จะเห็นว่าทางฝั่งจีนอาจจะยังเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการควบคุมและข้อจำกัดของรัฐบาลจีน ที่ส่งผลต่อการพัฒนา AI ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูล หรือการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมยังอาจยังไม่ได้รับความไว้วางใจ ในเรื่องของความปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การใช้งานส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่ ภายในประเทศจีนเป็นหลัก
คงต้องจับตาดูว่าในอนาคต ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะมีผู้เล่นใหม่ ๆ ที่มาเขย่าตลาดได้เหมือนกับ DeepSeek อีกหรือไม่ เพราะตลาด AI ทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยอ้างอิงจาก Fortune Business Insights ได้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดอาจมีมูลค่าสูงถึง 9 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2026 เลยทีเดียว
]]>อย่างไรก็ตาม ก็เกิดคำถามถึงเบื้องหลังความเก่งของ DeepSeek ว่าอาจเกิดจากการ ขโมยข้อมูล จาก OpenAI ไปใช้หรือไม่ ส่งผลให้ Microsoft กำลังสอบสวนเรื่องดังกล่าว และไม่ใช่แค่เรื่องการขโมยข้อมูล แต่ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรม ความเป็นส่วนตัว และแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัย นำไปสู่การ แบน ในหลายประเทศ ได้แก่
กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เริ่มตรวจสอบว่า DeepSeek ใช้ชิป AI ที่ถูกห้ามส่งออกไปยังจีนในการพัฒนาโมเดล AI หรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ใช้กับจีน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายรัฐ และหลายหน่วยงานที่สั่งแบน DeepSeek ได้แก่
การแบน DeepSeek ของ เกาหลีใต้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่ 3 กระทรวงของเกาหลีใต้ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม สั่งห้ามพนักงาน ใช้งาน DeepSeek ในการทำงาน เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล
จนนำไปสู่การแบนโดย หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของเกาหลีใต้ (PIPC) ที่ได้สั่งระงับการดาวน์โหลดแอป DeepSeek จาก App Store และ Google Play ชั่วคราว เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้
กระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ระบุว่า ห้ามหน่วยงานภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใช้ DeepSeek เพราะมองว่า การดำเนินงานของ Deepseek มีความเกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลข้ามพรมแดน และการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของอิตาลี (DPA) ได้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของ DeepSeek และการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) ซึ่งมองว่า เจ้าหน้าที่ของ DeepSeek ขาดความชัดเจนในการตอบคำถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูลของบริษัท และมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทไม่เพียงพอ นำไปสู่การแบนในอิตาลี
หลังจากที่หน่วยข่าวกรองของออสเตรเลีย ได้ประเมินแล้วว่า DeepSeek อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ ส่งผลให้ กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ได้ออกคำสั่ง รัฐบาลใช้งาน DeepSeek ในระบบและอุปกรณ์ทั้งหมด และบริการทั้งหมดของ DeepSeek จะถูกลบออกจากระบบของรัฐบาลในทันที
ต้องรอดูว่าจะมีประเทศไหนออกมาแบน DeepSeek อีกหรือไม่ เพราะมีอีกหลายประเทศที่กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ในยุค AI ที่แม้จะมีประสิทธิภาพสูง แต่หากขาดความโปร่งใสด้านข้อมูลและความปลอดภัย ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับ
]]>ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ของเกาหลีใต้ สั่งแบน ไม่ให้พนักงานใช้ DeepSeek ในที่ทำงาน เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล ขณะเดียวกัน หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของเกาหลีใต้ (PIPC) ได้ส่งคําขอเป็นลายลักษณ์อักษรไปยัง DeepSeek เพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้
ล่าสุด หน่วยงาน PIPC ได้สั่งแบน DeepSeek ออกจาก App Store และ Google Play เป็นการชั่วคราว จนกว่าแพลตฟอร์มจะ ปรับปรุงการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ ให้เป็นไปตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวของประเทศ ซึ่ง DeepSeek เองก็ ยอมรับคำสั่ง และยอมรับว่า ละเลยการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบางประการ อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ใช้จะไม่สามารถดาวน์โหลดแอปฯ DeepSeek ได้ แต่จะยังสามารถใช้งานผ่านเว็บไซต์ได้ตามปกติ
“เพื่อป้องกันความกังวลเพิ่มเติมจากการแพร่กระจาย คณะกรรมการแนะนําให้ DeepSeek ระงับการให้บริการชั่วคราว จนกว่าจะมีการปรับปรุงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ที่จําเป็น”
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่ DeepSeek ได้ออกมาเขย่าโลก AI จากการที่ใช้ เงินลงทุน น้อยมาก ในการพัฒนา เมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการ ใช้ข้อมูล เพื่อพัฒนา AI จนทำให้หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน สั่ง แบน การใช้ DeepSeek บนอุปกรณ์ของรัฐบาล
]]>ค่ายรถหลายค่ายกำลังพัฒนา ระบบขับขี่อัจฉริยะ เพื่อเป็นจุดขายของรถ โดย BYD เองก็มีระบบขับขี่อัจฉริยะชื่อว่า God’s Eye เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่ โดยจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบข้างและตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ บนท้องถนนอย่างรวดเร็วและแม่นยำ
Wang Chuanfu ผู้ก่อตั้งและประธานของ BYD เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดตัวระบบช่วยเหลือการขับขี่ God’s Eye ในรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ของบริษัทอย่างน้อย 21 รุ่น รวมถึงรถราคาประหยัดเริ่มต้น 69,800 หยวน (ราว 452,000 บาท) โดย Wang Chuanfu เชื่อว่า ระบบการขับขี่อัจฉริยะขั้นสูงจะกลายเป็น มาตรฐาน เช่นเดียวกับการมีเข็มขัดนิรภัย และถุงลมนิรภัย
ที่น่าสนใจคือ BYD ได้นำ AI จาก DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ชื่อดังของจีน มาร่วมกับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่รุ่นใหม่ที่ล้ำหน้าที่สุดอย่างน้อยหนึ่งระบบ ส่งผลให้หุ้นของ BYD พุ่งขึ้นมากกว่า 4% สู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 345 ดอลลาร์ฮ่องกง (44.24 ดอลลาร์สหรัฐ)
ด้าน Tu Le ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Sino Auto Insights มองว่า การผสานรวม DeepSeek มีความสำคัญมาก เพราะตอนนี้มีเทคโนโลยี AI แบบสแตนด์อะโลนที่พัฒนาเองภายในบริษัทแล้ว ซึ่ง BYD สามารถใช้ทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอคุณสมบัติอัจฉริยะที่เทียบเท่ากับที่คู่แข่งเสนอมา
“สิ่งนี้ทำให้ BYD กลับมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำอีกครั้งเพื่อกำหนดจังหวะของฟีเจอร์ทางเทคโนโลยี จากเดิมที่ BYD ตามหลังคู่แข่งเพื่อนร่วมชาติอยู่มาก”
ปัจจุบัน Xpeng ถือเป็น ผู้นำในด้านระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ในประเทศจีน โดย He Xiaopeng ซีอีโอของ Xpeng มั่นใจว่า ภายในช่วงครึ่งหลังปี 2025 นี้บริษัทจะเป็นค่ายแรกที่บรรลุมาตรฐาน L3 หรือการขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ โดยผู้ใช้สามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย หรือละสายตาจากถนนได้ ขณะเปิดใช้งานระบบขับขี่อัตโนมัติ
ส่วนรถยนต์คู่แข่งจาก Li Auto, พันธมิตรของ Huawei, Nio และ Xiaomi ต่างก็อ้างว่ามีฟังก์ชันช่วยเหลือผู้ขับขี่ เช่น ระบบจอดรถอัตโนมัติ ส่วน Tesla ที่มีระบบ Full-Self Driving ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีน
ด้านนักวิเคราะห์ของ Nomura มองว่า BYD มีแนวโน้มที่จะเป็น ผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในจีน ที่นำเสนอระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูงสำหรับรถยนต์ราคาต่ำกว่า 70,000 หยวน และ BYD กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันจากการ ตัดราคา มาเป็นการ อัปเกรดฟังก์ชัน แทน
อย่างไรก็ตาม Brian Tycangco นักวิเคราะห์จาก Stansberry Research มองว่า การที่ BYD ได้ DeepSeek มาเป็นพันธมิตรจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ก็ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ยานยนต์ของ BYD จะ เข้าสู่ตลาดตะวันตกได้ยากขึ้น โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา เนื่องจาก เหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ
]]>นับตั้งแต่โลกรู้จักกับ ChatGPT ในปี 2022 บริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีหลายรายต่างทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการ AI โดยมุ่งขยายศูนย์ข้อมูลด้วยหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของ Nvidia จำนวนมาก และพัฒนาโมเดลต่าง ๆ ของตนเอง
แต่การมาของ DeepSeek ก็มาทำให้เกิดคำถามว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลขนาดนั้นไหม เพราะ DeepSeek ใช้เงินลงทุนเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้หุ้นของผู้ผลิตชิป AI อย่าง Nvidia และ Broadcom ลดลงรวมกัน 800,000 ล้านดอลลาร์ ในวันเดียว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการมาของ DeepSeek จะไม่ได้ทำให้การลงทุนด้าน AI ของเหล่าบิ๊กเทคนั้นลดลง โดยเมื่อรวมเม็ดเงินการลงทุนของ Meta, Amazon, Alphabet และ Microsoft มีมูลค่าสูงถึง 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา หรือมากกว่าปีก่อนถึงเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับ Amazon บริษัทเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ ประกาศว่าปีนี้จะลงทุน มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2024 ที่ใช้เงินลงทุน 83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Andy Jassy ซีอีโอ กล่าวว่า เงินส่วนใหญ่จะใช้กับ AI ในส่วนของ Amazon Web Services
เมื่อเดือนที่แล้ว Microsoft เปิดเผยว่าจะจัดสรรเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2025 สำหรับการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลที่สามารถรองรับการประมวลผล AI โดย แบรด สมิธ ซีอีโอ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
Alphabet ตั้งเป้าการใช้ลงทุนด้าน AI ปีนี้ที่ 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะมีการใช้จ่าย 16,000 – 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรก โดย Anat Ashkenazi หัวหน้าฝ่ายการเงินกล่าวในการรายงานผลประกอบการว่า การใช้จ่ายส่วนใหญ่จะใช้กับ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค โดยส่วนใหญ่จะใช้กับเซิร์ฟเวอร์ รองลงมาคือ ศูนย์ข้อมูลและระบบเครือข่าย
ส่วน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ได้กำหนดงบประมาณด้านการลงทุนด้าน AI ของบริษัทไว้ที่ 60,000 – 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับระบุว่า ปี 2025 จะเป็นปีแห่งการกำหนดทิศทางของ AI และการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วย ปลดล็อกนวัตกรรมทางประวัติศาสตร์และขยายความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของอเมริกา
สำหรับ Apple อาจจะประเมินได้ค่อนข้างยากว่ามีการใช้งบลงทุนด้าน AI มากน้อยแค่ไหน เพราะงบส่วนใหญ่จะปรากฏในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เนื่องจากบริษัท ใช้ความสามารถในการฝึกอบรมจากผู้ให้บริการระบบคลาวด์ เช่น โมเดลที่รองรับปัญญาประดิษฐ์ของ Apple นั้นได้รับการฝึกฝนจาก Google Cloud นอกจากนี้ Apple ยังใช้ความสามารถในการฝึกอบรมระบบคลาวด์จาก AWS และ Azure อีกด้วย
ขณะเดียวกัน Tim Cook ซีอีโอ กล่าวว่า Apple ใช้แนวทางแบบผสมผสานในการลงทุน โดยมีสิ่งที่พัฒนาภายใน แต่ก็มีพันธมิตรบางรายที่ทำธุรกิจด้วยภายนอก ซึ่งการลงทุนนั้นจะปรากฏอยู่ในธุรกิจของพวกเขา
ด้าน Tesla ได้เคยเปิดเผยในปี 2024 ว่า ค่าใช้จ่ายด้านทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทคาดว่าค่าใช้จ่ายด้าน AI จะคงที่เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยปัจจุบัน Tesla ได้สร้างคลัสเตอร์การฝึกอบรมที่เรียกว่า Cortex ในโรงงานในรัฐเท็กซัส เพื่อใช้สำหรับการฝึกอบรมโมเดลเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของบริษัทที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
จะเห็นว่าแต่ละบริษัทอัดงบลงทุนกับ AI มหาศาล แต่นั่นก็ไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะอย่าง Amazon, Google และ Microsoft ที่แม้จะลงทุนเยอะ แต่จะยิ่งส่งผลดีอย่างมากต่อธุรกิจคลาวด์ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการเครื่องมือประมวลผล AI เพิ่มเติม และพวกเขาวางแผนที่จะรันเวิร์กโหลดที่ใหญ่ขึ้นในคลาวด์
]]>ในวันที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ทุ่มเงินมหาศาลในการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model – LLM) เพื่อใช้เป็นโมเดลพื้นฐานการประมวลผลของ Generative AI ไม่ว่าจะเป็น Meta ที่ประกาศลงทุนสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ Microsoft ลงทุน 8 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่จู่ ๆ DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากประเทศจีนโผล่มา แถมยัง ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ทำให้หลายคนมองว่า ตัวแสบ จากจีนกำลังมาแล้ว
สำหรับ DeepSeek ที่ก่อตั้งขึ้นและเป็นเจ้าของโดย เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) เจ้าของกองทุน High-Flyer ซึ่ง เหวินเฟิง เป็นนักการเงินที่มีความสนใจในด้าน AI อย่างมาก โดยกองทุน High-Flyer ของเขาก็เป็นกองทุนที่ใช้โมเดล Machine Learning ในการวิเคราะห์และซื้อขายหลักทรัพย์ทางการเงิน
ด้วยความสนใจใน AI เหวินเฟิงจึงได้เริ่มต้นโครงการ DeepSeek จากความสนใจส่วนตัว โดยเริ่มจากการซื้อชิป Nvidia จำนวนมากเพื่อสร้างระบบคอมพิวเตอร์สำหรับฝึกโมเดล AI แม้ในตอนแรกเพื่อนร่วมงานจะมองว่าเป็นเพียงงานอดิเรก แต่เหวินเฟิงก็เห็นโอกาสและมุ่งมั่นพัฒนาโครงการนี้จนกลายเป็น DeepSeek ในที่สุด
สิ่งที่ทำให้ DeepSeek กลายเป็นที่จับตาก็คือ เงินลงทุน ในการพัฒนาที่ใช้ น้อยมาก โดยบริษัทชั้นนําของโลกส่วนใหญ่ฝึกแชทบอทด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปมากถึง 16,000 ชิปขึ้นไป แต่วิศวกรของ DeepSeek กล่าวว่า พวกเขาใช้ชิป Nvidia H800 เพียงประมาณ 2,000 ชิป ในการพัฒนาเท่านั้น โดยใช้เงินลงทุนไปเพียง 6 ล้านดอลลาร์
สาเหตุที่ DeepSeek ใช้งบทุนลงทุนที่ต่ำกว่าบริษัทใหญ่ ๆ เนื่องจากบริษัทเลือกใช้ชิปประมวลผลที่ออกแบบมาสำหรับงาน AI โดยเฉพาะ ทำให้ลดต้นทุนได้อย่างมาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หุ้นของ NVIDIA จะได้รับผลกระทบเป็นรายแรก ๆ เพราะถือเป็นบริษัทผู้นำในการผลิตชิปสำหรับ AI
อีกทั้ง DeepSeek ยังใช้เทคนิคการฝึกอบรมโมเดลที่แตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ คือการ Mixture of Experts หรือการวิเคราะห์คำถามโดยการทำโมเดลย่อยหลายตัว ที่แต่ละตัวเก่งคนละอย่างมาทำงานร่วมกัน ถ้าเป็นคำถามที่โมเดลไหนตอบได้ก็ตอบ ถ้าตอบไม่ได้ก็ส่งให้โมเดลตัวอื่นที่ถนัดในเรื่องนั้น ๆ ตอบ
นอกจากนี้ DeepSeek ได้เปิดให้ใช้งานโมเดลบางส่วนแบบ Open-Source ซึ่งทำให้ผู้พัฒนาทั่วโลกสามารถนำไปใช้งานและพัฒนาต่อยอดได้
จากการทดสอบ DeepSeek-V3 พบว่า AI สามารถตอบคําถาม แก้ปัญหาตรรกะ และเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาด ตามการทดสอบเกณฑ์มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ทาง OpenAI กำลังจะเปิดตัว OpenAI o3 ที่มันจะสามารถ คิดและตรวจสอบ คำตอบของตัวเองได้ ก่อนที่จะตอบคำถามผู้ถาม ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในการตอบคำถามยาก ๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ให้เห็นว่า DeepSeek ยังไม่ได้สร้างแบบจําลองการให้เหตุผลตามแนวทางเหล่านี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นอนาคตของ AI
ดังนั้น AI ของจีน ยังไม่แซงสหรัฐฯ แต่อาจจะน่ากังวลในด้านความก้าวนําหน้าระบบ AI แบบ Open-Source ซึ่งอาจทำให้ประเทศจีนสามารถสร้างระบบ AI ที่แข่งขันได้ ได้อย่างรวดเร็วและใช้ต้นทุนไม่สูง
เรียกได้ว่าตลาด AI ไม่ได้ฟาดฟันกันแค่ในกลุ่มบิ๊กเทคฯ ในสหรัฐฯ อีกต่อไปแล้ว แต่กำลังเจอกับคู่แข่งใหม่จากแดนมังกรที่พร้อมจะร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี AI และแบ่งปันให้ผู้พัฒนาทั่วโลกสามารถนำไปใช้งานและพัฒนาต่อยอดได้
]]>