ROG – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 26 Jul 2023 02:52:53 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มองตลาด ‘สมาร์ทโฟน’ ขาลง เซกเมนต์ ‘พรีเมียม’ คือ โอกาสเดียวสร้างการเติบโต https://positioningmag.com/1438507 Fri, 21 Jul 2023 06:06:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438507 ภาพรวมตลาด สมาร์ทโฟน ทั่วโลกหดตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2022 และสำหรับตลาดเมืองไทยก็ไม่ต่างกัน แต่จะมีปัจจัยบวกปัจจัยลบอะไร และทิศทางการแข่งขันของแต่ละแบรนด์จะเป็นอย่างไร ไปดูกัน

ค่ายมือถือเหลือ 2 รายเริ่มส่งผล

นับตั้งแต่ที่ True และ Dtac ควบรวมกันในช่วงเดือนมีนาคมจะเห็นว่า ราคาแพ็กเกจ ของทุกค่ายมีการ ปรับขึ้น โดย AIS มีการปรับราคาแพ็กเริ่มต้นจากปีก่อนมาเป็น 399 บาท จากเดิมเริ่มต้น 349 บาท ส่วนแพ็ก 499 – 599 บาทมีการลดนาทีโทรลง 50 นาที ส่วนแพ็กเกจ Unlimited ราคาเริ่มต้นยังเท่าเดิมที่ 1,199 บาท แต่มีการปรับรูปแบบการโทร จากโทรฟรีในเครือข่าย กลายเป็นคิดไปในนาทีโทรรวมแทน

True มีการ ตัดแพ็กเกจเริ่มต้น 299 บาทออก โดยจะเริ่มต้นที่ 399 บาท ส่วนแพ็กเกจ Unlimited จะอยู่ที่ 1,199 บาท โดยสิ่งที่ถูกปรับลดก็คือ จำนวนการโทรตั้งแต่ 50 – 100 นาที ส่วน Dtac ก็ปรับราคาเริ่มต้นจาก 349 บาท เป็น 399 บาท และแพ็ก Unlimited จากเริ่มต้น 1,099 บาท เป็น 1,199 บาท เท่ากับค่ายอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการปรับเพิ่ม / ลดนาทีโทรให้เทียบเท่ากับ True อย่างไรก็ตาม แม้แต่ละค่ายจะมีการปรับราคา แต่ทุกค่ายก็พยายาม ชดเชย ด้วยสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งของ คอนเทนต์

ในมุมมองของผู้บริโภค การที่ค่ายมือถือพร้อมใจกับปรับราคาอาจดูไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับตลาดสมาร์ทโฟน แต่ ชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหารออปโป้แห่งประเทศไทย มองว่า เพราะฝั่งโอเปอเรเตอร์ที่เหลือ 2 ค่าย ทำให้ลดการ subsidize ส่วนลดค่าเครื่องก็ลดลง ค่าบริการรายเดือนกลับเพิ่มขึ้น มันก็มีผลเป็นโดมิโน ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ ดังนั้น ภาพตลาดสมาร์ทโฟนจากนี้คงยังไม่ฟื้น เพราะยังไม่เห็นปัจจัยบวก

พรีเมียม โอกาสเดียวที่ยังเติบโต

จากข้อมูลของ IDC เปิดเผยว่า สภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนไทยช่วง Q1/2023 หดตัวลง 25.7% โดยมียอดจัดส่งทั้งหมดราว 3.45 ล้านเครื่อง ที่น่าสนใจคือ ยอดจัดส่งของ สมาร์ทโฟนกลุ่มเริ่มต้น (Entry-level) ที่มีราคาไม่สูงมาก มียอดลดลงมากที่สุด โดยลดลงเหลือ 51% ของตลาด เทียบกับในไตรมาสก่อน (Q4/2022) อยู่ที่ 60% และไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (Q1/2022) ที่ 59%

กลับกัน สมาร์ทโฟนในกลุ่มพรีเมียม (ราคามากกว่า 27,000 บาท) มียอดจัดส่งเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นมาเป็น 19% เทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 11% ดังนั้น จะเห็นว่าจากเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่โอเปอเรเตอร์ขึ้นราคาก็ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย

ต่างจากกลุ่มพรีเมียมที่ยังเติบโตได้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่กระทบคนมีเงิน ทำให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้สามารถ เปลี่ยนมือถือบ่อยกว่า และมีแนวโน้มจะ ซื้อในราคาที่สูงขึ้น ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้มีการ แข่งขันราคาน้อย กว่ากลุ่มล่าง ดังนั้น แบรนด์มือถือก็คิดแล้วว่าจะไปหั่นราคาแข่งกันในตลาดเริ่มต้นทำไม มาจับพรีเมียมดีกว่าเพราะผู้บริโภคยอมจ่าย

ภาพจากเว็บไซต์ PhoneArena

กล้องซูม + จอพับ ฟีเจอร์ชิงชัยกลุ่มพรีเมียม

แม้จะไม่มีตัวเลขชัดเจนในกลุ่มพรีเมียมว่าแบรนด์ไหนมีส่วนแบ่งมากที่สุด แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเดาได้ว่าต้องเป็น iPhone ของ Apple ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เล่นเบอร์ 3 ในตลาดไทยมีส่วนแบ่งตลาดราว 19.4% โดยใน Q1/2023 iPhone มียอดจัดส่ง 668,400 เครื่อง เติบโตถึง +34.9% และถือเป็น แบรนด์เดียวที่ยังเติบโต

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในสมาร์ทโฟนกลุ่มพรีเมียม ผู้บริโภคมีลอยัลตี้สูง ดังนั้น การที่แบรนด์ใหม่ ๆ จะแทรกตัวเข้ามาได้ต้องมี ฟังก์ชันหรือประสิทธิภาพ ที่ดึงดูดมากพอ ซึ่งจะเห็นว่า ซัมซุง (Samsung) ที่ถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ iPhone ก็มีฟังก์ชันเด่น ๆ ที่สามารถใช้มัดใจผู้บริโภคได้ อาทิ Galaxy S23 Ultra ที่มีจุดเด่นที่ กล้องเทพ ที่มี Telephoto ซูม 3 เท่า ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล ที่ถูกใจผู้ใช้สายคอนเสิร์ต ที่เอาไว้ซูมถ่ายศิลปินได้แม้จะอยู่ไกล หรือ Galaxy Z Flip / Fold สมาร์ทโฟนจอพับ ที่จับกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน

ที่ตามมาติด ๆ ก็คือ ออปโป้ (Oppo) เบอร์ 2 ของตลาดสมาร์ทโฟนไทย โดยแบรนด์ก็ชัดเจนว่าต้องการจะ เจาะกลุ่มพรีเมียม โดยต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก เลขหลักเดียวเป็น 2 หลัก โดยหลังจากที่ปล่อยให้ซัมซุงนำร่องสมาร์ทโฟนจอพับไปแล้ว ทางออปโป้จึงค่อยส่ง Find N2 Flip มาทำตลาดตาม นอกจากนี้ ออปโป้เพิ่งเปิดตัวเรือธงรุ่นล่าสุดไปเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็คือ Find X6 Pro แต่ยังไม่เข้าทำตลาดไทย โดยทางออปโป้ให้ข้อมูลว่าจะทำเข้ามาแน่ แต่รอเวลา เพราะไม่อยากให้แข่งกับ Find N2 Flip

หรือแม้แต่แบรนด์ที่ไม่ได้ทำตลาดในไทยมานานถึง 4 ปีอย่าง ออเนอร์ (Honor) ที่เปรียบเสมือนตัวแทนความยิ่งใหญ่ของ หัวเว่ย (Hauwei) ที่เคยแข็งแรงในตลาดแฟลกชิปเมืองไทย ด้วยจุดเด่นที่หลายคนน่าจะจำได้ก็คือ กล้องไลก้า ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ ออเนอร์ก็ประกาศชัดว่าจะจับกลุ่มพรีเมียมเหมือนกับที่หัวเว่ยเคยทำ โดยส่ง Honor Magic5 Pro 5G มาทำตลาด นอกจากนี้ จะมีแบรนด์อื่น ๆ ที่จับผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น สมาร์ทโฟนเกมมิ่ง ที่เน้นราคาและดีไซน์จับลูกค้าเกมมิ่งกระเป๋าหนัก ไม่ว่าจะเป็น ASUS ROG Phone 7 Ultimate

ตลาดจะยังไม่กลับไปพีค

โอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็ม วิชั่น ผู้จัดงาน Thailand Mobile Expo มองว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อตลาดสมาร์ทโฟนไทยและทั่วโลก แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ สมาร์ทโฟนในปัจจุบันใกล้จะถึง จุดสูงสุดของเทคโนโลยี แต่ละแบรนด์มีเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นกล้อง สเปก ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ จูงใจผู้บริโภคได้ยากกว่าเดิม โดยภายในงาน Thailand Mobile Expo ในช่วงพีคที่ตลาดสมาร์ทโฟนกำลังมาแรง เคยมีเงินสะพัดกว่า 3,000 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานกว่า 7 แสนคน แต่ปัจจุบันมีเงินสะพัดเพียง 1,200 ล้านบาท มีผู้ชมราว 4 แสนคน เท่านั้น

เช่นเดียวกันกับ ชานนท์ จิรายุกุล ที่มองว่า ตลาดจะไม่กลับไปพีคเหมือนในอดีตเนื่องจากยังไม่มีนวัตกรรมที่เจ๋งพอเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างนวัตกรรม จอพับ ก็เป็นเพียง ตัวเลือกหนึ่งของผู้บริโภคเท่านั้น

“ผมว่าทุกแบรนด์พยายามหาพยายามทำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาดึงดูดผู้บริโภค แต่เชื่อว่ามีไม่เกิน 3 แบรนด์ที่จะมีนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้ และมันมีเรื่องของราคาต้นทุน และตลาดที่ยังไม่มา หรือมาเร็วไป ซึ่งมันอาจทำให้มันคอมเมอร์เชียลไม่ได้ การมาเร็วเกินไปก็อาจพับเสื่อกลับด้านได้” ชานนท์ ทิ้งท้าย

]]>
1438507
เปิดแนวคิด IKEA X ROG กับการปั้น ‘เฟอร์นิเจอร์’ สำหรับ ‘เกมเมอร์’ เพราะตลาดเกมไม่จำกัดแค่แบรนด์ ‘ไอที’ https://positioningmag.com/1375439 Fri, 25 Feb 2022 09:09:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375439 หากพูดถึง ‘เกม’ จะเห็นว่ามีการเติบโตมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนมีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้มีเวลาในการเล่นเกมมากขึ้นไปด้วย โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ‘DEPA’ พบว่า อุตสาหกรรมเกมไทยมีมูลค่า 34,316 ล้านบาท เติบโตถึง 35% ทำให้ตอนนี้ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนก็อยากจะหาช่องเข้ามาในตลาดเกม รวมถึง IKEA ที่คอลแลบส์กับ ROG แบรนด์เกมมิ่งในเครือของแบรนด์ ASUS ออก ‘เฟอร์นิเจอร์’ สำหรับ ‘เกมเมอร์’ เพื่อขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น

ขายแค่สินค้าไอทีไม่พอ เพราะเกมเมอร์มีเงิน

เจริญ โล่ประคอง ผู้จัดการผลิตภัณฑ์และบริหารการตลาด เอซุส ประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศไทยมีคนเล่นเกมรวมกว่า 30 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นวัย 25-34 ปี สอดคล้องกับข้อมูลของ Statista ที่ระบุว่าช่วงดังกล่าวคิดเป็น 31.4% ของเกมเมอร์ไทยซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่สุด ตามด้วย

  • 35-44 ปี 24.8%
  • 18-24 ปี 19.5%
  • 45-55 ปี 16.1%
  • 55-64 ปี 8.1%

นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มคนเล่นเกมมากถึง 40.8% เป็นกลุ่ม High Income อีก 27.3% เป็นกลุ่ม Medium Income และ 31.9% อยู่ในกลุ่ม Low Income ขณะที่การจับจ่ายเฉลี่ย/คน/ปีอยู่ที่ 1,750 บาท ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำใคร ๆ ก็อยากจะเข้ามาจับตลาดกลุ่มเกมเมอร์

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเกมไม่มีแค่ คอมสเปกแรง ๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันอุปกรณ์เสริมอย่าง เม้าส์, คีบอร์ด, หูฟัง, กระเป๋า รวมไปถึง โต๊ะ-เก้าอี้ ก็ถือเป็นอีกอุปกรณ์ที่เหล่าเกมเมอร์มองว่า ของมันต้องมี ยิ่งตลาดไอทีแข่งขันสูง บวกกับเจอปัญหาซัพพลายเชนที่จำกัด การฉีกไปจับ สินค้าไลฟ์สไตล์ ถือเป็นอีกทางเลือกของเหล่าแบรนด์สินค้าไอที อย่าง เอเซอร์ ก็เคยออก Predator Shot เครื่องดื่มชูกำลังจับเหล่าเกมเมอร์มาแล้ว ดังนั้น แบรนด์ ROG เลยขอมุ่งไปทางเฟอร์นิเจอร์ โดยจับกับ อิเกีย (IKEA) เพื่อออกแบบสินค้ากลุ่มเกมมิ่ง

เจริญ โล่ประคอง ผู้จัดการผลิตภัณฑ์และบริหารการตลาด เอซุส ประเทศไทย

ลุยตลาดเกมมิ่งครั้งแรกของ IKEA

แม้ตลาดเกมจะเติบแค่ไหนแต่ อิเกียกลับไม่เคยออกคอลเลกชั่นเกมมิ่ง มาก่อน ดังนั้น การจับมือกับ แบรนด์ ROG (Republic of Gamers) แบรนด์สินค้าเกมมิ่งของ ASUS ในการออก ออกคอลเลกชั่น IKEA Gaming จึงถือเป็นครั้งแรกที่แบรนด์โดดสู่ตลาดเกมมิ่งเต็มตัว

โดยอิเกียได้เริ่มวางจำหน่าย คอลเลกชั่น IKEA Gaming ครั้งแรกในตลาด จีนและญี่ปุ่น เมื่อช่วงต้นปี 2021 จากนั้นได้ขยายไปในตลาด สหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนตุลาคม เช่นเดียวกับ ไทย ที่เริ่มทดลองวางจำหน่ายคอลเลกชั่นดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกัน

ถึงอิเกียจะเริ่มทำตลาดเกเมอร์ช้าไปสักหน่อย โดย ธนิตา โรจน์วานิช ผู้จัดการสินค้าแผนกห้องทำงาน อิเกีย ประเทศไทย ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเห็นเฟอร์นิเจอร์รีเทลเลอร์รายอื่นอาจจะออกสินค้าเกี่ยวกับเกมมิ่งมาบ้าง เช่น โต๊ะ, เก้าอี้  รวมไปถึงแบรนด์เกมมิ่งเกียร์ต่าง ๆ แต่มองว่าจุดเด่นของอิเกียคือ ทำครบ สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งโซลูชัน ทั้งโต๊ะคอมพิวเตอร์เล่นเกม เก้าอี้เกมมิ่ง และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมั่นใจในคุณภาพ ฟังก์ชัน ดีไซน์ ราคาที่จับต้องได้ และการรับประกันนาน 3 ปี

เรามองว่าเราไม่ได้เชี่ยวชาญหรือเข้าใจคนเล่นเกม แต่เราเห็นการเติบโตตรงนี้ เราจึงร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อออกแบบสินค้าให้ตรงตามความต้องการของเหล่าเกมเมอร์ให้มากที่สุดเพื่อขยายฐานลูกค้า ซึ่งเราเห็นเจ้าอื่น ๆ เริ่มทำสินค้ากลุ่มเกม แต่มั่นใจว่าเราเป็นเจ้าเดียวที่มีครบโซลูชัน”

ธนิตา โรจน์วานิช ผู้จัดการสินค้าแผนกห้องทำงาน อิเกีย ประเทศไทย

เกมเมอร์ลอยัลตี้สูง เพิ่มโอกาสให้แบรนด์

เจริญ กล่าวว่า พฤติกรรมที่น่าสนใจของเหล่าเกมเมอร์คือ มักไม่ข้ามค่าย โดยจะนิยมซื้อสินค้าเป็นคอลเลกชั่น แสดงให้เห็นถึงความลอยัลตี้ที่สูง อย่างฐานแฟนของ ROG เมื่อซื้อคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กแล้ว อุปกรณ์เสริมก็จะซื้อของแบรนด์ ดังนั้น เชื่อว่าฐานแฟน ROG กว่าหมื่นรายจะมาช่วยเสริมอิเกียด้วยเช่นกัน

“กลุ่มเกมเมอร์ที่มีกำลังซื้อเขาจะไม่ข้ามค่าย ถ้าใช้ของแบรนด์อะไรก็จะซื้อแบรนด์นั้น มันเป็นเรื่องของความ Cool ความเท่ และการจับกับ IKEA จะช่วยเพิ่มการรับรู้ให้กับแบรนด์ได้”

​สำหรับอิเกียที่เดินหน้าใช้กลยุทธ์ Collaboration ไม่ว่าจะเป็นกับแบรนด์หรือศิลปินทุก ๆ ปี ไม่ว่าจะเป็น Lego, แซนดรา โรดส์ แฟชั่นไอคอน, Byredo แบรนด์น้ำหอมจากฝรั่งเศส ซึ่ง ธนิตา ระบุว่า ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ในด้านของอแวร์เนสและช่วยขยายฐานลูกค้าได้ดีมาก ดังนั้น เชื่อว่าการจับมือกับ ROG จะช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ และในปีนี้อิเกียก็จะมีการ Collabs กับแบรนด์อย่างน้อย 1 แบรนด์ในปีนี้

“ตั้งแต่ลองขายเราพบว่าไม่ใช่แค่ลูกค้ากลุ่มเกมที่มาซื้อ แต่ลูกค้าทั่วไปก็สนใจเพราะเขาต้องการโต๊ะหรือเก้าอี้ที่นั่งสบาย เพราะเขากังวลเรื่องสุขภาพ ทำให้ยอดใช้จ่ายของลูกค้าทั่วไปและกลุ่มเกมยอดจ่ายไม่ต่างกัน ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่ซื้อเก้าอี้และโต๊ะจะขายดีสุด ยอดบิลรวม ๆ จะอยู่ราว 7,000 บาท”

หวัง Gaming ดันยอด Work Place

แม้ว่าสินค้ากลุ่ม Work Place จะไม่ใช่กลุ่มหลักของอิเกีย แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มสินค้าดังกล่าวเติบโตอย่างมากเพราะเทรนด์ Work From Home, Learn From Home ทำให้สินค้ากลุ่มดังกล่าวมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 85 ล้านบาท และมีสัดส่วนยอดขายเพิ่มจาก 5-6% เป็น 9% ดังนั้น การมีคอลเลกชั่น IKEA Gaming เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่ม Work Place ให้ไปถึง 10% ได้

“ตั้งแต่ที่มีข่าวว่าสินค้า IKEA Gaming ขายในต่างประเทศ เราก็เห็นลูกค้าสอบถามมาเป็นจำนวนมาก และพอทดลองวางจำหน่ายปรากฏว่ายอดขายเติบโตเกินกว่าเป้าที่วางไว้ถึง 300% ดันให้ปีที่ผ่านมายอดขายในกลุ่ม Work Place เติบโตถึง 30% โดยปีนี้เราคาดว่าจะเติบโตได้ 50%”

]]>
1375439