Adecco – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 24 Jan 2022 08:17:25 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ยุคแย่งทาเลนต์! เพดานเงินเดือนสาย “ไอที-ดิจิทัล” ขยับเพิ่มเกือบเท่าตัว https://positioningmag.com/1371292 Mon, 24 Jan 2022 07:37:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371292 Adecco เปิดเผยข้อมูลฐานเงินเดือนปี 64 โดยเฉลี่ยปรับลดลง ตำแหน่งรับเด็กจบใหม่ลดลง แต่เพดานเงินเดือนขยับขึ้นในสายไอที-ดิจิทัล และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เป็นยุคภาวะขาดแคลนทาเลนต์เฉพาะทาง

บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เปิดตัว Salary Guide 2022 เผยข้อมูลอัตราเงินเดือนประจำปีที่ผ่านมาในสายอาชีพต่างๆ จากบริษัทชั้นนำที่เป็นลูกค้าของ Adecco กว่า 3,000 บริษัท

จากฐานข้อมูลเงินเดือนปี 2564 พบว่าภาพรวมอัตราเงินเดือนเริ่มต้นมีการขยับลดลงจากปีก่อน แต่ในหลายตำแหน่งงานกลับมีเพดานเงินเดือนที่สูงขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะตลาดแรงงานยังขาดแคลนคนเก่งในด้านนี้สืบเนื่องจากผลกระทบ COVID-19 ที่ทุกองค์กรต่างต้องเร่งขยับขยาย และปรับธุรกิจให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นรวมถึงเรื่องการเงินที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนให้คุ้มค่า และแสวงหาโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง

พนักงานระดับต้นการแข่งขันสูง อัตราการจ้างเด็กจบใหม่ลดลง 24%

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงภาพรวมการจ้างงานและอัตราเงินเดือนในปีที่ผ่านมาว่า

“ผลกระทบจาก COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้ตลาดแรงงานมีผู้ว่างงานจำนวนมากจากการเลิกจ้าง หลายองค์กรต้องรัดเข็มขัดชะลอการรับพนักงานใหม่ และปรับโครงสร้างเงินเดือน ปัจจัยนี้ส่งผลให้เด็กจบใหม่หางานยากขึ้นเนื่องจากในอัตราเงินเดือนเดียวกันองค์กรยังสามารถจ้างผู้ที่มีประสบการณ์ได้ ซึ่งในปีนี้จากข้อมูลพบว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับเด็กจบใหม่ในปีที่ผ่านมาลดลงจากปี 2563 ราว 24%

ขณะที่พนักงานระดับต้นต้องเจอกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และฐานเงินเดือนเริ่มต้นที่ปรับลดลงในบางตำแหน่งจากภาวะแรงงานล้นตลาดที่ทำให้องค์กรมีผู้สมัครจำนวนมากที่มีทักษะพื้นฐานใกล้เคียงกันเป็นตัวเลือกจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สมัครต้องพัฒนาทักษะอยู่เสมอแม้จะอยู่ในช่วงว่างงาน”

ภาวะขาดแคลนทาเลนต์ดันเพดานเงินเดือนขยับขึ้น

ในทางกลับกันแรงงานที่มีทักษะที่ตลาดต้องการและประสบการณ์สูง เช่น ทักษะดิจิทัล และประสบการณ์ตรงในธุรกิจอุตสากรรมเดียวกันกลับหาได้ยากขึ้นส่งผลให้องค์กรต้องเพิ่มอัตรา เงินเดือนเพื่อจูงใจผู้สมัครทำให้ค่าสูงสุดของอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เช่น

  • ตำแหน่ง E-Commerce Manager จากเดิมที่สูงสุด 120,000 ขยับเพดานเป็น 300,000
  • ตำแหน่ง Finance Controller ขยับเพดานจาก 250,000 เป็น 350,000
  • ตำแหน่ง Senior Solution Architect ขยับเพดานจาก 160,000 เป็น 250,000
  • ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงก็ขยับเพดานเงินเดือนจาก 500,000 บาท เป็น 700,000 บาท

6 สายงานมาแรงปี 2565 – IT & Digital บูมที่สุด

สายงาน IT & Digital เป็นสายงานที่มาแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยข้อมูลพบว่าในปีที่ผ่านมามีจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับในสายงานนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 38% และเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2562 โดยอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูง ได้แก่

Programmer, Data Analyst, Project Manager, งานด้าน E-Commerce, Digital Marketing และ CRM/Customer Insight 


ส่วนสายงานอื่นที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ สายการเงิน และบัญชี ที่กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการเติบโตของธุรกิจ Fintech สินทรัพย์ ดิจิทัล และการควบรวมกิจการต่างๆ ที่ทำให้มีความต้องการจ้างงานในสายนี้มากขึ้นกว่าปี 2563

สายงานขาย แม้มีการเติบโตจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย แต่ในภาพรวมจำนวนการจ้างงานยังสูงติดลำดับต้นๆ และเติบโตได้ดีในหมวด B2B เนื่องจากองค์กรต้องการขยายช่องทางการขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ ด้าน สายงานโลจิสติกส์ ก็เติบโตขึ้นเช่นกันจากอานิสงส์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ สายงานวิศวกรรม มีความต้องการแรงงานสูงในสายงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติและการพัฒนาขั้นตอนในสายการผลิต

ทักษะดิจิทัล-ดาต้าหนุนเงินเดือนสูง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงานในปีที่ผ่านมาของ Adecco พบว่าผู้สมัครที่ได้รับเงินเดือนสูงในแต่ละสายงานมักมีทักษะแบบ T-shape คือ รู้ลึกในสาขาเฉพาะทาง และรู้รอบในส่วนงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งมี soft skill ที่จะสามารถทำงานแบบ cross functional ร่วมกับทีมอื่นๆ

โดยทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องมีเพิ่มเติมคือ ทักษะดิจิทัล เนื่องจากองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่ได้ปรับตัวเข้าสู่การทำงานในระบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว รวมถึง ทักษะการใช้และวิเคราะห์ฐานข้อมูล (data analytics) ที่สามารถช่วยต่อยอดและยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในแทบทุกสายงาน นอกจากนี้ ประสบการณ์ตรงในธุรกิจอุตสากรรมเดียวกัน

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตไม่ว่าจะเป็น Fintech, E-commerce, Logistic, Technology, Medical & Wellness, EV Technology, OTT หรือ แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ ก็จะช่วยเพิ่มแต้มต่อในการสมัครงานให้กับผู้สมัครมากขึ้น ในฝั่งของผู้บริหารและผู้บริหารระดับสูงหากเคยมีประสบการณ์ในการทำ digital transformation การสร้างธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะเป็นที่น่าสนใจสำหรับหลายองค์กรในปัจจุบันที่ต้องการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี และแสวงหาโอกาสในสินทรัพย์ดิจิทัล

]]>
1371292
เทรนด์ HR องค์กรยุคใหม่ กดสูตร 3 เก่ง : รักษาคนเก่ง ให้โอกาสคนเก่ง พัฒนาคนให้เก่ง https://positioningmag.com/1348136 Mon, 23 Aug 2021 07:07:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1348136 Adecco แนะนำองค์กรต้องเตรียมความพร้อมด้าน HR ด้วยสูตร 3 เก่ง : รักษาคนเก่ง ให้โอกาสคนเก่ง พัฒนาคนให้เก่ง เพื่อรับมือเศรษฐกิจถดถอย ตลาดแรงงานเปราะบาง

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย
แนะองค์กรเร่งเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล ด้วยสูตร 3 เก่ง รักษาคนเก่ง ให้โอกาสคนเก่ง และพัฒนาคนให้เก่ง พร้อมยกระดับภาวะผู้นำให้กับผู้บริหารในองค์กร สรรหาผู้นำที่มีทักษะรอบด้าน เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสหลัง

“จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินสภาพเศรษฐกิจไทยว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันและเสี่ยงถดถอย 2 ปีซ้อน ด้านตลาดแรงงานเองก็อยู่ในสภาวะเปราะบาง แม้จะมีจำนวนคนว่างงานล้นตลาด คนตกงานเดือนละเกือบแสนคนในไตรมาสสอง แต่ในภาพรวมก็ยังขาดแรงงานที่มีทักษะหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้คนเก่งที่มีความสามารถรอบด้านถูกแย่งตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ต้องเข้ามาเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูง สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนสำคัญสำหรับองค์กรในการเร่งเตรียมความพร้อมเรื่องคนเพื่อรับมือกับความท้าทายที่รออยู่”

สูตร 3 เก่ง: รักษาคนเก่ง ให้โอกาสคนเก่ง พัฒนาคนให้เก่ง

ในสถานการณ์แบบนี้สิ่งที่องค์กรต้องพยายามประคับประคองไปให้ได้คือการรักษาพนักงานเก่งๆ ไม่ให้หลุดมือเพราะพวกเขาจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำงานและสร้างรายได้ให้กับองค์กร

ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความคิดคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อให้โอกาสคนเก่งได้มีส่วนร่วมคิดค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ และที่สำคัญองค์กรไม่ควรตัดงบ training ทิ้งไปโดยมองว่าเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

Photo : Shutterstock

แต่ควรพิจารณาถึงทางเลือกที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การเลือกคอร์สอบรมที่ราคาคุ้มค่า การจัดกิจกรรมให้พนักงานแชร์ความรู้กันในองค์กร เพราะในเวลานี้องค์กรยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะพนักงานให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะ Growth Mindset และทักษะดิจิทัล ที่จากการสำรวจของเราในหมู่ผู้บริหารและคนทำงานด้าน HR โหวตว่าเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคนี้มากที่สุด

การบริหารงานในยุคนี้ CEO อาจจำเป็นต้องฟัง HR มากขึ้น ให้เขาเป็นเพื่อนคู่คิดในการตัดสินใจเพื่อเตรียมทรัพยากรบุคคลของเราให้พร้อมกับศึกใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

ผู้นำยุคใหม่ต้องมีทักษะรอบด้าน

สำหรับเทรนด์การสรรหาผู้บริหาร แอชลีย์ อัลค็อก ผู้อำนวยการส่วนงานธุรกิจ ฝ่ายสรรหาพนักงานประจำ บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า

จากรายงาน Leadership Recruitment Trends 2022 ของ Adecco พบว่าเทรนด์การสรรหาผู้บริหารมีการเปลี่ยนแปลงไป เราเห็นแนวโน้มจากลูกค้าของเราที่ต้องการผู้นำที่มีทักษะรอบด้านมากขึ้น ต้องการคนที่มีความคิดที่เปิดกว้างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถบริหารแบบเน้นการมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้องค์กร

Photo : Shutterstock

“ในแง่การดึงดูดทาเลนต์เราพบว่าหลายองค์กรประสบกับข้อจำกัดทางการเงินทำให้บางรายไม่สามารถเสนอเงินเดือนที่ดึงดูดใจผู้สมัคร ขณะที่การจ้าง expat ก็ต้องเจอกับปัญหาค่าใช้จ่ายการกักตัวในการเดินทางเข้าประเทศที่เพิ่มขึ้นตกรายละหลักแสนบาท ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการดึงดูดคนเก่งเข้ามาร่วมงานกับองค์กร”

เพื่อรับมือกับปัญหานี้องค์กรจึงควรหันมาโฟกัสที่การทำ employer branding มากขึ้น เพื่อสื่อสารวิสัยทัศน์และค่านิยมขององค์กรให้ดึงดูดคนที่มีแพสชันตรงกันเข้ามาร่วมงาน ให้โอกาสคนอายุน้อยที่มีฝีมือเข้ามาทำในตำแหน่งสูงเพื่อขยายโอกาสในการสรรหา และเริ่มคิดถึงสิทธิประโยชน์ทดแทนใหม่ๆ เช่น ความก้าวหน้าในอาชีพแบบ fast-track การมอบหุ้นให้กับพนักงาน สวัสดิการบ้านและที่อยู่อาศัย รวมถึงข้อเสนอการทำงานแบบยืดหยุ่นซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจและไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การ work from home หรือ การเลือกเวลาเข้างานได้ด้วยตนเอง”

7 คุณสมบัติที่ผู้นำยุคใหม่ต้องมี

นอกเหนือจากการสรรหาผู้บริหารที่มีคุณภาพ องค์กรเองก็ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาภาวะผู้นำให้กับหัวหน้าทีมผู้จัดการและผู้บริหารในองค์กร โดยเน้นเสริมสร้างคุณสมบัติผู้นำที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใน 7 หมวด ได้แก่

การสร้าง outward mindset, การเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ, แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต, ทักษะการสื่อสาร, ทักษะการบริหารจัดการอารมณ์, ทักษะการคิดพลิกแพลงแก้ไขปัญหา และทักษะการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับผู้นำในยุคนี้

]]>
1348136
เปิดผลสำรวจเด็กไทย “หมอ” ยังเป็นอาชีพในฝัน มี “BLACKPINK” เป็นไอดอล https://positioningmag.com/1313134 Wed, 06 Jan 2021 16:05:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313134 กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Adecco Children Survey ประจำปี 2564 สำรวจความคิดเห็นเด็กไทยอายุ 7-14 ปี จำนวน 2,024 คน จากทั่วประเทศ พบเด็กไทยเลือก “หมอ” เป็นอาชีพในฝันอันดับ 1 ด้าน BLACKPINK ยืนหนึ่งไอดอลขวัญใจเด็กไทย 

“หมอ” ครองแชมป์อาชีพในฝัน

ผลสำรวจอาชีพในฝันปีนี้พบว่า อาชีพที่เด็กไทยอยากเป็นมากที่สุดคือ หมอ เพราะอยากรักษาคนและช่วยเหลือผู้อื่น รองลงมาคือ ครู สำหรับอาชีพมาแรงในปีนี้ ได้แก่ YouTuber และดารา นักร้อง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ

โดยเด็กๆ ให้เหตุผลว่าเป็นอาชีพที่ได้มอบความบันเทิง และความสุขให้ผู้อื่น สำหรับดารา-นักร้อง นั้นเป็นอาชีพที่ไม่เคยติด Top 5 มาก่อน คาดว่าเป็นเพราะปัจจุบันมีการทำคลิปคอนเทนต์โปรโมต ดารา นักร้อง อยู่ใน YouTube มากขึ้นซึ่งเป็นสื่อหลักที่เด็กเปิดรับมากที่สุด จึงทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ ส่วนอันดับที่ 5 ได้แก่ ตำรวจ

BLACKPINK คว้าอันดับ 1 ไอดอลขวัญใจ

สำหรับผลโหวตไอดอลในดวงใจของเด็กไทยปีนี้พบว่า BLACKPINK ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุด โดย BLACKPINK เป็นที่ชื่นชอบของเด็กไทย จากความสามารถที่โดดเด่นทั้งด้านการร้อง และการเต้น รวมถึงหน้าตาที่สวยน่ารัก

โดยสมาชิกที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในวงคือ ลิซ่า หรือ ลลิษา มโนบาล สมาชิกคนไทยเพียงหนึ่งเดียวในวงที่นอกจากจะเต้น และแร็ปเก่งแล้วยังได้รับคำชมด้านความอดทน ความพยายาม และความกตัญญูอีกด้วย

ส่วน เก๋ไก๋ สไลเดอร์ YouTuber ที่มียอดผู้ติดตามสูงสุดในประเทศไทยและเป็นแชมป์เก่าในปีที่แล้ว ปีนี้อยู่ในอันดับที่ 2 อันดับที่ 3 ได้แก่ BTS วงบอยแบนด์เกาหลีที่เพิ่งพาเพลงครองแชมป์ Billboard ได้สำเร็จ

โดยเด็กๆ ระบุว่าวง BTS เป็นแรงบันดาลใจทำให้มีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น อันดับที่ 4 ได้แก่ แป้ง ZbingZ นักแคสเกมและ YouTuber ชื่อดังที่ติดโพลล์มา 4 ปีซ้อน และอันดับ 5 ได้แก่ เนม MNJTV นักแคสเกม Free Fire ที่มาแรงติดโพลล์เป็นครั้งแรก

YouTube ครองแชมป์สื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็ก

ผลสำรวจ Adecco Children Survey ประจำปี 2564 พบว่าเด็กไทยชอบเทคโนโลยี โดยเมื่อต้องหาความรู้นอกตำราก็มักจะค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตผ่านการเสิร์ช Google และดู YouTube ในยามว่างก็จะใช้เทคโนโลยีในการเล่นเกม ดู YouTube เล่นโซเชียลมีเดีย

โดยสื่อโซเชียลที่เข้าถึงเด็กไทยอายุ 7-14 ปีมากที่สุด ได้แก่ YouTube 94%, Facebook 80%, LINE 74%, TikTok 73%, Instagram 50% และ Twitter 26% ซึ่ง YouTube เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งทุกปีที่มีการสำรวจ ขณะที่ TikTok ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มมาแรงที่เด็กๆ ชื่นชอบ โดยได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อถามถึงการเรียนออนไลน์ช่วง COVID-19 ระบาด พบว่าเด็กไทย 96% ได้เรียนออนไลน์ ขณะที่อีก 4% ไม่ได้เรียนออนไลน์เพราะขาดอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต โดย 52% ระบุว่าพวกเขาชอบเรียนออนไลน์ เพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องตื่นเช้า สามารถเรียนจากที่ไหนก็ได้ เมื่อไม่เข้าใจตรงไหนก็วนกลับมาดูซ้ำได้ และยังช่วยให้ปลอดภัยจากโรคระบาด ขณะที่อีก 46% ระบุว่าไม่ชอบเรียนออนไลน์เพราะรู้สึกว่าเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจก็ไม่สามารถถามได้ ไม่มีกิจกรรม ไม่ได้เจอเพื่อน จึงทำให้รู้สึกเบื่อ และบางคนยังประสบปัญหาจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรอีกด้วย

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า

“แต่ก่อนการศึกษาไทยเน้นผลิตเด็กแบบป้อนความรู้และผลิตคนสู่การเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคดิจิทัลที่พลเมืองทั้งโลกมีความเชื่อมต่อกัน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าเดิมหลายเท่า ดังนั้นวันนี้ถ้าพูดถึงการศึกษาเราต้องมองให้ไกลกว่าเดิม เด็กไทยวันนี้ต้องมีทักษะแบบที่โลกต้องการจึงจะสามารถอยู่รอดในโลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง ทักษะทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน ทักษะดิจิทัล รวมถึงทักษะทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสารหรือทำงานร่วมกับผู้อื่น จะเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งกว่าที่เคย ขณะเดียวกันการเรียนการสอนก็ต้องเน้นให้เด็กฝึกคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง ไม่ใช่เรียนแบบท่องจำอีกต่อไป เพราะความรู้ทุกวันนี้ล้าสมัยเร็วมาก เราจึงต้องปลูกฝังเด็กไทยให้มีความใฝ่รู้ สามารถค้นคว้าและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง”

]]>
1313134
จับทิศทางแรงงาน : เอกชนชะลอรับพนักงาน ลูกจ้างไม่กล้าเปลี่ยนงาน 80% หนุน WFH https://positioningmag.com/1291738 Sun, 09 Aug 2020 16:28:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291738 กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Resetting Normal: Defining the New Era of Work พบว่าบริษัทเอกชนในไทยชะลอรับพนักงานใหม่ ลูกจ้างงานประจำก็ยังไม่กล้าเปลี่ยนงาน และ 80% หนุนการทำงานที่บ้าน

เอกชนรัดเข็มขัด

ผลสำรวจนี้ ได้ทำการสำรวจกับกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยจำนวน 670 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำ และมีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป และกว่าครึ่งเป็นพนักงานในระดับหัวหน้างาน/ผู้จัดการ ถึงผลกระทบที่ได้รับจากการระบาดของ COVID-19 และมุมมองต่ออนาคตการทำงาน

ผลการสำรวจพบว่า ภาคเอกชนต่างมีมาตรการที่หลากหลายเพื่อรัดเข็มขัดในช่วง COVID-19 ตั้งแต่

  • 57% การชะลอรับพนักงานใหม่
  • 26% ชะลอขึ้นเงินเดือน/เลื่อนขั้น
  • 18% ลดเงินเดือน
  • 17% ลดกำลังการผลิต
  • 17% ให้พนักงานใช้วันลา
  • 16% เลิกจ้างพนักงาน
  • 14% พักงานพนักงานชั่วคราว
  • 11% ลดการจ้าง supplier
  • 57% ปรับตารางงาน ลดเวลาทำงานที่ออฟฟิศ ผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 

พนักงานหนุน Work from Home

สำหรับมุมมองของพนักงานที่มีต่อนโยบาย Work from Home พนักงานส่วนใหญ่กว่า 80% หวังให้มีการสานต่อนโยบายนี้ โดยผสมผสานการทำงานจากที่บ้านในบางวัน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว

โดยพนักงานราว 54% ยังเชื่อว่าการมาทำงานที่ออฟฟิศยังจำเป็นอยู่ เพราะจะช่วยให้การประสานงานระหว่างทีมดีขึ้น ในภาพรวมพนักงานส่วนใหญ่ยังคาดหวังให้องค์กรมองที่ผลงานมากกว่าให้ความสำคัญเรื่องชั่วโมงการทำงาน และอยากให้ยืดหยุ่นเรื่องการทำงานมากขึ้น

ทำงานอยู่บ้าน

โดยพนักงานส่วนใหญ่กว่า 51% เชื่อว่าการทำงานจากที่บ้านได้ประสิทธิผลไม่ต่างจากการมาทำงานที่ออฟฟิศ ขณะที่ 37% เชื่อว่าพวกเขาทำผลงานได้ดีขึ้นกว่าตอนทำงานที่ออฟฟิศ มีเพียง 12% ที่คิดว่าคุณภาพการทำงานของพวกเขาลดลงเมื่อทำงานจากที่บ้าน

ต้องการให้องค์กร และรัฐช่วยเหลือ

ด้านผลกระทบจาก COVID-19 ที่เกิดขึ้นกับพนักงาน พนักงานส่วนใหญ่คิดว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรและรัฐบาลที่ต้องยื่นมือช่วยเหลือพนักงานให้ก้าวข้ามวิกฤตนี้ ขณะเดียวกันก็มองว่าตนต้องพึ่งพาตัวเองด้วย

สิ่งที่พนักงานคาดหวังจากองค์กร ได้แก่

  • 84% การสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานจากบ้าน
  • 78% ต้องการความชัดเจนในการรับมือกับวิกฤต
  • 78% การลงทุนด้านเทคโนโลยีและปรับตัวสู่ดิจิทัล
  • 76% การสนับสนุนอุปกรณ์ 
  • 75% ระบบ IT ให้รองรับการทำงานจากที่บ้าน
(Photo by Allison Joyce/Getty Images)

สิ่งที่พนักงานคาดหวังจากหัวหน้ามากที่สุดในช่วงเวลานี้ ได้แก่

  • 58% การช่วยหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  • 55% การให้ความไว้วางใจในการทำงาน
  • 52% การมีความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารที่ดี 
  • 51% การสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่นให้กับพนักงาน

สำหรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์หลัง COVID-19 พนักงานกว่า 56% เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น และมองว่างานเทคโนโลยีน่าจะมีอนาคตที่สุด แต่แม้ว่าส่วนใหญ่จะมองโลกในแง่ดี พนักงานกว่า 65% ก็ยังไม่มีแผนเปลี่ยนงานในอีก 1 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังไม่กล้าเสี่ยงย้ายงานใหม่ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน

Lean-Digital-Work from Anywhere

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า

เมื่อเทียบผลสำรวจของไทยกับในอีกหลายประเทศที่ Adecco ได้ทำการศึกษา ภาพรวมพบว่าผลที่ออกมาค่อนข้างสอดคล้องกับหลายประเทศ ที่องค์กรมีการปรับตัวให้ lean มากขึ้น ดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่รูปแบบการทำงานก็มีผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น New Normal หรือ ความปกติใหม่ที่องค์กรจำเป็นต้องวางแผนปรับตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะฝ่าย HR ที่จะต้องปรับกลยุทธ์การสรรหาใหม่ เพราะโจทย์ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไป เราอาจจะต้องการคนที่มีชุดทักษะที่ต่างจากเดิม ไม่สามารถจ้างพนักงานประจำได้มากเท่าที่เคย อาจจะต้องมีการผสมผสานการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น การสรรหาก็จำเป็นที่จะต้องมีความคล่องตัวและปรับสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่ง Adecco ก็ได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อช่วย HR เตรียมพร้อมในจุดนี้

ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าคนไทยต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น องค์กรอาจจำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้และนำมาปรับใช้เพื่อรักษาบุคลากรและดึงดูดผู้สมัครหน้าใหม่ ปัจจุบันนี้ Work from Home ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้สมัครใช้คัดเลือกองค์กร เพราะคนสมัยนี้มองว่าการทำงานสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ และให้ความสำคัญกับสมดุลการใช้ชีวิตในลำดับต้นๆ

 

ที่สำคัญยังมีแรงงานเก่งๆ อีกมากที่ลาออกจากงานประจำเพราะความจำเป็นส่วนตัวแต่ยังพร้อมที่จะกลับมาทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ ดังนั้นการที่องค์กรนำนโยบายนี้มาปรับใช้ก็จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อีกด้านหนึ่งนโยบายนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการรักษาบุคลากร เพราะทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของพวกเขา

นอกจากนี้การคงมาตรการ Work from Home ยังมีประโยชน์ในระยะยาวต่อการลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การผสมผสานการทำงานจากที่บ้านก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่หลายองค์กรต้องเผชิญ เพราะการทำงานนอกออฟฟิศนั้นองค์กรมักจะมีความกังวลใจในแง่ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงานของพนักงาน และมักให้หัวหน้าฝ่ายใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลในการตัดสินว่าพนักงานคนไหนสามารถหรือไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ โดยขาดเกณฑ์การประเมินและมาตรการที่ชัดเจน ในขณะที่พนักงานเองก็เรียกร้องความไว้วางใจในการทำงานจากหัวหน้า ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะการผสมผสานการทำงานแบบ Work from Home ก็ยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายๆ องค์กร

]]>
1291738
เปิดโผฐานเงินเดือนปี 2020 “โปรแกรมเมอร์” ดาวรุ่ง เด็กจบใหม่สตาร์ทสูงสุดแตะ 40,000 บาท! https://positioningmag.com/1264024 Wed, 12 Feb 2020 08:40:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264024
Adecco ประเทศไทย HR Agency เปิดตัว Salary Guide 2020 คู่มือฐานเงินเดือนประจำปี เผยอัตราเงินเดือนในสายอาชีพต่างๆ กว่า 800 ตำแหน่ง กว่า 3,000 บริษัท โดยในปีนี้พบว่าอาชีพที่มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดได้แก่ อาชีพในสาย IT ขณะที่เงินเดือนผู้บริหารเพิ่มสูงทุกสาขาสะท้อนความต้องการบุคลากรเพื่อปรับตัวธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)

เด็กจบใหม่สตาร์ทเงินเดือนสูงสุดแตะ 40,000

เมื่อเทียบกับเรตเงินเดือนเมื่อ ปีที่แล้วพบว่า ฐานเงินเดือนพนักงานออฟฟิศของเด็กจบใหม่มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย จากเดิมอยู่ที่ต่ำสุด 9,000 บาท มาเป็นเริ่มต้น 12,000 บาท และสูงสุดที่ 40,000 บาท โดยในปีนี้พบว่า เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนราว 18,000 – 25,000 บาท

ส่วนอาชีพทำเงินสูงสุดสำหรับเด็กจบใหม่ในปีนี้ ได้แก่ อาชีพ Programmer/Software Developer ที่มีเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท เนื่องจากเป็นสายงานที่มีความต้องการจากตลาดสูง หลายๆ องค์กรต่างก็ต้องการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง หากเด็กจบใหม่มีทักษะและความสามารถในการเขียนโปรแกรมได้ตรงตามที่องค์กรกำหนด สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงถึง 40,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละองค์กรด้วย


รองลงมาในอัตราเงินเดือนสูงสุด 35,000 บาท ได้แก่ อาชีพ Sales Engineer, Project Coordinator, Personal Assistant, เลขานุการ, ล่ามภาษาญี่ปุ่น และตำแหน่งงานด้านการขายที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น

ผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนพุ่งทุกสาขา

นอกจากนี้ยังพบว่าเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกตำแหน่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ละองค์กรต่างต้องการคนเก่งในหลากสาขา เพื่อเข้ามากำหนดทิศทางการบริหารงาน และเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย Digital Transformation แต่จำนวนของผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน (Talent Shortage) องค์กรจึงต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารระดับสูง เพื่อที่จะสามารถดึงดูดและเก็บรักษาผู้บริหารมือดีได้มากขึ้น

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่พบว่าช่องว่างเงินเดือนระหว่างพนักงานระดับปฏิบัติการกับผู้บริหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ที่ทำให้กลุ่มพนักงานระดับปฏิบัติการ ถูกทดแทนด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดภาวะแรงงานล้นตลาด ขณะที่ผู้บริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงและมีทักษะทางด้านดิจิทัล กลับเกิดภาวะขาดแคลน ทำให้อัตราค่าตอบแทนของพนักงานในกลุ่มผู้บริหารพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่างานในตำแหน่งอื่นๆ

องค์กรเน้นรับพนักงานที่มีทักษะรอบด้าน

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า

“ระดับเงินเดือนของแต่ละตำแหน่ง แต่ละอาชีพ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงอุปสงค์และอุปทานของงานได้ดีอย่างหนึ่ง ว่าตอนนี้ตลาดกำลังต้องการแรงงานในส่วนไหน และมีกำลังในการจ่ายค่าจ้างได้มากน้อยแค่ไหน”

“จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราจะเห็นหลายองค์กรพยายามรัดเข็มขัด ลดต้นทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลด้วย องค์กรจะปรับตัวสู่การเป็น Lean Organization ที่บริหารโดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า”

Photo : Shutterstock

แนวโน้มการจ้างงานในปัจจุบันจึงมีการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์เข้ามาผสมผสานกันมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายประจำของบริษัท ส่วนการจ้างงานในรูปแบบพนักงานประจำ องค์กรก็ต้องการพนักงานที่มีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นเพราะธุรกิจในปัจจุบันมีการ Disruption อยู่ตลอดเวลา

องค์กรจึงต้องการพนักงานที่มีความรู้และทักษะรอบด้านเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำงานในสายการตลาด นอกจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานที่ต้องมีแล้ว ทุกวันนี้คุณยังจำเป็นต้องมีทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านการออกแบบ และมีความรู้ความเข้าใจในงาน IT หรือ E-Commerce เพิ่มเติมด้วย

ในอนาคตแนวโน้มของการกำหนดอัตราเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับทักษะของผู้สมัครมากกว่าใบปริญญา เพราะความรู้ที่เรียนมาจะล้าหลังกว่าความรู้ในโลกการทำงานจริง ใบปริญญาจึงวัดอะไรไม่ได้ไม่มากนัก สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณมีความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการแค่ไห

Photot : Shutterstock

ดังนั้นหากอยากก้าวหน้าในยุคนี้สิ่งสำคัญที่คนทำงานต้องมีคือการหมั่นเรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอ ทั้งการเสริมทักษะใหม่ (Upskilling) และพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ (Reskilling) ทักษะที่เหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวคุณ ทำให้องค์กรยอมจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นและผลักดันคุณสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในองค์กร

*หมายเหตุ ตัวเลขเป็นภาพรวมอัตราเงินเดือนโดยประมาณ อาจมีบางตำแหน่งได้เงินเดือนต่ำกว่าหรือสูงกว่า ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถของผู้สมัครงาน สายอาชีพ และโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละองค์กร

]]>
1264024
เด็กไทยเลือก “หมอ” อาชีพในฝัน ยก “เก๋ไก๋สไลเดอร์” ยืนหนึ่งเป็นไอดอลขวัญใจ https://positioningmag.com/1259576 Wed, 08 Jan 2020 09:55:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259576 ผลสำรวจอเด็คโก้เผยเด็กไทยเลือก “หมอ” เป็นอาชีพในฝัน ส่วน YouTube ครองแชมป์สื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็ก ดัน “เก๋ไก๋ สไลเดอร์” ยืนหนึ่งไอดอลขวัญใจเด็กไทย

หมออันดับ 1 อาชีพในฝัน – ยูทูปเบอร์ อาชีพมาแรงแห่งปี

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้เผยผลสำรวจ “อาชีพในฝันของเด็กไทย” ครั้งที่ 11 ปี 2563 ที่สำรวจในกลุ่มตัวอย่างเด็กไทยอายุ 7-14 ปี จำนวน 4,050 คน จากทั่วทุกภูมิภาค พบว่าอาชีพในฝันเด็กของเด็กไทยในปีนี้ “หมอ” นำลิ่วมาอันดับหนึ่ง ด้านอันดับสองยังคงเป็นอาชีพ “ครู” ไม่ต่างจากปีที่แล้ว

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าส่วนใหญ่เด็กที่เลือกอาชีพหมอเป็นเด็กที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่เด็กที่เลือกครูส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อาศัยในจังหวัดอื่น ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

ส่วนอาชีพมาแรงประจำปีนี้ ได้แก่ อาชีพ “ยูทูปเบอร์” ที่ไต่อันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่สาม แซงอาชีพ “นักกีฬา” และ “ทหาร” โดยเด็กไทยมองว่าอาชีพยูทูปเบอร์เป็นอาชีพที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ สบาย รายได้สูง มีอิสระ มีชื่อเสียง และคิดว่าตัวเองมีทักษะและความสามารถในการทำอาชีพนี้ได้ หลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากยูทูปเบอร์และนักแคสเกมที่ตนชื่นชอบ

“เก๋ไก๋สไลเดอร์” ขึ้นแท่นไอดอลขวัญใจเด็กไทย

เด็กไทยชอบดู YouTube! จากผลสำรวจพบว่าเด็กไทยกว่า 93% ใช้ยูทูป นำหน้าสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ ส่วนสื่อที่เด็กนิยมใช้รองลงมาคือเฟซบุ๊ก ไลน์ และติ๊กตอก โดยยูทูปเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพในฝันและไอดอลที่ชื่นชอบ โดยกว่า 48% ของเด็กที่ตอบแบบสอบถาม เลือกยูทูปเบอร์เป็นไอดอลในดวงใจ ทำให้ปีนี้มียูทูปเบอร์เข้ามาติดโผจำนวนมาก

เก๋ไก๋สไลเดอร์
เก๋ไก๋สไลเดอร์

ในปีนี้ไอดอลที่เด็กไทยเทใจให้มากที่สุด ได้แก่ “เก๋ไก๋สไลเดอร์” ยูทูปเบอร์สาววัย 23 ปีที่มียอดผู้ติดตามมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 11 ล้านคน โดยเด็กๆ ให้เหตุผลว่าพี่เก๋ มีความน่ารัก สดใส ตลก พูดเพราะ ทำคลิปสนุกๆ และมีประโยชน์

ด้านอันดับ 2 ได้แก่ “BLACKPINK” เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีมาแรงแห่งปี เจ้าของเพลงฮิต “Kill This Love” โดยสมาชิกในวงที่เป็นที่ชื่นชอบของน้องๆ มากที่สุด ได้แก่ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล อันดับ 3 ได้แก่ แป้ง “Zbing Z.” ยูทูปเบอร์และนักแคสเกมที่ติดโพลล์มา 3 ปีซ้อนติดต่อกัน อันดับ 4 ศิลปินเกาหลีวง “BTS” และอันดับ 5 “CGGG” นักแคสเกม Free Fire ชื่อดัง

สำหรับอันดับช่องยูทูปที่เด็กไทยให้ความนิยมมากที่สุด ได้แก่ “เก๋ไก๋สไลเดอร์” รองลงมาคือช่อง “Zbing Z.” “CGGG” และ “UDIE” ช่องแคสเกม ที่ได้อันดับ 2 3 และ 4 ตามลำดับ ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ “บี้เดอะสกา”

อยากได้ “สมาร์ทโฟน” เป็นของขวัญมากสุด

เมื่อสอบถามถึงวิธีหาความรู้นอกห้องเรียน เด็กไทยกว่า 50% ตอบว่า “อินเทอร์เน็ต” ไม่ว่าจะเป็นการหาความรู้ผ่านการเสิร์ชกูเกิ้ล การเข้าเว็บไซต์ต่างๆ หรือดูยูทูป ทั้งผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เพื่อค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ขณะที่อีก 25% เลือกค้นคว้าผ่านการ “อ่านหนังสือและการเข้าห้องสมุด”

ของขวัญวันเด็กที่เด็กไทยอยากได้มากที่สุดในปีนี้คือ “สมาร์ทโฟน” โดยคิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รองลงมาคือ “คอมพิวเตอร์” “ตุ๊กตา” “เงิน” และ “หนังสือ” ตามลำดับ ซึ่งของขวัญเหล่านี้ก็สอดคล้องกับงานอดิเรกที่เด็กไทยชอบทำคือ เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นกับเพื่อน อ่านหนังสือ อ่านการ์ตูน ดูภาพยนตร์ และไปเที่ยว

ส่องเทรนด์อาชีพ เด็ก GEN Z – Gen Alpha

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย เผยว่า

“ผลสำรวจอาชีพในฝันของอเด็คโก้ที่เราทำจะสำรวจในกลุ่ม เด็กอายุ 7-14 ปี ซึ่งก็แบ่งได้เป็นสองเจนเนอเรชั่น คือ GEN Z และ Gen Alpha ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมากับเทคโนโลยี คุ้นชินกับการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต มาตั้งแต่เด็ก

จึงไม่น่าแปลกใจว่าภาพรวมของคำตอบในปีนี้จะเห็นความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น อาชีพยูทูปเบอร์ที่มาแรงขึ้นมาเป็นอันดับสามและมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี หรือการที่เด็กเกือบครึ่งโพลล์เลือกยูทูปเบอร์เป็นไอดอลในดวงใจ รวมถึงพฤติกรรมของเด็กในยุคนี้ที่ชอบเล่นเกม สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ค้นหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ต ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น Digital native ของเด็กไทยในปัจจุบัน”

การที่พวกเขาเกิดมาพร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร Mark McCrindle นักประชากรศาสตร์และนักวิจัยทางสังคม มีการพยากรณ์ว่า Gen Alpha หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี จะเป็นเจเนอเรชั่นที่ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด และเป็น Gen ที่ฉลาดที่สุด และใช้เทคโนโลยีเก่งที่สุด เมื่อเทียบกับ Gen อื่นๆ ตอนมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน

ขณะที่ Gen Z หรือผู้ที่ปัจจุบันมีอายุตั้งแต่ 26 ปีลงไป งานวิจัยจากต่างประเทศรายงานว่า Gen Z ก็จะก้าวเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กร โดยจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 27 ของแรงงานทั้งหมดภายในอีก 5 ปีข้างหน้า Gen Z มีแนวโน้มที่จะเลือกอาชีพที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสนใจการเป็นผู้ประกอบการและทำอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นมุมมองการเลือกอาชีพที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน

เด็กในรุ่นนี้จะโตมากับอนาคตของโลกการทำงานที่เปลี่ยนไป หลายอาชีพจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ แต่ก็จะมีอีกหลายอาชีพเกิดขึ้นใหม่เช่นเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ร้อยละ 60 ของแรงงานจะทำงานในอาชีพที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน

จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะช่วยกันพัฒนาศักยภาพเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการใช้ชีวิตและทักษะทางสังคม ซึ่งเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนได้ รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ เพราะในอนาคตความรู้ใหม่ๆ จะมีความสำคัญมากกว่าใบปริญญา

“การเรียนรู้ตลอดชีวิตและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง จะกลายเป็นคำขวัญสำคัญของเด็กยุคใหม่ที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างมั่นคงในโลกที่มีการ Disruption ตลอดเวลา”

]]>
1259576