GWM – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 19 Jul 2023 07:53:35 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘ไทย’ ขึ้นแท่น Top3 ประเทศที่ ‘จีน’ ส่งออก ‘รถอีวี’ มากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก https://positioningmag.com/1438203 Wed, 19 Jul 2023 06:33:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438203 ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใน 11 เดือนแรกของปี 2022 มียอดขายทะลุ 18,000 คัน และที่น่าสนใจคือ ไทยถือเป็น Top 3 ที่แบรนด์จีนส่งออกรถอีวีมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

ตามรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 จีน ได้ส่งออกรถยนต์ 2.14 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 75.7% เมื่อเทียบเป็นกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022 โดยมีการส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1.78 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 88.4% มีการส่งออก รถยนต์พลังงานใหม่ 534,000 คัน เพิ่มขึ้น 160%

สำหรับการส่งออกรถยนต์ มี 7 แบรนด์ ที่สามารถส่งออกรถยนต์ได้มากกว่า 1 แสนคัน ได้แก่ SAIC, Chery, Tesla China, Changan, Great Wall Motors, Geely และ Dongfeng อย่างไรก็ตาม หากวัดจากอัตราการเติบโต BYD มีการเติบโตสูงสุดที่ 1,060% โดยสามารถส่งออก 81,000 คัน ตามมาด้วยแบรนด์ Chery ส่งออกได้ 394,000 คัน เพิ่มขึ้น 170% และ Great Wall Motors ส่งออก 124,000 คัน เพิ่มขึ้น 97.3%

ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ของจีนแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ แบรนด์อิสระ และ แบรนด์การลงทุน/กิจการร่วมค้าต่างประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ Tesla China ส่งออกรถยนต์ 182,000 คัน โดยถือเป็นแบรนด์ส่งออกรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของจีน และคิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ของจีน นอกจากนี้ SAIC ยังแสดงโมเมนตัมที่ดีในตลาดต่าง ๆ เช่น เม็กซิโก ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย และไทย

โดยรวมแล้ว เอเชีย ยุโรป และละตินอเมริกาเป็นตลาดหลักสําหรับการส่งออกรถยนต์ของจีน อ้างอิงตามข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ ผู้นําเข้ารถยนต์จีน 3 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย เม็กซิโก และเบลเยียม แต่หากนับเฉพาะรถยนต์พลังงานใหม่ ผู้นำเข้ารถอีวีจากจีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เบลเยียม สหราชอาณาจักร และไทย

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ การส่งออกรถยนต์ของจีนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคันต่อปี จนกระทั่งปี 2021 ปริมาณการส่งออกเกิน 2 ล้านคันเป็นครั้งแรก จากนั้นในปี 2022 ปริมาณการส่งออกเกิน 3 ล้านคัน ทําให้จีนเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่อันดับสองรองจากญี่ปุ่น และคาดว่าภายในสิ้นปี 2023 ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของจีนคาดว่าจะเกิน 4 ล้านคัน

Source

]]>
1438203
ส่องกระแส ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ในไทย หลังค่าย ‘จีน’ แห่เข้าไทยชิงตำแหน่งผู้นำตลาด https://positioningmag.com/1398038 Mon, 29 Aug 2022 10:19:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1398038 ตั้งแต่ที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤต ราคาน้ำมัน ประกอบกับที่เห็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนตบเท้าเข้ามาในไทยแทบจะไตรมาสละราย ขณะที่ภาครัฐเองก็ออกมาตรการสนับสนุนถึงส่วนลดต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจนักหากคนไทยจะเริ่มหันมาสนใจจะใช้งาน รถอีวี ดังนั้น เราไปดูกันว่าตลาดในตอนนี้มีค่ายไหนน่าสนใจ และทิศทางของตลาดอีวีไทยเป็นอย่างไรต่อไป

มาตรการลดคาร์บอนตัวจุดกระแสรถอีวี

ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยทาง UN ได้มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงทั่วโลก 45% ภายในปี 2030 และตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยการผลักดันให้ลดใช้รถยนต์สันดาปและเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายประเทศทำ เนื่องจากรถยนต์แบบสันดาปเดิมนั้นปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร แต่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ไม่ปล่อยคาร์บอน

จีน ที่ถือว่าเป็นผู้นำของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถอีวีมาตั้งแต่ปี 2009 โดยในส่วนของผู้บริโภคนั้น รัฐบาลได้มี นโยบายอุดหนุนทางการเงินสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมยกเว้นในภาษีนานถึง 2 ปี โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งเสริมยอดจำหน่ายรถอีวีให้ได้สัดส่วนอย่างน้อย 60% ในปี 2035

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ออกตัวชัดว่าให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 40-50% ภายในปี 2030 โดยสหรัฐฯ ก็มีนโยบายกระตุ้นโดยการมอบเครดิตภาษีให้กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถอีวี สามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์

อย่างใน ยุโรป ทางรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ออกกฎในการ ยุติการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2035 โดยหลายประเทศก็ออกนโยบายกระตุ้นการใช้งานรถอีวีของตัวเอง ตัวอย่างเช่น เยอรมนี ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก ก็มีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเป็นเวลา 4 ปี

มาตรการไทยจุดสำคัญดันตลาดรถอีวี

สำหรับไทยได้วางเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้ที่ 20% ภายในปี 2030 โดยได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมกับออกนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 หรือ รถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน อีกทั้งยังลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เป็น 0% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถอีวี ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2022-2023 ภายในปี 2025 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คือ นำเข้า 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน

ปัจจุบัน มีค่ายรถจากจีน 3 ค่าย ลงนามร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์ ส่วนค่ายรถจากญี่ปุ่นและค่ายยุโรปหลายค่ายอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางกรมสรรพสามิตคาดว่า ค่ายรถทั้งหมดทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป กว่า 80% จะลงนามกับกรมสรรพสามิตได้หมดภายในปีนี้

แน่นอนว่า ทั้งส่วนลดและสิทธิประโยชน์ทางภาษีถือเป็นอีกส่วนที่จูงใจให้คนหันมาใช้รถอีวีมากขึ้น เพราะเทียบกันตรง ๆ รถอีวีราคาจะสูงกว่ารถยนต์สันดาป เนื่องจากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่สูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลใหญ่ก่อนจะเลือกคือ สถานีชาร์จ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 จะต้องมีสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 567 แห่ง เป็น 1,304 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปัจจุบัน นอกจากที่แต่ละค่ายก็มีการเร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่โชว์รูมของแบรนด์ตัวเอง ภาครัฐบาลเองก็เร่งพัฒนา โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือภาคเอกชน ติดตั้งสถานีชาร์จตามปั๊มน้ำมันและพื้นที่เอกชนทั่วไปให้ได้อย่างน้อย 140 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ ส่วน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็มีเป้าติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชนในกรุงเทพฯ 100 หัวจ่าย

นอกจากนี้ บริษัทบางจากฯ ร่วมมือค่ายรถ เร่งติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 500 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ หรือกลุ่ม ปตท.เร่งขยายสถานีชาร์จให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน เป็นต้น

ค่ายจีนดาหน้ายึดตลาดอีวีไทย

ซึ่งนับตั้งแต่ไทยมีนโยบายสนับสนุนรถอีวี อีกทั้งส่วนลดจากรัฐบาลที่ว่าด้วยข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-จีน ซึ่งทำให้จีนส่งรถยนต์มาที่ประเทศไทยได้อย่างปลอดภาษี จะเห็นว่า ค่ายจีน ต่างตบเท้าเข้ามามากหน้าหลายตา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น ผู้นำ ได้ไม่ยาก

เพราะปัจจุบันก็เป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกด้วยส่วนแบ่งตลาด 60% และด้วย ราคา ของรถที่มีราคาไม่ถึงล้านก็เป็นเจ้าของได้ ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นและยุโรปที่ส่วนใหญ่ราคาเริ่มต้น เกือบ 2 ล้านบาท ดังนั้น ไปดูกันว่ามีค่ายไหนบ้างที่น่าสนใจ

MG

ย้อนไปปี 2013 เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ หรือ เอสเอไอซี ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ร่วมทุนกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้ง บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยี่ห้อ เอ็มจี (MG)

ปัจจุบันรถ MG มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย 70-80% โดยส่งออกจำหน่ายไปแล้ว ได้แก่

  • MG HS PHEV รถ SUV ปลั๊กอิน-ไฮบริด ราคาเริ่มต้น 1,359,000 บาท
  • MG ZS EV รถยนต์ SUV ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 1,190,000 บาท
  • MG EP EV Plus รถ Station Wagon ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 998,000 บาท

GWM

เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor : GWM) ถือเป็นค่ายที่ถูกจับตามองตั้งแต่เข้าไทยในปี 2021 เนื่องจากเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อโรงงานต่อจาก General Motor (GM) หรือแบรนด์ เชฟโรเลต ที่ได้ม้วนเสื่อเลิกกิจการในไทยไป พร้อมกันนี้ ค่าย GWM ยังปักธงชัดว่าจะเดินหน้าทำตลาดอีวีโดยเฉพาะ พร้อมกับหอบเงินลงทุนมาถึง 22,600 ล้านบาท

โดยค่าย GWM นั้นมีรถ 4 แบรนด์ย่อย ได้แก่ HAVAL (ฮาวาล) แบรนด์รถเอสยูวี WEY (เวย์) แบรนด์รถเอสยูวีลักชัวรี ORA (โอรา) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า และ GWM POER (จีดับเบิลยูเอ็ม พาวเออร์) แบรนด์รถกระบะ สำหรับประเทศไทย GWM เปิดตัวรถแล้ว 3 รุ่น จาก 2 แบรนด์ มียอดขายรวมทั้งหมด 8,921 คัน ได้แก่

  • Haval H6 ราคาเริ่มต้น 149 ล้านบาท (ยอดขายสะสม 4,859 คัน)
  • Haval Jolion ราคาเริ่มต้น 879,000 บาท (ยอดขายสะสม 2,198 คัน)
  • Ora Good Cat ราคาเริ่มต้น 828,500 บาท (ยอดขายสะสม 1,864 คัน)

NETA

สำหรับค่าย NETA AUTO หรือ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพด้านยานยนต์ไฟฟ้า 100% อีกรายของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 จนมาปี 2018 ทางค่ายก็ออกรถรุ่นแรกในชื่อ NETA No1 (เนต้า นับเบอร์ 1) รถอีวีครอสโอเวอร์ 100% จากนั้นในปี 2020 ก็ได้เปิดตัว NETA U รถ SUV ไฟฟ้า และ NETA V รถซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ และในปี 2022 นี้ ทางค่ายก็เปิดตัวรถอีวีรุ่นล่าสุด NETA S รถซีดาน

ความน่าสนใจของ NETA คือ ภายในระยะเวลา 4 ปี มียอดจำหน่ายรถยนต์รวมกว่า 170,000 คัน โดยในปี 2021 นั้นมีเติบโตสูงกว่า 362% และสำหรับการรุกตลาดโลก NETA ก็ได้เลือกไทยเป็นประเทศแรก โดยได้จัดตั้ง บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด (Neta Auto (Thailand) Co., Ltd.) พร้อมกับจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ให้เป็น ผู้ผลิตรถยนต์ในไทย โดยได้เปิดตัวรถรุ่นแรก NETA V เพื่อมาจับตลาด ซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ โดยราคาหลังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะเริ่มต้นอยู่ที่ 549,000 บาท

BYD

BYD (บีวายดี) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนด้วยยอดขาย 641,000 คัน ในครึ่งแรกของปี 2022 ถือเป็นเบอร์ 1 ของจีน ซึ่งในประเทศไทย BYD ได้ถูกนำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวโดย บริษัท เรเว่ ออโตเมทีฟ จำกัด (RÊVER AUTOMOTIVE) ซึ่งมี ประธานวงศ์ และ ประธานพร สองพี่น้องของตระกูล พรประภา ถือหุ้นและลงทุน 100% ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จะคุ้นกับนามสกุลเป็นอย่างดี เพราะทั้งคู่เป็นทายาทของ กลุ่มสยามกลการ

สำหรับรถยนต์รุ่นแรกของ BYD นั้นจะได้เห็นภายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งทางบริษัทยังไม่เปิดเผยว่าจะเป็นรุ่นไหน เพียงแต่บอกว่าจะเป็นรุ่นที่อยู่ในกลุ่ม Ocean series ซึ่งในซีรีส์ดังกล่าวมีทั้งหมด 3 รุ่น ดังนั้น ใครที่สนใจก็ต้องอดใจรออีกนิดนะ

อีวี ไพรมัส

อีกหนึ่งตระกูลที่คร่ำหวอดในตลาดอะไหล่รถยนต์มานานกว่า 50 ปี อย่าง ธนาดำรงศักดิ์ เจ้าของบริษัท บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ หรือ FPI ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดรถอีวี โดย พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ได้ก่อตั้ง บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด พร้อมวางตัวเองเป็น ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามัลติแบรนด์ (Multi-Brand EV Distributor) เนื่องจากแบรนด์รถอีวีจีนนั้นมีหลายสิบแบรนด์ บริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ที่จะนำเข้ามาเบื้องต้น 3 แบรนด์ ได้แก่ DFSK, SERES และ VOLT

โดย อีวี ไพรมัส เตรียมเงินลงทุน 400 ล้านบาท ใช้ในการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโรงงานดังกล่าว มีพื้นที่ 20 ไร่ มีกำลังการผลิต อีวี  4,000 คัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2023

Tesla จ่อเข้าไทย

ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก อย่าง เทสลา (Tesla) มีข่าวลือว่าจะเข้าไทยอย่างเป็นทางการ หลังมีการยื่นจดทะเบียน บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 เพื่อขายรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน ภายใต้ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท

แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพราะ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า Volkswagen (โฟล์คสวาเกน) คู่แข่งรายสำคัญของเทสลา ก็อยู่ระหว่างตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นกัน ดังนั้น อาจต้องจับตาดูอีกทีว่า 2 ค่ายใหญ่ฝั่งยุโรปจะเข้ามาสู้กับแบรนด์จีนที่กำลังรุกตลาดไทยเมื่อไหร่

Photo : Shutterstock

ค่ายญี่ปุ่นไม่เชื่อในรถอีวี 100%?

สำหรับค่ายญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งการตลาดจากรถยนต์สันดาปมากถึง 82% ของประเทศไทย แต่ในตลาดอีวีกลับไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหว โดยค่ายอันดับ 1 ของไทยอย่าง โตโยต้า แม้จะออกมาสนับสนุนมาตรการ EV ของรัฐบาลไทย แต่ก็ทำแค่เอา Toyota bZ4X รถอีวี 100% ของค่ายมาอวดโฉมเรียกกระแสแต่ยังไม่เปิดเผยราคา และคาดว่าจะนำเข้ามาก็ไตรมาส 4 ปีนี้ หรืออย่าง New NISSAN LEAF 2022 ของ นิสสัน นอกนั้นก็ยังไม่ค่อยมีให้เห็น ส่วนใหญ่จะเป็น รถไฮบริด มากกว่า

โดยความเห็นจากผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามองว่า ที่ค่ายรถญี่ปุ่นไม่เน้นพัฒนารถอีวี 100% แต่เน้นหนักไปที่รถไฮบริดเป็นเพราะ ไม่เชื่อมั่นว่ารถไฟฟ้า 100% จะตอบโจทย์ โดยมีแนวคิดว่าเป็นสัดส่วนไฟฟ้า 80% และน้ำมัน 20% ตอบโจทย์มากกว่า รวมถึงการพัฒนาและ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน

คาดยอดขาย BEV ทะลุ 1 หมื่นคัน

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ของยอดขายรวม รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยจะมีมากกว่า 1 หมื่นคัน หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 412% จากปี 2021 โดย รถยนต์ไฟฟ้าจีน มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่กว่า 80% และคาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าฝั่งยุโรปจะได้ส่วนแบ่งราว 14% และค่ายญี่ปุ่นอยู่ที่ 5% เนื่องจากจีนได้เข้ามารุกตลาดไทยอย่างรวดเร็ว

แม้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถือว่ายังตลาดยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ดังนั้น อาจต้องรอดูว่าในปีต่อ ๆ ไปภาพของตลาดจะเป็นอย่างไร และเป้าหมายของ บอร์ดอีวี ที่ตั้งเป้าผลิตรถอีวี 100% ให้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่

]]>
1398038
‘GWM’ หั่นเป้าเหลือ 1.2 หมื่นคัน พร้อมจ่อขึ้นราคา ‘Ora Good Cat’ หลังของขาด-ต้นทุนพุ่ง https://positioningmag.com/1392030 Mon, 11 Jul 2022 03:44:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1392030 ครบ 1 ปีพอดิบพอดีสำหรับการจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดเอสยูวีรุ่นแรกอย่าง Haval H6 ของค่ายยักษ์ใหญ่จากจีน Great Wall Motor หรือ GWM ซึ่งถือเป็นรุ่นเดียวที่ผลิตในไทย ณ ตอนนี้อีกด้วย แม้ปีที่ผ่านมาจะเจอกับความท้าทายอย่างการระบาดของ COVID-19 แต่สำหรับปีนี้สิ่งที่เป็นความท้าทายหลักดูเหมือนจะเป็นปัญหา Short supply โดยเฉพาะชิป

หั่นเป้าลง 8,000 คัน เพราะรถไม่พอ

ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรทวอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า ปัญหา Short supply นั้นส่งผลกระทบกับแบรนด์อย่างมาก ทำให้เป้าหมายการเปิดตัวรถใหม่จาก 5 รุ่น เหลือเพียง 3 รุ่น โดยจะมี Haval H6 Plug-in Hybrid ที่จะเปิดตัวในไตรมาส 3 นี้ และเนื่องจากจำนวนรถที่เปิดตัวน้อย จึงได้ปรับเป้าหมายยอดขาย 20,000 คัน เหลือเพียง 12,000 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

โดยบริษัทมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า เพราะยอดขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.) GWM มียอดขายทั้งสิ้น 5,219 คัน แบ่งเป็น

  • Haval H6 : 2,218 คัน (ยอดขายสะสม 4,859 คัน)
  • Ora Good Cat : 1,402 คัน (ยอดขายสะสม 1,864 คัน)
  • Jolion : 1,599 คัน (ยอดขายสะสม 2,198 คัน)

น้องแมวเตรียมขึ้นราคา

สำหรับ Ora Good Cat รถไฟฟ้า 100% ของค่ายยังได้รับการตอบรับอย่างดี โดย ORA Good Cat GT ก็ถูกจองหมด 500 คันไม่ถึง 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าล็อตใหม่ที่จะเปิดพรีออเดอร์ต้องรอดูว่าบริษัทแม่จะมีการจัดสรรโควตาให้มากน้อยแค่ไหน ด้วยต้นทุนที่มันสูงขึ้น บริษัทจำเป็นต้อง ปรับราคาใหม่ ที่จะสะท้อนต้นทุนจริงสำหรับล็อตต่อไป แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเปิดจองอีกเมื่อไหร่ เนื่องจากปัจจุบัน GWM มียอดค้างส่งมอบราว ๆ 3,000 คัน โดยครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะส่งมอบได้ 300 คัน

“ตอนนี้ต้นทุนแพงขึ้นหมด เพราะวัตถุดิบผลิตชิปและผลิตแบตเตอรี่ขึ้นราคาหมด อย่างราคาลิเธียมปรับขึ้น 500% หลายแบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์ เช่น ปรับราคา ตัดออปชั่น ดังนั้น Ora Good Cat ล็อตใหม่อาจปรับราคา ส่วนรุ่นอื่น ๆ ขึ้นอาจยังตอบไม่ได้ 100% จะมีการปรับราคาไหม แต่ถ้าไม่มีการปรับโฉมเราจะพยายามตรึงราคา”

เพิ่มการันตีสยบปัญหา

ณรงค์ ยอมรับว่า ยอดขายรถรุ่นเรือธงอย่าง Jolion ไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสว่า รถกินน้ำมันเกินเหตุ ซึ่งทางบริษัทก็ได้มีการชี้แจงกับลูกค้า พร้อมกับขยายการรับประกันให้ลูกค้าจาก 5 ปี หรือ 150,000 กม. เป็น 7 ปี 190,000 กม. และรับประกันอะไหล่ทุกชิ้น

ส่วนด้าน Ora Good Cat ที่มีปัญหาเรื่องรออะไหล่นาน โดยทางบริษัทกำลังแก้ปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดล่าช้าเพราะต้องนำเข้าอะไหล่ทั้งหมด โดยทางบริษัทก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะการันตีว่าจากนี้จะ รออะไหล่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยมีแผนจะเพิ่มคลังเก็บอะไหล่เป็น 5,300 SKU หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของชิ้นส่วนรถจากเดิม 3,700 SKU

“เรามีกลยุทธ์ 6S ซึ่งให้ความสำคัญกับการการขายและการบริการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนเครือข่ายการให้บริการ ประกอบด้วย Sales, Service, Spare parts, Survey, Social & Share”

น้ำมันแพงกับส่วนลดช่วยดันยอดรถอีวี

สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์ปีนี้คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ 820,000 คัน เติบโตประมาณ 10-12% ส่วนตลาด รถ xEV คาดว่าจะมียอดขายที่ราว 8.2 หมื่นคัน หรือ 10% ของตลาดรวม และยอดขาย รถไฟฟ้า 100% คาดว่าจะอยู่ที่ราว 12,000 คัน หรือราว 15% ของตลาด xEV

“เราเห็นความพร้อมของผู้บริโภคมากขึ้นที่จะเปิดรับรถอีวี เพราะเขาศึกษามานานแล้วพอมีการสนับสนุนจากรัฐเขาก็ซื้อทันที และในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น หลายคนก็เริ่มหันมาศึกษา แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีกลุ่มที่สนใจแต่ยังไม่มั่นใจในอินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆ บางคนไม่พร้อมที่ต้องวางแผนการเดินทาง เราก็ต้องคอยให้คำปรึกษา”

ทั้งนี้ GWM ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบ DC Fast Charging ให้ครบ 55 แห่งภายในปีนี้ โดยแบ่งเป็น 70% ในกรุงเทพฯ อีก 30% ในต่างจังหวัด โดยเปิดให้ลูกค้าทุกค่ายชาร์จได้ นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันรวมจุดสถานีชาร์จทั่วไทย ปัจจุบันภายในแอปรวมไว้ทั้งหมดประมาณ 500 สถานี คิดเป็น 50% ของสถานีชาร์จทั้งหมด โดยในสิ้นปีคาดว่าจะรวมได้ 80%

“แบรนด์จีนใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวใหม่ในสิ้นปีนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี เราไม่ได้มองการแข่งขัน เพราะตลาดยังเปิดกว้างมาก โดยเฉพาะรถอีวี 100% แต่เรามองว่าไม่อยากให้ค่ายที่เข้ามาเน้นที่การขาย แต่ต้องช่วยกันพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตของตลาดเร็วขึ้น ส่วนเราก็ต้องตื่นตัวและปรับตัวตลอดเวลา”

]]>
1392030
GWM พร้อมส่งรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดบุกยุโรปปีหน้า เริ่มจากตลาดเยอรมนี https://positioningmag.com/1350551 Mon, 06 Sep 2021 15:20:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350551 Great Wall Motor (GWM) เตรียมบุกยุโรปปีหน้าด้วยรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและรถเอสยูวีไฮบริด กลายเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีนรายล่าสุดที่จะเข้าไปแข่งในตลาดนี้

GWM ประกาศในงานคาร์โชว์ IAA ที่มิวนิคว่า บริษัทกำลังจะเปิดรับคำสั่งซื้อรถเอสยูวีแบรนด์ WEY รุ่น Coffee 01 ในเยอรมนีภายในสิ้นปี 2021 และจะเริ่มส่งมอบรถยนต์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2022 โดยรถรุ่นนี้เป็นรถเอสยูวีระดับลักชัวรี สามารถวิ่งได้ถึง 150 กม. ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

บริษัทยังระบุด้วยว่า จะมีการประกาศการเปิดขายในตลาดอื่นๆ ของยุโรปตามมาเร็วๆ นี้ และจะมีการเปิด Brand Experience Center แห่งแรกของยุโรปที่มิวนิคภายในต้นปี 2022

นอกจาก WEY แล้ว บริษัทยังจะนำแบรนด์ ORA เข้ามาทำตลาดยุโรปในปีหน้าด้วย เริ่มจากรุ่น ORA CAT ที่จะเปิดจองภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน แต่บริษัทยังไม่เปิดเผยว่าจะมีจำหน่ายที่ประเทศไหนบ้าง แบรนด์ ORA นี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก

GWM ไม่ใช่รายแรกจากจีนที่เข้ามาบุกตลาดยุโรปซึ่งกำลังเป็นขาขึ้นจากการวางแผนมุ่งไปสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ก่อนหน้านี้มีทั้งแบรนด์ Nio และ Rivals Xpeng ที่เริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว

Source

]]>
1350551
กางแผน ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ กับภารกิจเป็น ‘Top of Mind’ ในตลาด ‘รถอีวี’ https://positioningmag.com/1318935 Wed, 10 Feb 2021 14:53:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1318935 หากใครจำได้ถึงข่าวใหญ่ในปี 2020 ที่ ‘General Motor’ (GM) หรือแบรนด์ ‘เชฟโรเลต’ ที่คนไทยคุ้นเคยได้ม้วนเสื่อเลิกกิจการในไทย และผู้ที่เข้ามาซื้อโรงงานต่อจาก GM ก็คือ ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ (Great Wall Motor : GWM) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากจีน

ซึ่งทางผู้บริหารของบริษัทที่นำโดย “เอลเลียต จาง” ประธาน และ “สตีเฟ่น หวัง” รองประธาน ฝ่ายขายและการตลาด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย พร้อมด้วย “ณรงค์ สีตลายน” กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย จะมาเปิดเผยถึงกลยุทธ์ที่จะใช้ลุยตลาดไทย รวมถึงเป้าหมายในฐานะน้องใหม่

(จากซ้ายไปขวา) มร. เอลเลียต จาง, มร. สตีเฟ่น หวัง, นายณรงค์ สีตลายน

รู้จัก ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’

เกรท วอลล์ มอเตอร์ได้เริ่มก่อตั้งในปี 1984 โดย แจ็ค เว่ย ซึ่งตอนนั้นเขาอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น โดยในปี 1996 บริษัทได้เปิดตัว Great Wall Pickup รุ่น Deer ถือเป็นรถยนต์คันแรกที่เริ่มผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์เกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งรถยนต์รุ่นดังกล่าวสามารถครองแชมป์ตลาดรถกระบะในจีนยาวนานกว่า 23 ปี

จากนั้นก็ได้เปิดตัวแบรนด์รถยนต์เอสยูวีอย่าง ‘HAVAL’ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีอีกครั้งจนกลายเป็นแบรนด์แรกในจีนที่มียอดขายเกิน 5 ล้านคัน และขึ้นเป็นแบรนด์รถเอสยูวีที่มียอดขายอันดับหนึ่ง 9 ปีซ้อน อีกทั้งยังกลายเป็น TOP 3 ผู้ผลิตรถเอสยูวีระดับโลกอีกด้วย ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์มีรถยนต์ 4 แบรนด์ย่อยที่สามารถสร้างยอดขายรวมกันกว่า 1 ล้านคันต่อปีเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน ได้แก่

  • HAVAL (ฮาวาล) แบรนด์รถเอสยูวี ก่อตั้งขึ้นในปี 2013
  • WEY (เวย์) แบรนด์รถเอสยูวีลักชัวรี ก่อตั้งในปี 2016
  • ORA (โอรา) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเสนอรถยนต์หลากหลายรุ่นที่แตกต่างกัน
  • GWM POER (จีดับเบิลยูเอ็ม พาวเออร์) แบรนด์รถกระบะที่มียอดขายอันดับ 1 เวลา 23 ปีซ้อน

ทำไมมาลงทุนในไทย?

ทางเกรท วอลล์ มอเตอร์ได้ระบุว่าบริษัทได้เตรียมงบลงทุนในไทยถึง 22,600 ล้านบาท โดยมีแผนจ้างงานกว่า 5,000 คนภายใน 3 ปี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้บริษัทเลือกเข้ามาลงทุนในไทยนั้นเป็นเพราะความพร้อมทั้งจุดยุทธศาสตร์ บุคลากร และทรัพยากร นอกจากนี้ยังมีนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนพลังงานทดแทน และการขับเคลื่อนประเทศด้วยไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีทั้ง 4G และ 5G ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์

นอกจากนี้ ตลาดประเทศไทยยังถือเป็นตลาดที่มีความยากและท้าทาย ดังนั้น บริษัทจึงมองว่าการทำตลาดในไทยจะช่วยให้เกิดความสนุกในการสร้างสรรค์กลยุทธ์ต่าง ๆ

Great Wall Motor factory. (Photo credit should read Costfoto/Barcroft Media via Getty Images)

ปั้นไทย HUB ส่งออกพวงมาลัยขวา

เบื้องต้น บริษัทตั้งเป้าที่จะวางให้ประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกรถพวงมาลัยขวา โดยคาดว่าในเฟสแรกโรงงานที่ระยองจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 80,000 คัน โดย 60% ผลิตเพื่อป้อนตลาดประเทศไทย อีก 40% เป็นตลาดส่งออก ปัจจุบัน โรงงานที่ระยองได้เริ่มทดลองไลน์ผลิตแล้ว และจะเริ่มผลิตจริงได้ในไตรมาสสองของปีนี้

“แน่นอนว่าเราจะมีการลงทุนเพิ่มเติมอีกในอนาคต และเราวางแผนให้ต้องใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทยให้ถึง 45% ซึ่งนี่จะเป็นผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย”

ใน 3 ปี ต้องมีรถทำตลาด 9 รุ่น

กลยุทธ์หลักของเกรท วอลล์ มอเตอร์จะมี 3 ส่วน 1.เป็นผู้น้ำรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งแบบไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และ BEV โดยตั้งเป้าเปิดตัวรถยนต์ 9 รุ่นใน 3 ปี 2.สร้างแบรนด์ผ่านการฟังเสียงผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล 3.สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า โดยนำข้อมูลที่เก็บมาดีไซน์ เพื่อให้เกิดบริการที่ดีที่สุด โปร่งใสที่สุด เพื่อเกิดการบอกต่อ

โดยในปีนี้ บริษัทเตรียมเปิดตัวรถ 2 รุ่น ได้แก่ ‘Haval H6’ รถยนต์เอสยูวีขุมพลังไฮบริดเปิดตัวในช่วงไตรมาสสอง โดยจะเป็นรุ่นแรกที่ประกอบในไทย ส่วนอีกหนึ่งรุ่น ‘ORA Good Cat’ รถพลังงานไฟฟ้า 100% ที่จะนำเข้ามาในไตรมาส 4 จากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ราคาอย่างเป็นทางการยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา แต่สามารถยลโฉมจริงได้ครั้งแรกที่งาน Bangkok International Motor Showในวันที่ 24 มี.ค.- 4 เม.ย. ได้เลย

ORA Good Cat

เดินหน้าสร้าง 30 โชว์รูมในสิ้นปี

ในส่วนของแผนการเปิดโชว์รูมนั้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ระบุว่าจะไม่ ‘เยอะ’ เหมือนกับคู่แข่ง โดยในปีนี้จะเปิดก่อน 30 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะมีความแปลกใหม่ไม่เหมือนใครด้วยการใส่นวัตกรรมมายกระดับ และเตรียมสร้าง ‘flagship Service Center’ ของภูมิภาคนี้ในประเทศไทยอีกด้วย

“เราจะเน้นการเชื่อมต่อของ Online to Offline โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องส่งรถมาซ่อมเอง แต่เราจะไปรับ โดยลูกค้าสามารถชมการซ่อมผ่านแอปพลิเคชันได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้น เราจะเน้นไปที่ประสบการณ์ไม่ใช่จำนวน”

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมสร้าง ‘ต้นแบบสถานีชาร์จ’ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค โดยจะเป็นการลงทุนทั้งจากส่วนของบริษัทและร่วมทุนกับภาคเอกชนรายอื่น

ยอดขายไม่เน้น แต่ขอนั่งในใจลูกค้า

ในช่วง 1-3 ปีแรกที่ทำตลาด บริษัทมองว่ายังเป็นระยะสั้น ดังนั้นจึงยังไม่โฟกัสที่เรื่องของยอดขายเป็นเป้าหลัก แต่จะเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้เป็นหลักเพื่อให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวไทย โดยตั้งเป้าที่จะเป็น ‘Top of Mind’ ของลูกค้าเมื่อนึกถึงรถเอสยูวีและรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ตลาดประเทศไทยเองก็มีการแข่งขันสูง จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป

“เราเป็นน้องใหม่ในไทย แต่ก็เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในจีน ดังนั้นเราไม่รีบร้อน เราจะเน้นที่จะทำความรู้จัก เพื่อให้เกิดการยอมรับของแบรนด์ อดีตแบรนด์จีนอาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร แต่ 4-5 ปีหลังแบรนด์จีนได้รับความนิยมและการยอมรับเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น เรามั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าชาวไทย

ไม่แข่งราคา แต่มั่นใจว่าถูกใจแน่นอน

ในเรื่องของราคาที่ผู้บริโภคไทยจะติดภาพว่าแบรนด์จีนต้อง ‘ถูก’ ซึ่งบริษัทยืนยันว่าไม่ได้คิดจะแข่งเรื่อง ‘ราคา’ แต่มั่นใจว่าเป็นราคาคุ้มค่า เพราะคิดจากความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ว่าต้องการสเปกแบบไหน ใช้งานอะไร เพื่อดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ดังนั้น บริษัทไม่ได้มีแผนว่าจะต้องตั้งราคาแข่งกับใคร แต่เป็นที่พึงพอใจของลูกค้าไทยแน่นอน

ดูเหมือนว่าตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยจะเริ่มดุเดือดไม่แพ้ตลาดโลกซะแล้ว งานนี้บริษัทรุ่นพี่จากจีนอย่าง ‘MG’ ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคงมีหนาว ๆ ร้อน ๆ บ้างแล้ว

]]>
1318935