TIDLOR – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 28 Apr 2021 13:13:03 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดตำนาน “เงินติดล้อ” ปฏิวัติธุรกิจสินเชื่อห้องแถวสีเทาๆ สู่การกู้แบบโปร่งใส https://positioningmag.com/1329573 Wed, 28 Apr 2021 08:20:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1329573 พูดคุยกับ “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” หัวเรือใหญ่ของ “เงินติดล้อ” อีกหนึ่งบริษัทเนื้อหอมที่กำลังจะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เร็วๆ นี้ เป็นหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อห้องแถว แต่สามารถเติบโตขยายเครือข่ายได้ทั่วประเทศ มีแผนที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ธุรกิจเงินกู้สีเทาๆ ให้เป็นธุรกิจสีขาวมีมาตรฐาน

จากสินเชื่อห้องแถว สู่เครือข่ายทั่วประเทศ

ในตอนนี้หลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากับ “เงินติดล้อ” กันมากขึ้น จากแต่เดิมคุ้นจากโฆษณา แต่ตอนนี้กำลังจะเป็นหุ้นอีก 1 ตัวสุดฮอต เตรียมเทรดในตลาดหลักทรัพย์ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับเงินติดล้อเพิ่มเติม ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) จะมาเล่าถึงตำนาน และทิศทางต่อไปของเงินติดล้อ

เงินติดล้อเริ่มต้นเมื่อปี 2523 ทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในนาม บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัด จากนั้นในปี 2534 เริ่มขยายธุรกิจไปจังหวัดต่างๆ 130 สาขา ทั่วประเทศ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด

ปี 2550 กลุ่ม AIG เข้าซื้อสินทรัพย์เครือข่ายสาขาจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด และเมื่อปี 2552 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่ม AIG ทำให้บริษัทฯ กลายเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร

ปิยะศักดิ์ บอกว่า เงินติดล้อเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเจ้าแรกมีเครือข่ายทั่วประเทศ ตอนที่มาศึกษาตลาดนี้ แต่เดิมเจอธุรกิจเฉพาะพื้นที่ หรือภูมิภาค เช่น ถ้าภาคเหนือจะเจอนิ่ม ซีเส็ง ตอนนั้นมี 400 สาขา ใน 8 จังหวัด ในภาคกลางเจอควิก ลีซซิ่ง

ในอดีตคนรู้จักสินเชื่อจำนำทะเบียนน้อยมาก คนไม่รู้ว่าถ้าเราเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ ถ้าเราผ่อนหมดแล้ว เราเอาทะเบียนมาจำนำของสินเชื่อได้ เงินติดล้อจึงทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เริ่มทำโฆษณาปี 2553 พูดถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ครั้งแรกของประเทศไทย ผลงาน “ต่อ ฟีโนมีน่า” ผลตอบรับดีมาก ทำให้มีคนเข้าคิวที่สาขาเยอะมาก

การปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถจะอ้างอิงตามมูลค่าตัวรถ ปิยะศักดิ์บอกว่า แต่หลักการอย่าปล่อยวงเงินเกินมูลค่าทรัพย์สิน ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขายรถขึ้นได้ เรายังอยากให้ลูกค้ามีหลักประกัน ผ่อนได้ และเอารถคืนไป ในอดีตมีการปล่อยวงเงิน 50% เช่น รถซื้อขายอยู่ที่ 100,000 บาท ให้สินเชื่อ 50,000 บาท แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่แต่ละกรณี บางเคสให้ 85-100% เงินติดล้อสามารถปล่อยได้สูงสุด เพราะมีระบบจัดการความเสี่ยงสไตล์ธนาคาร

ปรับบรรยากาศเข้าท้องถิ่น

ปิยะศักดิ์ทำงานร่วมกับเงินติดล้อมา 13 ปี เกิดและเติบโตที่สหรัฐอเมริกา เป็นครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อแม่ มีธุรกิจเล็กๆ จึงได้เรียนรู้การทำงานตั้งแต่วัยเด็ก จนพอถึงวัยที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจอะไร จึงย้ายมาที่ประเทศไทยเรียน ม.ธรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์

ตอนแรกที่มาอยู่ที่ไทยก็มีความคิดแบบอเมริกันชนมาก ต่อต้านทุกเรื่อง เพราะวัฒนธรรมไทยขัดแย้งกับสิ่งที่โตขึ้นมา แต่แล้วก็มีโอกาสได้เข้าทำงานพาร์ตไทม์เป็นล่ามที่บริษัททำวิจัยการตลาด มีลูกค้าต่างชาติที่ต้องการศึกษาผู้บริโภคในไทย เดินทางไปต่างจังหวัดเยอะ ไปนั่งในบ้านชาวบ้าน ดูว่าใช้สินค้าอะไร ทำให้ได้เห็นวัตนธรรมไทยต่างจังหวัด

หลังจากนั้นทำงานเป็นที่ปรึกษาที่บอสตัน คอนเซาติ้ง กรุ๊ป แล้วย้ายไป AIG ในช่วงก่อนวิกฤตแฮมเบอเกอร์ AIG อยากทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ เลยตั้งทีมมาซื้อกิจการเงินติดล้อ จึงอยู่ในทีมที่ช่วยปิดดีลตั้งแต่ปี 2550 พอปี 2551 เริ่มทำด้านการตลาด และเป็น MD ในปี 2556

“มองย้อนกลับไปเหมือนสตอรี่ถูกสร้างมาให้ทำงานที่นี่ ตอนเป็นล่ามได้เห็นพฤติกรรมชาวบ้าน พอทำที่ปรึกษาทำ 2 โปรเจกต์ใหญ่ๆ คือธนาคาร และประกันรถยนต์ ผ่านมา 13 ปีมันเชื่อมโยงกันได้หมด ตอนแรกไม่ได้วางแผนด้วยซ้ำ”

ปิยะศักดิ์บอกว่า อยู่เงินติดล้อมา 13 ปี มีความยากตลอดเลย ปีแรกๆ พอเข้ามา ต้องโอนถ่ายมาจากท้องถิ่น การสร้างระบบให้ถูกต้องเป็นสิ่งท้าทายมาก แต่ก่อนธุรกิจนี้จะสีเทาๆ ออกดำ หลายแห่งจะตั้งใจไม่ให้คู่สัญญา หรือใบเสร็จ เพราะเวลามีปัญหาจะฟ้องไม่ได้ ร้องเรียนไม่ได้ แต่เราเข้ามาจะต้องทำให้ขาวให้ได้

การเปลี่ยนความคิดของทีมงานมาจากธนาคารก็ยาก ตีกันเองภายในระหว่างวิถีแบงก์ กับวิถีท้องถิ่น ต้องปรับบรรยากาศจากใส่สูทผูกไท คนแบงก์ก็จะมีวิธีการว่าถ้าไม่มีสเตทเมนต์เงินเดือน จะไม่ปล่อยสินเชื่อเด็ดขาด ก็ต้องปรับให้เข้ากันได้มากที่สุด

ทำสินเชื่อให้โปร่งใส มีเจตนาดี

อีกหนึ่งจุดที่ท้าทายที่สุดก็คือ “แบรนด์” ความสับสนของแบรนด์ ปิยะศักดิ์บอกว่า วันหนึ่งมาคิดว่าเราเป็นธุรกิจไม่มีจุดแข็ง ทำไมลูกค้าต้องมาห้องแถวนี้ พนักงานบอกไม่ได้ พนักงานคิดว่าจุดแตกต่างคือ เรามีแบงก์เป็นผู้ถือหุ้น เหมือนบอกว่าเราโดดเด่นเพราะพ่อแม่รวย แต่เราไม่ได้เก่ง เราต้องหาจุดเก่งของตัวเองให้ได้

จากนั้นมีวันหนึ่งได้ประชุมพนักงาน มีโจทย์ให้พนักงานว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร เลยนึกย้อนหลังไปว่าทำอะไรมาบ้าง จากการที่ศึกษาไมโครไฟแนนซ์ทั่วโลก ศึกษาพฤติกรรมคู่แข่ง ไปตกที่คำเดียว “เจตนา” ถ้าเรามีเจตนาที่ดี เราจะไปในทิศทางที่ดีกว่าเยอะ

ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ดูได้ว่าใครเจตนาดี หรือไม่ดี ตอนลูกค้าร้อนเงิน เราต้องเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เคยไปดูคู่แข่งเจ้าหนึ่ง รถยนต์คันละแสนบาท ลูกค้าต้องการ 60,000 บาท คู่แข่งมองว่าเป็นการซื้อรถในราคาถูก ถ้าลูกค้าผ่อนได้ก็ดี เขาก็ได้ดอกเบี้ย แต่ผ่อนไม่ได้คือยึดรถ แล้วเอาไปขายต่อแสนนึง แล้วได้ส่วนต่าง 40,000 บาท

สิ่งที่เงินติดล้อทำมาตลอด ทำสิ่งที่ถูกต้อง คืนส่วนต่างให้ลูกค้า มีการประกาศค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยบนเว็บไซต์ ทำให้เป็นมาตรฐาน แต่ก่อนค่าธรรมเนียมไม่มีมาตรฐาน พนักงานบางคนเก็บ 300 บาทก็ได้ ขาดโปร่งใส เรากำไรน้อยกว่าคู่แข่งมาตลอด เพราะทำสิ่งที่ถูก

“รถเป็นทรัพย์สินสำคัญของลูกค้า ไม่อันดับ 1 ก็อันดับ 2 พอปิดบัญชีจะคืนเล่มให้ลูกค้าภายใน 14 วัน บางเจ้ายื้อ คืนช้า ใช้เวลา 2-3 เดือน หวังลูกค้าเดือดร้อนแล้วกลับมาใหม่ เพราะถ้าคืนเล่มให้ลูกค้าเขาจะไปที่อื่นได้”

ลูกค้ากู้ เพราะไปลงทุน

พฤติกรรมลูกค้าที่มาใช้บริการขอสินเชื่อ จะพบว่าลูกค้าจะไม่มาใช้บริการ ถ้าไม่มีความจำเป็น จะต่างจากลูกค้าที่มีเงินเดือนประจำ ถ้าอยากได้มือถือก็สมัครบัตรเครดิต มันคือ การบริโภคเพื่อซื้อสินค้า แต่ลูกค้าของเงินติดล้อ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อ “การลงทุน” มากกว่า แต่ในปีที่แล้วช่วง COVID-19 ที่ลูกค้าต้องการหมุนเงิน ต้องการใข้เงินเพื่อการบริโภคบ้าง เช่น ลูกต้องเรียนผ่าน iPad หรือนำไปจ่ายค่าเช่า ก็จะมากู้เงิน

“ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อ ใครมีเครดิตก็เข้าถึงธนาคารได้ หลุดจากธนาคารก็ไปสถาบันอย่างอิออน หลุดจากนั้นมาที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ถ้าไม่มีรถเป็นประกัน สุดท้ายไปกู้นอกระบบ การติดตามหนี้เสียต่ำมาก อินไซต์คือ พอลูกค้าไปที่ไหนไม่ได้ และมีไม่กี่ที่ที่ให้เงิน ลูกค้าจะพยายามรักษาเครดิตตัวเอง ไม่ต้องการให้ทรัพย์สินโดนยึด ถ้าเราไม่ได้ปล่อยวงเงินสูงเกินไปก็ไม่ขาดทุน”

เงินติดล้อจึงต้องสร้างเครือข่ายให้ไปถึงลูกค้าทั่วประเทศ สาขาสินเชื่อทะเบียนรถจะแตกต่างจากธนาคาร โดยที่ธนาคารส่วนใหญ่จะมีสาขาในกรุงเทพฯ 40% และที่เหลืออยู่ตามหัวเมืองใหญ่ แต่สินเชื่อทะเบียนจะอยู่ตามชุมชน เข้าถึงคนมากกว่า

สินเชื่อห้องแถว เข้าถึงรากหญ้าได้ดีกว่าธนาคาร

ปิยะศักดิ์บอกว่า ความแตกต่างของธุรกิจสินเชื่อห้องแถว กับธนาคาร ชาวบ้านจะรู้สึกว่าเข้าถึงสินเชื่อห้องแถวได้ดีกว่า เพราะธนาคารจะสร้างตึก สร้างสาขาไว้ดูภูมิฐาน ชาวบ้านเลยรู้สึกมีช่องว่าง

“เคยทำผลสำรวจด้วยการเยี่ยมชาวบ้าน จะเห็นว่าชาวบ้านจะมีปฏิทิน มีวันที่วงเอาไว้ ซึ่งเป็นวันที่จะต้องไปธนาคาร เขาบอกว่าวันนี้ต้องแต่งตัวดีหน่อย เพราะเราทำธุรกรรมน้อย ไม่อยากให้เขามองไม่ดี ชาวบ้านมองว่าธนาคารเป็นบริการของคนมีเงินเก็บเยอะๆ มากกว่า” 

แต่เงินติดล้อสาขาเป็นห้องแถว เปิดแอร์ เปิดไฟ มีรองเท้าวางหน้าร้าน เป็นวัฒนธรรมที่เข้าถึงคนต่างจังหวัดได้มากกว่า ปัจจุบันมีสาขาในกรุงเทพฯ แค่ 15-20% และสาขาในต่างจังหวัด 75-80% ต่างจากธนาคารที่อยู่ในกทม. 40%

ปัจจุบันตลาดสินเชื่อมีทะเบียนเป็นประกันมีมูลค่า 3-4 แสนล้าน รวมทั้งทะเบียนบ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินติดล้อมูลค่า 50,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 10% แต่ถ้าสินเชื่อทะเบียนรถเป็นเบอร์หนึ่ง

โครงสร้างรถจดทะเบียนในไทย มอเตอร์ไซค์ 20 ล้านคัน รถยนต์ 17.5 ล้านคัน รถบรรทุก 1.5ล้านคัน ตลาดนี้ส่วนใหญ่จะนำรถมอเตอร์ไซค์มาจำนำ คิดเป็น 60% ของตลาด ส่วนคนมีรถยนต์จะเข้าถึงสินเชื่ออื่นๆ ได้มากกว่า

สำหรับเงินติดล้อมีสัดส่วนรายได้จากสินเชื่อทะเบียนรถ 92% ในแง่มูลค่ามีสัดส่วนจากรถเก๋ง/กระบะ 65% รถบรรทุก 23% และมอเตอร์ไซค์ 12% ถ้าในเชิงปริมาณจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ 55% รถเก๋ง/กระบะ 35% และรถบรรทุก 5-10%

โดยรถที่นิยมนำมาจำนำมากที่สุดได้แก่ มอเตอร์ไซค์ : ฮอนด้าเวฟ 100, รถกระบะ : อีซูซุ ส่วนรถเก๋ง : แคมรี่ และวีออส

ส่วนธุรกิจประกันตอนนี้มีสัดส่วนรายได้ 8% แต่มีการเติบโต 42%

สลัดภาพ “ศรีสวัสดิ์” สุดท้าทาย

“เพราะเราทำโฆษณาดีเกินไป คนถึงจำได้ และติดภาพศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ”

เมื่อปี 2561 เงินติดล้อได้แยกออกจากศรีสวัสดิ์ และได้ทำแคมเปญใหญ่ “เงินติดล้อ คือ เงินติดล้อ” เพื่อสร้างการรับรู้ และไม่ให้ลูกค้าสับสน แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก เพราะลูกค้ายังคงจำสับสนแบรนด์กันอยู่

“เมื่อก่อนลูกค้า 3 ใน 4 ยังคิดว่าเป็นบริษัทเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในเมือง ในอดีตแยกไม่ออก เป็นห้องแถวติดๆ กัน ตอนนั้นเราออกโฆษณาเยอะ โฆษณาคงดีเกินไป แต่จุดที่เป็นปัญหาคือ เจอลูกค้าร้องเรียนเข้ามา แบบว่าเจอปัญหาอีกที่ แล้วมาโวยที่เรา ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าเรา”

ปิยะศักดิ์เสริมว่า ที่ต้องทำการรับรู้ใหม่ ด้วยการตัดคำว่าศรีสวัสดิ์ออก เพราะเราอยากอยู่ระยะยาว อยากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน นักลงทุน ลงทุนกับแบรนด์นี้ไปเยอะ ถ้าตัดความสับสนของแบรนด์ไปได้ จะมีโอกาสอีกเยอะ

ใช้ดาต้าในการขยายสาขา

ธุรกิจสินเชื่อห้องแถว จำเป็นต้องมีการขยายสาขาจำนวนมากเพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าในระดับชุมชน เงินติดล้อจึงมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี และใช้ดาต้าในการเลือกสาขา ได้สร้างโมเดลหนึ่งขึ้นมา ทั่วไปเวลาจะเปิดสาขาตรงไหน จะมีข้อมูลทั่วไปอย่างตัวเลขประชากร รถจดทะเบียน แต่สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมว่าการเปิดใกล้โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน ร้านทอง โรงรับจำนำ จะมีผลอะไรหรือไม่ และการเปิดใกล้ หรือไกลคู่แข่งกี่รัศมีถึงจะเหมาะสม

ปิยะศักดิ์ เล่าว่า สิ่งที่เราทำคือ ให้พนักงานในแต่ละเมืองขี่มอเตอร์ไซค์ตะเวนถ่ายรูปส่งมาให้ที่สำนักงานใหญ่ แต่ละรูปจะมีพิกัดอยู่ ก็จะปักหมุดไว้ แล้วมาวางบนแผนที่อีกที เอาไปเปรียบเทียบกับทราฟฟิกในสาขา ฐานลูกค้า สัดส่วนมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ โมเดลนี้จะบอกได้ว่าควรจะเปิดที่ไหนบ้าง

ปัจจุบันมีทั้งหมด 1,100 สาขา ปีนี้ขยายไม่ต่ำกว่า 100-200 สาขา โมเดลบอกได้เปิดอีก 500 สาขา

ในเดือนพฤษภาคมเงินติดล้อจะติดนามสกุล “มหาชน” อย่างเต็มตัว เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ชื่อว่า TIDLOR คาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายวันแรกวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เคาะราคาที่ 36.50 บาทต่อหุ้น เสนอขายหุ้น รวมทั้งสิ้น 1,043,542,800 หุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) โดยมีมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 38,089 ล้านบาท

โดยการจัดสรรหุ้นเพิ่มเติมให้กับผู้จองซื้อรายย่อย รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 75,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,737 ล้านบาทที่ราคาเสนอขายสุดท้าย

เงินติดล้อวางเป้าหมายในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อต้องการลดสัดส่วนหนี้ที่กู้จากตลาดเงินทุน ถ้าเทียบกับเจ้าอื่นสัดส่วนหนี้อาจจะสูงกว่าหน่อย เลยต้องการเอาเงินทุนเข้ามามากขึ้น เพราะปีที่แล้วเจอสภาพตลาดเงินทุนที่ทำงานไม่ปกติ

อีกทั้งยังต้องการลงทุนต่อเนื่อง จะเปิดอีก 400-500 สาขา จะลงทุนด้านดิจิทัล 200-300 ล้านต่อปี รวมถึงธุรกิจประกันต้องใช้เม็ดเงินอีกเยอะ ตอนนี้คนรู้จักเยอะว่าเงินติดล้อขายประกัน แต่มีแค่ 70% ถ้าคนรู้จักมากขึ้น ผลตอบแทนน่าจะดีขึ้น ปกติใช้งบลงทุนขยายสาขาเฉลี่ย 4-7 แสนต่อสาขา รวมถึงมองเป้าหมายในการเติบโต 20% ต่อปี

]]>
1329573
อ่าน 5 ข้อ ทำความเข้าใจธุรกิจ “เงินติดล้อ” ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อหุ้น TIDLOR https://positioningmag.com/1328451 Tue, 20 Apr 2021 13:09:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328451 การระดมทุนครั้งใหญ่ของเงินติดล้อดึงความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยได้ไม่น้อยทีเดียว หลังเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เคาะราคาที่ 34.00-36.50 บาทต่อหุ้น เเละเปิดจองแบบ ‘Small Lot First’ ตามรอยหุ้น ‘OR’ ที่มียอดจองซื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เเต่กรณีของเงินติดล้อจะเเตกต่างไปอย่างไร ต้องติดตาม

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TIDLOR’ ให้เปิดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้น TIDLOR ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้นทั้ง 3 ราย ในวันที่ 22-26 เมษายน 2564

จากนั้น TIDLOR จะประกาศราคา IPO และผลการจัดสรรหุ้นแก่นักลงทุนทั่วไปอย่างเป็นทางการวันที่ 28 เมษายน เเละจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก 10 พฤษภาคม

สำหรับการเเจกจ่ายหุ้นเเบบ Small Lot First นั้นจะเป็นการเเจกจ่ายหุ้นให้ทั่วถึงผู้จองซื้อทุกคน ขั้นต่ำ 1,000 หุ้นในราคาเสนอขายสุงสุดที่ 36.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 36,500 บาท

จากราคาเสนอขายหุ้น IPO เบื้องต้นที่ 34-36.50 บาท คาดว่าบริษัทจะสามารถระดมทุนราว 35,480-38,089 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย จ่อติดอันดับใน SET50 ทันที 

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาธุรกิจนั้นๆ ให้รอบคอบ วันนี้ Positioning รวบรวมพื้นฐานธุรกิจ ความท้าทาย กลยุทธ์การเติบโต เเผนลงทุนต่อไป เเละรายละเอียดในการจองซื้อหุ้นของ ‘TIDLOR’ ไว้ดังนี้

รู้จักธุรกิจ ‘เงินติดล้อ’ 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2523 ครอบครัวเเก้วบุตตาเปิดตัวธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในชื่อบริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัดเพื่อเจาะลูกค้าเกษตรกรที่ไม่เข้าถึงเเหล่งเงินทุน

จากนั้นกิจการดำเนินไปได้ด้วยดี จนปี 2534 สามารถขยายธุรกิจออกไปในจังหวัดอื่นๆ ราว 130 สาขา เเละเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด

ต่อมาในปี 2550 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ AIG Consumer Finance Group, Inc (AIG) จากสหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการเเละเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัดเเละปรับโครงสร้างธุรกิจ รีเเบรนด์ใหม่ให้เป็นที่รู้จักในนามศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ

หลังขายกิจการไปเพียงหนึ่งปี (2551) ครอบครัวเเก้วบุตตาผู้ก่อตั้งศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อก็จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเดียวกัน ในชื่อศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1972’ โดยใช้ชื่อแบรนด์ศรีสวัสดิ์ซึ่งปัจจุบันก็คือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD นั่นเอง

ขณะเดียวกันในช่วงปี 2551 สหรัฐฯ เจอวิกฤตซับไพรม์ AIG จึงต้องขายหุ้น 100% ของศรีสวัสดิ์ให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา’ (BAY) เเละต่อมาในปี 2559 บริษัท Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. (SACA) เข้าซื้อหุ้น 50% จาก BAY เเละตอนนั้นมีการเพิ่มสาขาเป็นกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ

ในปี 2561 บริษัทตัดสินใจตัดคำว่าศรีสวัสดิ์ออกไป เพื่อป้องกันการสับสนกับคู่เเข่งเเละมุ่งปั้นเเบรนด์เงินติดล้อ’ ให้มีชื่อติดตลาด ปัจจุบันธุรกิจของเงินติดล้อ เเบ่งออกเป็น 2 หมวดหลักๆ ได้แก่

1.ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 

เงินติดล้อ เป็นผู้ให้บริการจำนำทะเบียนรถสินเชื่อจำนำทะเบียนรถรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยรายได้รวมในปี 2563 กว่า 83% มาจาก ‘ดอกเบี้ยสินเชื่อ’ มีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งกลุ่มสินเชื่อมอเตอร์ไซค์-รถยนต์ส่วนบุคคล เเละบัตรกดเงินสด

ล่าสุดมีสาขา 1,076 แห่ง ครอบคลุม 74 จังหวัด ตัวแทนขายมากกว่า 5,000 ราย พนักงานขายทางโทรศัพท์ 500 ราย ดีลเลอร์รถบรรทุกมือสอง 400 ราย เเละผ่านสาขาของ BAY อีก 680 แห่ง (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563) รวมไปถึงการให้บริการในทุกช่องทางออนไลน์ อย่างเว็บไซต์ แอปพลิเคชันเงินติดล้อ ไลน์เเละเพจเฟซบุ๊ก ฯลฯ

2.ธุรกิจบริการนายหน้าประกันภัย

เเม้จะเปิดตัวมาได้เพียง 3 ปี เเต่ก็มีเเนวโน้มทำรายได้ให้บริษัทได้ดี ด้วยการครองมาร์เก็ตเเชร์ที่ 2% เป็นอันดับ 3 ในตลาดนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย มีผลิตภัณฑ์ทั้งประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันโรคมะเร็ง ฯลฯ โดยมีบริษัทประกันภัยพันธมิตร 18 ราย

ในปี 2562-2563 เบี้ยประกันวินาศภัยที่จัดเก็บได้มีอัตราเติบโตสูงกว่าการเติบโตของภาพรวมเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งตลาด 12.5 เท่า

โดยฐานลูกค้าของเงินติดล้อ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท มีเงินหมุนเวียนไม่แน่นอนและประวัติข้อมูลทางการเงินจำกัด

รายได้เเละกำไรของ TIDLOR

  • ปี 2561 รายได้ 7,569 ล้านบาท กำไร 1,306 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 17.3% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 37,049.4 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 9,458 ล้านบาท กำไร 2,202 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 23.3% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 45,277.3 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 10,559 ล้านบาท กำไร 2,416 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 22.9% เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ 48,568 ล้านบาท

วีรภัทร์ วิริยะโกวิทยา ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.เงินติดล้อ ระบุว่า บริษัทมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิอยู่ที่ 36%

โดยธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของ TIDLOR มีการเติบโตต่อเนื่อง มียอดสินเชื่อคงค้างปีที่ผ่านมา 5.13 หมื่นล้านบาท จาก 3.97 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปีที่ผ่านมา

สำหรับโครงสร้างรายได้ปี 2563 มีสัดส่วนของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืม คิดเป็นสัดส่วน 71% รายได้ดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 11% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็นสัดส่วน 17%

คาดการณ์ว่ารายได้จากดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมและบริการรวมในปีนี้จะอยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อน และคาดกำไรสุทธิราว 3.45 พันล้านบาท เติบโต 15% ส่งผลให้มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 เท่ากับ 16%

ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นแรงผลักดันมูลค่าและการเติบโตที่สำคัญ โดยมีค่าเบี้ยประกันวินาศภัยปี 2563 ที่ระดับ 4.01 พันล้านบาท จาก 1.917 พันล้านบาท ในปี 2561

กางเเผน 3 ปี : ขยายสาขา-ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล 

วัตถุประสงค์ในการเปิดขายหุ้น IPO ให้ประชาชนครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเพิ่มทุนสำหรับการขยายธุรกิจ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนหนี้สิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างเงินทุน

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ เผยถึงเเผนธุรกิจต่อไปว่า จะมีการขยายสาขาอีก 500 แห่งให้ได้ภายในปี 2566 ครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มตัวแทนและพนักงานขายทางโทรศัพท์ ขยายสินเชื่อควบคู่ไปกับการบริการผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงินและเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานต่างๆ สู่ดิจิทัล

นอกจากนี้ เงินติดล้อยังมองหาโอกาสเติบโตจากการ ‘ควบรวมธุรกิจหรือการเข้าซื้อกิจการ’ ในเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ทั้งในประเทศและตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียน

“บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่รายได้เสริมที่มาจากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยรายย่อย จะยังเห็นการเติบโตราว 40% ในช่วง 2-3 ปี”

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

จัด Small Lot First ซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น

หุ้นสามัญ TIDLOR ที่จะเสนอขายจำนวนไม่เกิน 907,428,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่เกินร้อยละ 39.1 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด แบ่งออกเป็น

  • เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเงินติดล้อ จำนวนไม่เกิน 210,816,700 หุ้น
  • เสนอขายหุ้นสามัญเดิม โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวนไม่เกิน 284,144,300 หุ้น
  • เสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 412,467,600 หุ้น

สำหรับนักลงทุนรายย่อย TIDLOR จัดสรรหุ้นไว้ 46.5 ล้านหุ้น หรือมูลค่าราว 1,700 ล้านบาท เปิดให้นักลงทุนรายย่อยที่สนใจจองซื้อหุ้นได้ตั้งแต่ เวลา 09.00 น. ของวันที่ 22 เม.ย. 2564 ไปจนถึง เวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2564 (ในระยะเวลาดังกล่าวจองได้ตลอด 24 ชั่วโมง)

ซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น จ่ายเงินที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 36.50 บาท ด้วยเงิน 36,500 บาท (ไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่จองซื้อต่อหนึ่งใบจอง) ผ่านช่องทางออนไลน์ ของตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ราย ได้แก่

  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่
  • และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น) รายละเอียดการจองซื้อ คลิกที่นี่

โดยจะมีประกาศผลผ่านทาง www.settrade.com ในวันที่ 28 เม.ย. เเละจะเข้าเปิดเทรดวันแรก 10 พฤษภาคม 2564

ในกรณีที่ราคาเสนอขาย IPO สุดท้ายต่ำกว่า 36.50 บาทต่อหุ้น นักลงทุนที่จองซื้อแต่ละรายจะได้รับคืนเงินส่วนต่างระหว่างราคา 36.50 บาทต่อหุ้น กับราคาเสนอขายสุดท้าย

(อ่านรายละเอียดและหนังสือชี้ชวนของเงินติดล้อได้ ที่นี่ )

ทั้งนี้ การจัดสรรเเบบ Small Lot First นักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อและชำระเงินเเล้วทุกคนจะได้รับจัดสรรหุ้นในรอบแรกเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น จากนั้นมีการจัดสรรหุ้นรอบละ 100 หุ้นต่อรายไปเรื่อย ๆ จนกว่าหุ้นทั้งหมดที่ออกจำหน่ายจะจัดสรรจนหมด โดยเศษที่เหลือในรอบสุดท้ายนั้นจะมีการแจกจ่ายโดยโปรแกรมสุ่ม

ต้องจับตา ‘ความเสี่ยง’ อะไรบ้าง ? 

จากบทวิเคราะห์ของ MGR Online ระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหุ้น TIDLOR คือ ค่า P/E หุ้นของบริษัท โดยหากพิจารณากำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563) ที่ 2.41 พันล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 2.31 พันล้านหุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 212.95 ล้าน หุ้น) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.04 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ประมาณ 32.60-35.00 เท่า

โดยความเสี่ยงในธุรกิจของ TIDLOR ก็มีเช่น P/E ของหุ้นถือว่าสูงหากพิจารณากับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน อย่าง MTC ที่ระดับ 26.63 เท่า ส่วน SAWAD ที่ระดับ 24.90 เท่า และมีที่สูงกว่า TIDLOR คือ SAK ที่ระดับ 40.29 เท่า และ TQM ที่ระดับ 54.91 เท่า

ด้านภาพรวมธุรกิจของบริษัทถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ทั้งธุรกิจให้สินเชื่อ และธุรกิจนายหน้าประกันภัย แม้จะส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่สูง แต่ความเสี่ยงสำคัญของบริษัทคือ ‘กลุ่มลูกค้า’ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ใช้แรงงานและพนักงานบริษัท ทำให้บางส่วนมีรายได้หรือเงินหมุนเวียนที่ไม่แน่นอน และบางรายไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของธนาคารได้ ทำให้อาจไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตของผู้กู้และความเพียงพอของการบริหารความเสี่ยง

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ และดำรงการเติบโต แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถติดตามทวงหนี้สินเชื่อค้างชำระได้

Photo : Shutterstock

ในช่วงต้นปี 2564 ทริสเรทติ้งประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ระดับ A- ของ TIDLOR สืบเนื่องมาจากประกาศของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการออกและจำหน่ายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรกและการนำหุ้นสามัญของ TIDLOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการระดมทุนและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่งบการเงินของบริษัททำให้มีเครดิตพินิจแนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” หมายถึงสถานการณ์ด้านเครดิตดังกล่าวมีโอกาสที่จะส่งผลทั้งในทางบวกและลบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท หรืออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวอาจคงอยู่ในระดับเดิมเท่ากับในช่วงก่อนการประกาศเครดิตพินิจก็ได้ เพราะคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมากสุดไม่ต่ำกว่า 30% จาก 50%

ในขณะที่ Siam Asia Credit Access Pte Ltd (SACA) จะลดการถือหุ้นมากสุดไม่ต่ำกว่า 25% จาก 50% หลังจากที่หุ้นของบริษัทมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แม้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ SACA จะไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากบริษัทจดทะเบียน และในระยะปานกลาง ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีความประสงค์ที่จะคงระดับการถือหุ้นให้ไม่ต่ำกว่า 30% แม้ว่าจะผ่านระยะเวลาห้ามจำหน่ายหุ้นไปแล้วก็ตาม

อ่านฉบับเต็ม : “เงินติดล้อ” แม้แกร่งแต่เสี่ยง ธุรกิจแข่งขันสูง-กลุ่มลูกค้าน่าห่วง

 

ที่มา : sec.or.thngerntidlor.com , tidlorinvestor , MGR Online

 

]]>
1328451