Xinjiang – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 15 Nov 2019 06:38:22 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 H&M, Muji, Uniqlo และ Adidas รับศึกฝ้ายแรงงานทาส Xinjiang https://positioningmag.com/1253735 Thu, 14 Nov 2019 11:11:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253735 ยักษ์ใหญ่แฟชันหลายรายกำลังถูกตรวจสอบเข้มว่ามีความสัมพันธ์กับซัปพลายเชนแรงงานทาสของจีนอย่างไร นอกจากแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Muji และ Uniqlo แบรนด์ตะวันตกที่เน้นสินค้าผ้าฝ้ายสวมใส่สบายอย่าง Adidas, H&M และ Gap ก็ถูกเชื่อมโยงกับวงจรแรงงานทาสในโรงงานฝ้ายที่ซินเจียง (Xinjiang) เช่นกัน กลายเป็นข่าวแง่ลบที่ทำให้ทุกแบรนด์ต้องปรับทัพเพื่อลบภาพการยุ่งเกี่ยวกับการกดขี่แรงงาน กรณีที่เจ็บหนักที่สุดคือ Muji และ Uniqlo ที่เคยโฆษณาโชว์จุดขายให้คอลเลคชัน “Xinjiang Cotton” จนต้องยกเลิกด่วนในช่วงที่ผ่านมา

การตรวจสอบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Target และ Cotton On ประกาศหยุดซื้อฝ้ายจากประเทศจีนตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีรายงานว่าพบชาวมุสลิมถูกข่มเหง รังแก และบังคับให้ทำงานในโรงงานฝ้ายที่ซินเจียง บางรายงานระบุว่ารัฐบาลจีนกักตัวชาวอุยกูร์มุสลิมนับล้านคนตั้งแต่ปี 2014 จำนวนไม่น้อยต้องทนอยู่ในค่ายหรือถูกบังคับให้ทำงานในโรงงานฝ้ายและสายการผลิตสิ่งทอ

เวลานั้น Cotton On และ Target ระบุว่าได้ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของฝ้ายซินเจียงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อนจะกอดคอกันย้ำว่าทั้งคู่จะไม่ซื้อฝ้ายจากมณฑลซินเจียงอีกต่อไป

Esprit ก็โดน

ท่ามกลางเสียงที่วิจารณ์ว่าสหรัฐฯกำลังยกระดับสงครามการค้า ด้วยการหันมาเล่นงานรัฐบาลจีนเรื่องการละเมิดสิทธิ์มนุษยชน แบรนด์ตะวันตกรวมถึง Adidas, H&M รวมถึง Esprit ก็ถูกอ้างชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานฝ้ายซินเจียง ซึ่งรายงานจาก Wall Street Journal (WSJ) ระบุว่าชาวซินเจียงจะถูกบังคับให้ทำงาน และจะต้องจัดหาคนงานไปยังโรงงานในท้องถิ่นเป็นประจำ

การที่แบรนด์ใหญ่ถูกโยงกับซัปพลายเชนฝ้ายซินเจียงนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะซินเจียงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นศูนย์กลางการผลิตฝ้ายของจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 84% ของฝ้ายทั่วประเทศ

ขณะนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนจำนวนมากจึงเดินหน้าเรียกร้อง เพื่อช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ของซินเจียงที่กำลังถูกกดขี่ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการเรียกร้องนี้ส่งผลเปลี่ยนแปลงได้ยาก เนื่องจากรูปแบบแรงงานของซินเจียงนั้นฝังรากลึกและชัดเจน

ประเด็นนี้ นักวิเคราะห์มองว่านักธุรกิจที่ทำธุรกิจฝ้ายในจีน ล้วนไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการบีบบังคับแรงงานในซัปพลายเชน เนื่องจากวงจรการบีบบังคับให้ทำงานในโรงงานนั้นเกินขึ้นเกือบจะแน่นอน (almost certainly)

ตามรายงานของสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในจีน คาดว่ามีชาวอุยกูร์กว่าหนึ่งล้านคนและชนกลุ่มน้อยอื่น ถูกกันตัวในค่ายกักกันขนาดใหญ่ ประเด็นนี้ Amy Lehr ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิมนุษยชนของ CSIS กล่าวว่าแม้บริษัทตะวันตกหลายแห่งจะไม่ซื้อฝ้ายซินเจียงโดยตรง แต่ตัวผลิตภัณฑ์ก็อาจถูกเปลี่ยนแปลงหลายขั้นหลังจากออกจากซินเจียง ก่อนที่จะถูกส่งไปยังแบรนด์ใหญ่อยู่ดี

ปรับโฆษณาอุตลุด

จากรายงานของ WSJ พบว่าฝ้ายที่ผลิตในโรงงาน Huafu Fashion ของซินเจียงนั้นอยู่ในวงจรการผลิตของ H&M, Esprit และ Adidas โชคยังดีว่าแบรนด์เหล่านี้ไม่ได้ออกหน้าโฆษณาว่าเป็นฝ้ายจากแหล่งผลิตใด ไม่เหมือนแบรนด์ฝั่งญี่ปุ่น เช่น Muji และ Uniqlo ที่ได้เปิดตัวคอลเลกชัน Xinjiang Cotton อย่างจริงจังก่อนหน้านี้

แน่นอนว่าทั้งคู่ต้องตัดใจยกเลิกโฆษณา หลังจากข่าวฝ้ายซินเจียงได้รับความสนใจจากสาธารณชน โดย Uniqlo ได้ลบการอ้างชื่อฝ้ายซินเจียงทั้งภูมิภาค พร้อมออกแถลงการณ์ว่า Uniqlo ไม่มีพันธมิตรการผลิตใดในเขตซินเจียง

Uniqlo ไม่ลืมย้ำในแถลงการณ์ว่าพาร์ทเนอร์ในกระบวนการผลิตของ Uniqlo จะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัท ซึ่งเป็นจรรยาบรรณที่เข้มงวดไม่มีการประณีประนอมในทุกกรณี.

]]>
1253735