RS Music – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 18 Jan 2023 03:05:46 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กางแผน ‘อาร์เอส กรุ๊ป’ กับการปั้นมาร์เก็ตแคป ‘แสนล้าน’ ใน 3 ปี ฝันใหญ่ที่ไม่ลมแล้งของ ‘เฮียฮ้อ’ https://positioningmag.com/1415743 Tue, 17 Jan 2023 13:15:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1415743 นับตั้งแต่ที่ อาร์เอส กรุ๊ป (RS Group) ได้รีแบรนด์ ปี 2023 นี้ก็ครบ 3 ปีพอดี ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาทุกการเคลื่อนไหวของอาร์เอสนับว่าจับตามอง ทั้งการคลอดแบรนด์ Lifemate (ไลฟ์เมต) หรือการซื้อธุรกิจขายตรง ยูนิลีเวอร์ ไลฟ์ แต่ดูเหมือนเส้นทางจากนี้จะยิ่งน่าจับ เพราะ เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ มองว่า ปี 2023 เป็นปีที่ท้าทายที่สุดในชีวิตการทำธุรกิจ 41 ปี และเป้าหมาย 3 ปีของอาร์เอส กรุ๊ป ต้อง สร้างอาณาจักรแสนล้าน ให้ได้

2023 เวลาที่ใช่ของวิชั่นส์ใหม่อาร์เอส

เฮียฮ้อ เล่าถึงช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า ไม่ง่าย เพราะมีทั้งการะบาดของโควิด สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้คาดการณ์แนวทางการทำธุรกิจได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ และในปี 2023 นี้ จะเป็นปีที่ สำคัญที่สุดของอาร์เอสนับตั้งแต่ก่อตั้งมา และเป็นปีที่ สำคัญที่สุดของเฮียฮ้อนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา 41 ปี เนื่องจากมองว่าการฟื้นตัวหลังจากโควิดจะทำให้ตลาดจะดีดกลับอย่างไม่ปกติ เพราะตลาดอั้นมานานและผู้บริโภคพร้อมกลับมาใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุข

“ผมใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำงานหาเวลาที่ใช่ และผมเชื่อว่าปี 2023 คือเวลาที่ใช่ ดังนั้น เราจึงใช้เวลานี้กำหนดวิชั่นส์ใหม่ของอาร์เอสใน 3 ปีจากนี้ โดยเราต้องการให้ทำให้มาร์เก็ตแคปของอาร์เอสกรุ๊ปมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท

จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ก่อน Spin-Off เข้าตลาด

นับตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว ที่ ตลาดมิวสิก อยู่ในช่วงขาลง อาร์เอสก็มีการปรับตัวมาตลอดอย่างที่หลาย ๆ คนรู้ว่าปัจจุบันอาร์เอสมีธุรกิจหลากหลายมากในมือ ซึ่งปีนี้ บริษัทได้ปรับโครงสร้างใหม่โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่

  • RS Multimedia: ประกอบด้วย ช่อง 8 และ COOLfahrenheit
  • RS Music: ประกอบด้วยค่ายเพลง RSIAM, kamikaze, RoseSound และบริษัท โฟร์ท แอปเปิ้ล
  • RS LiveWell: ประกอบด้วย RS Mall และแบรนด์ผลิตภัณฑ์ well u, Vitanature+, Lifemate และ Camu C
  • RS Connect: ประกอบด้วย ULife และ De Beste ธุรกิจขายตรง
  • RS Pet All: ธุรกิจใหม่ที่ประกอบธุรกิจครบวงจรสำหรับสัตว์เลี้ยง
  • R Alliance: ดูแลด้านการลงทุน ตามกลยุทธ์​ M&A และ JV

โดยใน 3 ปีจากนี้อาร์เอสต้องการจะ Spin-Off 5 บริษัท (ไม่นับ R Alliance) ออกไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ทุกธุรกิจรวมมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท ได้ภายใน 3 ปีตามเป้าหมาย

กางแผน 6 บริษัทภายใต้วิชั่นส์ Life Enriching

เฮียฮ้อ เล่าต่อว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์พาอาร์เอสกรุ๊ปสู่อาณาจักรแสนล้านก็คือ วิชั่นส์ Life Enriching (ยกระดับทุกมิติของการใช้ชีวิต) โดยกลยุทธ์จากนี้ของบริษัทในเครือคือการ เจาะตลาดแมส และเพิ่ม Accessibility การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้นด้วยช่องทางการจำหน่ายและพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย

โดยในส่วนของธุรกิจฝั่งอีคอมเมิร์ซ เริ่มจาก RS LiveWell ปีนี้เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด 19 SKUs ภายใต้แบรนด์ well u และ Vitanature+ ปี ในหมวดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว นอกจากนี้ สินค้าบางส่วนยังได้จับมือพันธมิตรเพื่อขยายช่องทางไปสู่ Specialty Store และ Duty Free เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่ RS Mall ก็จับมือกับพันธมิตรหลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ สถาบันการเงิน โรงพยาบาล คลินิก และบริษัทประกันชั้นนำ เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่

ส่วน RS Connect ธุรกิจขายตรง ได้เพิ่มบิสซิเนสโมเดลใหม่ ได้แก่ ปิ่นโต สำหรับจำหน่ายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพแบบ Subscription และโมเดลธุรกิจ PROMPT เพื่อจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มพันธมิตรที่น่าสนใจผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนแบรนด์ De Beste (เดอร์ เบสส์เต) จะเปิดระบบตัวแทนออนไลน์ (Online Marketing)

ต่อยอดไลฟ์เมตสู่ธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร

จากที่ปี 2021 บริษัทได้ชิมลางออกแบรนด์ Lifemate ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เกิดจากแพชชั่นส่วนตัวของเฮียฮ้อเอง โดยในปีนี้เฮียฮ้อก็ได้แตกออกมาเป็น บริษัท อาร์เอส เพ็ท ออล จำกัด เพื่อทำธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ประกอบด้วยโรงงานผลิตอาหารสัตว์ รีเทลสัตว์เลี้ยง สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจเวลเนสสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย

ส่วนสินค้าภายใต้แบรนด์ Lifemate ก็มีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 22 SKUs ในหมวดอาหารกลุ่ม Specialty Food, สแน็คสำหรับสุนัขและแมว และผลิตภัณฑ์ดูแลทำความสะอาด อีกทั้งยังเตรียมขยายช่องทางการจำหน่ายไปยัง Modern Trade และตลาดต่างประเทศ

ช่อง 8 นำเสนอภูธรมาร์เก็ตติ้ง

อย่างในส่วนของ RS Multimedia ที่ประกอบด้วยช่อง 8 จะนำเสนอ ภูธรมาร์เก็ตติ้ง เน้นฐานผู้ชมต่างจังหวัดที่เป็นตลาดแมส ซึ่งถือเป็นฐานแฟนคลับชั้นดีของช่อง โดยปีนี้จะมีละครใหม่ที่ถูกจริตกับคนกลุ่มนี้ เสริมด้วยซีรีส์อินเดีย จีน เกาหลี เพื่อสร้างความแตกต่างและช่วยให้เข้าถึงเป้าหมายที่กว้างขึ้น นอกจากนี้จะเพิ่มรายการ มวย 4 รายการ เพื่อรักษาตำแหน่งเบอร์ 1

นอกจากนี้ จะผลิต คอนเทนต์ออนไลน์ของช่อง 8 โดยจะมีรายการใหม่ ๆ จับกลุ่ม Young Gen ส่วนของ COOLfahrenheit จะทำให้ครบทั้ง ออนแอร์ ออนไลน์ ออนกราวด์ โดยขยายช่องทางเข้าถึงจากแค่ FM 93 และ แอปพลิเคชัน COOLISM ให้สามารถฟังได้ผ่านสตรีมมิ่ง เช่น Joox, Siri, Apple Music, Google Home และ Google Assistant นอกจากนี้ ยังมีด้วยกิจกรรมโดนใจ อาทิ COOL Outing และ COOLive วางแผนจัด 4 คอนเสิร์ตใหญ่ และ 4 เฟสติวัล

คัมแบ็กตลาดเพลงในรอบ 15 ปี

อีกธุรกิจที่น่าจับตาสำหรับฝั่งคอนเทนต์ก็คือ RS Music ที่ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มเห็นขาลงของธุกิจเฮียฮ้อก็ได้พักเอาไว้ แต่ปัจจุบันเฮียฮ้อมองว่า New Wave ของ Music กลับมาแล้ว ดังนั้น ตั้งแต่ปีนี้เฮียฮ้อจะกลับมาทำธุรกิจเพลงเต็มรูปแบบเหมือนในอดีต ผ่านค่ายเพลงในเครือซึ่งประกอบด้วย RSIAM, kamikaze และ RoseSound

สำหรับไฮไลต์สำคัญของปีจะมี 2 โปรเจกต์ใหม่ ได้แก่

  • RS Homecoming: ที่จะนำศิลปินเก่ากลับมาอีกครั้ง
  • RS Newcomers: ที่จะปลุกปั้นศิลปินใหม่ โดยจะมีรายการใหม่ vibe house เป็นรายการหาศิลปินหน้าใหม่ vibe square จัดงานอีเวนต์คอนเสิร์ตภายใต้บริษัท โฟร์ท แอปเปิ้ล

“รายได้ใหญ่สุดของธุรกิจเพลงในอดีตมันมาจากยอดขายแผ่นยอดขายเทป พอรายได้ส่วนนี้มันลดลงถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่ามันไม่ใช่ธุรกิจที่เหมาะสม ตลอดที่ผ่านมาเรายังทำแต่แค่ลดลง ซึ่งตอนนี้เราเห็นการเติบโตทางดิจิทัลที่มีนัยสำคัญ และเรามองภาพต่างจากอดีต เพราะแม้รายได้ตอนนี้อาจไม่สูงเท่าเดิมแต่มันไม่มีต้นทุน และทำเงินได้ตั้งแต่เริ่มหาศิลปิน ดังนั้น ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว น้ำขึ้นเราควรจะกลับมาจับปลา”

อย่างไรก็ตาม เฮียฮ้อยังไม่ได้เปิดเผยถึงส่วนของ RS Music มากนัก แต่ระบุว่า จะเห็นความชัดเจนเพิ่มขึ้นภายในไตรมาส 1 โดยเฉพาะเรื่องของ พาร์ตเนอร์ ที่จะมาร่วมกับอาร์เอส โดยเฮียฮ้อทิ้งท้ายถึงตลาดเพลงในปัจจุบันว่า อาร์เอส ไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่ง เพราะตลาดเปลี่ยนไป ทุกคนสามารถ อยู่ร่วมกันหรือสามารถจับมือกันสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และมั่นใจว่าสิ่งที่อาร์เอสมีแต้มต่อก็คือ ความเชี่ยวชาญ ความมีประสบการณ์เพลงกว่า 20,000 เพลง

“วันนี้รายได้จากดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำรายได้ให้เราแข็งแรง ซึ่งธุรกิจเพลง 3 ปีจากนี้มีโอกาสที่จะทำรายได้ 1,000 ล้านเหมือนในอดีต โดยปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่ 400 ล้านบาท”

วางเป้า 5,500 ล. พร้อมตั้งสายงานใหม่ Media & Marketing

นอกจากฝั่งอีคอมเมิร์ซและคอนเทนต์ อาร์เอสกรุ๊ปมีส่วนของการทุนก็คือ R Alliance สำหรับการทำ M&A และ JV โดยปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุนในปีนี้ 2-3 ดีล ภายใต้งบลงทุนไม่เกิน 600 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้มีการตั้งสายงานใหม่ Media Sell and Marketing ดูแลการซื้อสื่อและการทำการตลาดแบบ one stop service ครอบคลุมและเชื่อมโยงสื่อและบันเทิงในทุกธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ป ช่วยให้การซื้อสื่อโฆษณาและการทำการตลาดของลูกค้ามีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

สำหรับรายได้ของปี 2023 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 5,500 ล้านบาท โดยมาจาก ธุรกิจคอมเมิร์ซ 3,100 ล้านบาท (RS LiveWell 1,800 ล้านบาท, RS Connect 900 ล้านบาท และ RS Pet All 400 ล้านบาท) และ ธุรกิจมีเดียและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ 2,400 ล้านบาท (RS Multimedia 1,450 ล้านบาท, RS Music 400 ล้านบาท และอีเวนต์-คอนเสิร์ต 550 ล้าบาท) และในช่วง 3 ปีจากนี้ต้องการให้ภาพรวมทั้งหมดเติบโตปีละ 30-40%

60 แต่ยังไม่วางมือ

เฮียฮ้อทิ้งท้ายว่า ตนเองเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 19 จนปัจจุบันอายุ 60 แต่ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายที่สุดที่อาร์เอสก่อตั้งมาและท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงานของเฮียฮ้อ เพราะมีแผนที่จะทำให้มาร์เก็ตแคปบริษัทรวม 1 แสนล้านบาท ถือเป็นฝันที่ใหญ่แต่ไม่ใช่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ซึ่งตอนนี้เฮียฮ้อย้ำว่าตอนนี้ยังคงสนุกกับการทำงาน ดังนั้น ยังไม่มีแผนจะวางมือแน่นอน

“โหดสุดสำหรับเฮียคือ 5 ปีในธุรกิจเพลงที่เราขาดทุนต่อเนื่อง เป็นช่วงที่ยากที่สุดที่ต้องขายโรงงานผลิตซีดีทิ้ง แต่ก็ทำให้เรากล้าที่จะทรานซ์ฟอร์ม กล้าจะลองทำอะไรใหม่ ๆ ทั้งธุรกิจกีฬา ธุรกิจทีวี ธุรกิจคอมเมิร์ซ ทำให้เราได้บทเรียนดี ๆ สำหรับเฮียแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ยอมแพ้ ไม่กลัวความล้มเหลว และเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ มันทำให้เราล้มก็ต้องรับให้ได้ เรียนรู้กับมัน และการที่ไม่หยุดคิดและฝัน ทำให้เราไม่ยึดติดกับความสำเร็จ จะเห็นว่าอาร์เอสมีความหลากหลายมันสะท้อนว่าเราไม่หยุดที่จะหาสิ่งใหม่ ๆ

]]>
1415743
กางโมเดล RS Music ธุรกิจเพลงยุคใหม่ของ “เฮียฮ้อ” ศิลปินลงทุนเอง ต้องเป็น Influencer https://positioningmag.com/1307500 Tue, 24 Nov 2020 17:05:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307500 “เฮียฮ้อ” ประกาศปัดฝุ่นธุรกิจเพลง RS Music โดยอยู่ภายใต้โมเดลใหม่ Music Star Commerce เปิด 3 ค่ายเพลง พร้อม 9 ศิลปินใหม่ RS ยุคใหม่ ศิลปินต้องลงทุนเอง และต่อยอดเป็น Business Partner ขายของต่อได้

ไม่ได้หายไป กลับมารุกใหม่ในจังหวะที่ใช่

เชื่อว่าหลายคนต้องมีประสบการณ์ และเติบโตมากับเพลงของ RS เรียกว่ายุคหนึ่งเป็นช่วงที่เพลง RS ครองเมือง ในตอนนี้ก็ยังย้อนวัยกลับไปฟังได้ ในยุคที่รุ่งเรืองขีดสุด RS เคยมีศิลปินในค่ายถึง 400 คน แต่ในตอนนั้นโจทย์ของธุรกิจยังเน้นในเรื่องธุรกิจเพลง

แต่เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป RS ได้เริ่มปรับโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์การแข่งขันของโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อ เพลง ปรับโมเดลเข้าสู่ “คอมเมิร์ซ” เต็มตัว ทำให้ธุรกิจเพลงเริ่มลดบทบาทลง จนเหลือแค่ธุรกิจอีเวนต์ และเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่ยังมีค่ายเพลงอาร์สยามที่ยังคงแอคทีฟอยู่ค่ายเดียว

จนในปีนี้เรียกว่าเป็นปีที่เหมาะเจาะที่ RS จะปัดฝุ่นธุรกิจเพลง กลับมารุกครั้งใหญ่อีกครั้ง เปิดตัว 3 ค่ายเพลง RoseSound, Kamikaze และ RSIAM ภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ Music Star Commerce เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ศิลปิน และสอดคล้องกับธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปในปัจจุบันที่เน้นในเรื่องคอมเมิร์ซ

เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

“จริงๆ เราไม่เคยหยุดธุรกิจเพลง ไม่เคยหายไป เพลงยังเป็นต้นน้ำ เป็นรากฐานของ RS เพียงแต่มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ปีนี้กลับมารุกอย่างจริงจังมากกว่า ภายใต้โมเดล Music Star Commerce การทำเพลงไม่ใช่เรื่องยาก เราอยู่กับมันมาขนาดนี้ แต่อยู่ที่จังหวะว่าเมื่อไหร่ควรทำมากทำน้อย อยู่ที่การตัดสินใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ อยู่ที่โจทย์ในตอนนั้น”

เฮียฮ้อมองว่า RS Music จะเป็นธุรกิจเพลงยุคใหม่ ที่ได้ปรับให้เข้ากับโมเดลธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ปในตอนนี้ มีการจัดโครงสร้างที่เหมาะสม มีทีมงานราว 20-30 คน มี 3 ค่ายเพลง กับ 9 ศิลปินใหม่ ถือว่าเพียงพอ และกำลังมีแผนเพิ่มในอนาคต เพียงแต่ต้องตอบโจทย์ธุรกิจในตอนนั้น

“แม้ตอนนี้คอมเมิร์ซจะเป็นธุรกิจหลัก แต่ธุรกิจเพลงไม่เคยขาดหายไป เพียงแต่เข้าไปอยู่ในแผนการเติบโตของ Entertainmerce การมาของ RS Music จึงถูกจังหวะ สร้างความท้าทายใหม่ เป็น RS ในยุคใหม่”

โมเดลใหม่ ศิลปินลงทุนเอง ปั้นสตาร์เป็น Business Partner

การเปิดตัว 3 ค่ายเพลง เป็นการเอากลิ่นอายเดิมๆ ของ RS มาปัดฝุ่นใหม่ แถมยังเอาค่ายดั้งเดิมอย่าง RoseSound กลับมาด้วย โดยที่ศิลปินใหม่ 9 คน ก็เป็นหน้าใหม่แกะกล่อง ไม่มีศิลปินเก่าเลย ส่วนแนวเพลงของแต่ละค่าย จะแยกตามไลฟ์สไตล์

โฬม อาร์สยาม
โฬม อาร์สยาม

RSIAM (อาร์สยาม) ปรับโฉมค่ายเพลงลูกทุ่ง ให้มีความ Mass Music มีศิลปินใหม่ 1 คน ได้แก่ โฬม อาร์สยาม

RoseSound (โรสซาวด์) แนวเพลง Trendy Music กับ 4 ศิลปิน ริศา, ติม, ดนุมาร์ค และมิวสิค

Kamikaze (กามิกาเซ่) แนวเพลง POP Music กับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ GRACY, KKP, UTTER และ FRESHYBII 

ในศิลปิน 9 คนนี้ มีการเซ็นสัญญาทั้งหมด 8 ปี ตัวเลข 9 คนนี้เฮียฮ้อมองว่าไม่ได้น้อยไป เพราะไม่ได้มองที่ปริมาณ แต่มองที่ว่าสามารถตอบโจทย์ธุรกิจ และโมเดลได้หรือไม่

โดย RS Music ยุคนี้ก็มาพร้อมกับโมเดลใหม่ นั่นคือ ให้ศิลปินทุกคนลงทุนทำเพลงเอง ไม่ว่าจะเป็นโปรดักชั่นต่างๆ ทำ Music VDO เสื้อผ้า หน้าผม เพียงแต่ทาง RS จะเป็นผู้บริหารจัดการให้ ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ทำให้ศิลปินมีความเสี่ยงน้อย และทำการตลาดให้ ใช้จุดแข็งจากการเป็นค่ายใหญ่

เฮียฮ้อเล่าว่าถ้าเป็นโมเดลแบบสมัยก่อนที่ทางค่ายลงทุนทำเพลงให้ศิลปิน มีต้นทุนเฉลี่ย 3-5 แสน/เพลง ตอนนี้ก็อยู่ในราคานี้ เพียงแต่ทางศิลปินลงทุนเองทั้งหมด ทางค่ายจะเป็นคนบริหารจัดการ ทำการตลาด แต่ถ้ารวมมูลค่าในการปั้นศิลปินแต่ละคนนั้น เฮียฮ้อบอกว่ามูลค่าหลายล้าน แต่ตอนนี้ใช้แค่ไม่กี่แสนเท่านั้น ทำเพลงแล้วลงโซเชียล มีเดียก็ได้แล้ว

รวมไปถึงศิลปินจะต้องต่อยอดกับโมเดล Music Star Commerce ได้ ในอนาคตอาจจะเชื่อมโยงกับสินค้าของ RS Mall หรือเปิดตัวสินค้า เป็น Business Partner ร่วมกันก็ได้ เพราะศิลปินแต่ละคนมีแพลตฟอร์ม และมีแฟนเพลงเป็นของตัวเอง

“ในอดีตเราจะคุยกันว่าเราจะสร้างศิลปินเป็นนักร้อง ซูเปอร์สตาร์ แต่ตอนนี้เราบอกว่าปลายทางเราต้องการให้เป็น Business Partner กัน อาจจะเป็นนักร้องดังด้วย และมีธุรกิจที่เป็นหุ้นส่วนด้วย” 

FRESHYBII
FRESHYBII

บอกลาบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป

จะเห็นว่าคาแร็กเตอร์ของศิลปิน RS ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในตำนานยุค 90 หรือค่ายเพลงรุ่นใหม่อย่าง Kamikaze ล้วนมีส่วนประกอบของวงที่เป็นบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ปค่อนข้างเยอะ มีหลายวงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ศิลปินใหม่ของ RS Music ในยุคนี้ไม่มีที่เป็นวงเลย มีแต่ศิลปินเดี่ยว

เมื่อยิงคำถามนี้ เฮียฮ้อได้ให้คำตอบว่า “อยู่ที่โจทย์” ถ้ามีวงบอยแบนด์ หรือเกิร์ลกรุ๊ปที่สามารถเข้าระบบ และตอบโจทย์โมเดลนี้ได้ ก็อาจจะได้เห็น เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีตรงโจทย์ เลยมีแค่ศิลปินเดี่ยว

เฮียฮ้อได้เล่าถึงหลักการเลือกศิลปินของ RS Music ยุคใหม่เพิ่มเติม ตอนนี้มุมมองจะแตกต่างจากเดิม ไม่ใช่แค่มีความสามารถ แต่ต้องมีไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนด้วย สามารถเป็น Influencer ได้

“หลักการเลือกศิลปินในตอนนี้จะมีความแตกต่างจากเดิมมาก การสร้างศิลปินจะต้องมองมากกว่าที่เคยมอง แต่ก่อนมองแค่ว่ามีความสามารถ การแสดงดี ร้องเพลงดี บุคลิกดี ตอนนี้โมเดลใหม่ต้องเน้นไลฟ์สไตล์ชัดเจน มีตัวตน มีชีวิตส่วนตัวน่าสนใจ เป็นคนอยู่ในโลกโซเชียล เป็น Influencer ได้”

ในส่วนของศิลปินเก่า ตอนนี้ RS ยังมีศิลปินค่าย RSIAM ที่ยังอยู่ในสัญญารวม 20 คน ซึ่งศิลปินเก่าจะกลับมาทำตลาดในมุมของการทำอีเวนต์ และคอนเสิร์ต มากกว่าการทำเพลงใหม่

หวังปั๊มรายได้จากเพลงเติบโตขึ้น

ในเรื่องของรายได้นั้น เฮียฮ้อก็หวังที่จะมีรายได้จากธุรกิจเพลงเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบของการชมในโซเชียลมีเดีย สตรีมมิ่ง งานแสดง กิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงพรีเซ็นเตอร์

GRACY
GRACY

โมเดลการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเพลงจะมี 3 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่

Music Star Commerce เพลงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง ต่อยอดศิลปินให้เป็น Business Partner

– การบริหาร asset ทั้งหมด อาทิ การฟังเพลงผ่านระบบดิจิทัล การบริหารศิลปินในค่าย การขายลิขสิทธิ์เพลง รวมถึงการจัด event และ concert

– การทำโปรเจกต์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ เพื่อทำให้เกิดคอนเทนต์ใหม่ๆ เช่น การทำ Project “RS X JOOX GENERATION JOOX” ที่นำเอาเพลงระดับตำนานของอาร์เอส มาให้ศิลปินที่อยู่ในกระแสปัจจุบันมาตีความ

ปัจจุบันธุรกิจเพลงสร้างรายได้สัดส่วน 7% หรือราวๆ 200 ล้านบาท เฮียฮ้อบอกว่าในยุคหนึ่งที่ธุรกิจเพลงรุ่งเรืองมากๆ เคยมีสัดส่วนรายได้จากเพลงถึง 90%

ต้องจับตาดูว่า โมเดลธุรกิจเพลงยุคใหม่ของ RS จะเวิร์กหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ และ Disrupt วงการเพลง และปรับตัวให้เข้ากับโมเดลธุรกิจของตัวเองให้มากที่สุด

]]>
1307500