อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ภาวะการท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ดูได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาสที่ 2/59 เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 58 พบว่า ในไตรมาส 3/2559 มีนักท่องเที่ยวไทย 34% วางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลประกาศวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงวันเทศกาลต่างๆ
โดยพบว่านักท่องเที่ยวไทย 43% ระบุว่าทำให้ตัดสินใจวางแผนท่องเที่ยวในประเทศจากเดิมที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า
วัตถุประสงค์การท่องเที่ยวในช่วงวันอาสาฬหบูชาส่วนใหญ่เป็นการกลับภูมิลำเนาและพักผ่อนมีจุดหมายปลายทางคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง
ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศควรมีการประกาศวันหยุดเพิ่มเติมในเทศกาลต่างๆ เป็นการล่วงหน้าในช่วง 1-3 เดือนเพื่อให้นักท่องเที่ยวไทยมีเวลาพอที่จะวางแผนเดินทางในประเทศแทนการเดินทางไปต่างประเทศ
ตั้งแต่ต้นปี 2559 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้มีวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13-17 เม.ย. 59 พบว่ามีนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางในประเทศ 2.14 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้และกลับภูมิลำเนาตามพื้นที่ รวมทั้งหมดทุกภูมิภาคทำรายได้ทั้งสิ้น 6.98 พันล้านบาท
ส่วนวันหยุดเพิ่มเติมเนื่องในวันฉัตรมงคลและวันพืชมงคล ระหว่างวันที่ 5-9 พ.ค. 59 มีนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางในประเทศ 2.16 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ 5 ลำดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และนครราชสีมา รวมทำรายได้ทั้งสิ้น 7.66 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และหาดใหญ่) จำนวน 153,278 คน เพิ่มขึ้น 13% ทำรายได้ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% และเดินทางในช่วงวันฉัตรมงคลและวันพืชมงคล (เฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต) จำนวน 87,587 คน เพิ่มขึ้น 12% ทำรายได้ 1.62 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%
ประเทศที่นักท่องเที่ยวไทยให้ความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ โดยมี 5 ปัจจัยกระตุ้น คือ 1. เดินทางระยะใกล้และใช้เวลาน้อย 2. ไม่ต้องขอวีซ่าทำให้ง่ายและสะดวกต่อการเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ 3. โปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินและแพ็กเกจทัวร์ราคาถูก 4. สายการบินต้นทุนต่ำมีการเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินใหม่จำนวนมาก 5. รู้วันหยุดล่วงหน้านานทำให้วางแผนเดินทางง่ายขึ้น
นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางในประเทศมีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการหลีกหนีความวุ่นวาย, พักผ่อน และเติมพลัง ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อต้องการค้นหามุมมองใหม่, เปิดประสบการณ์ที่แตกต่าง และแสวงหาความท้าทายเหนือความคาดหมาย
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาสที่ 2/59 เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 58 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
]]>ผลสำรวจล่าสุดของดันน์ฮัมบี้ ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยกับความชื่นชอบในการฉลองส่งท้ายปี พบว่า ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองจากต่างชาติ และความนิยมนี้ทำให้เทศกาลคริสต์มาสได้รับการยอมรับและเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศ
จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวไทยกว่า หนึ่งล้านคนทั่วประเทศไทย ดันน์ฮัมบี้เผยว่า ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงนิยมใช้จ่ายเพื่อฉลองเทศกาลคริสต์มาส โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมสูงสุดในเทศกาลนี้ คือ กระเช้าของขวัญ
แต่พฤติกรรมการเลือกซื้อต้นคริสต์มาสและของประดับในภาคใต้ อาทิ กระบี่ ภูเก็ต สงขลา และพัทลุง มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ในประเทศ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า กระเช้าของขวัญเป็นสินค้ายอดนิยม
11 % ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก เลือกกระเช้าของขวัญในเทศกาลคริสต์มาส
9 % ของผู้บริโภคในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน นิยมเลือกซื้อกระเช้าของขวัญในช่วงเทศการคริสต์มาส
บึงกาฬนิยมซื้อสินค้าฉลองเทศกาลมากสุด
เมื่อมองลึกถึงระดับจังหวัด ผลสำรวจได้เผยให้เห็นว่า ผู้บริโภคในจังหวัดบึงกาฬกว่า 38.1 เปอร์เซ็นต์ จังหวัดกระบี่กว่า 28.5 เปอร์เซ็นต์ และจังหวัดตากอีกกว่า 28.3 เปอร์เซ็นต์ เลือกซื้อสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับเทศกาลเฉลิมฉลองไปพร้อมๆ กับสินค้าอื่นด้วย
ภาคใต้ –อีสาน นิยมฉลองช่วงเทศกาลส่งท้ายปีมากสุด
หากมองในภาพรวม พบว่า ภาคที่มีการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลส่งท้ายปีมากที่สุดคือภาคใต้และภาคอีสาน โดยมากกว่าหนึ่งในสาม (37.4 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริโภคในภาคใต้ซื้อสินค้าเพื่อฉลองเทศกาลส่งท้ายปีจำพวก กระเช้าของขวัญ การ์ดอวยพรและกระดาษห่อของขวัญ เนื้อสัตว์ และอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับงานปาร์ตี้
หนึ่งในห้า (20.9 เปอร์เซ็นต์) ของตะกร้าของผู้บริโภคในภาคอีสานเป็นสินค้าสำหรับฉลองเทศกาลส่งท้ายปี
อิทธิพลฤดูหนาวกระตุ้นการชอป
อิทธิพลของฤดูหนาวมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของของผู้บริโภค ซึ่งมีลูกค้าจำนวนมากเลือกซื้อสินค้าต่างประเภทพร้อมกัน โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าลูกค้าที่เลือกซื้อต้นคริสต์มาสก็มักจะซื้อเสื้อผ้าหน้าหนาวของเด็กไปพร้อมๆ กัน
ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์, หัวหน้างาน คอนเน็คมีเดีย บริษัท ดันน์ฮัมบี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเทศกาลคริสต์มาสจะไม่ใช่ประเพณีไทย แต่ผลสำรวจของดันน์ฮัมบี้ได้เผยให้เห็นว่า พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวไทยเริ่มได้รับผลกระทบกับเทศกาลที่สำคัญส่งท้ายปี ไม่ว่จะเป็นการติดตั้งต้นคริสต์มาส ส่งกระเช้าของขวัญให้เพื่อนและครอบครัว หรือจัดปาร์ตี้ด้วยอาหารและเครื่องดื่มสำหรับฉลองเทศกาลปีใหม่ เรามีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค รวมไปถึงสามารถให้ข้อมูลที่มีคุณค่าแก่ร้านค้าในการทำแผนการตลาดให้เหมาะสมกับช่วงเทศกาศชอปปิ้งสิ้นปีที่ยุ่งมากที่สุด”
ReadyPlanet ผู้ให้บริการระบบเว็บไซต์สำเร็จรูปบริการด้านการตลาดดิจิตอล ได้เผยกลยุทธ์ในการทำการตลาดออนไลน์ในช่วงวันหยุดยาวเพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่มาถึง เพื่อไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สูญเสียโอกาสในการกอบโกยรายได้
สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ หากต้องการบรรลุยอดขายช่วงวันหยุดยาว ควรวางแผนการทำตลาดล่วงหน้าให้ดี เพื่อสร้างโอกาสการขายตลอดช่วงวันหยุด ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องพิจารณาตามไปด้วยก็คือ “กิจกรรมออนไลน์” ยอดฮิตในช่วงวันหยุดของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และมองว่าธุรกิจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสุขของลูกค้าในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งในส่วนของรายละเอียดของกลยุทธ์มีดังนี้
ที่มา : บทความจาก ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด
เทศกาลสงกรานต์ ที่มาพร้อมกับวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วันในปีนี้ น่าจะทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯ คึกคักกว่าปีก่อน แม้ว่าปัจจัยในเรื่องของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และความไม่สะดวกในการเดินทาง ยังคงสร้างความกังวลให้กับคนกรุงเทพฯ บางส่วน แต่โดยรวมแล้วคนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 98 ก็ยังคงให้ความสำคัญ และมีกำลังซื้อเพียงพอที่จะตั้งงบประมาณในการจับจ่าย และเตรียมตัวสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้น
ในขณะที่ประเด็นในเรื่องของปริมาณไฟฟ้าที่อาจจะไม่เพียงพอในช่วงวันที่ 5-14 เมษายนนั้น คนกรุงเทพฯ บางส่วนมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงาน และการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง แต่ถึงกระนั้น ผลจากการติดตามข่าวสาร ทำให้คนกรุงเทพฯ มีการเตรียมการและวางแผนล่วงหน้า จึงไม่น่าจะมีผลต่อการใช้จ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 ระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม 2556 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 549 ราย ที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ค่าครองชีพ & ความไม่สะดวกในการเดินทาง ปัจจัยส่งผลต่อการจับจ่ายในช่วงสงกรานต์ปี’ 56
ปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 52.5) เป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ เช่นเดียวกับปีก่อนๆ เนื่องจากประชาชนยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง (ร้อยละ 43.7) และความปลอดภัยในการเดินทาง (ร้อยละ 42.8) ยังเป็นปัจจัยสำคัญในลำดับต่อไปที่คนกรุงเทพฯ คำนึงถึง ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการเดินทางมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ทำให้เกิดความกังวลทั้งในเรื่องของการจราจรที่อาจจะติดขัด รวมไปถึงการไม่มีตั๋วโดยสารเพื่อเดินทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนที่ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันมากกว่า
เทศกาลสงกรานต์ปี’ 56 … คนกรุงเทพฯ เลือกเดินทางออกนอก กรุงเทพฯ “เพิ่มขึ้น”
• ช่วงสงกรานต์ปี 2556 ภาพรวมคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะใช้วันหยุดอยู่ภายใน กรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 59.0 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเลือกใช้วันหยุดอยู่ในกรุงเทพฯ ลดลงจากปีที่แล้ว ทั้งในกลุ่มของคนที่เลือกพักผ่อนทำกิจกรรมต่างๆ ภายในกรุงเทพฯ และกลุ่มที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ เนื่องจากในปีนี้ มีวันหยุดราชการติดต่อกันถึง 5 วัน คือตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2556 ทำให้คนกรุงเทพฯ บางส่วนตัดสินใจวางแผนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด หรือท่องเที่ยวค้างคืนในต่างจังหวัดมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยกิจกรรมหลักที่คนกรุงเทพฯ ที่เลือกอยู่ในกรุงเทพฯ นิยมทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ การช็อปปิ้งจับจ่ายใช้สอยสินค้าตามห้างสรรพสินค้าและดิสเคาน์สโตร์ต่างๆ (ร้อยละ 77.9) รองลงมาคือ การเข้าวัดทำบุญ (ร้อยละ 77.2) การเลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนฝูงและครอบครัว (ร้อยละ 71.2) ในขณะที่การท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ จังหวัดที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถเดินทางไปกลับภายในวันเดียวได้ อาทิ ชลบุรี เพชรบุรี อยุธยา และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
• คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 41.0 เลือกเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่ง “เพิ่มขึ้น” กว่าปีที่แล้ว ทั้งในส่วนของการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด (สัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 32.9) การท่องเที่ยวทั้งในประเทศ (ร้อยละ 6.9) และต่างประเทศ (ร้อยละ 1.2) ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับวันหยุดยาวที่เอื้อต่อการวางแผนโปรแกรมท่องเที่ยว รวมไปถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน ที่ยังเป็นอีกแรงกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลือกใช้เวลาในช่วงวันหยุดสงกรานต์ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้
ทั้งนี้ กิจกรรมหลักที่คนกรุงเทพฯ ที่เดินทางกลับต่างจังหวัด นิยมทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ การเลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนฝูงและครอบครัว (ร้อยละ 81.6 ) การเข้าวัดทำบุญ (ร้อยละ 73.5) การซื้อของฝากสำหรับครอบครัวในต่างจังหวัด และการซื้อของกลับมาฝากเพื่อนที่อยู่กรุงเทพฯ (ร้อยละ 62.8 )
เทศกาลสงกรานต์ปี’ 56 … คนกรุงเทพฯ จับจ่ายเงินสะพัดกว่า 31,500 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การจับจ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ ปี 2556 จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 31,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ “เพิ่มขึ้น” กว่าปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการวางแผนที่จะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จากการที่ปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน โดยการจับจ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด ดังนี้
• เม็ดเงินสะพัดภายในประเทศมีมูลค่าประมาณ 25,500 ล้านบาท (ร้อยละ 81.0 ของเม็ดเงินสะพัดของคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด) โดยส่วนใหญ่จะเป็นเม็ดเงินการใช้จ่ายในกิจกรรมสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์ประมาณ 8,400 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ การช็อปปิ้ง (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อสินค้าเพื่อเป็นของฝากญาติพี่น้องเมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม ซื้อของฝากกลับมายังกรุงเทพฯ และการซื้อสินค้าเพื่อตนเอง) 7,000 ล้านบาท ค่าเดินทางและที่พัก 5,600 ล้านบาท การทำบุญ 4,000 ล้านบาท และกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมด้านบันเทิง 500 ล้านบาท
• เม็ดเงินที่ไหลออกนอกประเทศจากการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 6,000 ล้านบาท (ร้อยละ 19.0) โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายในส่วนของค่าเดินทาง ค่าที่พัก และการช็อปปิ้งซื้อสินค้ากลับมาเมืองไทย ซึ่งในปี 2556 นี้ คนกรุงเทพฯ ที่เลือกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงสงกรานต์นิยมไปส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
กล่าวโดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วันในปีนี้ น่าจะทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯ คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจัยในเรื่องของค่าครองชีพ และความไม่สะดวกในการเดินทาง ยังคงสร้างความกังวลให้กับคนกรุงเทพฯ บางส่วน แต่โดยรวมแล้วคนกรุงเทพฯ ก็ยังคงให้ความสำคัญ และมีกำลังซื้อเพียงพอที่จะตั้งงบประมาณในการจับจ่าย และเตรียมตัวสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2555
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 นี้ คนกรุงเทพฯ จะมีการจับจ่าย คิดเป็นเม็ดเงินสะพัดกว่า 31,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 (YoY) แบ่งเป็นเม็ดเงินที่สะพัดภายในประเทศกว่า 25,500 ล้านบาท และเม็ดเงินที่ไหลออกนอกประเทศจากการท่องเที่ยวกว่า 6,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวน่าจะกระจายไปยังธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านจำหน่ายของฝาก/ของที่ระลึก รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจไม่ควรพลาดโอกาสในช่วงเวลาดังกล่าวในการทำยอดขายเพิ่มขึ้น โดยการออกโปรโมชั่นหรือแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของคนกรุงเทพฯ