Swensens – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 11 Sep 2024 08:08:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะลึก ‘สเวนเซ่นส์ ตลาดต้นตาล ขอนแก่น’ รีจินัล แฟล็กชิปแห่งแรกของแดน ‘อีสาน’ ที่ย้ำว่า มากกว่ารสชาติ คือประสบการณ์ https://positioningmag.com/1489336 Tue, 10 Sep 2024 11:48:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489336 หากพูดถึงแบรนด์ สเวนเซ่นส์ เชื่อว่าในไทยไม่มีใครรู้จักแน่นอน เพราะด้วยจำนวนสาขากว่า 345 สาขา ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด แม้ว่าสเวนเซ่นส์จะเป็นผู้นำในตลาดไอศกรีม แต่เพราะการแข่งขันที่สูง ทำให้แบรนด์จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ แต่ต้องขยับอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการมีอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่น สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป สโตร์ สาขาล่าสุดที่เปิดในแดนอีสานเป็นครั้งแรก

ชาเลนจ์ของผู้นำ คือไม่มีคนให้ตาม

แม้ว่า พิษเศรษฐกิจ อาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาด ไอศกรีม มากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่เน้นเรื่องของ Emotional แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความยาก โดยเฉพาะในเรื่องของ การแข่งขัน ดังนั้น จะเห็นว่ามีหลายแบรนด์ที่ล้มหายตายจากไป ส่วนแบรนด์หน้าใหม่ก็ตบเท้าเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์เล็ก ๆ ก็ตาม

ในมุมของ สเวนเซ่นส์ แม้ว่าแทบจะไม่เหลือคู่แข่งใน ระดับเดียวกัน แต่ ณพล ศิริมงคลเกษม Head Of Brand – Swensen’s ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่า ความท้าทายไม่ได้หายไป เพราะต้องแข่งกับความคาดหวังของผู้บริโภคที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ 

“โลกเปลี่ยนไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือชาเลนจ์ ว่าเราจะตามให้ทันได้ยังไง ต้องวิ่งให้ทันโลกที่เร็วข้ึน เพราะผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้น ซึ่งมันต่างจากการเป็นเบอร์ 2 เพราะเราไม่มีคนให้วิ่งไล่ตาม แต่ต้องคิดทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อรักษาตำแหน่งเบอร์ 1” ณพล กล่าว

One size fit all ไม่มีอีกแล้ว

หนึ่งในจุดที่สเวนเซ่นส์หยุดไม่ได้ก็คือ การออกโปรดักส์ใหม่ ๆ เพื่อตอบรับต่อความต้องการลูกค้า ดังนั้น ในแต่ละปี  สเวนเซ่นส์มีสินค้าใหม่เกิน 100 SKU เรียกได้ว่า มีเมนูใหม่แทบทุกเดือน ตั้งแต่ตามซีซันนอล อาทิ ไอศกรีมมะม่วง, มะพร้าว, ทุเรียน หรือการออกสินค้าอื่น ๆ เช่น โทสต์ แพนเค้ก ที่มีความเป็นคาเฟ่ เพื่อจับกลุ่มวัยรุ่น

“ลูกค้าเรายังเป็นผู้หญิงคิดเป็น 70% และเป็นกลุ่ม Family with kids ดังนั้น โปรดักส์ดีไซน์อาจจะยังต้องใช้อินไซต์คนกลุ่มนี้เป็นหลัก แต่ต้องยอมรับว่ายุคนี้ไม่ใช่ One size fit all ดังนั้น เราก็จะทำโปรดัสก์ที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น”

อีกจุดที่สเวนเซ่นส์ทำเพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างแบรนด์เลิฟก็คือ โมเดลร้านพิเศษ โดยปัจจุบันแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่

  • Concept Store เป็นสาขาที่มีการดีไซน์ให้เข้ากับสถานที่นั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ กาดฝรั่ง จ.เชียงใหม่, แอท เอกมัย และท่ามหาราช
  • Regional Flagship Store เป็นสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลน ที่จะดีไซน์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของจังหวัดนั้น ๆ ปัจจุบันมี 7 สาขา ได้แก่ ภูเก็ต, ยะลา, น่าน, พิษณุโลก, นครศรีธรรมราช, สงขลา และล่าสุด ขอนแก่น

รู้จัก ‘สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป ขอนแก่น’

สำหรับ สเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป สาขาตลาดต้นตาล จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นสเวนเซ่นส์ รีจินัล แฟล็กชิป แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน และใหญ่ที่สุดในจังหวัด ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 278 ตารางเมตร ทั้งหมด 116 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนกว่า 10 ล้านบาท 

แน่นอนว่าสาขารีจินัล แฟล็กชิปจะต้องผสมผสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นลงไปในการออกแบบ ดังนั้น โครงสร้างด้านนอกจึงถูกออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ ลอมข้าว ซึ่งเป็นการฟ่อนข้าวที่เกี่ยวแล้วนำไปกองรวมกันไว้กลางลานดิน และ กูบเกวียน พาหนะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในภาคอีสาน และอีกเอกลักษณ์ที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของแฟล็กชิปสโตร์ คือ โคมไฟทิฟฟานี ที่นำมาดีไซน์ร่วมกับ แคนแก่นคูณ ดอกไม้และสัญลักษณ์ประจำจังหวัดขอนแก่นมาดีไซน์เข้าด้วยกัน ซึ่งตัวโคมไฟก็จะเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในแฟล็กชิปสโตร์ทุกสาขา 

ส่วนดีไซน์ภายในคำนึงถึงลูกค้าของสเวนเซ่นส์ และเปรียบเสมือน Dessert Destination สำหรับลูกค้า จึงมีทั้งการออกแบบที่นั่งที่ให้บริการแบบครอบครัว หรือมากันแบบเป็นแก๊งเพื่อน นอกจากนี้ ยังมี ภูเวียงไดโน่ โรตี ซันเด เซต มนูใหม่เฉพาะแฟล็กชิปสโตร์สาขาแรกแห่งขอนแก่น ที่จะท็อปด้วย ตุ๊บตั๊บ ของดีพื้นถิ่นจังหวัดขอนแก่น และ คุกกี้รูปไดโนเสาร์ โดยจะเสิร์ฟเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกเท่านั้น

รีจินัล แฟล็กชิปจะมีแค่ 10 สาขาเท่านั้น

ณพล อธิบายว่า กลยุทธ์ของการทำรีจินัล แฟล็กชิปสโตร์ ก็คือ ต้องการให้เป็น Destination ของจังหวัดหรือภูมิภาคนั้น ๆ ที่ต้องไป อย่างไรก็ตาม ทางสเวนเซ่นส์วางแผนที่จะเปิดเพียง 10 แห่งเท่านั้น โดยคาดว่าจะจะมีสาขาใหม่เพียง ปีละ 1 สาขา และจะเป็นโมเดล แฟรนไชส์ทั้งหมด เพราะมองว่าคนโลคอลจะมีความรู้จักกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่ได้ดีกว่า

“มันเปิดไม่ได้ง่าย เราเลยคิดว่าคงมีไม่เกิน 10 เพราะต้องเป็นจังหวัดใหญ่ มีเอกลักษณ์ชัด ต้องดูกำลังซื้อ และเพราะเป็นสแตนด์อะโลนก็ยิ่งต้องคิดเยอะ นอกจากนี้ ต้องหาดีไซเนอร์ที่จะมาผสมวัฒนธรรมของแต่ละที่ เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ที่แตกต่างจริง ๆ” 

ทั้งนี้ ยอดการใช้จ่ายของสาขารีจินัล แฟล็กชิปจะใกล้เคียงกับสาขาปกติ เพราะราคาสินค้าเท่ากันทั่วประเทศ แต่ที่ มากกว่าก็คือ จำนวน ทราฟฟิก ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% เช่นเดียวกันกับยอดขายที่เพิ่ม 20-30% เช่นกัน

มั่นใจสเวนเซ่นส์ยังโตได้อีก

ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา สเวนเซ่นส์สามารถเติบโตได้ 5-10% โดย ณพล เชื่อว่า ยังมีช่องว่างให้เติบโต ปัจจุบัน สเวนเซ่นส์ในไทยมีสาขาทั้งสิ้น 345 สาขา โดย 60% เป็นแฟรนไชน์ อีก 40% เป็ยการลงทุนเอง โดยแต่ละปีมีการขยายสาขาอยู่ที่ 10-15 สาขา โดยจะเน้นไปที่แฟรนไชส์ และเปิดตามการขยายตัวของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ 

“เพราะคนไทยยังมีวัฒนธรรมที่ว่า กินคาวต้องกินหวาน ดังนั้น เราไม่ได้มองว่าของหวานเป็นตัวเลือกแรกที่ถูกตัดทิ้งในช่วงที่กำลังซื้อไม่ดี ดังนั้น เรายังเชื่อว่าสเวนเซ่นส์ยังโตได้ ตลาดไอศกรีมยังโตได้”

 

]]>
1489336
“สเวนเซ่นส์” จับกระแสครัวซองต์ฟีเวอร์ ปั้น Sweet Aholic ป๊อปอัพสโตร์คาเฟ่สุดมินิมัล https://positioningmag.com/1311460 Mon, 21 Dec 2020 14:25:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311460 บิ๊กมูฟครั้งใหญ่ของแบรนด์ “สเวนเซ่นส์” แตกแบรนด์ใหม่เป็นครั้งแรก Sweet Aholic by Swensen’s คอนเซ็ปต์คาเฟ่ขนมหวาน โมเดลป๊อปอัพสโตร์ จับกระแสครัวซองต์ฟีเวอร์ มาเนรมิตเป็นคาเฟ่ขนมหวานสุดชิค ประเดิมโลเคชั่นแรกที่สามย่านมิตรทาวน์ เอาใจสาวกคาเฟ่ฮอปเปอร์

ปั้นแบรนด์ใหม่ หวังขยายฐานสู่กลุ่มวัยรุ่น

ต้องบอกว่าตลาดขนมหวานในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการแข่งขันสูงมาก ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย จากเดิมที่มีแค่ไอศกรีมเป็นที่นิยม แต่ตอนนี้มีขนมหวานหลากหลาย แถมยังมีคาเฟ่เล็กๆ ทั่วเมือง เพื่อเป็นพื้นที่แฮงก์เอาต์ของกลุ่มคาเฟ่ฮอปเปอร์ด้วย

ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ “สเวนเซ่นส์” ต้องปรับตัวยกใหญ่ มีการปรับทัพที่จะมีแค่ไอศกรีมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องครอบจักรวาลขนมหวาน เพื่อที่จะเอาใจผู้บริโภคให้ได้ครบทุกกลุ่ม สามารถมาทานได้ตลอด ไม่ได้จำกัดแค่เมนูไอศกรีม

อีกหนึ่งความท้าทายของสเวนเซ่นส์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การขยายฐานสู่กลุ่มใหม่ๆ ให้มากขึ้น จากปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์ 80% เป็นกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก หลายครอบครัวเลือกมาที่ร้านเพื่อที่จะเป็นพื้นที่สังสรรค์ของครอบครัว

การพัฒนาเมนูเอาใจวัยรุ่นอย่างเดียวคงไม่พอ งานนี้สเวนเซ่นส์งัดคัมภีร์สร้างแบรนด์ลูกอย่าง Sweet Aholic by Swensen’s หวังเจาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เป็นสายคาเฟ่ ชอบเช็กอินร้านกาแฟ ร้านขนมหวาน ตอกย้ำความเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดขนมหวาน

คอนเซ็ปต์ของ Sweet Aholic by Swensen’s เป็นคาเฟ่ขนมหวานในสไตล์มินิมัล เน้นโทนสีเอิร์ทโทนให้ดูละมุน แต่เป็นโมเดล “ป๊อปอัพสโตร์” บนพื้นที่ 60 ตารางเมตร จะอยู่เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพื่อสร้างความตื่นเต้น แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค ประเดิมโลเคชั่นแรกที่สามย่าน มิตรทาวน์ เป็นทำเลเดียวกันกับที่มีร้านสเวนเซ่นส์สาขาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง

อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มเล่าว่า

“ตอนนี้ตลาดขนมหวานมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก มีคาเฟ่เกิดขึ้นมากมาย กลุ่มลูกค้าของสเวนเซ่นส์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว จึงทำแบรนด์ใหม่มาเจาะลูกค้าที่เด็กลงโดยเฉพาะ ร้านสไตล์คาเฟ่มินิมัล เชื่อว่าร้านนี้จะมาเติมพอร์ตให้สเวนเซ่นส์แข็งแรงด้วย”

เบื้องหลังการคิดโปรเจกต์นี้ คิดเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องกล้าทำแบรนด์ใหม่ กล้าตัดสินใจที่จะฉีกจากกรอบ ฉีกเพื่อจะเรียนรู้ และต้อง Move Fast Fail Fast คิดแบบสตาร์ทอัพ ถ้าประสบความสำเร็จก็ขยายต่อ แต่ถ้าผลตอบรับไม่ดี ก็เรียนรู้ปรับปรุงกันไป

ส่วนที่มาของชื่อ Sweet Aholic by Swensen’s มาจากความเชื่อที่ว่าของหวานเป็นอะไรที่สร้างความสุขให้คน จึงอยากทำร้านที่คนมาแล้วมีความสุข เกิดเป็นคำ Sweet Aholic แล้วต่อท้ายด้วย by Swensen’s เพื่อฉีกจากกรอบของแบรนด์สเวนเซ่นส์ไปเลย

จับกระแสครัวซองต์ฟีเวอร์ สู่เมนูคู่ไอศกรีม

อีกหนึ่งคอนเซ็ปต์ที่สำคัญของ Sweet Aholic by Swensen’s ที่น่าสนใจก็คือเมนูภายในร้าน จะแตกต่าง และไม่เหมือนกับของสเวนเซ่นส์โดยสิ้นเชิง เน้นเมนูขนมหวาน ประเดิมด้วยเมนู “ขนมครัวซองต์ฝรั่งเศส” เรียกว่าเป็นเมนูที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในขณะนี้ เป็นการพัฒนาสูตรเอง พร้อมกับมีเมนูที่ทานคู่กับไอศกรีมจากสเวนเซ่นส์ด้วย

เหตุผลที่ทางสเวนเซ่นส์เลือกครัวซองต์มาเป็นเมนูไฮไลต์นั้น ง่ายๆ เลย “ครัวซองต์เป็นเทรนด์อยู่ในขณะนี้” ฮิตถึงขนาดที่ว่าติดเทรนด์ในทวิตเตอร์เลยทีเดียว

ทาง ณพล ศิริมงคลเกษม” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด บอกว่าครัวซองต์เป็นเทรนด์เบเกอรี่ยอดนิยม ตอนนี้หลายคาเฟ่ทำกันเยอะ อีกทั้งยังทานกับไอศกรีมได้ง่าย ต้องการพัฒนาเมนูแบบที่ว่าหาทานที่อื่นไม่ได้

เมนูครัวซองต์ของร้าน Sweet Aholic by Swensen’s จะมีด้วยกัน 3 กลุ่ม ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 69-129 บาท

Simply Serve ครัวซองต์เนยสด ราคา 69 บาท

Colorful (fill) your Happiness ครัวซองต์สอดไส้หลากรสชาติ ได้แก่ ครัวซองต์ครีมคัสตาร์ดอัลมอนด์, ครัวซองต์เรดเวลเวทครีมชีส, ครัวซองต์มัทฉะครีมถั่วแดงญี่ปุ่น และครัวซองต์ครีมช็อกโกแลตฟัดจ์ ราคา 89 บาท

Sweet addiction specially for U ครัวซองต์ท็อปอัพด้วยไอศกรีมสเวนเซ่นส์รสดัง ได้แก่ ครัวซองต์ไอศกรีมสตรอว์เบอร์รี่ครีมสด, ครัวซองต์ไอศกรีม มินิ โอรีโอ คุกกี้ แอนด์ ครีม, ครัวซองต์ไอศกรีม คินเดอร์ช็อกโกแลต และครัวซองต์ไอศกรีมวนิลลาพิทาชิโอ ราคา 129 บาท

นอกจากนี้ยังมีเมนูเครื่องดื่มที่มาในรูปแบบของขวดแก้วสุดชิค สามารถทานคู่กับครัวซองต์ร้อนๆ ได้อย่างลงตัว มีทั้งหมด 5 เมนู ได้แก่ ช็อกโกแลตซิกเนเจอร์, ชีสซี่ สตรอว์เบอร์รี่, ชานมซีลอน, ชาพีชสตรอว์เบอร์รี่ และชาสตรอว์เบอร์รี่ ในราคา 59 บาทเท่านั้น

ต้องเป็นป๊อปอัพสโตร์ สร้างความตื่นเต้น

เมื่อดูการดีไซน์ร้านแบบจัดเต็มขนาดนี้ แต่ต้องบอกว่า Sweet Aholic by Swensen’s เป็นโมเดลแบบ “ป๊อปอัพสโตร์” ที่อยู่แค่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่ร้านแบบถาวร จะตั้งที่สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่วันที่ 18-31 ธันวาคม 63 เท่านั้น เนื่องจากต้องการสร้างความแปลกใหม่

ที่สำคัญโมเดลของร้านนี้จะไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะต้องขายแค่เมนูครัวซองต์อย่างเดียวเท่านั้น ได้เปรียบที่สามย่านมิตรทาวน์เป็นโมเดลต้นแบบ หรือ EP1 เท่ากับว่าใน EP ต่อๆ ไปอาจจะมีเมนูอื่นๆ ที่อยู่ในกระแสตอนนั้นก็ได้

ณพล เสริมว่า “ตอนนี้เราดีไซน์ร้านให้เป็น EP ร้านนี้อยู่ใน EP1 เป็นร้านต้นแบบที่จะประเมินผลตอบรับจากลูกค้า ดูสินค้า เทรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภค ใน EP ต่อไปอาจจะมีเมนูขนมหวานอื่นๆ แต่ละที่อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ไม่ได้ปิดกั้น”

ถ้าถามว่าระยะเวลาในการเปิดเพียงแค่ 14 วัน ตั้งแต่ 18-31 ธันวาคม 63 เป็นระยะเวลาที่น้อยไปหรือไม่ ณพลตอบทันทีว่า มันเป็นเสน่ห์ของป๊อปอัพสโตร์ที่อยู่เพียงแค่ชั่วคราว ตั้งใจเปิดในช่วงเทศกาลปีใหม่พอดี และต้องการให้เป็นกระแสตามหา มาถ่ายรูป เช็กอิน เป็น Rare item ที่จะต้องมาเยือนให้ได้

เท่ากับว่าสิ่งที่จะสะท้อนกลับมาหาแบรนด์สเวนเซ่นส์ก็คือ “การรับรู้” ของแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้น การขยายพอร์ตสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้แบรนด์ดูทันสมัย และมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค

สุดท้ายแล้วนี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ของสเวนเซ่นส์ แม้จะถูก Disrupt จากคู่แข่ง หรือผู้บริโภคในตลาด แต่ก็สามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองให้เท่าทันต่อสถานการณ์ได้ แม้การมาของไวรัส COVID-19 ก็ไม่สามารถหยุดการพัฒนาตัวเอง สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับวงการได้อยู่เสมอ

เชื่อว่า Sweet Aholic by Swensen’s จะสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคได้

แต่สำหรับ EP2 หรือทำเลต่อไปจะเป็นที่ไหน ต้องติดตามตอนต่อไป…

Sweet Aholic by Swensen’s พร้อมเสิร์ฟความหวานละมุนให้กับเหล่าลูกค้า ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคมนี้ เฉพาะที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น G เท่านั้น ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ “สเวนเซ่นส์” โทรศัพท์ 02 365 6934

เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/sweetaholicbyswensens

หรืออินสตาแกรม https://www.instagram.com/sweetaholic.cafe/

]]>
1311460
เบื้องหลัง “สเวนเซ่นส์” กาดน่าน มากกว่าขยายสาขา คือการเบลนด์ให้เข้ากับ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” https://positioningmag.com/1290648 Tue, 04 Aug 2020 03:00:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290648
สร้างเสียงฮือฮาบนโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี เมื่อ “สเวนเซ่นส์” ผุดสาขาใหม่ขึ้นที่จังหวัดน่าน เป็นสาขาเดียวของจังหวัด ที่สำคัญคือมีการตกแต่งสไตล์ไทลื้อให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการเดินกลยุทธ์สร้างสาขา Regional Flagship Store ในแต่ละจังหวัด

ปักหมุด Regional Flagship Store

เรียกได้ว่าคงจะเป็นสเวนเซ่นส์สาขาแรก และสาขาเดียวในประเทศไทย ที่ให้ลูกค้าได้ทานไอศกรีมในขันโตกในบรรยากาศล้านนา มีการตกแต่งด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ใครๆ ก็อยากมาเช็กอินกันที่นี่

สเวนเซ่นส์ได้เปิดให้บริการสาขาใหม่ที่ “กาดน่าน” อยู่ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลน่าน ซึ่งการเปิดสาขาในครั้งนี้ไม่ธรรมดาตรงที่เป็นการเปิดในโมเดลสแตนอโลน และมีการตกแต่งแบบมีเอกลักษณ์ตามสไตล์ท้องถิ่น หรือเรียกว่าบ้าน “ไทลื้อ” ตามฉบับชาวน่านแท้ๆ

ให้คำจำกัดความของโมเดลนี้ว่า Regional Flagship Store ที่เคยเปิดสาขาแรกที่ “ภูเก็ตทาวน์” เป็นสาขาสแตนอโลนเช่นเดียวกัน มีการตกแต่งร้านสไตล์ชิโนโคโลเนียลตามแบบฉบับของชาวภูเก็ต เป็นการออกแบบให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ปัจจุบันได้เปิดให้บริการได้เกือบ 2 ปีแล้ว

หลังจากเปิดให้บริการสาขาภูเก็ตทาวน์ก็ได้รับการตอบรับดีจากทั้งนักท่องเที่ยว และคนภูเก็ต กลายเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นที่ดึงดูดคนไปถ่ายรูป ไปทานไอศกรีมได้ สเวนเซ่นส์จึงต่อยอดความสำเร็จของโมเดลนี้ที่จังหวัดอื่น ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างทั้งวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ทำให้ตกลงปลงใจที่จังหวัดน่าน

โดยที่สเวนเซ่นส์ กาดน่านสาขานี้มีพื้นที่ทั้งหมด 350 ตารางเมตร มี 2 ชั้น ที่นั่งทั้งหมด 130 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนราวๆ 10 ล้านบาท เป็นการลงทุนที่มากกว่าร้านปกติ 50% เพราะเป็นสาขาสแตนอโลน และมีการตกแต่งแบบเฉพาะด้วย

ทำไมต้องเป็น “น่าน”

อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด เริ่มเล่าว่า

“หลักการของร้าน Regional Flagship Store คือ จังหวัดนั้นต้องมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ทั้งตึกรามบ้านช่อง คนในท้องถิ่น ที่จังหวัดภูเก็ตมีสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสชัดเจน และที่เลือกจังหวัดน่าน เพราะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีความเป็นชุมชนท้องที่เข้มแข็งมาก คนในชุมชนรักกันมาก สถานที่แต่ละแห่งก็มีความคลุมโทนเพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อก็ไม่มีสีสัน เป็นโทนสีน้ำตาล เป็นจังหวัดที่มีสเน่ห์ ยังเห็นคนน่านแต่งกายพื้นเมืองอยู่ เหมือนที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จังหวัดมรดกโลก ตอนนี้คนชอบไปเที่ยวน่านกันด้วย”

ถ้าจะบอกว่าสเวนเซ่นส์ กาดน่านเป็นสาขาแรกในจังหวัดน่านก็คงไม่ผิดมากนัก เพราะก่อนหน้านี้เคยเปิดสาขาในเทสโก้ โลตัสน่านมาแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จึงปิดให้บริการไปได้ 3 ปีกว่าแล้ว ครั้งนี้จึงเป็นการคัมแบ็กตลาดน่านใหม่ ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม

อนุพนธ์บอกว่า เริ่มไอเดียในการที่จะเปิดสาขาที่กาดน่านตั้งแต่กลางปีที่แล้ว หลังจากเห็นความสำเร็จที่ภูเก็ตจึงต่อยอดไอเดียที่น่าน ในครั้งนี้ได้ใช้เวลาในการศึกษาตลาดในหลายๆ อย่าง ทั้งในเรื่องสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีต่างๆ เข้าไปศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ ศึกษาความเป็นมาของน่าน และยังปรึกษากับ “อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม” นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองน่าน ผู้ประพันธ์ “บทกระซิบรัก” ของปู่ม่านย่าม่าน การออกแบบทุกอย่างต้องส่งในทางอาจารย์สมเจตน์ดูก่อน

“การออกแบบยากกว่าร้านทั่วไปมาก เพราะร้านปกติจะมีฟอร์แมทดีไซน์อยู่แล้ว ร้านแบบนี้จะต้องไปศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ต้องกินทุกร้าน ดูสิ่งก่อสร้าง วิธีการเสิร์ฟ ดูพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องใช้เวลาเยอะกว่า ดีไซเนอร์ต้องเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ มีคนถนัดการออกแบบล้านนาจริงๆ”

ในตอนแรกตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ด้วยติดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 จึงเลื่อนมาเปิดในวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ภายในสาขานี้มีเบื้องหลังวัฒนธรรมของน่าน 5 อย่างด้วยกัน

1. กำแพง น่านเป็นเมืองแปลกที่มีกำแพงต่ำ ที่วัดภูมินทร์ก็มีกำแพงต่ำ เพราะมีความเชื่อว่ากำแพงต่ำแต่ใจคนสูง สาขานี้จึงมีการดีไซน์ให้กำแพงต่ำชนิดที่ว่าคนปีนข้ามได้

2. ไม้สัก แต่ก่อนน่านดังเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ไม้ กับบ่อเกลือ สาขานี้จะเป็นไม้หมดเลย

3. บ่อเกลือ แต่ก่อนหลายเมืองอยากได้น่านเป็นเมืองขึ้น เพราะอยากได้เกลือเปรียบเหมือนทองคำ เพราะในสมัยก่อนเวลาออกศึกจะเอาไปถนอมอาหาร ที่น่านก็มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่สาขานี้มีบ่อเกลือเป็นจุดไว้ให้ถ่ายรูปได้ด้วย

4. การทอผ้า มีวัฒนธรรมเรื่องการทอผ้าไทลื้อ

5. จิตรกรรมภาพกระซิบรักปู่ม่านย่าม่าน เป็นภาพวาดที่คนน่านชอบกัน เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของสาขานี้

มากกว่าขยายสาขา แต่คือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

สเวนเซ่นส์สาขา Regional Flagship Store มี 2 สาขา สาขาแรกที่ภูเก็ตเป็นการลงทุนเองของบริษัท แต่ที่กาดน่านเป็นการลงทุนของแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นการรจับมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพราะต้องการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

อนุพนธ์ให้เหตุผลที่ว่าทำไมถึงเลือกใช้โมเดลแฟรนไชส์ เพราะสาขานี้ต้องการคนท้องถิ่นที่เข้าในวัฒนธรรมจริงๆ ซึ่งน่านเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็งมาก จะผิดพลาดไม่ได้

จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการทำ Regional Flagship Store จึงไม่ใช่แค่การขยายสาขาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไปด้วย ทำเป็นจุดท่องเที่ยว เป็นเดสติเนชั่นที่คนจะมาแวะได้ และต้องเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

“อย่างที่ภูเก็ตมีความชัดเจนเรื่องชิโนโปรตุกีสมาก โลเคชั่นอยู่ใกล้กับภูเก็ตทาวน์ ต่อยอดไอเดียสร้างตึกเป็นแลนด์มาร์ก จริงๆ สาขานั้นเป็นสาขาที่ 10 ในภูเก็ต แต่คนก็ให้การตอบรับดี เชื่อว่าที่สาขากาดน่านจะสร้างอิมแพ็คได้ดีกว่า เพราะเป็นจังหวัดที่เล็กกว่าภูเก็ต คนทั้งจังหวัดรู้จักหมด คนจังหวัดรอบๆ ก็มา เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ได้”

ที่สาขานี้มีการตั้งเป้าผู้ใช้บริการวันละ 500-600 คน/วัน แต่จากที่เปิดให้บริการในช่วง 4 วันแรก มีผู้ใช้บริการเกิน 1,000 คนตลอด โดยตั้งเป้าสัดส่วนลูกค้าเป็น 70% ลูกค้าในท้องถิ่น และ 30% เป็นนักท่องเที่ยว

ถ้าถามถึงแผนในการขยายสาขารูปแบบ Regional Flagship Store อนุพนธ์ทิ้งท้ายว่า ยังไม่มีแผนที่ตายตัว แต่คาดว่าจะเปิดปีละ 1 สาขา แต่ต้องดูคุณภาพเป็นหลัก เพราะต้องเป็นพื้นที่สแตนอโลน มีงบการก่อสร้างสูง มีรายละเอียดเยอะ ที่สำคัญจังหวัดนั้นๆ ต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน และมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง อย่างเช่นจังหวัด “น่าน” นั่นเอง

]]>
1290648
“สเวนเซ่นส์” พลิกเกม! ปรับภาพมากกว่าไอศกรีม ขอครอบจักรวาล “ของหวาน” https://positioningmag.com/1285227 Thu, 25 Jun 2020 16:56:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285227 การปรับตัวครั้งใหญ่ของ “สเวนเซ่นส์” แบรนด์ไอศกรีมในเครือไมเนอร์ฟู้ดฯ ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์จากแค่ร้านไอศกรีม แต่ขอเป็น Dessert Destination มีเมนูของหวานให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ดันยอดขายเดลิเวอรี่ กระตุ้นการทานที่บ้านมากขึ้น

ไม่ได้มีแค่ไอติม แต่ต้องครอบจักรวาลของหวาน

ถ้าพูดถึงแบรนด์ “สเวนเซ่นส์” เป็นแบรนด์ไอศกรีมที่ทำตลาดในไทยมายาวนานนับ 20 ปี อยู่ในตระกูล 1112 ของเครือไมเนอร์ฟู้ด จุดยืนของสเวนเซ่นส์ก็คงหนีไม่พ้นความเป็นร้านไอศกรีม มีแต่เมนูไอศกรีมก็สามารถสร้างความแข็งแกร่งได้แล้ว แต่ต้องบอกว่าแค่ไอศกรีมคงไม่เพียงพอแล้วในการแข่งขันยุคปัจจุบัน…

จุดเปลี่ยนของตลาดมีหลายอย่างด้วยกัน ทั้งคู่แข่งที่เข้ามามากหน้าหลายตา เกิดร้านขนมหวาน ร้านคาเฟ่ใหม่ๆ มากขึ้น กระแสโซเชียลมีเดียทำให้หลายคนอยากไปลองทานร้านขนมใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น พฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไป ชอบทดลองของใหม่ๆ เบื่อง่าย ชอบแชะ ชอบแชร์ลงโซเชียลด้วย

swensens

แน่นอนว่าการเกิดของร้าน After You ขนมหวานแนวใหม่ หรือร้านบิงซูต่างๆ ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนให้สเวนเซ่นส์ไม่น้อย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นการเดินเกมของสเวนเซ่นส์ที่มีการปรับภาพลักษณ์ของตัวเองให้มีมูฟเมนต์มากขึ้น ไม่ได้มีแค่เมนูไอศกรีม สร้างความแปลกใหม่ด้วยเมนูแปลกใหม่ที่ไม่เคยทำ ได้แก่ บิงซู, ฮันนี่โทสต์, ไอศกรีมพาย, บิงซูดริ้งก์, บิงซูเค้ก, ไอศกรีมแท่ง ไปจนถึงขนมปังช็อกโกแลตหน้านิ่ม และขนมปังเนยโคตรโสด

อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด เริ่มเล่าว่า

“ตลาดไอศกรีมอยู่มานานมาก ตอนนี้มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งคาเฟ่เล็กๆ แบรนด์ใหญ่ๆ  คนที่สายป่านไม่ดีก็ล้มหายตายจากไป เหลือแบรนด์ที่มีศักยภาพอยู่ ความท้าทายอยู่ที่ต้องทำยอ่างไรให้ลูกค้ามาร้านถี่มากขึ้น มีความตื่นเต้นขึ้น”

สเวนเซ่นส์ได้วาง Positioning ในตอนนี้ว่า ขอเป็น Dessert Destination โดยที่มีไอศกรีมเป็นเมนูหลัก ทำให้ลูกค้านึกถึงของหวาน จะต้องนึกถึงสเวนเซ่นส์ นั่นคือจะต้องมีเมนูที่ครอบคลุม แต่มีไอศกรีมเป็นหัวใจหลักนั่นเอง

ที่มาของแนวคิดนี้มาจากที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ส่วนใหญ่มาเดินศูนย์การค้ากันเป็นกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว แต่พบว่าในกลุ่มนึงจะมีความสนใจต่างกัน บางคนอยากทานไอศกรีม บางคนอยากทานโทสต์ บางคนอยากทานบิงซู สเวนเซ่นส์จึงต้องขยายโปรดักต์ให้หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่

กลุ่มเด็กจะชอบทานเมนูซันเดย์ที่เป็นเมนูขายดี วัยรุ่น คนรุ่นใหม่จะชอบเมนูใหม่ๆ อย่างบิงซู และผู้ใหญ่จะชอบทานเป็นไอศกรีมเป็นสกู๊ป จับให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย

เดลิเวอรี่โตพุ่ง กระตุ้นการทานที่บ้าน

คำว่าเดลิเวอรี่กลายเป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะเมื่อเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์การค้าต้องหยุดทำการ ร้านอาหารต้องไปบุกเดลิเวอรี่แทน

แม้คำว่าไอศกรีม กับคำว่าเดลิเวอรี่จะดูขัดแย้งกันไปหน่อย เพราะเป็นเมนูที่จะต้องทานที่ร้านเท่านั้น ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เพราะมิเช่นนั้นจะละลายเสียก่อน

แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สเวนเซ่นส์มีการเติบโตในช่องทางเดลิเวอรี่สูงอยู่ตลอด ในเดือนมีนาคมเติบโต 200% เมษายนเติบโต 400% และพฤษภาคมเติบโต 600%

อนุพนธ์บอกว่า เหตุผลที่มีการเติบโตสูง เพราะมีการทำตลาดช่องทางนี้มาหลายปี และตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วได้ตั้งวิสัยทัศน์ใหญ่ไว้ว่า “อยากให้ตู้เย็นทุกบ้านมีไอศกรีมสเวนเซ่นส์” ทำตลาดไอศกรีมควอทที่เป็นกระปุกซื้อกลับบ้าน ทำโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 เพื่อกระตุ้นการซื้อ ลูกค้าก็มีการซื้อท็อปปิ้งเพิ่ม เป็นการสร้างโมเมนต์ทานไอศกรีมที่บ้านได้

แต่เดิมสเวนเซ่นส์จะมีไอศกรีมควอท และเค้กไอศกรีมที่ขายดีในช่องทางเดลิเวอรี่ ในช่วง COVID-19 ได้เพิ่มเมนูซันเดย์ที่เป็นเมนูขายดีประจำร้านเข้าไปเป็นทางเลือก ซึ่งอนุพนธ์บอกว่าท้าทายมาก ในการที่จะทำให้ไอศกรีมซันเดย์สั่งไปที่บ้านแล้วอร่อยเหมือนที่ร้านได้ แต่ก็ดีไซน์ในรูปแบบ DIY ให้ลูกค้าตกแต่งเองได้ ซึ่งซันเดย์มีราคาถูกกว่าควอท เพิ่มโอกาสในการสั่งมากขึ้น มีราคาเริ่มต้นที่ 159 บาท ไอศกรีมควอทราคา 329 บาท และเค้กไอศกรีมราคา 499-855 บาท

“Pain Point ของการส่งไอศกรีมเดลิเวอรี่คือความคิดของลูกค้า เขาจะกังวลว่าส่งถึงบ้านไอศกรีมจะละลายมั้ย การมาทานที่ร้านยังได้บรรยากาศ ได้บริการ แต่พอเจอ COVID-19 ลูกค้าก็ไม่มีทางเลือก ก็ลองสั่งเดลิเวอรี่”

พบว่าการสั่งเดลิเวอรี่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าที่ร้าน เพราะลูกค้าบางคนสั่งสต็อกไว้ มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 400 บาท/บิล ส่วนนั่งทานที่ร้านยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 215 บาท/บิล

ในช่วงสิ้นปี 2019 สเวนเซ่นส์มีสัดส่วนรายได้จากเดลิเวอรี่เพียง 5-6% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 20% ยิ่งในช่วง COVID-19 เพิ่มขึ้นไปถึง 50-60% มีการตั้งเป้าว่าอยากได้สัดส่วนอยู่ราว 20% กำลังดีแล้ว เพราะอย่างไรแล้วลูกค้าก็อยากมามีประสบการณ์ที่ร้าน

24 ชั่วโมงฟีดแบ็กดีจนน่าเซอร์ไพรส์

สำหรับอีกหนึ่งโมเดลของสเวนเซ่นส์ที่มีการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงที่สาขาสามย่านมิตรทาวน์เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวนั้น หลังจากเปิดให้บริการมาหลายเดือนก็ได้รับผลตอบรับดี ตอนนี้กำลังจะกลับไปเปิด 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบในต้นเดือนหน้า

อนุพนธ์เล่าอินไซต์ให้ฟังว่า ตอนแรกคิดว่าใครจะกินไอศกรีมหลังเที่ยงคืน คิดว่าหลัง 4 ทุ่มก็ลดจำนวนพนักงานได้แล้ว แต่กลายเป็นว่าช่วงเวลา 4 ทุ่ม – ตี 1 เป็นช่วงพีคที่สุด มีคิวยาวมากที่สุด กลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการเป็นกลุ่มคนอยู่ในชุมชน รวมถึงนักศึกษา สั่งไอศกรีมแบบถ้วยใหญ่ไม่กลัวอ้วนด้วย

แต่โมเดล 24 ชั่วโมงนี้ จะยังไม่ขยายสาขาเพิ่ม เพราะต้องขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง และศูนย์การค้าว่ามีการเปิดให้บริการแบบไหน

ปัจจุบันสเวนเซ่นส์มีทั้งหมด 300 สาขา ในแต่ละปีจะเปิดสาขาไม่เกิน 10 แห่ง ในปีนี้เมื่อมีสถานการณ์ COVID-19 เข้ามา ก็ไม่เปิดสาขามากกว่าปกติ หรือหลายๆ จุดในแห่งเดียว ยกตัวอย่าง บางศูนย์การค้าจะมีหลายสาขา อย่างเช่น เดอะมอลล์บางกะปีจะมี 3 จุด จะมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันออกไป เพราะมีทราฟฟิกค่อนข้างเยอะ ชั้น G ส่วนใหญ่จะเป็นแม่ค้าตามร้านต่างๆ ใช้บริการ ชั้น 1 เป็นกลุ่มพนักงานธนาคาร และชั้น 4 เป็นกลุ่มวัยรุ่น คนดูภาพยนตร์

]]>
1285227
“สเวนเซ่นส์” ขายเหมา “ลูกชุบมะม่วง” แบบโอเวอร์โหลด 50 ลูก ระบายสต็อกช่วง COVID-19 https://positioningmag.com/1273152 Mon, 13 Apr 2020 17:24:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273152 สเวนเซ่นส์เอาใจคอลูกชุบมะม่วงจากเมนูไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วง ขายแบบเหมาๆ 50 ลูก 299 บาท เป็นอีกกลยุทธ์ในการระบายสต็อกช่วงไวรัส COVID-19

ยุคนี้ต้องโอเวอร์โหลด เร่งระบายสต็อกสินค้า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก แน่นอนว่าร้านอาหารต้งอมีการปิดให้บริการในส่วนของการทานในร้าน แต่สามารถให้บริการในส่วนของซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี่ได้ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมดเสียทีเดียว

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับร้านอาหารหลายแห่งก็คือมีสต็อกวัตถุดิบค่อนข้างมาก ถ้าในสถานการณ์ปกติคงมีการจำหน่ายได้ทัน แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มชะลอลงอย่างในช่วงตอนนี้ ทำให้สต็อกสินค้าเหลือมากมาย

ร้านอาหารจึงเริ่มที่จะจำหน่ายวัตถุดิบแยก แม้แต่ร้านไอศกรีมอย่าง “สเวนเซ่นส์” ก็ขอจำหน่ายท็อปปิ้งแยกเช่นกัน ได้นำ “ลูกชุบมะม่วง” มาจำหน่ายแบบโอเวอร์โหลดจำนวน 50 ลูก ราคา 299 บาท

ราคานี้เป็นราคาที่ลด 70% จากราคาปกติ 1,000 บาท แต่เดิมท็อปปิ้งลูกชุบจะจำหน่ายในราคาปกติลูกละ 20 บาทเลยทีเดียว

ซึ่งลูกชุบมะม่วงเป็นหนึ่งในไอเท็มสำคัญของเมนูตระกูล “มะม่วงอกร่องทองซันเด” เป็นลูกชุบอบควันเทียนรูปมะม่วงที่สั่งทางร้าน “ขนมไทยเก้าพี่น้อง” ผลิตส่งเป็นประจำทุกปีนับล้านลูก เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลมะม่วงที่จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี

และถ้าเกิดว่าปีไหนที่ลูกชุบมะม่วงหมดสต็อก ก็จะไม่มีการผลิตเพิ่ม จะเปลี่ยนเป็นท็อปปิ้งอื่นแทน จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พบ ในปีก่อนผู้เขียนเคยไปทานเมนูนี้ แล้วสต็อกลูกชุมมะม่วงได้หมดเกลี้ยงแล้ว ทางร้านได้ใส่เชอร์รี่มาให้แทน

สเวนเซ่นส์ได้เริ่มขายเมนูลูกชุบมะม่วง ซูเปอร์ โอเวอร์โหลด ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา แต่จะขายผ่านทาง Food Aggregator หรือผู้ให้บริการ Food Delivery เท่านั้น ยังไม่มีจำหน่ายผ่านแอปพลิเคชัน 1112 Delivery

ลูกชุบมะม่วงมี 2 ขนาดด้วยกัน ขนาด 50 ลูก ราคา 299 บาท และขนาด 8 ลูก ราคา 50 บาท นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายท็อปปิ้งอื่นๆ แบบโอเวอร์โหลดเช่นกัน ได้แก่ คิดส์แฟน, อัลมอนด์, ถั่ว, แยมสตรอเบอร์รี่ และอื่นๆ

ร้านในเครือไมนเอร์ฯ ขายวัตถุดิบแยก

จริงๆ แล้วนอกจากร้านสเวนเซ่นส์ ยังมีแบรนด์อื่นๆ ในเครือของ “ไมเนอร์ฟู้ด” ที่นำวัตถุดิบอาหารมาจำหน่ายแยก เพื่อเร่งระบายสต็อกให้เร็วที่สุด เพียงแต่ว่าเริ่มจำหน่ายให้พนักงานภายในเท่านั้น

มีทั้งสเต็ก ผัก กระเทียมดองต่างๆ จากร้าน Sizzler หรือจะเป็นฮอตด็อกจาก Dairy Queen

เหตุผลที่ทางไมเนอร์เลือกที่จำหน่ายให้กับพนักงานภายในเท่านั้น เพราะวัตถุดิบที่นำมาขายในราคาถูกช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะหมดอายุในช่วงเดือนมิถุนายน กลัวว่าถ้านำมาจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปจะดูไม่ดีเท่าไหร่นั่นเอง

]]>
1273152