Temu – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 17 Sep 2024 14:14:59 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มีแค่ลิฟต์ที่เอาเขาลง! ‘Temu’ กวาดยอดดาวน์โหลดรวมกว่า 735 ล้านครั้ง เฉพาะแค่เดือนส.ค.ทำยอดมากกว่า ‘Amazon’ 3 เท่า https://positioningmag.com/1490619 Tue, 17 Sep 2024 12:30:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1490619 ตอนนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนที่ซุ่มเข้าไทยแบบเงียบ ๆ แม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้รับความนิยมในไทยนัก เพราะด้วยชื่อเสีย (ง) ทั้งจากการถูกฟ้องร้อง และสำหรับประเทศไทยที่ยังไม่มีบริษัทในไทยอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มาแรงจริง ด้วยจุดขายในด้าน สินค้าราคาถูก เพราะเป็นการซื้อจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง แถมยังจัดส่งไวภายใน 5 วัน ยังไม่รวมถึงการอัดแคมเปญการตลาดและโฆษณาอย่างหนัก

ทำให้นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนกันยายน 2022 แอปพลิเคชัน Temu สามารถทำยอดดาวน์โหลดทะลุ 735 ล้านครั้ง ไปแล้ว ตามข้อมูลจาก Storklytics.com เรียกได้ว่าใช้เวลาเพียงประมาณ 2 ปี ก็สามารถแซงหน้า Amazon, eBay และ Shein เพื่อร่วมชาติอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Statista และ AppMagic แสดงให้เห็นว่า หากนับเฉพาะในปี 2023 แพลตฟอร์ม Temu มียอดดาวน์โหลดทั้งหมดกว่า 337 ล้านครั้ง มากกว่า Amazon ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซสัญชาติสหรัฐฯ เกือบ 80% 

สำหรับในปี 2024 นี้ Temu ก็ยังสามารถสร้างการเติบโตได้อีก และขึ้นเป็นแอปที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม สามารถกวาดยอดดาวน์โหลดกว่า 50 ล้านครั้งต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งถือว่าโตขึ้นถึง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และถือว่า มากกว่าคู่แข่งอย่าง Amazon ถึง 3 เท่า นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี Temu ยังมียอดเข้าชมรวมกว่า 500 ล้านครั้ง

เมื่อแยกเป็นประเทศต่าง ๆ พบว่า ยอดดาวน์โหลดเกือบ 1 ใน 3 ของการดาวน์โหลดทั้งหมดมาจาก สหรัฐอเมริกา (27%) หรือกว่า 200 ล้านครั้ง แสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันใช้ Temu มากกว่าชาวยุโรปถึง 5 เท่า เพราะประเทศอย่างสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปนคิดสัดส่วนเพียงประเทศละ 5% ของการดาวน์โหลดทั้งหมด ส่วนตลาดที่ใหญ่เป็น อันดับสอง ของ Temu คือ เม็กซิโก สร้างยอดดาวน์โหลดทั้งหมดเพียง 10% หรือน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาถึงสามเท่า

ปัจจุบัน Temu เปิดบริการแล้วใน 49 ประเทศทั่วโลก มียอดขายกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่ Temu เข้ามาทำตลาด

Source

]]>
1490619
Shein-Temu โดนสั่งตรวจสอบขายสินค้าอันตรายต่อชีวิตเด็ก หลังฟ้องกันเองเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ https://positioningmag.com/1488820 Thu, 05 Sep 2024 04:30:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1488820 หลังจากมีข่าวการฟ้องร้องเรื่องการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และการขโมยความลับทางการค้าระหว่าง ‘Shein’ ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นออนไลน์และไลฟ์สไตล์จากจีน และ ‘Temu’ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซน้องใหม่จากจีน จนกลายเป็นที่ฮือฮากันทั่วโลก

ซึ่งคดีความระหว่างทั้งคู่ ได้ถูกยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางในวอชิงตัน ดี.ซี. ไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยที่ Shein เองก็ยังมีคดีความที่คลัายกันจากแบรนด์อื่นด้วย อย่าง Levi Strauss และ H&M ที่ยังเป็นประเด็นการพิจารณาของศาลอยู่

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา (U.S. CPSC) ได้เรียกร้องให้หน่วยงานมีการตรวจสอบทั้ง Shein และ Temu หลังจากตรวจพบว่า ทั้ง 2 บริษัทมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก และวัยหัดเดินที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต บนเว็บไซต์ ของทั้ง 2 บริษัท

นาย ปีเตอร์ เฟลดแมน และ นายดักลาส ดิแอค กรรมาธิการ CPSC เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายหรือไม่ เพราะปัจจุบันสินค้าบางรายการได้ถูกห้ามจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาแต่ยังมีการวางจำหน่ายใน Temu และ Shein

เช่น คอกกั้นเตียงเด็ก โดยในประกาศเรียกคืนสินค้าฉบับหนึ่งระบุด้วยว่า ในปี 2022 และ 2023 มีการจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ในสหรัฐอเมริกาผ่านแพลตฟอร์ม Temu ประมาณ 125 รายการ ซึ่งสินค้าดังกล่าวถือเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้ทารกหายใจไม่ออก รวมถึงมีการจำหน่ายเสื้อฮู้ดแบบมีเชือกผูกสำหรับเด็ก ในสหรัฐฯ บนแพลตฟอร์มของ Shein ซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกห้ามจำหน่ายเนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการรัดคอได้

Source : Reuters

]]>
1488820
เล่นกันเองแล้ว! ‘Shein’ แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นจีนฟ้อง ‘Temu’ ฐาน ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ https://positioningmag.com/1487034 Wed, 21 Aug 2024 04:19:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487034 กลายเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับ Temu อีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนที่เพิ่งเข้าไทยหมาด ๆ เนื่องจากถูกบริษัทฟาสต์แฟชั่นร่วมชาติอย่าง Shein ออกมาฟ้องร้องข้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ Temu ถูกโจมตีมาโดยตลอด

Shein บริษัทฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ยื่นฟ้อง Temu ที่ศาลรัฐบาลกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยกล่าวหาว่า Temu ได้ ขโมยการออกแบบ และสร้างแพลตฟอร์มขึ้นจาก การปลอมแปลง ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และช่อโกง โดยแพลตฟอร์ม Temu สนับสนุนและส่งเสริมให้ ผู้ขายขโมยการออกแบบของแบรนด์อื่น อีกทั้งยังป้องกัน ไม่ให้ผู้ขายลบสินค้าออกจากแพลตฟอร์ม แม้ว่าร้านค้าเหล่านั้นจะยอมรับว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ตาม

“Temu ดึงดูดผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้ดาวน์โหลดและใช้งานแอปพลิเคชันมือถือโดยให้ออฟเฟอร์สินค้าในราคาที่ต่ำมาก แต่ Temu ไม่ได้รับผลกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะ Temu ให้เงินอุดหนุนการขายแต่ละครั้ง ทำให้บริษัทขาดทุนในทุกธุรกรรม และ Temu หวังว่าจะลดความสูญเสียมหาศาลโดยการสนับสนุนให้ผู้ขายละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นและขายสินค้าลอกเลียนแบบหรือสินค้าต่ำกว่ามาตรฐานเท่านั้น” คำฟ้องระบุ

โดยในคำฟ้องร้อง Shein ความยาวกว่า 80 หน้ากระดาษ ได้ระบุว่า พนักงานของ Temu อย่างน้อย 1 คนได้ขโมยความลับทางการค้า หรือก็คือ ผลิตภัณฑ์ขายดีที่สุด ของ Shein พร้อมทั้งข้อมูลราคาภายใน พร้อมกับแนบตัวอย่างเสื้อผ้าและดีไซน์ กว่าสิบชิ้น ที่ Temu ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบ 

นอกจากนี้ Shein ยังกล่าวหาว่า Temu ได้แอบอ้างเป็น Shein บนโซเชียลมีเดีย X เพื่อพยายาม หลอกลูกค้าให้ห่างจากแพลตฟอร์ม Shein และหันไปใช้แพลตฟอร์ม Temu แทน และได้จ้างให้อินฟลูเอนเซอร์โพสต์ข้อความเท็จว่าสินค้าของ Temu นั้นราคาถูกกว่าและมีคุณภาพสูงกว่าสินค้า Shein ของแท้

“ด้วยข้อมูลที่ขโมยมานี้ Temu ได้สั่งให้ร้านค้าคัดลอกผลิตภัณฑ์ Shein และผลิตภัณฑ์ขายดีอื่น ๆ และขายผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือของ Temu”

แม้ว่า Shein จะฟ้องร้อง Temu แต่ทั้ง 2 บริษัทก็ใช้วิธีคล้าย ๆ กันในการยึดครองตลาดก็คือ การเล่นเรื่อง สินค้าราคาถูก และความสามารถในการ ตอบสนองต่อกระแส ได้เร็วกว่าคู่แข่งมาก แต่นั่นก็ทำให้ทั้ง 2 บริษัทต้องเจอกับคำวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้าน แรงงาน ความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน และการกล่าวหาว่า ลอกการออกแบบของแบรนด์อื่น โดย Shein ก็เคยถูกกล่าวหาว่าก๊อบปี้ดีไซน์จากแบรนด์อย่างต่าง ๆ อาทิ Levi, Strauss และ H&M 

Source

]]>
1487034
ทำไม ‘Temu’ ถึงเป็นแพลตฟอร์มที่คนยกให้เป็น ‘ปลาหมอคางดำ’ ผู้มาทำลายระบบนิเวศเศรษฐกิจไทย https://positioningmag.com/1486285 Wed, 14 Aug 2024 11:02:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1486285 แม้ไทยมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนหลายราย แต่การมาของคง Temu หรือ เทมู-ทีมู อีคอมเมิร์ซจีนที่เข้าไทยมาแบบเงียบ ๆ ไปเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะด้วยราคาที่ ถูกแสนถูก จนเกิดเป็นคำถามว่า ผู้ประกอบการไทย จะอยู่รอดได้หรือไม่

ไม่มีสำนักงานในไทย = ตั้งใจเอาเปรียบ

ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย 65% ถูกครอบครองด้วย 3 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Shopee (49%) Lazada (30%) และ TikTok Shop (21%) แต่สำหรับการมาของ Temu ไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มไหน ๆ ก็คือ Temu ไม่มีสำนักงานในไทย ซึ่งแปลว่า ยอด ทุกบาททุกสตางค์ของลูกค้าชาวไทยถูกส่งกลับไปจีน เพราะบริษัท ไม่ได้จ่ายภาษีให้กับประเทศไทย โดย ป้อม ภาวุธ กูรูอีคอมเมิร์ซเมืองไทย ถึงกับเอ่ยปากว่า เห็นเจตนาชัดว่า ต้องการฝ่าฝืนและเอาเปรียบประเทศเรา

“เขาคงไม่เข้าประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพราะในหลายประเทศเขาก็ทำแบบนี้ คือ เปิดเว็บไซต์ให้ซื้อและส่งของจากจีนเข้ามาไทย” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด กล่าว

ปัจจุบัน Temu เปิดบริการแล้วใน 49 ประเทศทั่วโลก โดยไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวม ๆ แล้ว Temu มีจำนวนแอคเคาท์กว่า 467 ล้านแอคเคาท์ เป็นแอปพลิเคชันที่มี ยอดดาวน์โหลดสูงสุดในปีนี้ และมียอดขายรวมกว่า 14,000 ล้านบาทต่อเดือน

ภาพจาก Shutterstock

ถูกจนสหรัฐฯ ยังโดนตก

เพราะแนวคิดแรกของ Temu คือการ ตั้งราคาขายให้ได้ต่ำที่สุด ดังนั้น Temu จึงทำการ ตัดคนกลางออก ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับผู้ผลิตโดยตรง หรือพูดง่าย ๆ สินค้าที่สั่ง ส่งตรงจากโรงงานถึงลูกค้า นอกจากนี้ Temu จะมีฟีเจอร์ให้ลูกค้า รวมกลุ่มกันซื้อสินค้า หรือ Group Buying เพื่อให้ได้สินค้าในราคาที่ถูกลงไปอีก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าบางชนิดราคาจะ ถูกกว่าท้องตลาด 99% ยังไม่รวมการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ และการจัดส่งอย่างรวดเร็วภายใน 4-9 วัน เพราะต่อให้ของถูก แต่ได้ของช้า คนก็อาจไม่รอ

ด้วยกลยุทธ์ที่เล่นเรื่องราคาเป็นหลัก และการจัดส่งที่รวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกกใจที่ Temu จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว อย่างในตลาด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ Temu ทำตลาด Temu ใช้เวลาเพียง 2 ปี ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 17% โดยสิ้นปี 2023 มียอดขายสูงถึง 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ และในช่วงต้นปีที่ผ่านมามียอดผู้ใช้งานกว่า 80 ล้านคน

จะเห็นว่าขนาดสหรัฐฯ ที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 94,003 ดอลลาร์ต่อปี หรือ 3.4 ล้านบาทต่อปี ยังโดน ของถูกตก แล้วคนไทยที่มีรายได้เฉลี่ย 248,468 บาทต่อคนต่อปี จะเหลืออะไร

ข้อกังวลความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

ไม่ใช่แค่ราคา แต่เทคโนโลยีของ Temu ก็ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกจุด ด้วย อัลกอริทึม ที่วิเคราะห์ customer journey ของลูกค้าอย่างละเอียด ตั้งแต่การดูสินค้า การมีส่วนร่วมในกิจกรรม ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อ ทำให้ Temu สามารถปรับแต่งและเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ Temu ยัง ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังผู้ขาย ทำให้ผู้ขายสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามเทรนด์หรือความต้องการของตลาด ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ขายไม่ต้องผลิตสินค้าเกินความต้องการ สามารถบริหารจัดการต้นทุนและสต็อกได้ดีขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลง ทำให้ทำราคาสินค้าได้ถูกลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ด้วยการใช้งาน Big Data ทำให้ Temu มีประเด็นเรื่อง ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ของ Pinduaduo ที่ Temu ก็อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันกับ PDD Holdings เคยถูก Google ปักธงแดงเปลี่ยนสถานะแอปฯ ให้เป็น มัลแวร์ เพราะ Pinduoduo เวอร์ชันที่ไม่ได้อยู่ใน Google Play Store มีลักษณะการทำงานที่คล้ายกับมัลแวร์ โดย ทำหน้าที่ตรวจสอบและสอดแนมผู้ใช้งาน โดยใช้วิธีการ Zero-day แฮกข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลผู้ใช้

Shanghai,China-Nov.29th 2023: Pinduoduo (PDD Holdings) brand logo sign on official website. Chinese company

SME เจ็บสุด

จากทั้งสินค้าราคาถูก เงินทุนที่สามารถลด แลก แจก แถม และทำการตลาดได้มากกว่า เทคโนโลยีที่ดีกว่า คนที่กระทบมากสุดคงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง SME และถ้าผู้ประกอบการไทยลดกำลังผลิตหรือเลิกผลิต การจ้างงานก็ลดลง มีผลต่อเนื่องเป็นทอดๆ ต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด (MI GROUP) ยังมองว่า ทุนจีนที่เข้ามาในไทยนั้นมีลักษณะพิเศษกว่าทุนจากชาติอื่นที่เคยเข้ามา เพราะวิธีดำเนินธุรกิจสไตล์จีนคือ ใช้ระบบนิเวศของตนเองทั้งหมด จึงไม่ส่งผลดีต่อการจ้างงานคนไทยและการใช้วัตถุดิบในประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยยิ่ง ขาดดุลการค้ากับจีน ซึ่งตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด โดยในปี 2023 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลถึง 1.29 ล้านล้านบาท แค่ 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยก็ขาดดุลแล้ว 2.82 แสนล้านล้านบาท

“รัฐบาลควรจะเข้ามาดูแลผู้ประกอบการไทย มีมาตรการปกป้องให้มากขึ้น เพราะถ้าผู้ประกอบการไทยลดกำลังผลิตหรือเลิกผลิต การจ้างงานก็ลดลง มีผลต่อเนื่องเป็นทอดๆ ต่อเศรษฐกิจ”

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด (MI GROUP)

คนไทยตื่นตัวที่จะแบน Temu

อย่างไรก็ตาม แม้ Temu จะดูน่ากลัวเพราะทั้งการทำราคาสินค้า เทคโนโลยี และเงินทุนมหาศาล แต่จุดอ่อนสำคัญคือ คุณภาพสินค้า และการ ละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างในสหรัฐฯ เอง ทางคณะกรรมการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐฯ-จีน (USCC) ก็ได้ออกมาเตือนถึงเรื่องนี้

ซึ่งในประเทศไทยก็ดูเหมือนผู้บริโภคจะตื่นตัวกับการมาของ Temu โดยชาวเน็ตไทยเองก็ตื่นตัวกับการมาของ Temu โดยพากันไปคอมเมนต์เพจ Temu Thailand ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นคนว่า “ให้ใช้สินค้าไทย ซื้อของคนไทยและต่อต้านสินค้าจีน เพราะมองว่า การเข้ามาของแอปฯ นี้จะทำให้ผู้ประกอบการไทยย่ำแย่ ด้าน นารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้ออกมารีวิวการสั่งของจาก TEMU ว่า ห่วย ด้วย

เก็บภาษีไม่ได้ก็บล็อกไปเลย

แม้ว่า Temu จะดูน่ากลัว แต่ไม่ใช่ว่าจะสกัดไม่ได้ โดย ภาวุธ ได้แนะนำถึงภาครัฐว่า ควรใช้กฎหมาย E-Service Tax (VES) ที่ทำให้สรรพากรมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างประเทศจากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ Facebook (Meta), YouTube, Netflix, Google เป็นต้น

หรือมาตรการขั้นเด็กขาดคือ บล็อกการเข้าถึงคนไทย แบบเดียวกับการบล็อกเว็บไซต์อย่าง พอร์นฮับ รวมไปถึงทำหนังสือไปยัง AppStore, PlayStore เพื่อบล็อก Temu ออกจากการเห็นของคนไทย หรือในกรณีที่ไม่สามารถบล็อก Temu ได้ก็ควร บังคับใช้กฎระเบียบเดิมให้เข้มแข็ง เช่น คุมการนำเข้าสินค้าที่เข้มงวด อย่างให้สินค้าที่ไม่มี มอก. หรือ อย. เข้ามาไทย เพราะสินค้าที่ถูก อาจไม่ได้คุณภาพตามข้อกำหนด

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด

SME หนีไม่ได้ก็เข้าร่วม

สุดท้ายแล้ว SME ที่เน้นนำเข้าของจากจีนมาขาย อาจจะอยู่ยาก ดังนั้น ควรสร้าง แบรนด์ และเน้นไปที่ คุณภาพสินค้า เพราะสินค้าของ Temu ไม่มีแบรนด์ เน้นทำราคา ไม่สนเรื่องคุณภาพ และที่สำคัญ SME ต้อง หาตลาดใหม่ ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายใหม่หรือการ ส่งออก สุดท้าย ต้องนำ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้คน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า Temu เปิดให้ผู้ประกอบการไทยขายของบนแพลตฟอร์มได้หรือไม่ แต่ที่เห็นคือ Temu เปิดให้โรงงานและบุคคลบางประเภทสามารถสมัคร Seller Account เพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายได้ ซึ่ง คนไทยสามารถสมัครได้ เพียงแต่แพลตฟอร์มจะอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับทาง Temu ซึ่งข้อดีของการขายของบน Temu คือ การเปิดตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ดังนั้น SMEs ไทยอาจจะลองดูสักตั้ง เผื่อใช้ Temu เป็นอีกแพลตฟอร์มในการขายสินค้าไปต่างประเทศ

]]>
1486285
เจาะลึกความน่ากลัว ‘Temu’ อีคอมเมิร์ซจากแดนมังกรที่กล้างัดกับ ‘Amazon’ และกำลังมาตีตลาดไทย https://positioningmag.com/1484419 Tue, 30 Jul 2024 10:23:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1484419 แค่มี Shopee กับ Lazada และ TikTok ก็แทบจะมีแต่ผู้เล่น จีน ที่ครองตลาด อีคอมเมิร์ซไทย ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว แต่ล่าสุดยังมีผู้เล่นใหม่เพิ่มมาอีกรายคือ Temu ที่เพิ่งเข้าไทยมาแบบเงียบ ๆ โดย Positioning จะพาไปรู้จัก Temu ว่าทำไมถึงเป็นอีกผู้เล่นที่ น่ากลัว

ก่อนจะรู้จัก Temu รู้จัก Pinduoduo ก่อน

คนไทยมักจะชินกับชื่อ Alibaba, JD ว่าเป็นผู้เล่นตัวท็อปในตลาดอีคอมเมิร์ซจีน แต่จริง ๆ แล้วทั้ง 2 บริษัทถูก Pinduoduo (พินตัวตัว) อีกหนึ่งบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนแซงหน้าในแง่ของมูลค่าบริษัทไปเรียบร้อยแล้ว และ Pinduoduo ก็ถือเป็นบริษัทพี่บริษัทน้องกับ Temu (ทีมู) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหม่ที่ใช้บุกตลาดโลก

จุดเริ่มต้นของ Pinduoduo นั้นเริ่มจากชายที่ชื่อ Colin Huang ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ PDD Holdings ที่ก่อตั้ง Pinduoduo ในปี 2015 โดยเริ่มจากจากการเป็นแพลตฟอร์มสินค้าเกษตร ก่อนจะขยายไปสู่ผู้ให้บริการโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้กว่า 900 ล้านคน โดยมีคอนเซ็ปต์คือ นำความสนุกสนานมาสู่การช้อปปิ้ง ด้วยการ ซื้อเป็นกลุ่ม เพื่อให้ได้ราคาถูก

โดยผู้ซื้อสามารถแชร์ข้อมูลสินค้าที่ต้องการ เพื่อรวมคำสั่งซื้อกับเพื่อนในช่องทางต่าง ๆ หรือจะรอรวมกับผู้ซื้อรายอื่นก็ได้เพื่อสั่งซื้อไปยังร้านค้า หรือผู้ผลิตโดยตรง เพื่อให้ได้ สินค้าราคาส่ง นั่นเอง เนื่องจาก Pinduoduo สามารถจัดการคำสั่งซื้อในแบบ C2M หรือจากผู้บริโภคถึงผู้ผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งช่วยให้ผู้ขายสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภคและลดต้นทุนได้อีกด้วย

ใช้แบรนด์ Temu ลุยตลาดโลก

จนมาปี 2022 ในขณะที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ JD. เลือกจะ ยุติการขยายตลาดต่างประเทศ เพื่อคุมค่าใช้จ่าย แต่ไม่ใช่กับ Pinduoduo ที่เลือกออกไปเติบโตนอกจีน โดยเปิดตัวแพลตฟอร์มที่ชื่อ Temu ในเดือนกันยายน 2022 และใช้โมเดลซื้อเป็นกลุ่มเหมือนกับ Pinduoduo

โดย Temu เลือกที่จะบุกไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นประเทศแรก ทั้งที่มีผู้เล่นหลักอย่าง Amazon โดยในเดือนธันวาคม 2022 Temu ขึ้นเป็นแอปฟรีที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดบน App Store และ Google Play ในสหรัฐอเมริกา และภายใน 1 ปี Temu สามารถโกยผู้ใช้ได้ถึง 100 ล้านคน จากนั้นก็ขยายไป 47 ประเทศทั่วโลก

แน่นอนว่าปัจจัยที่ทำให้ Temu เติบโตอย่างรวดเร็วก็คือ สินค้าที่หลากหลาย แถมยัง ราคาถูก มีโปรจุก ๆ อย่าง ลด 90% นอกจากนี้ยัง ไม่มีค่าส่ง ทำได้ให้ได้ใจลูกค้าที่ต้องการของถูกไปเต็ม ๆ แต่นอกจากจะเล่นเรื่องราคาแล้ว ฝั่งการตลาด Temu ก็ทุ่มไม่แพ้กัน เพราะถึงขั้นเคยซื้อโฆษณาในรายการ Superbowl ซึ่งถือเป็น การแข่งขันกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ยังไม่รวมการจ้างเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เพื่อโปรโมตแพลตฟอร์ม เรียกได้ว่าไปสุดทุกทางสำหรับ Temu

ถูกตั้งคำถามเรื่องลิขสิทธ์และการใช้แรงงาน

แน่นอนว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แถมขายของถูกแสนถูก ทำให้ในเดือนเมษายน ปี 2023 คณะกรรมการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐฯ-จีน (USCC) ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้บันทึกสรุปเกี่ยวกับความท้าทายที่เกิดจากแบรนด์ Temu และ Shein เกี่ยวกับ ความกังวลของคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และกล่าวหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ บริษัทแม่อย่าง PDD Holdings ก็ถูก China Labor Watch กล่าวหาว่า ใช้งานพนักงานเยี่ยงทาส โดยบังคับให้พนักงานทำงาน 380 ชั่วโมงต่อเดือน ทำให้บริษัทเผชิญการประท้วงทางออนไลน์ หลัง พนักงานเสียชีวิตหลายคน ในปี 2021

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2023 สื่อ CNN รายงานว่า ทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์หลายทีมพบ มัลแวร์ในแอปมือถือของ Pinduoduo สำหรับอุปกรณ์ Google Android ซอฟต์แวร์นี้ทำให้แอป Pinduoduo เลี่ยงการอนุญาตด้านความปลอดภัยของผู้ใช้และเข้าถึงข้อความส่วนตัว หรือเปลี่ยนการตั้งค่าและป้องกันไม่ให้ถอนการติดตั้งแอป

ปัจจุบัน PDD Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Temu ได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากเซี่ยงไฮ้ไปยัง ดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับบริษัทเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Apple, Meta และ Google เนื่องจากมีโครงสร้างภาษีที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ

SHANGHAI, CHINA – JULY 25 2018: FILEPHOTO – Headquarters of Pinduoduo, a rising B2C e-commerce platform, in Shanghai, China Wednesday, July 25, 2018.
PHOTOGRAPH BY Feature China / Barcroft Studios / Future Publishing (Photo credit should read Feature China/Barcroft Media via Getty Images)

เข้าไทยอย่างเงียบ ๆ

Temu เริ่มเข้ามาในตลาดอาเซียนในปี 2023 โดยเริ่มบุกที่ประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย มาปี 2024 นี้ ก็ถึงคิวของ ประเทศไทย แน่นอนว่านอกจากสินค้าราคาแสนถูก ยังมาพร้อมโปรโมชั่นจัดเต็มอย่าง ส่วนลดสูงสุด 90% และที่น่าแปลกใจ (มั้ง) คือ การจัดส่งสินค้า จากมณฑลกว่างโจว ประเทศจีน มายังกรุงเทพฯ ไม่เกิน 5 วัน!

เรียกได้ว่า สมรภูมิอีคอมเมิร์ซตอนนี้ดุเดือดกว่าเดิมแน่นอน แต่ที่แน่นอนไปกว่านั้น ผู้ประกอบการไทยอาจต้อง ปาดน้ำตาแทนเหงื่อ แล้วรอบนี้

]]>
1484419
EU วางแผนขึ้นภาษีสินค้าที่ซื้อจากแพลตฟอร์มจีน เช่น Temu และ Shein หลังผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน https://positioningmag.com/1481016 Thu, 04 Jul 2024 09:49:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481016 สหภาพยุโรป (EU) เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ซื้อจากแพลตฟอร์มของจีนอย่าง Shein และ Temu รวมถึง Aliexpress โดยมาตรการดังกล่าวตามหลังมาจากสินค้าจากจีนราคาถูกจำนวนมากได้ทะลักเข้ามาในทวีปยุโรปเพิ่มมากขึ้น

EU เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ซื้อจากแพลตฟอร์มของจีนอย่าง Shein และ Temu รวมถึง Aliexpress โดยเหตุผลสำคัญคือสินค้าจีนราคาถูกได้ทะลักเข้าสู่ยุโรปจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งได้รับความเดือดร้อน

มาตรการที่ EU เตรียมงัดขึ้นมาคือ จะมีการขึ้นภาษีสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 150 ยูโร ซึ่งในอดีตไม่เคยต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งก่อนหน้านี้มีแค่การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เหล่า E-commerce ที่มีแหล่งจัดส่งนอกสหภาพยุโรป เช่น จีน ฯลฯ จะโดนภาษีเพิ่มเติมทันที ถ้าหากส่งสินค้าให้กับลูกค้าที่อยู่ในสหภาพยุโรป

จำนวนสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 150 ยูโรได้ทะลักเข้ามาในทวีปยุโรปมากถึง 2,300 ล้านชิ้นในปี 2023 ที่ผ่านมา โดยข้อมูลจาก EU เผยว่าแต่ละครัวเรือนในสหภาพยุโรปได้สั่งซื้อสินค้าจาก E-commerce เฉลี่ยครัวเรือนละ 2 ชิ้น

สำหรับ Shein หรือแม้แต่ Temu นั้นได้ขายสินค้าที่มีราคาถูก อย่างเช่น เดรสผู้หญิงในราคาราวๆ 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแม้แต่สินค้าที่มีราคาถูกมากๆ ไม่เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการจากจีนนั้นยังได้ประโยชน์เนื่องจากอัตราค่าขนส่งของจีนนั้นยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่จ่ายในอัตราแพงกว่า

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการในยุโรป เช่น H&M หรือแม้แต่ Inditex เจ้าของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอย่าง Zara นั้นเสียความสามารถในการแข่งขันจากสินค้าราคาถูกจากจีนเหล่านี้ จนต้องมีการงัดกลยุทธ์ออกมาต่อสู้

ไม่ใช่แค่ EU เท่านั้นที่กำลังปวดหัวกับสินค้าจากจีนจำนวนมากทะลักเข้าสู่ประเทศ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อินโดนีเซียเองกำลังพิจารณาที่จะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนบางชนิดสูงถึง 200% ด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลมองว่าสินค้าที่ทะลักเข้ามาบางชนิดส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้

ก่อนหน้าที่จะมีมาตรการตอบโต้สินค้าราคาถูกจากจีน EU ได้ออกมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดถึง 38.1% มาแล้ว เพื่อตอบโต้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ยุโรปจำนวนมาก และมองว่าผู้ผลิตจากจีนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่งผลทำให้ EV จีนมีราคาถูกกว่าผู้ผลิตในสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ดีในการใช้มาตรการดังกล่าวนั้นอาจเพิ่มหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร เนื่องจากต้องตรวจสอบสินค้านำเข้าจำนวนมาก นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของ EU ยังเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อนำเสนอให้กับรัฐสภายุโรปชุดใหม่ เพื่อพิจารณาวิธีการตอบโต้สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาด้วย

ที่มา – The Guardian, Reuters

]]>
1481016
Pinduoduo กลายเป็นบริษัท E-commerce ใหญ่สุดในจีน แซงหน้า Alibaba ที่ครองแชมป์มาอย่างยาวนาน https://positioningmag.com/1475917 Fri, 31 May 2024 02:43:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1475917 พินตัวตัว (Pinduoduo) กลายเป็นบริษัท E-commerce รายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยแซงหน้าแชมป์เก่าอย่างอาลีบาบา (Alibaba) ลงมาได้ ขณะเดียวกันศึกดังกล่าวระหว่างผู้เล่นจากจีนนั้นไม่ใช่แค่ศึกภายในประเทศเท่านั้น แต่ศึกนอกประเทศจีนเองก็ถือว่าน่าติดตามไม่น้อย

Pinduoduo ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่น E-commerce ในประเทศจีน ล่าสุดขนาดบริษัทสามารถที่จะแซงหน้ายักษ์ใหญ่ที่ครองแชมป์มานานอย่าง Alibaba ลงได้ ขณะเดียวกันการแข่งขันดังกล่าวของบริษัทเทคโนโลยีจีนนั้นอาจไม่ใช่แค่ศึกภายในประเทศ แต่ยังรวมถึงศึกนอกประเทศด้วย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Pinduoduo มีขนาดบริษัทใหญ่กว่า Alibaba ไปแล้วคือ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศจีนและนอกประเทศจีน ซึ่งในประเทศจีน Pinduoduo ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เช่น การใช้โมเดลให้ลูกค้าร่วมกันสั่งของเป็นปริมาณมาก และเน้นขายสินค้าราคาถูก เป็นต้น

ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ E-commerce คู่แข่งในประเทศจีนหลายรายที่เคยเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือแม้แต่ JD.com ถึงกับนั่งไม่ติด

ขณะที่กลยุทธ์นอกประเทศจีน Pinduoduo ได้ส่ง Temu ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันลูกของทางบริษัทไปตีตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก โดยการส่งธุรกิจไปตีตลาดต่างประเทศนั้นเมื่อเทียบกับ Alibaba แล้วถือว่าใช้เวลานานกว่ามาก แต่กลับประสบความสำเร็จเนื่องจากกลยุทธ์ของบริษัทคือเน้นขายสินค้าราคาถูก

ขณะเดียวกัน Pinduoduo เองก็มีแผนการขยายธุรกิจ Temu ไปยังหลายประเทศ และอาเซียนเองก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของบริษัทในการตีตลาดของบริษัทเช่นกัน

ตัวเลขล่าสุด (30 พฤษภาคม) จาก Bloomberg นั้น Pinduoduo มีขนาดบริษัท 210,079 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 7.72 ล้านล้านบาท สามารถที่จะโค่นแชมป์เก่าอย่าง Alibaba ที่มีขนาดบริษัทเพียงแค่ 191,182 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 7.03 ล้านล้านบาท ได้ในที่สุด

Temu ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญของบริษัทในการเจาะตลาดนอกประเทศจีนของ Pinduoduo – ภาพจาก Shutterstock

มาดูทางฝั่งของ Alibaba นั้น บริษัทกลับประสบปัญหานับตั้งแต่การเข้ามาปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีน สิ่งที่บริษัทโดนทั้งข้อหามีพฤติกรรมผูกขาด จนทำให้บางกรณีบริษัทต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน Alibaba เองก็ยังประสบกับความท้าทายไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะต้องดึงลูกค้ากลับมา เนื่องจากการแข่งขันในแพลตฟอร์ม E-commerce ในจีนที่ดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นกับ Pinduoduo เอง หรือแม้แต่คู่แข่งรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น JD.com หรือแม้แต่ Douyin

ไม่เพียงเท่านี้ธุรกิจต่างประเทศของ Alibaba เอง เช่น Lazada หรือ Aliexpress เองก็ต้องสู้กับคู่แข่งทั้งจากในจีนอย่าง Temu ของ Pinduoduo หรือแม้แต่ TikTok Shop รวมถึงผู้เล่นอย่าง Shopee หรือ E-commerce ที่เป็นผู้เล่นภายในประเทศ

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทำให้บริษัทมีแผนต้องปรับกลยุทธ์ภายในไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน CEO คนใหม่ หรือแม้แต่การแยกธุรกิจออกมาเป็น 6 หน่วยธุรกิจ เพื่อที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแล ไปจนถึงการปลดล็อกมูลค่าบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นเนื่องจากราคาหุ้นที่ตกลงมาเป็นเวลาหลายปี แม้แต่ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง แจ็ก หม่า เองก็สนับสนุนแผนการดังกล่าว

ในท้ายที่สุดแล้วศึกระหว่าง Pinduoduo กับ Alibaba ย่อมไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน เพราะมีทั้งศึกภายในประเทศจีน หรือแม้แต่นอกประเทศจีน ซึ่งต่างฝ่ายต้องการที่จะทำให้บริษัทเติบโตเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ

]]>
1475917
Temu อีคอมเมิร์ซจากจีน เปิดตัวในฟิลิปปินส์แล้ว อาจเห็นบุกตลาดอาเซียนแข่งกับ Lazada และ Shopee https://positioningmag.com/1442708 Tue, 29 Aug 2023 09:18:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1442708 เตมู (Temu) แพลตฟอร์ม E-commerce จากประเทศจีน ได้บุกตลาดอาเซียนแล้ว โดยล่าสุดได้เปิดตัวที่ฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญ หลังจากบริษัทได้บุกตลาดเกาหลี หรือแม้แต่ญี่ปุ่นในช่วงเดือนที่ผ่านมา

South China Morning Post รายงานข่าวว่า Temu ได้เปิดตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการแล้ว ในการเปิดตัวดังกล่าว แพลตฟอร์ม E-commerce จากจีนรายนี้ได้เสนอส่วนลดสูงสุดถึง 90% กับสินค้าเช่น เสื้อยืด เทปสองหน้า ที่เก็บของในครัวและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อที่จะดึงดูดลูกค้ารายใหม่

การเข้ามาในฟิลิปปินส์ของ Temu ถือเป็นการส่งสัญญาณบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันแพลตฟอร์ม E-commerce ในอาเซียนมีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดอยู่แล้วอย่าง Shopee ซึ่งมีเจ้าของคือ Sea กับ Lazada ซึ่งมีเจ้าของคือ Alibaba

ไม่เพียงเท่านี้ผู้เล่นหน้าใหม่ (แต่รายใหญ่) อย่าง TikTok Shop ที่ทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างหนักในอาเซียนด้วยเช่นกัน ก็หวังจะแย่งชิงส่วนแบ่งมาจาก 2 เจ้าใหญ่ที่ครองตลาดอยู่แล้วเช่นกัน

ข้อมูลล่าสุดจาก Momentum Works ในปี 2022 ที่ผ่านมา Shopee ครองส่วนแบ่งตลาดในฟิลิปปินส์มากถึง 60% ขณะที่ Lazada อยู่ที่ 36% และ TikTok Shop ที่ 4%

รายงานจาก Google และ Bain รวมถึง Temasek จัดทำในปีที่ผ่านมาชี้ว่าตลาด E-commerce ตั้งแต่ปี 2022 ถึงปี 2025 เติบโตมากถึง 17% ต่อปี ส่งผลทำให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งต่างสนใจตลาดอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ยังไม่มีผู้ชนะอย่างแท้จริง

สำหรับ Temu เป็นธุรกิจลูกของพินตัวตัว (Pinduoduo) ได้เปิดตัวธุรกิจดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก โดยจะเน้นขายสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อาทิ เสื้อผ้า เครื่องประดับ อุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน โดยสินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน

ไม่เพียงเท่านี้สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่กำลังฟื้นตัวในช่วงหลายเดือน แต่กลับแสดงให้เห็นว่าอ่อนแอลง ยิ่งทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีน รวมถึง Pinduoduo ต้องเร่งหารายได้นอกประเทศจีน ซึ่ง Temu ถือเป็นอีกแพลตฟอร์มที่ดึงรายได้นอกจีนได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน หลังจากบริษัทได้บุกตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควรแล้ว

]]>
1442708