MG – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 31 Aug 2022 08:50:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ส่องกระแส ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ในไทย หลังค่าย ‘จีน’ แห่เข้าไทยชิงตำแหน่งผู้นำตลาด https://positioningmag.com/1398038 Mon, 29 Aug 2022 10:19:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1398038 ตั้งแต่ที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤต ราคาน้ำมัน ประกอบกับที่เห็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนตบเท้าเข้ามาในไทยแทบจะไตรมาสละราย ขณะที่ภาครัฐเองก็ออกมาตรการสนับสนุนถึงส่วนลดต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจนักหากคนไทยจะเริ่มหันมาสนใจจะใช้งาน รถอีวี ดังนั้น เราไปดูกันว่าตลาดในตอนนี้มีค่ายไหนน่าสนใจ และทิศทางของตลาดอีวีไทยเป็นอย่างไรต่อไป

มาตรการลดคาร์บอนตัวจุดกระแสรถอีวี

ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยทาง UN ได้มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงทั่วโลก 45% ภายในปี 2030 และตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยการผลักดันให้ลดใช้รถยนต์สันดาปและเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายประเทศทำ เนื่องจากรถยนต์แบบสันดาปเดิมนั้นปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร แต่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ไม่ปล่อยคาร์บอน

จีน ที่ถือว่าเป็นผู้นำของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถอีวีมาตั้งแต่ปี 2009 โดยในส่วนของผู้บริโภคนั้น รัฐบาลได้มี นโยบายอุดหนุนทางการเงินสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมยกเว้นในภาษีนานถึง 2 ปี โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งเสริมยอดจำหน่ายรถอีวีให้ได้สัดส่วนอย่างน้อย 60% ในปี 2035

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ออกตัวชัดว่าให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 40-50% ภายในปี 2030 โดยสหรัฐฯ ก็มีนโยบายกระตุ้นโดยการมอบเครดิตภาษีให้กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถอีวี สามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์

อย่างใน ยุโรป ทางรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ออกกฎในการ ยุติการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2035 โดยหลายประเทศก็ออกนโยบายกระตุ้นการใช้งานรถอีวีของตัวเอง ตัวอย่างเช่น เยอรมนี ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก ก็มีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเป็นเวลา 4 ปี

มาตรการไทยจุดสำคัญดันตลาดรถอีวี

สำหรับไทยได้วางเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้ที่ 20% ภายในปี 2030 โดยได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมกับออกนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 หรือ รถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน อีกทั้งยังลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เป็น 0% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถอีวี ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2022-2023 ภายในปี 2025 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คือ นำเข้า 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน

ปัจจุบัน มีค่ายรถจากจีน 3 ค่าย ลงนามร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์ ส่วนค่ายรถจากญี่ปุ่นและค่ายยุโรปหลายค่ายอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางกรมสรรพสามิตคาดว่า ค่ายรถทั้งหมดทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป กว่า 80% จะลงนามกับกรมสรรพสามิตได้หมดภายในปีนี้

แน่นอนว่า ทั้งส่วนลดและสิทธิประโยชน์ทางภาษีถือเป็นอีกส่วนที่จูงใจให้คนหันมาใช้รถอีวีมากขึ้น เพราะเทียบกันตรง ๆ รถอีวีราคาจะสูงกว่ารถยนต์สันดาป เนื่องจากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่สูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลใหญ่ก่อนจะเลือกคือ สถานีชาร์จ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 จะต้องมีสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 567 แห่ง เป็น 1,304 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปัจจุบัน นอกจากที่แต่ละค่ายก็มีการเร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่โชว์รูมของแบรนด์ตัวเอง ภาครัฐบาลเองก็เร่งพัฒนา โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือภาคเอกชน ติดตั้งสถานีชาร์จตามปั๊มน้ำมันและพื้นที่เอกชนทั่วไปให้ได้อย่างน้อย 140 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ ส่วน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็มีเป้าติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชนในกรุงเทพฯ 100 หัวจ่าย

นอกจากนี้ บริษัทบางจากฯ ร่วมมือค่ายรถ เร่งติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 500 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ หรือกลุ่ม ปตท.เร่งขยายสถานีชาร์จให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน เป็นต้น

ค่ายจีนดาหน้ายึดตลาดอีวีไทย

ซึ่งนับตั้งแต่ไทยมีนโยบายสนับสนุนรถอีวี อีกทั้งส่วนลดจากรัฐบาลที่ว่าด้วยข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-จีน ซึ่งทำให้จีนส่งรถยนต์มาที่ประเทศไทยได้อย่างปลอดภาษี จะเห็นว่า ค่ายจีน ต่างตบเท้าเข้ามามากหน้าหลายตา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น ผู้นำ ได้ไม่ยาก

เพราะปัจจุบันก็เป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกด้วยส่วนแบ่งตลาด 60% และด้วย ราคา ของรถที่มีราคาไม่ถึงล้านก็เป็นเจ้าของได้ ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นและยุโรปที่ส่วนใหญ่ราคาเริ่มต้น เกือบ 2 ล้านบาท ดังนั้น ไปดูกันว่ามีค่ายไหนบ้างที่น่าสนใจ

MG

ย้อนไปปี 2013 เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ หรือ เอสเอไอซี ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ร่วมทุนกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้ง บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยี่ห้อ เอ็มจี (MG)

ปัจจุบันรถ MG มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย 70-80% โดยส่งออกจำหน่ายไปแล้ว ได้แก่

  • MG HS PHEV รถ SUV ปลั๊กอิน-ไฮบริด ราคาเริ่มต้น 1,359,000 บาท
  • MG ZS EV รถยนต์ SUV ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 1,190,000 บาท
  • MG EP EV Plus รถ Station Wagon ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 998,000 บาท

GWM

เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor : GWM) ถือเป็นค่ายที่ถูกจับตามองตั้งแต่เข้าไทยในปี 2021 เนื่องจากเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อโรงงานต่อจาก General Motor (GM) หรือแบรนด์ เชฟโรเลต ที่ได้ม้วนเสื่อเลิกกิจการในไทยไป พร้อมกันนี้ ค่าย GWM ยังปักธงชัดว่าจะเดินหน้าทำตลาดอีวีโดยเฉพาะ พร้อมกับหอบเงินลงทุนมาถึง 22,600 ล้านบาท

โดยค่าย GWM นั้นมีรถ 4 แบรนด์ย่อย ได้แก่ HAVAL (ฮาวาล) แบรนด์รถเอสยูวี WEY (เวย์) แบรนด์รถเอสยูวีลักชัวรี ORA (โอรา) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า และ GWM POER (จีดับเบิลยูเอ็ม พาวเออร์) แบรนด์รถกระบะ สำหรับประเทศไทย GWM เปิดตัวรถแล้ว 3 รุ่น จาก 2 แบรนด์ มียอดขายรวมทั้งหมด 8,921 คัน ได้แก่

  • Haval H6 ราคาเริ่มต้น 149 ล้านบาท (ยอดขายสะสม 4,859 คัน)
  • Haval Jolion ราคาเริ่มต้น 879,000 บาท (ยอดขายสะสม 2,198 คัน)
  • Ora Good Cat ราคาเริ่มต้น 828,500 บาท (ยอดขายสะสม 1,864 คัน)

NETA

สำหรับค่าย NETA AUTO หรือ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพด้านยานยนต์ไฟฟ้า 100% อีกรายของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 จนมาปี 2018 ทางค่ายก็ออกรถรุ่นแรกในชื่อ NETA No1 (เนต้า นับเบอร์ 1) รถอีวีครอสโอเวอร์ 100% จากนั้นในปี 2020 ก็ได้เปิดตัว NETA U รถ SUV ไฟฟ้า และ NETA V รถซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ และในปี 2022 นี้ ทางค่ายก็เปิดตัวรถอีวีรุ่นล่าสุด NETA S รถซีดาน

ความน่าสนใจของ NETA คือ ภายในระยะเวลา 4 ปี มียอดจำหน่ายรถยนต์รวมกว่า 170,000 คัน โดยในปี 2021 นั้นมีเติบโตสูงกว่า 362% และสำหรับการรุกตลาดโลก NETA ก็ได้เลือกไทยเป็นประเทศแรก โดยได้จัดตั้ง บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด (Neta Auto (Thailand) Co., Ltd.) พร้อมกับจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ให้เป็น ผู้ผลิตรถยนต์ในไทย โดยได้เปิดตัวรถรุ่นแรก NETA V เพื่อมาจับตลาด ซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ โดยราคาหลังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะเริ่มต้นอยู่ที่ 549,000 บาท

BYD

BYD (บีวายดี) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนด้วยยอดขาย 641,000 คัน ในครึ่งแรกของปี 2022 ถือเป็นเบอร์ 1 ของจีน ซึ่งในประเทศไทย BYD ได้ถูกนำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวโดย บริษัท เรเว่ ออโตเมทีฟ จำกัด (RÊVER AUTOMOTIVE) ซึ่งมี ประธานวงศ์ และ ประธานพร สองพี่น้องของตระกูล พรประภา ถือหุ้นและลงทุน 100% ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จะคุ้นกับนามสกุลเป็นอย่างดี เพราะทั้งคู่เป็นทายาทของ กลุ่มสยามกลการ

สำหรับรถยนต์รุ่นแรกของ BYD นั้นจะได้เห็นภายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งทางบริษัทยังไม่เปิดเผยว่าจะเป็นรุ่นไหน เพียงแต่บอกว่าจะเป็นรุ่นที่อยู่ในกลุ่ม Ocean series ซึ่งในซีรีส์ดังกล่าวมีทั้งหมด 3 รุ่น ดังนั้น ใครที่สนใจก็ต้องอดใจรออีกนิดนะ

อีวี ไพรมัส

อีกหนึ่งตระกูลที่คร่ำหวอดในตลาดอะไหล่รถยนต์มานานกว่า 50 ปี อย่าง ธนาดำรงศักดิ์ เจ้าของบริษัท บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ หรือ FPI ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดรถอีวี โดย พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ได้ก่อตั้ง บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด พร้อมวางตัวเองเป็น ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามัลติแบรนด์ (Multi-Brand EV Distributor) เนื่องจากแบรนด์รถอีวีจีนนั้นมีหลายสิบแบรนด์ บริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ที่จะนำเข้ามาเบื้องต้น 3 แบรนด์ ได้แก่ DFSK, SERES และ VOLT

โดย อีวี ไพรมัส เตรียมเงินลงทุน 400 ล้านบาท ใช้ในการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโรงงานดังกล่าว มีพื้นที่ 20 ไร่ มีกำลังการผลิต อีวี  4,000 คัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2023

Tesla จ่อเข้าไทย

ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก อย่าง เทสลา (Tesla) มีข่าวลือว่าจะเข้าไทยอย่างเป็นทางการ หลังมีการยื่นจดทะเบียน บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 เพื่อขายรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน ภายใต้ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท

แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพราะ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า Volkswagen (โฟล์คสวาเกน) คู่แข่งรายสำคัญของเทสลา ก็อยู่ระหว่างตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นกัน ดังนั้น อาจต้องจับตาดูอีกทีว่า 2 ค่ายใหญ่ฝั่งยุโรปจะเข้ามาสู้กับแบรนด์จีนที่กำลังรุกตลาดไทยเมื่อไหร่

Photo : Shutterstock

ค่ายญี่ปุ่นไม่เชื่อในรถอีวี 100%?

สำหรับค่ายญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งการตลาดจากรถยนต์สันดาปมากถึง 82% ของประเทศไทย แต่ในตลาดอีวีกลับไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหว โดยค่ายอันดับ 1 ของไทยอย่าง โตโยต้า แม้จะออกมาสนับสนุนมาตรการ EV ของรัฐบาลไทย แต่ก็ทำแค่เอา Toyota bZ4X รถอีวี 100% ของค่ายมาอวดโฉมเรียกกระแสแต่ยังไม่เปิดเผยราคา และคาดว่าจะนำเข้ามาก็ไตรมาส 4 ปีนี้ หรืออย่าง New NISSAN LEAF 2022 ของ นิสสัน นอกนั้นก็ยังไม่ค่อยมีให้เห็น ส่วนใหญ่จะเป็น รถไฮบริด มากกว่า

โดยความเห็นจากผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามองว่า ที่ค่ายรถญี่ปุ่นไม่เน้นพัฒนารถอีวี 100% แต่เน้นหนักไปที่รถไฮบริดเป็นเพราะ ไม่เชื่อมั่นว่ารถไฟฟ้า 100% จะตอบโจทย์ โดยมีแนวคิดว่าเป็นสัดส่วนไฟฟ้า 80% และน้ำมัน 20% ตอบโจทย์มากกว่า รวมถึงการพัฒนาและ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน

คาดยอดขาย BEV ทะลุ 1 หมื่นคัน

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ของยอดขายรวม รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยจะมีมากกว่า 1 หมื่นคัน หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 412% จากปี 2021 โดย รถยนต์ไฟฟ้าจีน มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่กว่า 80% และคาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าฝั่งยุโรปจะได้ส่วนแบ่งราว 14% และค่ายญี่ปุ่นอยู่ที่ 5% เนื่องจากจีนได้เข้ามารุกตลาดไทยอย่างรวดเร็ว

แม้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถือว่ายังตลาดยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ดังนั้น อาจต้องรอดูว่าในปีต่อ ๆ ไปภาพของตลาดจะเป็นอย่างไร และเป้าหมายของ บอร์ดอีวี ที่ตั้งเป้าผลิตรถอีวี 100% ให้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่

]]>
1398038
ทำอย่างไรให้ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ไม่ใช่ ‘ไฟไหม้ฟาง’ ที่มาแล้วหายไปในสายตา ‘MG’ https://positioningmag.com/1308036 Fri, 27 Nov 2020 09:26:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308036 ‘รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)’ หนึ่งในรูปแบบของ ‘รถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่’ ที่ทั่วโลกกำลังเห็นความสำคัญและพยายามผลักดันให้มาแทนที่ ‘รถยนต์สันดาป’ เนื่องจากต้องการจะดูแลโลกใบนี้ให้สะอาดและน่าอยู่ขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในตัวการก่อปัญหา ‘โลกร้อน’ และ ‘มลพิษทางอากาศ’ ก็คือ รถยนต์ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นถือว่าสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าถือว่าค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้น ‘MG’ หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ที่ตั้งเป้าชัดเจนแล้วว่าต้องการเป็น ‘ผู้นำ’ ในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่จะมาฉายภาพให้ฟังว่าอะไรยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

ความมั่นใจ ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีข้อดีในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงรักษาที่ถูกกว่ารถยนต์สันดาป ความเงียบ อัตราเร่งที่ดีกว่าเพราะไม่มีขั้นตอนการทดเกียร์ และที่สำคัญสุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถึงอย่างนั้น ‘ระยะการขับ’ และ ‘สถานีชาร์จ’ ที่ยังเป็น 2 ความกังวลที่ทำให้ผู้บริโภคไม่มีความ ‘มั่นใจ’ ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่การขับไปต่างจังหวัดหรือพื้นที่ไกล ๆ ไม่ได้ขับทุกวัน ดังนั้น หากแค่ใช้งานในเมืองรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าตอบโจทย์

“ลูกค้าที่ยังชะลอการซื้อเพราะกลัวว่าถ้าใช้งานในพื้นที่ไกล ๆ กลัวจะไม่สะดวก ดังนั้นมันเป็นเรื่องของความไม่มั่นใจที่จะต้องใช้งานระหว่างจังหวัด มันเลยกลายเป็นอุปสรรคในการซื้อ”

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว MG ได้พยายามขยายสถานีชาร์จก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า โดยภายในปีนี้คาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ครบ 100 จุดที่ศูนย์ MG ทั่วประเทศ และในปีหน้าจะติดตั้งเพิ่มอีก 500 จุด รวมเป็น 600 จุด

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

รัฐบาลไม่สนับสนุนจริงจัง

สำหรับนโยบายการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าของไทยยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ อย่างในประเทศจีน รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนจุดบริการชาร์จไฟฟ้าให้ บางประเทศรถยนต์ไฟฟ้าจะได้สิทธิ์จอดรถฟรี หรืออย่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรเตรียมห้ามจำหน่ายเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2030 ดังนั้น ภาครัฐไทยควรมีนโยบายสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น

อย่างกระแสข่าวลือนโยบาย ‘รถเก่าแลกรถใหม่’ ที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ จำนวน 100,000 คันนั้น รัฐบาลควรมีความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะทำให้ตลาดรถยนต์ชะลอตัว เพราะผู้บริโภคยังไม่กล้าตัดสินใจซื้อรถยนต์ และ MG มองว่ารัฐควรถือโอกาสนี้พิจารณาถึงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของรถยนต์ที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะรถยนต์ประเภท EV ซึ่งมีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฮบริด ซึ่งรัฐควรพิจารณาเกณฑ์การให้ส่วนลด หรือการสนับสนุนที่ลดหลั่นกันไปตามเทคโนโลยีของรถยนต์ด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปักกิ่งเปิด “สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า” ขนาดใหญ่สุดในเมือง รองรับได้วันละ 1,300 คัน

ค่ายออกรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่อเนื่อง

รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยยังมีน้อย มีหลายแบรนด์ที่ยังไม่เข้ามาทำตลาด ดังนั้น MG จึงใช้โอกาสเดินหน้าลุยตลาดเพื่อขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา MG มียอดจำหน่าย MG ZS EV ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ถึง 1,200 คัน และเมื่อรวมยอดจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดทำให้ MG มียอดขายรถยนต์พลังงานทางเลือกประมาณ 2,000 คัน คิดเป็นกว่า 90% ของตลาดรวม โดยล่าสุด MG ได้เปิดตัว ‘New MG EP’ รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นที่ 2 ของ MG ซึ่งรุ่นนี้เป็นรถยนต์สไตล์สเตชั่นแวกอนที่สามารถใช้งานได้ทุกวัน

“รถ EV ในตลาดส่วนใหญ่ทำออกมาแล้วหาย ดังนั้น เราจึงต้องเปิดตัวอีกรุ่นเพื่อทำให้เขารู้ว่าไม่ใช่ไฟไหม้ฟางที่มาแล้วหายไป เราต้องทำให้เขามั่นใจ โดยในอนาคตเราจะมีรถ EV อีกหลายรุ่น เพราะแค่รุ่นเดียวคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการตลาดได้พอ”

สำหรับจุดเด่นของ ‘์New MG EP’ มี 4 ด้าน ได้แก่ 1.ตัวถังขนาดใหญ่ มีพื้นที่ห้องโดยสารกว้างขวาง และมีพื้นที่ความจุสัมภาระสูงสุดถึง 1,456 ลิตร 2.มีความสะดวกสบายและระบบความปลอดภัยที่ครบครัน อาทิ จอ Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว ที่รองรับ Apple CarPlay 3.สมรรถนะที่วิ่งได้ไกลถึง 380 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่ง มีมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงที่ 163 แรงม้า และ 4.ต้นทุนในการเป็นเจ้าของที่ต่ำ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำ โดยการชาร์จไฟบ้านอยู่ประมาณ 200 บาท/การชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนค่าบำรุงรักษาก็ลดลงเพราะไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้น 1 แสนกิโลเมตรอยู่ที่ไม่เกิน 8,000 บาท

ทั้งนี้ MG EP จะเปิดราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่งาน Motor Expo 2020 ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นี้ พร้อมเปิดรับจองภายในงาน และโชว์รูมเอ็มจีทุกสาขาทั่วประเทศ

]]>
1308036
‘MG’ ส่ง ‘HS PHEV’ Plug-in Hybrid เขย่าตลาด SUV ปักเป้ายอดขาย 800 คันใน 2 เดือน https://positioningmag.com/1303259 Tue, 27 Oct 2020 13:38:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303259 ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ใช่น้อย เพราะแค่ผ่านไป 9 เดือน ยอดขายหดตัวกว่า 30% โดยคาดว่าปิดปียอดขายรถยนต์อาจเหลือเพียง 6 แสนคัน จากปีที่ผ่านมาปิดที่ 9 แสนคัน อย่างไรก็ตาม จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังมั่นใจว่า ‘เอ็มจี’ (MG) ยังสามารถเติบโตได้ในปีนี้

จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

มั่นใจ ‘โต’ สวนตลาด

ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา MG มียอดขายรถรวมทั้งสิ้น 18,699 คัน โดยแบ่งเป็น MG 3 จำนวน 3,409 คัน, MG ZS 7,168 คัน, MG ZS EV 327 คัน, MG HS 3,982 คัน และ MG Extender 3,609 คัน โดยเติบโตขึ้น 0.1% และเมื่อแยกเฉพาะรถ SUV บริษัทมียอดขาย 11,1181 คัน เป็นเบอร์ 1 ในตลาด

“แม้ตลาดรถไทยปีนี้ตกเพราะพิษ COVID-19 และผลกระทบจากเศรษกิจโลก แต่ไตรมาสสุดท้ายของปีเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่ปีหน้าจะเป็นช่วงฟื้นฟูของตลาด แต่จะฟื้นไปอยู่จุดเดียวกับก่อนจะเกิด COVID-19 หรือไม่นั้นต้องรอดู อย่างไรก็ตาม ยอดรวมในปีนี้เรายังมั่นใจว่าเติบโตได้จากปีที่ผ่านมา เพราะมั่นใจว่าผู้บริโภคยังให้การตอบรับแบรนด์ MG”

‘HS PHEV’ Plug-in Hybrid คันแรกในตลาด ‘Mass’

ล่าสุด MG ได้เปิดตัว ‘MG HS PHEV’ ขับเคลื่อนด้วยระบบ Plug-in Hybrid ผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์เทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร และมอเตอร์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ประหยัดน้ำมันสูงสุดอยู่ที่ 65 กิโลเมตรต่อลิตร หรือจะเลือกขับขี่ด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ได้ไกลสูงสุดถึง 67 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง ซึ่งรถยนต์รุ่นดังกล่าวถือเป็น ‘รถ Plug-in Hybrid รุ่นแรกในตลาดแมส โดย MG คาดว่าจะสามารถทำยอดขาย 800 คันภายใน 2 เดือน

“ราคารถ Plug-in Hybrid ส่วนใหญ่ในไทยเป็นแบรนด์รถหรู โดยถูกสุดอยู่ที่ 2.5 ล้านบาทไปจนถึง 3.5 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนในกลุ่ม C-SUV อยู่ที่ 1.2-2 ล้านบาท แต่ไม่มี Plug-in Hybrid ดังนั้นนี่จึงเป็นรถที่ใช้ Plug-in Hybrid คันแรกที่เป็นแมสมาร์เก็ต”

เพิ่ม 500 สถานีชาร์จรองรับตลาด ‘อีวี’

ที่ผ่านมา MG ได้นำร่องทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแล้วก็คือ MG ZS EV และปีนี้ก็มี MG HS PHEV ที่เพิ่งเปิดตัว ส่งผลให้ MG ต้องขยายสถานีชาร์จ โดยภายในปีหน้าคาดว่าจะมีอย่างน้อย 500 จุดขึ้นไป โดยในเฟสแรกจะขยายไปที่โชว์รูม MG ก่อน ส่วนเฟส 2 จะเป็นการหาพาร์ตเนอร์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า โดยที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดจะทำสถานีชาร์จที่ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ แต่ยังติดปัญหาทางเทคนิคหลายด้าน ดังนั้นจึงยังไม่มีแผน

“จริง ๆ เราไม่มีแผนจะทำสถานีชาร์จของตัวเอง แต่เพราะเราไม่สามารถรอได้ อย่างภาครัฐแม้จะมีแอคชั่นบ้าง แต่ก็ยังไม่พอ ดังนั้น แม้จะเป็นเงินลงทุนที่สูงถึง 5-6 แสนบาทต่อสถานีชาร์จ เราก็ต้องยอมเพื่อลูกค้าปัจจุบันและอนาคต เพราะข้อกังวลใหญ่สุดที่คนไทยยังไม่กล้าใช้รถไฟฟ้า ก็เพราะสถานีชาร์จที่น้อย”

ในส่วนของโชว์รูม MG ปีนี้ได้เปิดใหม่แล้ว 150 แห่ง และปีหน้าตั้งเป้าเปิดให้ได้ 170 แห่ง โดย MG เห็นความต้องการทั้งจากดีลเลอร์เก่าที่ต้องการขยายสาขา และนักลงทุนหน้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาลงทุนกับ MG

สิ้นปีส่งออกรถไป ‘เวียดนาม’

ที่ผ่านมา MG ได้ส่งออกรถจากไทยไปขายยังประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ รุ่น MG ZH และ MG HS และต้นเดือนธันวาคมปีนี้ MG คาดว่าจะส่งออกรถไปยังตลาด ‘เวียดนาม’ และตามด้วยตลาด ‘มาเลเซีย’ ในปีหน้า ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามถือเป็นอีกตลาดที่มีความสำคัญ เพราะเป็นตลาด ‘พวงมาลัยซ้าย’ ซึ่งจะช่วยทำให้ไลน์การผลิต MG ของไทย สามารถผลิตได้ทั้งพวงมาลัยซ้ายและขวา อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประเทศรอบข้างไทยไม่ได้คุมการระบาดของ COVID-19 ได้ดีเท่าไทย ส่งผลให้ยอดส่งออกจึงไม่ดีอย่างที่คาดไว้ ดังนั้น กำลังการผลิตยังพอ จึงไม่มีแผนการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต

“ไทยสามารถคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ดี ดังนั้น เราเชื่อว่าโอกาสกลับมาระบาดรอบ 2 มีน้อย ส่วนเรื่องม็อบหรืออะไรก็ตามแน่นอนว่ากระทบกับเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย และไม่มีผลต่อความต้องการซื้อรถยนต์ แค่ต้องมีสินค้าที่ดี บริการที่ดี และราคาที่สมเหตุสมผล ก็เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้”

]]>
1303259
มอบ ‘สิ่งที่ดียิ่งกว่า’ ในแบบ ‘MG’ ที่ไม่ใช่แค่ลูกค้า แต่สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องได้ด้วย https://positioningmag.com/1295161 Thu, 03 Sep 2020 10:00:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295161

ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เราจะเริ่มเห็นว่า ‘ความยั่งยืน’ เป็นสิ่งสำคัญที่แบรนด์ต่างก็ให้ความสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ได้ใจลูกค้า และสามารถใช้เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง แต่ยังเป็นผลดีต่อโลกของเราจริง ๆ ด้วย และจากที่เคยเป็นเทรนด์แต่ในปัจจุบันเรื่องความยั่งยืนได้กลายมาเป็น ‘เรื่องพื้นฐาน’ ที่ทุกแบรนด์ต้องให้ความใส่ใจ เช่นเดียวกับ ‘MG’ หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ที่ได้รับการยอมรับและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นองค์กรที่ผลักดันด้านความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘สิ่งที่ดียิ่งกว่า’ (Passion to be better)

MG เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2013 แม้จะเป็นน้องใหม่ในตลาดรถยนต์ แต่ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการในประเทศไทย MG ได้มีการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก อีกทั้งยังต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ กระบวนการผลิต ที่ MG ได้นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ตั้งแต่เริ่ม อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงานด้วยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์

ขณะที่ตัว ผลิตภัณฑ์ เอง MG ก็ได้ใส่นวัตรรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligence Connectivity) เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrification) มีการแบ่งปันรถยนต์ในการใช้งานร่วมกัน (Car Sharing) และความเป็นสากล (Globalization) โดยที่ผ่านมา MG ได้ติดตั้งระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ i-SMART ในรถยนต์ MG และยังมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง NEW MG ZS EV ที่มีส่วนช่วยลดปัญหามลพิษในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดขายกว่า 1,300 คัน

และในส่วนของภาคบริการ MG เดินหน้าขยายโชว์รูมและศูนย์บริการอย่างต่อเนื่อง พร้อมงานบริการหลังการขายที่สะดวกและรวดเร็วภายใต้ ‘Passion Service’ ณ ศูนย์บริการมาตรฐานทั่วประเทศและการบริการเช็คระยะและตรวจสภาพรถนอกสถานที่ผ่านบริการ MG Mobile Service ซึ่งปัจจุบันมีรถให้บริการอยู่ทั่วประเทศสูงถึง 91 คัน ทำให้สามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการ และทำให้สามารถเข้าถึงทุกสภาพพื้นที่ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

“เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้สามารถมอบบริการที่เหนือกว่าสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังไว้ ดังนั้นจึงเกิดเป็นที่มาของการขยายศูนย์บริการ รวมถึงการให้บริการผ่าน Mobile Service” นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

นอกเหนือจากการพัฒนาสินค้าและบริการแล้ว อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ MG มองว่าต้องช่วยกันดูแลก็คือ การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้คนในสังคม จึงเป็นที่มาของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความห่วงใย และให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มกำลัง ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ผ่านโครงการ “Together For Better Thailand ส่งต่อความห่วงใยจากใจสู่คนไทยทุกคน เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนรวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น

“เราได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้การดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น บุคลากรขององค์กร ผู้แทนจำหน่าย พันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนภาครัฐที่ให้การสนับสนุนด้านนโยบาย และสำคัญที่สุด คือ ลูกค้า ที่มอบความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับเราในการ ที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาการดำเนินงานของเราให้ดียิ่งขึ้นในทุกด้านและทุกวัน เพื่อสร้างสิ่งที่ดียิ่งกว่า (Passion to be Better) อย่างต่อเนื่องต่อไป” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

]]>
1295161
MG ควงคู่ Kaykai Salaider ปั้นคอนเทนต์โกยยอดวิวสูงสุด https://positioningmag.com/1248710 Mon, 07 Oct 2019 04:25:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1248710 ในแต่ละสัปดาห์ Socializta ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดในแบบอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง ได้แทร็กวิดีโอทั้งหมดที่อัพโหลดเป็นจำนวนหลักแสนตัวเฉพาะในประเทศไทย ที่ทำขึ้นโดยแบรนด์และ Influencer บนออนไลน์ แพลตฟอร์มทั้งใน Youtube, Facebook และ Instagram เพื่อให้เห็นว่า 3 อันดับที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากทางฝั่งแบรนด์และ Influencer นั้น เป็นใครกันบ้าง โดยวัดจากยอดวิวและไลค์ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักการตลาดและผู้สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งต่อไป

ในรอบสัปดาห์นี้ Socializta ได้ทำ Video Listening เพื่อดูความเป็นไปของวิดีโอกว่า 99,800 ตัว ในช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 23 – 29 กันยายน 2562

Top 3 จากฝั่งแบรนด์

1. MG Thailand – NEW MG HS อีกขั้นของความเหนือระดับ

2. Minere Thailand – มิเนเร่ น้ำแร่ธรรมชาติ100% ความพิเศษไม่เหมือนใคร

3. Vivo Thailand – Vivo V17 Pro ฉีกทุกกฎในทุกช็อต

วิดีโอของแบรนด์ที่ทำยอดวิวสูงสุด ได้แก่ MG Thailand มียอดวิว 7.7 ล้านวิว และ 6,063 ไลค์

MG เปิดตัว New MG HS กับคลิปโฆษณาที่มากันแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ด้วยการโชว์ให้เห็นรูปลักษณ์ภายนอกที่โดดเด่นสะดุดตา ก่อนจะพาเข้าไปชมความยั่วยวนภายใน ที่ดูหรูหราทั้งดีไซน์และฟังก์ชัน เป็นยนตรกรรมที่น่าจะดึงดูดคนรักรถและชอบเทคโนโลยีได้ดีทีเดียว

Top 3 จากฝั่ง Influencer

1. Kaykai Salaider – ใครอยากกิน after yum ต้องโดดบันจี้จัมพ์ (เลี้ยงทีมงาน)

2. สอดอStyle – [แกล้งแฟน] x [โคนวย นักสืบสมองจิ๋ว] เอาคืนไวท์ให้สาสม!!

3. ค่ายเพลง ได้หมดถ้าสดชื่น – คลิปเซอร์ไพรส์เจนนี่รับปริญญา

วิดีโอของ Influencer ที่ทำยอดวิวสูงสุด ได้แก่ Kaykai Salaider มียอดวิว 3.9 ล้านวิว และ 114,185 ไลค์

คอนเทนต์ดูง่ายๆ สบายๆ ตามสไตล์เก๋ไก๋ กับการท้าทายทีมงานให้กระโดดบันจี้จัมพ์ ก่อนที่จะพาไปทานของอร่อย แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าเสี่ยงด้วยความสมัครใจ จึงใช้การตัดสินแบบแฟร์ๆ ด้วยการโอน้อยออก คลิปจึงออกมาสนุกๆ ทั้งตอนก่อน ระหว่างโดด และหลังโดด เพราะได้เห็นทั้งความกล้าๆ กลัวๆ และปฏิกิริยาของคนที่ต้องจำใจกระโดดบันจี้จัมพ์ ถ้าไม่เน้นสาระ ก็ถือว่าเป็นคลิปที่ดูขำๆ เพลินๆ ดี

(ข้อมูล วันที่ 3 ตุลาคม 2562)

ที่มา : www.socializta.com

]]>
1248710
แค่รถ MG ไม่พอสำหรับ “CP” ประกาศร่วมทุน Foton Motor Group หวังขึ้น Top 3 ตลาดรถยนต์ไทย https://positioningmag.com/1228353 Tue, 07 May 2019 01:59:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1228353 จะว่าไปอาณาจักรซีพีหรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ไม่ได้มีเพียงธุรกิจอาหาร การเกษตร ค้าปลีก และโทรคมนาคมอย่างที่คุ้นหูเท่านั้น แต่สำหรับธุรกิจรถยนต์ที่ดูจะไกลจากธุรกิจหลักไปบ้าง ทางเจ้าสัวก็สนใจเช่นเดียวกัน

เส้นทางในธุรกิจรถยนต์ของเจ้าสัวธนินท์เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2556 โดยได้รวมทุนกับบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Shanghai Automotive Industry Corp. – SAIC) ถือหุ้นในสัดส่วน 49:51 ตั้งบริษัท 2 แห่งเพื่อลุยธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ได้แก่

1.บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ซีพี จำกัด สำหรับผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ภายใต้ แบรนด์ MG” ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีต้นกำเนินมาจากอังกฤษ อายุ 70 กว่าปี ทั้งในเมืองไทยและในอาเซียน

2.บริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดูแลการขาย การตลาด บริการหลังการขาย และการจัดจำหน่ายในเมืองไทยอย่างเดียว

Source : Facebook MG Thailand

ในช่วงแรกทั้งคู่ใช้งบลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาทสำหรับสร้างโรงงาน และลงทุนอีก 10,000 ล้านบาทสำหรับสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ปลายตอนปลายปี 2560 โดยในครั้งที่เปิดโรงงานแห่งแรก เจ้าสัวธนินท์ ได้เปรียบเปรยไว้ว่า หากมียอดขายของรถ MG เทียบได้กับพนักงานของ CP มีคนละคันก็พอใจแล้ว ซึ่งปัจจุบันเครือ CP มีพนักงานรวมกันกว่า 300,000 คน

ผ่านมาเกือบ 5 ปีความต้องการของเจ้าสัวธนินท์อาจจะไม่ไกลแล้วก็เป็นได้ เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา MG ประกาศว่าจะมียอดขายครบ 50,000 คัน เฉพาะปี 2560 มียอดขายทั้งสิ้น 23,740 คัน เติบโตขึ้นเกือบ 100% ส่วนปี 2019 ตั้งเป้ามียอดขาย 50,000 คัน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ MG สามารถเข้ามาท้าชนได้ทั้ง Toyota  HondaMazda โดยเฉพาะในรถ SUV คือการจัดเต็มสเปกแต่ขายในราคาที่ต่ำกว่า ตามสไตล์แบรนด์จีน ซึ่งหากจะเห็นภาพก็เช่นรถ MG3 รุ่นท็อปสุดราคา 6.29 แสนบาท ในขณะที่ Mazda 2 ท็อปสุดราคา 7.89 แสนบาท และ Honda Jazz ราคา 7.54 แสนบาท

Source : Facebook MG Thailand

ราคาต่างกันกว่า 100,000 บาท จึงไม่ต้องแปลกใจที่ MG จะสร้างยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี แต่กระนั้นก็สวนทางกับผลประกอบที่ยังขาดทุนระดับพันล้านช่วง 3 ปีมานี้

ผลประกอบการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ซีพี จำกัด

  • ปี 2557 รายได้รวม 306 ล้านบาท ขาดทุน 766 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้รวม 3,055 ล้านบาท ขาดทุน 1,245 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้รวม 4,158 ล้านบาท ขาดทุน 2,461 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้รวม 5,622 ล้านบาท ขาดทุน 1,218 ล้านบาท

หากการขาดทุนที่ว่ายังเทียบไม่ได้กับรายได้รวมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งมีกว่า 5,527,711 ล้านบาท กำไร 420,000 ล้านบาท (ข้อมูล : Wikipedia) จึงอาจไม่ใช่เหตุผลที่เจ้าสัวต้องกังวัลมากนัก และที่สำคัญยังลุยต่ออีกด้วย

โดยปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา CP Group ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ Foton Motor Group เพื่อจัดตั้งบริษัทด้านการผลิตและจำหน่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านยานยนต์ รวมทั้งการบริหารงานด้านการตลาด โดยการการร่วมทุนครั้งนี้มีเป้าหมายใหญ่ถึงขนาดจะขึ้นเป็นผู้นำ “3 อันดับแรกของไทย

โดย Foton Motor Group จะสนับสนุนด้านการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ด้านผลิตภัณฑ์ พลังงาน เทคโนโลยีด้านการผลิตและการเชื่อมโยงระบบการสื่อสารภายในตัวรถยนต์ ส่วน CP Group รับผิดชอบด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การจัดหาแหล่งเงินทุน และการสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสำหรับรถเชิงพาณิชย์ ทั้งรถบรรทุก รถบัสโดยสาร และยานยนต์สมัยใหม่ 

นพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) กล่าวว่า

“Foton ได้อนุญาตให้ใช้แบรนด์สินค้า เครื่องหมายการค้า รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจร่วมกัน โดยทั้ง 2 บริษัท จะพยายามผลักดันแผนการลงทุนในโรงงานผลิตสินค้ารุ่นต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น AUMAN, AUMARK, รถโดยสาร AUV และยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาตลาดในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับ Foton Motor Group ถือเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน มีโรงงานผลิตรถยนต์ 27 แห่งทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี มียอดผลิตและยอดขายสะสมปริมาณ 8,891,000 คัน ใน 110 ประเทศทั่วโลก และมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 3 แสนล้านหยวนต่อปี หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท

แน่นอนการจับมือครั้งนี้ของ CP เป้าหมายคงหนีไม่พ้นบุกตลาดรถเชิงพาณิชย์อย่างเต็มสูบ ซึ่งหากดูจากข้อมูลที่ “Toyota” ประเมินไว้ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ปี 2561 มียอดขาย 641,616 คัน เติบโต 22.1% โดยถือเป็นเซ็กเมนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว

รองลงมาคือรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 511,676 คัน, รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 447,069 คัน และรถยนต์นั่ง 397,542 คัน

Source : Facebook Foton Motor

และหากดูจากเป้าหมายที่ “Top 3” ที่วางไว้ แน่นอนว่าต้องเข้ามาชนกับเจ้าถิ่นที่สร้างผลงานได้อย่างแข็งเกร่งในปีที่ผ่านมา อันได้แก่ “Toyota” ยอดขาย 202,719 คัน ส่วนแบ่งตลาด 31.6% – “Isuzu” ยอดยาย 177,864 คัน ส่วนแบ่งตลาด 27.7% และ “Ford” ยอดขาย 65,842 คัน ส่วนแบ่งตลาด 10.3%

ไม่รู้เหมือนกันว่าการเข้ามาของ CP จะทำให้ Top 3 หนาวๆ ร้อนๆ กันบ้างไหม!!

Source

]]>
1228353