iShares Exponential Technologies ETF – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 10 Nov 2021 06:20:22 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 FinTech VS TechFin ความต่างขั้วที่มาบรรจบกันเพื่อเปลี่ยนโลกการเงิน https://positioningmag.com/1360978 Wed, 10 Nov 2021 05:38:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1360978

นับวันโลกดิจิทัลหมุนเร็วขึ้นมาก หนึ่งในอุตสาหกรรมใหญ่ที่เกิดการดิสรัปชันมากที่สุด ต้องยกให้อุตสาหกรรมทางการเงินโลก

คงจำกันได้ในช่วงหลายปีก่อน ผู้ให้บริการทางการเงิน ‘FinTech’ ได้ก่อให้เกิดดิสรัปชัน หรือการทำลายล้างสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม (Tradition) ที่ยืนต่อคิวยาวๆ เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินหน้าเคาน์เตอร์ผ่านสาขา มาเป็นรูปแบบใหม่ ทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา

แต่รู้หรือไม่ว่า วันนี้ ถึงคิวผู้ให้บริการทางการเงิน FinTech ที่จะถูกดิสรัปต์จากผู้ให้บริการ TechFin นี่คือปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการเงินโลกอีกระลอก

Photo : Shutterstock

ความหมายของคำว่า ‘FinTech’ กับ ‘TechFin’ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เชื่อว่าผู้คนยังมีความสับสนกันมาก ว่าเป็นการเล่นคำสลับกันหรือเปล่า? ซึ่งไม่ใช่ครับ ผมขอฉายภาพการเปลี่ยนผ่านโลกเทคโนโลยีทางการเงินให้ฟังอย่างนี้ครับ

จุดแจ้งเกิด ‘FinTech – TechFin’ ต่างขั้วที่เหมือนกัน

ผู้ให้บริการทางการเงิน FinTech คืออะไร ผมขอย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน กระแสธุรกิจ FinTech เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกทึ่งกับศักยภาพของกลุ่ม ‘สตาร์ตอัป’ ที่มีคนทำงานไม่กี่คน รวมตัวกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาด้วย ‘เงินทุนต่ำ’ แต่พนักงานเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้กับผู้ใช้มากกว่า

จึงเป็นที่มาของการพลิกโฉมรูปแบบให้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ที่ทั่วโลกฮือฮา ไม่ว่าจะเป็นระบบ Mobile Banking ระบบ Digital Banking และก็มีแอปพลิเคชันทางการเงินต่างๆ ตามมาด้วยการเกิดเงินสกุลดิจิทัล เป็นต้น

FinTech พัฒนารูปแบบให้บริการต่างๆ ล้วนตอบโจทย์ที่ใช่แก่ผู้ใช้บริการ ภาษาสตาร์ตอัป เรียกว่า แก้บรรดา Pain Point ให้แก่ผู้ใช้บริการอย่างตรงจุดมากที่สุด โดยภาพรวมคือรวดเร็วกว่า ทำธุรกรรมได้ง่ายกว่า ค่าธรรมเนียมถูกกว่า ทำที่ไหนเวลาใดก็ได้ สะดวกไม่ต้องเดินทาง และที่สำคัญมีความปลอดภัยด้วย

Photo : Shutterstock

ช่วงแรกๆ ของการแจ้งเกิดดาวรุ่ง FinTech แม้จะให้บริการเฉพาะทางหรือบางธุรกรรม เช่น โอนเงิน ชำระบิล แต่ต่อมาได้พัฒนาเพิ่มบริการอื่นๆ จนปัจจุบันสามารถให้บริการสินเชื่อดิจิทัลเปิดประตูให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น และคล่องตัว รวมถึงการเข้าสู่การลงทุนที่มีทางเลือกและสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า สะดวกสบายไม่ต้องยื่นเอกสารมากมาย ผู้คนหันมาใช้บริการ ส่งผลให้ FinTech ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ความสำเร็จของสตาร์ตอัป FinTech จำนวนมากเติบโตเป็น ‘ยูนิคอร์น’ และพาเหรดกันเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั่วโลกด้วย เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ จีน เป็นต้น และเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีผลประกอบการโดดเด่น ราคาหุ้นพุ่งพรวด มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด มีขนาดใกล้เคียงกับสถาบันการเงินรายใหญ่ๆที่เก่าแก่เลยทีเดียว

ชื่อบริษัท FinTech ดังๆ ในอุตสาหกรรมทางการเงิน เช่น ที่สหรัฐฯ จะมี Paypal และ Square ส่วนยุโรป ก็คือ บริษัท Revolut และ N26 หรือในจีน เช่น Lufax และ OneConnect เป็นต้น

ส่วน TechFin คืออะไร มาฟังกันครับ

จริงๆ แล้ว คนไทยก็เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักบริการของบริษัทเหล่านี้มาก่อนแล้ว ที่ดังๆ ก็จะมี WeChat Pay หรือ LINE Pay เพียงแต่เจ้าของผู้ให้บริการเหล่านี้ เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ที่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง พวก Social Network ขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้หลักพันล้านคน และแต่ละคนจะใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มนี้หลายชั่วโมงต่อวัน บริษัทบิ๊กเทคเหล่านี้จึงเห็นเป็นโอกาส ในการต่อยอดสู่ธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงิน ที่เรียกกันว่า TechFin นั่นเอง

และด้วยจุดแข็ง 2 ข้อคือ มีฐานผู้ใช้แพลตฟอร์มจำนวนมากและแต่ละคนใช้เวลาหลายชั่วโมงบนแพลตฟอร์ม จึงทำให้ผู้ให้บริการ TechFin แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว และมียอดผู้ใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดการทำธุรกรรมก็เติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะบรรดาแพลตฟอร์มระดับโลก อาทิ Google Amazon Facebook Apple บริษัทในกลุ่มสัญชาติอเมริกันส่วนสัญชาติจีนจะมี Baidu Alibaba และ Tencent ทางด้านแพลตฟอร์มใหญ่ในไทยก็ต้องยกให้ LINE เป็นต้น

Photo : Shutterstock

หากยกตัวอย่างบริการธุรกรรมการเงินจากบริษัท TechFin ใหญ่ๆ ดังๆ ได้แก่ WeChat Pay จากค่ายอาลีบาบาสัญชาติจีน ซึ่ง WeChat Pay เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ชำระเงินได้ผ่านแอปฯ WeChat โดยตรง หรือ LINE Pay สัญชาติญี่ปุ่น ที่เป็นกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ใช้ชำระเงินผ่านแอปฯ LINE แม้แต่ Google สัญชาติอเมริกัน ก็มี Google Pay เป็นกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับชำระเงินตามร้านค้าต่างๆ เป็นต้น

TechFin จึงมีพลังมหาศาลที่เข้ามาช่วงชิงเค้กจาก FinTech ได้อย่างง่ายดาย แม้จะแจ้งเกิดทีหลัง FinTech ก็ตามที

4 ข้อได้เปรียบของ TechFin มีอะไรบ้าง

หากถามว่า อะไรที่ทำให้ TechFin ติดลมบนได้เร็ว หลักๆ จะมี 4 ข้อได้เปรียบ คือ

อย่างแรก ผู้ใช้บริการ TechFin มีความเคยชินกับการใช้แพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มาก่อนแล้ว เมื่อมีบริการทางการเงิน TechFin เพิ่มขึ้น ก็สามารถยืนยันตัวตนได้ง่ายพร้อมใช้งานต่อได้ทันที ไม่ต้องไปดาวน์โหลดแอปฯ และเริ่มต้นลงทะเบียนใหม่ เช่น WeChat Pay แต่ถ้าเป็นแอปฯ FinTech เช่น Pay Pal ก็จะต้องโหลดแอปฯ และจะต้องเริ่มขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ลงทะเบียนจนจบกระบวนการจึงจะเริ่มใช้งานได้

Photo : Shutterstock

อย่างที่สอง บิ๊กดาต้า รวบรวมจากที่มีผู้คนใช้แพลตฟอร์ม Social Network วันละหลายชั่วโมง ทำให้ TechFin สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และมีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และสามารถสร้าง Engagement กับผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งปัจจุบัน ภาคธุรกิจต่างล้วนต้องการข้อมูลเหล่านี้อย่างมากเพื่อนำมาสร้างประการณ์บริการที่ดีและรู้ใจผู้ใช้มากที่สุด แน่นอนว่า บิ๊กดาต้าของ TechFin ถังใหญ่กว่า FinTech

อย่างที่สาม บริษัทเทคโนโลยีที่ทำธุรกิจ TechFin มีศักยภาพสูง ทั้งคนทำงานจำนวนมากกว่าและมีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ทางด้านระบบเทคโนโลยีขั้นสูง และเงินลงทุนที่เหนือกว่ากลุ่ม FinTech อยู่แล้ว ยิ่งทำให้ TechFin สามารถวางโครงสร้างเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า สร้างระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน พร้อมรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากๆได้

และสุดท้าย TechFin มีพลังในการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ขนาดใหญ่ของแพลตฟอร์ม ทำให้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ของผู้คนจำนวนมาก

Photo : Shutterstock

แม้ว่าวันนี้ TechFin กำลังเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สร้างดิสรัปชันทั้ง FinTech และสถาบันการเงินไม่ว่าแบงก์หรือนอนแบงก์ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ให้บริการทางการเงินที่เผชิญกับการดิสรัปชันเหล่านี้ จะต้องสูญเสียธุรกิจหรือล้มหายตายจากไปจากอุตสาหกรรมทางการเงิน

เพราะผมมองว่า บรรดา ‘สถาบันการเงินแบบดั้งเดิม’ ก็ยังคงมีจุดแข็งในตัวเอง ทั้งจากความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจการเงินและการธนาคารมายาวนาน การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพกว่า ความปลอดภัยในการดำเนินงาน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ล้วนเป็นเกราะความมั่นคงต่อฐานะทางการเงินของแบงก์ ที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าแบงก์ได้ดีกว่า

ที่สำคัญแม้โลกการเงินเปลี่ยนเร็ว แต่สถาบันการเงินต่างๆ ก็เดินหน้าสู้ทุกวิถีทางเพื่อยืนบนโลกดิจิทัล แบงก์กิ้ง ซึ่งมีทั้งการปรับองค์กรแบบดิสรัปต์ตัวเอง การเปิดกว้างใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไล่ล่าสิ่งใหม่ๆ หรือคิดค้นวิธีบริการใหม่ๆ ขึ้นมา ผ่านการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจทั้งบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ตอัป FinTech หรือธนาคารอื่นๆ พร้อมเปลี่ยนสถานะจากคู่แข่ง มาเป็นคู่มิตร เพื่อเกม Win Win ด้วยกัน

ยกตัวอย่างธนาคารในไทยที่เพิ่งประกาศดิสรัปต์ตัวเอง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการตั้งบริษัทโฮลดิ้งชื่อ เอสซีบีเอกซ์ (SCBX) เพื่อลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และมีบริษัทย่อยๆ กว่า 20 แห่งที่แตกหน่อพร้อมให้บริการเชื่อมต่อธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงิน

และล่าสุด SCB Securities ได้เข้าไปลงทุนใน ‘บิทคับ ออนไลน์’ (Bitkub Online Co., Ltd.) ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับกลุ่ม SCBX ที่สามารถเติบโตในระยะยาวไปกับโลกใหม่ได้

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย คงชูบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) และ ธนาคารกรุงไทย ที่ตั้ง Krungthai Innovation Lab หรือศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายก้าวสู่ “ธนาคารในอากาศ” จะเห็นว่า แม้แต่แบงก์ไทยก็มองหาโอกาสทางธุรกิจทางการเงินใหม่ๆ เช่นเดียวกับตลาดโลก

ขณะเดียวกัน สนามธุรกิจ FinTech และ TechFin แม้จะต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น แต่เป้าหมายของทุกบริษัท ก็ล้วนต้องการเพิ่มทางเลือกบริการทางการเงินให้ลูกค้ามาใช้ ซึ่งฐานผู้ใช้บริการมีความหลากหลายของกลุ่มย่อย (Segment) แต่ละ Segment จะมีพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ และความต้องการที่แตกต่างกัน เมื่อดูตัวเลขประชากรทั่วโลกที่มีจำนวนกว่า 7.7 พันล้านคน ทุกคนย่อมต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงินอยู่แล้ว และส่งผลดีต่อภาพการเติบโตทางด้านธุรกิจโดยรวม

Photo : Shutterstock

ยิ่งไปกว่านั้น ในด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ก็จะมีทางเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพในกลุ่มเมกะเทรนด์ FinTech และเทคโนโลยี ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อการเติบโตแบบยั่งยืนในระยะยาว สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้แก่นักลงทุน

จะเห็นได้จาก ผลตอบแทนของกองทุนส่วนบุคคล Thematic ธีมเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ของ บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินจากทั่วโลก อย่าง PayPal และ Sqaure ผ่านกองทุน Global X FinTech ETF ครอบคลุม 33 หุ้นในกลุ่มธุรกิจ อาทิ ประกัน ลงทุนระดมทุน สินเชื่อที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินอย่าง เช่น Blockchain Cryptocurrency และการบริหารความมั่งคั่งแบบอัตโนมัติ (Automated Wealth Management) ให้ผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมา 41.47% และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) 10.06% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 64)

หรือธีมเทคโนโลยี (Technology) ลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมในวงกว้าง โดย Jitta Wealth ลงทุนผ่านกองทุน iShares Exponential Technologies ETF ที่ครอบคลุมบริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Alphabet (Google) Apple Amazon และ Tencent ซึ่งขยายธุรกิจไปยัง TechFin โดยธีมนี้ให้ผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมา 37.26% และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) 14.21% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 64)

ส่วนตัวผมยังมองเห็นภาพเมกะเทรนด์ของ FinTech และ Technology ว่า เป็นถนนสายยาวๆ จากโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ผูกกับบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งคาดได้ยากว่าจะสิ้นสุดอย่างไร

เพราะฉะนั้น เมื่อตลาดผู้ใช้บริการมีจำนวนมหาศาล ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นแบงก์ หรือธุรกิจอื่นๆ FinTech และ TechFin ต่างก็ย่อมปักหมุด หมายให้บริการลูกค้าแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว เพราะตราบใดที่พวกเขามีศักยภาพในการดึงพลังเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัด มาพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเติมเต็มบริการที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าให้แก่ผู้ใช้บริการแล้ว แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่จะได้กลับมา คือ พวกเขาจะสามารถชิงเค้กก้อนใหญ่ยืนหยัดบนตลาดเทคโนโลยีการเงินได้ สร้างความความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ หนุนการเติบโตในระยะยาวได้อย่างแน่นอน

]]>
1360978