Subscribers – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 01 Oct 2018 06:07:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กดปุ่ม YouTube Kids ในไทย จับกลุ่มเด็ก ดัน subscribe ต่อยอดโฆษณา https://positioningmag.com/1190368 Mon, 01 Oct 2018 05:00:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1190368 ไหนๆ เด็กยุคนี้ก็โตมาพร้อมกับมือถือและโลกออนไลน์ ถอยห่างจากสื่อทีวีดั้งเดิม หลายรายการบน YouTube กลับเป็นที่คุ้นเคยกับเด็กมากกว่าคอนเทนต์บนทีวี

ยูทิวบ์จึงใช้จังหวะนี้ เปิดตัว YouTube Kids อย่างเป็นทางการ ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระโดดลงมาจับกลุ่มผู้ชมวิดีโอออนไลน์ที่เป็นเด็กของ YouTube โดยเฉพาะ

เปิดให้บริการมาแล้ว 41 ประเทศ โดยในช่วง 2 ปีที่เปิดให้บริการ YouTube Kids มียอดชมเกิน 7 หมื่นล้านครั้ง จำนวนผู้เข้าชมเกิน 14 ล้านคนต่อสัปดาห์ ยอดดาวน์โหลดรวมถึงขณะนี้คือ 10 ล้านครั้ง และถูกยกให้เป็น 1 ใน 5 แอปพลิเคชันที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก

อายุของกลุ่มผู้ชมหลักของ YouTube Kids คือ 2-10 ปี โฆษณาที่ลูกค้ากลุ่มคุณหนูจะได้เห็นนั้น จึงแตกต่างจากลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่หลายจุด ทั้งหมดนี้อยู่บนเป้าหมายส่งเสริมครีเอเตอร์ไทยให้มีโอกาสทำเนื้อหาดีมีคุณภาพมากขึ้น โดยที่ YouTube สามารถแสดงตัวว่าได้มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด ให้ครอบครัวและเยาวชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่เหมาะสมและปลอดภัย

ดอน แอนเดอร์สัน Head of Family & Learning Partnerships ของ YouTube เอเชียแปซิฟิก ยืนยันว่า YouTube Kids เกิดขึ้นเพราะต้องการให้คุณค่ากับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ซึ่งกลุ่มครอบครัวก็เป็นหนึ่งในนั้น

ภารกิจหลักของ YouTube คือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ครอบครัวและเด็กสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่เหมาะสม ดังนั้นแม้แพลตฟอร์มหลักของ YouTube จะแนะนำให้ผู้ชมมีอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่เพราะเทรนด์ที่เกิดขึ้นจริงนั้นมีการใช้งานในกลุ่มต่ำกว่า 13 ปีบน YouTube สูงขึ้นมาก จุดเริ่มต้นของ YouTube Kids จึงเกิดขึ้น

“เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มแหล่งเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เด็กสำหรับครอบครัว แอป YouTube Kids จึงวางกลุ่มผู้ใช้ไว้ที่ 2-13 ปี แต่คาดว่าที่จะใช้งานจริงคือกลุ่มอายุ 2-10 ปี”

มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย บอกว่า YouTube ทำงานร่วมกับครีเอเตอร์ที่เป็นผู้สร้างวิดีโอเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งครีเอเตอร์ พาร์ตเนอร์ในไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ปรับดีไซน์ให้เหมาะกับนิ้วอวบอ้วนของเด็กน้อย

“เราทำไอคอนให้ใหญ่ขึ้น ตัวหนังสือน้อย ประสบการณ์เลื่อนซ้ายขวาง่ายขึ้น มีสีสัน ทั้งหมดนี้ถูกคิดมาตั้งแต่ต้น” มุกพิมระบุ “เด็กอายุเกิน 5 ขวบสามารถกดติดตามเป็นสมาชิกช่องที่ชอบได้ พ่อแม่ตั้งเวลาให้แอปพลิเคชันปิดการทำงานโดยไม่ต้องดุเด็ก” 

นอกจากนี้ YouTube Kids ยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสร้างโปรไฟล์เด็กประจำตัวเด็ก ซึ่งโปรไฟล์นี้จะเกิดภายใต้โปรไฟล์พ่อแม่

“ผู้ปกครองจะทำโปรไฟล์บุตรหลานได้ 8 คน ลูกพี่ลูกน้อง ทุกคนจะมีรหัสผ่านทำให้พี่น้องดูของคนอื่นไม่ได้ แต่พ่อแม่ สามารถเข้าถึงทุกโปรไฟล์เพื่อดูประวัติการชมวิดีโอได้ รวมถึงสามารถบล็อกวิดีโอหรือชาแนล ซึ่งสามารถทำเพียงครั้งเดียว ก็จะบล็อกครบทุกโปรไฟล์ ขณะเดียวกันก็สามารถตั้งค่าให้พ่อแม่กำหนดให้ดูวิดีโอเฉพาะที่อนุญาต”

YouTube Kids สามารถใช้ได้ทั้งบนสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี และแท็บเล็ต ทั้งหมดนี้จะเปิดโอกาสให้พ่อแม่ใช้ YouTube เป็นแหล่งเรียนรู้ และเปิดให้ครีเอเตอร์เข้าถึงกลุ่มผู้ชมวัยจิ๋วได้ดี

สำหรับโฆษณาในแอป YouTube Kids ผู้บริหารย้ำว่าจะไม่มีแบบ click through เพื่อตัดปัญหาเด็กเผลอคลิก แต่จะอยู่ในรูปแบบวิดีโอเล่นซ้อน ระยะแรกจะเป็นวิดีโอโปรโมตครีเอเตอร์และช่อง ซึ่งผู้ชมสามารถกดข้ามได้

ส่วนแบรนด์ที่จะมีโอกาสเข้ามาโฆษณาบน YouTube Kids ในอนาคต จะต้องผ่านเงื่อนไขหรือไกด์ไลน์ที่แตกต่างจากแอป YouTube ปกติ ซึ่งจะถูกพิจารณาด้วยคนและระบบอัลกอริทึมคู่กันไป

เช่นเดียวกับระบบแนะนำวิดีโอให้เด็กชมต่อบน YouTube Kids จะยังคงพึ่งพาอัลกอริทึม ร่วมกับการใช้คนคัดกรองเนื้อหา ผสมพฤติกรรมการชม เพื่อแนะนำวิดีโอที่ตรงใจผู้ชมมากขึ้น

อนาคตของ YouTube Kids จะมีฟีเจอร์ใหม่เช่นการชมแบบออฟไลน์ รวมถึงจำนวนครีเอเตอร์ไทยที่สร้างสรรค์วิดีโอสำหรับเด็กจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด

น่าเสียดายที่ YouTube ไม่สามารถเปิดเผยจำนวนจำนวนครีเอเตอร์พันธมิตรกับ YouTube Kids แต่ YouTube ให้ข้อมูลว่าเนื้อหาที่เด็กไทยนิยมมากที่สุดคือการ์ตูนและแอนิเมชัน รองลงมาเป็นเนื้อหาหลากหลาย โดยเฉพาะวิดีโอที่เกี่ยวกับตัวเด็ก การได้เห็นนักแสดงเด็กด้วยกัน นอกนั้นเป็นเกมที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

สถิติที่วัดได้ในเวลานี้ คือ ทั่วโลกมีการชมวิดีโอสอนหรือวิดีโอเพื่อการศึกษามากกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อวัน

ในไทยเราพบว่ายอดการชมวิดีโอกลุ่มนี้เติบโตขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้ว ไม่มีตัวเลข แต่ดูเป็นกราฟจะพบทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้น

วิดีโอเพื่อการศึกษาเหล่านี้ของครีเอเตอร์ไทย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยวิดีโอด้านการเรียนภาษา วิดีโอสอนงานประดิษฐ์หรือดีไอวาย และวิดีโอเล่านิทานที่สร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับอานิสงส์ความนิยมจาก YouTube Kids มากขึ้นแน่นอน เพราะโฆษณาบน YouTube Kids นาทีนี้เน้นโปรโมทให้ผู้ชมตัวจิ๋วกด subscribe สมัครสมาชิกแทบทุกโฆษณา

นี่อาจเป็นคำตอบว่าทำไม YouTube Kids จึงเป็นก้าวที่สำคัญ เพราะในขณะที่ YouTube ยังไม่ได้ค่าโฆษณาเป็นกอบเป็นกำ แต่ตัวยาในแอป YouTube Kids ที่จะออกฤทธิ์ทันทีคือยอดกด Subscribe ของช่องเด็ก ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นทันที การกด Subscribe คือหัวใจหลักที่จะทำให้ยอดการชมวิดีโอของครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งให้ยอดการชมของ YouTube เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ในระยะยาว เชื่อว่า YouTube Kids จะถูกต่อยอดเป็นก้าวใหญ่ ที่สำคัญกว่าแน่นอน.

]]>
1190368
เกทับบลัฟแหลก! แกรมมี่ VS เวิร์คพอยท์ เปิดศึกชิงอันดับ 1 ยอดติดตามบน Youtube https://positioningmag.com/1143128 Wed, 11 Oct 2017 23:00:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1143128 ต้องเรียกว่างานนี้ ไม่มีใครยอมใคร ระหว่าง 2 ค่ายทีวีดิจิทัล เวิร์คพอยท์ และ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในศึกชิงขึ้นเบอร์ 1 ของการเป็นช่องที่มีคนติดตามบน Youtube กันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

จะว่าไปแล้ว สถานีโทรทัศน์ยุคนี้ต้องขับเคี่ยวกันทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม เพราะเมื่อการเสพสื่อของผู้บริโภคหรือผู้ชมเปลี่ยนไป การยึดติดช่องทางเดิมๆ อย่าง “จอแก้ว” อาจไม่ใช่คำตอบเพียงช่องทางเดียว ดังนั้น ศึกแย่ง Eyeball หากทำได้ช่องทางไหนก็ต้องทำ

ทำให้ 2 ค่ายทีวีดิจิทัล เวิร์คพอยท์ (Workpoint) และ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GMM GRAMMY) จึงต้องเปิดชิงเบอร์ 1 ของการเป็นช่องที่มีคนติดตามบน Youtube เกิน 10 ล้านคนเป็นรายแรกของไทยและอาเซียน

หลังจากเมื่อ 2 วันที่แล้ว (9 ต.ค.) แกรมมี่ออกมาประกาศว่า ช่องบน “Youtube GMM GRAMMY OFFICIAL มียอดติดตาม (Subscribe) ครบ 10 ล้านคนเป็นรายแรก ทั้งในไทย และภูมิภาคอาเซียน จนได้รับรางวัลDiamond Play Button (ช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า10ล้านคน)

ไม่ทันไร ข้ามมาได้ 2 วัน (11 ต.ค.) เวิร์คพอยท์ประกาศเกทับ คว้า “อันดับ1” ในประเทศไทย และSoutheast Asia ของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีคนติดตามมากที่สุดบนYoutubeจะเห็นว่าเป็นการ “เล่นคำ” ในแง่ของการเป็น “ช่องสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล” และ “ยอดติดตามมากที่สุด

พูดง่ายๆ ก็คือ แม้แกรมมี่จะเป็นรายแรกที่คว้ายอดติดตาม 10 ล้านราย แต่เวลานี้เวิร์คพอยท์มียอดผู้ติดตามแซงหน้า 10 ล้านรายไปแล้ว ทั้งในไทย และภูมิภาคอาเซียน

ทำเอาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน (11 ต.ค.) แกรมมี่ต้องส่งข่าวยันจากยูทูปว่า เป็นแชนแนลเอนเตอร์เทนเมนต์ในนามองค์กรบริษัท ที่มีผู้ติดตามกด Subscribe มากที่สุดถึง 10 ล้านคนเป็นรายแรก และมี Viewership มากที่สุดถึง 10,773,288,662 วิว (9 ตุลาคม 2560 เวลา 16.00 น.)

ศึกรอบนี้ เริ่มมาจาก แกรมมี่ ได้ประกาศว่า มียอดติดตามครบ 10 ล้านราย ซึ่งเวลานั้น(วันที่ 9 ต.ค.) ยอดผู้ติดตามของช่อง Workpointบน Youtube ปริ่มๆ ที่ 9.99ล้านราย

เมื่อถูกแกรมมี่ชิงซีนไปเต็มๆ มีหรือที่เวิร์คพอยท์จะยอม เพราะทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องของ “แกรมมี่” ทั้งช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังตามหลังเวิร์คพอยท์ที่ลอยลำขึ้นเป็นเบอร์ 3 ไปแล้ว

ส่วนช่องทางออนไลน์เอง ช่องเวิร์คพอยท์เองก็ให้น้ำหนักมาตลอด แต่เมื่อมาเทียบฐานคนติดตามบนโซเชียลมีเดียของทั้งสองค่าย จะเห็นได้ว่าค่าย Workpoint มีฐานคนดูแซงหน้า Grammy เกือบทุกแพลตฟอร์ม แฟนเพจเฟซบุ๊กของ Workpoint จะมียอดผู้กดไลก์เกิน 10 ล้านคนไปแล้วก็ตาม ส่วน Grammy นั้นมีอยู่แค่ 1.7 ล้านราย LINE ยกเว้นบน YouTube ที่โดนแกรมมี่ชิงตัดหน้าขึ้นอันดับ 1 (ในวันที่ 9 ตุลาคม 2560)

แม้ว่า Workpoint พยายามใช้ “หมัดเด็ด” ในการโปรโมตการติดตาม (Subscribe) ผ่านพิธีกรหลักของช่องอย่าง กันต์ กันตถาวร ที่จะมีการแจกรางวัลให้แก่ผู้ติดตาม 100 รางวัล เมื่อยอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านราย รวมถึงการแจกไอเท็มฟรี (skin Tel’Annas) เกม ROV ในช่วงโค้งสุดท้าย เนื่องจาก Workpoint กำลังถ่ายทอดการแข่งขัน eSports เกม rov เพื่อคัดเลือกคนไปแข่งขันที่เกาหลี เพื่อดึงเหล่าเกมเมอร์เข้ามาติดตามช่องเพิ่ม

และยังอาศัยความดังของ “หน้ากากจิงโจ้” ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของ Workpoint มาทำแคมเปญ ด้วยการแจกกระเป๋าหนังจิงโจ้ให้กับแฟนคลับ มากด Subscribe และแคปหน้าจอ ภายในเวลากำหนดได้ฟรี “นุชes ทั้งหลายทางนี้จ้าาา…อยากได้กระเป๋าหนังจิงโจ้ไปสะพายเกร๋ๆ ฟรี!!”

ในขณะที่แกรมมี่ไม่รอช้า งัดทำแคมเปญกับศิลปินในสังกัด ด้วยการดึงเอา “เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร” ศิลปินสุดฮอตสำหรับชั่วโมงนี้ จากการกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งบนเวที The Mask Singer ภายใต้หน้ากากจิงโจ้ เพื่อดึงกลุ่มแฟนคลับด้วยการจัด FAN MEET กับ “เป๊ก ผลิตโชค” รวมถึงการเล่นกับเหล่า “นุช”และ ”นุชชี่” แฟนคลับของ เป๊ก ผ่านแคมเปญบนทวิตเตอร์อย่าง #สับตะไคร้แกรมมี่ครบ 10 ล้าน พ่วงด้วยโหวต เพื่อแจกของรางวัลเพิ่มเติมมาช่วยกระตุ้น

จนในที่สุด ด้วยความร้อนแรงของ “เป๊ก ผลิตโชค” ก็ผลักดันให้ ‘GMM GRAMMY OFFICIAL’ เข้าป้ายกลายเป็นช่องที่มีผู้ติดตามครบ 10 ล้านคน บน Youtube เรียบร้อยโรงเรียน อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และถือเป็นความสำเร็จของธุรกิจสื่อที่เริ่มปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลของไทย เพราะถือเป็นช่องรายการช่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะได้รับรางวัล Diamond Play Button (ช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านราย)

ประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน การที่แกรมมี่และเวิร์คพอยท์ได้ฐานผู้ชมยุคดิจิทัลกันไปคนละ 10 ล้านคน นับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยทีเดียว เพราะอย่าลืม นี่เป็นเพียงการออกสตาร์ทธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ผู้ชมอยู่ตรงไหน การมีคอนเทนต์เสิร์ฟผู้คนทุกช่องทาง เป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใด หากสามารถนำฐานผู้ชมเหล่านี้ต่อยอดธุรกิจ ซีนเนอร์ยีกับสื่ออื่นๆ หารายได้ เม็ดเงินก็กลับเข้ามาในกระเป๋าบริษัทอยู่ดี

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของแพลตฟอร์มดิจิทัล คือ “แนวโน้ม” ของการรับชม เมื่อมีข้อมูลจาก ETDA (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ได้เคยเปิดเผยพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กระบุว่า Youtube เป็นช่องทางที่มีผู้การใช้งานมากที่สุด 97.1% ตามติดด้วย Facebook 96.6% และ LINE 95.8%

สถิติดังกล่าวสะท้อนเทรนด์ชัดว่า ผู้ชมเลือกเสพ เลือกชมคอนเทนต์ต่างๆ ผ่าน Youtube Chanel มากขึ้น ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ก็อย่าลืมเกาะติดขบวนแพลตฟอร์มนี้ให้มั่น Grammy เองก็คิดเช่นนั้น แม้จะแพ้ในแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ แต่เมื่อมาถึง Youtube เลยต้องเร่งสปีดชิงเบอร์ 1 มาครอง

หลายครั้งที่จับตัวเลขผู้ชมผ่านจอแก้ว หรือเรตติ้ง ว่าช่องไหน ใครได้เรตติ้งเท่าไหร่ ก็จะมีข้อกังขากันมากมายว่าใช่เหรอ..ไม่ใช่มั้ง…ใช่สิ แต่ตัวเลขผู้ติดตามบน YouTube ถือเป็นอีกตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะเป็นช่องทางออนไลน์ที่สร้างรายได้ให้กับทีวีมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่องทางออนไลน์อื่นๆ ดังนั้น ยิ่งมียอดติดตามมากเท่าไหร่ ส่วนแบ่งที่ได้จาก Youtube ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

ค่ายจีเอ็มเอ็มเอง มองเห็นโอกาสจากการหารายได้จากช่องทางออนไลน์ อากู๋ จึงไปดึงเอา ภาวิต จิตรกร อดีตกรรมการผู้จัดการ “โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์” มานั่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิก เพื่อบุกเบิกนำคอนเทนต์ และศิลปินในมือไปต่อยอดหารายได้จากช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดียทั้งหลาย

รวมทั้งช่องจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ก็ให้น้ำหนักกับคนดูผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะลำพังแค่อาศัยเรตติ้งคนดูทางทีวีเพียงอย่างเดียวคงลำบาก เนื่องจากฐานคนดูส่วนใหญ่ของช่องจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ซึ่งพฤติกรรมคนคนดูกลุ่มนี้หันไปเสพสื่อออนไลน์ ถ้าใช้เรตติ้งทีวีมาวัดอย่างเดียว คงลำบากในการขาย “โฆษณา” จึงต้องนำเสนอคนดูบนช่องทางออนไลน์มานำเสนอคู่กัน

ในขณะที่  Workpoint เองให้น้ำหนักกับออนไลน์มาต่อเนื่อง และเห็นผลมาแล้ว จากการคนดูและรายได้ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี Workpoint มองแล้วว่า โซเชียลมีเดียไม่ได้ฉุดเรตติ้งทีวี แต่กลับส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้คนดูจำนวนมากมาเปิดทีวี และยังทำรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยไตรมาส 2 ปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายได้จากออนไลน์ 76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 426%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ประมาณ 14 ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักๆ มาจาก Youtube  เชื่อว่าในปีหน้า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ จะแข่งขันกันอย่างคึกคัก และเป็นโอกาสให้คอนเทนต์ของวงการทีวีเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ส่วนการที่ต้องออกมาประกาศว่า ยอดติดตามบน Youtube ของเวิร์คพอยท์วิ่งแซงหน้า แกรมมี่ เป็นอันดับ 1 ทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน ก็เพื่อต้องการสร้าง “โอกาส” ในการขายรายการไปต่างประเทศ ดังนั้น เป้าหมายจึงอยู่ที่การเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ไม่ใช่แค่ใน ”ไทย” เท่านั้น

และหากจะเปรียบเทียบกันจริงๆ ก็อยากให้ลงลึกถึง “ยอดวิว” เพราะถึงแม้ยอดติดตามเยอะก็จริง แต่อาจไม่ได้ดูจริงก็ได้ ดังนั้น ยอดวิวนำนั้น มาซึ่ง “รายได้” ของจริง ซึ่งคู่แข่งมียอดวิวเท่าไหร่ไม่รู้ แต่เวลานี้เวิร์คพอยท์มียอดวิว 600 ล้านวิว/เดือน เฉลี่ยวันละ 18-20 ล้านวิว ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเกทับบลัฟแหลกบนหน้าสื่อ แต่การที่เวิร์คพอยท์ และแกรมมี่ เป็น 2 รายที่มียอดคนติดตามบน Youtube เกิน 10 ล้านราย จนขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย ก็ต้องถือว่าเป็นผลดีของทั้งคู่ และยิ่งถ้าจับมือกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการขอเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ค่าโฆษณากับทาง Youtube เอเชีย ก็มีมากขึ้น เพราะถือว่า วิน วิน กันทั้งหมด

ปรากฏการณ์การแย่งชิงเบอร์ 1 บน Youtube ของ Grammy และ Workpoint  เชื่อได้ว่าจะเป็นการนำร่อง ให้ทุกช่องจะหันมาให้น้ำหนักกับช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ส่วนปีหน้าจะคึกคักและดุเดือดแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป.

]]>
1143128
ยอมกันที่ไหน! เวิร์คพอยท์ ไม่สนแกรมมี่ ประกาศยอดติดตาม Youtube อันดับ 1 แซงหน้าทั้งในไทยและอาเซียน https://positioningmag.com/1143017 Wed, 11 Oct 2017 06:20:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1143017 ไล่หลังกันเพียงข้ามคืน เมื่อ GMM GRAMMY ของ “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” นำทัพธุรกิจข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มภาคภูมิด้วยการสร้างแพลตฟอร์มช่องบน Youtube จนทำให้ GMM GRAMMY OFFICIAL มียอดผู้ติดตาม (Subscribers) ทะลุ 10 ล้านคนเจ้าแรกในประเทศไทย และรายแรกในอาเซียน จนได้รับรางวัล Diamond Play Button (ช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน)

แต่ยอมไม่ได้ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดตามของช่อง Workpoint ปริ่มๆ ที่ 9.99 ล้านราย แต่ผ่านไปเพียง 2 วัน เข้าวันที่ 11 ต.ค. ทาง WorkpointOfficial ก็ประกาศคว้า “อันดับ1” ในประเทศไทย และ Southeast Asia หรืออาเซียนนั่นแหละ กับการนำช่องของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลที่มีคนติดตามมากที่สุดบน Youtube จะเห็นว่าเป็นการ “เล่นคำ” การเป็นช่องสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลมาประกาศศักดาการเป็น “เบอร์1”

ซึ่งการที่ยอดผู้ติดตามทะลุ 10 ล้านของเวิร์คพอยท์ ใช้เวลาประมาณ 5 ปีเท่านั้น และทางเวิร์คพอยท์ย้ำว่า นี่คือการออกสตาร์ทสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

ข้อมูลยอดผู้ติดตามบนแพลตฟอร์ม Youtube ณ วันที่ 11 ต.ค.60 เวลาประมาณ 11.30 น. WorkpointOfficial มียอด 10,015,934 คน ส่วน GMM GRAMMY OFFICIAL มียอด 10,003,698 คน จากข้อมูล ณ วันที่ 10 ต.ค.60 WorkpointOfficial มีผู้ติดตามกว่า 9.99 ล้านคน และ GMM GRAMMY OFFICIAL มีผู้ติดตามกว่า 10.01 ล้านคน เรียกว่าอัตราการเพิ่มของเวิร์คพอยท์ร้อนแรง! มาก ชนิดที่ยอมกันไม่ได้!!

พร้อมกับการเป็น “เจ้าพ่อ” ในการผลิตคอนเทนต์พร้อมเสิร์ฟผู้ชมรายการในทุกช่องทางทุกแพลตฟอร์ม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของช่องเวิร์คพอยท์ในการเเป็นผู้นำและปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย และผลิตคอนเทนต์ให้กับผู้ชมรายการทั้งประเทศอย่างทั่วถึงสมกับการเป็นช่องขวัญใจของคนไทยตลอดไป

งานนี้ ต้องดูว่า แกรมมี่จะตอบโต้อย่างไร เพราะดูแล้ว ศึกจอออนไลน์ ดุเดือดไม่แพ้จอทีวีเลยทีเดียว.

]]>
1143017