Taipei – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 19 Mar 2020 05:43:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กรณีศึกษา: ถอด 8 บทเรียน ทำไม “ไต้หวัน” คุม COVID-19 ได้อยู่หมัด! https://positioningmag.com/1268810 Wed, 18 Mar 2020 14:57:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1268810 ไต้หวันทำแบบไหนจึงสามารถคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วประเทศไว้ที่ 77 คน โดยเสียชีวิต 1 คน? คำตอบคือไต้หวันเดินหน้าต่อยอดจากการเตรียมพร้อมการระบาดของ SARS เมื่อปี 2546 กลายเป็นปรากฏการณ์ผนึกกำลังเหนียวแน่นระหว่างฝั่งรัฐบาล และประชาชน ชนิดที่หลายประเทศรวมถึงไทยควรต้องเรียนรู้ก่อนทุกอย่างจะควบคุมไม่ได้

(อัพเดตมีผู้ป่วยเพิ่มเป็น 100 คน วันที่ 19 มีนาคม 2563)

แม้เกาะไต้หวันจะอยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 81 ไมล์ และมีการเดินทางไปมาระหว่างจีน-ไต้หวันมากกว่า 2,000 รายต่อวัน ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดอย่างตรุษจีนเดือนมกราคม 63 แต่ไต้หวันสามารถคุมจำนวนผู้ติดไวรัสโคโรนาได้ที่หลักสิบ ขณะที่จีนมีผู้ติดเชื้อพุ่งไปถึง 80,824 ราย และเสียชีวิต 3,189 ราย

เพื่อนบ้านอย่างเกาหลีนั้นมีผู้ติดเชื้อ 7,900 ราย และญี่ปุ่นมีการติดเชื้อ 675 ราย ขณะที่อีกซีกโลกคืออิตาลีมียอดติดเชื้อ 17,660 ราย และสหรัฐอเมริกาทำสถิติไว้ที่ 2,167 ราย

Photo : Facebook TWCDC

หากเทียบตามสถิติประชากร ไต้หวันจึงถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการติดเชื้อต่อประชากรรวมต่ำที่สุดในโลกนาทีนี้ ปัจจุบันเกาะไต้หวันมีประชากร 23 ล้านราย คำนวณแล้วไต้หวันทำสถิติผู้ติดเชื้อไวรัส 1 รายต่อประชากร 500,000 รายเท่านั้น

8 จุดต้องโฟกัสเพื่อ “ชนะไปด้วยกัน”

4 จุดแรกที่โลกต้องเรียนรู้จากไต้หวันคือการตื่นตัว และไม่นั่งอยู่เฉยๆ จากนั้นไต้หวันใช้วิธีรุกด้วยการตั้งศูนย์บัญชาการกลาง Central Epidemic Command Center ศูนย์ CDC นี้ทำให้ไต้หวันสามารถเดินมาตรการและตัดสินใจได้เร็วทันการณ์ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจจับและติดตามผู้ติดเชื้อแบบไม่คลาดสายตา

อีก 4 จุดหลังที่ไต้หวันทำได้ดีคือการเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์ หน้ากากที่ไต้หวันไม่ขาดตลาดและมีราคาตั้งที่ 16 เซ็นต์ต่อแผ่นเท่านั้น (ราว 0.17 บาท) ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ต่อสาธารณชนอย่างทั่วถึง คู่ไปกับภาคประชาชนที่ลงมือดูแลตัวเอง ตรวจวัดอุณหภูมิลูกหลานตั้งแต่ที่บ้าน แล้วรายงานให้ครูทราบเมื่อเดินทางมาถึงโรงเรียน ทั้งหมดนี้ไต้หวันทำได้เพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์ล้วนๆ

1. ไต้หวันเปิดเกมมาตรการเชิงรุก เตรียมป้องกันการระบาดครั้งใหญ่

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไต้หวันอยู่ใกล้กับจีน การพูดภาษาเดียวกันทำให้ไต้หวันได้รับรู้ตั้งแต่ต้นว่าโรค “ปอดอักเสบรุนแรง” กำลังแพร่กระจายในอู่ฮั่น

ในวันที่ 31 ธันวาคม 62 วันเดียวกันกับที่จีนแจ้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่ามีผู้ป่วยโรคปอดบวมที่ไม่รู้จักหลายราย ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวันจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบผู้โดยสารในเที่ยวบินจากอู่ฮั่นทันที

แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับจีน ไต้หวันก็ทำเรื่องขอ และได้รับอนุญาตให้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปยังแผ่นดินใหญ่ เพื่อทำภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงวันที่ 12 ม.ค. 63

Cindy Sui / NBC News

เวลานั้น Kolas Yotaka โฆษกรัฐบาลกล่าวกับสำนักข่าว NBC News ว่าแม้จะไม่เห็นสิ่งที่ “พวกเขา” ไม่ต้องการให้เห็น แต่ผู้เชี่ยวชาญของไต้หวันรู้สึกว่าสถานการณ์นั้นไม่ดีนัก หลังจากกลับมา ไต้หวันเริ่มกำหนดให้โรงพยาบาลทำการทดสอบและรายงานผลผู้ติดเชื้อ วิธีนี้ช่วยให้รัฐบาลสามารถระบุผู้ติดเชื้อ และติดตามผู้ป่วย รวมถึงแยกทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจายไปยังชุมชนได้

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นนานก่อนที่ไต้หวันจะยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 63 และปรากฏการณ์ COVID-19 ที่ทั่วโลกตื่นตระหนก

2. ตั้งศูนย์บัญชาการรวดเร็ว-เด็ดขาด

ไต้หวันเปิดทำการศูนย์บัญชาการกลางการแพร่ระบาดของโรคอย่างศูนย์ CDC ได้ค่อนข้างเร็วในวันที่ 20 มกราคม และปล่อยให้ศูนย์ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

Jason Wang ศาสตราจารย์จาก Stanford Health Policy เล่าว่าศูนย์นี้ออกมาตรการอย่างน้อย 124 รายการในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้ว 3-4 มาตรการต่อวัน เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน เนื่องจากบางนโยบายถูกมองว่ายังไม่ดีพอ

Photo : Tu Chien-jung, Taipei Times

ศูนย์นี้นำโดย Chen Shih-chung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บัญชาการไม่เพียงแต่ตรวจสอบกรณีที่ได้รับการยืนยันผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังทำงานร่วมกับกระทรวง และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อประสานงานทั่วไต้หวัน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณ และระดมบุคลากร รวมถึงให้คำปรึกษา

ที่เห็นได้ชัดเมื่อ 26 มกราคม 63 เพียง 5 วันหลังจากได้รับการยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรก ไต้หวันสั่งห้ามการเดินทางจากอู่ฮั่นก่อนหน้าประเทศอื่น หลังจากนั้นไม่นาน ไต้หวันก็ทำเช่นเดียวกันสำหรับเที่ยวบินจากทุกเมือง ยกเว้นเมืองจีนเพียงไม่กี่แห่ง โดยอนุญาตให้เฉพาะชาวไต้หวันเท่านั้นที่บินกลับบ้านได้

3. ใช้เทคโนโลยีตรวจจับ และติดตามผู้ติดเชื้อ

หลังจากคุมการเดินทางเข้าออกจากประเทศ ไต้หวันเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับไวรัส โดยเครื่องตรวจจับอุณหภูมิจำนวนมากถูกติดตั้งไว้ที่สนามบินอยู่แล้ว นับตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 ทำให้สามารถตรวจหาทุกคนที่มีไข้ ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคโคโรนาไวรัส

ผู้โดยสารยังสามารถสแกน QR code และรายงานประวัติการเดินทาง รวมถึงอาการสุขภาพของตัวเองแบบออนไลน์ ข้อมูลนั้นจะถูกส่งโดยตรงไปยังศูนย์ CDC

Photo : Facebook TWCDC

สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จะถูกกักบริเวณในบ้านพักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน แม้ว่าจะไม่ป่วย แต่จะถูกติดตามโดยใช้การแชร์ตำแหน่งบนโทรศัพท์มือถือ และใครที่หลบหนีจะมีโทษปรับหนัก รวมถึงผู้ปกปิดอาการเช่น ชายรายหนึ่งที่ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามีอาการป่วยหลังจากกลับมาจากอู่ฮั่น แล้วเดินทางไปที่สถานท่องเที่ยวกลางคืนในวันถัดไป ผู้ติดเชื้อรายนี้ถูกปรับเบาๆ 10,000 ดอลลาร์

เทคโนโลยีจึงทำให้ไต้หวันระบุอย่างรวดเร็วได้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ และรายใดที่ได้รับเชื้อติดต่อไป จากนั้นจีงทดสอบและนำไปกักกันที่บ้าน พร้อมกับค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบเชิงรุกด้วยการทดสอบซ้ำกับกลุ่มเสี่ยงที่เคยตรวจไม่พบเชื้อ

4. ตรวจความพร้อมหน้ากากอนามัย

รัฐบาลไต้หวันสั่งห้ามผู้ผลิตส่งออกวัสดุเพื่อป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการนำระบบปันส่วนมาใช้และกำหนดราคาเพื่อป้องกันการขึ้นราคาและการกักตุน นอกจากนี้ยังตั้งสายการผลิตใหม่และส่งทหารไปยังโรงงาน เพื่อช่วยเหลือพนักงานให้เพิ่มการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ

5. สื่อช่วยให้ข้อมูลแก่ประชาชน

รัฐบาลไต้หวันยังขอให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุออกอากาศประกาศข้อมูลแก่สาธารณชนทุกชั่วโมง ว่าไวรัสแพร่กระจายอย่างไร ความสำคัญของการล้างมืออย่างเหมาะสม และการสวมหน้ากาก หลักการของเรื่องนี้คือเมื่อข้อมูลมีความโปร่งใสและผู้คนมีความรู้ ความตื่นตระหนกของประชาชนก็จะลดลง

6. ประชาชนร่วมมือ

ความร่วมมือของประชาชนกับมาตรการที่รัฐบาลประกาศนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสในกลุ่มเด็กนักเรียน ที่ผ่านมาพ่อแม่ชาวไต้หวันมากกว่า 95% ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิของลูกหลานที่บ้าน แล้วรายงานให้โรงเรียนทราบก่อนที่เด็กจะมาถึงโรงเรียน เป็นความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตัวเองและส่วนรวมที่ชัดเจน

Courtesy of the Da Jia Elementary School

7. ทุกอาคารช่วยกัน

อาคารสำนักงานทุกแห่ง โรงเรียน และศูนย์กีฬาชุมชนในไต้หวันจะตรวจสอบอุณหภูมิและป้องกันไม่ให้ใครก็ตามที่มีไข้เข้ามาในพื้นที่ได้ ขณะที่อาคาร และอพาร์ตเมนต์ยังวางเจลทำความสะอาดมือไว้ภายใน หรือภายนอกลิฟต์

ความร่วมมือเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำให้ไต้หวันสามารถนำบทเรียนที่ได้เรียนรู้ระหว่างการระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 มาใช้ให้เป็นประโยชน์

8.ประกันสุขภาพครอบคลุม

การประกันสุขภาพทำให้ประชาชนไต้หวันทุกคนไม่กลัวที่จะไปโรงพยาบาล หากใครสงสัยว่ามีเชื้อโคโรนาไวรัส ก็จะไม่ต้องกังวลว่าไม่สามารถไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจได้

ที่สำคัญผู้ป่วยสามารถรับการตรวจได้ฟรี และหากถูกบังคับให้ต้องกักตัวเอง 14 วันก็จะได้รับค่าอาหาร ที่พัก และค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นจึงไม่มีใครหลีกเลี่ยงการไปพบแพทย์ เพราะไม่มีเงินพอสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาล

Photo : Shutterstock

เมื่อรัฐบาลและประชาชนไต้หวันเตรียมพร้อม ความพร้อมนั้นยิ่งช่วยผลักดันคะแนนความนิยมของประธานาธิบดี Tsai Ing-wen ผลที่ตามมายังทำให้ประชาชนไต้หวันเชื่อมั่นในระบบประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งครอบคลุม 99% ของประชากร กลายเป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อสู้กับการแพร่กระจายของโรค

เพราะแบบนี้ ไต้หวันจึงเอาอยู่

ที่มา : NBC , ipolitics

]]>
1268810