VanEck Vectors Vietnam ETF – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 17 Jan 2022 04:48:18 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Sun Rise “ตลาดหุ้นเวียดนาม” ดาวรุ่งแห่งเอเซีย https://positioningmag.com/1370496 Sun, 16 Jan 2022 13:31:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370496

ปี 2564 เป็นปีที่นักลงทุนทั่วโลกฮือฮากับตลาดหุ้นเวียดนามที่พุ่งทะยานสุดขีด…เป็นประวัติการณ์ที่ดัชนีฯ ทำสถิติใหม่ถึง 4 ครั้งในรอบ 1 ปี แบบที่ไม่สนใจว่า ภาพเศรษฐกิจหดตัวแรงจากวิกฤต Covid-19 ระลอกใหม่ด้วย  

นับเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่านักลงทุนให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของประเทศเวียดนาม ดาวรุ่งแห่งภูมิภาคเอเชียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ตลาดหุ้นเวียดนามพร้อมทำ New All-Time High 

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจเวียดนามจะหดตัว แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบหรือกดดันต่อดัชนี VNI ที่เป็นดัชนีหลักในตลาดหุ้นโฮจิมินห์ได้เลย แถมยังทำสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) อีกด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ออกมาติดลบ 6.17% หดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเริ่มมีการทำรายงานตัวเลข GDP เมื่อปี 2529

โดยดัชนี VNI ทำนิวไฮ 4 ครั้งในปี 2564 เริ่มจาก

  • นิวไฮครั้งแรก 1,200 จุด วันที่ 1 เมษายน
  • ครั้งที่ 2 นิวไฮ 1,300 จุด วันที่ 25 พฤษภาคม
  • ครั้งที่ 3 นิวไฮ 1,400 จุด วันที่ 28 มิถุนายน
  • ครั้งที่ 4 นิวไฮ 1,500 จุด วันที่ 25 พฤศจิกายน

ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้น ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 9,193 ล้านล้านดง หรือ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 37.6% จากสิ้นปีที่แล้ว และมีสัดส่วน 148% ของมูลค่า GDP ประเทศ

Photo : Shutterstock

ส่วนโครงสร้างตลาดหุ้นเวียดนาม ถูกขับเคลื่อนจากฐานนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ที่มีสัดส่วนเกือบ 99% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด โดยข้อมูลจาก Vietnam Securities Depository ระบุว่า ณ สิ้นพฤศจิกายน 2564 ตลาดหุ้นเวียดนามมีจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ 4.083 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นราว 1.3 ล้านบัญชีจากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 2.771 ล้านบัญชี ถือเป็นปีที่มีจำนวนบัญชีใหม่สูงกว่าตัวเลขรวมที่เปิดบัญชีใหม่ตั้งแต่ช่วงปี 2560 – 2563

ยิ่งไปกว่านั้น เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ตลาดหุ้นเวียดนามทำนิวไฮใหม่ มีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเปิดบัญชีใหม่มากถึง 2.2 แสนบัญชี

ตอกย้ำปี 2564 เป็นปีทองของตลาดหุ้นเวียดนามจริงๆ ครับ สร้างปรากฏการณ์ตลาดหุ้นที่เติบโตสูงที่สุดในเอเชียต่อเนื่องมาจากปี 2563 สร้าง Mass Participation จากนักลงทุนรายย่อยในประเทศมากมาย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการจ้างงาน รายได้ครัวเรือน และกำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เติบโต นำไปสู่จำนวนเงินสะสมภาคประชาชนที่มากพอ แทนที่จะฝากไว้ในธนาคารกินดอกเบี้ยต่ำ นำเงินมาลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงย

ส่วนนักลงทุนรายย่อยต่างชาติ มีจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นเพียง 35,000 บัญชี ซึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ (Foreign Ownership Limit หรือ FOL) กำหนดสัดส่วนสูงสุด 49% ของทั้งหมดนั่นเอง

Photo : Shutterstock

เส้นทางการเติบโตของตลาดหุ้นเวียดนามที่ก้าวกระโดด ดันให้ตลาดหุ้นเวียดนามจ่อถูกเลื่อนชั้นขึ้นจากกลุ่มตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ในราวปี 2565 ก็เป็นได้ หากรัฐบาลมีการปลดล็อกข้อจำกัดนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% ด้วย เพื่อให้เข้าเกณฑ์ Foreign Ownership ของ MSCI หน่วยงานที่จัดกลุ่มตลาดหุ้นทั่วโลก

หากวันใดที่ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ ที่อยู่กลุ่มเดียวกับประเทศจีน อินเดีย และไทย นั่นหมายความว่า เม็ดเงินมหาศาลจากนักลงทุนทั่วโลกไหลทะลักเข้าตลาดหุ้นเวียดนาม ขึ้นแท่น ‘ดาวรุ่งตลาดหุ้นเกิดใหม่ของโลก’ อีกดวง และอาจจะมีโอกาสที่ดัชนีและมาร์เก็ตแคปจะทุบสถิติใหม่ยิ่งกว่าปี 2564

รวมตลาดหุ้นสร้างฐานมั่นคง รับเศรษฐกิจเติบโตสดใส

อีกจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3  คือ รัฐบาลเวียดนามได้ปรับโครงสร้างตลาดทุนภายในระยะเวลา 3 ปี ด้วยการรวมตลาดหุ้นโฮจิมินห์ (HOSE) และตลาดหุ้นฮานอย (HNX) แสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม โปร่งใส และมีมาตรฐานสากล โดยขณะนี้รัฐบาลได้จัดตั้งองค์กรใหม่ คือ Vietnam Stock Exchange (VNX) และเข้าถือหุ้น 100% พร้อมดูแลการดำเนินงานใน HOSE และ HNX คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน 2568

การปรับโครงสร้างรวมตลาดหุ้นดังกล่าว จะมีการโอนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน เข้าไปใน HOSE ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และ HOSE จะเป็นตลาดซื้อขายหุ้น ETF (Exchange Traded Fund) กองทุนประเภทอื่นๆ และวอร์แรนต์ด้วย ส่วน HNX จะกลายเป็นตลาดซื้อขายตราสารหนี้อย่างเต็มตัว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566

Photo : Shutterstock

สำหรับเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา GDP ขยายตัวแข็งแกร่งมาก เฉลี่ยปีละ 5 -7% แม้ปี 2563 ที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาด Covid–19 เป็นปีแรก ก็ยังสามารถประคอง GDP เป็นบวกได้ สวนทางกับเศรษฐกิจโลกและหลายๆ ประเทศที่ล้วนประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัว และปี 2564 นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ GDP ของเวียดนามจะเติบโตได้อีก 2.3% และปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 6.6%

โมเมนตัมที่ผลักดันให้เศรษฐกิจหมุนรอบแบบแรงดีไม่มีตกในระยะยาว ประกอบด้วย

เรื่องแรก โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานมากถึง 70% ของประชากรรวมเกือบ 100 ล้านคน ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกใบนี้ที่มีสัดส่วนคนวัยทำงานสูงระดับนี้ สะท้อนศักยภาพของประเทศที่มีความพร้อมด้านกำลังแรงงาน และยังมีการพัฒนาทักษะแรงงานของประชากร เพื่อรองรับการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันการพัฒนาประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

เรื่องที่สอง รัฐเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคของประเทศอย่างมาก รองรับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ดอย เหม่ย (Doi Moi) ที่ปักจุดหมายด้านการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับประเทศจาก ‘เกษตรกรรม’ สู่ ‘อุตสาหกรรม’ ภายใต้ระบบการเมืองแบบพรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ทำให้สามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้อย่างแน่วแน่

เรื่องที่ 3 รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) มูลค่าสูงติดอันดับต้นๆในภูมิภาคนี้ อย่างน้อยก็แซงหน้าไทยไปแล้ว และยังเป็น 1 ในฐานการผลิตใหญ่ๆ ของโลก เป็นอีกหนึ่งประเทศ ‘ห่วงโซ่การผลิต’ รายใหม่ของโลก ทุกวันนี้บริษัทชื่อดังระดับโลกหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเปิดโรงงานผลิตสินค้าส่งออกนับเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Samsung บริษัท LG บริษัท Hyundai บริษัท Intel เป็นต้น กลายเป็นอีกเสาหลัก (Pilar) หนุนให้เศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด

Photo : Shutterstock

เรื่องที่ 4 ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ตั้งกำแพงภาษีต่างๆ ขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่างชาติในจีนต้องปรับแผนการผลิต ด้วยการใช้โมเดล China+ 1 คือ ลดการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตจากประเทศจีนแห่งเดียว หันมาเพิ่มอีกประเทศหลักที่จะเป็น ‘สายพานการผลิตของโลก’ แห่งใหม่ นั่นก็คือ ‘เวียดนาม’ ด้วยจุดแข็ง ‘ค่าแรงไม่สูง’ ปัจจุบันฐานเงินเดือนของแรงงานเวียดนามอยู่ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และที่สำคัญ สินค้าที่ผลิตในเวียดนาม สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ โดยไม่ติดกำแพงภาษีหนักเหมือนจีน วันนี้ เวียดนามขึ้นแท่น ฮับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับบ้านครัวเรือน

เรื่องที่ 5 การปรับตัวเข้าสู่บริบทโลกดิจิทัล ด้วยโครงสร้างประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ท่ามกลางจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงกว่า 70% ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนามมีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย ตามทันกระแสโลกดิสรัปชั่น

เวียดนาม จึงเป็นอีกประเทศที่มีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เกือบ 100 ล้านคน ฐานคนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานที่มีรายได้มีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่คนสูงอายุมากกว่า 60 ปี ยังมีสัดส่วนไม่สูงนัก ที่สำคัญกว่านั้น คนเวียดนามไม่ค่อยมีหนี้สิน ดังนั้น ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนอยู่ระดับต่ำ นี่คือ ภาพรวมของเศรษฐกิจและการเงิน ที่ผลักดันให้ประเทศยังมีศักยภาพเติบโตก้าวกระโดดได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีข้างหน้า

สปอตไลท์ส่องตรง “เวียดนาม” ดาวรุ่งดวงใหม่ของโลก

ภาพจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อตลาดหุ้น ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ปัจจุบันบริษัทในตลาดหุ้นเวียดนามมีการเติบโตด้านรายได้และกำไรสูงมาก สอดคล้องไปกับคาดการณ์ GDP ที่เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ขณะที่มูลค่าหุ้นยังถูก ทำให้เป็นอีกตลาดที่ดึงดูดนักลงทุนที่เน้นคุณค่า (Value Investor หรือ VI ) ที่หลั่งไหลเข้าลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตสูง

Photo : Shutterstock

ตัวผมก็มองว่า ตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็นแหล่งรวม ‘หุ้นดีราคาถูก’ อีกมากมาย ข้อมูลจากการทดสอบ Back Test ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีของ Jitta Ranking เวียดนาม สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นได้สูงถึง 21.45% ต่อปี และจากการใช้ AI ช่วยวิเคราะห์และคัดเลือก ‘หุ้นดีราคาถูก’ ก็คัดออกมาได้ 5 บริษัทที่อยู่ในอันดับต้นๆ นำโดย

1. Vietnam Technological & Commercial Bank มีมาร์เก็ตแคป 175.0 ล้านล้านดง เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการแบบครบวงจร ทั้งเงินฝากและสินเชื่อ แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการซื้อขายกองทุน และยังมีเป้าหมายก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมการเงินดิจิทัล

2. Military Commercial Bank มีมาร์เก็ตแคปที่ 106.5 ล้านล้านดง เป็นสถาบันการเงินที่มีทั้งธนาคารพาณิชย์ และการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยต่างๆ รวมถึงการลงทุนทางการเงินอื่นๆ

3. Ho Chi Minh City Development Commercial Bank มีมาร์เก็ตแคปที่ 58.7 ล้านล้านดง ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ร่วมทุนแห่งแรกของเวียดนามที่มีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย พร้อมมีเป้าหมายจะขยายสาขาไปในต่างประเทศด้วย

4. Vicostone มีมาร์เก็ตแคป 18.6 ล้านล้านดง เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายหินควอทซ์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ มีการส่งออกมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยสินค้าของบริษัทใช้ในการตกแต่งบ้าน เช่น เคาน์เตอร์ครัว โต๊ะเครื่องแป้ง แผ่นผนัง และพื้น

5. Phu Tai มาร์เก็ตแคปที่ 5.0 ล้านล้านดงเวียดนาม บริษัทผลิตและซื้อขายสินค้าประเภทหินและไม้ในเวียดนามและส่งออกไปต่างประเทศ จัดจำหน่ายหินหลายชนิด เช่น หินแกรนิต หินอ่อน กระเบื้อง หินบด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ บริษัทยังให้บริการเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย ทั้งรับซื้อขาย ตลอดจนให้บริการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์ และยานยนต์อื่นๆ นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วย

Ho Chi Minh City, Vietnam – May 2, 2018: colorful perspective of Bui Vien Street with numerous hotel, bar and shop sign boards, crowded with people & motorbikes with a view of Bitexco Financial Tower

การจัดอันดับหุ้นน่าลงทุนตามหลัก ‘ลงทุนในธุรกิจที่ดีในราคาที่เหมาะสม’ โดย Jitta.com แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น ซึ่งเปิดให้บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หุ้นดีราคาถูกจาก 3 ใน 5 บริษัทในตลาดหุ้นเวียดนาม จะอยู่ในกลุ่มภาคการเงิน (Financials) ซึ่งเป็นธุรกิจที่สำคัญในตลาดหุ้น ยิ่งเศรษฐกิจมีเม็ดเงินสะพัดจากการลงทุนและจับจ่ายใช้สอย ทำให้ระบบธนาคารของเวียดนามมีความแข็งแกร่ง รายได้และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหลักในตลาดหุ้นเวียดนามยังมีกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองสูงในตลาด ส่งผลต่อรายได้และกำไรเติบโตจากภาคการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากคุณยังไม่พร้อมที่จะลงทุนและคัดเลือกหุ้นดีราคาถูกด้วยตนเอง ก็ยังมีทางเลือกลงทุนผ่านกองทุน VanEck Vectors Vietnam ETF (VM) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค อ้างอิงดัชนี MVIS Vietnam Index เน้นลงทุนใน 28 บริษัท ที่มีมูลค่าการตลาดอย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนามและต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น  แต่มีสินทรัพย์หรือสร้างรายได้อย่างน้อย 50%ในประเทศเวียดนามทีเดียว

หากดูผลตอบแทน ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2564 ของกองทุน VanEck Vectors Vietnam ETF ในช่วง 3 เดือนย้อนหลังและ 6 เดือนย้อนหลัง อยู่ที่ 6.04% และ 3.25% ตามลำดับ ขณะที่ในช่วง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทนสูงถึง 24.11% 44.3% และ 67.77% ตามลำดับ

Photo : Shutterstock

ทั้งนี้ กองทุนส่วนบุคคล Thematic ของ Jitta wealth ก็มีธีมตลาดหุ้นเวียดนามในบริการกองทุนส่วนบุคคล Thematic และลงทุนใน ETF ดังกล่าวด้วย

จากตัวเลขผลตอบแทนที่ผ่านมา และเส้นทางเติบโตไปข้างหน้าของเวียดนาม ผมเชื่อว่า คุณไม่อาจปฏิเสธว่า เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านของไทย กำลังเติบโตในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การลงทุนจากภาครัฐและเอกชน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คุณภาพชีวิตประชากร รวมไปถึงตลาดหุ้น ที่เป็นดัชนีชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจล่วงหน้า

แม้แต่นักลงทุนไทยชื่อดัง ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนสาย VI (Value Invester) ยังประเมินว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า พอร์ตหุ้นเวียดนามของเขาจะใหญ่กว่าพอร์ตหุ้นไทย

หากคุณมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่กำลังยกระดับสู่ประเทศอุตสาหกรรม และเป็นอีกหนึ่งประเทศ “ห่วงโซ่การผลิต” โลกดิจิทัล ถึงเวลากระจายเงินลงทุนเพื่อเติบโตไปกับโลกของดาวรุ่งแห่งเอเซีย “เวียดนาม”

]]>
1370496