟิตเนส https://positioningmag.com/9034 Tue, 05 Sep 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=9034

เมื่อธุรกิจฟิตเนสไม่ได้ผู้เล่นรายใหญ่ที่ Aggressive เพียง 2 ราย การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ “ทรู ฟิตเนส” ฟิตเนสสัญชาติสิงคโปร์ ที่ระดมหาสมาชิกกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พร้อมปักธงสาขาแรกที่เอกซ์เชนจ์ทาวเวอร์ แยกอโศก เปิดศึกปะทะกันอย่างจังกับเจ้าถิ่นเดิม “แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส” ที่ตั้งอยู่จัสมิน ทาวเวอร์ฟากตรงข้าม พร้อมขึ้นป้ายโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าแข่งกันชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร

ถือเป็นโปรดักส์ที่เกิดจากการแยกตัวออกมาจากอดีตผู้ร่วมทุนแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส (CAWOW) ของ แพททริค วี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของทรู ฟิตเนส เลือกเบิกฤกษ์ในไทยด้วย Prime Location แยกอโศก นับเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ทรู ฟิตเนสแจ้งเกิดได้ไม่ยาก แต่การเตรียมเปิดตัวครั้งใหญ่ของ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว วีเมน” คลับเฉพาะผู้หญิง ที่สุขุมวิท 31 จะทำให้ทรู ฟิตเนสถูกประกบจาก CAWOW ถึง 2 แห่งเลยทีเดียว

โดย CAWOW เป็นตัวเอกในเรื่องของ “Pricing” ชูจุดขายเรื่องราคาเป็นหลัก ขณะที่ทรู ฟิตเนส วาง Positioning เป็น Lifestyle Center ที่ไม่ใชแค่ศูนย์ฟิตเนส สุขภาพ และความงามครบวงจร โดยมีบริการทั้งทรู ฟิตเนส ทรูสปา และทรูเอสเตติค บริการเทคโนโลยีเสริมความงาม โดย 2 บริการหลังเป็นจุดต่างที่คู่แข่งยังไม่มี เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย

ด้านฟิตเนส เฟิร์ส จะโดดเด่นในแง่ของการวาง Positioning เป็นเรียล ฟิตเนส เซ็นเตอร์ และบรรยากาศของคลับที่ดูไม่พลุกพล่านเท่ารายอื่น

กระนั้นปัญหาที่แทบทุกฟิตเนสก่อให้กับผู้บริโภค คือ พนักงานขายส่วนหนึ่งไร้จรรยาบรรณ และสร้างความรำคาญให้กับสมาชิก มีวิธีการเข้าถึงที่ไม่เหมาะสม เป็นสิ่งที่เราได้รับรู้กันทั้งแบบปากต่อปากและสัมผัสประสบการณ์ตรง แต่หากนี่คือกลยุทธ์หลักในการทำธุรกิจเพื่อผลักดันเพียงยอดขายประการเดียว เมื่อถึงเวลาที่แบรนด์ล้ม…อย่าได้โทษใคร

อโศก…ย่านนี้เนื้อหอม
อโศกยังคงเป็น Prime Location ที่หลายธุรกิจต้องการปักหลัก แต่ที่เห็นเด่นชัดที่สุดนอกเหนือจากศูนย์การค้าที่กระจายตัวอยู่เป็นหย่อมๆ แล้ว ธุรกิจฟิตเนสเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่โดดเด่นในย่านนี้ จุดสำคัญนอกจากเป็น 1 ในศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีความสะดวกในการเดินทางทั้งระบบขนส่งมวลชนที่พรั่งพร้อมทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง โดยฟิตเนสในรูปแบบเชนที่กระจุกตัวอยู่ในย่านนี้ ได้แก่
– ฟิตเนส เฟิร์ส (โรงแรมแลนด์มาร์ค นานา)
– แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส (สุขุมวิท 21 จัสมิน ทาวเวอร์)
– แคลิฟอร์เนีย ว้าว วีเมน (สุขุมวิท 31 ฟีนิกซ์ ทาวเวอร์)
– ทรู ฟิตเนส (เอกช์เชนจ์ ทาวเวอร์)

ทั้งนี้จุดขายของแต่ละฟิตเนสที่มีเครือข่ายเช่นนี้ โดยรวมแล้วจะเน้นที่พื้นที่การให้บริการที่มีขนาดใหญ่ ความทันสมัยของเครื่องออกกำลังกาย และคลาสออกกำลังกายที่หลากหลาย ทั้งนี้จะเน้น Direct Sale ผ่านพนักงานขายเช่นเดียวกัน

ขณะที่ฟิตเนสตามโรงแรมที่บอกรับสมาชิกภายนอกแต่ไม่ได้เป็นเชนนั้นจะเน้นความเป็นส่วนตัว มากกว่า แตกต่างจากฟิตเนสแบบเชนที่บางครั้งอาจให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยในย่านอโศก นานา เพลินจิต จะมีฟิตเนสของโรงแรมหลายแห่ง อาทิ เวสทิน สุขุมวิท เจดับบลิว แมริออท เป็นต้น

]]>
9034
ศึกฟิตเนส…เหงื่อแตกซิก https://positioningmag.com/8759 Mon, 05 Jun 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=8759

การออกกำลังกายตามฟิสเนสเซ็นเตอร์ ดูจะเป็นเทรนด์นิยมที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในห้วงเวลานี้ โดยมีผู้ประกอบการฟิตเนสเซ็นเตอร์ยักษ์ใหญ่จากต่างแดน 2 ราย คือ California WOW Xperience กับ Fitness First เป็นผู้เร่งเร้ากระแสนี้สู่กลุ่มคนเมือง

ลักษณะการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทคล้ายและต่างในบางแง่มุม อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหมือนกันก็คือ ต่างมีส่วนร่วมในการทำให้ 1% ของประชากรไทยมาออกกำลังกายและใช้บริการฟิตเนสเซ็นเตอร์ แม้จะเป็นสัดส่วนที่ยังน้อยแต่โอกาสยังมีอีกมาก เพราะเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

CAWOW วาง Positioning เป็น Exertainment ที่มี Facilities หลากหลาย ในการสื่อสารการตลาดใช้ Celebrity เป็นพรีเซ็นเตอร์โปรโมต ด้วยช่องทางทั้งเว็บไซต์ โปสเตอร์ รวมถึงการให้พนักงานขายไปประจำตามจุดที่คาดว่าจะมีกลุ่มเป้าหมาย และในพื้นที่ใกล้เคียงกับคลับ เพื่อแจกใบปลิวเชิญชวน

ฟิตเนสเซ็นเตอร์ค่ายนี้ เรียนรู้การเรียน “สื่อ” มาเป็นอาวุธเสริม โดยร่วมมือกับมีเดีย ทรานเอเชีย (Seventeen, OK!) ลงทุน 6 ล้านบาท จัดทำนิตยสาร “WOW Fitness” เพื่อแจกจ่ายให้กับสมาชิกและวางจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไป เพื่อให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจ และเป็นเครื่องมือในการจูงใจให้เกิดการสมัครเป็นสมาชิก CAWOW อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับแฟมิลี่ โน-ฮาว จำกัด จัดทำซีรี่ส์โยคะ จาก Planet Yoga ออกอากาศทางยูบีซี Money Channel เพื่อขยายฐานไปสู่นักธุรกิจ และมีแผนที่จะจัดทำดีวีดีเพื่อจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งตลอดปี 2549 นี้ใช้งบการโฆษณาและการตลาดทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปีที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 73 ล้านบาท ด้วยยอดรายรับกว่า 796 ล้านบาท

ด้าน FF วาง Positioning เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้าใจในเรื่องการออกกำลังกาย ใช้กลยุทธ์การตลาดตรงกันข้ามกับคู่แข่ง โดยปฏิเสธที่จะใช้ดาราดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ โดยใช้พนักงานที่เรียกว่า FF Superstar ซึ่งใกล้ชิดกับสมาชิกเป็นพรีเซ็นเตอร์ร่วมกันแทน

สื่อที่เลือกใช้ไม่ได้เน้นความหวือหวาเช่นเดียวกับคู่แข่ง อาศัยสื่อวิทยุคลื่นเพลงสากล สื่อสารเมสเสจ “No.1 in the world” ไปยัง Core Target อายุ 30-34 ปี และเน้นการทำตลาดในสาขา ด้วย Below the Line

ไซมอน ฟลินท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ไม่อยากให้ฟิตเนสเป็นไลฟ์สไตล์ที่ฉาบฉวย เพราะธุรกิจจะยั่งยืนหากฟิตเนสกลายเป็นนิสัยที่คนปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

นโยบายขยายสาขาจะเน้นเปิดในเขตเมือง โดย CAWOW และ FF มีพื้นที่ในเมืองใกล้เคียงกัน แต่ FF ก้าวไปไกลกว่าด้วยการยึดหัวหาด 4 มุมเมืองได้เป็นผลสำเร็จด้วยการเช่าพื้นที่ของเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ ขณะที่ CAWOW เน้นเปิดกับเมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์และ Siam Future เป็นหลัก

นอกจากนี้ยังเดินหน้าปักธงในต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน CAWOW เน้นแหล่งท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ประเดิมสาขาแรกที่โครงการดิ อเวนิว ของ Siam Future ที่พัทยาสาย 2 ขณะที่ FF กำลังอยู่ในระหว่างศึกษาอาจเป็นไปได้ทั้งที่เชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น หรือนครราชสีมา

สิ่งที่คล้ายคลึงกันของกลยุทธ์การเปิดสาขาใหม่ของทั้ง 2 ค่าย คือ ต่างให้ความสำคัญกับการขยายสาขาที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยการเปิดสาขาแบบ Segmentation นี้ของ CAWOW เกิดขึ้นที่สยามพารากอน ที่เป็นคลับ 6 ดาว และสาขาสุขุมวิท 31 ที่เป็นสาขาบริการเฉพาะผู้หญิง

แอริก มาร์ค เลอวีน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ผู้หญิงบางคนต้องการความเป็นส่วนตัวและสบายใจที่จะใช้บริการในคลับที่มีบริการที่หลากหลายทั้งฟิตเนส โยคะ เมดิคัลสปา และบิวตี้ ซาลอน โดยปัจจุบัน CAWOW มีสมาชิกเป็นผู้หญิงกว่า 70% ด้าน FF มีแบรนด์ที่หรูอีกขั้น คือ FF Plus ด้วยดีไซน์ที่หรูและมีสระว่ายน้ำ รวมถึงโปรแกรมใหม่ๆ ขณะนี้ให้บริการที่ไบโอเฮ้าส์ สุขุมวิท 39 และกำลังจะเปิดที่คิวเฮ้าส์ ลุมพินี

สำหรับสาขาที่มีโลเกชั่นใกล้เคียงกันการแข่งขันจะดุเดือดและดูเหมือนว่า FF จะต้องเป็นฝ่ายปรับเกมจากผู้รับเป็นผู้รุก เช่น CAWOW เมเจอร์ฯ ปิ่นเกล้า กับ FF เซ็นทรัลฯ ปิ่นเกล้า และ CAWOW สุขุมวิท 23 และ FF แลนด์มาร์ค อรวรรณ เกลียวปฏินนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด FF บอกว่า ต้องเน้นการปรับปรุงสาขาให้มีความทันสมัยน่าดึงดูดมากขึ้น เพราะ FF ทั้ง 2 สาขา เปิดมานานกว่าคู่แข่งหลายปี

อีกไม่นานทุนจากสิงคโปร์ True Fitness จะมาร่วมสมรภูมินี้ในเดือนมิถุนายน 2549 โปรดติดตาม ดีกรีความร้อนแรง

California WOW Xperience

Concept : Exertainment

Location : ปัจจุบันมี 5 สาขา กำลังจะเปิดอีกอย่างน้อย 7 สาขา ด้วยงบลงทุนเฉลี่ย 120-200 ล้านบาท/สาขา
1. อาคารลิเบอร์ตี้ สีลม
2. สุขุมวิท 23
3. เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า
4. เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ รัชโยธิน
5. สยามพารากอน (คลับ 6 ดาว)

สาขาที่กำลังจะเปิด

6. สุขุมวิท 31 อโศก (เปิดภายใต้ชื่อ California WOW Women Fitness & Yoga)
7. เมเจอร์เอกมัย (เปิด Q 2 ปี 2550)
8. ดิ อเวนิว แจ้งวัฒนะ (เปิด Q 2 ปี 2549)
9. Esplanade รัชดาภิเษก (เปิด Q 2 ปี 2550)
10. ดิ อเวนิว พัทยา (เปิด Q 3 ปี 2550)
11. เชียงใหม่
12. ภูเก็ต

การดีไซน์สาขาเน้น Visibility มองเห็นได้เด่นชัด

Facilities & Program :
– Personal Training, บิแครม โยคะ แพลเน็ต โยคะ คลาสแอโรบิค พิลาเทส์ (ผสมผสานรูปแบบการยืดกล้ามเนื้อ การหายใจ การกำหนดท่าและการควบคุมการเคลื่อนไหว) ฯลฯ
– WOW Energy Cafe (ร่วมทุนกับ ยูกิ ศรีกาญจนา) เฉพาะสาขาสยามพารากอน
– สระว่ายน้ำ เฉพาะสาขาแจ้งวัฒนะ

No.of Member :52,000 คน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 55,000 คน ใช้นโยบายค่าสมาชิกหลายอัตราแล้วแต่คลับ และช่วงเวลาสมัคร มีความยืดหยุ่นและรายละเอียดการใช้บริการที่แตกต่างกัน

Advantage point : มีพันธมิตรที่เป็นผู้ร่วมทุนรายใหญ่ ที่มีศักยภาพทางด้านธุรกิจบันเทิงและค้าปลีก คือ เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ และ SF “การเลือกทำเลที่ถูกต้องจะทำให้ฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี”

website : www.californiawowx.com

Fitness First:

Concept: Real Fitness

Location: ปัจจุบันมี 10 สาขา กำลังจะเปิด 3 สาขา
ใน 2549 และ 3-5 สาขาในปี 2550 ด้วยงบลงทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาท/สาขา
1. โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท
2. เซ็นทรัล ซิตี้ บางนา
3. เซ็นทรัล พลาซ่า รัชดา-พระราม 3
4. เซ็นทรัล พลาซ่า ปิ่นเกล้า
5. เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน
6. เดอะมอลล์ บางแค
7. เดอะมอลล์ บางกะปิ
8. ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต
9. แฟชั่น ไอส์แลนด์ รามอินทรา
10. ไบโอเฮ้าส์ สุขุมวิท 39 (FF Plus)
สาขาที่กำลังจะเปิดในปี 2549
11. คิวเฮ้าส์ ลุมพินี FF Plus เปิด พ.ค.
12. ซีคอน สแควร์ เปิด มิ.ย.

สาขาส่วนใหญ่จะอยู่ในภายในตึกไม่สามารถมองเห็นโดยการสัญจรผ่านไปมาได้

Facilities & Program:
-Personal Training, กรุ๊ปเอ็กเซอร์ไซส์
-Member Louge บริการเครื่องดื่มและให้ยืมภาพยนตร์
-สระว่ายน้ำ เฉพาะที่ FF Plus ไบโอเฮ้าส์ คิวเฮ้าส์ ลุมพินี
-โยคะร้อน เฉพาะที่คิวเฮ้าส์ ลุมพินี

No.of Member: มากกว่า 40,000 คน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 45,000 คน ใช้นโยบาย One Pirce ไม่เล่นสงครามราคา และไม่มี Long Term Contract แต่มีราคาสูงกว่า CAWOW โดยเฉลี่ย

Advantage point: มีโนว์ฮาวจากบริษัทแม่ที่มีเครือข่ายฟิตเนสระดับโลกที่มีกว่า 445 แห่ง เน้นพัฒนาบุคลากรให้มีความซื่อสัตย์ต่อองค์กรด้วย Caree Path ที่ดี

website: www.fitnessfirst.com

]]>
8759
True Fitness https://positioningmag.com/8617 Wed, 05 Apr 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=8617

จากประสบการณ์การเป็นหุ้นส่วนร่วมกับแอริค เลอวีน ของแพทริค วี CEO&Founder แห่ง True Fitness ที่อดีตก่อนสร้างแบรนด์ของตัวเองได้เข้าซื้อกิจการแคลิฟอร์เนียน ฟิตเนส ที่ไทยและเกาหลีใต้ ในปี 2546 และร่วมกับมาสเตอร์ คามาล ก่อตั้งแพลเน็ต โยคะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ทำให้เขาคลุกคลีและสั่งสมความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจฟิตเนสมาเป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อปี 2547 Ture Yoga สาขาแรกเปิดตัวขึ้นกลางย่านธุรกิจของสิงคโปร์และเป็นศูนย์โยคะที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์

และเตรียมเปิด True Fitness ในเดือนพฤษภาคม 2549 พื้นที่บริการกว่า 8,000 ตารางเมตรที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นศูนย์ฟิตเนส โยคะ และสปาที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย สำหรับในเมืองไทย จะเป็นฟิตเนสระดับพรีเมียม ด้วยพื้นที่บริการกว่า 6,000 ตารางเมตร โดยปักธงสาขาแรกที่ อาคารเอ็กซเชนจ์ ทาวเวอร์ แยกอโศก ในเดือนมิถุนายน 2549 นี้

]]>
8617
ทรู ฟิตเนสพร้อมเปิดตัวใจกลางกรุงเทพฯ https://positioningmag.com/27298 Tue, 17 Jan 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=27298

ทรู ฟิตเนส พร้อมเปิดตัวฟิตเนสครบวงจรจากประเทศสิงคโปร์แห่งแรกใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อตอบรับกระแสผู้รักสุขภาพและการออกกำลังกายในสไตล์ ฮิป แอน คูล โดยรวมฟิตเนส โยคะ สปา ไว้ในที่เดียวกัน ใช้พื้นที่ตึก 4 ชั้น รวมกว่า 6,000 ตารางเมตร ซึ่งจะมาสร้างสีสัน และความร้อนแรงให้กับธุรกิจฟิตเนส เมืองไทย มิถุนายนนี้

]]>
27298