แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่า “MBA” สามารถตอบโจทย์ในโลกการทำงานที่แท้จริงอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะถูกมองว่าเป็นปริญญาทางการบริหารจัดการทั่วไป มุ่งไปยังความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจ จึงไม่ตอบสนองต่อตลาดที่นับวันจะซับซ้อนและมีความเฉพาะตัวมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยธุรกิจหลายแห่งพยายามเปลี่ยน MBA มาเน้นความรู้เฉพาะด้านมากขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี การศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจนี้ยังคงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ซึ่งผลการสำรวจพบว่าเป้าหมายส่วนใหญ่ของคนเรียน MBA คืออนาคตการงานที่ดีขึ้น (69.4%) เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ (53.3%) และสร้างเครือข่ายด้านวิชาชีพ (41.1%)
เหตุผลที่คนทั่วโลกเลือกเรียน MBA (%)
ศึกษาต่อ 22.0
ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 26.9
สร้างเครือข่ายวิชาชีพ 41.1
เปลี่ยนอาชีพ 33.8
ปรับปรุงอนาคตด้านการงาน 69.4
เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ 53.3
ก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง 23.9
อื่น ๆ 2.6
แหล่งที่มา – ผลสำรวจผู้สมัครเรียนต่อ MBA โดย TopMBA.com ปี 2007
สถาบัน MBA คุณภาพดีมีอยู่ทั่วโลก
ในปัจจุบันความนิยมศึกษาต่อด้านธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่ที่ อเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียอีกต่อไปแล้ว แต่เปิดกว้างไปทั่วโลก แม้แต่หลักสูตรการศึกษาภาคปกติ (Full-time) ยังต้องแข่งขันกับโปรแกรมการเรียนสุดสัปดาห์ หรือการศึกษาทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ดังนั้นมหาวิทยาลัยทั่วโลกย่อมแข่งขันขับเคี่ยวกันด้านเนื้อหาและหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดใจผู้สนใจศึกษาต่อจากทั่วสารทิศ
นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านภาษาก็หมดไป เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ของประเทศในแถบยุโรปและเอเชียที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ต่างนำเสนอหลักสูตรระดับปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษ อีกทั้งมีคอร์สให้เรียนเฉพาะด้านมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั่วไปในปัจจุบัน
ผู้สมัครหลักสูตร MBA (Master of Business Administration) สนใจเลือกสถาบันจากประเทศนอกตลาดดั้งเดิมมากขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าและความแตกต่างให้กับตัวเอง เพราะตระหนักแล้วว่าคุณภาพหลักสูตรไม่แตกต่างกัน ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนมากกว่า อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
ทั้งนี้ พบว่ายุโรปมักเป็นทางเลือกแรกของผู้สมัครที่ใฝ่หาประสบการณ์และสัมผัสมุมมองธุรกิจระดับนานาชาติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้มีผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจหาข้อมูลและประสบการณ์ด้านนี้เพิ่มขึ้น ทำให้สถาบัน MBA ในยุโรปใช้กลยุทธ์ดึงดูดใจนักศึกษาต่างชาติด้วยการประกาศว่าประเทศของตัวเองเป็น “หัวใจของยุโรป” หรือไม่ก็เป็น “ประตูสู่ยุโรป” เช่น เนเธอร์แลนด์ หรือเบลเยียม เป็นต้น
ใบเบิกทางสู่ประสบการณ์ระดับโลก เปิดมุมมองระดับสากล
ขณะเดียวกัน บริษัททั้งหลายเปิดกว้างจ้างแรงงานจากทุกแห่งหนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลสำรวจปี 2007 จากบริษัทจำนวนทั้งสิ้น 489 แห่ง ของ TopMBA.com พบว่าบริษัท 58 รายสนใจว่าจ้างเฉพาะคนที่จบ MBA จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ขณะที่คะแนน GMAT ระดับสูงสุดจำนวนมากเป็นของนักศึกษาชาวเอเชีย ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีที่นั่งในสถาบันชั้นนำมากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางตลาดโลกไร้พรมแดน การเรียน MBA ช่วยเปิดโลกทัศน์และวิธีคิดของผู้เรียนให้กว้างไกล อีกทั้งยังมอบโอกาสการทำงานต่างแดน “การเรียนจบด้าน MBA จากมหาวิทยาลัยชั้นนำช่วยเบิกทางให้คนรุ่นใหม่ในเอเชียก้าวไปสู่อาชีพในระดับสากล เมื่อก่อนผมทำงานด้านโฆษณาในเกาหลี กรอบวิสัยทัศน์จำกัดอยู่ในระดับประเทศเท่านั้น พอจบ MBA ผมก็ได้รับข้อเสนอให้ทำงานกับ Saatchi & Saatchi ณ กรุงลอนดอน ต่อมากลายเป็น COO (Chief Operating Officer) ให้กับ Yahoo Asia ดังนั้น วิสัยทัศน์ระดับโลกมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งบริษัทใหญ่ในเกาหลีเช่น Sumsung หรือ LG ก็ยังต้องการคนเรียนจบ MBA” Sei-Woong Yoon ซีอีโอของ Overture Korea กล่าว
ความต้องการของตลาดแรงงานในเอเชียดูจะเน้นทักษะเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น ดังเช่นที่ T. Takenouchi จากบริษัท Copernicus Associates ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า “เราสนใจคนเรียนจบ MBA ที่มีทักษะระหว่างบุคคลโดยต้องมีความเข้าใจการตลาด การเงิน และการวางแผนกลยุทธ์เป็นอย่างดี” ทำให้ผู้เรียน MBA มุ่งไปยังหลักสูตรที่เน้นพัฒนาการสื่อสาร ทักษะระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills) และคุณลักษณะของความเป็นผู้นำ (Leadership Traits) เป็นหลัก
ณ วินาทีนี้ ตลาดจีนนับว่ามีความร้อนแรงมากที่สุด จากเสียงยืนยันของ Michael Yang ผู้จัดการทั่วไปด้านการตลาดแห่ง Motorola (China) ที่ว่า “คนที่จบ MBA หลั่งไหลเข้ามาทำงานในจีนมากขึ้น พวกเขาไม่ได้สนใจว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำจะเริ่มต้นเท่าไร เพราะรู้ว่ามีโอกาสต่อยอดในอนาคต เนื่องจากค่าตอบแทนของคนที่มีดีกรีด้านนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ15 ต่อปี” นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเมืองจีนจะประสบกับภาวะขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่จบ MBA ในอนาคตอีกด้วย “เพราะมีเด็กจบใหม่ในประเทศเพียง 10% เท่านั้นที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการทำงานในบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีน”
ค่าตอบแทนในตลาดเอเชียของคนที่เรียนจบ MBA (หน่วยเป็นยูเอสดอลลาร์)
สิงคโปร์ 84, 983
ฮ่องกง 62, 500
ไต้หวัน 45, 000
จีน 36, 307
อินเดีย ไทย
แหล่งที่มา – ผลสำรวจโดย TopMBA.com ปี 2007
“ที่ปรึกษาด้านไอที” – อาชีพมาแรงแห่งอนาคต
แนวโน้มที่เกิดขึ้นในตลาดงานและการศึกษาทั่วโลกพบว่า การให้คำปรึกษาด้านการบริหาร (Management Consultancy) กลายเป็นอาชีพใฝ่ฝันสำหรับคนจบหลักสูตร MBA และบริษัททั่วไปมีความต้องการว่าจ้างบุคลากรในด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่ปรึกษาที่ตลาดแย่งตัวกันนั้นต้องสามารถวางแผนกลยุทธ์ควบคู่ไปกับให้คำแนะนำการบริหารธุรกิจ โดยพวกเขาจะมีโอกาสในการทำงานครอบคลุมอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น บริษัทด้านกลยุทธ์ (เช่น McKinsey & Company) กลุ่มบริการธุรกิจขนาดใหญ่ (เช่น IBM) รวมไปถึงแผนกที่ปรึกษาในบริษัท รวมไปถึงตลาดใหม่อย่างในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งตัวแทนฝ่ายสรรหาบุคลากรจาก Boston Consulting Group ยอมรับว่า “งานที่ปรึกษาเป็นงานระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการค้าและการลงทุนขยายพื้นที่ไปยังตะวันออกมากขึ้น”
เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งที่การให้คำปรึกษาด้านสารสนเทศ (IT Consultancy) กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากผลสำรวจของ Economist Intelligence Unit ในปี 2006 พบว่า 69% ของผู้บริหารจากองค์กรระดับโลกเห็นว่าบทบาทของไอทีเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายตามความเชื่อเดิม แต่จะตัวช่วยสร้างยอดรายรับให้กับองค์กรในอนาคต จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่สถาบันธุรกิจชั้นนำพยายามผนวกกลุ่มวิชาศึกษาไอทีเชิงกลยุทธ์ลงในหลักสูตร MBA ในขณะนี้
MBA ออนไลน์ และวัย 40 ก็เรียนได้
ปัจจุบันมีหลักสูตรทางเลือกสอดคล้องความต้องการและข้อจำกัดปลีกย่อยของนักศึกษามากมาย พบว่า การเรียน MBA ออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่ยอมทิ้งงานเพราะ “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” และต้องเดินทางตลอดเวลา ทั้งนี้ หลักสูตรการเรียนออนไลน์ได้รับการรับรองคุณภาพแล้วว่าเทียบเท่ากับการเข้าชั้นเรียน ยกตัวอย่างเช่น Kelley Direct Online ของ Indiana University
การเรียนทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมักควบคู่ไปกับหลักสูตร EMBA (Executive MBA) สำหรับคนที่ประสบการณ์ในตำแหน่งบริหารอยู่แล้ว หรือไม่ก็คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเอื้ออำนวยให้ผู้บริหารสามารถทำงานไปเรียนไปอย่างต่อเนื่องได้ทุกที่ทั่วโลก
ผู้บริหารหญิงจะมีบทบาทในการบริหารมากขึ้น
จากความเชื่อและเหยียดเพศดั้งเดิมว่ามนุษย์เพศแม่มักใช้อารมณ์ในการทำงาน ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไปแล้วหลังจากผู้หญิงคนแล้วคนเล่าพิสูจน์ความสามารถด้านการบริหาร เทคนิคและการเจรจาต่อรองให้ประจักษ์ต่อสายตาเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น ผู้หญิงก้าวเข้ามามีส่วนร่วมกับโลกธุรกิจยุคใหม่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจจากการ World MBA Tour ของQS ปี 2006 พบว่า 38%ของผู้เข้าชมงานเป็นผู้หญิง จากปีก่อนเพียง 31% ซึ่งพวกเธอเชื่อมั่นว่าการศึกษาต่อ MBA เป็นวิธีการแสดงตนให้องค์กรเห็นถึงความตั้งใจทำงาน และศักยภาพที่จะเติบโตก้าวหน้าเชิงวิชาชีพเทียบเท่ากับเพศชาย
ปัจจัยทั่วไปในการพิจารณาหลักสูตรและมหาวิทยาลัย
– คุณภาพ เวลาและค่าใช้จ่าย – แม้หลักสูตรในโปรแกรมขึ้นกับสถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ผู้สมัครควรพิจารณาว่าหลักสูตรนั้นมีคุณภาพตามความต้องการ คุ้มกับเวลา พลังงาน และค่าใช้จ่ายที่จะเสียไปหรือไม่
– อันดับหรือชื่อเสียงของสถาบันศึกษา/คณะนั้นในระดับสากล – จากองค์ประกอบ 3 อย่าง : คณะ เพื่อนร่วมชั้นเรียน และหลักสูตรการเรียนการสอน สามารถวิเคราะห์ได้จากข้อมูลที่แสดงถึงความรู้และประสบการณ์ของคณะ เช่น เน้นทฤษฎี ภาคปฏิบัติ หรืองานวิจัย มี ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานเป็นที่ยอมรับกันหรือไม่
– ความหลากหลายและเครือข่ายวิชาชีพในอนาคต และอัตราความสำเร็จในการหางานทำหลังเรียนจบ – พิจารณาได้จาก Requirement ของหลักสูตร เช่น ผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ในการทำงานหรือไม่ ด้านไหน
– ตำแหน่งที่ตั้งและการบริการอื่นๆ ของสถาบัน เช่น ที่พัก ทุนการศึกษา ห้องสมุด หน่วยแนะแนวการศึกษา และการดูแลเด็กเล็ก เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้สมัครเรียน MBA ต้องวางแผน และพิจารณาปัจจัยต่างๆ ตามความเป็นจริงและรอบคอบ เนื่องจากการเรียนเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เพื่ออาชีพในอนาคต
QS World MBA Tour
วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2550 เวลา 17:00 – 21:00
ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ 494 ถ. ราชดำริ กรุงเทพฯ 10330
ขอเชิญพบกับตัวแทนมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกในงาน รวมทั้ง :
– ทุนการศึกษามูลค่า US$ 1,100,000+
– เวิร์คช็อปกลยุทธ์สมัครและสอบ GMAT
– คำแนะนำด้านอาชีพจากผู้ว่าจ้างและศิษย์เก่าหลักสูตร MBA
– ตัวอย่างชั้นเรียน MBA จากโปรเฟสเซอร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ
– ฟรีคู่มือ TopMBA Career Guide สำหรับ 100 ท่านแรกที่เข้าชมงาน
ข้อมูลจาก QS TopMBA.com
ฟิลาเดลเฟีย –(บิสิเนส ไวร์)–13 เม.ย. 2549 – หลักสูตรปริญญาโทสาขาธุรกิจระหว่างประเทศของ Fox School of Business & Management แห่งมหาวิทยาลัยเทมเปิล ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 20 อันดับหลักสูตรยอดเยี่ยมของประเทศ (อันดับที่ 18) เป็นปีที่สามติดต่อกันในการจัดอันดับ “บัณฑิตวิทยาลัยชั้นนำ” ประจำปี 2550 โดย U.S. News & World Report ที่มีการประกาศไปเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ หลักสูตร MBA ของ Fox School ยังได้รับการเลื่อนอันดับขึ้นมาอีกเป็นปีที่สามติดต่อกันอีกด้วย
“การจัดอันดับนี้เป็นการยอมรับในชื่อเสียงของหลักสูตร International MBA ของ Fox School ซึ่งใช้เวลาศึกษาเพียงหนึ่งปีในสามทวีป ด้วยคุณภาพการสอนและการวิจัยของคณะ รวมทั้งความมุ่งมั่นพยายามของคณาจารย์ของสถาบันบริหารธุรกิจสากล (Institute for Global Management Studies – IGMS) นาย Arvind Phatak ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของ IGMS กล่าว “นอกจากนี้ผมยังภาคภูมิใจที่เราได้รับการเลื่อนอันดับสูงขึ้นในแต่ละปีอีกด้วย” เขากล่าวเสริม
ทั้งนี้ หลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศของ Fox ได้รับการสนับสนุนด้วยคุณภาพระดับสูงของคณะศึกษา ประวัติอันโดดเด่นของการเป็นศูนย์วิจัยและธุรกิจระหว่างประเทศ (Center for International Business and Research – CIBER) ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยที่มีอยู่เพียง 30 แห่งในสหรัฐ รวมทั้งชื่อเสียงที่โด่งดังของวารสารที่สถาบันแห่งนี้ได้ผลิตออกมา นั่นก็คือ “วารสารการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ” (Journal of International Management) ซึ่งมีบรรณาธิการคือ Masaaki “Mike” Kotabe ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการบริหารทั่วไปและการบริหารเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งศาสตราจารย์ทางด้านธุรกิจและการตลาดระหว่างประเทศ
หลักสูตร International MBA (IMBA) ของ Fox ซึ่งมีลักษณะพิเศษของหลักสูตรที่ทำการศึกษาในเมืองสำคัญในต่างประเทศสามแห่ง อันได้แก่ ปารีส หรือมุมไบ, ฟิลาเดลเฟีย และโตเกียว ซึ่งอยู่ในทวีปที่ต่างกันสามทวีป ถือเป็นจุดสำคัญที่กำหนดไว้ของหลักสูตรปริญญาโทต่างประเทศของสถาบัน ตามหลักสูตร IMBA ดังกล่าว นักศึกษาจะต้องใช้เวลาศึกษาในสถาบันร่วมซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและอินเดีย และในฟิลาเดลเฟียเพื่อทำโครงการเชิงปรึกษากับผู้ประกอบการที่มาจากทั่วโลกก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเทมเปิล วิทยาเขตญี่ปุ่น
นอกจากหลักสูตร MBAของ Fox School จะได้รับการจัดอันดับทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศให้อยู่ในระดับต้นๆ เป็นปีที่สามแล้ว หลักสูตรนี้ยังติดอันดับใน 75 หลักสูตรยอดเยี่ยมในประเทศ (อันดับที่ 58) และติดอันดับใน 20 อันดับหลักสูตรยอดเยี่ยมของมหาวิทยาลัยของรัฐในเมืองใหญ่ของสหรัฐอีกด้วย Fox School และ Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เป็นหลักสูตร MBA แบบเต็มเวลาเพียงหลักสูตรเดียวในเขตฟิลาเดลเฟียที่ได้รับการจัดอันดับโดย U.S. News & World Report
“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ U.S. News & World Report ได้ยอมรับในความเป็นเลิศของหลักสูตร MBA ของเรา” M. Moshe Porat คณบดีของ Fox School กล่าว หลักสูตร MBA ของ Fox School ได้รับการจัดอันดับโดย U.S. News เป็นปีที่ห้าติดต่อกันแล้ว
ทั้งนี้ การสำรวจของ U.S. News ได้วัดคุณภาพและความเหมาะสมที่จะได้รับเลือก รวมทั้งความสำเร็จในวิชาชีพของผู้สำเร็จการศึกษาของหลักสูตร MBA ต่างๆ เพื่อนำไปทำการจัดอันดับ คุณภาพได้รับการประเมินผ่านการสำรวจของบรรดาคณบดีของสถาบันธุรกิจและผู้อำนวยการของหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งการสำรวจอีกแบบขององค์กรธุรกิจที่คัดสรรพนักงานเข้าทำงาน การที่สถาบันหนึ่งๆ จะได้รับการคัดเลือกจะกำหนดจากเปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาที่รับเข้ามาศึกษา คะแนน GMAT และเกรดเฉลี่ยในระดับปริญญาตรีของนักศึกษาที่รับเข้ามา นอกจากนี้ การจัดอันดับยังให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความสำเร็จในวิชาชีพของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยวัดจากเงินเดือนเริ่มต้นโดยเฉลี่ยและโบนัส รวมทั้งเปอร์เซ็นต์ของผู้สำเร็จการศึกษาที่ได้รับการว่าจ้างทำงานนับตั้งแต่จบการศึกษาและหลังจากจบสามเดือน
“การจัดอันดับเมื่อเร็วๆ นี้ของ U.S. News ไม่เพียงแต่แสดงถึงความแข็งแกร่งของสถาบันของเราทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการที่บริษัทต่างๆ ที่คัดสรรพนักงานเข้าทำงานได้รับรู้และยอมรับในหลักสูตรของเราและผู้ที่สำเร็จการศึกษาทวีมากขึ้นเรื่อยๆ” Robert F. Bonner รองคณบดีของหลักสูตร MBA และ MS กล่าว “อันดับของเราเลื่อนขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ในระยะสามปีที่ผ่านมา ได้ไต่ขึ้นมาเกือบ 10 จุดแล้ว ความสามารถในการรักษาระดับของเราให้อยู่ในอันดับต้นๆ ได้คือสิ่งที่บรรดาศิษย์เก่า นักศึกษา และผู้ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ คาดหวังจาก Fox”
ในฤดูใบไม้ร่วง ปี 2548 U.S. News ให้การยอมรับหลักสูตร MBA ของ Fox School ทางด้านการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัย (Risk Management and Insurance – RMI) ว่าเป็นหลักสูตรยอดเยี่ยมอันดับเจ็ดในประเทศ และให้หลักสูตรปริญญาตรีทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ (IB) เป็นอันดับที่ 16 จากหลักสูตรต่างๆ มากกว่า 400 หลักสูตรในประเทศ
Fox School of Business and Management แห่งมหาวิทยาลัยเทมเปิล เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด และให้การศึกษาที่กว้างขวางครอบคลุมมากที่สุดในเขตฟิลาเดลเฟีย และเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีนักศึกษามากกว่า 5,500 คน คณะศึกษาแบบเต็มเวลา 147 คณะ และศิษย์เก่า 45,000 คน เมื่อเร็วๆ นี้ ในเดือนมกราคม ปี 2549 หลักสูตร MBA ของ Fox School ได้รับการจัดอันดับจาก Financial Times ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรยอดเยี่ยม 20 หลักสูตรในบรรดามหาวิทยาลัยของรัฐในสหรัฐ และได้รับอันดับ 1 ใน “Value for Money” สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐในเมือง นอกจากนี้ Fox School ยังเป็นสถาบันการศึกษาของสหรัฐเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 10 อันดับของสถาบันระหว่างประเทศทั่วโลก และได้รับอันดับ 1 โดยจัดตามความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ ทั้งนี้ หลักสูตรของ Fox School ซึ่งได้รับการรับรองจาก AACSB International (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) ยังได้รับการจัดอันดับระหว่างประเทศ รวมทั้งในประเทศเองโดยสิ่งพิมพ์ทางธุรกิจชั้นนำ เช่น นิตยสาร The Princeton Review and Entrepreneur สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.fox.temple.edu
ติดต่อ: The Fox School of Business and Management at Temple University
ลิซ่า เมริตซ์, 215-204-6427
[email protected]
กรุงเทพฯ– 28 กุมภาพันธ์ 2549–ซินเน็ค (ประเทศไทย) ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์ฯ และผู้ให้การสนับสนุน กำเนิดโครงการ “Modern IT CEO Program” มุ่งเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้บริหารไอทียุคใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการประสบความสำเร็จและยั่งยืน ระบุโครงการนี้เกิดจากแนวคิดที่จะให้ผู้แทนจำหน่ายสามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีผลกำไร และไม่เน้นแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว ทั้งยังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ซินเน็ค (ประเทศไทย) ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ให้การสนับสนุนจากภาคเอกชน จัดทำโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการไอทียุคใหม่ (Modern IT CEO Program) โดยมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความรู้และทักษะการบริหารงานธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการด้านไอที ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้น (Mini MBA) ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีความรู้ความสามารถในการแข่งขัน และมีศักยภาพด้านการบริหารและการจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการ Modern IT CEO Program เพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการไอทียุคใหม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจไอทีในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการด้านไอทีจะต้องใช้ความรู้และวิชาการสมัยใหม่เข้ามาช่วยบริหารและจัดการธุรกิจของตน เพื่อให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ซินเน็ค (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดจำหน่ายสินค้าด้านไอทีที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ยาวนานในเมืองไทย ได้ตระหนักเห็นความสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพให้แก่ตัวแทนจำหน่ายของตน โดยต้องการให้ตัวแทนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่มุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าสามารถนำเอาทักษะความรู้ต่างๆ ที่ได้รับถ่ายทอดผ่านโครงการ Modern IT CEO Program ไปประยุกต์ใช้เพื่อบริหารธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ มีผลกำไรและสามารถเติบโตแบบยั่งยืน
ประธานกรรมการบริหารของซินเน็ค (ประเทศไทย) กล่าวอีกว่า บริษัทฯ จะคัดเลือกผู้บริหารจากตัวแทนจำหน่ายระดับท็อปในแต่ละกลุ่มเพื่อให้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 65 ท่าน ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเข้ารับการอบรมอย่างน้อย 80% ของระยะเวลาการอบรมทั้งหมดจึงจะได้รับวุฒิบัตรจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ซินเน็คใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการ Modern IT CEO Program ประมาณ 10 ล้านบาท
“การที่ซินเน็คประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเรามีเครือข่ายที่ดีเยี่ยมกระจายอยู่ทั่วประเทศ และโครงการ Modern IT CEO Program จะช่วยสนับสนุนและสร้างศักยภาพอันแข็งแกร่งให้แก่เครือข่ายของเรามากยิ่งๆ ขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าวเพิ่มเติม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดนุชา คุณพนิชกิจ คณบดีคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ซินเน็คเป็นผู้จุดประกายแนวคิดในการจัดทำโครงการครั้งนี้ จึงได้ร่วมกับทางจุฬาฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการถ่ายทอดความรู้ในสาขาต่างๆ และเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษา โครงการอบรมหลักสูตร Mini MBA เพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการไอทียุคใหม่ถือเป็นรากฐานในการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้บริหารเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาวงการไอทีและต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
สำหรับวิธีการอบรมจะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติผ่านการบรรยาย การยกปัญหาตัวอย่าง กรณีศึกษา การเสวนา การเล่นเกมธุรกิจ และการจำลองสถานการณ์เพื่อทำเวิร์คช้อป เป็นต้น โดยวิทยากรของโครงการประกอบด้วยคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ นอกจากการอบรมที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังจะมีการอบรมนอกสถานที่และการเดินทางไปชมงานที่บริษัท ซินเน็ค เทคโนโลยี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ณ ประเทศไต้หวัน
โครงการอบรมหลักสูตร Mini MBA เพื่อเสริมสร้างผู้ประกอบการไอทียุคใหม่ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2549 รวมระยะเวลาการอบรมทั้งสิ้น 153 ชั่วโมง แบ่งเป็นการอบรมและถ่ายทอดองค์วามรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ 120 ชั่วโมง การจัดเสวนาในหัวข้อต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการด้านธุรกิจไอทีจำนวน 24 ชั่วโมง และอีก 9 ชั่วโมงจะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าอบรมในรูปแบบการจัด Walk Rally
“ในช่วงที่ผ่านๆ มา พบว่าตัวแทนจำหน่ายของเราบางรายได้ประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ และมีการห้ำหั่นด้านราคากันอย่างดุเดือด ซึ่งไม่ส่งผลดีในการทำธุรกิจในระยะยาว หรือบางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ บริษัทหวังว่าความรู้และวิชาการที่จะนำเสนอผ่านโครงการ Modern IT CEO Program จะช่วยให้ผู้บริหารมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น การบัญชี การเงิน การตลาด การจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ ความรู้ด้านกฎหมาย และด้านเทคโนโลยี เพื่อนำไปปรับปรุงแผนการตลาด และสามารถเพิ่มผลกำไรในธุรกิจ โดยใช้หลักวิชาการบริหารสมัยใหม่ ไม่ได้เน้นสู้กันด้วยราคาเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต ขณะเดียวกัน การร่วมอบรมจะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้า” นายสุพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย
บริษัท เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการบริหารการศึกษา การจัดฝึกอบรมและสัมมนา และธุรการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ร่วมกับหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชนโดยวางวิสัยทัศน์ในการที่จะเป็นผู้นำการบริการความรู้ให้กับประชาชน และองค์กรต่างๆ ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นในการยกระดับความรู้ ส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานให้ความรู้ความสามารถของบุคคลากร และต้องการกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ
ขณะนี้บริษัทฯ ได้เตรียมการเปิดอบรมหลักสูตร Fast MBA รุ่นที่ 6 ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด โดยจะเปิดอบรมในวันที่ 18 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 ณ อาคารวิทยบริการ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน การจัดอบรมในครั้งนี้บริษัทฯ ได้ปรับปรุงเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น นอกจากได้รับความรู้ภาคทฤษฏีแล้วยังได้รับความรู้จากประสบการณ์จริงของวิทยากรชั้นนำของเมืองไทย (รายละเอียดตามเอกสารแนบ) และค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการอบรมสามารถนำไปหักลดหย่อนค่าได้ 200% (ตามพรบ.การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายฝึกอบรม บริษัท เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด โทรศัพท์ 02-937-3535 ต่อ 106 , 02-881-0282 กด 1-2 ติดต่อ คุณวรพจน์ นิลจู หรือคุณสุจินดา ทิพย์จันทร์
แมคลีน, เวอร์จิเนีย–(บิสิเนสไวร์)–4 ม.ค. 2549 – หลักสูตร GMAT (Graduate Management Admission Test) ได้ขยายการครอบคลุมและเปิดให้บริการสอบในศูนย์ทดสอบกว่า 400 แห่งในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกแล้วในขณะนี้ และยังมีการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการทดสอบเพื่อป้องกันการโกงอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบ GMAT แต่ละรายต้องให้ข้อมูลเช่น ลายเซ็นและรูปถ่ายดิจิตอลเมื่อเข้ามาลงทะเบียนครั้งแรกที่ศูนย์การสอบ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในประวัติของผู้สอบ
การปรับปรุงการสอบดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยการเป็นหุ้นส่วนใหม่ระหว่าง Graduate Management Admission Council(R) หรือ (GMAC(R)) เจ้าของหลักสูตร GMAT และบริษัท 2 แห่งที่มีชื่อเสียงในเรื่องการส่งมอบและการพัฒนาการประเมินทางวิชาการระดับชั้นนำคือ Pearson VUE และ ACT, Inc ตามลำดับ
“เราชื่นชมความพยายามของ GMAC ในการให้บริการที่มีคุณภาพสูงในทวีปต่างๆ” นายจาเฟท เอส. ลอว์ ศาสตราจารย์และอดีตคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong กล่าว “เรามอบความไว้วางใจอย่างมากในหลักสูตร GMAT และความสามารถในการคาดการณ์ผลการเรียนของนักศึกษาได้ดีกว่ามาตรวัดที่เป็นกลางอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีและความปลอดภัยในการทดสอบที่ดีขึ้น เราจึงมั่นใจมากขึ้นว่า คะแนนการสอบ GMAT ของนักศึกษาแต่ละคนซึ่งสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยของเราจะสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของพวกเขาว่าจะประสบความสำเร็จในการเรียน”
อย่างไรก็ดี ตัวหลักสูตร GMAT ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยผู้สมัครสอบจะยังคงต้องตอบชุดคำถามที่แตกต่างกันเฉพาะบุคคลเพื่อวัดระดับความสามารถทางคณิตศาสตร์และการพูด และคาดการณ์ผลการเรียนของพวกเขาในคณะบริหารธุรกิจ การสอบที่ได้มาตรฐานดังกล่าวใช้พื้นฐานการวิจัยและประสบการณ์ที่มีมานานกว่า 50 ปีเพื่อรับรองว่า คะแนนของผู้สอบแต่ละคนสามารถนำไปเปรียบกับคะแนนของอีกคนได้ โดยไม่ต้องพิจารณาภูมิหลังของพวกเขา
“สิ่งที่ดีที่สุดมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพราะมีการเข้าถึงได้ทั่วโลกมากขึ้น เทคโนโลยีที่ดีขึ้น และความปลอดภัยที่มากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบที่ผสมผสานกันได้ยอดเยี่ยมสำหรับลูกค้าของเรา” นายเดวิด เอ.วิลสัน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GMAC กล่าว
ด้านบริษัท Pearson VUE ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารการสอบหลักสูตร GMAT ผ่านเครือข่ายศูนย์ทดสอบ ที่มีอยู่ทั่วโลก ก็จะให้บริการในระดับที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้สมัครสอบและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยผู้สมัครสอบจะได้รับคะแนนอย่างเป็นทางการเร็วขึ้นผ่านระบบการรายงานคะแนนแบบออนไลน์ของ Pearson VUE ซึ่งระบบดัง กล่าวยังทำให้สำนักงานรับสมัครเรียนสามารถรับคะแนนของผู้สมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความเข้าใจมากขึ้นว่าจะเปรียบเทียบกับการทดสอบได้อย่างไร
ส่วนบริษัท ACT, Inc. เป็นผู้บริหารจัดการการพัฒนาหลักสูตร GMAT โดย ACT รับผิดชอบในเรื่องการพัฒนาคำถามในข้อสอบ GMAT การจัดลำัดับคำถาม การกำหนดคุณสมบัติของข้อสอบ การให้คะแนนบท ความในการสอบประเมินการเขียนเชิงวิเคราะห์ และทำงานร่วมกับ GMAC เพื่อเพิ่มศักยภาพของข้อสอบให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของโรงเรียนธุรกิจต่างๆ
เกี่ยวกับ GMAC
Graduate Management Admission Council(R) (www.gmac.com) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแมคลีน รัฐเวอร์จิเนีย เป็นองค์กรการศึกษาที่ไม่แสวงผลกำไรซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยด้านบริหารธุรกิจระดับชั้นนำทั่วโลก และเป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นต่อการสร้างการเข้าถึงและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ ข้อสอบหลักสูตร GMAT เกิดขึ้นในปี 2497 และยังคงเป็นข้อสอบแรกและข้อสอบเดียวที่ได้มาตรฐานที่มีการออกแบบเป็นพิเศษสำหรับหลักสูตรการศึกษาบริหารธุรกิจ
ติดต่อ: Graduate Management Admission Council
บ็อบ ลุดวิก, 703-245-4302
[email protected]
หรือ
แซม ซิลเวอร์สไตน์, 703-245-4317
[email protected]
การันตีคุณภาพด้วยรางวัลชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลก Global MOOT CORP? ครั้งล่าสุดเมื่อ 8 พฤษภาคม 2548 ซึ่ง University of Texas at Austin จัดขึ้นทุกปี โดยมีทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก 30 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ละทีมมาจาก Top MBA Programs ไม่ว่าจะเป็น MIT, Harvard, Kellog รวมถึงทีมชนะเลิศจากเวที MOOT CORP? ระดับภูมิภาคในยุโรป ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา
ไอเดียธุรกิจการผลิตสารให้ความหวาน Pure Lite ภายใต้ชื่อบริษัท idyll Life จำกัด ของนักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด (MIM) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีที่มาจากสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มมีคนรู้จักที่เชียงราย ซึ่งมีการปลูกหญ้าหวานจำนวนมากและแปรรูปขายในรูปใบแห้ง เมื่อศึกษาข้อมูลมากขึ้นก็พบว่ามีการใช้พืชตัวเดียวกันนี้ผลิตสารให้ความหวานในระดับอุตสาหกรรมแล้วในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา การทำแผนธุรกิจของนักศึกษากลุ่มนี้จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จนถึงวันนี้นับย้อนไปก็ใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มทีเดียว
หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ นอกเหนือจากศักยภาพในการผลิตและการตลาดแล้ว อยู่ที่การรักษาลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ โดย Pure Lite สกัดจากหญ้าหวานพันธุ์ที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ มีส่วนประกอบสารให้ความหวานที่ชื่อ Rebaudiana-A หรือ R-A สูงกว่าพันธุ์อื่น และใช้กรรมวิธีสกัดแบบใหม่ที่ขจัดสารรสขม Stevioside ออกได้ โดยไม่ใช้เมธานอลซึ่งเป็นอันตรายสำหรับการบริโภคที่พบในวิธีการสกัดทั่วไป ด้วยคุณสมบัติเฉพาะเหล่านี้ Pure Lite จึงเป็นสารให้ความหวานที่มีปริมาณ R-A บริสุทธิ์สูงถึง 95% ทำให้ได้ความหวานสูงถึง 300 เท่าของน้ำตาล ปราศจากแคลอรี และไม่มีรสขม
การวางแผนการตลาดของ idyll Life มุ่งเป้าไปที่สินค้าเพื่อสุขภาพ ที่ปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเห็นโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนา Pure Lite ป้อนอุตสาหกรรม โดยเน้นที่ตลาดกลุ่มสินค้าชาเขียวพร้อมดื่มในประเทศไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านบาทเป็นตลาดแรก ซึ่งก่อนไปคว้าความสำเร็จในเวที Global Moot Corp? ก็ได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มสมุนไพร และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ที่ปราศจากน้ำตาล (Sugar Free) และมีผู้ประกอบการหลายรายตกลงจะนำ Pure Lite ไปทดลองใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อทำตลาดในประเทศและตลาดส่งออกแล้ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น เงินรางวัลจาก 2 เวทีการแข่งขันที่ idyll Life กวาดมาได้ ก้อนแรก 12,500 เหรียญสหรัฐ จากเวที Asia Moot Corp ที่ม.ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 15-17 มีนาคม 2548 บวกกับ 183,500 เหรียญสหรัฐ ที่ได้จากเวที Global Moot Corp? ก็ยังไม่เพียงพอให้สายการผลิตเริ่มเดินเครื่องได้ เพราะตามแผนต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 1,000,000 เหรียญสหรัฐ แต่ด้วยศักยภาพทางธุรกิจของตัวผลิตภัณฑ์เอง ย่อมดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาได้ไม่ช้า
และสำหรับ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ปลุกปั้นนักศึกษากลุ่มนี้ นี่ย่อมนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ที่ผู้บริหารของ ม.ธรรมศาสตร์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ Global MOOT CORP? ที่ The University of Texas at Austin และส่งให้หลักสูตรการบริหารการตลาดของที่นี่ ขึ้นทำเนียบหลักสูตรชั้นนำที่สามารถปั้นนักธุรกิจได้อย่างเห็นจริง
PROFILE – idyll Life
– ทวิภัทร เทศประทีป Vice President of Operation ของโครงการ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Strategic After Sales Marketing Manager บริษัท Daimler Chrysler (Thailand) Co., Ltd รับผิดชอบวางแผนพัฒนางานในด้านการบริการและการตลาดหลังการขายให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Mercedes Benz ทั่วประเทศ
– ปิตินภา รักษ์ไชยวรรณ Vice President of Product Development ของโครงการ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Project Manager 71 Design & Decorate Co., Ltd เป็นผู้ดูแลและวางกลยุทธ์ด้านภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชั้นนำจากต่างประเทศ
– สุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ตำแหน่ง Vice President of Marketing ของโครงการ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับสอง สาขาการบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันเป็นผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทวิจัยการตลาด At Vantage Co., Ltd. มีประสบการณ์การทำวิจัยการตลาดทั้งในภาคธุรกิจและผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
– พรพรรณ วิศิษฏ์วุฒิกุล ตำแหน่ง Vice President of Sales ของโครงการ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขานิเทศศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2543 เริ่มงานในวงการโฆษณากับ Dentsu Thailand Co., Ltd ปัจจุบันทำงานกับ McCann Worldgroup Co., Ltd
– วรรณวิภา ธีระโสภณ ตำแหน่ง Vice President of Finance ของโครงการ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2544 ปัจจุบันดูแลงานด้านการตลาดให้กับบริษัท 3M (Thailand) Co., Ltd. และทำหน้าที่ประสานงานการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท 3M กับบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์
หญ้าหวาน (Stevia)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stevia rebaudiana Bertoni
ลักษณะ : ไม้ล้มลุกอายุประมาณ 3 ปี เป็นพุ่มเตี้ย สูง 30-90 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอกกลับ ขอบใบหยัก มีดอกช่อสีขาว
สรรพคุณเด่น : ใบมีสารหวาน ซึ่งหวานกว่าน้ำตาลทราย 250-300 เท่า แต่ไม่ทำให้อ้วน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก
วิธีใช้ในครัวเรือน : ใช้ใบแห้งใส่แทนน้ำตาล ไม่ควรใส่มากเพราะมีรสหวานมาก
ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป : ชาซอง
ราคาขาย ประมาณ กิโลกรัมละ 450 บาท
ที่มา : มูลนิธิสุขภาพไทย
ชื่อเสียงของอดีตประธานาธิบดี ลี กวน ยิว แห่งประเทศสิงคโปร์นั้น เป็นที่ยอมรับกันดีถึงความสามารถและวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำพาประเทศสิงคโปร์ให้เจริญก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้ แม้ปัจจุบันจะลงจากตำแหน่งแล้ว ก็ยังถูกเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาตามที่ต่างๆ อยู่เนืองๆ ปีที่แล้วก็เดินทางมาบรรยายตามคำเชิญของสมาคมศิษย์เก่า Ex-MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่โรงแรมคอนราด โดยมีผู้บริหารระดับสูงอย่าง อานันท์ ปันยารชุน พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และอีกหลายรายทั้งจากภาครัฐและเอกชนไปร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ล่าสุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จึงได้ทำพิธีเปิด “สถาบันสอนนโยบายสาธารณะลี กวน ยิว” อย่างเป็นทางการ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เปิดทำการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 โดยสถาบันนี้มีที่มาจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กับโรงเรียนกฎหมายเคนเนดี้แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งแต่ปี 2535 โดยถ่ายทอดโมเดลหลักสูตรด้านนโยบายสาธารณะ และดัดแปลงให้เข้ากับทิศทางการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ ถึงปัจจุบันก็ยังคงความร่วมมือทางวิชาการกันอยู่ และมีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และหลักสูตรกันกับฮาร์วาร์ดเป็นระยะ
Mr. Kishore Mahbubani คณบดีของสถาบันสอนนโยบายสาธารณะลี กวน ยิว คนแรกและคนปัจจุบันเป็นอดีตนักการทูตทำงานรับใช้รัฐบาลสิงคโปร์มานานกว่า 33 ปี เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี 2536-2541 ก่อนไปรับตำแหน่งผู้แทนประเทศสิงคโปร์ประจำสหประชาชาติระหว่างปี 2541-2547 เขามีผลงานเขียนที่เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ คือ “Can Asians Think?” ตีพิมพ์ในสิงคโปร์ แคนาดา อเมริกา เม็กซิโก อินเดีย และล่าสุดกำลังจะตีพิมพ์ในจีน นอกจากนั้นกำลังจะออกหนังสือมาอีกเล่มคือ “Beyond the Age of Innocence : Rebuilding Trust between America and the World” ที่จะตีพิมพ์ในนิวยอร์ก
การเกิดขึ้นของสถาบันฯ ในตอนนี้ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความซับซ้อนทั้งในแง่ชนชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และการเมือง ขณะที่สถานการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ไม่หยุดนิ่ง เป้าหมายการบริหารสถาบันฯนั้น เขากล่าวว่า ต้องการจะให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศทางด้านการวิจัย และเป็นสถาบันฝึกอบรมชั้นนำด้านนโยบายสาธารณะของเอเชีย โดยที่จะประสานกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้สนับสนุนทุนการศึกษาและส่งผู้บริหารตลอดจนผู้ที่มีผลการเรียนดีเด่นเข้ามาเรียนที่นี่
“เป้าหมายของเราคือการอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่จะออกไปมีบทบาทสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประเทศ เราไม่มีสถาบันที่จะมาเป็นคู่แข่ง เพราะที่นี่เป็นสถาบันสอนนโยบายสาธารณะแห่งเดียวในเอเชีย สถาบันที่จะนับเป็นคู่แข่งกับเราได้ก็คือโรงเรียนกฎหมายเคนเนดี้แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเราไม่ได้แข่งกัน ตรงกันข้ามเราต่างเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางวิชาการกันมากกว่า”
หลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันนโยบายสาธารณะลี กวน ยิว ในปัจจุบัน มี 2 หลักสูตรคือ Master in Public Policy Programme และ Master in Public Management Programme ซึ่งจะปิดรับสมัครในเดือนมิถุนายน และเริ่มเปิดเทอมในเดือนตุลาคม 2548 ที่จะถึงนี้
เงื่อนไขการสมัคร
– คะแนน TOEFL 580 และ IELTS 6.5
– มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 2 ปี เกี่ยวข้องกับงานบริการสาธารณะ
– ผลการเรียนระดับปริญญาตรี ขั้นต่ำ เกียรตินิยมอันดับ 2 หรือเทียบเท่า
– ผู้สมัครควรมีพื้นฐานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี
– เงื่อนไขอื่นๆ ในการพิจารณาขึ้นกับประวัติการทำงาน ผลงานเขียนบทความหรือแต่งตำรา หรือจดหมายแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ค่าใช้จ่ายในการศึกษา
1. ค่าสมัคร 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่สามารถขอคืนได้ไม่ว่ากรณีใดๆ)
2. ค่าลงทะเบียนแรกเข้า 52.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ (จ่ายครั้งเดียว)
3. ค่าธรรมเนียมสอบ 262.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ (จ่ายครั้งเดียว)
4. ค่าธรรมเนียมการศึกษา 23.50 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี
5. ค่าบริการนักศึกษาและค่ากิจกรรม 67.20 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี
6. ค่าลงทะเบียนเรียน (ทั้งหลักสูตรมี 3 เทอม)
สำหรับนักศึกษาต่างชาติ 2,560 ดอลลาร์สิงคโปร์/เทอม
สำหรับชาวหรือผู้มีถิ่นพำนักในสิงคโปร์ 2,325 ดอลลาร์สิงคโปร์/เทอม
Website