True4U – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 15 Jun 2020 10:25:11 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะแนวคิด ‘True Media’ กับการอัพเกรด ‘True’ ให้เป็นมากกว่าบริษัท ‘Telecom’ https://positioningmag.com/1283554 Mon, 15 Jun 2020 09:10:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1283554 ถ้าหากพูดถึงอีโคซิสเต็มส์ของ ‘True’ เชื่อว่าหลายคนคงจะพูดออกมาไม่หมด เพราะมีมากมายหลายขาเหลือเกิน ซึ่งแน่นอนว่าการที่ทำหลายอย่างย่อมทำให้มี ‘คู่แข่ง’ เพิ่มขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้าน Strategic Content & Public Affairs บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กลับมองว่าในปัจจุบันนี้ หมดยุคของ ‘ไซโลบิสซิเนส’ ณ วันนี้ผู้ที่คิดแบบนี้ ได้กลายเป็น ‘เบอร์ 3’ ไปแล้ว และจากนี้ True จะไม่ใช่บริษัท Telecom แต่เป็น ‘Digital Media Company’

คุณมีแค่มือถือเท่ากับคุณ ‘อ่อนแอ’

ในอดีต หากมีบริษัทที่ทำทุกอย่างรวมกันหมด คนคงมองว่าไม่ฉลาด แต่ทำเพราะ ‘บ้าบิ่น’ เพราะต้องเข้าแข่งขันในเลเวลที่ต่าง มีคู่แข่งมากมาย รบรอบด่าน น่าจะไม่ดี แต่ปัจจุบันหมดยุคของ ‘ไซโลบิสซิเนส’ เพราะโลกกลายเป็นโลกของดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลายเป็นว่าคุณมีแค่มือถือเท่ากับคุณ ‘อ่อนแอ’ เพราะว่าคุณไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มเต็มศักยภาพ อย่างในสหรัฐอเมริกา บริษัท AT&T ที่ควบรวมกับบริษัทเป็นบริษัท Time Warner ที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ระดับสุดยอดอย่างสตูดิโอ Warner Bros. ช่องหนัง HBO มี CNN ช่องข่าวอันดับ 1 รวมถึงมีสตูดิโอผลิตเกม

ดังนั้น AT&T บอกกับทุกคนว่าจากนี้ไม่ใช่บริษัท Telecom อีกต่อไป แต่เป็น New Media Company ซึ่งนั่นคือทิศทางที่ True จะต้องไป เพราะว่าเทรนด์โลกมันเป็นแบบนั้น ต่อไป True จะเป็น Media Company ที่มี Telecom โดยมี Content ที่สร้างถูกทาง วางถูกที่ จะทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แข่งกันเรื่องโปรโมชั่นอย่างในอดีต เพราะอย่างคู่แข่งออกแพ็กเกจใหม่ พูดตรง ๆ ว่าอาทิตย์ต่อไปเราออกเหมือนกันได้เลย ดังนั้น ค่ายที่ไม่มีคอนเทนต์ชูโรง ไม่ใช่ว่าจะสร้างความแตกต่างไม่ได้ แต่มันจะมีความยากกว่าในเชิงของการสื่อสาร

อย่างแอป ทรูไอดี ทิ่เป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เปิดกว้างให้ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายเข้าถึงได้ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ เพื่อใช้สื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจศักยภาพของอินฟราฯ เป็นการใช้ Content Lead Marketing เมื่อมีประสบการณ์ในการบริโภคคอนเทนต์ เพราะคนจะรู้ว่าเน็ตเวิร์กมันดี คือ วิดีโอต้องไม่กระตุก และการที่จะใช้ค่ายไหนก็ได้ ลูกค้าจะมีจุดเริ่มต้นในการเปรียบเทียบ โดยปัจจุบัน ทรูไอดีมีการใช้งาน 60% เป็นลูกค้าทรู อีก 40% เป็นลูกค้าค่ายอื่น

เป็น ‘พันธมิตร’ ดีกว่าแข่งขัน

แม้ว่าปัจจุบันจะเห็นคู่แข่งรายใหญ่เข้าสู่ตลาด OTT จำนวนมาก แน่นอนว่าต้องมีการแย่งผู้ชม แต่สำหรับผู้ที่มี ‘Digital Platform’ จะไม่ได้มองว่าต้องไปแข่งขัน แต่มองเป็นบวก และเราสามารถเป็นพันธมิตร อย่างกล่อง ‘ทรูไอดีทีวี’ ที่เพิ่งเปิดตัวไป ก็มี ‘Netflix’ ให้ชม และใน Netflix ก็มีออริจินอลคอนเทนต์ของทรูอย่างซีรีส์ ‘Voice’ นั่นแปลว่าเขาเสริมเรา เราเสริมเขาในเชิงของบริการสำหรับผู้บริโภค และการมีเขาทำให้เราไม่ต้องลงทุนในตอนเทนต์แบบเขา แปลว่าเม็ดเงินที่เราเคยลงทุนในคอนเทนต์แบบเขา เราเปลี่ยนมาลงทุนในออริจินอลคอนเทนต์ของเราได้ และก็ขายเขาได้

ปัจจุบัน ทรูคอร์ปอเรชั่นเป็นผู้ที่ลงทุนในคอนเทนต์มากที่สุดในไทย ราว 7,000 ล้านบาท เป็นเบอร์ต้น ๆ ของไทย สิ่งที่เราลงทุนมากที่สุด คือ กีฬา เราตั้งใจเป็น king of sport และทุกกีฬาถูกออกแบบมาให้เป็นเพย์ทีวี ดังนั้นเราได้เปรียบเพราะเรามีทรูวิชั่นส์ แต่สิ่งที่เราต้องทำมากขึ้นคือ ‘เอนเตอร์เทนเมนต์’ เมื่อก่อนเราเป็นผู้ซื้อที่ใหญ่ที่สุด แต่เมื่อเราพาร์ตเนอร์กับ Netflix เราจึงไปทุ่มให้กับการสร้างออริจินอลได้ โดยที่ผ่านมาเราได้สร้างบริษัทร่วมทุน True CJ Creation เป็นบริษัทโปรดักส์ชั่นที่ในเบื้องต้นเรานำซีรีส์เขามารีเมคในแบบโลคอลไรเซชั่น อย่าง Voice และในปีนี้จะมีฟอร์มใหญ่ 6-8 เรื่อง เป็นฟอร์มใหญ่

ปั่นรวมทุกแพลตฟอร์มต่อยอดสู่ Addressable Advertising

Addressable Advertising หรือก็คือ การเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ใช้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านทีวีดิจิทัล ชมผ่านแพลตฟอร์ม OTT ซึ่งการรับรู้ถึงข้อมูลทั้งหมด จะทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาเติบโตขึ้นหลายสิบเท่า เพราะโฆษณาท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามาโฆษณามากขึ้น เพราะสามารถยิงเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคที่สนใจได้โดยตรง ไม่ต้องหว่าน ราคาต่อชิ้นถูกลง เพราะมีโฆษณามากขึ้น ดังนั้นมันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และบริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์ เพราะ ROI ได้มากขึ้น คุ้มค่ามากกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจคอนเทนต์ไทยอยู่ระหว่างทาง ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไกลพอ ยังขาดการเติบโตของดิจิทัลมีเดีย เพราะดิจิทัลทีวีมันไม่เติบโต แต่ถ้าอยู่ในจุดที่สัดส่วนทั้ง 2 เท่ากันจนเป็นออมนิมีเดีย ทุกสื่อมีความสำคัญเท่าเทียมกันและเข้าถึงผู้บริโภคในหลาย ๆ จุดของไลฟ์สไตล์ เพื่อให้รับรู้ถึง ‘พฤติกรรม’

ขณะที่ True ปัจจุบันมีเครื่องมือครบ ทั้งช่องในทีวีดิจิทัล (ช่องทรูโฟร์ยู) มีกล่องเซต-ท็อป- บ็อกซ์ (กล่องทรูไอดี ทีวี) มีเพย์ทีวี (ทรูวิชั่นส์) และแอปพลิเคชัน (ทรูไอดี) ทำให้สามารถดำเนินกลยุทธ์ Convergent คือ ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ ทำให้ทุกแพลตฟอร์มรู้ว่าผู้บริโภคเป็นใคร ใช้บริการอะไร เช่น ตอนนี้ใช้มือถือ ใช้เน็ตผ่านมือถือ ผ่านคอม ดูทีวีผ่าน OTT ดูช่องอะไร ทำให้เราได้ Big Data จากนั้นก็ยิงโฆษณาตามแต่พฤติกรรมที่ลูกค้าสนใจ ซึ่งก็คือ Addressable Advertising

ตั้งเป้าเติบโตดับเบิลทุกปี

ในปี 2019 ที่ผ่านมา ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวมประมาณ 4 ล้านรายและมีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง TrueID มีฐานผู้ใช้บริการต่อเดือนที่เติบโตกว่าสองเท่าจากปีก่อนเป็น 24.6 ล้านราย นอกจากนี้ กล่องทรูไอดี ทีวี มียอดขายกว่า 5 แสนกล่อง ขณะที่การขายโฆษณาของเรา ณ วันนี้ ขายเป็นออมนิชาแนล หรือบันเดิลแพ็กเกจ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าการเติบโตนี้จะมาจาก ‘ดิจิทัลมีเดีย’ โดยพยายามจะ Keep การเติบโตของเทรดดิชันแนลมีเดียไว้เท่าเดิม โดยในปี 2019 ดิจิทัลมีเดียของเรามีรายได้แซงเทรดดิชันแนลมีเดียไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก แปลว่า ณ วันนี้สัดส่วนของรายได้ของทรู วิชั่นส์กรุ๊ป เท่าเทียมกันกับเทรนด์ของโลก และพอไม่มีใครในอุตสาหกรรมโฟกัสในแบบเรา เรามีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโแบบดับเบิลได้ทุกปีใน 3 ปี

]]>
1283554
TNN เข็นผังใหม่ลงจอหวังเบอร์ 1 ช่องข่าวเศรษฐกิจ ดึง JKN-CNBC เสริมทัพ https://positioningmag.com/1243334 Wed, 21 Aug 2019 12:20:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1243334 ทีวีดิจิทัล” 7 ช่องขอออกจากตลาดเพราะไม่เห็นโอกาสสร้างรายได้จากใบอนุญาตที่เหลืออยู่อีก 10 ปี ส่วน 15 ช่องธุรกิจที่เลือกแล้วว่าขออยู่ต่อ ยังต้องดิ้นรนแข่งขันในเกมเรตติ้งหวังแชร์เม็ดเงินโฆษณา แม้จะอยู่ในภาวะถดถอย แต่โฆษณาทีวีมูลค่า 6 หมื่นล้านต่อปีตามที่นีลเส็นรายงาน ทำให้สมรภูมิทีวีดิจิทัล” ยังคงแข่งเดือดต่อไป

การคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ในจำนวนนี้ 3 ช่อง คือ ประเภทช่องข่าว เมื่อร่วมกับไทยทีวีที่ลาจอไปก่อนตั้งแต่ปี 2558 จากทีวีดิจิทัลช่องข่าว 7 ช่อง จึงเหลือ “ช่องข่าว” ที่ขอไปต่อ 3 ช่อง คือ TNN 16, NEW18 และ Nation 22 หากมองในมุมบวกคู่แข่งช่องข่าว “ลดลง” ก็อาจเป็นโอกาสของช่องข่าวที่เหลือ

องอาจ ประภากมล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด กล่าวว่า หลังปรับโครงสร้างทีมข่าว โดยรวมทีมข่าวกับช่อง “ทรูโฟร์ยู” อีกช่องทีวีดิจิทัลในเครือซีพี เพื่อลดความซ้ำซ้อน หลังจากบุคลากรพร้อม คราวนี้ก็มาถึงรายการ โดยวางตำแหน่งให้เป็น “ช่องข่าวเศรษฐกิจ” เต็มรูปแบบ เป้าหมายขึ้นแท่นเบอร์ 1 ช่องข่าวทีวีดิจิทัล

องอาจ ประภากมล

สำหรับผังใหม่ของ TNN ปรับสัดส่วนรายการข่าวต่างๆ แบ่งเป็น ข่าวเศรษฐกิจ 30% จากเดิม 15% ข่าวการเมืองระหว่างประเทศ 10% จาก 2% ข่าวไอที 5% จากเดิมไม่มีเลย ข่าวสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเพื่อสังคม 5% ข่าวกีฬา 10%

ดึง JKN-CNBC “สุทธิชัย หยุ่น” ลงผัง

ในผังใหม่วางคอนเทนต์หลักที่จะก้าวสู่อับดับ 1 ช่องข่าวเศรษฐกิจด้วย รายการข่าวเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน เน้นทันสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศรวมถึงโฟกัสเมกะโปรเจกต์ EEC การเมืองโลกและสังคมโลก สิ่งแวดล้อมโลก เทคโนโลยีและนวัตกรรม เทรนด์ใหม่ๆ ยุคดิจิทัล อาหารและสุขภาพ กีฬา ข่าวสารกีฬาทั้งไทยและเทศ

ไฮไลต์ผังรายการใหม่กลุ่มเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ได้แก่ รายการ The CNBC Conversation ผลิตโดย JKN-CNBC ที่มีต้นแบบจากรายการยอดนิยมของ CNBC ดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.30 – 21.30 น. เริ่ม 1 ก.ย. นี้

รายการ Business Model เจาะลึกหุ้นรายตัว ดำเนินรายการโดย เนาวรัตน์ เจริญประพิณ ร่วมด้วยการให้ข้อมูลและมุมมองของนักธุรกิจผ่านสุดยอดนักวิเคราะห์ ดร.นิเวศม์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่า และ ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล นักวิเคราะห์หุ้นคุณภาพ ที่จะมาสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ความรู้และภาพรวมธุรกิจ ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 14.30 – 15.00 น.

ทัพผู้ประกาศข่าวลงจอเพียบ

นอกจากนี้ได้เสริมทีม “ผู้ประกาศข่าว” เข้ามาแน่นจอ ทั้ง เจก รัตนตั้งตระกูล, ภัทร จึงกานต์กุล, ขวัญชนก โรจนนินทร์, บรรพต ธนาเพิ่มสุข, มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล, ศิรัถยา อิศรภักดี, ทวีรัตน์ จิรดิลก, ธันย์ชนก จงยศยิ่ง และ โมนัย เย็นบุตร พร้อมทีมข่าวในเครือช่อง True4U เข้ามาร่วมผลิตรายการ

โดยนำ AI Recommendation มาวิเคราะห์ข้อมูลการรับชม เพื่อออกแบบคอนเทนต์ให้ตรงใจและตอบโจทย์ผู้ชมยุคดิจิทัลที่รับชมได้ทุกช่องทางบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผ่าน Live Stream ตลอด 24 ชั่วโมง ทางแอปพลิเคชั่น TrueID, Facebook, YouTube, Twitter, Instagram และ Line Official

]]>
1243334
ทีวีดิจิทัล 2 ช่องกลุ่มทรูยัง “ขาดทุน” แต่เห็นสัญญาณบวก https://positioningmag.com/1230662 Mon, 20 May 2019 10:00:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1230662 หลักจาก กสทช.เปิดให้ทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” และรับเงินชดเชยเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้มีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มทรู ที่ถือใบอนุญาตอยู่ 2 ช่อง คือ ช่องวาไรตี้ “ทรูโฟร์ยู” และช่องข่าว “ทีเอ็นเอ็น” อาจจะตัดสินใจ “คืน 1 ช่อง” เพื่อลด “ต้นทุน” เพราะนับตั้งแต่เริ่มต้นออนแอร์ ปี 2557 ยังแบกขาดทุนมาต่อเนื่อง  

โดยทรูคอร์ปอเรชั่น ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้ำว่าบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด (TNN) และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (True4U) ในฐานะผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล มีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อไป โดยไม่คืนใบอนุญาต

“ทรูโฟร์ยู” ปี 61 ขาดทุนลดลง  

สำหรับ ทรูโฟร์ยู” ช่องวาไรตี้ ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมาด้วยมูลค่า 2,315 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มออนแอร์ปี 2557 นำเสนอการถ่ายทอดสดรายการกีฬาทั้งไทยและต่างประเทศที่กลุ่มทรูได้ลิขสิทธิ์ รวมทั้งรายการวาไรตี้ ซีรีส์ ละคร ที่ผลิตเองและลิขสิทธิ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากค่ายเกาหลี ที่ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ ซีเจ อีเอ็นเอ็ม ชูกลยุทธ์เป็นช่อง “ติ่งเกาหลี” หวังสร้างฐานผู้ชมช่องจากแฟนคลับผู้ชื่นชอบบันเทิงเกาหลี แต่เรตติ้ง “ทรูโฟร์ยู” ปี 2561 ยังคงไม่ติดท็อปเท็น รั้งอันดับ 13 เรตติ้ง 0.14

ในด้านรายได้ 5 ปีของทรูโฟร์ยู ยังอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นสัญญาณลดลง โดยบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด รายงานข้อมูลผลประกอบการไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดปี 2561 “ขาดทุนลดลง” 3.4%

  • ปี 2557   รายได้  275 ล้านบาท  ขาดทุน  135 ล้านบาท
  • ปี 2558   รายได้  601 ล้านบาท  ขาดทุน  403 ล้านบาท
  • ปี 2559   รายได้  726 ล้านบาท  ขาดทุน  633 ล้านบาท
  • ปี 2560   รายได้  794 ล้านบาท  ขาดทุน  328 ล้านบาท
  • ปี 2561  รายได้ 831 ล้านบาท ขาดทุน 317 ล้านบาท

 “ทีเอ็นเอ็น” สัญญาณบวก

ด้านช่องข่าว “ทีเอ็นเอ็น” ที่ประมูลทีวีดิจิทัลมาด้วยมูลค่า 1,316 ล้านบาท แม้เรตติ้งยังอยู่ท้ายตาราง ปี 2561 อยู่อับดับที่ 23 เรตติ้ง 0.02 แต่สถานการณ์การ “คืนใบอนุญาต” ทีวีดิจิทัล เมื่อวันที่ 10 พ.ค.รวม 7 ช่อง ในจำนวนนี้มีช่องข่าว 3 ช่อง คือ สปริงนิวส์ 19, วอยซ์ทีวี และไบรท์ทีวี ก่อนหน้านี้ ไทยทีวี ช่องข่าว ได้ปิดตัวตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ช่องข่าวที่เปิดประมูล 7 ช่อง หลังคืนใบอนุญาตและยุติออกอากาศในเดือน ส.ค.นี้ จะเหลือช่องข่าวเพียง 3 ช่อง คือ เนชั่นทีวี นิวทีวี และทีเอ็นเอ็น

ภาพจาก facebook TNN

หากมองโอกาสดึงผู้ชมจากช่องข่าวที่เตรียมลาจอ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ส่วนอันดับเรตติ้ง หายไป 7 ช่อง ก็ต้องขยับขึ้นแน่นอน แต่อีกสัญญาณบวกของ “ทีเอ็นเอ็น” มาจากผลประกอบการปี 2561 ซึ่งบริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด  แจ้งข้อมูลต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าตัวเลขขาดทุนลดลง 190% และรายได้เพิ่มขึ้น 112%

  • ปี 2557  รายได้ 363  ล้านบาท  ขาดทุน 131 ล้านบาท
  • ปี 2558  รายได้ 390  ล้านบาท  ขาดทุน 200 ล้านบาท
  • ปี 2559  รายได้ 395  ล้านบาท  ขาดทุน 164 ล้านบาท
  • ปี 2560  รายได้ 395  ล้านบาท  ขาดทุน 125 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 841  ล้านบาท ขาดทุน  43  ล้านบาท

แม้การคืนใบอนุญาต ทรูโฟร์ยูและทีเอ็นเอ็น จะทำให้ทรูได้เงินชดเชยกลับมากว่า 1,000 ล้านบาท แต่กลุ่มทรูที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เดือน พ.ค.2562 กว่า 1.6 แสนล้านบาท คงไม่เลือกเส้นทางนั้น อีกทั้งตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังครองตำแหน่งมหาเศรษฐีไทยอันดับ 1 มูลค่า  9.41 แสนล้านบาท จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes Thailand ปี 2562 การมีสื่อทีวีดิจิทัลในมือน่าจะเป็นช่องทางต่อยอดธุรกิจในเครือและโอกาสการหารายได้ในอนาคตได้มากกว่ามูลค่าชดเชยจาก กสทช. ณ วันนี้.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง 

]]>
1230662
คอนเทนต์เกาหลียังปัง GOT7 Real Thai ตอนแรกดันเรตติ้งให้ True4U https://positioningmag.com/1208971 Fri, 18 Jan 2019 09:57:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1208971 พลัง GOT7 จาก 4 หนุ่ม แบมแบม จินยอง ยองแจ และ มาร์ค รายการ “GOT7 เรียลไทย กับเหล่าผู้พิทักษ์” ออกอากาศวันแรกทำเรตติ้งสูงสุดของช่องทรูโฟร์ยู และติดอันดับ 15 รายการเรตติ้งสูงสุดของรายการช่วงไพรม์ไทม์ 

หลังจากที่ทรูโฟร์ยูประกาศเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นช่อง ติ่งเกาหลี ประเดิมรายการใหม่ “GOT7 เรียลไทย กับเหล่าผู้พิทักษ์” ลงผังหวังดึงสาวกเกาหลี เข้ามาเป็นกลุ่มฐานผู้ชมช่อง สร้างความแตกต่างจากทีวีดิจิทัลทุกช่อง ซึ่งได้ผลตั้งแต่การออกอากาศวันแรก 16 มกราคม 2562 ได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.467 เป็นรายการที่เรตติ้งสูงสุดของช่องประจำวัน

เมื่อแยกพื้นที่การรับชม พบว่า มีเรตติ้งผู้ชมในกลุ่มต่างจังหวัด 0.482 สูงกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ 0.381 นอกจากนี้หากเทียบกับรายการที่ออกอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน เวลาหลังข่าว 2 ทุ่ม จะพบว่า พลังอากาเซ ทำให้เรตติ้งรายการขึ้นมาอยู่ในอันดับ 15 ของช่วงเวลาเลยทีเดียว

ปกติรายการที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่องทรูโฟร์ยูประจำวัน คือ รายการราคาพารวย ออกอากาศช่วงเย็นของทุกวันทำงาน เรตติ้งทำได้อยู่ในระดับ 0.8 แต่วันที่ 16 ม.ค. มีการถ่ายทอดสดฟุตบอล มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.383 เท่านั้น ทำให้รายการ GOT7 ทำเรตติ้งสูงสุดประจำวัน

หากเทียบกับรายการของช่องที่ออกอากาศในทุกวันพุธ โดยในวันพุธที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น ช่วงเวลานี้เป็นการออกอากาศ รายการ รีรัน ป๋าซ่า พาซิ่ง ได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 0.150 เท่านั้น 

ในขณะที่เรตติ้งเฉลี่ยของช่องทรูโฟร์ยู ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น อยู่ในอันดับ 15 มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.114 เท่านั้น การที่รายการ GOT7 เรียลไทย ได้เรตติ้ง 0.467 นั้น นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่า ระดับเรตติ้งเฉลี่ยช่องมาก

ปลายปีที่แล้ว ทรู ได้ร่วมทุนซีเจ อีเอ็นเอ็ม (CJ E&M) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจบันเทิงครบวงจรจากเกาหลี เจ้าของค่าย Xtvn ที่ฉายซีรีส์ดังหลยเรื่องที่คนไทยติดงอมแงม ตั้งบริษัท “ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์” เพื่อมาผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทรูโฟร์ยู

ช่องทรูโฟร์ยูนำรายการที่มีต้นฉบับจากเกาหลี มาผลิตในเวอร์ชั่นไทยมาแล้ว เช่น รายการ You are my fantasy หรือ แฟนฉันเป็นซุปตาร์ แต่ได้เรตติ้งอยู่ในระดับ 0.1-0.2 เท่านั้น ส่วนซีรีส์รีเมกเกาหลี ที่นำมาผลิตในเวอร์ชั่นไทย ก็ได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ในระดับ 0.1-0.3

การที่ความนิยมและเรตติ้งของรายการ GOT7 สูงกว่ารายการเกาหลีอื่นๆ ของช่อง ยังสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความดังของศิลปิน 4 หนุ่ม แบมแบม จินยอง ยองแจ และ มาร์ค ที่มีฐานแฟนจำนวนมากในไทย มาร่วมรายการ มีส่วนอย่างมากในการดึงผู้ชม ให้เข้ามาชมมากขึ้น การที่ GOT7 มีฐานแฟนคลับทั่วโลก จึงดึงผู้ชมเข้ามาร่วมรับชมรายการนี้สูงขึ้นทันที

ทั้งนี้รายการ GOT7 Real Thai (GOT7 Real Thai กับเหล่าผู้พิทักษ์) เป็นรายการที่ให้ 4 หนุ่ม แบมแบม จินยอง ยองแจ และ มาร์ค ปฏิบัติภารกิจตามหาโชคทั้งเจ็ดในประเทศไทยตามจังหวัดต่างๆ ได้แก่ กาญจนบุรี อยุธยา และอุบลราชธานี และยังมีความฮาจากบรรดาผู้พิทักษ์ เป็นรูปแบบรายการตลกแบบมีสาระ

นอกจากนี้ ระหว่างออกอากาศ แฮชแท็กรายการ ที่ใช้คำว่า #GOT7RealThai ก็ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยอันดับ 1 ทันที ด้วยเหตุผลของความดังของวง GOT7 ที่มีสาวกอยู่ทั่วโลก

นอกจากเรื่องอิทธิพลของพรีเซ็นเตอร์ จึงเป็นการส่งสัญญาณการแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้นของการผลิตคอนเทนต์ ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่กำลังเจอคู่แข่งระดับอาเซียนที่เข้ามาบุกถึงถิ่นอีกด้วย.

]]>
1208971
สมรภูมิชิงดาว กลยุทธ์ช่องทุนหนา ลุยละคร ดึงดาราย้ายสังกัด https://positioningmag.com/1208267 Tue, 15 Jan 2019 04:56:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1208267 นับเป็นปีที่ 5 ของทีวีดิจิทัล นอกจากหลายช่องเปลี่ยนมือเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลไปสู่มือนายทุนใหญ่แล้ว ปีนี้เริ่มเห็นการขยับตัวของบรรดานักแสดงโยกย้ายสังกัด เป็นอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ จากการมีช่อง” ให้เลือกมากขึ้น โดยเฉพาะช่องนายทุนที่ยอมทุ่มทุนเพื่อหวังชิงความนิยม สร้างความรู้จัก สร้างชื่อเสียงช่องด้วยความดังนักแสดง 

วงในลือมาริโอ้หมดสัญญาช่อง 3 ขอเป็นอิสระ

ตั้งแต่ต้นปี มีข่าวนักแสดงมีชื่อเสียงหลายคนทยอยบอกลาต้นสังกัดเดิม ขอเป็นอิสระ บางรายเข้าสังกัดค่ายใหม่ ตั้งแต่กรณีขวัญ อุษามณีและปุ๊กลุกฝนทิพย์ออกจากช่อง 7 โดยประกาศในช่วงแรกว่าเพื่อขอเป็นอิสระ แต่เมื่อเวลาผ่านไปปุ๊กลุก เป็นรายแรกที่ประกาศเข้าสังกัดพีพีทีวี

ล่าสุดมีข่าวว่ามาริโอ้ เมาเร่อนักแสดงหนึ่งในตัวท็อปของช่อง 3 ผันตัวมาเป็นนักแสดงอิสระอีกคนแล้ว โดยส่วนใหญ่มาริโอ้จะเน้นภาพยนตร์ต่างประเทศ และการเดินสายในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันในเรื่องนี้ 

ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง (ภาพจาก : ch3thailand.com)

มาริโอ้ เป็นหนึ่งในนักแสดงดังของช่อง 3 มีผลงานล่าสุดที่กำลังจะออกอากาศวันที่ 31 ..นี้ คือละครทองเอก หมอยา ท่าโฉลงละครตลก แนวพีเรียด ที่หวังจะมาสร้างความฮา ต่อจากพ่อมากพระโขนงหนังที่มาริโอ้เล่นและประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง 

ภาพจาก : ch3thailand.com

นอกเหนือจากมาริโอ้ มีรายงานข่าวว่าเคน ภูภูมิก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีแนวโน้มจะมาเป็นนักแสดงอิสระหากหมดสัญญากับทางช่อง 3 ตามรอยเอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา แฟนสาว ที่ปัจจุบันทั้งคู่ใช้ผู้จัดการคนเดียวกันเอสเธอร์ซึ่งเคยเป็นนักแสดงในสังกัดช่อง 3 แต่เลือกที่จะเป็นอิสระเมื่อเกิดทีวีดิจิทัล มารับงานแสดงอิสระได้ทุกช่อง กลายเป็นนักแสดงหญิงอิสระที่มีงานชุกมากที่สุดคนหนึ่งในวงการ 

เคน ภูภูมิเพิ่งปฏิเสธบทพระเอกในเรื่องสองเสน่หาละครเรื่องใหม่ของช่อง 3 ที่ได้เบลล่า ราณี เป็นนางเอก จนช่อง 3 ต้องเลือกอาเล็ก ธีรเดชมาเล่นแทน 

ภาพจาก : ch3thailand.com

โอม อัชชา เป็นนักแสดงช่อง 3 ที่เพิ่งประกาศตัวเป็นอิสระเมื่อเร็วๆ นี้ ทันทีที่เป็นอิสระ ก็ไปลงละครแก้วขนเหล็ก ให้กับช่องวันเป็นเรื่องแรก และยังมีอีกหลายเรื่องเข้าคิวรอ

5 ช่องทุนหนา จาก 3  มหาเศรษฐีของไทยทุ่มทุนหนัก

ช่อง 7 และช่อง 3 เป็น 2 ช่องใหญ่ยืนแถวหน้าในวงการทีวีมานาน มีนักแสดงในสังกัดชื่อดังจำนวนมาก ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้กับช่องทีวีดิจิทัลใหม่ ที่ต้องการเข้าสู่อันดับท็อปของตารางทีวีดิจิทัลด้วยการผลิตละครไทย จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ดูด นักแสดงดังมาแสดงละครให้กับช่อง 

ในกลุ่มช่องใหม่ ทุนหนา ที่อัดฉีดหนักในการผลิตละคร และดึงนักแสดง มี 4 ช่อง ได้แก่ ช่องวัน, จีเอ็มเอ็ม 25, พีพีทีวี, ทรูโฟร์ยู และอมรินทร์ทีวี ทั้ง 5 ช่องมาจาก 3 มหาเศรษฐีทั้งหมด 

  • ตระกูลปราสาททองโอสถ มี 2 ช่อง ได้แก่ ช่องวัน และ พีพีทีวี
  • ตระกูลสิริวัฒนภัคดี มี 2 ช่อง ได้แก่ จีเอ็มเอ็ม 25 และ อมรินทร์ทีวี
  • ตระกูลเจียรวนนท์ มี 2 ช่องได้แก่ ทรูโฟร์ยู และ ทีเอ็นเอ็น แต่ช่องที่มีละครคือ ทรูโฟร์ยู

ช่องวันและจีเอ็มเอ็ม 25 ที่อยู่ในกลุ่มของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ทั้ง 2 ช่อง ลุยตลาดละครตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ได้ 2 ตระกูลมหาเศรษฐีเข้ามาถือหุ้น ทำให้ทั้ง 2 ช่องได้เงินทุนมาช่วยติดปีก ขยายไลน์การผลิตละครได้เต็มสตรีมมากขึ้น 

ช่องวัน ขยายละครมีตั้งแต่ละครเย็น และละครหลังข่าว จันทร์เสาร์ ในปีที่แล้วมีละครเมีย 2018” สร้างชื่อเสียงให้กับช่อง ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีละครคุณพ่อจอมซ่าส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในปีนี้ทั้ง 2 ช่องต่างมีทางเลือกจากนักแสดงอิสระที่ออกมาจากช่อง 7 และช่อง 3 มากขึ้น 

ค่ายทรู ผูกสัญญาแพนเค้ก 

ภาพจาก : instagram.com/khemanito

ทรูโฟร์ยู เริ่มรุกทำละครมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จากการเปิดตัวละครชุด 3 เรื่องเจ้าเวหาที่ประกาศทุ่มทุนสร้างกว่า 220 ล้านบาท สำหรับทั้ง 3 เรื่อง ด้วยการรวมตัวนักแสดงของทั้งช่อง 7 และช่อง 3 มาแสดงร่วมกันเป็นครั้งแรก ตั้งแต่นุ่น วรนุช, อั้ม อธิชาติ, ใหม่ ดาวิกา, ติ๊ก เจษฎาพร, แอนดริว เกร็กสัน และ แพนเค้ก เขมนิจแต่ออกอากาศได้เพียงเรื่องเดียวก็พับโครงการ หลังจากเรื่องแรกไม่ได้รับความนิยมมากนัก อีกทั้งยังมีปัญหาการฟ้องร้องกันของนักแสดงและผู้ผลิตตามมาอีกด้วย

ต่อมาทรูโฟร์ยูก็ยังทุ่มทุนกว่า 300 ล้านกับซีรีส์ศรีอโยธยา 1-2 “ พร้อมๆ กับการได้เซ็นสัญญากับแพนเค้กที่หมดสัญญากับช่อง 7 โดยมีข่าวว่าจ่ายค่าตัวครั้งแรก เป็นตัวเลข 8 หลักเลยทีเดียว และเมื่อสัญญากับแพนเค้กหมดลงเมื่อสิ้นปี 2561 ทรูโฟร์ยูก็จับแพนเค้กเซ็นสัญญาต่อทันที สกัดข่าวที่มีรายงานก่อนหน้านี้ว่าช่องวันเตรียมดึงแพนเค้กลงเล่นละครช่อง โดยทรูโฟร์ยูนำเสนอละครให้แสดงอีก 2 เรื่องในปีนี้ ได้แก่เรื่อง พยัคฆ์ร้ายสายลับ และซีรีส์เกาหลี Voice ที่จะมาทำในเวอร์ชั่นไทย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าในกลุ่มทรูต่อเนื่องด้วย 

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ละครของทรูโฟร์ยูในปีนี้ ที่เพิ่งประกาศไปคือ เน้นละครรีเมกซีรีส์เกาหลี และละครฟอร์มยักษ์ เพื่อสร้างความแตกต่างของช่องเมื่อเทียบกับละครช่องอื่นๆ

พีพีทีวี ลุยเจรจาดาราแม่เหล็กของแต่ละช่อง 

พีพีทีวี ของตระกูลปราสาททองโอสถ เป็นช่องที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด จากกลยุทธ์ดูด แหลกทั้งรายการและนักแสดงในปลายปีที่ผ่านมา เปิดมาต้นปีนี้เริ่มใช้กลยุทธ์ใหม่ในการเข้าไปเจรจากับนักแสดงในสังกัดช่องใหญ่ โดยเฉพาะช่อง 3 และนักแสดงที่สังกัดช่อง ทั้งกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะหมดสัญญา และกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าอาจจะขอเป็นอิสระ 

ทั้งนี้ พีพีทีวี มีข้อเสนอไม่ผูกมัดเป็นนักแสดงในสังกัดพีพีทีวี สามารถเป็นนักแสดงอิสระได้ เพียงแต่เซ็นสัญญากับพีพีทีวีว่าจะรับเล่นละครจำนวนกี่เรื่องภายใน 1 ปี โดยที่ยังสามารถไปรับเล่นละครให้ช่องอื่นๆ ได้อิสระ รวมถึงการันตีรายได้ที่จะได้จากช่องพีพีทีวีในราคาสูงกว่าตลาด 

แหล่งข่าววงการนักแสดงเปิดเผยว่า ด้วยข้อเสนอใหม่นี้ มีทั้งนักแสดงที่ให้ความสนใจเข้าร่วม และบางกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ และกลุ่มที่ปฏิเสธข้อเสนอ 

มนตรามหาเสน่ห์

ตั้งแต่ต้นปีพีพีทีวีทยอยเปิดกล้องละครมาเป็นระยะหลายเรื่อง แต่ที่เปิดตัวเป็นทางการไปแล้วคือมนตรามหาเสน่ห์ ของค่ายผู้จัด หก สี่ เอี่ยว ของ หงส์ธัญญ์นิติ สามีของอุ๊ พัชนี จารุจินดา ผู้จัดละครช่อง 3 นอกจากนี้ยังมีละครจากค่ายทีวีธันเดอร์, เจเอสแอล, กันตนา, คุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ และ Change2561 ของพี่ฉอดสายทิพย์ 

จากความเคลื่อนไหวของบรรดาช่องเศรษฐีเหล่านี้ การขยับของบรรดานักแสดงน่าจะสร้างสีสันให้กับวงการทีวีดิจิทัล ช่องเล็กมีโอกาสมากขึ้น ในขณะที่ผู้ชมก็มีทางเลือกหลากหลาย ละครสนุก นักแสดงดัง ตรึงคนดูได้ เรตติ้งจะสวิงไปอยู่ที่ช่องไหน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของละครแต่ละเรื่องนั่นเอง.

]]>
1208267
ทรูโฟร์ยู ปรับผังใหม่รับศึกปี 62 ประเดิมด้วย เกาหลีฟีเวอร์ ไม่สนไพรม์ไทม์ บุกออมนิชาแนล https://positioningmag.com/1207520 Thu, 10 Jan 2019 10:16:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1207520 ทรูโฟร์ยูแปลงร่างเป็นช่องติ่งเกาหลี ปรับผังใหม่ ผลิตรายการดังอิงกระแสเกาหลีฟีเวอร์ ประเดิมด้วย “GOT7 Real Thai กับเหล่าผู้พิทักษ์” ได้ “แบมแบม” นำทีมพร้อม 3 หนุ่มในวง มาร์ค ยองแจ และ จินยอง นำทีมตะลุยทริปในไทย พร้อมกรี๊ดกับ รีเมกเกาหลี “Secret Garden” เวอร์ชั่นไทย จับ “อนันดาคู่ใบเฟิร์น” 

ที่ผ่านมาทรูโฟร์ยูทีวีดิจิทัลภายใต้เครือข่ายทรู อยู่ในช่วงลองผิดลองถูกโดยมีกีฬาเป็นคอนเทนต์หลัก รายการที่เป็นไฮไลต์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก วอลเลย์บอลชิงแชมป์ประเทศไทย 

ปีที่แล้ว ทรูโฟร์ยู พยายามปรับผังรายการ เพิ่มคอนเทนต์ละคร ซีรีส์เข้ามา แต่ภาพของคนดูยังไม่ชัดเจนนัก คนดูยังจำกัดเฉพาะคนเมือง เรตติ้งของช่องอยู่ในอันดับ 13-15 แต่ยังไม่ติดอันดับ 10 จนกระทั่งทรูได้ตัดสินใจร่วมทุนซีเจ อีเอ็นเอ็ม ยักษ์ใหญ่ธุรกิจบันเทิงครบวงจรจากเกาหลี ตั้งบริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์เพื่อมาผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทรูโฟร์ยู

ดังนั้น ปีนี้ทรูโฟร์ยูจึงมั่นใจมากขึ้นกับแผนครึ่งปีแรก ที่ถูกวางคอนเซ็ปต์ใหม่ ‘True for All, More 4U เพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ เพื่อขยายฐานคนดูมากขึ้น

อภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง กรรมการผู้จัดการ ทรูโฟร์ยู ช่อง 24 คนใหม่ บอกว่าปี 2562 ทรูโฟร์ยูจะให้ความสำคัญกับคอนเทนต์บันเทิงระดับสากลเพิ่มมากขึ้น นอกจากรายการกีฬาสดที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้วยังเพิ่มคอนเทนต์ภาพยนตร์ซีรีส์ เกมโชว์ ละคร เพื่อให้ถึงกลุ่มดูทั่วประเทศได้มากขึ้น

หนึ่งในคอนเทนต์หลัก จะอิงสูตรสำเร็จของเกาหลี ที่มาจาก ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ผลิตรายการทั้งซีรีส์ เกมโชว์ และดึงศิลปินนักร้องเกาหลีร่วมผลิตรายการ เปิดตัวด้วยรายการใหม่ “GOT7 Real Thai กับเหล่าผู้พิทักษ์ ดึงศักยภาพของ 4 หนุ่ม วง GOT7 – แบมแบม มาร์ค ยองแจ และ จินยอง กลางเดือนมกราคมนี้

นอกจากนี้รายการใหม่ๆ ยังมีรีเมกซีรีส์เกาหลีชื่อดัง “Secret Garden” ในเวอร์ชั่นไทย ได้นักแสดงดังอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ประกบ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก เป็นครั้งแรก

ซีรีส์เกาหลีสืบสวนสอบสวน “Voice” จับคู่ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ และ แอนดริว เกร็กสัน รายการวาไรตี้เกมโชว์ “Cuteboy Thailand” เรียลลิตี้เฟ้นหาหนุ่มๆ และสงครามทำเพลง Melody to Masterpiece” รายการแข่งขันของโปรดิวเซอร์ 4 ทีม จาก 4 ค่ายเพลง

รายการ “You are my fantasy” เดตติ้งเกมโชว์ ที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาที่ยังโสดได้มีโอกาสเดตกับซุปตาร์ในฝันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีพิธีกรดีเจนุ้ย จอห์น วิญญู และกวาง อรการ

รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ อย่าง ของทีวีธันเดอร์ ราคาพารวย เกมโชว์ ที่ตอบโจทย์คนดูกลุ่มแมส ซีรีส์ ศรีอโยธยา ที่ได้หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล มากำกับ และ Halo Productions ผู้ผลิตซีรีส์รีเมกชื่อดังที่เคยฝากผลงานฮิตไว้มากมาย

โดยใช้เงินลงทุนด้านคอนเทนต์ปี 2562 ประมาณ 800 กว่าล้าน เพิ่มขึ้น 20% จากปีที่แล้วใช้ไป 700 ล้านบาท

เป้าหมายของการปรับผังรายการ เติมคอนเทนต์ ขยายกลุ่มผู้ชมไปทั่วประเทศ และคนรุ่นใหม่ และเพิ่มเรื่องการตลาด ทำแคมเปญ ออกอีเวนต์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 

ทรูโฟร์ยู จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ เพย์ทีวี อินเทอร์เน็ต เพื่อตอบโจทย์เรืองของ “Omni-channel” ให้ผู้ชมเข้าถึงคอนเทนต์ได้หลากหลายช่องทางและหลายแพลตฟอร์ม ทั้งหน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ เฟซบุ๊กแฟนเพจและเว็บไซต์ทรูโฟร์ยู รวมถึงแอปพลิเคชั่นซึ่งเป็นของทรูเอง ทำให้ทรูบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

ทรูมองว่าหากมีคอนเทนต์หลากหลายตอบโจทย์คนดูได้ทุกเซ็กเมนต์ มีช่องทางส่งผ่านคอนเทนต์พร้อมทรูเชื่อว่าจะสร้างความแตกต่างได้โดยไม่จำเป็นง้อเรตติ้ง” ทีวีแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นทรูจึงไม่จำเป็นต้องเน้นไพรม์ไทม์เหมือนกับคู่แข่ง โดยจะนำเทคโนโลยีหลังบ้านมาใช้ประโยชน์เพื่อนำเสนอรายการที่เหมาะกับคนดูแต่ละกลุ่ม และนำเสนอโฆษณาให้ตรงกับความต้องการของสินค้าโดยไม่ต้องดูเฉพาะเรตติ้ง

ธีรศักดิ์ อรุณเริ่มวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่ม ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ย้ายจากดูแลแบรนด์ให้มือถือทรูมูฟเอช มาช่วยทรูโฟร์ยูเรื่องของคอนเทนต์และสร้างแบรนด์ มองว่า ธุรกิจทีวีเวลานี้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว เพราะเวลานี้มีถึง 20 กว่าช่อง ดังนั้นเรตติ้งช่องไม่สำคัญเท่ากับเรตติ้งของคอนเทนต์แล้ว ยิ่งอยู่ในยุคดิจิทัลแล้ว คนดูได้จากหลายช่องทาง จึงต้องวัดกันที่ประสิทธิภาพในการลงโฆษณา 

เรามองทุกช่วงเวลา ไม่จำเป็นต้องแข่งเฉพาะช่วงไพรม์ไทม์เท่านั้น ซึ่งทุกช่องมาแข่งกันตรงนี้ทั้งๆ ที่มีช่วงเวลาอื่นๆ คนก็ดู ด้วยเทคโนโลยีหลังบ้าน ทำให้รู้ข้อมูลพฤติกรรมของคนดู รู้ว่าเขาดูรายการอะไร นักการตลาดสามารถลงโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำขึ้น

แต่ก่อนจะไปถึงตรงจุดนั้น แค่งานเปิดผังรายการใหม่ของ ทรูโฟร์ยู ในช่วงบ่าย ที่มีดารานักแสดงนำ มาร่วมเดินพรมแดง ประเดิมด้วย ด้วยรายการใหม่ “GOT7 Real Thai กับเหล่าผู้พิทักษ์ที่มี แบมแบม มาร่วมงาน เรียกแฟนคลับมากันแน่น ไอคอนสยามแล้ว เรียกว่า มาถูกทางในแง่ของการเรียกกระแส อย่างน้อยก็ทำให้คนรู้จักช่องทรูโฟร์ยูมากขึ้น.

]]>
1207520
ไม่รีบ! ทรูนับหนึ่ง “ทีวีดิจิทัล” ปีหน้า ควง “ซีเจ” เกาหลี ส่งคอนเทนต์บันเทิงลงจอ ส่งแผน 3 ปี ดันทรูโฟร์ยู ติดท็อป 6 https://positioningmag.com/1189750 Wed, 26 Sep 2018 05:40:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1189750 ค่อยเป็นค่อยไป! แม้จะผ่านมา 5 ปีแล้ว แต่สำหรับช่องทรูโฟร์ยู ทีวีดิจิทัลของกลุ่มทรู ยังถือเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งต้นเรียนรู้ หาประสบการณ์ เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ภายใน 3 ปีจากนี้

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย กลุ่มทรู กล่าวว่า กลุ่มทรูได้ทำแผน 3 ปี เพื่อก้าวไปเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศ ใน 3 ช่องทาง ฟรีทีวีทางทรูโฟร์ยู, เพย์ทีวีทางทรูวิชั่นส์ และช่องทางออนไลน์ทางทรูไอดี

ทรูมองว่า แนวโน้มของผู้ชมคอนเทนต์ จะไม่ติดอยู่เฉพาะช่องทางทีวีเท่านั้น แต่ไปช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการผลิตคอนเทนต์จึงต้องตอบรับทุกช่องทาง

สัดส่วนของคอนเทนต์นั้น จะมีสัดส่วนรายการกีฬาประมาณ 30% ซึ่งเวลาทรูโฟร์ยู ถ่ายทอดสดรายการกีฬาหลายอย่าง ที่เด่นที่สุดตอนนี้คือ การถ่ายทอดลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก และที่เหลือ 60-70% เป็นสัดส่วนของคอนเทนต์บันเทิง ทั้งจากรายการวาไรตี้ และซีรีส์

สำหรับคอนเทนต์บันเทิงนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับทรู จึงได้เรียนทางลัด โดยอาศัยประสบการณ์ของพาร์ตเนอร์หลัก อย่าง “ซีเจเอ็นเอ็ม” ธุรกิจบันเทิงและอีคอมเมิร์ซของเกาหลี ซึ่งเกือบ 2 ปีที่แล้ว ทรูและซีเจเอ็นเอ็มได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท ทรูซีเจ ครีเอชั่น จำกัด ได้ผลิตรายการบันเทิง เช่น รายการวาไรตี้เพลงแนวแรป Show Me The Money (SMTM) ที่ออนแอร์ไปแล้ว และซีรีส์ Oh My Ghost  ที่กำลังจะออนแอร์ภายในปีนี้ 

พีรธน บอกว่า ปัญหาของทรู คือคอนเทนต์ยังผลิตออกมาไม่ทันกับแผนที่วางไว้ ต้องรอถึงปี 2019 จึงมีความพร้อม ดังนั้นจึงวางแผนไว้ 3 ปี ระหว่าง 2019-2021 เพื่อผลักทีวีดิจิทัล คาดหวังว่าจะสามารถขึ้นไปติดอันดับ 6 ในแง่เรตติ้งได้

คอนเทนต์บันเทิงที่อยู่ในแผนตอนนี้ มี 2 หมวด รายการประเภท Music Variety  และ ซีรีส์

Music Variety ที่อยู่ในแผนการผลิตเตรียมออกอากาศ เช่น รายการ Melody to Masterpiece และ High School Idol ซึ่งเป็นสองรายการดังของค่าย CJ ที่เกาหลี ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

โดย Melody to Masterpiece เป็นรายการที่เลือกนักแต่งเพลงของ 4 ค่ายดังมาแต่งเพลงให้ศิลปินที่มาร่วมรายการ รายการนี้มีแผนการออนแอร์ประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้

ส่วน High School Idol เป็นรายการประเภท reality show คล้ายๆ AF ที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดมาแล้วจากทรูวิชั่นส์ ซึ่งทรูเชื่อว่ารายการนี้จะประสบความสำเร็จมากในไทย เพราะรูปแบบรายการเป็นการแข่งขันและสนุกสนานตอบโจทย์คนไทยได้ดี

เป้าหมายของเรา ต้องสร้าง original content ให้ แทนที่จะซื้อคอนเทนต์เหมือนในปัจจุบัน เพื่อจะขายไปในโลกได้

พีรธนกล่าว 

จับมือ Netflix เปิดตลาดซีรีส์ไทยในต่างประเทศ

ส่วนหมวดรายการดราม่า ที่มีเค้าโครงเรื่องมาจากซีรีส์เกาหลี ออนแอร์ไปแล้ว คือ Oh My Ghost และ Tunnel 

โดยช่องทางการออกอากาศของทรูจะมี 3 ช่องทางหลัก ทรูโฟร์ยู ออกอากาศสด, ทรูวิชั่นส์ ทั้งสดและย้อนหลัง และทรูไอดีดูย้อนหลัง ซีรส์แต่ละเรื่องจะออกช่องทางแตกต่างกัน ซึ่งทรูกำลังทดสอบตลาดหลายๆ ทาง และยังมีตลาดต่างประเทศ เป้าหมายหลักด้วย

อย่างเรื่อง Oh My Ghost ทรูได้จับมือ Netflix ออกอากาศหลังจากออนแอร์ในไทยไปแล้ว 1 ชั่วโมง เป็นการเปิดทางในตลาดต่างประเทศทั่วโลกสามารถรับชมได้ ซึ่งจะทำให้ทรูมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ด้วยอีกทาง

ซีรีส์เรื่องก่อนหน้านี้ My Gril 18 มงกุฎสุดที่รัก ดังนั้นแม้เรตติ้งต่ำมาก ระดับ 0.0xx แต่ด้วยการที่ทรูขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศเพื่อออกอากาศพร้อมกัน 6 ประเทศ ไทย, จีน, ฮ่องกง, มาเก๊า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ทำให้ทรูได้ฐานคนดูเพิ่มขึ้นมาก เฉพาะที่จีนประเทศเดียวมากกว่า 160 ล้านคนไปแล้ว ทำให้มีรายได้เพียงพอกับต้นทุนการผลิต

เมื่อกระบวนการผลิตคอนเทนต์เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ พีรธนบอกว่าภายใน 3 ปี ทรูก็จะสามารถเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์รายสำคัญของตลาดไทย และจะทำให้ทรูโฟร์ยูเข้าสู่ช่องอันดับ 6 ได้ไม่ยาก เพราะอันดับเรตติ้งถือว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เนื่องจากคนดูไม่ได้ผูกพันกับช่องใดช่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ที่ออกอากาศในช่วงนั้น

แม้ได้เรตติ้งสูงก็ยังไม่ได้การันตีว่าจะได้กำไร ดูจากสถานการณ์บางช่องที่ยังขาดทุนหนัก ดังนั้นรูปแบบของการบริหารช่องทีวีดิจิทัลที่ดีคือ ต้อง Balance ให้ได้ระหว่างเรตติ้ง ความนิยม และรายได้ที่จะต้องชัดเจนมากขึ้นด้วย การวัดจากผลประกอบการ จึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุด.

]]>
1189750
บอลโลกเริ่มแรง แมตช์ทีมเต็งเรตติ้งพุ่งแซงละคร ดันช่องอมรินทร์, ทรูโฟร์ยู และช่อง 5 ติดอันดับท็อป โมโนจัดหนัก Fast and Furious ภาค 1-7 สู้ศึก https://positioningmag.com/1175857 Mon, 25 Jun 2018 23:15:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1175857 การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบแรก 32 ทีมชาติ จากทั้งหมด 8 กลุ่ม กำลังแข่งขันกันแบบพบกันหมด เพื่อหาทีมที่มีคะแนนดีที่สุด 2 ทีมในแต่ละสาย เข้าสู่รอบ 2 จำนวน 16 ทีมสุดท้าย ได้เข้าสู่ช่วงท้ายของรอบแรกแล้ว ความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ แถมมีประเด็นให้พูดถึงในผลการแข่งขันแต่ละแมตช์ตามมามากมาย ทำให้ความนิยมในการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกใน 3 ช่องทีวีดิจิทัลสูงขึ้นเรื่อยๆ

*** เรตติ้งบอลโลกแมตช์ บราซิล แซง “บุพเพฯ

แมตช์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เรตติ้งดีสุดคือ การแข่งขันคู่ของบราซิล ชนะคอสตาริกาที่ถ่ายทอดสดในช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน เรตติ้งสูงถึง 4.484 เฉือนเอาชนะทั้งละครและวาไรตี้ในช่วงเย็น โดยเฉพาะละครรีรัน บุพเพสันนิวาส ช่อง 3 ที่ได้เรตติ้ง 4.390 ได้เป็นครั้งแรก

โดยที่บุพเพสันนิวาส รีรัน ครองแชมป์เรตติ้งสูงสุดของช่วงเย็นต่อเนื่องมาตลอด โดยได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ในระดับ 5-6 กว่าทุกวัน เช่น วันที่ 18-21 มิถุนายน อยู่ที่ 4.640, 6.341, 5.822 และ 5.537

*** โมโนจัดหนัก Fast and Furious ภาค 1- 7 ลงสู้บอลโลก

ช่องโมโน สู้ศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วยการจัดหนัก ใส่ชุดภาพยนตร์ Fast & Furious ตั้งแต่ภาค 1 ลงผังยาวถึง Fast 7 เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ในช่วงเวลาชนกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก โดยวันที่ 20 มิถุนายน จัด Fast 1 ลงผังเวลา 18.20 น. เรตติ้งอยู่ที่ 2.567 ต่อด้วย Fast 2 ในวันเดียวกัน เริ่มเวลา 20.28 น. เรตติ้งอยู่ที่ 2.552 ตรงกับแมตช์บอลโลก คู่โปรตุเกส ชนะ โมร็อกโก 1-0 แต่เรตติ้งฟุตบอลยังสูงกว่า อยู่ที่ 4.119

วันที่ 21 มิถุนายน โมโนจัดต่อเนื่อง Fast 3 เริ่มเวลา 20.15 น. เรตติ้ง 2.721 จบแล้วต่อด้วย Fast 4 ในวันเดียวกัน เรตติ้ง 2.674 เรตติ้งสูสีกับแมตช์ เดนมาร์ก 1:1 ออสเตรเลีย เรตติ้ง 2.944 วันต่อมา ศุกร์ที่ 22 มิถุนายน Fast 5 เรตติ้งพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.220

ส่วน Fast 6 ลงผังในวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน เรตติ้ง 4.068 แซงชนะบอลโลกแมตช์ เบลเยียมชนะตูนีเซีย 5-2 เรตติ้ง 3.390 และในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน Fast 7 เรตติ้งทะยานไปอยู่ที่ 4.727 สูงกว่าแมตช์ที่ อังกฤษถลุงปานามา 6-1 เรตติ้ง 3.327

ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยของช่องโมโนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 เหนือเวิร์คพอยท์อีกครั้ง ตอบโจทย์ได้ว่า หากมีคอนเทนต์ที่ดี ยังไงก็ยังสามารถดึงดูดผู้ชม สร้างความนิยมได้เสมอ

*** อมรินทร์ อันดับ 5, True4u – 8 และช่อง 5 ขึ้นอันดับ 11

จากการวัดเรตติ้งเฉลี่ยของช่องทีวีดิจิทัล โดยนีลเส็น ประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18-24 มิถุนายน จากฐานผู้ชมอายุ 4+ เวลา 24 ชั่วโมง ทั้งอมรินทร์ทีวี, True4u และช่อง 5 ที่เป็น 3 ช่องหลักได้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ เรตติ้งพุ่งขึ้นสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่มีทีวีดิจิทัลเป็นต้นมา

ช่องอมรินทร์ขึ้นมาจากอันดับที่ 7 เรตติ้งเฉลี่ย 0.413 ในสัปดาห์ที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 6 เรตติ้ง 0.515 แซงหน้าช่องวัน ที่หล่นไปอยู่อันดับ 7 ตามมาติด ๆ ด้วยช่อง True4u จากอันดับ 10 เรตติ้งเฉลี่ย 0.241 ในสัปดาห์ที่แล้ว ขึ้นมาที่ 8 เรตติ้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.422 ในขณะที่ช่อง 5 จากอันดับ 13 เรตติ้งเฉลี่ย 0.138 ขึ้นมามากกว่าเท่าตัวอยู่ที่อันดับ 11 เรตติ้ง 0.311

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้ง 3 ช่องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขพิเศษ ไม่มีรายได้จากค่าโฆษณาในการถ่ายทอดสด เนื่องจากจะโฆษณาได้เฉพาะ 9 บริษัทเอกชน สปอนเซอร์ที่ลงขันแถมร่วมกัน 1,400 ล้านบาท ในการไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้ แถมยังต้องยอมเสียเวลาของสถานีเพื่อถ่ายทอดสดด้วย สิ่งที่ทั้ง 3 ช่องได้รับคือสร้างการรับรู้และจดจำของผู้ชมมากขึ้น ที่หวังว่าอาจจะมีการต่อยอดสร้างฐานความนิยมได้มากขึ้นในอนาคต.

]]> 1175857 สวัสดี “ฟุตบอลโลก” เฮลโล “ทรู” แม่ข่ายถ่ายทอดสด https://positioningmag.com/1167747 Mon, 30 Apr 2018 00:15:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1167747 ในที่สุดการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน -15 กรกฏาคมนี้ ที่มาลงตัวด้วยบริษัทใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส), ไทยเบฟเวอเรจ (ช้าง), คิงเพาเวอร์, บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) , กัลฟ์เอนเนอจีดีเวลอปเมนท์, ธนาคารกสิกรไทย, พีทีทีโกลบอลเคมิคอล, บางจากคอร์ปเรชั่น และคาราบาวกรุ๊ป ที่ทั้งหมดลงขันกันรวมมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท

ในส่วนของการถ่ายทอดสดนั้นเป็นของ 2 บริษัทในเครือทรูคือทรูโฟร์ยู (True4U) ทีวีดิจิทัล และทรูวิชั่นส์ เพย์ทีวี เป็นผู้ได้เป็น official broadcasters หรือผู้ถือลิขสิทธิ์จาก FIFA อย่างเป็นทางการ

เดิมทีนั้นรัฐบาลมอบหมายให้คิงเพาเวอร์ไปเป็นตัวแทนเพื่อไปเจรจาซื้อสิทธิ์กับ FIFA แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีข้อกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ซื้อสิทธิได้นั้นจะต้องเป็นเจ้าของสถานีทีวี หรือเครือข่ายออกอากาศได้เท่านั้น

คิงเพาเวอร์จึงต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการไปดึงเอา RS ซึ่งเป็นเจ้าของทีวีและซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาแล้ว แต่ RS ไม่ได้เป็นผู้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ จึงต้องกลับมาเลือกจากสปอนเซอร์ 9 ราย ให้เป็นตัวแทนเจรจาแทน ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 รายคือ ซีพี และไทยเบฟฯ มีเครือข่ายธุรกิจทีวีดิจิทัล

ซีพีมีทั้งฟรีทีวี 2 ช่องคือทรูโฟร์ยูและช่องข่าวทีเอ็นเอ็น และยังมีธุรกิจเพย์ทีวี-ทรูวิชั่นส์ ในขณะที่กลุ่มไทยเบฟฯ มีอมรินทร์ทีวีและจีเอ็มเอ็ม25

กลุ่มทรูมีประสบการณ์ในการเข้าไปประมูลลิขสิทธิ์รายการกีฬามาแล้วมากมาย จึงเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้

อมรินทร์ จีเอ็มเอ็มพันธมิตรร่วมแจม

ผลจากการเป็นตัวแทนไปเจรจา ทำให้สิทธิในการเป็น official broadcasters จึงเป็นของทรูโฟร์ยูและทรูวิชั่นส์ ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายหลักในการรับสัญญาณถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ

แต่เนื่องจากรายการแข่งขันฟุตบอลโลกมีการแข่งขันกันถึง 64 นัด ตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศในช่วงเวลา 1 เดือน ซึ่งบางวันจะมีการแข่งขันมากกว่าหนึ่งคู่ และบางคู่จะมีการแข่งขันพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่องเข้ามาถ่ายทอดสดในครั้งนี้

เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลและการกีฬาแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้คัดเลือก “ช่องทีวี” มารับสัญญาณจากทรูไปออกอากาศอีกที

โดยเปิดโอกาสให้สปอนเซอร์ทั้ง 9 รายที่มีสถานีทีวีเข้าร่วมถ่ายทอดสดด้วย แต่ด้วยข้อกำหนดที่ผู้ถ่ายทอดสด จะไม่สามารถหารายได้จากโฆษณาได้ นอกจากโฆษณาจาก 9 สปอนเซอร์เท่านั้น แถมช่วงเวลาถ่ายทอดสดไปตรงกับไพรม์ไทม์ของไทยตั้งแต่ 19.00-01.00 น. แหล่งรายได้หลักของแต่ละสถานี

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะมีเพียงไม่กี่ช่องที่เข้าร่วมถ่ายทอดสดได้คือ กลุ่มช้างที่มีอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็ม25 

สำหรับทรูโฟร์ยู เป็นทีวีขนาดเล็กที่เป็นแม่ข่ายหลักแล้ว การยอมตัดเวลาถ่ายทอดสดออกไปทรูประเมินแล้ว่า “ได้” คุ้มเสียแน่ๆ เพราะถือโอกาสนี้โปรโมตช่องทีวีของตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้อยู่อันดับท้ายๆ ให้คนรู้จักมากขึ้น เพราะฟุตบอลเป็นคอนเทนต์ที่คนดูนิยมดูถ่ายทอดสด โอกาสที่จะต่อยอดไปยังรายการต่างๆ ของสถานีได้ เพราะที่ผ่านมารายได้หลักของช่องก็ยังไม่มากแถมส่วนใหญ่เป็นโฆษณาสินค้าในเครืออยู่แล้ว

ในส่วนทรูวิชั่นส์ก็ได้ประโยชน์เพราะเป็นทีวีบอกรับสมาชิก สามารถจัดถ่ายทอดสดแบบ HD ให้กับสมาชิกได้รับชมแบบคมชัดได้ทุกแมตช์

ส่วนกลุ่มช้างหากต้องการร่วมการถ่ายทอดสดก็จะต้องยอมตัดเวลาออกอากาศของช่องอมรินทร์ทีวี ซึ่งเวลานี้รายได้หลักมาจากช่วงไพรม์ไทม์รายการ “ข่าว” ที่มีแฟนประจำหนาแน่น ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม25 นั้นเป็นช่วงเวลาละครเด่นของสถานี

นอกจากช่องทีวีของกลุ่มช้างแล้วยังมีช่อง 5 กองทัพบก โดยรับสัญญาณตรงมาจากทรูโฟร์ยูและทรูวิชั่นส์ที่เป็นแม่ข่าย อย่างไรก็ตาม ต้องรอการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวันจันทร์ที่ 30 เมษายนนี้

เมื่อ 4 ปีที่แล้วช่อง 5 ก็ได้รับมอบหมายให้ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาแล้วหลังจากที่กองทุน กสทช. อนุมัติเงินช่วยเหลือชดเชยให้ RS  ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการให้ฟรีทีวีร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกตามกฎ Must Have ของ กสทช. ที่ออกมาหลังจากที่ RS ซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว

กฎเหล็ก Must Have กับฟุตบอลโลก

การที่ฟุตบอลโลกไม่มีเอกชนรายไหนสนใจซื้อลิขสิทธิ์ก็เพราะว่ากฎ Must Have ของ กสทช.เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีช่องไหนสนใจซื้อลิขสิทธิ์มาออกอากาศ เพราะค่าลิขสิทธิ์ก็สูงมาก และยังถูกบังคับให้ออกอากาศทางฟรีทีวีเท่านั้น ไม่สามารถเก็บเงินค่าสมาชิกค่ารายเดือนจากคนดูได้ พึ่งพาโฆษณาอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ประเมินแล้ว ไม่คุ้ม จนรัฐบาลต้องดึงองค์กรขนาดใหญ่เข้ามาช่วย

ประกาศ กสทช.เรื่องของกฎ ”Must Have” คือประกาศที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ได้รับชมรายการกีฬาสำคัญระดับโลก โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าดูเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ระบุว่ามีประเภทรายการกีฬา 7 รายการคือโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ รวมถึงพาราเกมส์ของทั้งสามรายการและฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะต้องออกอากาศผ่านทางฟรีทีวีเท่านั้น แต่หากจะออกอากาศทางช่องทางอื่น หากผ่านดุลพินิจของ กสทช.ได้ก็สามารถออกอากาศได้

ในส่วนของทรูวิชั่นส์ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะ กสทช.ก็เคยอนุมัติให้ทรูวิชั่นส์ออกอากาศกีฬาโอลิมปิก 2012 ลอนดอนเกมส์มาแล้ว และโครงการนี้ยังริเริ่มโดยรัฐบาลเอง เคสของทรูวิชั่นส์จึงน่าจะผ่านฉลุยลุยโลดได้ทันทีที่ยื่นขออนุญาตมาที่ กสทช.

ให้ทรูโปรโมต “สวัสดีบอลโลก”

มีรายงานข่าวว่าแคมเปญให้ประชาชนคนไทยได้ดูบอลโลกครั้งนี้หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจะใช้ชื่อในเบื้องต้นว่า “สวัสดีบอลโลก” ที่ทางรัฐบาลเตรียมให้กลุ่มซีพีและทรูเป็นคนจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้

ในฐานะที่เป็นแคมเปญใหญ่แห่งปีของรัฐบาลในการคืนความสุขให้ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล.

]]>
1167747
เบื้องหลัง ฟ้าผ่า GMM 25-True4U ผ่าตัดองค์กร เรตติ้งไม่ฟื้น https://positioningmag.com/1163110 Mon, 26 Mar 2018 00:15:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1163110 ผ่านพ้นมาเกือบ 4 ปี แต่ทีวีดิจิทัลยังต้องเผชิญกับเส้นทางวิบากต่อเนื่อง แม้เม็ดเงินโฆษณาจะมีอัตราเติบโต แต่เงินส่วนใหญ่ยังไหลไปที่ 5-6 ช่องหลัก ที่มีเรตติ้งเป็นอันดับต้น ๆ   

ยิ่งดูเม็ดเงินโฆษณาปี 2017 ของนีลเส็น ประเทศไทย พบว่า ช่องทีวีเดิม ช่อง 3 และช่อง 7 ครองเงินโฆษณา 40,966 ล้านบาท กินสัดส่วน 40.38% ขณะที่ช่องทีวีดิจิทัลที่เหลือได้ค่าโฆษณา 21,907 ล้านบาท ครองสัดสวน 21.59% เป็นอันดับสอง

การแข่งขันแย่งชิงเค้กโฆษณาของ 22 ช่องทีวีดิจิทัล ยังเป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งช่องพี่ใหญ่ช่อง 7 และช่อง 3 ต่างฟาดฟันชิงความเป็นผู้นำกันชนิดไม่มีใครยอมใคร 

ส่วนช่องดิจิทัลน้องใหม่ยิ่งต้องดิ้นรนวิ่งสู้ฟัด ทุ่มลงทุนคอนเทนต์ หวังสร้างกระแสดึงใจผู้ชม ปลุกเรตติ้งและหาโฆษณาเข้าช่อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการแข่งขันในตลาดที่มีถึง 22 ช่อง 

เมื่อหนทางเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายช่องจึงต้องเลือกวิธีขายหุ้น ดึงทุนใหญ่เข้ามาร่วมต่อลมหายใจ กรณีค่ายแกรมมี่ที่อากู๋ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม คว้าสัมปทานทีวีดิจิทัล 2 ช่องมาครอง ในที่สุดก็ต้องดึงทายาทเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้น GMM 25 ไม่ต่างกับซื้อกิจการของค่ายอมรินทร์ 

ล่าสุด GMM25 และ True4U เป็นสองช่องที่ต้องตัดสินใจผ่าตัดองค์กร ครั้งใหญ่หลังจากที่เรตติ้งหล่นมาอยู่อันดับ 13 และ 14 มาตลอดปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรตติ้งเดือนมีนาคม 2561 ก็ยังไม่กระเตื้องเข้าเป้าท็อปเท็นตามเป้าหมาย โอกาสที่จะพลิกฟื้นให้มีโฆษณาก็ยิ่งห่างไกล 

GMM 25 เขย่าองค์กรครั้งใหญ่ อากู๋รักษาการ

หลังจากที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ขายหุ้นสัดสวน 50% คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ที่บริหารดูแลธุรกิจมีเดีย คือช่องทีวีดิจิทัล GMM 25 และวิทยุ เอไทม์มีเดีย ให้กับบริษัท อเดลฟอส ซึ่งมีฐาปน สิริวัฒนภักดี และปณต สิริวัฒนภักดี 2 ทายาทเจ้าสัวเจริญหรือกลุ่มเบียร์ช้าง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ ไปเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2560 

ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของ GMM 25 คล่องตัวมากขึ้น มีเงินทุนเข้ามาใช้ผลิตคอนเทนต์ได้มากขึ้น 

โดยที่ไม่ได้การปรับโครงสร้างการบริหาร เนื่องจากกลุ่มของเบียร์ช้างเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นแบบนักลงทุน และไม่มีความถนัดงานในเรื่องทีวี จึงปล่อยให้ผู้ถือหุ้นเดิม “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่“ ดูแล และ พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ  อยุธยา ยังคงรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของบริษัทเช่นเดิม

ต้นปีนี้ บอร์ดบริหารได้กำหนดทิศทาง พร้อมอนุมัติเงินงทุนให้ช่อง GMM25 ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท เพื่อให้ช่องขยับจากคนดูที่เป็นกลุ่มนิชไปสู่กลุ่มแมส และมีคนดูตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้เรตติ้งวิ่งขึ้น 

เดิมทีนั้น GMM 25 วางตัวเองไว้เป็นช่องของกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีรายการวาไรตี้บันเทิงเกี่ยวกับวงการวัยรุ่น เรื่องความรักของทุกคนทุกกลุ่มทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ และกลุ่มละครที่มีพัฒนามาจากรายการ Club Friday ทางสถานีวิทยุซึ่งมีกลุ่มคนฟังผู้หญิงเป็นฐานสำคัญต่อยอดมาลงละครช่วงไพรม์ไทม์ทำให้คนดูจึงเฉพาะกลุ่มเป็นผู้หญิงและวัยรุ่นเป็นหลัก เรตติ้งจึงขยับสูงได้ยากแม้ว่าจะนำกระแสออนไลน์มาช่วยในการขายโฆษณาควบคู่ไปด้วยก็ตาม

แต่เรตติ้งของละครไพรม์ไทม์ของ GMM 25 ทั้งปีในปี 2560 ละครที่ได้เรตติ้งสูงสุดของช่องคือละครเรื่องรักออกแบบไม่ได้หรือ O Negative มีเรตติ้งอยู่ที่ 0.914 ตามมาด้วย ละครชุด Club Friday ตอนรักแท้หรือ แค่รักสนุกเรตติ้ง 0.906 ในขณะที่ภาพรวมเรตติ้งทั้งปีของช่องอยู่ในอันดับ 14 ได้เรตติ้ง 0.121 สูงขึ้นจากปี 2559 ที่ได้ไป 0.111

เมื่อเรตติ้งไม่มา โฆษณาไม่เข้า บอร์ดใหญ่จึงต้องเข้ามาคุมเข้ม และเมื่อเห็นแล้วว่าทีมบริหารเดิมนำโดย พี่ฉอด ยังคงวางทิศทางคอนเทนต์ในรูปแบบเดิม ๆ โอกาสจะขยายไปสู่คนดูกลุ่มแมสย่อมเป็นไปได้ยาก ทางเดียวที่ต้องทำคือผ่าตัดองค์กรปรับเปลี่ยนผู้บริหาร

อย่างแรกที่ทำ คือ ปรับโครงสร้างองค์กร ปรับบทบาทของพี่ฉอดให้ขึ้นมาเป็นรองประธานของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ในขณะเดียวกัน อากู๋ ก็ขยับเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พร้อมทีมผู้บริหารจากบริษัทแม่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่  เพื่อเตรียมลงมือปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการทาบทามคนภายนอกเข้ามาดูเรื่องการบริหาร และปรับ Positioning ช่องใหม่ทั้งหมดเพื่อลงตลาดแมส และหัวเมืองต่าง ๆให้ได้ แต่เวลานี้ยังไม่เรียบร้อยดีมีกระแสข่าวหลุดออกมาก่อน

จึงต้องรอดูกันต่อว่า ใครจะเป็นผู้ที่มารับตำแหน่งซีอีโอ” คนใหม่ของ GMM 25 และจุดยืนของช่องจะมีหน้าตาอย่างไร

ค่ายทรูเขย่าโครงสร้างหลังเรตติ้งไม่กระเตื้อง

ไม่ใช่แค่ค่ายแกรมมี่เท่านั้น ค่ายเงินถุงเงินถังอย่างค่ายทรูเมื่อก้าวเข้าสู่ทีวีดิจิทัลด้วยการคว้า 2 ช่องในมือ True4U ช่องวาไรตี้ และช่องข่าว TNN แต่ก็ยังไม่สามารถเอาตัวรอดจากธุรกิจนี้ได้อย่างที่คาดหมายไว้ แม้ว่าทรูจะมีฐานมาจากธุรกิจเพย์ทีวีอยู่แล้วก็ตาม

เมื่อเรตติ้งของทั้ง 2 ช่องอยู่ในท้ายตารางของกลุ่มวาไรตี้ และกลุ่มช่องข่าว ทั้ง ๆ ที่กลุ่มทรูทุ่มลงทุนเต็มที่ แต่เมื่อคอนเทนต์ยังไม่ปัง จึงถึงเวลาปรับทัพใหม่อีกครั้ง

True4U ช่องวาไรตี้ของค่ายทรู ประกาศเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ เนตรชนก วิภาตะศิลปิน กรรมการผู้จัดการช่อง True4U ได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการบริหารงานด้านการศึกษา

โดยได้มอบหมายให้ พีรธน เกษมศรี อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย มารักษาการกรรมการผู้จัดการแทนชั่วคราวก่อน

True4U เป็นช่องวาไรตี้ที่ค่ายทรูทุ่มทุนกว่าปีละ 1 พันล้านในการหาคอนเทนต์มาลงช่อง โดยมีรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก สร้างเรตติ้งสูงสุดของช่อง ในระดับ 1 กว่าในบางแมตช์สำคัญ

แต่ในแง่คอนเทนต์บันเทิง ซึ่งทีมงาน True4U ภายใต้การนำของพีรธน เคยหมายมั้นปั้นมือว่าจะโด่งดัง อย่างละครฟอร์มยักษ์ระดับเจ้าบุญทุ่มลงจอ ตั้งแต่ เจ้าเวหา ในปี 2559 และละครพีเรียด ศรีอโยธยา ในปลายปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างความปังเป็นที่โดนใจคนดูได้

เช่นเดียวกับศรีอโยธยา ละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์ ที่ทรูทุ่มทุนถึงกว่า 150 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ละครไทย แต่กลับได้เรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่องได้เพียง 0.159 จากทั้งหมด 20 ตอน แต่ทรูก็ประกาศว่าจะสร้างภาค 2 ต่อทันทีโดยระบุว่าต้องการนำไปขายในกลุ่มเป้าหมายต่างชาติในยุโรป

ส่วนเรตติ้งละครช่วงไพรม์ไทม์ของช่องในปีที่ผ่านมา เรื่องที่ได้เรตติ้งสูงสุดคือละครลิขสิทธิ์เกาหลี “Princess Hours หรือ รักวุ่น ๆ เจ้าหญิงจอมจุ้นได้เรตติ้งอยู่ที่ 0.465

ในปี 2560 ช่อง True4U มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งช่องอยู่ที่ 0.149 อยู่ในอันดับ 13 ลดลงจากปี 2559 ที่มีเรตติ้งอยู่ที่ 0.158

แต่มาในปีนี้ เรตติ้งรวมของช่องก็มีอัตราลดลงเรื่อย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ที่ผ่านมา 12-18 มีนาคม เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.134

ในขณะเดียวกัน TNN ช่องข่าวของกลุ่มทรู ก็มีการปรับให้องอาจ ประภากมลผู้บริหารในกลุ่มทรู เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการร่วม คู่กับ อภิศักดิ์ ธนเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการคนเดิม เพื่อรับงานด้านการตลาดทั้งหมดของ TNN โดยหวังจะสร้างรายได้ปรับโฉมใหม่ของช่องเพื่อหาทางฟื้นสถานะจากช่องอันดับสุดท้ายของทีวีดิจิทัลให้ได้

ในปี 2560 TNN ได้เรตติ้งเฉลี่ย 0.028 อยู่ในอันดับ 24 เหนือช่องวอยซ์ทีวี มาโดยตลอด แต่เปิดมาในปีนี้ TNN ตกลงไปอยู่ในอันดับสุดท้ายตลอดทุกสัปดาห์ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรตติ้งอยู่ที่ 0.015 เท่านั้น

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ทรูต้องการให้ทั้งสองช่องรวมทีมข่าวเข้าด้วยกัน เพื่อลดต้นทุน และสร้างความแข็งแกร่งของข่าวให้มากขึ้น ซึ่งช่อง True4U จะต้องปรับทิศทางข่าวใหม่ด้วยซึ่งอยู่ระหว่างหาข้อสรุปทิศทางใหม่ในเร็ว ๆ นี้.

]]>
1163110