International – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Aug 2010 00:00:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ส่งออกไปจีนเดือน ก.ค.:ชะลอความร้อนแรงลง…ฉุดไทยขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น 110.5% https://positioningmag.com/52940 Tue, 24 Aug 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=52940

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคม 2553 ส่อแววอ่อนแรงต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่แม้จะใกล้เคียงกับร้อยละ 26.3 ในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับร้อยละ 39.4 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่การนำเข้ายังคงเติบโตสูงที่ระดับร้อยละ 40.1 แต่ก็ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตในเดือนมิถุนายนที่ระดับร้อยละ 62.1 ซึ่งจากการที่อัตราการเติบโตของการนำเข้าสูงกว่าภาคการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลไทยขาดดุลการค้าให้แก่จีนสูงถึง 409.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกรกฎาคม

เดือน ก.ค. : การนำเข้าชะลอแรงกว่าการส่งออก…ส่งผลมูลค่าขาดดุลเพิ่มขึ้นเท่าตัว
สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีน ในเดือนกรกฎาคม เป็นไปในทิศทางที่ชะลอความร้อนแรงลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,691.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 2,101.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 โดยชะลอลงเมื่อเทียบกับการเติบโตในเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวร้อยละ 62.1 โดยทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการเติบโตในเดือนกรกฎาคมของการนำเข้าสูงกว่าการส่งออกอย่างชัดเจน ส่งผลให้มูลค่าขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 110.5 (YoY) หรือคิดเป็นเม็ดเงินขาดดุลการค้า 409.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 ที่มีมูลค่า 194.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ว่าสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วงที่ผ่านมา จีนจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในฐานะตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย และล่าสุดจีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแทนที่สหรัฐฯไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนมักเป็นไปในลักษณะที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ไทยได้เสียดุลการค้าให้กับจีนไปแล้วถึง 1,319.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสูงกว่ายอดขาดดุลการค้าทั้งปี 2552 ที่มีมูลค่า 909.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากการขยายตัวของภาคการส่งออกไทยไปจีนชะลอตัวแรงกว่าการนำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 ยอดขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนในปี 2553 อาจะสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับรายการสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับ 46.8 YoY ซึ่งการชะลอของรายการสินค้าดังกล่าวป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง เนื่องด้วยนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนเพื่อควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ขณะที่รายการสินค้านำเข้าที่มีการชะลอตัวลงได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ครึ่งหลังมีแนวโน้มอ่อนแรง…แต่คาดว่าจีนยังคงเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
การส่งออกของไทยไปตลาดจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 47.8 ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานเปรียบเทียบในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังปี 2553 ที่อาจจะมีการปรับฐานลงจากที่เคยขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงต้นปี 2553 ซึ่งบ่งชี้ได้จากดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจภายในของจีนในเดือน กรกฎาคม 2553 ที่ต่างส่งสัญญาณชะลอตัวในทิศทางเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 อันเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์ การควบคุมอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและปล่อยมลพิษสูง และการชะลอโครงการลงทุนของรัฐบาล ทำให้ความต้องการนำเข้าของจีนอ่อนแรงลง และส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนเพื่อสนองความต้องการบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น นอกจากนี้ การที่ภาคส่งออกของจีนมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามปัจจัยเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่มั่นคงนัก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินในยุโรปที่ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา อาจจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าของจีนจากไทยเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกซบเซาลงตามไปด้วย เช่น คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะเดียวกันการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคคนจีนที่ได้กลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ประเทศคู่แข่งของไทยต่างก็หวังหมายปองด้วยเช่นกัน ก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการค้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ที่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังมีแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐที่มุ่งพัฒนาภาคตะวันตก และการสนับสนุนการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน ทำให้คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภายในจีนยังมีแรงขับเคลื่อนให้เติบโตต่อไปได้ และจีนจะยังคงเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 อันเนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ดังนี้

? สถานภาพทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2553 ที่ยังคงเข้มแข็งเหนือประเทศอื่นๆในตลาดโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้มีการประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ยังคงเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักที่ระดับประมาณร้อยละ 10.5 เนื่องจากทางการจีนยังคงดำเนินมาตรการที่มุ่งเน้นการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้ยังมีความต้องการภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน

? ในทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียอาคเนย์ บ่งชี้ได้จากการที่ ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่เป็นสมาชิกทั้ง 6 กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ทางตอนใต้ของไทย(ไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย) สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ UPMEC ทางตอนเหนือของไทย(ไทย-พม่า-ลาว-จีนตอนใต้) ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ ACMEC (ไทย-พม่า-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม) หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ GMS-EC ทางตะวันตกของไทย(ไทย-ลาว-พม่า-กัมพูชา-เวียดนาม-จีนตอนใต้) เจ็ดเหลี่ยมเศรษฐกิจ BIMSTEC ตะวันตกของไทย(ไทย-บังคลาเทศ-อินเดีย-พม่า-ศรีลังกา-เนปาล-ภูฏาน) และแปดเหลี่ยมเศรษฐกิจ PBPWEC (ไทย-จีน(กวางซี+กวางตง+ไห่หนัน)-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-บรูไน-มาเลเซีย-สิงคโปร์-อินโดนีเซีย) ทำให้ไทยจึงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในการเชื่อมโยงกับทุกประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศจีนด้วย

? ช่องทางการค้าไทย-จีนมีเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่สินค้าส่งเข้าจีนส่วนใหญ่จะผ่านมณฑลกว่างตง คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการค้าโดยรวม แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้มีการกระจายเข้าไปสู่เมืองชายฝั่งทะเลอื่นๆ ของจีนมากขึ้น ได้แก่ ซ่างไห่ เซียะเหมิน หนิงโป ชิงเต่า หรือแม้แต่เมืองเทียนจินและต้าเหลียนซึ่งอยู่ทางเหนือของจีนเองก็มีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น และล่าสุดก็ได้มีการเพิ่มเส้นทางการขนส่งทางบกอีกสองช่องทาง คือ เส้นทางคุนมั่นกงลู่หรือ R3A(กรุงเทพฯ-เชียงราย-เชียงของ-เมืองลา-ต้าลั่ว-จิ่งหง-คุนหมิง) และเส้นทางผ่านลาวและเวียดนามเพื่อเข้าจีนที่ด่านเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่น่าจะช่วยให้การค้าระหว่างไทยจีนขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งในปี 2552 ที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกของเมืองคุนหมิงมีมูลค่าถึง 86.5 พันล้านหยวน หรือประมาณ 12,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ยอดค้าปลีกของเขตปกครองกว่างซีจ้วงมีมูลค่า 193.3 พันล้านหยวน หรือประมาณ 28,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงนับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย ขณะที่มูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 292.2 ในรูปเงินบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทยไปยังจีนในช่วงเวลาดังกล่าวที่เติบโตเพียงร้อยละ 37.9 ในรูปเงินบาท อีกทั้งยังมีการได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นด้วย จากเม็ดเงินเพียง 196.5 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกปี 2552 เป็น 3,617.1 ล้านบาทในครึ่งแรกปี 2553

? โครงสร้างขนาดการผลิตสินค้าไทยที่เหมาะสม เพราะแม้จะเป็นขนาดเล็กและกลาง (SME) แต่ก็สามารถเน้นผลิตสินค้าคุณภาพและมาตรฐานสูงเป็นสำคัญได้ จนส่งเสริมให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยก้าวสู่ตลาดระดับบน (High-End) และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศโดยเฉพาะแถบเอเชีย นอกจากนี้ สินค้าไทยยังเป็นสินค้าต่างประเทศที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในกลุ่มผู้บริโภคคนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ลูกค้าวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อสูงเป็นพิเศษที่ถูกขนานนามว่า”จักรพรรดิองค์น้อย” ซึ่งการเน้นผลิตสินค้าคุณภาพมาตรฐานสูงดังกล่าว จะทำให้สินค้าไทยกลายเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างเหนือสินค้าจีน
? FTA ASEAN-CHINA ที่เริ่มลดภาษีเหลือศูนย์ทั้งหมดตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้การค้าขายสินค้าระหว่างไทยกับจีนมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าเดิมยิ่งขึ้น

บทสรุป

แม้ว่าสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วงที่ผ่านมา จีนจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในฐานะตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย และล่าสุดจีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแทนที่สหรัฐฯไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนมักเป็นไปในลักษณะที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2551 ที่มีมูลค่าขาดดุลสูงสุดถึง 3,965.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ไทยได้เสียดุลการค้าให้กับจีนไปแล้วถึง 1,319.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่ายอดขาดดุลการค้าทั้งปี 2552 ที่มีมูลค่า 909.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2553 ที่ร้อยละ 25-30 ขณะที่ประเมินว่าการนำเข้าน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ดังนั้น หากการขยายตัวของภาคการส่งออกระหว่างไทย-จีนชะลอตัวแรงกว่าการนำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 อาจทำให้ในปี 2553 ไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่าเท่าตัวแน่นอน หรือมีความเป็นไปได้ว่า ยอดขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนในปี 2553 อาจสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จากการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปี 2553 เพราะนอกจากจะเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วจากอานิสงส์ของแผนพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้-กว่างซี และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับมณฑลหยุนหนานให้เป็นประตูสู่อาเซียนของทางการจีน ที่ส่งผลให้ประชาชนในเขตเมืองดังกล่าวที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นแล้ว เครือข่ายเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างไทยและจีนตอนใต้ก็มีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น ทำให้การค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีนมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก และหากไทยมีการพัฒนาลู่ทางทางการค้าในตลาดมณฑลทางตะวันตกของจีนมากขึ้น ก็อาจจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างการขาดดุลการค้าระหว่างไทยและจีนให้น้อยลงก็เป็นไปได้

แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเน้นยกระดับการผลิตสินค้าคุณภาพและมาตรฐานสูงให้ได้ดีมากยิ่งๆ ขึ้นด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และรักษาความแตกต่างสินค้าไทยให้เหนือสินค้าจีนแล้ว ยังจะมีผลให้สินค้าไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในตลาดจีนที่นับวันจะมีจำนวนผู้มีรายได้สูงเพิ่มมากขึ้น และต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพสูงขึ้นตามไปด้วย

]]>
52940
เวียดนามปรับลดค่าเงินอีกครั้ง 2% ….ปัญหาขาดดุลการค้าเรื้อรัง บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเวียดนาม https://positioningmag.com/52937 Tue, 24 Aug 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=52937

เวียดนามประกาศปรับลดค่าเงินร้อยละ 2 เริ่มมีผลในวันที่ 18 สิงหาคม 2553 นี้ ส่งผลให้ค่าเงินด่องอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 18,932 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการปรับลดค่าเงินด่องเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 10 เดือน จากครั้งที่ 2 ที่ลดลงร้อยละ 3.4 มาอยู่ที่ 18,544 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และครั้งแรกปรับลดลงร้อยละ 5.4 มาอยู่ที่ 17,961 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 นับว่าค่าเงินด่องของเวียดนามได้อ่อนค่าลงมาแล้วร้อยละ 10.8 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทางการเวียดนามยังคงระดับการเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยให้ขึ้น-ลง (Trading Band) ได้ร้อยละ 3 เช่นเดิม สาเหตุสำคัญของการปรับลดค่าเงินของเวียดนามอีกครั้งยังคงเป็นปัญหาการขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ส่งผลกดดันต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนาม และกดดันให้ค่าเงินด่องอ่อนค่า ทำให้การรักษาเสถียรภาพค่าเงินด่องของทางการเวียดนามลำบากมากขึ้นด้วยเงินสำรองต่างประเทศที่ค่อนข้างจำกัด อีกสาเหตุหนึ่งคาดว่า เนื่องจากทางการเวียดนามต้องการรักษาความแตกต่างของค่าเงินด่องในตลาดมืดและอัตราแลกเปลี่ยนของทางการไม่ให้ห่างกันมากนัก หลังจากที่อัตราแลกเปลี่ยนด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ของ 2 ตลาดเริ่มห่างกันมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดมืดในวันที่ 17 สิงหาคม อยู่ที่ 19,280-19,320 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เสถียรภาพด้านต่างประเทศของเวียดนามได้รับแรงกดดันจากปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นผลจากการขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรัง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจเวียดนาม ทั้งนี้ ในวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติงส์ ได้ปรับลดอันดับเครดิตเวียดนามลง 1 ขั้นจาก ‘BB-’ สู่ ‘B+’ ซึ่งต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (Below Investment Grade) ถึง 4 ขั้น เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ และความกังวลถึงสถานะการเงินในต่างประเทศของเวียดนาม รวมถึงความอ่อนแอของระบบธนาคาร ซึ่งการลดอันดับเครดิตของเวียดนามอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการระดมทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมจากต่างประเทศที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ สรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนี้

? แม้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 ในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 (YoY) จากที่เติบโตร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่ 1/2553 (YoY) หลังจากที่เวียดนามต้องประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่ำที่สุดในไตรมาสที่ 1/2552 โดยอัตราเติบโตเหลือร้อยละ 3.1 จนส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 2552 เติบโตเหลือร้อยละ 5.3 เป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้มาจากการเติบโตของภาคก่อสร้างและภาคบริการที่ขยายตัวร้อยละ 9.89 และร้อยละ 7 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (YoY) ตามลำดับ รวมทั้งภาคส่งออกที่กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวร้อยละ 9 ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างเรื้อรังยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อเศรษฐกิจเวียดนาม โดยการขาดดุลการค้าของเวียดนามกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม มูลค่าขาดดุลการค้า 1,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากปรับลดลงติดต่อกัน 2 เดือนก่อนหน้า เหลือร้อยละ 741.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน และ 870.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้มูลค่าขาดดุลการค้าในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากยอดขาดดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ขาดดุลสูงขึ้นด้วย โดยคาดว่ามูลค่าขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามในปีนี้อาจยังอยู่ในระดับสูงราวร้อยละ 10 ต่อจีดีพี

? มูลค่าขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นของเวียดนาม ส่งผลกดดันต่อเงินสำรองต่างประเทศที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่องในปีนี้ จากที่อยู่ระดับ 16.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2552 คิดเป็นมูลค่านำเข้า 2.5 เดือน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าเงินสำรองต่างประเทศของเวียดนาม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 มีแนวโน้มปรับลดลง โดยคิดเป็นมูลค่านำเข้าเหลือราว 7 สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่หนี้ต่างประเทศของเวียดนามอาจปรับสูงขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้มูลค่าหนี้ต่างประเทศปรับสูงขึ้น จากหนี้ต่างประเทศที่มีมูลค่า 27.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในปีนี้ น่าจะช่วยพยุงเสถียรภาพด้านต่างประเทศไว้ได้ระดับหนึ่ง โดยมูลค่า FDI ของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 6 (YoY)

? แม้การปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามอาจช่วยให้การส่งออกของเวียดนามเติบโตดีขึ้นเนื่องจากขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ปรับสูงขึ้น หลังจากที่การส่งออกของเวียดนามเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 20 ในเดือนกรกฎาคม (YoY) เป็นการเติบโตชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่การนำเข้าของเวียดนามอาจปรับสูงขึ้นตามมูลค่านำเข้าที่สูงขึ้นจากการปรับลดค่าเงินโดยเฉพาะสินค้าที่เวียดนามจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อใช้ในภาคการผลิต หลังจากที่การนำเข้าของเวียดนามได้เติบโตชะลอลงในเดือนกรกฎาคมเหลือร้อยละ 9.9 ถือเป็นการชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน โดยคาดว่าการนำเข้าในปีนี้ยังคงขยายตัวในระดับสูงกว่าการเติบโตของการส่งออกที่ยังมีปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวอย่างอ่อนแรง โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของเวียดนามในกลุ่มจี 3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ดุลการค้าของเวียดนามยังคงขาดดุลอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 26.4 (YoY) ขณะที่การส่งออกในช่วงเดียวกันขยายตัวร้อยบะ 17.5 (YoY)

? แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้เงินเฟ้อของเวียดนามมีทิศทางชะลอลง โดยเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 8.19 (YoY) เป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 หลังจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอ่อนตัวลง ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงยังช่วยให้ทางการเวียดนามยังคงรักษาการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ โดยทางการเวียดนามยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 หลังจากปรับขึ้นจากร้อยละ 7 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี 2552 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้แม้ว่าจะยังไม่มั่นคงนัก ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และการปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามลงร้อยละ 2 ในครั้งนี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเนื่องจากราคาสินค้านำเข้าที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าทุน ที่เวียดนามยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งของเวียดนามที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเพื่อส่งออก

? เป้าหมายการเร่งปล่อยสินเชื่ออาจส่งผลให้ภาคธนาคารของเวียดนามอยู่ในภาวะอ่อนแอ การปล่อยสินเชื่อของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เติบโตร้อยละ 10.5 สูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2553 ที่สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 3.3 แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าที่ทางการเวียดนามตั้งเป้าหมายให้สินเชื่อเติบโตร้อยละ 25 ในปีนี้ การที่ทางการเวียดนามได้ผลักดันให้ธนาคารปล่อยเงินกู้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินในเวียดนาม ธนาคารกลางของเวียดนามได้ประกาศในเดือนพฤษภาคม 2553 ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเพิ่มสัดส่วนความเพียงพอของเงินทุน (Capital Adequacy Ratio) จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 9 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ คาดว่าสัดส่วนความเพียงพอของเงินทุนที่สูงขึ้นน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคารในเวียดนาม แม้ว่าสถาบันการเงินจะประสบความลำบากมากขึ้นในการเพิ่มสัดส่วนความเพียงพอของเงินทุนตามที่ธนาคารกลางเวียดนามกำหนดไว้ และอาจส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบให้หมุนเวียนช้าลงในระยะต่อไป

สรุป แม้เศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามอาจยายตัวราวร้อยละ 6.5 ในปีนี้ จากที่เติบโตร้อยละ 6.1 ในช่วงครึ่งปีแรก (YoY) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกที่ยังเติบโตต่อไปได้แม้ว่าน่าจะยังขยายตัวไม่สูงนักตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงยังช่วยสนับสนุนการส่งออกอีกทางหนึ่ง ส่วนเศรษฐกิจภายในยังได้แรงหนุนจากการนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของทางการเวียดนามที่ส่งผลให้ภาคก่อสร้างและภาคบริการยังเติบโตได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายหลายด้านที่อาจส่งผลต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนาม ได้แก่ เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังเป็นผลมาจากปัญหาการขาดดุลการค้าที่ยังคงถูกกดดันจากการนำเข้าที่คาดว่ายังคงขยายตัวสูงกว่าภาคส่งออก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกดดันต่อค่าเงินด่อง และทำให้เงินสำรองต่างประเทศปรับลดลง รวมถึงเสถียรภาพด้านราคาที่มาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคาดว่ายังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยไปเวียดนามยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่เติบโตร้อยละ 36 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เป็นที่ต้องการของเวียดนามยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ/ส่วนประกอบ และรถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะเดียวกัน การปรับลดค่าเงินด่องในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของเวียดนามในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอีก จากเดิมที่สินค้าส่งออกของเวียดนามมีศักยภาพการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญที่เป็นคู่แข่งกับเวียดนามในตลาดโลก ได้แก่ ข้าว ยางพารา อาหารทะเล- แปรรูป สิ่งทอ/เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า คาดว่าภาคส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของเวียดนามที่รุนแรงขึ้นในตลาดโลก ในภาวะที่ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปีนี้

]]>
52937
เลือกตั้งออสเตรเลีย … กับปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ https://positioningmag.com/52880 Wed, 18 Aug 2010 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=52880

ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งเพียงเดือนเศษ นางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลียจากพรรคแรงงานได้ประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 สิงหาคม โดยเธอจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งคนสำคัญคือ นายโทนี แอบบ็อท จากพรรคเสรีนิยม ท่ามกลางความไม่แน่นอนในประเด็นนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะร่างกฎหมายภาษีกิจการแร่ฉบับใหม่ ซึ่งเคยเป็นชนวนให้นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีคนเก่าจากพรรคแรงงานต้องลาออกจากตำแหน่งมาแล้ว

ก่อนการลาออกจากตำแหน่ง นายเควิน รัดด์ เคยเสนอร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่ที่จะจัดเก็บกับบริษัทที่ประกอบกิจการแร่ในออสเตรเลีย ได้แก่ร่างกฎหมาย “Resource Super Profit Tax” ซึ่งเป็นการปรับปรุงระบบภาษีกิจการแร่ใหม่ โดยอัตราภาษีกำหนดที่อัตราร้อยละ 40 และจะบังคับใช้ในปี 2555 ภาษีระบบใหม่นี้ทำให้บริษัทแร่ยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในออสเตรเลียเกิดความไม่พอใจจนกระทั่งเป็นแรงกดดันนำไปสู่การลาออกในที่สุด หลังจากที่นางกิลลาร์ดเข้ารับตำแหน่งแทน ได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวใหม่และใช้ชื่อว่า “Minerals Resource Rent Tax” โดยปรับอัตราภาษีใหม่จากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 30 ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่เก็บจริง (effective tax rate) สำหรับ rent tax เพียงร้อยละ 22.5 เท่านั้น

ความแตกต่างที่สำคัญของนโยบายทางเศรษฐกิจ ระหว่างฝั่งของนางกิลลาร์ดและนายแอบบ็อท นอกจากการที่นายแอบบ็อทคัดค้าน “Minerals Resource Rent Tax” แล้วยังปฏิเสธการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการจ้างงานอีกด้วย ในขณะที่ฝั่งของนางกิลลาร์ดมีนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นเงินอุดหนุนทางสังคมแก่ประชากรออสเตรเลียมากกว่า โดยตั้งเป้าจะใช้เงินภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจากกฎหมายภาษีใหม่เพื่อใช้ในรายจ่าย เช่น การจ่ายเงินบำนาญที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังตั้งเป้านโยบายการคลังแบบเกินดุลภายใน 3 ปี ข้างหน้าอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ศึกษาถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ของออสเตรเลีย ดังนี้

เศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกต่อไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดย IMF ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจออสเตรเลียปี 2553 ไว้ที่ร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาสของออสเตรเลียมีการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ 0.8 หลังจากนั้นออสเตรเลียมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการเติบโตเป็นบวกทุกไตรมาส และในไตรมาสแรกของปี 2553 ออสเตรเลียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 0.5 (QoQ)

การค้าและบริการเกินดุลเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จากการส่งออกแร่ธาตุซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของออสเตรเลีย … แต่แนวโน้มอาจชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง

ออสเตรเลียมีการขาดดุลการค้าและบริการติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2553 หลังจากนั้นเพิ่งเริ่มมีการเกินดุลอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้าและบริการในไตรมาสที่สองปี 2553 มีการเกินดุลสะสมในช่วง 3 เดือนที่ 6.63 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่างจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งขาดดุลสะสม 0.82 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย การเกินดุลในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการส่งออกแร่ธาตุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการเหล็กและถ่านหินจากจีนและอินเดีย โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ออสเตรเลียส่งออกเหล็กเป็นมูลค่า 12,830 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.93 (YoY) ในขณะที่การส่งออกถ่านหินมีมูลค่า 11,305 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.75 (YoY)

การเติบโตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งถูกผลักดันโดยความต้องการส่งออก ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และทำให้ตัวเลขการว่างงานโดยรวมลดลงตามไปด้วย โดยอัตราการว่างงานในออสเตรเลียลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2553 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การส่งออกแร่ธาตุถือเป็นหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของออสเตรเลียโดยตรง ผ่านตัวเลขการลงทุน และยังส่งผลเชื่อมโยงสู่การบริโภคภายในประเทศผ่านการจ้างงานและช่องทางอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนั้น จากประเด็นร้อนทางการเมืองในเรื่องนโยบายภาษีในธุรกิจเหมืองแร่ในช่วงที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นว่านอกจากจะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคแล้ว อุตสาหกรรมแร่ธาตุยังมีความสำคัญในด้านแหล่งรายได้แหล่งใหญ่ของรัฐผ่านทางการเก็บภาษีอีกด้วย ดังนั้นอุตสาหกรรมแร่ธาตุในออสเตรเลียจึงมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มการชะลอความร้อนแรงลงของเศรษฐกิจจีนและอินเดียจากความพยายามของทางการแต่ละประเทศที่ต้องการควบคุมเสถียรภาพด้านราคา ทำให้นโยบายแตะเบรกทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียเป็นปัจจัยที่ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการส่งออกเหล็กและถ่านหินจากออสเตรเลียได้ และอาจทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลียผ่านภาคส่งออกรวมของออสเตรเลียชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้

เงินเฟ้อและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย … ปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศ
เศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มการเติบโตได้ต่อเนื่องในครึ่งหลังของปีนี้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมแร่ธาตุ แม้อาจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวบ้างจากภาคส่งออกตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่อ่อนแรงลง อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมแร่ธาตุที่ยังขับเคลื่อนต่อไปได้อาจเป็นปัจจัยเร่งให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปียังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งผลต่อการบริโภคของประชาชนได้

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของออสเตรเลียมีอัตราเร่งขึ้นโดยตลอด จากร้อยละ 1.3 (YoY) ในไตรมาส 3/2552 เป็นร้อยละ 3.1 ในไตรมาส 1/2553 โดยมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอีกปัจจัยหนึ่งจากการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมแร่ธาตุโดยบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ เนื่องจากออสเตรเลียมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งลงทุนกิจการเหมืองแร่อันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นมูลค่าการลงทุนในเหมืองแร่ของออสเตรเลียจึงมีมูลค่ามหาศาล และส่งผลต่อระดับราคาของออสเตรเลียมาก ผ่านการซื้อวัตถุดิบ และการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายระลอกใหญ่ติดต่อกัน 6 ครั้ง ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2552 และมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 รวมทั้งสิ้น 150 basis point การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวมีผลให้การบริโภคภายในประเทศอ่อนแรงลง โดยอัตราการเติบโตของมูลค่าการค้าปลีกชะลอลงอย่างต่อเนื่องก่อนปรับตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคม 2553 ถึงปัจจุบัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าวปรับลดลงต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 2553 ก่อนฟื้นตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2553

ด้วยเหตุที่อัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับการเติบโตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และอาจส่งผลต่อการบริโภคในประเทศได้ ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลีย ในการจัดการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปควบคู่กับการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแร่ธาตุเติบโตของอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อก็อาจจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศด้วย

ธุรกิจภาคบริการมีทิศทางอ่อนแรงลงในช่วงครึ่งแรกของปี
ดัชนีธุรกิจบริการ (Performance of Service Index: PSI) ที่จัดทำโดย Commonwealth Bank มีระดับต่ำกว่า 50 ในทุกเดือนยกเว้นเดือนเมษายน ซึ่งบ่งบอกถึงการหดตัวของธุรกิจภาคบริการของออสเตรเลียในเกือบทุกเดือน โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องจาก 52.3 จุดในเดือนเมษายน เป็นระดับ 46.6 จุดในเดือนกรกฎาคม และลดลงจากที่ระดับ 48.8 ในเดือนก่อนหน้า การหดตัวดังกล่าวมาจากการปรับตัวขององค์ประกอบด้านยอดขาย คำสั่งซื้อ สินค้าคงคลัง ยอดการส่งสินค้า ราคาขาย การจ้างงานและค่าจ้าง และราคาวัตถุดิบ โดยในช่วง 3 เดือนหลัง (พฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม) องค์ประกอบดังกล่าวปรับตัวในทิศทางหดตัวลง ยกเว้นเพียงการจ้างงานและค่าจ้าง และราคาวัตถุดิบเท่านั้นที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้นการหดตัวลงของภาคบริการในช่วง 3 เดือนหลังมีการกระจายตัวในสาขาธุรกิจการค้าส่งค้าปลีก ภัตตาคาร การขนส่ง การสื่อสาร การบริการทางธุรกิจ และการบริการทางสุขภาพ โดยมีเพียงสาขาบริการทางการเงินและประกัน และสาขาบริการส่วนตัวและสันทนาการเท่านั้นที่มีการขยายตัว

ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจในออสเตรเลียในช่วงที่เหลือของปีนี้

ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียมีมูลค่า 5.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นร้อยละ 41.53 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมีสัญญาณชะลอลงทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนถึงความต้องการในออสเตรเลียที่ชะลอตัวลง

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยแรกได้แก่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศออสเตรเลียได้ ปัจจัยที่สอง ได้แก่การชะลอตัวลงของภาคอุตสาหกรรมของจีน และนโยบายการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการแร่ธาตุของจีนและอินเดียจากออสเตรเลีย ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลียด้านภาคส่งออกชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งเศรษฐกิจออสเตรเลียที่อาจเติบโตชะลอลง คาดว่าจะส่งผลเชื่อมโยงต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยได้ให้อ่อนแรงลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจออสเตรเลียที่ยังคงขยายตัวเป็นบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปออสเตรเลียใน 6 เดือนแรกของปีนี้ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (โครงเหล็กสำหรับก่อสร้าง) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก

โดยสรุป การเลือกตั้งในออสเตรเลียที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างนางจูเลีย กิลลาร์ด จากพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน และนายโทนี แอบบ็อท จากพรรคเสรีนิยม โดยนโยบายทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันในประเด็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการคลัง โดยเฉพาะประเด็นภาษีกิจการเหมืองแร่ฉบับใหม่ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร รัฐบาลชุดใหม่คงต้องรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายด้านในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้เศรษฐกิจออสเตรเลียได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไปในอัตราร้อยละ 3.0 ในปีนี้จากการคาดการณ์ของ IMF โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในปีนี้มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกแร่ โดยเฉพาะเหล็กและถ่านหิน โดยมีตลาดส่งออกสำคัญคือจีนและอินเดีย

ความท้าทายประการแรกสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ คือ การรักษาการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงาน และส่งผลดีต่อการบริโภค โดยที่ผ่านมาการจ้างงานในอุตสาหกรรมแร่ธาตุทำให้อัตราการว่างงานในออสเตรเลียลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การชะลอความร้อนแรงลงของเศรษฐกิจจีนและอินเดียเป็นปัจจัยที่ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการส่งออกเหล็กและถ่านหินจากออสเตรเลียได้

ความท้าทายประการที่สอง คือ การควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งถูกเร่งโดยการเติบโตทางเศรษฐกิจนำโดยอุตสาหกรรมแร่ธาตุ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของออสเตรเลียมีอัตราเร่งขึ้นโดยตลอดจนกระทั่งใกล้เคียงกับช่วงเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการ จึงมีแนวโน้มว่าทางการออสเตรเลียอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในระยะอันใกล้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการบริโภคในประเทศ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปรับอัตราดอกเบี้ยระลอกที่ผ่านมาระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลีย ในการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแร่ธาตุเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต้านทานภาวะเงินเฟ้อก็อาจต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศควบคู่ไปด้วย

นอกจากนั้น ความท้าทายอีกประการหนึ่งของรัฐบาลชุดใหม่ คือการแก้ไขการหดตัวในธุรกิจบริการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ซึ่งมีการหดตัวในเกือบทุกสาขาบริการ เช่น ค้าส่งค้าปลีก ภัตตาคาร และการขนส่ง

สำหรับการส่งออกของไทยไปออสเตรเลียในครึ่งหลังของปี 2553 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงให้ชะลอลงบ้างจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของออสเตรเลียจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งกดดันต่อภาคการบริโภคในออสเตรเลีย และเศรษฐกิจออสเตรเลียที่อาจเติบโตชะลอลงเนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางการส่งออกแร่ธาตุที่อ่อนแรงลงตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ถือเป็นอีกปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียเช่นกัน ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียเติบโตขึ้นร้อยละ 41.53 (YoY) อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมีสัญญาณชะลอลงทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปออสเตรเลียใน 6 เดือนแรกของปีนี้ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก โครงเหล็กสำหรับก่อสร้าง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก

]]>
52880
TIEE 2008 หนุนการศึกษานานาชาติในไทย ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ https://positioningmag.com/38643 Mon, 07 Jan 2008 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=38643

กรมส่งเสริมการส่งออกเตรียมจัดงาน TIEE 2008 สนับสนุนการทำตลาดให้กับโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย หวังดึงเงินต่างชาติเข้าประเทศและลดการรั่วไหลของเงินในประเทศ ขณะที่นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ชี้มีเงินเข้าประเทศจากธุรกิจนี้กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ.นี้ กรมส่งเสริมการส่งออกจะจัดงานนิทรรศการการศึกษานานาชาติของไทยปี 2551 (Thailand International Education Exhibition 2008 หรือ TIEE 2008 ) ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะมีหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับยอมรับจากชาวต่างชาติรวบรวมไว้อย่างครบครันที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทยที่มีความนิยมส่งบุตรหลานเรียนในหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนอกจากเงินตราไม่รั่วไหลออกนอกประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกิดความใกล้ชิดภายในครอบครัวที่ไม่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนถึงต่างประเทศ อีกทั้งยังดึงเงินตราเข้าประเทศจากที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย

โดยนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นศูนย์รวมของโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษาและโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติระดับมาตรฐานสากลในประเทศ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งหลักสูตรการศึกษาระบบอังกฤษและอเมริกัน รวมไปถึงหลักสูตรการศึกษาด้วยภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงการสอบวัดผล IGCSE , IB , A Levels และ AP ให้ผู้ปกครองและนักเรียนสามารถเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการที่สุด ขณะที่ในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมีหลักสูตรนานาชาติเกือบ 400 หลักสูตร ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับแนวทางการศึกษาในประเทศไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก และเน้นการสร้างทักษะวิชาชีพควบคู่ไปกับความรู้เชิงวิชาการที่เข้มข้น

ด้านนางอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติ 112 แห่ง เมื่อนับจากปี พ.ศ. 2550 ที่มีเพียง1 แห่ง และได้ขยายตัวมากขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เนื่องจากรัฐบาลสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถศึกษาในโรงเรียนนานาชาติได้

ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นครูในหลักสูตรนานาชาติ 3,000 คน มีนักเรียนที่เรียนในหลักสูตรนานาชาติ 35,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักเรียนชาวต่างชาติ กว่า 20,000 คน ถ้าคิดเฉพาะนักเรียนชาวต่างชาติกับค่าเทอมเฉลี่ยปีละ 500,000 บาท ถือได้ว่าธุรกิจนี้นำรายได้เข้าประเทศในปี 2550 ร่วม 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2549 ที่สามารถนำรายได้เข้าประเทศ 8,000 ล้านบาท และช่วยให้คนไทยที่ต้องการส่งบุตรหลานเรียนหลักสูตรนานาชาติประหยัดเงินกว่าการส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศหลายเท่า อีกทั้งช่วยให้ครอบครัวอบอุ่นเพราะไม่ต้องแยกจากกัน ตลอดจนช่วยให้เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ จึงมองว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญในธุรกิจนี้ ทั้งในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาของครูชาวต่างชาติในลักษณะของ One Stop Service ในเรื่องของการจัดทำและตรวจสอบเอกสาร จากที่ปัจจุบันมีขั้นตอนยุ่งยากมาก

นางอุษา สมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติขอให้วางใจได้เนื่องจากทุกหลักสูตรผ่านการอนุมัติของกระทรวงศึกษาของไทย และเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ อีกทั้งเด็กที่เรียนในระบบนี้จะถูกฝึกให้เป็นคนที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้จักการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเด็กที่ได้เรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษจะถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารและทำธุรกิจกันทั่วโลก และเด็กจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากครูชาวต่างชาติจะมีหน้าที่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว ต่างจากครูในโรงเรียนไทยที่ต้องทำหน้าที่อื่นควบคู่ไปด้วยเช่น งานธุรการต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายใน งาน TIEE 2008 จะมีสมาชิกของสมาคมฯ เข้าร่วม 44 โรงเรียนใน 44 คูหา ซึ่งคาดว่าจะช่วยประชาสัมพันธ์ศักยภาพการศึกษานานาชาติในประเทศไทยให้คนรู้จักแพร่หลายมากขึ้น ว่ามีตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา

งาน TIEE 2008 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2551 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2512 0093-104 ต่อ 249, 311 หรือ www.thaitradefair.com

]]>
38643
เศรษฐกิจจีนปี 2548-49 : แรงหนุนส่งออกไทย https://positioningmag.com/27186 Wed, 04 Jan 2006 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=27186

จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกเมื่อสิ้นปี 2548 อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 9 กอปรกับเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ของจีนเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวเลขมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของจีนย้อนหลังสำหรับปี 2547 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 16.8 (เนื่องมาจากการจัดทำตัวเลขสถิติของทางการจีนใหม่ โดยปรับเพิ่มขนาดและสัดส่วนภาคบริการจากร้อยละ 31.9 ของ GDP เป็นร้อยละ 40.7) ทำให้ขนาด GDP ของจีนเพิ่มขึ้นอีก 284 พันล้านดอลลาร์เป็นจำนวนรวมถึง 2.144 ล้านล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขนาดทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ

พลังทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลอย่างมากต่อภาวะการค้าระหว่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากการค้าไทย-จีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้จีนขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทยในปัจจุบัน ดังนั้น การเข้าใจแนวโน้มทางเศรษฐกิจตลอดจนทิศทางการค้าระหว่างประเทศของจีน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประเมินลู่ทางการค้าระหว่างไทย-จีน รวมทั้งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2549

เศรษฐกิจจีนปี 2548-49

เศรษฐกิจจีนในปี 2548 มีการเติบโตอย่างสมดุลและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากที่ทางการจีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจในปี 2547 จนทำให้การขยายตัวของ GDP ในครึ่งปีหลังของปี 2547 ชะลอตัวจนเศรษฐกิจมหภาคคืนสู่เสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าราคาพลังงานได้เพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 เศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 9.4 ลดลงเล็กน้อยจากอัตราร้อยละ 9.5 ในปี 2547 แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น (เทียบกับร้อยละ 3.9 ในปี 2547) โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2548 ได้รับแรงผลักดันจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการลงทุน การบริโภคในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า GDP ในปี 2548 จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 9.4

ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2548 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับในปี 2547 ขณะเดียวกันมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 16.3 และยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อการบริโภค การประกาศวันหยุดยาวต่อเนื่องของรัฐบาลทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น รวมทั้งรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในเมืองและชนบท ทำให้การบริโภคสินค้าหลายประเภทมีการขยายตัวสูง อาทิ อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ในทางตรงข้ามดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.9 โดยมีการปรับขึ้นของราคาบ้าน และบริการด้านบันเทิง ส่วนราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 แต่ราคาเสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ขนส่งและโทรคมนาคมกลับปรับตัวลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นและประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น

แม้จีนจะเพิ่มค่าเงินหยวนจาก 8.28 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์มาเป็น 8.11 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม 2548 พร้อมทั้งปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นระบบตะกร้าเงิน ทำให้ค่าเงินหยวนค่อย ๆ แข็งขึ้นตามลำดับจนมาอยู่ที่อัตรา 8.08 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2548 แต่ไม่ได้ส่งผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันของจีน เนื่องจากการส่งออกของจีนยังสามารถขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 32.8 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 17.8 เป็นมูลค่าการส่งออก 354.2 พันล้านดอลลาร์และการนำเข้า 310.9 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ ทำให้จีนเกินดุลการค้ากว่า 40 พันล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของจีนขยายตัวในอัตราสูงทั้งสิ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 105) น้ำมันสำเร็จรูป (ร้อยละ 85) เครื่องรับโทรทัศน์ (ร้อยละ 58) เครื่องโทรศัพท์ (ร้อยละ 42) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 35) แผงวงจรไฟฟ้าและวงจรประดิษฐ์ (ร้อยละ 33) เครื่องคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 29) และรองเท้า (ร้อยละ 26) เป็นต้น สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและสินค้าขั้นปลายน้ำที่จีนมีขีดความสามรถในการแข่งขันสูงมาก

สำหรับสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก สินค้าที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นมากได้แก่สินค้าทุนและวัตถุดิบอุตสาหกรรม อาทิ น้ำมันดิบ (ร้อยละ 45) สินแร่เหล็ก (ร้อยละ 42) แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 34) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 23) และเม็ดพลาสติก (ร้อยละ 22) เป็นต้น ส่วนสินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์สำเร็จรูปมีการนำเข้าลดลงในอัตราร้อยละ 18 และร้อยละ 15 ตามลำดับ เนื่องจากยอดขายรถยนต์ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันอุปสงค์ในปี 2548 ไม่สามารถเติบโตทันอุปทานรถยนต์จำนวนมากที่เกิดจากการขยายกำลังการผลิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีรถยนต์ที่รอการจำหน่ายคงค้างอยู่มาก

สำหรับในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.0-9.5 เนื่องจากการส่งออกอาจขยายตัวลดลงสวนทางกับการเติบโตของการนำเข้า จากผลของค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจาก 8.03 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2548 เป็น 7.85 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในปลายปี 2549 กอปรกับรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ายอดส่งออกจะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 28.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.0-25.0 ในปี 2549 ส่วนการนำเข้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.0-25.0 ในปี 2549 ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้าลดลง อย่างไรก็ตาม เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนจะยังคงเพิ่มขึ้นแม้จะในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 38.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 25.0 ในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นจากประมาณ 840 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2548 เป็น 1,050 พันล้านดอลลาร์ในปลายปี 2549 เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนยังคงเกินดุลจากการได้เปรียบดุลการค้า รายได้จากการท่องเที่ยว และการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ

แนวโน้มการค้าไทย-จีน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีน ทำให้จีนนำเข้าสินค้าประเภททุนและวัตถุดิบจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งรวมถึงไทยเพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว และในทางกลับกันจีนก็ก็ได้ส่งออกสินค้าหลายประเภทโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและสินค้าขั้นปลายน้ำให้กับประเทศคู่ค้าของตน รูปแบบการค้าดังกล่าวซึ่งเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทศวรรษที่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ทำให้จีนเติบโตขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่สามของไทยในปัจจุบันรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่เป็นตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทย โดยตลาดจีนขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 20 ทุกปีในช่วงปี 2545-47 แต่ในปี 2546 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60

สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ไทยส่งออกไปจีนเพิ่มร้อยละ 28.99 ส่วนตลาดอันดับ 1 และ 2 คือสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยอดส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.06 และ 18.78 ในปี 2547 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10.45 และร้อยละ 13.62 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ดังนั้น การส่งออกไปจีนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตในภาพรวมของไทย เนื่องจากตลาดประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการเติบโตที่ช้ากว่า อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนยังมีขนาดเพียงร้อยละ 50 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ และคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น ดังนั้น คงกินเวลาอีกหลายปีกว่าที่ตลาดจีนจะเติบโตขึ้นมาในระดับเดียวกับตลาดส่งออกทั้งสอง

เมื่อพิจารณาดุลการค้าไทย-จีนจะพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด โดยในปี 2547 ไทยส่งออกไปจีน 7,115 พันล้านดอลลาร์ แต่นำเข้าจากจีนถึง 8,144 พันล้านดอลลาร์ ขาดดุลการค้ากับจีน 1,029 พันล้านดอลลาร์ และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 1,754 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.84 เป็นจำนวน 9,167 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 28.99 เป็นมูลค่า 7,412.90 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าในปี 2548 ยอดขาดดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.0 พันล้านดอลลาร์

ในแง่โครงสร้างการส่งออกของไทยไปจีน เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการกระจุกตัวของสินค้าส่งออกที่ 10 อันดับแรกถึงกว่าร้อยละ 70 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เหล็กและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าทุน วัตถุดิบและชิ้นส่วนสำหรับการผลิตสินค้าขั้นกลางน้ำและปลายน้ำของภาคอุตสาหกรรมจีน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบโดยเฉพาะ Hard Disk Drives (HDD) เป็นสินค้าส่งออกหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งหมด และเป็นสินค้าส่งออกที่มีการขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 32.31 ในปี 2547 และร้อยละ 71.94 ในช่วง ม.ค.-ต.ค. 2548 คิดเป็นมูลค่า 2,010 ล้านดอลลาร์ เนื่องมาจากการขยายกำลังการผลิต HDD ในเมืองไทยของผู้ผลิตข้ามชาติจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของสินค้าส่งออกประเภทนี้ขึ้นกับอุปสงค์เครื่องคอมพิวเตอร์และสินค้า IT ในตลาดโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้น การพึ่งสินค้าส่งออกประเภทนี้มากเกินไปจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในอนาคต

สินค้าส่งออกหลักอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้ยาง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางและผลไม้ โดยเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นถึงร้อยละ 45.88 และร้อยละ 39.68 ในปี 2547 และปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) ตามลำดับ จนมีมูลค่า 624.5 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังก็มีการขยายตัวของการส่งออกถึงร้อยละ 66.35 และร้อยละ 32.27 ในช่วงเดียวกัน

ในทางตรงกันข้าม สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มการส่งออกชะลอตัวลงชัดเจนคือยางพาราและข้าว โดยยอดส่งออกยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ไปจีน ลดลงจากร้อยละ 9.7 ในปี 2547 เป็นร้อยละ -0.05 ในปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) ด้วยมูลค่าส่งออก 626.4 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์จีนที่มีการชะลอตัว คาดว่า ยางพาราจะถูกเม็ดพลาสติกแซงขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ในปี 2549 ส่วนสินค้าข้าวมีมูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 30.87 ในปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) เหลือ 115.8 ล้านดอลลาร์ จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 130.19 ในปี 2547 ด้วยมูลค่าส่งออก 224.9 ล้านดอลลาร์ หากไทยต้องการขยายตลาดส่งออกข้าวไปจีน จำเป็นต้องเน้นข้าวคุณภาพสูงและแก้ปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิรวมทั้งเครื่องหมายการค้าอย่างจริงจัง

ในด้านการนำเข้า กว่าร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าจากจีนเป็นสินค้าอุตสาหกรรมประเภทสินค้าทุน วัตถุดิบการผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยสินค้านำเข้า 5 รายการแรก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ เหล็ก เครื่องจักรกลและเคมีภัณฑ์มีมูลค่าการนำเข้ารวมกันเกือบร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าจากจีนทั้งหมด และเป็นสินค้าที่มีการขยายตัวของการนำเข้าสูง เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังเพิ่มกำลังการผลิตในปัจจุบัน ส่วนสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด อัญมณี/ทองคำและผลิตภัณฑ์พลาสติก

สินค้าที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ซึ่งนำเข้าเพิ่มร้อยละ 485 ในปี 2547 และร้อยละ 167 ในปี 2548 (ม.ค.-ต.ค.) แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 59 และร้อยละ 58 ตามลำดับ) และผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 47 และร้อยละ 95 ตามลำดับ) ส่วนสินค้าที่ยอดนำเข้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงคือเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด อัญมณี/ทองคำ ผลิตภัณฑ์พลาสติก หลอดภาพโทรทัศน์และปุ๋ย/ยากำจัดศัตรูพืช เมื่อรวมสินค้านำเข้า 15 รายการหลักในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.19 เทียบกับมูลค่าการนำเข้ารวมสินค้าทุกชนิดจากจีนที่ขยายตัวร้อยละ 38.84 ดังนั้น หากไทยสามารถบริหารการนำเข้าสินค้า 15 รายการแรกซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดได้ก็จะช่วยลดการขาดดุลการค้ากับจีนได้อย่างมาก

สรุป

แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่องของจีนที่ร้อยละ 9.0-9.5 ในปี 2548-49 กอปรกับค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นจะส่งผลให้การนำเข้าของจีนในปี 2549 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภททุน วัตถุดิบและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างสินค้าส่งออกหลายชนิดที่สามารถขยายการส่งออกไปจีนเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตขั้นกลางน้ำและปลายน้ำได้ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยมีการกระจุกตัวที่สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกในอัตราสูง ทำให้จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงและเพิ่มน้ำหนักการส่งออกไปยังสินค้าประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในประเทศและการจ้างงานสูง ในขณะเดียวกัน ไทยมีแนวโน้มพึ่งพาสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนในอัตราสูงเช่นกัน ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งทุกปี และส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากไทยสามารถบริหารการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้า 15 รายการแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลอย่างมากต่อภาวะดุลการค้าระหว่างสองประเทศ

]]>
27186
ญี่ปุ่นรุกวางรากฐานเศรษฐกิจทั่วเอเชียรุกลงทุนระลอกใหม่ในอาเซียน – ทำเอฟทีเอ ญี่ปุ่น อาเซียน เอเชียตะวันออก https://positioningmag.com/26613 Fri, 25 Nov 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=26613

25 พฤศจิกายน 2548 – นายสถาพร กวิตานนท์ ประธานคณะกรรมการนักธุรกิจฝ่ายไทย แถลงถึงผลการประชุมนักธุรกิจชั้นนำจากญี่ปุ่นและอาเซียน (ASEAN-Japan Business Meeting – AJBM) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ว่านักธุรกิจญี่ปุ่นและนักธุรกิจอาเซียนมีความเห็นร่วมกันว่า จะต้องขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสร้างความร่วมมือในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขยายข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับอาเซียน และจะขยายไปยังเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงจีนและเกาหลีด้วย ทั้งนี้ การขายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตจะมีส่วนช่วยเชื่อมโยงกับประเทศที่สำคัญอื่นๆ ในโลก เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ด้วย

นายสถาพรกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้นักธุรกิจญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะลงทุนรอบใหม่ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมบริการและโครงการสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ อีกทั้งนักธุรกิจญี่ปุ่นยังเห็นว่า ที่ผ่านมาแม้ญี่ปุ่นได้ไปลงทุนในจีนจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบมูลค่าการลงทุนกันแล้ว การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนมีมากกว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในจีนถึง 4 เท่าตัว ประกอบกับเศรษฐกิจ ของกลุ่มประเทศอาเซียนในวันนี้ขยายตัวสูงขึ้นมาก จึงทำให้อาเซียนมีความพร้อมในการเป็นแหล่งลงทุนระลอกใหม่จากญี่ปุ่น

สำหรับการลงทุนระลอกใหม่จากญี่ปุ่น นักธุรกิจญี่ปุ่นจะไม่มองเพียงแค่เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แต่ละประเทศในอาเซียนจะใช้ดึงดูดการลงทุน แต่นักธุรกิจญี่ปุ่นจะคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอันประกอบด้วย ความพร้อมของตลาดเงิน ตลาดทุน และการมีธรรมาภิบาลที่ดีในการประกอบกิจการ ตลอดจนความชัดเจน / โปร่งใส ของข้อมูลธุรกิจ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และการมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

ในการประชุมธุรกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน โดยมีบุคคลสำคัญมาร่วมให้ความเห็นโดยกล่าวสุนทรพจน์อีกหลายท่าน เช่น ฯพณฯ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, อตีตนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน, อดีตนายกรัฐมนตรีของฟิลิปปินส์ ดร.ซีซาร์ วิราต้า, ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ, ประธานกลุ่มมิตซุย นายโชอิ อุตสุดะ, ประธานกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่น นายคาคูทาโร่ คิตาชิโร, รองประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ นายสถาพร กวิตานนท์ และอตีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี

]]>
26613
เศรษฐกิจเวียดนาม : สวนทางวิกฤตน้ำมันโลก คว้าแชมป์แห่งอาเซียน https://positioningmag.com/25668 Tue, 18 Oct 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=25668

วิกฤตราคาน้ำมันแพงที่แพร่สะพัดไปทั่วโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากน้ำมันแพงกันทั่วหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่มอาเซียนที่มีแหล่งน้ำมันดิบภายในประเทศ ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ทำสถิติสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่มีเศรษฐกิจโดดเด่นที่สุดในกลุ่มอาเซียนในยุคน้ำมันแพง ได้แก่ เวียดนาม ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวในอัตราสูงถึง 9.3% เทียบกับอัตราเติบโต 7.4% และ 8.0% ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในระดับเฉลี่ย 8.1% ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ทางการเวียดนามคาดว่าเวียดนามน่าจะบรรลุเป้าหมายอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 8.5% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปีของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนกันยายน 2548 ล่าสุดได้คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามมีอัตราเติบโตในปี 2548 อยู่ในระดับ 7.5% ซึ่งส่งผลให้เวียดนามครองแชมป์เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดในอาเซียนในปีนี้

IMF คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน ปี 2548
ประเทศ อัตราการขยายตัว (%)
1. เวียดนาม 7.5
2. ลาว 7.3
3. กัมพูชา 6.3
4. อินโดนีเซีย 5.8
5. มาเลเซีย 5.5
6. ฟิลิปปินส์ 4.7
7. พม่า 4.5
8. สิงคโปร์ 3.9
9. ไทย 3.5
10 บรูไน 3.0

ที่มา : World Economic Outlook, IMF, September 2005

5 แรงหนุนเศรษฐกิจญวน

เศรษฐกิจเวียดนามได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2548

ปัจจัยเกื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้

1. ส่งออกแจ่มใส การส่งออกของเวียดนามขยายตัว 21% เป็นมูลค่า 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 สาเหตุที่การส่งออกของเวียดนามเข้มแข็ง เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของเวียดนาม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในอดีตเคยมีความผูกพันกับเวียดนามมายาวนาน ได้ฟื้นฟูความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับเวียดนามมากขึ้น และยินดีต้อนรับสินค้าเวียดนาม การส่งออกของเวียดนามไปยังประเทศเหล่านี้ จึงไม่ค่อยมีอุปสรรค ส่งผลดีสินค้าส่งออกของเวียดนามให้สามารถขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้ การที่เวียดนามเปิดเกมรุกการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก ฯลฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะสินค้าจำพวกวัตถุดิบและอาหาร ช่วยกระจายตลาดส่งออกอย่างกว้างขวางขึ้น เกื้อหนุนการส่งออกโดยรวมของเวียดนามให้ขยายตัวต่อเนื่อง

สินค้าส่งออกดาวรุ่งของเวียดนามหลายรายการ ทำรายได้ด้านการส่งออกเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันดิบ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ข้าว เฟอร์นิเจอร์ และอาหารทะเล

? น้ำมันดิบ สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนาม ขยายตัวกว่า 30% เป็นมูลค่า 5,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง
? ข้าว เวียดนามส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น 52.5% นับเป็นสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นปริมาณข้าวที่เวียดนามส่งออกสูงถึง 4.38 ล้านตันในช่วง 9 เดือนแรก 2548 เทียบกับที่เคยประมาณการไว้ 3.8 ล้านตันในช่วงต้นปี ประเทศที่เวียดนามส่งข้าวออกไปขายมากที่สุด ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (1.5 ล้านตัน) แอฟริกา (760,000 ตัน) คิวบา (600,000 ตัน) อิหร่าน – ลูกค้ารายใหม่ (300,000 ตัน) ญี่ปุ่น (90,000 ตัน) เป็นต้น
? รองเท้า ส่งออกเพิ่มขึ้น 13% เป็นมูลค่า 2,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ โดยสามารถขยายตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา และแอฟริกาใต้
? เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งรายการใหม่ของเวียดนามที่ขยายตัวรวดเร็ว โดยมีอัตราเติบโต 44.4% เป็นมูลค่า 1,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548
? สินค้าส่งออกรายการอื่นๆ ที่ขยายตัวในอัตราสูงเฉลี่ยราว 30-40% ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สายเคเบิลและสายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าเกษตร เป็นต้น

2. ท่องเที่ยวบูม เวียดนามเป็นประเทศที่ไม่ค่อยเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงนักและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศค่อนข้างสงบเรียบร้อย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่ประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและเผชิญภัยธรรมชาติร้ายแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นแห่งหนึ่งในเอเชีย นอกจากนี้ ทางการเวียดนามพยายามเปิดประเทศมากขึ้น เพื่อผลักดันประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่ในเอเชีย โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเวียดนามในนิตยสารชั้นนำระดับโลก เพื่อเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติรู้จักเวียดนามและสนใจเดินทางไปเที่ยวเวียดนามมากขึ้น

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยวในเวียดนาม เพิ่มขึ้น 23.3% เป็นจำนวน 2.6 ล้านคนในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของเวียดนามอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การที่ทางการเวียดนามผ่านคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเดินทางเข้าเวียดนามของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวชาติต่างๆ อาทิ กลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรปตอนเหนือ เป็นต้น

หลังจากที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเวียดนามได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยวเวียดนามมีจำนวนเกือบ 300,000 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจไปเที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เกาหลีใต้ พุ่งขึ้น 57% นักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน (สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย) เพิ่มขึ้น 50% เนเธอร์แลนด์-และเบลเยียม ขยายตัว 30% ฝรั่งเศส 26% นอร์เวย์ 24% สหรัฐฯ 23% ญี่ปุ่น 21% เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเดินทางไปเที่ยวเวียดนามมากขึ้น หลังจากที่เวียดนามและสหรัฐฯ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างกัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 2 ของเวียดนาม รองจากจีน ทั้งนี้ ทางการเวียดนามตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 3.4 ล้านคนในปีนี้ คิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณ 17% คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่เวียดนามประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548

บรรยากาศการท่องเที่ยวของเวียดนามที่แจ่มใสขึ้น ส่งผลดีต่อกิจการโรงแรมในเวียดนามตามไปด้วย โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในเวียดนามอยู่ในระดับ 85% ในเดือนกันยายน 2548 เทียบกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 59% ในเดือนกันยายน 2547

3. ต่างชาติลงทุนพุ่ง การลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าสู่เวียดนามเพิ่มขึ้น 37.5% เป็นมูลค่า 4,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ขณะเดียวกันโครงการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตในปีนี้ มีจำนวน 570 โครงการ จำนวนเงินทุนจดทะเบียนรวม 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 10% และ 65% ตามลำดับ ทางการเวียดนามตั้งเป้าที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 4,500-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากเวียดนามมีปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นๆ อาทิ ค่าจ้างแรงงานของเวียดนามค่อนข้างถูก การจัดเก็บภาษีขาเข้าวัตถุดิบอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งทางการเวียดนามเตรียมผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 49% จากสัดส่วนเดิม 30% เป็นต้น

นอกจากนักลงทุนต่างชาติจะสนใจเข้าไปลงทุนโครงการใหม่ๆ ในเวียดนามแล้ว โครงการลงทุนดั้งเดิมในเวียดนามก็หลายโครงการก็เริ่มขยายการลงทุนเช่นกัน โดยโครงการที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามอยู่แล้วและลงทุนเพิ่มเติมในปีนี้มีจำนวน 361 แห่ง คิดเป็นเงินลงทุนส่วนเพิ่ม 1,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548

นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 1 ของเวียดนาม ได้แก่ ไต้หวัน มูลค่าเงินลงทุนสะสม 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 1,363 โครงการ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2548 อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 7,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 366 โครงการ ตามมาด้วย ญี่ปุ่น อยู่ในอันดับ 3 เม็ดเงินลงทุน 5,938 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 549 โครงการ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไต้หวันและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยเคลื่อนย้ายการลงทุนบางส่วนจากจีนไปยังเวียดนามมากขึ้น เพราะเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้าของเวียดนาม

การลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทางการเวียดนามจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามเป็น 49% เทียบกับสัดส่วนเดิม 30% คาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่เวียดนามมากขึ้นต่อไป

เมืองที่เป็นทำเลลงทุนหลักของต่างชาติ ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ ดองไน บินห์ดง เป็นต้น ในช่วง 9 เดือนแรก 2548 ฮานอย เป็นเมืองที่รองรับการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด โดยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 43.7% ของเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าเวียดนามทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รองลงมา ได้แก่ โฮจิมินห์ซิตี้ จำนวน 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดองไน จำนวน 222 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกัน

4. พลังซื้อชาวเวียดนาม พฤติกรรมการบริโภคของชาวเวียดนามมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คนเวียดนามเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และส่วนใหญ่หันมานิยมซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ทดแทนการซื้อของกินของใช้ตามตลาดสดและแผงลอยทั่วไป เนื่องจากชาวเวียดนามตระหนักถึงความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น โดยจะเลือกซื้ออาหารที่สะอาด เลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ รวมทั้งเลือกใช้บริการที่มีมาตรฐาน การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวเวียดนามขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณ 9-10% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้การจับจ่ายใช้สอยของชาวเวียดนามจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป

การใช้จ่ายของชาวเวียดนามที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าและบริการของเวียดนามให้เติบโตตามไปด้วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมการผลิตขยายตัว 11% ขณะที่ธุรกิจบริการของเวียดนามเติบโต 8.2% ธุรกิจบริการของเวียดนามที่คึกคักมาก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม-ภัตตาคาร-ร้านอาหารขยายตัว 15.4% กิจการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10% เป็นต้น

5. การลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายของทางการเวียดนามเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเวียดนามอยู่ในระยะฟื้นฟูประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ ในช่วง 3 ไตรมาสแรก 2548 โครงการก่อสร้างของทางการเวียดนามเพิ่มขึ้น 24% เป็นมูลค่า 7,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณว่าการใช้จ่ายของภาครัฐในปีนี้คิดเป็นสัดส่วน 36.5% ของ GDP

โครงการก่อสร้างสำคัญของทางการเวียดนามในปีนี้ อาทิ การก่อสร้างถนนระดับมาตรฐานสากล โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า การปรับปรุงท่าเรือ เป็นต้น คาดว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลเวียดนามจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่อไปในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุข ประมาณว่าการใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2549 จะมีสัดส่วนขยับขึ้นเป็น 37% ของ GDP

4 ปัจจัยเสี่ยง 2549

1. เงินเฟ้อ การที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำมันดิบยังคงมีราคาแพง คาดว่าทางการเวียดนามคงจะพลาดเป้าหมายในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ชะลอลงอยู่ในระดับ 6.5% ตามที่ตั้งไว้ในปีนี้ หลังจากที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6% ทางการเวียดนามประมาณการว่าเงินเฟ้อในปี 2548 จะอยู่ในระดับ 7.5% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้น 1% ดัชนีราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในปีนี้ ได้แก่ ราคาที่อยู่อาศัย วัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ค่าขนส่ง ค่าเล่าเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประชาชนจะใช้จ่ายกันมาก เพราะเป็นช่วงที่เด็กนักเรียนเปิดเทอม ประกอบกับเป็นช่วงแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลต่างๆ เช่น วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น ทำให้เงินเฟ้อในช่วงปลายปีมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นับว่าทางการเวียดนามประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถชะลออัตราเงินเฟ้อให้ลดลงในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 9.5% ในปี 2547 ก่อนหน้านี้ เวียดนามแทบไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 3-4% ดังนั้น การที่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามเพิ่มขึ้นรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ทำให้ทางการเวียดนามต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวโดยเร็ว จึงเป็นข้อพึงระวังทางเศรษฐกิจของเวียดนามประการหนึ่ง

2. ขาดดุลการค้า ดุลการค้าของเวียดนามขาดดุลเพิ่มขึ้น 15% เป็นยอดขาดดุล 3,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 9 เดือนแรก 2548 เนื่องจากเวียดนามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน แม้ว่าการส่งออกของเวียดนามค่อนข้างแจ่มใสก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นรวดเร็วในช่วงนี้ คาดการณ์ว่าเวียดนามประสบปัญหาขาดดุลการค้าและปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นในปีนี้ ประมาณว่ายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามจะมีสัดส่วนประมาณ 4.7% ของ GDP ในปีนี้ เทียบกับสัดส่วน 3.8% ในปี 2547 อย่างไรก็ตาม การที่เวียดนามยังคงมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินลงทุนจากต่างประเทศและเงินส่งกลับประเทศของชาวเวียดนามที่อยู่นอกประเทศ มีส่วนช่วยพยุงฐานะทางการเงินของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เวียดนามต้องเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ พร้อมกับดำเนินมาตรการรณรงค์ประหยัดการใช้พลังงานภายในประเทศอย่างจริงจัง คาดว่าจะช่วยชะลอยอดขาดดุลการค้าของเวียดนามมิให้เพิ่มขึ้นรวดเร็วนัก มิฉะนั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศต่อไป

3. ผลผลิตทางการเกษตรลดลง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ กาแฟและข้าว มีแนวโน้มว่าปริมาณผลผลิตจะลดลงในช่วงฤดูการเพาะปลูกปี 2548/49 อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ

? การผลิตเมล็ดกาแฟของเวียดนาม ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้งตอนต้นปี ทำให้เมล็ดกาแฟที่จะเก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตนี้ (ตุลาคม 2548 – กันยายน 2549) มีขนาดเล็กลง ประมาณว่าเวียดนามจะผลิตเมล็ดกาแฟได้ 700,000 ตันในฤดูการผลิตปี 2548/49 ลดลง 16.7% เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิต 840,000 ตันในฤดูการผลิตปี 2547/48 ทั้งนี้ เวียดนามผลิตเมล็ดกาแฟมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล

ผลผลิตเมล็ดกาแฟที่ลดลงในช่วงฤดูการผลิตปี 2548/49 คาดว่าจะส่งผลให้เวียดนามส่งออกเมล็ดกาแฟชะลอลงตามไปด้วยในปี 2549 หลังจากที่การส่งออกเมล็ดกาแฟของเวียดนามลดลง 20.5% เหลือปริมาณ 726,000 ตันในปีนี้

? ผลผลิตข้าวของเวียดนาม มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวทางตอนเหนือของประเทศ ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมฉับพลันเพราะอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น Damrey ที่พัดเข้าเวียดนามในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเกือบ 2 ล้านไร่ ซึ่งอาจทำให้เวียดนามเก็บเกี่ยวข้าวได้น้อยลงในช่วงฤดูการผลิตปี 2548/49 และมีแนวโน้มว่าทางการเวียดนามอาจจำเป็นต้องระงับการส่งออกข้าวชั่วคราว เพราะเกรงว่าผลผลิตข้าวจะไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ทางการเวียดนามเคยระงับการส่งออกข้าวชั่วคราวไปแล้วระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2548

อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงนี้ได้รับอานิสงส์จากราคาข้าวในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้น ทำให้เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น คาดว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวได้ 4.7 ล้านตันในปีนี้ เทียบกับปริมาณ 4.1 ล้านตันในปี 2547

4. ไฟฟ้าขาดแคลน ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของเวียดนามเพิ่มขึ้นรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยประมาณ 16% ต่อปี หากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของเวียดนามยังคงขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา และเวียดนามยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันกับความต้องการ ก็คาดว่าเวียดนามจะประสบปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในปี 2549-2550 ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและธุรกิจบริการทั่วไป รวมทั้งจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในเวียดนามไม่สดใสเท่าที่ควร ดังนั้น ทางการเวียดนามต้องเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองแห่งอื่นๆ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า อาทิ ลาว จีน เป็นต้น

ความสดใสทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงนี้ น่าจะส่งผลดีแก่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะตลาดเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถรองรับสินค้าส่งออกของไทยได้อีกมาก ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปเวียดนามเพิ่มขึ้น 25% สินค้าไทยหลายรายการเป็นที่ต้องการในตลาดเวียดนาม ส่วนใหญ่ ได้แก่ สินค้าจำพวกวัตถุดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก เส้นใยประดิษฐ์ กากน้ำตาล ผ้าผืน สินค้าเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซิเมนต์ สินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกล สินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น เครื่องสำอาง-สบู่-ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

ขณะเดียวกันการที่เวียดนามมีศักยภาพสูงทางด้านเกษตรกรรม คล้ายคลึงกับประเทศไทย ไทยและเวียดนามจึงน่าจะร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพสูงขึ้นและรับประกันความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเต็มที่ รวมทั้งควรพัฒนาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าดังกล่าว เวียดนาม นับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นภาคเกษตรกรรมอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้เวียดนามเคยพึ่งพาการนำเข้าพืชผลทางการเกษตรในช่วง 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเวียดนามเปลี่ยนฐานะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก ได้แก่ ข้าว กาแฟ ยางพารา พริกไท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น คาดว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ของโลกในเร็วๆ นี้ เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายกระตุ้นให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อส่งออก และขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมการปลูกโกโก้ ทดแทนประเทศ Ivory Coast ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตโกโก้อันดับ 1 ของโลก แต่ประสบภาวะสงครามกลางเมืองเรื้อรัง บั่นทอนสถานการณ์เศรษฐกิจให้อ่อนไหวตามไปด้วย คาดว่าโกโก้น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งของเวียดนามในอนาคต

]]>
25668
2005 Thai Festival in Beijing https://positioningmag.com/7723 Fri, 05 Aug 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=7723

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยได้ร่วมลงนามกับ นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน

30 ปีให้หลัง 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อแสดงถึงความแนบแน่นระหว่างสองชาติ ก่อนที่จะเดินทางไปเยือนบ้านบรรพบุรุษที่ มณฑลกวางตุ้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ไทยคนปัจจุบันก็ขนคณะรัฐมนตรี และคณะนักธุรกิจระดับบิ๊กของไทยชุดใหญ่ มาเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการต้อนรับจากผู้นำจีนอย่างดี

ในยุคปัจจุบัน ที่สนามรบทางอุดมการณ์ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสนามรบทางการค้า และการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยจีนกำลังคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ส่วนสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนก็ก้าวหน้าไปในทุกระดับ โดยเฉพาะ การค้า การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม-ความรู้ทั้งหลาย

วันที่ 1-3 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่สวนสาธารณะเฉาหยาง กรุงปักกิ่ง ทางฝ่ายไทยและจีนจึงร่วมกันจัดเทศกาลไทยขึ้นเพื่อเผยแพร่ สินค้าไทย การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมไทยขึ้น โดยบรรยากาศนั้นเต็มไปด้วยความคึกคัก

]]>
7723
ธนาคารไทยพาณิชย์ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน https://positioningmag.com/23624 Fri, 01 Jul 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=23624

ธนาคารไทยพาณิชย์ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (The Export-Import Bank of China) จับมือพันธมิตรมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ได้รับเลือกเป็นธนาคารไทยแห่งเดียวที่เชื่อมโยงบริการด้านเงินทุน สินเชื่อระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการ พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินโครงการร่วมทุน สินเชื่อนำเข้า-ส่งออก โปรเจ็กต์ลงทุนข้ามชาติในอุตสาหกรรมหนัก พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การก่อสร้าง ผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยพิธีลงนามข้อตกลงครั้งสำคัญได้ จัดขึ้นในนามรัฐบาลไทยและจีน ณ People’s Great Hall of China กรุงปักกิ่ง มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเวิ่น เจียเป่า เป็นประธาน

ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าปัจจุบันจีนเป็นที่หมายของธุรกิจการค้าและการลงทุนจากทั่วโลก ส่งผลให้การขยายธุรกิจเข้าไปในจีนทวีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างมาก ในส่วนของธนาคาร ไทยพาณิชย์มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก The Export- Import Bank of China (China Exim Bank) ให้เป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทหลักในการสนับสนุนการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย-จีนอย่างเป็นทางการ โดยธนาคารจะดำเนินการร่วมกับ China Exim Bank ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของโลก ในการเป็นช่องทางจัดหาและระดมเงินทุน-สินเชื่อสกุลเงินบาท-หยวนให้กับโครงการร่วมทุน แผนการลงทุนของเอกชนในธุรกิจอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลของ 2 ประเทศให้การสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหมืองแร่ ก่อสร้าง ฯลฯ สินเชื่อการนำเข้าและส่งออก ตลอดจนการรับรองธุรกรรมและดำเนินการตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสองประเทศในระยะยาว

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแผนการขยายบทบาทธุรกิจในจีนของธนาคารว่า ในฐานะที่จีนเป็นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจการค้าโลกและเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยในปี 2547 ไทยและจีนมีปริมาณการส่งออก-นำเข้าสินค้าสูงถึง 15,266 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท ธนาคารจึงเล็งเห็นความสำคัญในการที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยมีความคล่องตัวในการเข้าไปลงทุนและทำธุรกิจในประเทศจีน โดยธนาคารจะมีบทบาทด้านการสนับสนุนเงินทุน สินเชื่อ ขั้นตอนทางเอกสารและการทำ ธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Export Seller’s Credit, Export Buyer’s Credit, การออกและรับรอง Letter of Credit ต่างๆ, การโอน-เรียกเก็บเงิน, concessionary loan, on-lending loan ฯลฯ ขณะเดียวกันธนาคารได้ทำข้อตกลงกับ China Exim Bank ในการเป็นพันธมิตรดำเนินการลักษณะเดียวกันในฝั่งจีน เพื่อที่จะสนับสนุนเอกชนจีนให้เข้ามาลงทุนธุรกิจในไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณการลงทุนและการค้าแล้ว ยังเป็นการประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่าง 2 ชาติในเวทีเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

ทางด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย Mr. Yang Zilin ประธาน The Export – Import Bank of China กล่าวว่า นับตั้งแต่ ที่จีนเปิดประเทศในปี 2521 จีนได้ติดต่อและประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศมาโดยตลอด และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยในปี 2547 ที่ผ่านมา มีเอกชนจีนเข้าไปลงทุนธุรกิจในไทยรวมมูลค่ากว่า 4,660 ล้านบาท ทั้งนี้ China Exim Bank ซึ่งมีนโยบายหลักสนับสนุนการค้า-การลงทุนของเอกชนจีนในต่างประเทศ มั่นใจว่าข้อตกลงระหว่างธนาคารและธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเงินแก่เอกชนทั้งสองฝ่าย และนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของสองประเทศต่อไปในอนาคต

The Export – Import Bank of China ซึ่งมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 36,900 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.48 ล้านล้านบาท (ข้อมูลสิ้นปี 2547) และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดในบรรดาธนาคารจีนเทียบเท่าฐานะความแข็งแกร่งทางการเงินของประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2537ภายใต้การควบคุมโดยตรงของคณะรัฐบาลจีน มีเป้าหมายส่งเสริมการส่งออกเพื่อสนับสนุนนโยบาย “go global” ของรัฐบาลที่ต้องการในการส่งเสริมการส่งออกสินค้า เพิ่มขีดสามารถการแข่งขันของเอกชนจีน และกระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าในเวทีโลก

]]>
23624
ไทยพาณิชย์กระชับสัมพันธ์การค้าการลงทุนไทย – จีนจับมือพันธมิตรแดนมังกรเปิดประตูเศรษฐกิจเอเชียสู่เวทีโลก https://positioningmag.com/23561 Thu, 30 Jun 2005 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=23561

ไทยพาณิชย์เดินเกมรุกบุกตลาดจีน ผนึกธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (China Exim Bank) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน เปิดประตูเชื่อมโยงการค้าการลงทุนภูมิภาคเอเชียสู่ทั่วโลก ส่งเสริมและขยายโอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยธนาคารเป็นสถาบันการเงินไทยที่ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการในการมีบทบาทหลักสนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อ ตลอดจนบริการด้านผลิตภัณฑ์การค้าต่างประเทศให้กับธุรกิจไทยและจีน

ข้อตกลงระบุถึงสาระสำคัญในการให้บริการด้านการเงิน สินเชื่อประเภทต่างๆ เพื่อรองรับธุรกรรมและดำเนินการตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเพื่อมุ่งขยายโอกาสและเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะในโครงการที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายให้การสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมหนัก การก่อสร้าง การส่งออกนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าไฮเทค ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ฯลฯ และที่สำคัญ ข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และ China Exim Bank ในการยกระดับและขยายขอบข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองประเทศต่อไป

พิธีลงนามข้อตกลงระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และ China Exim Bank โดยดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และ มร.หยาง จือหลิน (Mr. Yang Zilin) ประธาน China Exim Bank จะจัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ณ People’s Great Hall of China กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในโอกาสการฉลองความสัมพันธ์ 30 ปีไทย-จีน โดยมีฯพณฯนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และฯพณฯประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เป็นประธานในพิธี

]]>
23561