Priceza – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 23 Feb 2024 11:04:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘Priceza’ ฉายภาพ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ไทย 2024 แนะควรมี ‘First party data’ ของตัวเอง ลดพึ่งพา ‘E-Marketplace’ https://positioningmag.com/1463828 Fri, 23 Feb 2024 09:05:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463828 หากพูดถึงตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองไทย หลายคนก็จะนึกถึง Shopee, Lazada ที่เป็นอีมาร์เก็ตเพลส ถ้าชอบเล่นโซเชียลก็จะเห็น TikTok Shop, Facebook Live ขายของ แต่ E-Commerce Landscape ปีนี้จะเป็นอย่างไร Priceza Insights ได้มาอัปเดตให้ได้เห็นกัน

อีคอมเมิร์ซ 2023 โต 14%

มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยในปี 2023 คาดการณ์ว่าจะไปแตะอยู่ที่ 932,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 14% เมื่อเทียบกับปี 2022 อยู่ที่ 818,000 ล้านบาท นับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การซื้อขายออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันคนไทยมากกว่าครึ่งเคยซื้อสินค้า/บริการผ่าน E-Commerce ด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่ขยายตัวและครอบคลุมมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ภาพรวมของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มีความเปลี่ยนเเปลงทั้งในด้านเเพลตฟอร์มการให้บริการ เทคโนโลยี รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัว รวมถึงระบบนิเวศทั้งหลายของธุรกิจที่เข้าสู่ออนไลน์อย่างเต็มรูปเเบบหลังจากช่วงหลังโควิดที่ผ่านมา โดยตลาดอีคอมเมิร์ซในตอนนี้ครอบคลุมหลายด้านของการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น Food Delivery, Online Grocery, การท่องเที่ยว และ On-Demand Delivery

ภาพจาก Shutterstock

สำหรับปี 2024 สมรภูมิการแข่งขันอีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มดุเดือดยิ่งขึ้น! แม้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประเมินถึงมูลค่าตลาดในปีนี้ แต่ทาง Google, Temasek และ Bain & Company ประเมินว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยภายในปี 2025 จะมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความท้าทายที่สุดของร้านค้าไทย นอกจากปัจจัยเรื่องราคา และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคดิจิทัลแล้ว สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาผ่านอีมาร์เก็ตเพลส ปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยผ่านช่องทาง E-Commerce และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทำให้สินค้าราคาถูกรวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้

ทั้งนี้ ทางภาครัฐเองก็เริ่มตระหนักและหันมา ทบทวนนโยบายการเรียกเก็บภาษี ที่เหลื่อมล้ำเพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เติบโตได้และไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจากสินนค้าประเทศจีนและมีการแข่งอย่างเสรีและเป็นธรรมซึ่งเราคงได้เห็นการปรับโครงสร้างภาษีในปีนี้

ภาพจาก Shutterstock

ต้องพึ่งพาตัวเอง และใช้เอไอช่วย

ในด้าน Retail Commerce การพึ่งพาแพลตฟอร์มอย่างอีมาร์เก็ตเพลสอาจเป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้แบรนด์ เริ่มเห็นความสำคัญของการมี First party data เป็นของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับการใช้ Gen AI การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้เพื่อ Personalization สร้างประสบการณ์ Commerce Experience ในการช่วยแบรนด์สร้างยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้บริการ E-Commerce สามารถดึงดูดและรักษาลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ปัจจุบัน ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ออกเป็น 4  กลุ่มได้แก่

  • Marketing & Supporting (การตลาดและการสนับสนุน) เช่น Priceza Affiliate, Pundai, ShopBack, RadarPoint, MyCashback, Access Trade, Involve Asia, Ecomobi ที่เป็นกลุ่ม Affiliate Marketing หรือ Etailligence, KaloData, Wisesight, Mandala ที่เป็นกลุ่ม Data Insights
  • E-Commerce Channels (ช่องทางอีคอมเมิร์ซ) เช่น Shopee, Lazada, Tiktok, Central, MOnline
  • Payment (การชำระเงิน) เช่น TrueMoney Wallet, LINE Pay, ShopeePay, GrabPay, LazWallet, Paotang
  • Delivery (การจัดส่ง) เช่น ปณ.ไทย, Kerry, Flash, DHL, J&T และในกลุ่ม On-Demand Delivery เช่น Grab, LINE MAN, Robinhood, Lalamove, นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Fulfillment เช่น MyCloud, SokoChan, SiamOutlet, Akita เป็นต้น
]]>
1463828
เจาะลึกทิศทาง E-commerce ปี 2020 ที่จากนี้จะกลายเป็นการ ‘งัดข้อ’ ของ Social Media และ E-marketplace https://positioningmag.com/1282872 Wed, 10 Jun 2020 06:58:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1282872 ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ยังไม่มีการ ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ช่องทาง E-commerce ถือเป็นช่องทางที่เติบโตเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภค ไม่มีทางเลือก โดยคุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด หรือ Priceza ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงการเติบโตและความเป็นไปจากนี้ของ E-commerce พร้อมย้ำว่าแม้หมด COVID-19 แต่การขายของออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดในยุคนี้

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด หรือ Priceza

สรุปภาพ E-commerce ปี 2019

ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในปี 2019 โดยสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซเทียบกับมูลค่าค้าปลีก โดยจีนเป็นเบอร์ 1 มีสัดส่วน 25% ตามด้วยเกาหลีใต้ 22% อังกฤษ 22% สหรัฐฯ 11% และอินเดีย 3% เช่นเดียวกันกับประเทศไทยคิดเป็น 3% ของมูลค่าค้าปลีก หรือมีมูลค่าราว 183,300 ล้านบาท

ในปี 2019 นี้สัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer-to-Consumer) พบว่าช่องทาง E-Marketplace (Lazada, Shopee) มีสัดส่วน 47% เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพียง 35% ส่วน Social Media (Facebook, Instagram, Line) มีสัดส่วนลดเหลือ 38% จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วน 40% ส่วนช่องทางทางเว็บไซต์ Official ลดเหลือ 18% จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วน 25% 

ทั้งนี้ ผู้นำตลาดของ E-Marketplace ในปี 2019 เป็น Shopee มีสัดส่วน 54% ส่วน Lazada มีสัดส่วน 46% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดใน Social Media โดย Facebook มีสัดส่วน 42% ตามด้วย LINE 34% Instagram 19% และสุดท้าย Twitter 5%

E-commerce ปี 2020 คาดทะลุ 220,000 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2020 คาดว่าจะเติบโต 35% มีมูลค่า 220,000 ล้านบาท โดยใส่ปัจจัยอย่าง ‘COVID-19’ ไปในคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสัดส่วนการขายของออนไลน์ใน 3 ส่วนหลักจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่ที่สังเกตเห็นได้ชัดในช่วง COVID-19 นี้คือ ผู้ประกอบการที่ไม่เคยทำออนไลน์มาก่อนเข้ามาทำออนไลน์ โดยช่องทางแรกที่เข้ามาคือ ‘Social Media’ โดยเฉพาะการใช้ ‘Live Commerce’ ซึ่งคาดว่ามีการเติบโตหลายเท่าตัว ดังนั้นมีโอกาสที่สัดส่วน Social Commerce จะเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ หากจัดอันดับสินค้าขายดีในช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ม.ค.-ก.พ.) เทียบกับช่วงเกิด COVID-19 (มี.ค.-เม.ย.) พบว่า สินค้าสุขภาพและความงามเติบโตขึ้น 34% สินค้าอุปโภคบริโภค 34% หนังสือ 27% เครื่องใช้ไฟฟ้า 22% คอมพิวเตอร์ 4% เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน 2% ขณะที่สินค้าที่มีการซื้อขายลดลงได้แก่ สมาร์ทโฟนลดลง -27% อุปกรณ์กีฬา Outdoor -28% เสื้อผ้าและแฟชั่น -41% สุดท้ายที่ลดลงมากที่สุดคือ รถยนต์และยานพาหนะ -44%

Social Media งัดข้อ E-marketplace

จะเห็นว่า E-marketplace ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ช่องทางซื้อขาย แต่ตอนนี้พยายามปรับตัวเป็น Social Media โดยจะเห็นว่าเริ่มมีฟีเจอร์คล้าย ๆ กับ Social มากขึ้น เช่น ฟีเจอร์แชท, ฟีเจอร์ไลฟ์ ดังนั้นในปี 2019 สัดส่วนการซื้อขายของ E-marketplace จึงเติบโตมากขึ้น ขณะที่ล่าสุด Facebook ได้เปิดตัว ‘Facebook Shops’ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วน LINE เองก็มี LINE MyShop ดังนั้นเชื่อว่าจากนี้จะเป็นการงัดข้อกันระหว่าง Social Media และ E-marketplace

ขณะที่ การช่องทางการเปิดเว็บไซต์ของตัวเองกำลังโดนกลืนไปเรื่อย ๆ เนื่องจากต้องลงทุนสูงและมีความเข้าใจสูงกว่าช่องทางอื่น ๆ เพราะต้องทำการตลาดออนไลน์เอง ดังนั้นผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ไปลงทุน เพราะปิดใน E-marketplace และ Social ได้ง่ายกว่า แต่ก็มีคู่แข่งมากเช่นกัน ขณะที่ข้อดีของเว็บไซต์ของตัวเอง คือ สามารถควบคุมทุกอย่างเองได้

“ตอนนี้ผู้เล่นทุกรายพยายามดึงผู้ใช้จบการขายได้ในแพลตฟอร์มของตัวเอง อย่างคุยใน Facebook แต่ไปจบการขายที่ LINE แพลตฟอร์ม Facebook ก็ไม่ชอบใจ LINE เองก็คิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นมันเป็นเกมของแพลตฟอร์ม ต่างฝ่ายต่างอยากให้คนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มตัวเองที่สุด”

ออฟไลน์ยังเป็น ‘วิถีชีวิต’ แต่ห้ามละเลย ‘ออนไลน์’

อย่างไรก็ตาม คนไทยยังคงซื้อของออฟไลน์ เพราะห้างสรรพสินค้ายังเป็น ‘วิถีชีวิต’ ของคนไทย แม้ว่าจะไปไม่ใช่เพื่อซื้อของ ดังนั้น COVID-19 อาจทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตถึง 35% แต่ยังเชื่อว่าช่องทางออฟไลน์ยังคงเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคคุ้นชิน ดังนั้น COVID-19 คงไม่ได้ทำให้ช่องทางอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วน 30% ในค้าปลีก ปีนี้อย่างมากอาจจะมีสัดส่วน 4-5% และพฤติกรรมที่จะเห็นมากขึ้นแน่นอนคือ การซื้อของแบบ Omni-Channel หรือเลือกของออฟไลน์เทียบราคาออนไลน์

“สุดท้าย ออนไลน์เป็นช่องทางที่มีต้นทุนน้อยกว่า และมีการเติบโตสูงกว่าออฟไลน์ ดังนั้นไม่อยากให้ผู้ประกอบการออฟไลน์ละเลยการขายของบนออนไลน์ ตอนนี้ E-commerce ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดในยุคนี้”

]]>
1282872
ส่อง 5 Item ที่ (ไม่) จำเป็น แต่ดันขายดีช่วง COVID-19 https://positioningmag.com/1279653 Wed, 20 May 2020 12:19:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279653 ในช่วงวิกฤติ COVID-19 อย่างนี้ ถ้าสินค้าอุปโภคบริโภคหรือแมสกับเจลแอลกอฮอล์ที่ขายดีจนขาดตลาดคงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่จริงไหม? แต่กลับมีสินค้าบางอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันหรือเอาชีวิตรอดใด ๆ แต่กลับขายดีสุด ๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากการที่ ว่าง เกินไป ไม่ว่าจะกระแสการเล่น ‘TikTok’ หรือแม้แต่การปลุกสัญชาตญาณการเป็น ‘เชฟ’ ในช่วงกักตัวนี้ จนถึงขั้นมีวลีที่ว่า “เพื่อนในโซเชียลไม่เป็นแดนซ์เซอร์ก็เป็นเชฟ”

ดังนั้นไปส่องกัน ว่ามีอะไรที่ไม่ได้จำเป็น ใน COVID-19 แต่กลับ ฮิต จนของขาดตลาดกันบ้าง

Game

ปฎิเสธไม่ได้ว่า ‘Game’ เป็นหนึ่งในไอเทมที่ใช้แก้เหงา แก้เบื่อได้อย่างดี เพราะเล่นแต่ละครั้งอย่างต่ำก็ใช้เวลาหลักชั่วโมง ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเลยที่จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในช่วง COVID-19 นี้ อย่าง ‘Nintendo Switch’ จากราคาหมื่นต้น ๆ ยังสามารถพุ่งทะลุ 2 หมื่นเลยทีเดียว และไม่ใช่แค่เกม แต่อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ก็ขายดี อย่าง Ring Fit ที่เคยขายประมาณ 2,000 กว่าบาท ราคากลับพุ่งแตะ 6,000 บาทเลยทีเดียว โดยข้อมูลจาก ‘Prizcea’ ได้ระบุว่ายอดคลิกสินค้าประเภทอุปกรณ์เสริมเกมเติบโตถึง 299% เลยทีเดียว ส่วนเครื่องเกมเติบโต 39%

เครื่องครัว

จริง ๆ ไม่ใช่แค่ม้อทอดไร้น้ำมันอย่างเดียวที่ขายดี แต่เพราะสัญชาติญาณความเป็น ‘เชฟ’ ที่ถูกปลุกขึ้นในช่วงกักตัว เพราะออกไปทานข้างข้างนอกก็ไม่ได้ จะใช้บริการเดลิเวอรี่ก็สั่งจนจะครบทุกร้าน ประกอบกับเวลาว่างที่มีเพียบ จึงส่งผลให้ ‘เครื่องครัว’ หลายอย่างขายดีอย่างมาก ทั้งอุปกรณ์ทำอาหารและอุปกรณ์เตรียมอาหาร รวมไปถึงจานชามต่าง ๆ โดย ‘Ikea’ ระบุว่าสินค้าหมวดเครื่องครัวเติบโตถึง 500% เลยทีเดียว และจากตัวเลขของ Prizcea ระบุว่า หม้อและกระทะไฟฟ้ามีการเข้าชมเพิ่มขึ้น 197% ไมโครเวฟและเตาอบเพิ่มขึ้น 50% อุปกรณ์เตรียมอาหารเพิ่มขึ้น 35% นอกจากนี้ ตู้เย็น ก็มีการคลิกเพิ่มขึ้นถึง 133% เลยทีเดียว

อุปกรณ์ไลฟ์สตรีมมิ่ง

ทั้งกระแส TikTok เอย การ ไลฟ์สดขายของ เอย หรือกระเเสการดู Netflix เอย ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับไลฟ์สตรีมและดูคอนเทนต์เติบโตไปตาม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นกล้อง, หูฟัง, ไฟวงแหวน หรือ Ring Light ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ขนาดที่ พีท ทสร บุณยเนตร Executive Creative Director จาก Wunderman Thompson Thailand บ่นอุบว่า “ทีมผมหาซื้ออุปกรณ์ไลฟ์สตรีมไม่ได้” โดยข้อมูลจาก Prizcea เองก็ระบุว่า จำนวนการคลิกชม ‘หูฟัง’ เพิ่มขึ้น 48%

ต้นไม้

ด้วยมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รวมถึง Work from Home ทำให้คนไทยอยู่บ้าน ใช้ชีวิตแบบหยุดนิ่งมากขึ้น ไม่มีการเคลื่อนที่เท่าไหร่นัก ดังนั้น การจะมองแต่มุมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ คงเบื่อเป็นธรรมดา ดังนั้นจึงต้องหา ‘ไอเทม’ ใหม่ ๆ มาเสริมให้บ้านน่าอยู่สักหน่อย แม้ของแต่งบ้านจะมีเยอะ แต่ที่สามารถหาง่าย ๆ คงหนีไม่พ้น ‘ต้นไม้’ โดยเฉพาะที่เป็นต้นเล็ก ๆ ดูแลง่าย  ๆ โดย Hot ขนาดที่ต้นไม้ติด Top 5 สินค้าขายดีของ Ikea เลยทีเดียว หรือแม้แต่พ่อค้า-แม่ค้าที่ ตลาดจตุจักร ที่หลังจากเปิดตลาดมาก็ยืนยันว่าขายดีขึ้น 3-4 เท่าเลยทีเดียว

แอร์และเครื่องกรองอากาศ

ไม่ได้เกี่ยวกับ COVID-19 ไม่ใช่ของแต่งบ้าน หรือใช้แก้เบื่อแต่อย่างใด แต่ใช้เอาตัวรอดจากสภาพอากาศประเทศไทยล้วน ๆ เพราะตอนนี้ทะลุ 38 องศาเลยทีเดียว และยิ่งต้องอยู่แต่บ้าน ห้างฯ ก็เดินไม่ได้ ออฟฟิศก็ไม่ได้เข้า ดังนั้นจะมีเหตุผลอะไรอีกที่ทำให้ไม่ซื้อแอร์ล่ะจิงไหม (ไม่รวมเงินในกระเป๋าที่ไม่พอนะ) โดยเครื่องฟอกอากาศ Priceza ระบุว่ามีการคลิกชมสินค้าเพิ่มขึ้น 157% ส่วนแอร์เพิ่มขึ้น 5%

มีไอเทมไหนบ้าง ที่เสียเงินในช่วงกักตัวกันบ้าง ลองมาแชร์กันได้เลย

]]>
1279653
How to ‘ฟื้นธุรกิจ’ จากวิกฤติ COVID-19 ด้วย ‘ออนไลน์’ https://positioningmag.com/1271976 Tue, 07 Apr 2020 07:15:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271976 เพราะวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาด ส่งผลให้ห้างร้านต่าง ๆ ปิดลงหรือไม่ก็ต้องซื้อกลับบ้านเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเหมือนจะเป็น ‘โอกาสทอง’ ของโลก ‘ออนไลน์’ ไม่ว่าจะ ‘อีคอมเมิร์ซ’ หรือบริการ ‘OnDemand Delivery’ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่มันจะ ‘ยั่งยืนไหม’ แล้วพ่อค้าแม่ค้าต้อง ‘เริ่ม’ อย่างไร มาฟังแนวทางจาก 3 กูรูในวงการ ได้แก่ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Co-founder & CEO Priceza, เลอทัด ศุภดิลก Head of E-Commerce LINE ประเทศไทย และ ลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Co-founder & CEO NocNoc

โรคซาส์เป็นจุดเปลี่ยนอีคอมเมิร์ซ โควิด-19 ก็เช่นกัน

จุดกำเนิดของ อาลีบาบา และ JD.COM มาจากการระบาดของโรคซาส์ ที่ตอนนั้นมันบังคับให้ผู้บริโภคต้องปรับตัวสั่งออนไลน์ นั่นเป็นจุดพลิกผันของอีคอมเมิร์ซจีน และถ้าดูประเทศจีนเป็นตัวอย่าง เชื่อว่าไทยก็มีแนวโน้มสูงมาก ๆ เพราะว่าปัจจุบันอัตราการเข้าถึงของสมาร์ทโฟนของคนไทยเยอะมาก และด้วยสัดส่วนของการช้อปออนไลน์กับตลาดค้าปลีกไทยยังมีสัดส่วนแค่ 3% ดังนั้นโอกาสเติบโตยังมีอีกเยอะ ดังนั้น นี่เป็นการลดต้นทุนที่ดันให้ผู้บริโภคเข้ามาสู่ออนไลน์

“จังหวะนี้คนจำเป็นต้องอยู่บ้าน เพราะร้านค้าปิด เพราะงั้นตัวเลือกเดียวคือ ออนไลน์ ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้มันจะมาเร่งให้เกิด Disruption ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างที่คนคิด เพราะเทคโนโลยีมีนานแล้ว แต่เป็นพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนครั้งใหญ่เพราะโลก ดังนั้นสิ่งที่เกิดคือ คนที่ไม่เคยลองออนไลน์ก็ได้มาลอง”

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Co-founder & CEO Priceza

ทำให้คนกลับมาใช้ซ้ำได้ คือ ผู้ชนะ

ตัวเลขที่ไพรซ์ซ่าเก็บจากก่อนที่มีโควิด-19 (ธันวาคม-มกราคม) เทียบกับ มีนาคมที่วิด-19 ระบาดหนักพบว่า สินค้าอุปโภคบริโภค มีการเติบโต 119% รองลงมาที่ สินค้าเอนเตอร์เทนต์เมนต์ (ดูหนังฟังเพลง) ขณะที่สินค้าแฟชั่น ความงามไม่เติบโตอย่างที่เคย ดังนั้นไม่ใช่ออนไลน์ทุกส่วนที่เติบโต แต่ถ้าไม่มาออนไลน์ แปลว่าเป็น ‘ศูนย์’ อย่างตลาด 4 มุมเมืองก็หันมาขายออนไลน์ แม้รายได้อาจไม่เท่าตอนขายออฟไลน์ แต่จากนี้ไปเขาสามารถขายได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

“สถานการณ์ตอนนี้เป็นตัวเร่ง แต่การเติบโตนี้จะอยู่ยาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ลูกค้าได้ ถ้าเซอร์วิสมันตอบโจทย์ ลูกค้าก็อยู่ แต่ถ้าไม่ เมื่อออฟไลน์กลับมาก็อาจจะกลับไปใช้เหมือนเดิม เช่นเดียวกับออนไลน์เดลิเวอร์รี่ ดังนั้นขึ้นอยู่กับเราว่าจะทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่ดีไหม โดยคีย์เดียวที่ต้องมีคือ Trust หรือความไว้ใจ”

เลอทัด ศุภดิลก Head of E-Commerce LINE ประเทศไทย

เริ่มต้นตอนนี้ ถือเป็นโอกาสทอง

ทุกแพลตฟอร์มตอนนี้พร้อมใจให้ร้านค้าใหม่ ๆ ขึ้นมาขายออนไลน์ อย่าง NocNoc.com มีการลดคอมมิชชั่น และเปลี่ยนจากการเทรนด์ผู้ขายออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ หรือ ไพรซ์ซ่าก็มีการให้ความรู้ฟรีผ่านออนไลน์จากกูรูในวงการหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นทำออนไลน์, ความแตกต่างแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งร้านเองอาจจะต้องศึกษาและหยิบเครื่องมือสักอย่างขึ้นมาใช้

ปัจจุบัน คนลุกขึ้นมาขายของออนไลน์จำนวนมาก หรือร้านไหนที่ขายแต่ออฟไลน์มาตลอด อยากให้ใช้จังหวะนี้ลองทำออนไลน์ และไม่จำเป็นต้องขายของอย่างเดียว ใครที่มีความสามารถอื่น ๆ ก็อาจจะทำอะไรที่เหมาะกับความสามารถ อาทิ เขียนรีวิว, เขียนบทความ นี่เป็นแนวทางหนึ่งในการหารายได้ที่อยู่ที่บ้าน หรือง่ายที่สุดก็คือ ไลฟ์ขายของในแพลตฟอร์มต่าง ๆ

“แม้ไม่ง่ายแต่ทำได้ เราต้องทดลองและเรียนรู้ ตอนนี้ไม่มีอะไรจะเสีย แค่มีมือถือก็เริ่มต้นได้แล้ว แค่ถ่ายรูป เขียนรายละเอียด และเอาขึ้นแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ซึ่งต้นทุนของการลงไม่ได้สูงเลย และไม่ได้ยากอย่างที่คิด นี่เป็นโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะเรามีเวลามากว่าเดิม”

ลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Co-founder & CEO NocNoc

Gift First กลยุทธ์ที่เหมาะกับวิกฤติ

การขายสินค้าออนไลน์ก็เหมือนการที่เราไปช่วยเเก้ปัญหาให้กับลูกค้า ดังนั้นต้องหาให้ได้ก่อนว่าเขามีปัญหาอะไร เเละสินค้าของเราจะเข้าไปช่วยเเก้ปัญหาให้กับเขาได้อย่างไร ดังนั้น ก่อนที่จะตั้งโจทย์ว่าจะขายอะไร ให้ตั้งเป็น สินค้าจะช่วยอะไร อย่างตอนนี้คนต้องใส่แมส เราจะเก็บแมสอย่างไร บางคนเลยเริ่มผลิตกล่องแก็บแมส ดังนั้น แทนที่จะบอกว่าเราขายอะไร ให้แนะนำว่า สินค้าช่วยปัญหาอย่างไร 

ขณะที่ เสน่ห์ของโซเชียลคอมเมิร์ซคือ คนต้องการซื้อของกับร้านค้าที่เคยคุยด้วย ดังนั้นอาจจะเริ่มจากแชร์ให้เพื่อน เพื่อเป็นฐานลูกค้ากลุ่มแรก โปรโมทให้ลูกค้าเก่ารู้ว่าร้านกลับมาเปิดในรูปแบบออนไลน์แล้ว อันนี้จะช่วยเยียวยา เมื่อผ่านวิกฤติเขาจะมีช่องทางเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจออนไลน์จะโตขึ้น แต่หากสถานการณ์ในระยะยาวยังเป็นแบบนี้ ผู้บริโภคก็จะไม่มีกำลังซื้อ วันหนึ่งก็ต้องมากระทบกับธุรกิจออนไลน์ เพราะไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ไม่มีเงิน

#line #NocNoc #Priceza  #E-Commerce #OnDemandDelivery #Derivery #Covid19 #online #offline #Positioningmag

]]>
1271976
วิเคราะห์ตลาดเครื่องฟอกอากาศ รับมือ PM 2.5 ที่ยังแก้ปัญหาไม่ตก https://positioningmag.com/1249021 Mon, 07 Oct 2019 15:10:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1249021 แม้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รอบปลายกันยายนกำลังคลี่คลายลงแล้ว แต่ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้ เพราะมันมีโอกาสกลับมาทำร้ายสุขภาพได้อีกเสมอ ดังนั้นควรจะหาตัวช่วยเช่นเครื่องฟอกอากาศมาใช้

หากใครจำได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ปริมาณฝุ่นควันพิษพุ่งแตะระดับสูงสุด เครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวได้กลายเป็นสินค้าหายาก ขาดตลาดทุกรุ่น ทุกช่วงราคาตั้งแต่รุ่นต่ำกว่าพันไปจนถึงหลักแสนบาท และมีราคาดีดขึ้นไปเกือบ 2 เท่า

จากการสำรวจล่าสุดของ Priceza พบว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่ามันจะขาดตลาด หรือมีการปรับราคาเหมือนครั้งที่ผ่านมา โดยผู้เขียนมองว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่สุดในซื้อ

เครื่องฟอกอากาศไม่ขาดตลาดแน่นอน

ตามที่ Priceza Insight เคยรายงานเกี่ยวกับจำนวนออเดอร์เครื่องฟอกอากาศของแบรนด์ต่างๆ อาทิ Sharp, Xiaomi, Hatari, Dyson, Toshiba ฯลฯ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม ว่ามียอดขายรวมคิดเป็น 400% หรือราวๆ 30,000 เครื่องต่อเดือน เมื่อเทียบกับยอดขายช่วงก่อนจะเกิดวิกฤตฝุ่น

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีเครื่องฟอกอากาศจำนวนมากถูกขายออกไปสู่มือผู้บริโภคแล้ว และด้วยพื้นฐานของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนี้ที่มีอายุการใช้งานนาน สามารถเปลี่ยนแผ่นกรอง (ไส้กรอง) ได้เรื่อยๆ ส่งผลให้ความที่ต้องการสินค้าในรอบนี้น่าจะมีจำนวนลดลง

ประกอบกับข้อมูลกราฟแสดงจำนวนคลิก ในกลุ่มสินค้าเครื่องฟอกอากาศ จำนวน 97,535 รายการ 59 ยี่ห้อ จาก 65 ร้านค้า ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น Priceza รวม 3 ไตรมาส ของปี 2562 ได้ยืนยันถึงดีมานด์ที่ลดลงอย่างชัดเจน โดยเส้นกราฟสีแดงเป็นช่วงที่ปัญหากำลังเกิดขึ้น และเส้นกราฟสีเหลืองคือช่วงก่อน – ระหว่างเกิดปัญหาฝุ่นรอบใหม่

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสำรวจจำนวนสินค้าคงคลังล่าสุด จากร้านค้าออนไลน์หลายแห่ง ทั้ง Marketplace อาทิ Shopee, Lazada, JD Central หรือเว็บไซต์ร้านค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ พบว่ายังคงมีสินค้าพร้อมจำหน่ายจำนวนมาก

Sharp แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น ที่มียอดออเดอร์เครื่องฟอกอากาศเป็นอันดับหนึ่งบนไพรซ์ซ่า กล่าวว่า แบรนด์มีการผลิตสินค้าป้อนตลาด และทยอยกระจายสินค้าให้ตัวแทนจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อนำข้อมูลสินค้าคงคลัง และกำลังการผลิตทั้งหมดนี้ ไปวิเคราะห์ร่วมกันกับขนาดดีมานด์ ทำให้ผู้เขียนมั่นใจว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนี้จะจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ และไม่ประสบปัญหาขาดตลาดเหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

ราคาเครื่องฟอกอากาศยังไม่ขึ้น แนะนำซื้อช่วงนี้ดีที่สุด

จากการสำรวจราคาเครื่องฟอกอากาศล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ยังไม่พบการปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด ในทางกลับกันกลับพบว่ามีการปรับราคาลดลงเล็กน้อย ซึ่งการปรับราคาที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนมาจากร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ไม่ได้มาจากแบรนด์ผู้ผลิตโดยตรง

เมื่อมองย้อนกลับไปดูสถิติราคาเครื่องฟอกอากาศ 2 รุ่นยอดนิยม ได้แก่ Sharp FP-J30TA และ Xiaomi Mi Air Purify 2S เทียบราคาต่ำสุด สูงสุด และราคากลางตอนเปิดตัว ในไตรมาสแรกของปีที่ปัญหาฝุ่นอยู่ในขั้นวิกฤต พบว่าราคาของ Xiaomi พุ่งสูงสุดไปแตะที่ 5,700 บาท มากกว่าราคาตอนเปิดถึง 66%

นอกจากนี้ ข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ช่วงสถานการณ์ฝุ่นกลับมาเป็นปกติ ยังแสดงให้เห็นอีกว่าเครื่องฟอกอากาศเป็นสินค้าที่แทบไม่เคยลดราคาเลย ยกเว้นจะมีรุ่นใหม่ออกมา และการปรับราคาลงแต่ละครั้งสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงวิเคราะห์ว่า สำหรับใครที่ยังไม่มีเครื่องฟอกอากาศไว้ใช้ ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่เหมาะสมที่สุดที่จะซื้อ

ซื้อเครื่องฟอกอากาศที่ไหนดี

หากใช้เกณฑ์ด้านราคาเป็นตัววัด การซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเมื่อเปรียบเทียบราคากับร้านค้าที่มีหน้าร้าน พบว่าราคาออนไลน์สามารถซื้อได้ถูกกว่า รวมไปถึงยังมีการจัดแคมเปญโปรโมชั่นบ่อยครั้งกว่า อาทิ Flash Sale, 9.9, 10.10 สามารถใช้โค้ดส่วนลด หรือการนำแต้มที่สะสมมาใช้แทนส่วนลดเพิ่มเติมได้ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับใครที่กังวลเรื่องความปลอดภัยในการซื้อของออนไลน์ ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่เลือกเปิด Online Shop ของตัวเองหรือบนร้านมาร์เก็ตเพลส ทำให้ผู้บริโภคเราได้รับสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง มั่นใจเรื่องการรับประกันได้

ตัวอย่าง เมื่อซื้อเครื่องฟอกอากาศ Xiaomi Mi Air Purifier ออนไลน์จะได้ราคาดีที่สุดที่ 3,393 บาท จากราคาเดิมในศูนย์ 3,990 บาท เป็นต้น

สรุปแล้วเครื่องฟอกอากาศยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่?

ถึง กรมควบคุมมลพิษ จะบอกว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 รอบนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง จะไม่หนักหนาเท่าครั้งที่ผ่านมา และได้คลี่คลายสถานการณ์ลงจนเกือบเป็นปกติแล้ว แต่ฝุ่นควันขนาดเล็กกว่าเส้นผม 30 เท่านี้ อาจจะกลับมาสร้างปัญหาต่อสุขภาพได้อีกเสมอ โดยเฉพาะช่วงเดือน ธันวาคม – มีนาคมของทุกปีที่มีอากาศนิ่งกว่าช่วงอื่นๆ ดังนั้นการมีเครื่องฟอกอากาศเอาไว้ในบ้าน จึงยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

“หากคุณจำเป็นต้องออกไปในที่โล่งแจ้ง ก็ควรหาหน้ากาก N95 มาสวมใส่เพื่อป้องกันอันตราย ถ้าไม่มีก็สามารถใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกระดาษทิชชู่สัก 2 – 3 ชั้น ก็พอช่วยได้เหมือนกัน” กรมอนามัยแนะนำ

สุดท้ายนี้หากคุณไม่มีปัญหาเรื่องรายจ่าย ผู้เขียนขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่า ควรหาซื้อ เครื่องฟอกอากาศ มาใช้ แม้ในระยะสั้นคุณอาจจะยังรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นอะไร แต่ในระยะยาวไม่มีใครรับประกันได้ว่าคุณ คนในครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยงของคุณจะไม่ป่วยเพราะฝุ่นควัน PM 2.5 นี้ ซึ่งแน่นอน “การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข”

]]>
1249021
เสื้อผ้า-แฟชั่น คำค้นสินค้ามาแรง ไตรมาส 1/2561 https://positioningmag.com/1169933 Mon, 14 May 2018 05:45:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1169933 ไพรซ์ซ่า เผยสถิติ “คำค้น” ออนไลน์ไตรมาส 1/2561 พบสินค้า “หมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น” ติดท็อป 5 ทั่วอาเซียน “นาฬิกาข้อมือ” มาแรง ค้นเยอะสุดทุกประเทศ “หมวดรถยนต์” ขึ้นแท่นม้ามืด ส่งสัญญาณเติบโตในหลายประเทศ ด้านสมาร์ทโฟนไทยพบ iPhone5s มาแรงสุด แนะผู้ประกอบการศึกษาเทรนด์สินค้ามาแรง

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) มีผู้ใช้ 8 ล้านคนต่อเดือน และจำนวนการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์กว่า 12 ล้านครั้งต่อเดือน เปิดเผยว่า จากการรวบรวมสถิติคำค้นบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น Priceza ใน 6 ประเทศที่ให้บริการ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ พบว่า กลุ่มสินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการค้นหาสูงติดท็อป 5 ทั่วอาเซียน รวมถึงมียอดการค้นหาเป็นอันดับ 1 ทั้งในไทยและเวียดนาม

นาฬิกาข้อมือ CASIO หรือ G-Shock ค้นเยอะ

ขณะที่สินค้าที่มีการค้นหามากที่สุดในหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น ได้แก่ นาฬิกาข้อมือ โดยเป็นกลุ่มสินค้าที่มียอดการค้นหาสูงที่สุดด้วยสัดส่วน 20-50% ในหมวดสินค้าดังกล่าวของทุกประเทศในอาเซียน แต่ละประเทศอาจมียี่ห้อและรุ่นที่นิยมแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่นิยมแบรนด์ CASIO หรือ G-Shock ยกเว้นเวียดนามที่นิยมแบรนด์ RADO มากที่สุด

รถยนต์ มาแรง

อย่างไรก็ดี ยอดคำค้นที่เกี่ยวข้องกับหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอีกหมวดหนึ่งที่มีอัตราการเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยกลายเป็นหมวดสินค้าที่มียอดการค้นหาระดับท็อป 5 ในหลายประเทศ รวมถึงเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย และเป็นอันดับ 1 ในฟิลิปปินส์

“ที่ผ่านมา สินค้าที่มักจะมียอดการค้นหาเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ทั่วอาเซียน มักเป็นสินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น และสินค้าหมวดไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ขณะนี้สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ได้ขึ้นแท่นเป็นสินค้ามาแรงที่มีการค้นหามากที่สุดอีกประเภทหนึ่งบนช่องทางอีคอมเมิร์ซแล้ว โดยสินค้าที่มีการค้นหามากที่สุดในกลุ่มนี้ของไทย ได้แก่ อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์มือสอง ขณะที่ในอินโดนีเซียคือรถจักรยานยนต์” นายธนาวัฒน์ กล่าว

สำหรับสถิติคำค้นในไตรมาส 1/2561 ของไทยนั้น หมวดและสินค้าที่มีการค้นหามากที่สุดจากจำนวนการค้นหามากกว่า 20 ล้านครั้งผ่านทาง HYPERLINK “http://www.priceza.com”www.priceza.com ได้แก่

อันดับ 1 หมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น

กลุ่มสินค้ามาแรง 3 อันดับแรก

  1. นาฬิกา
  2. รองเท้าผ้าใบ
  3. กระเป๋าสะพาย

อันดับ 2 หมวดยานพาหนะและชิ้นส่วน

กลุ่มสินค้ามาแรง 3 อันดับแรก

  1. อะไหล่รถยนต์
  2. มอเตอร์ไซค์มือสอง
  3. ของตกแต่งรถยนต์

อันดับ 3 หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า

กลุ่มสินค้ามาแรง 3 อันดับแรก

  1. ทีวีจอแบน LCD-LED
  2. ลำโพง
  3. ตู้เย็น

อันดับ 4 หมวดโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร

กลุ่มสินค้ามาแรง 3 อันดับแรก

  1. โทรศัพท์มือถือ
  2. หน้ากากมือถือ เคสต่างๆ
  3. Tablet PCs

อันดับ 5 หมวดของสะสมและของเก่า

กลุ่มสินค้ามาแรง 3 อันดับแรก

  1. พระเครื่อง
  2. พระเหรียญ
  3. พระอื่นๆ

สำหรับสินค้าโทรศัพท์มือถือที่มีการค้นหามากที่สุดในช่วงไตรมาส 1 คือ iPhone 5s ขนาด 32GB

ยอดการค้นหาสินค้าบนช่องทางออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งยืนยันความนิยมของสินค้าในหมวดหมู่ ชนิด ยี่ห้อ และรุ่นต่างๆ ในแต่ละช่วง หากผู้ประกอบการศึกษาสถิติการค้นหาสินค้าประเภทต่างๆ จะสามารถเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณานำสินค้าทั้งมือหนึ่งและมือสองที่เหมาะสมในหมวดหมู่ต่างๆ มาจำหน่ายในตลาดต่างๆ ได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจนำสินค้ามาวางจำหน่ายบนช่องทางอีคอมเมิร์ซ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือแนวโน้มต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย อาทิ เทรนด์การสื่อสารกับผู้บริโภคหลายช่องทาง หรือ Omni Channel เพื่อให้สามารถนำช่องทางทั้งหมดมาร่วมกันทำการตลาดและจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม.

]]>
1169933
จิตวิญญาณสตาร์ทอัพผู้กำเนิดไพรซ์ซ่า บ่มเพาะจาก Passion & Purpose ตั้งแต่วัยเด็ก https://positioningmag.com/1168683 Mon, 07 May 2018 01:08:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1168683 บางทีคนเราก็ไม่รู้หรอกว่า การมีแพชชั่น (Passion) ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บวกกับการตั้งเป้าหมาย (Purpose) ที่จะทำอะไรสักอย่าง จะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน แต่เพียงแค่ต่อเติมเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาด้วยแพชชั่นและวางเป้าหมายให้ชัดอยู่เสมอ ไม่ว่าอะไรก็มีโอกาสสำเร็จได้ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภายใน

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา หรือ ไว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด สตาร์ทอัพผู้ได้รับมอบหมายให้พูดในหัวข้อ Passion and Purpose” เพื่อแชร์ประสบการณ์จากมุมของไพรซ์ซ่า และเขาเลือกที่จะเล่าสิ่งที่เกิดเป็นไพรซ์ซ่า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตส่วนตัวในวัยเด็ก ที่เชื่อว่าส่งผลต่อชีวิตและสไตล์การทำงานเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้

วัยเด็กของทุกคนไม่มีอะไรซับซ้อน เช่นเดียวกับ ธนาวัฒน์ ที่ชื่นชอบเครื่องเล่นเกม อาตาริ เกมคอนโซลแกมแรกของเขาที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่และเป็นของฮิตในยุคนั้น อาตาริทำให้เขาและพี่ชายสนุกกับวิดีโอเกมได้ทั้งวัน และเรียนรู้จักการใช้ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีใครสอน เพราะเครื่องเล่นมีแค่จอยสติ๊ก หรือคันโยกเป็นหลัก กับปุ่มอีกปุ่มเดียวที่ใช้กดเพื่อปล่อยอาวุธหรือแอคชั่นอะไรสักอย่างในเกม เช่น กดโยในเกมโบว์ลิ่ง ฯลฯ

แน่นอน เขาผ่านประสบการณ์การเล่นเกมฮิตอย่าง Space Invaders ที่เด็กยุคเดียวกันส่วนใหญ่เคยเล่นเพราะเป็นเกมที่ฮิตมาก แต่เขาเปลี่ยนจากเล่นในอาตาริมาเล่นในคอมพิวเตอร์

“ผมโชคดีที่ที่บ้านทำธุรกิจเสื้อผ้า คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการรันธุรกิจ คอมพิวเตอร์สมัยนั้นเครื่องใหญ่มากจอโมโนโครมมีสีเดียว ผมไม่ได้สนว่าคอมพิวเตอร์ใช้งานอย่างไรแต่สนใจตรงที่มีเกมให้เล่นไหม แล้วคนขายก็ไม่พลาดลงโปรแกรมเกมให้ผมกับพี่ชายสนุกกับคอมพิวเตอร์เครื่องนี้”

Space Invaders จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธนาวัฒน์สนใจคอมพิวเตอร์ไปโดยปริยาย ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าพนักงานของธุรกิจครอบครัวใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ทำอะไร เริ่มรู้จัก โปรแกรม CU Writer ซึ่งเป็น Word Processor ที่เขมาเชื่อว่าน่าจะเป็นโปรแกรม Word ตัวแรกของประเทศไทย เขียนโดยอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ในการพิมพ์รายงานแทนพิมพ์ดีด ทำรายงานการขาย

“ที่ทำให้ผมตื่นเต้นคือ มันช่วยคำนวณการขายได้ด้วย ยุคนั้นไม่มีไมโครซอฟท์เอ็กเซล มีแต่โปรแกรมที่เรียกว่า Lotus 1-2-3 เป็นระบบ DOS ต้องใส่กดปุ่ม/ เพื่อเข้าเมนูไม่มีเม้าส์ คอมพิวเตอร์นี้เองที่ช่วย Inspire ผมไปเรื่อยๆ จนผมอยากรู้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ประกอบด้วยอะไร ทำไมมันถึงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ผมทำเงิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจได้ หรือแม้กระทั่งช่วยให้ผมเล่นเกมได้”

ความสนใจนี้ย้อนกลับไปถึงตัวเครื่องเกมอาตาริที่เขาเล่นมาก่อนด้วย ไม่รอช้า จัดการหาชุดไขควง เปิดดูข้างในเพื่อที่จะดูว่าเจ้าเครื่องพวกนี้ทำเกม Space Invaders ให้เขาเล่นได้อย่างไร แถมคุณพ่อคุณแม่เขาก็ไม่ห้ามอีกด้วย มาแนวสนับสนุนการค้นคว้าของลูก ๆ เต็มที่

เมื่อเข้าอยากเรียนรู้เพิ่มเติมด้านคอมพิวเตอร์ก็ยังสนับสนุนให้ไปเรียน ซึ่งในยุคนั้นสถาบันสอนคอมพิวเตอร์มีจำกัด ธนาวัฒน์เลือกไปเรียนที่ ECC เริ่มเรียนตั้งแต่ DOS, CU Writer, Lotus และเรียนประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยเลย

“ตอนนั้นผมอยู่มัธยม ที่สถาบันไม่มีสอนประกอบคอมฯ ผมต้องไปหาเรียนแถวพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ตามร้านที่รับประกอบคอมฯ ผมนับถือช่างคอมฯจริง ๆ ที่สามารถเอาเมนบอร์ด RAM, CPU มาประกอบกัน พอได้เรียนรู้ผมก็เริ่มสนุก”

ไอเดียธุรกิจที่เป็นดีเอ็นเอของไพรซ์ซ่า จริง ๆ เริ่มเกิดหลังจากธนาวัฒน์กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องคอมฯ และการประกอบคอมฯ ในสายตาญาติ ๆ ที่ไว้ใจให้เขาหาคอมพิวเตอร์ใหม่ให้

“ญาติ ๆ ผม ทำธุรกิจเช่นกัน ทุกครั้งเวลาจะซื้อคอมพิวเตอร์จะโทรหาผม ไว ช่วยซื้อคอมฯ ให้อี๊หน่อย ซึ่งผมจะดีใจมาก พาเขาไปเดินพันธุ์ทิพย์ ไปเลือกซื้ออุปกรณ์ แล้วก็ต้องตระเวนหาร้านที่ราคาดีที่สุด เปรียบเทียบราคาทุก ๆ ชั้นเพื่อให้มั่นใจแล้วรับประกันกับอี๊ว่า คอมพิวเตอร์ที่ผมประกอบให้ ราคาดีที่สุดชัวร์ ไวรับประกัน”

ไม่ใช่แค่อี๊ แต่แม้แต่ครูที่โรงเรียนตั้งแต่มัธยมต้นถึงปลาย ต่างก็ไว้ใจเรียกใช้เขาไม่ว่าเวลาที่คอมพิวเตอร์มีปัญหา มีไวรัส หรือเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน ๆ เวลามีปัญหาการใช้งาน ซึ่งแทนที่เขาจะเบื่อหรือรำคาญกลับรู้สึกสนุกมากในการได้คุยและคอยให้คำแนะนำทีละขั้นตอนจนคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหากลับมาใช้งานได้   

“ผมเข้าใจคำว่า Passion ตั้งแต่วันนั้นเลยว่า อะไรคือสิ่งที่ผมชอบ แต่ยังไม่รู้จักคำว่า Purpose ผมรู้แค่ผมมีความหมายกับผู้คน ช่วยเขาได้เรื่องการซื้อของที่ต้องการ รู้สึกที่มีส่วนช่วยให้เขาตัดสินใจซื้อสินค้าได้ดีขึ้น ดีใจที่ช่วยเขาแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงขั้นพาไปซื้อของ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ไพรซ์ซ่า (Priceza)

หลังจบมัธยม ธนาวัฒน์ ก็เลือกเดินตามใจตัวเอง เรียนในสิ่งที่ชอบมาก เลือกคณะวิศวะคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนฮาร์ดแวร์ เรียนเขียนโปรแกรม เรียนแบบชอบมากจนจบก็อยากไปทำงานเมืองนอกโดยที่ไม่เคยบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ พอจบถึงได้บอกทีเดียวว่า มีความฝันจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนีย จบปริญญาโทแล้วอยากหางานทำที่อเมริกาสัก 4-5 แล้วค่อยกลับมาช่วยที่บ้าน อยากให้คุณพ่อช่วยซัพพอร์ตก่อน

“คุณพ่อผมร้องไห้เลย ร้องหนักมาก บอกว่า ที่บ้านทำธุรกิจไว้ขนาดนี้ไม่คิดจะมาช่วยบ้างเหรอ ผมอึ้งเลย เพราะที่ผมวาดฝันในหัวอยู่คนเดียวคือผมชอบสิ่งที่ผมเรียนมาก วันนั้นเลยเหมือนฟ้าถล่ม”

แม้จะเกิด Conflict แต่ด้วยความเป็นลูกจีนที่ต้องกตัญญูพ่อแม่ ธนาวัฒน์ เลือกอยู่ช่วยธุรกิจที่บ้าน โดยเริ่มงานด้วยเงินเดือน 12,000 บาทที่คุณพ่อตั้งไว้ ทำหน้าที่ Production Planning & Control ช่วยบริหารงานผลิต โดยลักษณะธุรกิจโรงงานผลิตเสื้อผ้าของครอบครัวผลิตมีแบรนด์ของตัวเองและมีออเดอร์ส่งออกที่ผลิตตามสั่งบ้าน เขาตั้งเป้าการทำงานว่า อยากช่วยทำออเดอร์แรกให้สำเร็จแม้จะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับธุรกิจการ์เมนต์

“ออเดอร์แรกที่ผมทำตอนเรียนจบ เป็นออเดอร์ส่งออก ซึ่งผมผิดพลาดทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียหายหลายแสนบาทเกือบล้าน ทั้งที่ตั้งใจว่าจะทำเงินจากออเดอร์นี้ให้ดีและทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจ แต่ต้องล้มเหลว เพราะออเดอร์ทำไม่ทัน คุณภาพไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ แต่ผลิตออกมาแล้วช้าไป ถูกลูกค้าที่อิตาลีปฏิเสธไม่รับของ ผมรู้สึกเฟลมาก ที่บ้านก็ว่า ไวทำไม่ได้เลยเหรอ แค่นี้ยังทำผิดพลาด แถมยังสำทับว่าแบบนี้อย่าไปหวังทำธุรกิจอะไรเลย”

ถ้าเป็นคนทั่วไป คงรู้สึกแย่มาก ยิ่งเป็นเด็กจบใหม่จำนวนเงินที่เสียหายถือว่ามากพอดู แต่ธนาวัฒน์เลือกที่จะบอกตัวเองว่า

ผมรู้สึกว่า มันต้องมีการเรียนรู้ ผมยังไม่เฟล ผมก็ต้อง keep up ขึ้นมา

ความรู้สึกแบบนี้เอง ที่เหล่าสตาร์ทอัพต้องมี ล้มเหลวได้ แต่ล้มแล้วต้องรีบลุกแล้วเริ่มใหม่

เค้าร่างของธุรกิจไพรซ์ซ่า เริ่มเข้าในหัวเขาอีกครั้ง เมื่อเพื่อนสนิทวัยเด็กทัก MSN เข้ามาว่าจะหาซื้อคอมพิวเตอร์ที่ไหนดี พร้อมกับส่งลิงก์ของเว็บไซต์ในอเมริกาชื่อ PriceGrabber มาให้ธนาวัฒน์

PriceGrabber เป็นเว็บไซต์ที่ธนาวัฒน์สนใจมาก เพราะช่วยเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่เพื่อนเขาจะซื้อได้แบบง่ายมาก ราคาเท่าไร ซื้อที่ไหน

“ผมสนใจเว็บนี้มากเลย แล้วคิดว่าทำไมไม่มีบริการแบบนี้ในไทย แล้วก็ย้อนไปถึงตอนที่ผมต้องเดินพันธุ์ทิพย์ทุกขั้นเพื่อเก็บโบรชัวร์ เทียบราคา”

ไม่รอช้า เขาเริ่มเอาความคิดนี้ไปคุยกับเพื่อนที่เรียนปริญญาตรีด้วยกัน

“วันนั้นยังไม่ใช่ ไพรซ์ซ่า แต่เป็น ช้อปซาโนว่า (Shopsanova) เว็บแรกที่ผมใช้เวลา 2 ปี นับจากวันแรกที่คุยกับเพื่อนทำออกมาตอนที่ยังเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์”

ธนาวัฒน์ เล่าว่า สิ่งที่เขาต้องทำคือ การพัฒนาโปรดักต์ที่เก่งมาก เขาใช้วิธีดูฟีเจอร์ของเว็บไซต์ที่อเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป แล้วเอาฟีเจอร์ของเว็บทั้งหมดมารวมกัน ทำให้ช้อปซาโนว่ามีฟีเจอร์ทั้งหมดที่เว็บไซต์ต่างประเทศมี

แต่พอเปิดเว็บไซต์ ก็เกิดปัญหา เพราะไม่ได้พัฒนาโปรแกรมเอง ไม่รู้การเขียนโค้ด (Coding) ภายในเป็นอย่างไร พอเจอคนใช้เยอะ เว็บตาย ซึ่งเป็นเรื่องหลอนมากสำหรับคนทำเว็บไซต์ ถ้าเซอร์วิสดาวน์ในช่วงที่มีคนใช้งาน

แน่นอนช้อปซาโนว่าไม่ประสบความสำเร็จ หลายคนก็คงไม่เคยได้ยินชื่อ ตัดตอนมาถึงยุคไพรซ์ซ่า ธนาวัฒน์และทีมเพื่อที่เรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ ก็ยังไม่มีความรู้เรื่องการตลาด เมื่อผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนแยกกันไปเรียนปริญญาโท จากที่รู้ว่าเว็บต้องมีมายด์เซตด้านการตลาดเติมเข้าไป ธนาวัฒน์เลือกไปเรียนปริญญาโทด้านการตลาด และใช้ประสบการณ์จากตอนที่ทำเว็บแรก เลือกให้เหลือเฉพาะไม่กี่ฟีเจอร์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เท่านั้นพอ

เพราะฉะนั้นหลังทำไพรซ์ซ่าทีมก็รู้เรื่องการตลาดแล้ว จากที่ใช้ความคิดของทีมเริ่มต้นกันมาเองแบบอาศัยความคิดส่วนตัว ตั้งแต่การออกแบบโลโก้ ชื่อที่ลงท้ายด้วยซ่า การเติมไฟในโลโก้ ก็เพื่อให้เว็บดูซู่ซ่าน่าสนใจ

ส่วนฟีเจอร์ ที่เหลือที่ทำให้เว็บไพรซ์ซ่า เป็นที่รู้จักและเลือกใช้ของนักช้อปในวันนี้ ก็เน้นเพียง 2 ฟีเจอร์หลัก คือ “ค้นหา” และ “เปรียบเทียบ” ส่วนออฟฟิศก็เช่าพื้นที่ของคุณพ่อแต่จ่ายเงินตามหลักธุรกิจแต่ก็ยังได้ราคาถูก และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเริ่มต้น 50 ตารางเมตรเป็น 110 ตารางเมตร

ขณะที่สเกลการใช้งานในเว็บก็เติบโตข้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงมาถึงปัจจุบัน ล่าสุดในปี 2017 ตัวเลขผู้เข้าชมเว็บไซต์ทั้งปีเกิน 200 ล้านครั้งไปแล้ว

ปัจจุบันไพรซ์ซ่าให้บริการ 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเว็บไซต์ที่คนใช้ตามวัตถุประสงค์ในการเป็นเครื่องมือค้นหาและเปรียบเทียบราคา มีคนไทยใช้อยู่ประมาณ 12 ล้านครั้งต่อเดือน คนอินโดนีเซียมากกว่า 2 ล้านครั้ง มีทีมงานล่าสุดถึงตอนนี้เกือบ ๆ 100 คน มีสำนักงานในกรุงเทพฯ และสำนักงานเฮดควอเตอร์ที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยมีทีมงานชาวอินโดนีเซียทำงานซัพพอร์ตอยู่ประมาณ 7-8 คน   

ธนาวัฒน์ สรุปเรื่องราวของเขาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพรุ่นต่อ ๆ ไปจากสตอรี่กว่าจะมาเป็นไพรซ์ซ่าในวันนี้ว่า เป็นเพราะเขาไม่ยอมทิ้ง Passion ของเขาในวัยเด็ก สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกดี มีความสุข ก็คงไม่มีวันนี้

“ฉะนั้นลองย้อนคิดดูว่า อะไรคือ Passion ที่ทำให้คุณมีความรู้สึกดี ทำแล้วรู้สึกดี นึกออกแล้วจดมันไว้ จะได้ไม่ลืม จดไว้ในสมาร์ทโฟน จดไว้ในใจ ให้มันช่วยเตือนคุณ เพื่อให้คุณมีพลังในการตามความฝัน ตาม Passion และสร้าง Purpose ของคุณขึ้นมา”.

]]>
1168683
Priceza เผย 5 เทรนด์ร้อนตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2559 https://positioningmag.com/62925 Fri, 01 Apr 2016 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=62925

Priceza ผู้ให้บริการในเปรียบเทียบราคาสินค้าสำหรับนักช้อปในเมืองไทยและอีก 5 ประเทศทั่วภูมิภาคอาเซียน เผย 5 เทรนด์ร้อนแรงที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยตลอดปี 2559 นี้ พร้อมแนะนำผู้ประกอบการให้เร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

สำหรับเทรนด์หลักที่น่าสนใจทั้ง 5 ในวงการอีคอมเมิร์ซปี 2559 มีดังต่อไปนี้

1. “Brand.com” – เมื่อแบรนด์เบนเข็ม เข้าหาลูกค้าโดยตรง

ฐานผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่กว้างขวางขึ้นทุกวัน และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน ได้จุดประกายให้หลายแบรนด์เลือกที่จะเดินหน้าเข้าหาลูกค้าโดยตรงผ่านทางช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวข้ามตัวกลางในเชิงสื่อเพื่อโฆษณาสินค้า หรือการเปิดช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้โดยตรง

สำหรับผู้ประกอบการเอง ในฐานะที่มีบทบาทเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็สามารถใช้ฐานข้อมูลลูกค้าในมือเพื่อสร้างหรือรักษาความได้เปรียบเอาไว้ เช่นการปรับแผนการตลาดให้สะท้อนถึงทิศทางพฤติกรรมในกลุ่มฐานลูกค้าอย่างชัดเจนขึ้น หรือการเปิดช่องทางเพิ่มเติมเพื่อการสื่อสารและให้บริการกับลูกค้าอย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจเลือกใช้ความยืดหยุ่นที่สูงกว่าในด้านการตั้งราคาสินค้ามาเป็นอาวุธในการแข่งขันก็ได้เช่นกัน

2. สิ้นสุดเส้นแบ่งออฟไลน์-ออนไลน์

นอกจากแบรนด์เจ้าของสินค้าแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการขยายตลาดก็คือกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในโลกออฟไลน์ เช่นห้างสรรพสินค้าเป็นต้น จากการเปรียบเทียบข้อมูลแล้ว พบว่าเมืองไทยมีคนเข้าเว็บไซต์มากกว่าคนเดินห้างถึง 41 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จะไม่พลาดโอกาสในการจับจองส่วนแบ่งตลาดในช่องทางออนไลน์ไว้

แน่นอนว่าผู้เล่นรายใหญ่เหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วไปในหลายด้าน ทั้งในแง่ของสินค้าที่มีให้เลือกซื้อ งบประมาณเชิงการตลาด และฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซสามารถทำได้เพื่อรับมือกับเทรนด์นี้ก็คือการแสดงความเป็น “ผู้รู้” ในตลาดหรือประเภทสินค้าที่ตนเองมุ่งเน้นและเชี่ยวชาญ แนะนำสินค้าที่เป็นประโยชน์หรือไฮไลท์คุณสมบัติที่ผู้ใช้ตัวจริงเท่านั้นถึงจะทราบให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธุรกิจของคุณดูมีบุคลิกที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย จนเป็นมากกว่าเพียงแค่ช่องทางการซื้อขายผลิตภัณฑ์เท่านั้น

3. ลบล้างทุกพรมแดนกับ “เส้นทางสายไหม 2.0”

หลังจากที่อินเตอร์เน็ตและโมบายบรอดแบนด์ได้ลบล้างข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ลงไป คราวนี้ก็เป็นตาของขอบเขตด้านการค้ากันบ้าง โดยเริ่มกันที่เรื่องของรูปแบบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันนี้ จากเงินทุกๆ 100 บาทที่คนไทยใช้จ่ายในแต่ละวัน พบว่ามีเพียง 50 สตางค์เท่านั้นที่เป็นการใช้จ่ายบนช่องทางออนไลน์ จริงอยู่ว่าตัวเลขนี้อาจจะฟังดูน้อยนิดเหลือเกิน แต่มูลค่ารวมของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปัจจุบันก็ยังสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้ หากเราลองชายตามองไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะพบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งอาจมีอัตราส่วนการใช้จ่ายสูงถึง 10% จากยอดรวมทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่าการซื้อขายสินค้าในโลกออนไลน์เป็นช่องทางที่ล้ำค่า ไม่ต่างจากเส้นทางสายไหมที่จุดประกายสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศจีนเมื่อหลายศตวรรษก่อน

ส่วนในแง่ของขอบเขตพรมแดนทางการค้า ตลาดอีคอมเมิร์ซก็เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถออกไปรุกตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน ตลาดในบ้านเราก็ต้องรับมือกับการมาถึงของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะยักษ์สัญชาติจีนอย่าง JD, Alibaba หรือ Lightinthebox ที่หันมารุกตลาดอาเซียนกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการชาวไทยหลายรายได้นำเทรนด์นี้มาพลิกเป็นโอกาสด้วยการเปลี่ยนเว็บอีคอมเมิร์ซต่างชาติเหล่านี้ให้กลายเป็นแหล่งซื้อหาสินค้าเข้ามาป้อนตลาดในเมืองไทยต่อไป จนเกิดเป็นชุมชนย่อมๆ ของนักช้อปที่โปรดปรานในสินค้านำเข้าราคาคุ้มค่าจากแหล่งเหล่านี้

4. ปั้นฐานลูกค้า ในยุค “คอนเทนต์” ครองเมือง

ในการเลือกซื้อสินค้าสักชิ้น คงไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าข้อมูลของสินค้านั้นๆ ที่พบได้ ณ จุดขาย ดังนั้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจึงต้องปั้นแต่งเนื้อหาบนหน้าร้านให้น่าสนใจ เพราะคอนเทนต์เหล่านี้มีบทบาทเป็นเหมือนกับพนักงานขายในโลกดิจิตอลนั่นเอง

นอกเหนือจากเนื้อหาประเภทข้อความหรือโฆษณาทั่วไปแล้ว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังสามารถสร้างความแตกต่างและเติมสีสันให้กับประสบการณ์การช้อปของลูกค้า ผ่านทางรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายและโดนใจผู้บริโภค นับตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการเปิดบล็อกเพื่อแบ่งปันเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสินค้าบางประเภท บอกเล่าประสบการณ์การใช้งานผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ หรือการถ่ายทำรีวิวสินค้าในรูปแบบวิดีโอ เป็นต้น ส่วนการเพิ่มเติมคอนเทนต์เชิงกิจกรรมให้ลูกค้าสามารถโต้ตอบกับธุรกิจของคุณได้ เช่นการเปิดรับรีวิวสินค้าจากผู้ใช้จริง หรือลูกเล่นอย่างการทำโปรโมชั่นแบบเปิดโพลล์ให้เลือกสินค้าลดราคาชิ้นถัดไป ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

5. ลูกค้าอยู่ที่ไหน ไปที่นั่น

หากเราหยุดมองว่าในหนึ่งวัน มีการรับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางใดบ้าง ก็คงจะต้องนับกันจนมือเป็นระวิง สำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ การนำสินค้าไปปรากฎอยู่บนช่องทางต่างๆ ที่หวังผลได้ให้มากที่สุดก็เป็นอีกกลยุทธ์ในการสร้างรายได้และการเติบโต โดยนอกจากเว็บไซต์หลักและหน้าร้านที่เป็นตลาดใหญ่แล้ว ยังควรพิจารณาช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา รวมถึงวิธีการสื่อสารที่แตกต่าง พร้อมดึง เช่นการจัดดีลพิเศษที่แจ้งเตือนถึงมือลูกค้า เป็นต้น

 


 

 

]]>
62925