NETA – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 31 Aug 2022 08:50:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ส่องกระแส ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ในไทย หลังค่าย ‘จีน’ แห่เข้าไทยชิงตำแหน่งผู้นำตลาด https://positioningmag.com/1398038 Mon, 29 Aug 2022 10:19:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1398038 ตั้งแต่ที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤต ราคาน้ำมัน ประกอบกับที่เห็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนตบเท้าเข้ามาในไทยแทบจะไตรมาสละราย ขณะที่ภาครัฐเองก็ออกมาตรการสนับสนุนถึงส่วนลดต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจนักหากคนไทยจะเริ่มหันมาสนใจจะใช้งาน รถอีวี ดังนั้น เราไปดูกันว่าตลาดในตอนนี้มีค่ายไหนน่าสนใจ และทิศทางของตลาดอีวีไทยเป็นอย่างไรต่อไป

มาตรการลดคาร์บอนตัวจุดกระแสรถอีวี

ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยทาง UN ได้มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงทั่วโลก 45% ภายในปี 2030 และตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยการผลักดันให้ลดใช้รถยนต์สันดาปและเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายประเทศทำ เนื่องจากรถยนต์แบบสันดาปเดิมนั้นปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร แต่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ไม่ปล่อยคาร์บอน

จีน ที่ถือว่าเป็นผู้นำของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถอีวีมาตั้งแต่ปี 2009 โดยในส่วนของผู้บริโภคนั้น รัฐบาลได้มี นโยบายอุดหนุนทางการเงินสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมยกเว้นในภาษีนานถึง 2 ปี โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งเสริมยอดจำหน่ายรถอีวีให้ได้สัดส่วนอย่างน้อย 60% ในปี 2035

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ออกตัวชัดว่าให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 40-50% ภายในปี 2030 โดยสหรัฐฯ ก็มีนโยบายกระตุ้นโดยการมอบเครดิตภาษีให้กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถอีวี สามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์

อย่างใน ยุโรป ทางรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ออกกฎในการ ยุติการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2035 โดยหลายประเทศก็ออกนโยบายกระตุ้นการใช้งานรถอีวีของตัวเอง ตัวอย่างเช่น เยอรมนี ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก ก็มีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเป็นเวลา 4 ปี

มาตรการไทยจุดสำคัญดันตลาดรถอีวี

สำหรับไทยได้วางเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้ที่ 20% ภายในปี 2030 โดยได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมกับออกนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 หรือ รถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน อีกทั้งยังลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เป็น 0% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถอีวี ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2022-2023 ภายในปี 2025 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คือ นำเข้า 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน

ปัจจุบัน มีค่ายรถจากจีน 3 ค่าย ลงนามร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์ ส่วนค่ายรถจากญี่ปุ่นและค่ายยุโรปหลายค่ายอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางกรมสรรพสามิตคาดว่า ค่ายรถทั้งหมดทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป กว่า 80% จะลงนามกับกรมสรรพสามิตได้หมดภายในปีนี้

แน่นอนว่า ทั้งส่วนลดและสิทธิประโยชน์ทางภาษีถือเป็นอีกส่วนที่จูงใจให้คนหันมาใช้รถอีวีมากขึ้น เพราะเทียบกันตรง ๆ รถอีวีราคาจะสูงกว่ารถยนต์สันดาป เนื่องจากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่สูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลใหญ่ก่อนจะเลือกคือ สถานีชาร์จ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 จะต้องมีสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 567 แห่ง เป็น 1,304 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปัจจุบัน นอกจากที่แต่ละค่ายก็มีการเร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่โชว์รูมของแบรนด์ตัวเอง ภาครัฐบาลเองก็เร่งพัฒนา โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือภาคเอกชน ติดตั้งสถานีชาร์จตามปั๊มน้ำมันและพื้นที่เอกชนทั่วไปให้ได้อย่างน้อย 140 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ ส่วน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็มีเป้าติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชนในกรุงเทพฯ 100 หัวจ่าย

นอกจากนี้ บริษัทบางจากฯ ร่วมมือค่ายรถ เร่งติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 500 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ หรือกลุ่ม ปตท.เร่งขยายสถานีชาร์จให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน เป็นต้น

ค่ายจีนดาหน้ายึดตลาดอีวีไทย

ซึ่งนับตั้งแต่ไทยมีนโยบายสนับสนุนรถอีวี อีกทั้งส่วนลดจากรัฐบาลที่ว่าด้วยข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-จีน ซึ่งทำให้จีนส่งรถยนต์มาที่ประเทศไทยได้อย่างปลอดภาษี จะเห็นว่า ค่ายจีน ต่างตบเท้าเข้ามามากหน้าหลายตา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น ผู้นำ ได้ไม่ยาก

เพราะปัจจุบันก็เป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกด้วยส่วนแบ่งตลาด 60% และด้วย ราคา ของรถที่มีราคาไม่ถึงล้านก็เป็นเจ้าของได้ ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นและยุโรปที่ส่วนใหญ่ราคาเริ่มต้น เกือบ 2 ล้านบาท ดังนั้น ไปดูกันว่ามีค่ายไหนบ้างที่น่าสนใจ

MG

ย้อนไปปี 2013 เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ หรือ เอสเอไอซี ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ร่วมทุนกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้ง บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยี่ห้อ เอ็มจี (MG)

ปัจจุบันรถ MG มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย 70-80% โดยส่งออกจำหน่ายไปแล้ว ได้แก่

  • MG HS PHEV รถ SUV ปลั๊กอิน-ไฮบริด ราคาเริ่มต้น 1,359,000 บาท
  • MG ZS EV รถยนต์ SUV ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 1,190,000 บาท
  • MG EP EV Plus รถ Station Wagon ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 998,000 บาท

GWM

เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor : GWM) ถือเป็นค่ายที่ถูกจับตามองตั้งแต่เข้าไทยในปี 2021 เนื่องจากเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อโรงงานต่อจาก General Motor (GM) หรือแบรนด์ เชฟโรเลต ที่ได้ม้วนเสื่อเลิกกิจการในไทยไป พร้อมกันนี้ ค่าย GWM ยังปักธงชัดว่าจะเดินหน้าทำตลาดอีวีโดยเฉพาะ พร้อมกับหอบเงินลงทุนมาถึง 22,600 ล้านบาท

โดยค่าย GWM นั้นมีรถ 4 แบรนด์ย่อย ได้แก่ HAVAL (ฮาวาล) แบรนด์รถเอสยูวี WEY (เวย์) แบรนด์รถเอสยูวีลักชัวรี ORA (โอรา) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า และ GWM POER (จีดับเบิลยูเอ็ม พาวเออร์) แบรนด์รถกระบะ สำหรับประเทศไทย GWM เปิดตัวรถแล้ว 3 รุ่น จาก 2 แบรนด์ มียอดขายรวมทั้งหมด 8,921 คัน ได้แก่

  • Haval H6 ราคาเริ่มต้น 149 ล้านบาท (ยอดขายสะสม 4,859 คัน)
  • Haval Jolion ราคาเริ่มต้น 879,000 บาท (ยอดขายสะสม 2,198 คัน)
  • Ora Good Cat ราคาเริ่มต้น 828,500 บาท (ยอดขายสะสม 1,864 คัน)

NETA

สำหรับค่าย NETA AUTO หรือ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพด้านยานยนต์ไฟฟ้า 100% อีกรายของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 จนมาปี 2018 ทางค่ายก็ออกรถรุ่นแรกในชื่อ NETA No1 (เนต้า นับเบอร์ 1) รถอีวีครอสโอเวอร์ 100% จากนั้นในปี 2020 ก็ได้เปิดตัว NETA U รถ SUV ไฟฟ้า และ NETA V รถซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ และในปี 2022 นี้ ทางค่ายก็เปิดตัวรถอีวีรุ่นล่าสุด NETA S รถซีดาน

ความน่าสนใจของ NETA คือ ภายในระยะเวลา 4 ปี มียอดจำหน่ายรถยนต์รวมกว่า 170,000 คัน โดยในปี 2021 นั้นมีเติบโตสูงกว่า 362% และสำหรับการรุกตลาดโลก NETA ก็ได้เลือกไทยเป็นประเทศแรก โดยได้จัดตั้ง บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด (Neta Auto (Thailand) Co., Ltd.) พร้อมกับจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ให้เป็น ผู้ผลิตรถยนต์ในไทย โดยได้เปิดตัวรถรุ่นแรก NETA V เพื่อมาจับตลาด ซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ โดยราคาหลังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะเริ่มต้นอยู่ที่ 549,000 บาท

BYD

BYD (บีวายดี) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนด้วยยอดขาย 641,000 คัน ในครึ่งแรกของปี 2022 ถือเป็นเบอร์ 1 ของจีน ซึ่งในประเทศไทย BYD ได้ถูกนำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวโดย บริษัท เรเว่ ออโตเมทีฟ จำกัด (RÊVER AUTOMOTIVE) ซึ่งมี ประธานวงศ์ และ ประธานพร สองพี่น้องของตระกูล พรประภา ถือหุ้นและลงทุน 100% ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จะคุ้นกับนามสกุลเป็นอย่างดี เพราะทั้งคู่เป็นทายาทของ กลุ่มสยามกลการ

สำหรับรถยนต์รุ่นแรกของ BYD นั้นจะได้เห็นภายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งทางบริษัทยังไม่เปิดเผยว่าจะเป็นรุ่นไหน เพียงแต่บอกว่าจะเป็นรุ่นที่อยู่ในกลุ่ม Ocean series ซึ่งในซีรีส์ดังกล่าวมีทั้งหมด 3 รุ่น ดังนั้น ใครที่สนใจก็ต้องอดใจรออีกนิดนะ

อีวี ไพรมัส

อีกหนึ่งตระกูลที่คร่ำหวอดในตลาดอะไหล่รถยนต์มานานกว่า 50 ปี อย่าง ธนาดำรงศักดิ์ เจ้าของบริษัท บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ หรือ FPI ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดรถอีวี โดย พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ได้ก่อตั้ง บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด พร้อมวางตัวเองเป็น ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามัลติแบรนด์ (Multi-Brand EV Distributor) เนื่องจากแบรนด์รถอีวีจีนนั้นมีหลายสิบแบรนด์ บริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ที่จะนำเข้ามาเบื้องต้น 3 แบรนด์ ได้แก่ DFSK, SERES และ VOLT

โดย อีวี ไพรมัส เตรียมเงินลงทุน 400 ล้านบาท ใช้ในการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโรงงานดังกล่าว มีพื้นที่ 20 ไร่ มีกำลังการผลิต อีวี  4,000 คัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2023

Tesla จ่อเข้าไทย

ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก อย่าง เทสลา (Tesla) มีข่าวลือว่าจะเข้าไทยอย่างเป็นทางการ หลังมีการยื่นจดทะเบียน บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 เพื่อขายรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน ภายใต้ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท

แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพราะ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า Volkswagen (โฟล์คสวาเกน) คู่แข่งรายสำคัญของเทสลา ก็อยู่ระหว่างตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นกัน ดังนั้น อาจต้องจับตาดูอีกทีว่า 2 ค่ายใหญ่ฝั่งยุโรปจะเข้ามาสู้กับแบรนด์จีนที่กำลังรุกตลาดไทยเมื่อไหร่

Photo : Shutterstock

ค่ายญี่ปุ่นไม่เชื่อในรถอีวี 100%?

สำหรับค่ายญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งการตลาดจากรถยนต์สันดาปมากถึง 82% ของประเทศไทย แต่ในตลาดอีวีกลับไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหว โดยค่ายอันดับ 1 ของไทยอย่าง โตโยต้า แม้จะออกมาสนับสนุนมาตรการ EV ของรัฐบาลไทย แต่ก็ทำแค่เอา Toyota bZ4X รถอีวี 100% ของค่ายมาอวดโฉมเรียกกระแสแต่ยังไม่เปิดเผยราคา และคาดว่าจะนำเข้ามาก็ไตรมาส 4 ปีนี้ หรืออย่าง New NISSAN LEAF 2022 ของ นิสสัน นอกนั้นก็ยังไม่ค่อยมีให้เห็น ส่วนใหญ่จะเป็น รถไฮบริด มากกว่า

โดยความเห็นจากผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามองว่า ที่ค่ายรถญี่ปุ่นไม่เน้นพัฒนารถอีวี 100% แต่เน้นหนักไปที่รถไฮบริดเป็นเพราะ ไม่เชื่อมั่นว่ารถไฟฟ้า 100% จะตอบโจทย์ โดยมีแนวคิดว่าเป็นสัดส่วนไฟฟ้า 80% และน้ำมัน 20% ตอบโจทย์มากกว่า รวมถึงการพัฒนาและ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน

คาดยอดขาย BEV ทะลุ 1 หมื่นคัน

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ของยอดขายรวม รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยจะมีมากกว่า 1 หมื่นคัน หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 412% จากปี 2021 โดย รถยนต์ไฟฟ้าจีน มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่กว่า 80% และคาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าฝั่งยุโรปจะได้ส่วนแบ่งราว 14% และค่ายญี่ปุ่นอยู่ที่ 5% เนื่องจากจีนได้เข้ามารุกตลาดไทยอย่างรวดเร็ว

แม้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถือว่ายังตลาดยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ดังนั้น อาจต้องรอดูว่าในปีต่อ ๆ ไปภาพของตลาดจะเป็นอย่างไร และเป้าหมายของ บอร์ดอีวี ที่ตั้งเป้าผลิตรถอีวี 100% ให้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่

]]>
1398038
รู้จัก ‘NETA’ รถอีวีจีนรายล่าสุดที่ขอใช้ ‘ไทย’ เป็นฐานลุยตลาดอาเซียน https://positioningmag.com/1397477 Wed, 24 Aug 2022 14:12:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1397477 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มเห็น ‘รถอีวี’ มาบุกตลาดไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับ ‘ค่ายจีน’ ที่เฉพาะปีนี้ก็ปาไปแล้ว 3 รายเห็นจะได้ ตั้งแต่ค่ายใหญ่ไปจนถึงค่ายเล็ก ๆ ราคาแค่ 3 แสนต้น ๆ และล่าสุด NETA ค่ายรถอีวี 100% ที่เพิ่งเผยโฉม NETA V รถรุ่นแรกที่จะมาจำหน่ายในไทยไปเมื่อช่วงต้นปี ล่าสุดก็ได้เคาะราคาเป็นที่เรียบร้อย ว่าแต่ค่ายนี้น่าสนใจขนาดไหน ไปดูกัน

สำหรับค่าย NETA AUTO หรือ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพด้านยานยนต์ไฟฟ้า 100% อีกรายของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ซึ่งชื่อของบริษัท NETA มีที่มาจาก นาจา (Nezha) หนึ่งในเทพเจ้าจีนโบราณที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

NETA AUTO ได้ระดุมทุนจากบริษัทชั้นนำหลากหลาย อาทิ Qihoo 360 (ฉีหู่) บริษัทไซเบอร์ซิเคียวริตี้เบอร์ 1 ของจีนได้ลงทุนถึง 453 ล้านดอลลาร์ ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ่นใหญ่อันดับ 2 ที่ 17% ซึ่งทาง Qihoo นอกจากลงทุนแล้วยังเข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ก็มีพันธมิตรอย่าง หัวเว่ย (Huawei) บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จีนที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ในการพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะและระบบประมวลผลในรถยนต์

แม้ว่าบริษัทจะเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2014 แต่รถอีวีรุ่นแรกที่ทางค่ายปล่อยออกมานั้นเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2018 ภายใต้ชื่อรุ่น NETA No1 (เนต้า นับเบอร์ 1) รถอีวีครอสโอเวอร์ 100% จากนั้นในปี 2020 ก็ได้เปิดตัว NETA U รถ SUV ไฟฟ้า และ NETA V รถซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ และในปี 2022 นี้ ทางค่ายก็เปิดตัวรถอีวีรุ่นล่าสุด NETA S รถซีดาน

ปัจจุบันบริษัทฯ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวม 6 แห่ง โดย 3 แห่งอยู่นอกประเทศจีน ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิต 3 แห่ง ตั้งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซี และหนานหนิงเขตกวางสี ที่มีกำลังการผลิตรวม 250,000 คันต่อปี โดยโรงงานที่เมืองหนานหนิงจะเป็นโรงงานหลักสำหรับผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าพวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกมายังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000 คันต่อปี 

ภายในระยะเวลา 4 ปี NETA AUTO มียอดจำหน่ายรถยนต์รวมกว่า 170,000 คัน โดยในปี 2021 นั้นมีเติบโตสูงกว่า 362% จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม NETA AUTO ถึงเป็นที่น่าจับตามอง และจากการเติบโตดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทเริ่มที่จะขยับไปสู่ตลาดโลก

เนื่องจากภูมิภาคแรกที่บริษัทต้องการทำตลาดคือ อาเซียน ทำให้ประเทศแรกที่ NETA เลือกไปก็คือ ไทย เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค อีกทั้งยังสามารถส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคได้ฟรีโดยไม่เสียภาษี นอกจากนี้ ไทยเองก็มีความพร้อมในการผลิต อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐอีกด้วย

โดย NETA ได้จัดตั้ง บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด (Neta Auto (Thailand) Co., Ltd.) โดยมี อเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย (Alex Bao Zhungfei) เป็นผู้บริหารเพื่อทำธุรกิจในไทย พร้อมกับจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ให้เป็น ผู้ผลิตรถยนต์ในไทย โดยทาง NETA จะเป็นผู้ลงทุนเทคโนโลยีและชิ้นส่วนในการผลิต เบื้องต้นเซ็นสัญญากัน 2 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2024

ในปีแรกหลังจากเข้าทำตลาด NETA ได้ชิมลางด้วยการเปิดตัว NETA V เพื่อมาจับตลาด ซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ เนื่องจากคู่แข่งที่เป็นรถอีวียังมีน้อย โดยราคาหลังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะเริ่มต้นอยู่ที่ 5.49 แสนบาท จากตอนแรกอยู่ที่ 7.6 แสนบาท

อเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด

ปัจจุบัน NETA มีดีลเลอร์ในไทย 24 แห่ง และภายในสิ้นปีคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30 แห่ง มียอดจอง NETA V ทั้งสิ้น 3,000 คัน และภายในปีนี้ คาดว่าจะมียอดจองรวม 7,000 คัน โดย อเล็กซ์ คาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้เร็วที่สุดในช่วงเดือนกันยายน และคาดว่าจะสามารถส่งมอบได้เดือนละ 1,000 คัน สำหรับเป้าหมายในปี 2023 อเล็กซ์หวังว่าจะเพิ่มยอดขายเป็น 10,000 คันต่อปี และจะได้เห็นรถอีวีรุ่นใหม่ ๆ ภายในปี 2024

สำหรับตัวถัง NETA V มีต้นแบบจากปลาโลมา สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 110 – 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้งานมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous พละกำลัง 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหน้า สามารถวิ่งได้ระยะไกลสุด 384 กม. ต่อการชาร์จ โดยหากชาร์จแบบกระแสสลับ AC รองรับสูงสุด 6.6 kW ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ส่วนชาร์จแบบกระแสตรง DC Fast Charging รองรับสูงสุด 45 kW จาก 30-80% ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ห้องโดยสารรองรับได้ 5 ที่นั่ง น้ำหนักสูงสุดได้ถึง 1151 Kg มีจอควบคุมขนาดใหญ่ 14.6 นิ้ว ระบบสัมผัส มีสีให้เลือก 5 สี ได้แก่ ฟ้า Cyan, เทา Midnight Gray, ขาว White Storm, น้ำเงิน Sky Blue และ ชมพู Sakura Pink รวมถึงการรับประกันแบตเตอรี่และมอเตอร์นาน 8 ปี หรือ 180,000 กม. รับประกันคุณภาพรถ 5 ปี หรือ 150,000 กม. ฟรีค่าแรงและค่าอะไหล่เมื่อเช็กระยะ 1 ปี หรือ 10,000 กม.

]]>
1397477