Flynow – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 21 Aug 2023 08:52:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ช่างชุ่ย” ยุคเจน 2 ผ่านมุมมอง “โอมา ส่งวัฒนา” ถึงเวลาเบลนด์ครีเอทีฟ ให้เข้ากับทุกไลฟ์สไตล์ https://positioningmag.com/1441602 Sun, 20 Aug 2023 13:28:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1441602 พูดคุยกับ “เลียว – โอมา ส่งวัฒนา” ผู้บริหาร “ช่างชุ่ย” เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเจน 2 มาพร้อมกับการปรับตัวครั้งใหญ่ อาร์ตอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าถึงไลฟ์สไตล์ถึงจะอยู่รอด ทุกวันนี้ต้องมีส่วนผสมลงตัวทั้งครีเอทีฟ คาเฟ่ ร้านค้า และอีเวนต์ ช่วยดึงทราฟฟิกให้คนมาใช้ชีวิต เพิ่มพื้นที่สีเขียวย่านฝั่งธน

จุดเริ่มต้นความอาร์ตตัวพ่อ

“ช่างชุ่ย” ขึ้นชื่อว่าเป็น Creative Space แห่งใหญ่ในย่านฝั่งธนฯ เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ก่อตั้งโดย “ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา” เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า FLYNOW ในช่วงเปิดตัวได้รับกระแสตอบรับอย่างดีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

จุดเริ่มต้นของช่างชุ่ยเกิดจากสมชัย เจ้าพ่อ FLYNOW มีพื้นที่เปล่าทั้งหมด 11 ไร่ ติดถนนสิรินธร ตอนแรกมีความคิดอยากเนรมิตที่นี่ให้เป็นอาคารสำนักงานที่ไม่เหมือนใคร มีสวนรายล้อม ไม่เหมือนตึกทั่วไป แต่พอคิดไปคิดมาการทำสำนักงานจะได้แค่องค์กรเดียวเท่านั้น

จึงมาลองคิดอีกทีว่า ยุคนี้เด็กรุ่นใหม่เก่งในด้านครีเอทีฟมาก สมชัยเองก็เคยเป็นบอร์ดขององค์กรด้านความคิดสร้างสรรค์อย่าง TCDC และมิวเซียมสยาม ได้เห็นวงจรของคนรุน่ใหม่ที่พอมีความคิดสร้างสรรค์แต่ก็ตายไป เพราะไม่มีพื้นที่ให้ปลดปล่อยได้เต็มที่ จึงวางจุดยืนเป็นสายครีเอทีฟไปเลย ทำเป็น Creative Park เพื่อขับเคลื่อนสังคม

สมชัยเป็นหนึ่งในนักสะสมตัวยง ชอบเก็บงานศิลปะ ของวินเทจ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์เก่า หน้าต่าง ประตูเก่าจากตึกเก่า ก็สะสมด้วยเช่นกัน เพราะสมชัยมองเทรนด์ของการ Up cycling ในช่วงแรกช่างชุ่ยจึงก่อตั้งด้วยคอนเซ็ปต์ Nothing is Useless ถูกสร้าง และตกแต่งด้วยวัสดุที่ใช้แล้ว ได้เอาของที่เก็บสะสมมาตกแต่ง รวมไปถึงแลนด์มาร์กอย่าง “เครื่องบิน” สมชัยเคยนั่งรถผ่านสนามบินดอนเมือง แล้วเห็นเครื่องบินเก่าจอดทิ้งไว้กำลังจะเข้าเตาหลอม เลยคิดว่าคงจะเจ๋งถ้ามีเครื่องบินมาตั้งที่ช่างชุ่ย

ตอนเดย์วันที่สร้างช่างชุ่ย สมชัยหมายมั่นปั้นมือให้เป็นพื้นที่อาร์ตๆ แบบสุดโต่งไปเลย มีแต่งานอาร์ต งานสำหรับคนครีเอทีฟโดยตรง แต่พอเปิดไประยะหนึ่งก็มองเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่เหมาะกับการทำกิจการใดๆ ที่ไปสุดทางใดทางหนึ่ง เพราะคนไม่ได้อินกับมันขนาดนั้น จะเป็นแค่กระแสตอนแรก มาได้แค่บางโอกาสเท่านั้น เบื่อก็จบ การทำให้สุดโต่งก็อยู่รอดยาก จึงเริ่มที่จะบาลานซ์ในการหารายได้ และทำให้ครีเอทีฟยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน ทำให้คนอยากมาทุกวันให้ได้ ซึ่งเริ่มเปลี่ยนชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี่เอง

changchui

“การที่ใครอยากทำอะไรสุดโต่งได้ถ้ามีเงินทุนมากพอ ถึงแม้จะมีเงินมากพอ แต่ฝืนธรรมชาติ ถึงจะสุดโต่งได้ แต่ก็ไม่ยั่งยืน พอลองเบลนด์ฝั่งครีเอทีฟเข้าหากันก็เวิร์กมาก”

ส่วนความหมายของคำว่า “ช่างชุ่ย” นั้น เป็นการผสมสองคำ “ช่าง” ที่หมายถึงคราฟท์แมน ผ่านงานฝีมือ “ชุ่ย” ที่หมายถึงทำส่งๆ มั่วๆ ไม่วางแผน พอสองคำมาผสมกัน จะความหมายประมาณว่า “ชุ่ยแบบตั้งใจ ชุ่ยแบบมีศิลปะ”

เข้าสู่ยุคเจน 2

จนถึงวันนี้ช่างชุ่ยก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว สมชัยได้ถอยไปเป็นที่ปรึกษา ส่งไม้ต่อให้กับหลานชาย “เลียว – โอมา ส่งวัฒนา” กรรมการผู้จัดการของช่างชุ่ย จริงๆ แล้วโอมาอยู่กับช่างชุ่ยตั้งแต่เดย์วันเช่นกัน แต่ตอนนั้นอยู่ในส่วนของฝ่ายโอเปอเรชั่น จนในช่วงปี 2562 ได้ขึ้นมาดูเป็นฝ่ายบริหาร ต้องมีการแก้เกมครั้งใหญ่ อีกทั้งยังเจอวิกฤต COVID-19 เล่นงานด้วย

โอมา MD ไฟแรงวัย 32 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล หลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานกับธุรกิจของครอบครัวก็คือเครือ FN หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารนวัตตกรรม และเทคโนโลยีที่อังกฤษ ช่วงที่จบใหม่โอมาไฟแรงอยากทำสตาร์ทอัพ แต่สมชัยได้มาคุยเรื่องช่างชุ่ย จึงมาร่วมทำด้วย

โอมา ช่างชุ่ย

“ตั้งแต่ที่เข้ามาดูเต็มตัวได้เจอบทเรียนทุกรูปแบบ ทั้งก่อนโควิด ช่วงโควิด และหลังโควิด ได้เห็นการเติบโตของมัน แต่ก็ได้บทเรียนที่ว่า ช่างชุ่ยมันยิ่งใหญ่เหมือนกัน แต่อะไรที่ไม่ได้ใหม่ที่สุดก็ต้องโรยราในที่สุด ช่วงก่อนโควิดต้องแก้เกมกันใหม่ ตอนนั้นเราเน้นอีเวนต์จัดกิจกรรมเป็นหลัก ดึงคนมาด้วยกิจกรรม คอนเสิร์ต เวิร์กช้อป สัมมนา แต่เหมือนการกระโดดเชือกเร็วๆ อยู่ตลอดเวลา ช่วงที่ไม่มีอีเวนต์ก็จะเงียบ เลยต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลับมาอย่างยั่งยืน พยายามปั้นโครงสร้างใหม่ พอมาช่วงโควิดก็รีเซ็ตทุกอย่างใหม่ ตอนนี้คุณลิ้ม สมชัยก็ยังไม่ไปไหน เป็นคนชี้วิสัยทัศน์ ส่วนเรามีหน้าที่ลงมือทำ”

หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ช่างชุ่ยสามารถกลับมาได้ด้วย “ตลาดสุขเปลี่ยนมือ” เป็นตลาดขายของมือสอง เพื่อตอบโจทย์คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทราฟฟิกก็เริ่มกลับมาดีขึ้น แล้วก็ได้นำร้าน “ย่างเนย” เข้ามาอยู่ในโครงการ ยิ่งเป็นตัวจุดกระแสให้คนเข้ามาในโครงการ เริ่มเปลี่ยนจากความอาร์ตจ๋าๆ เป็นไลฟ์สไตล์ที่ให้คนใช้ชีวิตได้ทั้งวัน มีร้านอาหาร คาเฟ่ ตลาดนัด มีบางส่วนเป็นออฟฟิศเล็กๆ ก็มี

ช่างชุ่ย

เกมเปลี่ยน เบลนด์ครีเอทีฟแบบไม่ยัดเยียด

ตอนนี้ยุคที่ 2 ของช่างชุ่ยได้กำเนิดขึ้นแล้ว มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลก ถึงแม้ว่าจะมีตลาดนัดอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แต่โอมาก็มองว่าเนื้อในมีความแตกต่างกัน ช่างชุ่ยก็ยังมีจุดแข็งของตัวเอง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง เทรนด์โลก เทคโน เรียนรู้ไปกับโลกใหม่

“ตอนนี้เริ่มบาลานซ์ได้มากขึ้น ช่างชุ่ยยังมีความครีเอทีฟ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นเหมือนเดิม แต่เปิดกว้างขึ้น เริ่มมีงานดนตรีเข้ามา ก่อนหน้านี้เรามี Pain Point ที่ว่า ครีเอทีฟจ๋าๆ ไม่ได้เข้าถึงคนหมู่มากได้ เลยพยายามเอาสองอย่างมารวมกัน ทำอย่างไรให้คนมาเสพงานศิลป์โดยไม่ยัดเยียดเกินไป มากินข้าว แต่สอดแทรกงานครีเอทีฟได้ ลดกำแพงกลุ่มคนใช้ชีวิตปกติ กับคนสนใจงานศิลป์ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน”

ช่างชุ่ย

ทำให้ปัจจุบันช่างชุ่ยมีสัดส่วนร้านค้าในโครงการแบ่งเป็น ร้านอาหาร 40%, ร้านค้า 20%, ตลาด 20% และครีเอทีฟออฟฟิศ 20%

ตอนนี้ในช่างชุ่ยจะแบ่งเป็น 2 โซนใหญ่ๆ ส่วนพื้นที่สีเขียว กรีนโซน เน้นร้านค้า, คาเฟ่, บอร์ดเกม, คาเฟ่เกี่ยวกับสัตว์, ร้านกึ่งเอาต์ดอร์ มีกิจกรรมกรีนๆ สินค้าออร์แกนิก คอนเสิร์ต โฟล์กซอง และโซนส่วนกลาง กิจกรรมทุกอย่างอยู่ในโซนนี้

ในช่างชุ่ยจะไม่มีร้านค้า หรือร้านอาหารจากเชนใหญ่ๆ เข้ามา เพราะอยากให้พื้นที่คนตัวเล็กๆ ได้เฉิดฉาย เหมือนเป็นพื้นที่ซัพพอร์ตคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ ไม่ต้องการทุนนิยมมากนัก

ช่างชุ่ย

ปัจจุบันมีทราฟฟิกคนใช้บริการในวันศุกร์-อาทิตย์ 3,000-3,500 คน

สำหรับเป้าหมายในอนาคตของช่างชุ่ยนั้น จะเน้นขยายฐานผู้ใช้บริการ ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ฝั่งธนเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนทั้งประเทศ และคนจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยือน ด้วยกลยุทธ์การเข้ามาใช้ชีวิต และสอดแทรกด้วยครีเอทีฟ เสริมด้วยกิจกรรมต่างๆ วิธีการนี้จะทำให้อยู่อย่างยั่งยืนได้

นอกจากการปั้นให้ช่างชุ่ยเป็นพื้นที่พักผ่อนของคนกรุงแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของช่างชุ่ยก็คือ การบริหาร “ธุรกิจครีเอทีฟ” ให้อยู่รอด ได้มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสมต่างๆ ให้ลงตัว เพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณค่าให้แก่สถานที่ ในที่สุดที่หลายคนมองว่าเป็น “ความบ้าบิ่น” ความสุดโต่งก็สามารถอยู่รอดได้ สุดท้ายคำนิยามของช่างชุ่ยอาจจะเป็นทั้ง ครีเอทีฟ พื้นที่สีเขียว ตลาดนัดในคราวเดียวกันได้

]]>
1441602
“Flynow”แคตวอล์กอินเตอร์ https://positioningmag.com/10241 Wed, 05 Sep 2007 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=10241

Flynow ไม่เพียงแค่เป็นแบรนด์ไทยที่อยู่รอดปลอดภัยในตลาดแฟชั่นเสื้อผ้ามาตลอด 24 ปีเท่านั้น แต่ยังพิสูจน์ให้เห็นว่าแบรนด์ไทยสามารถสร้างให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก จากความคิดสร้างสรรค์ การหา Positioning ที่แตกต่าง และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็น Key Success ที่น่าสนใจ ทำให้ Flynow เฉิดฉายบนแคตวอล์กระดับโลก

“ชัชรีพรรณ ส่งวัฒนา” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทแอท แบงค็อก ผู้บริหารแบรนด์ Flynow และดูแลการทำตลาดในต่างประเทศ เล่าว่า จุดแข็งของ Flynow เริ่มต้นตั้งแต่ “สมชัย ส่งวัฒนา” ผู้ก่อตั้ง Flynow เมื่อประมาณปี 2526 ทำตลาดในประเทศให้แข็งแรงก่อน ด้วยการสร้างจุดเด่นให้กับเสื้อผ้าของ Flynow ในโทนสีขาวดำ ซึ่งในยุคนั้นถือว่าฮือฮามาก เพราะความรู้สึกของคนต่อสีขาวดำคือสัญลักษณ์ของความโศกเศร้า

แต่นั่นคือ “ความต่าง” และ “จุดเด่น” ของเสื้อผ้าแฟชั่นในยุคนั้น Flynow จึงแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วในเมืองไทย

จากจุดเริ่มต้นที่เจ้าของกิจการเป็นผู้เข้าใจโลกของแฟชั่นและธุรกิจนี้เป็นอย่างดี เพราะ “สมชัย” คือดีไซเนอร์ และเรียนรู้โลกของแฟชั่นที่ลอนดอนถึง 4-5 ปี และมีดีไซเนอร์มือดีที่ถือเป็นผู้ผลักดัน Flynow คนสำคัญคือ “ชำนัญ ภักดีสุข” ร่วมงาน และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจึงต่อยอดได้ไม่ยากนัก เมื่อ Flynow ต้องการบินออกนอกประเทศ

ในปี 2538 Flynow พยายามหาช่องทางสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก โดยเริ่มมองหาเวทีแฟชั่นที่คนเชื่อถือ โดยเฉพาะเวทีที่ได้เครดิตจาก Buyer หรือผู้ซื้อทั่วโลก

การเลือกว่าจะเป็นเวทีใดไม่ใช่เรื่องยาก แต่เลือกแล้วจะได้ไปอยู่บนแคตวอล์กนั้นหรือไม่ คือเรื่องยากอย่างยิ่ง

“ชัชรีพรรณ” บอกว่า Flynow ต้องการเปิดตัวแบรนด์บนแคตวอล์กของลอนดอน แฟชั่น วีค เพราะเป็นเวทีระดับโลก เป็นเวทีที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Creative แบรนด์ใดที่มีส่วนร่วมเวทีนี้จะได้รับความเชื่อถือจาก Buyer และที่สำคัญคือบนเวทีนี้ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ดังจากยุโรป ไม่ค่อยมีจากเอเชีย หาก Flynow ได้ร่วมบนเวทีนี้จะมีจุดเด่นที่เป็นแบรนด์เดียวจากเอเชีย

“ช่วงนั้นสมัครผ่าน British Fashion Council ผู้ดูแลเวทีของลอนดอน แฟชั่น วีค พอเราส่งข้อมูลไป เขาชอบมาก แต่เขาไม่มั่นใจ เพราะเขาต้องรักษาคุณภาพเวทีของเขา เขากลัวว่าเราไปก๊อบปี้ใครมา เพราะประเทศไทยช่วงประมาณ 10 ปีที่แล้ว ยังมีศักยภาพเพียงเป็น OEM เท่านั้น”

“ชัชรีพรรณ” เล่าวิธีสร้างความมั่นใจให้กับผู้จัดเวทีดังแห่งนี้ว่า ต้องส่งวิดีโออย่างดีเกี่ยวกับแบรนด์และศักยภาพของ Flynow มีดนตรีโหมโรง และเรื่องราวนำเสนอให้กลิ่นอายไทย และ Flynow ก็สามารถลบข้อกังขาได้ ผ่านการโหวตจากสื่อที่อังกฤษ เป็น 1 ใน 5 แฟชั่นโชว์ที่ดีที่สุดในเวลานั้น ด้วยคอนเซ็ปต์ตะวันออกผสมผสานกับตะวันตก จากการออกแบบลายผ้าเป็นกราฟิกนกยูงบนผ้าไหมไทย

จากจุดนั้นทำให้ Flynow สร้าง Positioning ของแบรนด์ได้ชัดเจนว่าเป็นแบรนด์ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันออกกับตะวันตก มีความงามสง่า และคลาสสิก และ Positioningนี้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงผลิตภัณฑ์กระเป๋า เช่น การใช้วัสดุหนังจากอิตาลี แต่ลวดลายและการถักทอเป็นแบบไทย

ไม่เพียงความสร้างสรรค์ในตัวสินค้า และหา Positioning ที่ต่างจากคู่แข่ง การบริหารจัดการทางธุรกิจคือส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ด้วยการใช้วิธีกระจายตลาดออกไปทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เพราะฉะนั้นเมื่อค่าบาทแข็งเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่เจ็บตัวมากนัก เพราะรายได้จากเงินสกุลอื่นเมื่อกลับมาเป็นบาทแล้วไม่แข็งค่ามากนัก นอกจากนี้ การมีคู่ค้าที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาด

“ชัชรีพรรณ” สรุปเส้นทางของ Flynow ว่า บนโลกแฟชั่นนานกว่า 24 ปี แม้บางช่วงเวลาจะประสบปัญหาอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ชัดเจนในตัวของ Flynow คือแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ด้วยผู้บริหารที่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง การย้ำในจุดยืนที่แตกต่างของสินค้า และคุณภาพที่มีความต่อเนื่อง จึงทำให้ Flynow ยังคงบินได้อย่างแข็งแรง

Profile

แบรนด์ : Flynow
ประเภทสินค้า : เสื้อผ้าแฟชั่น กระเป๋า
Positioning : Exclusive Hi-end ผสมผสานความเป็นตะวันตกและตะวันออก เรียบหรู คลาสสิก
Key Success :
1. เจ้าของเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง
2. เปิดตัวบนแคตวอล์กที่น่าเชื่อถือ และไม่มีแบรนด์คู่แข่งจากเอเชีย
ตลาดในต่างประเทศ : ทั่วโลก เน้นที่ยุโรป อเมริกา เอเชีย โดยเฉพาะที่ตะวันออกลาง ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และที่ญี่ปุ่นกำลังจะเปิดช็อปอีกหลายแห่งในโตเกียว
การปรับตัวรับบาทแข็ง และเศรษฐกิจซบเซา : ขยายตลาดไปหลายประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ยอดขายจากต่างประเทศเป็น 40% จากเดิมมียอด 30% ของยอดขายรวม
จำนวนพนักงาน : โรงงานผลิต 600 คน และในออฟฟิศ 100 คน

]]>
10241
“เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท” เปิดสาขา 4 ที่ปากช่อง https://positioningmag.com/25719 Tue, 18 Oct 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=25719

นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์ฟลายนาว และนางสาวช่อทิพย์ ส่งวัฒนา ผู้อำนวยการบริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด ร่วมแถลงข่าวการเปิด เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท สาขา 4 ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดเพื่อการส่งออกที่มีความโดดเด่นทั้งด้านดีไซน์ รวมไปถึงวัสดุที่มีคุณภาพสูงเทียบเท่าผลิตภัณฑ์แบรนด์เนมชั้นนำจากโรงงานผู้ผลิตมาจำหน่ายในราคาต้นทุน โดยจัดงานแถลงข่าวขึ้น ณ ศูนย์บางกอกโค้ด ถนนสาทรใต้ เมื่อเร็ว ๆ นี้

]]>
25719
“เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท” เตรียมเปิดสาขาที่ 4 “เมืองปากช่อง” https://positioningmag.com/25643 Mon, 17 Oct 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=25643

นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์ฟลายนาว กล่าวถึง สภาวะการส่งออกสิ่งทอของประเทศไทยว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับในปี 2547 มียอดส่งออกสิ่งทอประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป และอุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ ประมาณ 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 314,000 ล้านบาท ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากศักยภาพของประเทศไทยที่มีทั้งวัตถุดิบ รวมไปถึงแรงงานที่มีฝีมือทางด้านการออกแบบ และตัดเย็บ จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกให้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ถ้าคิดมูลค่าการตลาดจะมีมูลค่าประมาณ 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,570,000 ล้านบาท จะเห็นว่าค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นนั้นแตกต่างกับค่าการผลิตอย่างมาก

และเพื่อเป็นการรองรับ รวมถึงตอกย้ำถึงความมีศักยภาพของคนไทย ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสกับสินค้าคุณภาพหลากหลายชนิดเพื่อการส่งออก ดังนั้น กลุ่มฟลายนาว จึงได้จัดตั้ง “เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท” (FN Factory Outlet) ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออกมาจำหน่ายให้กับคนไทย ในราคาต้นทุนของผู้ผลิต โดยเริ่มเปิดสาขาแรกที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างดีจนต้องเปิดสาขาเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ที่จังหวัดกาญจนบุรี และสาขาที่ 3 เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่เมืองพัทยา

ปัจจุบัน FN Factory Outlet เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออกหลากหลายชนิด อาทิ เสื้อผ้าประเภทต่าง ๆ สำหรับบุรุษ สตรี และเด็ก, เครื่องหนังหลากหลายประเภท, อุปกรณ์เครื่องนอน, อุปกรณ์สำหรับตกแต่งบ้าน, สินค้าหัตถกรรม และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมายจากโรงงานในเมืองไทยที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีความโดดเด่นทั้งเรื่องของดีไซน์ รวมไปถึงวัสดุที่มีคุณภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์จากนานาประเทศ โดยนำมาจำหน่ายให้กับคนไทยในราคาต้นทุนจากโรงงาน

นางสาวช่อทิพย์ ส่งวัฒนา ผู้อำนวยการบริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของ FN Factory Outlet ทั้ง 3 สาขา ซึ่งในปี 2548 มียอดผู้เข้าเอ๊าท์เลทโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนรวมกันกว่า 120,000 คน โดยสาขาที่มีผู้แวะสูงสุดคือ เพชรบุรี และพัทยา ทั้งนี้เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์สินค้าคุณภาพส่งออก แต่จำหน่ายในราคาต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น จึงได้เร่งดำเนินการเปิดสาขาเพิ่มเติมอีก 1 สาขาในวันที่ 15 ตุลาคมศกนี้ที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเส้นทางกลับจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่กรุงเทพฯ ด้วย

ด้านการขยายสาขาเพิ่มเติมนั้น นางสาวช่อทิพย์ กล่าวว่า จะยังคงเน้นการเปิดสาขาในแหล่งท่องเที่ยว หรือเส้นทางหลักในการเดินทางมากขึ้น ทั้งนี้จะเน้นการสร้างให้ FN Factory Outlet เป็นหนึ่งในสถานที่สำหรับผู้ที่เดินทางไปพักผ่อน หรือผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นต้องแวะ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์คุณภาพในราคาต้นทุนจากผู้ผลิตที่ไม่สามารถหาซื้อได้จากที่อื่น ๆ

สำหรับแผนการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ FN Factory Outlet นั้น นางสาว ช่อทิพย์กล่าวว่า จะเน้นการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไปในเรื่องของจุดเด่นของเอ๊าท์เลทที่มี “สินค้าคุณภาพส่งออก แต่ราคาต้นทุนจากโรงงาน” ให้มากขึ้น โดยแบ่งสัดส่วนการใช้งบประมาณโฆษณา และประชาสัมพันธ์สำหรับเอ๊าท์เลท 3 สาขาเดิมประมาณ 10 ล้านบาท และประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับสาขาแห่งใหม่ที่ปากช่อง ซึ่งจะเน้นการโฆษณาผ่านสื่อท้องถิ่น และสื่อประเภทสิ่งพิมพ์เป็นหลัก

]]>
25643