Women in Business – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 06 Mar 2020 03:42:21 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “หญิงไทย” ขึ้นแท่น CEO มากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่กลับขาดโอกาสทางการเมืองในสภา https://positioningmag.com/1267071 Thu, 05 Mar 2020 09:44:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1267071 แกรนท์ ธอนตัน เปิดผลสำรวจพบประเทศไทยมีสัดส่วนผู้บริหารหญิงสูงมาก โดยมีสัดส่วนซีอีโอหญิงสูงอันดับ 3 ของโลก และมีซีเอฟโอหญิงสูงเป็นอันดับ 1 สะท้อนโอกาสของผู้หญิงไทยในองค์กรเอกชนที่เปิดกว้างมากกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ในวงการการเมืองการปกครองผู้หญิงไทยกลับมีบทบาทน้อยมาก

แกรนท์ ธอนตัน เปิดรายงาน Women in Business (WIB) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากรายงาน International Business Report (IBR) โดยทำการสำรวจผ่านแบบสอบถามผู้บริหารระดับอาวุโสในบริษัทขนาดกลาง 5,000 แห่งจาก 30 ประเทศทั่วโลก (สำหรับประเทศไทยทำการสำรวจ 103 แห่ง) เก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2562

บริษัทพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นเพศหญิงสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก โดยมีสัดส่วนผู้บริหารหญิง 32% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 27% หรือถ้าหากวัดจากจำนวนบริษัทที่มีผู้บริหารระดับสูงเพศหญิงอย่างน้อย 1 คนจะมีสูงถึง 86% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 83%

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ของเอเชียแปซิฟิก ร่วมกับ จีนแผ่นดินใหญ่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มประเทศเหล่านี้มีค่าเฉลี่ยสัดส่วนจำนวนผู้บริหารหญิง 30% จะเห็นได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

“ปนิตยา จ่างจิต” ผู้อำนวยการแผนกการตลาดและการสื่อสารของ แกรนท์ ธอนตัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้หญิงได้รับการสนับสนุนมากกว่าในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ อาจจะเกิดจากตลาดยังมีความผันผวนสูง องค์กรส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง ทำให้ยังมีการปรับตัวสูง การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในองค์กรจึงทำได้ง่ายกว่าประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรมายาวนาน

ซีอีโอมากอันดับ 3 ส่วนซีเอฟโอมากอันดับ 1

เจาะลึกถึงตำแหน่งผู้บริหารหญิงในองค์กร แกรนท์ ธอนตัน พบว่า ตำแหน่งสูงสุดอย่างซีอีโอหรือกรรมการผู้จัดการ บริษัทในไทยที่มีผู้หญิงนั่งตำแหน่งนี้มีสูงถึง 24% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกคือ 20% และทำให้ไทยมีสัดส่วนซีอีโอหญิงมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

ขณะที่ตำแหน่งซีเอฟโอผู้กุมบังเหียนด้านการเงินยิ่งมากกว่า คือสัดส่วนบริษัทไทยที่มีซีเอฟโอหญิงนั้นสูงถึง 43% เป็นสัดส่วนที่สูงอันดับ 1 ของโลก

สรุปไล่เรียงตำแหน่งบริหารที่ผู้หญิงไทยได้ครอบครอง ประเมินตามสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งเหล่านั้น ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน-ซีเอฟโอ (43%) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ซีอีโอ (24%) ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล (23%) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ-ซีโอโอ (22%) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด-ซีเอ็มโอ (19%)

บทบาทผู้หญิงยังขาดหายใน “การเมือง”

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากบทบาทภายในองค์กรธุรกิจ ภาพรวมของ “ความเท่าเทียมทางเพศ” ในประเทศไทยยังอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น อ้างอิงจากผลสำรวจของ World Economic Forum ปี 2020 โดยมีคะแนนความเท่าเทียมที่ 0.685 เต็ม 1.000 เป็นอันดับที่ 75 จาก 153 ประเทศทั่วโลก

เมื่อเจาะลึกใน 4 ด้านของความเท่าเทียม คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านการเมือง ทุกด้านประเทศไทยมีคะแนนที่ดีเทียบเท่าหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงด้านการเมือง ผู้หญิงไทยมีความเท่าเทียมทางการเมืองในอันดับที่ 129 ของโลก โดยได้คะแนนต่ำเพราะผู้หญิงไทยมีบทบาทในรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีในสัดส่วนที่น้อยมาก

แกรนท์ ธอนตัน รวบรวมข้อมูลพบว่า มีผู้หญิงไทยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพียง 81 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกคือ 24.9% (*สำรวจก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะได้รับคำสั่งยุบพรรค ซึ่งจะทำให้ ส.ส.หญิงลดลงอีก 4 คน) ขณะที่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นหญิงเพียง 26 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.4% มีผู้หญิงในระดับรัฐมนตรีเพียง 3 คน คิดเป็น 8.6% และทั้งหมดยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเท่านั้น

ปิดท้ายที่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด มีผู้ว่าฯ หญิงเพียงคนเดียว เท่านั้นในไทย คิดเป็น 1.3% เธอคนนั้นคือ “กานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์” ผู้ว่าฯ จังหวัดแพร่

“เมเลีย ครูซ” หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า ผู้หญิงไทยมีบทบาทในองค์กรเอกชนสูง แต่กลับมีบทบาทในทางการเมืองต่ำ อาจเกิดจากองค์กรเอกชนมีการสนับสนุนเรื่องความหลากหลายในองค์กรมานานจนเริ่มเห็นผล แต่หน่วยงานภาครัฐอาจจะยังไม่มี อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ดูจากจำนวน ส.ส.หญิงที่มากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

“มาก” แต่ยังไม่เพียงพอ

ปนิตยาสรุปความสำคัญของการมีความหลากหลายในองค์กร ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่ยังมีเรื่องเชื้อชาติศาสนาด้วย หากองค์กรใดมีความหลากหลายมากกว่า เปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกว่า จะทำให้องค์กรนั้นได้ไอเดียสร้างสรรค์กว้างขึ้นกว่าเดิมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสัดส่วนผู้บริหารหญิง 32% ของไทย แม้จะมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่ก็ยังไม่ถึงหรือใกล้เคียง “ครึ่งหนึ่ง” เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้บริหารชาย ดังนั้นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศยังควรจะมีต่อไป

ในระดับโลก มีหลายองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญและออกนโยบาย “โควต้า” จำนวนผู้บริหารหญิงที่พึงมีในองค์กร ซึ่งเมเลียและปนิตยาเห็นตรงกันว่าเป็นนโยบายระยะสั้นที่ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การสร้างความเท่าเทียมเกิดขึ้นเร็วที่สุด

“ตอนนี้คนยังมีสมมติฐานที่ผิดต่อความสามารถของผู้หญิงอยู่ การให้โควต้าน่าจะช่วยป้องกันได้” เมเลียกล่าว และย้ำว่าสุดท้ายแล้วโควต้าเป็นการการันตีว่าผู้หญิงจะได้รับโอกาสพิจารณาขึ้นสู่ตำแหน่ง แต่สุดท้ายผู้หญิงก็ต้องมีความเหมาะสมจริงๆ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

เธอยังฝากคำแนะนำ 3 ข้อถึงผู้หญิงที่ต้องการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังนี้ 1.อย่าเป็น Perfectionist อย่ากลัวที่จะทำอะไรผิดพลาด เพราะคนเราจะเรียนรู้จากความผิดพลาด 2.ขอคำปรึกษา อย่ากังวลที่จะขอคำปรึกษาจากผู้อื่น การพัฒนาตนต้องได้รับการโค้ชชิ่งจากผู้อื่นด้วย 3.อย่าอายที่จะกล่าวถึงความสำเร็จของตนเอง ไม่ควรถ่อมตัวจนเกินไปเมื่อมาถึงการ ‘take credit’ ในงานที่ตนเองทำและควรกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง

“นี่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย แต่เราต้องแข่งกับตัวเอง” เมเลียกล่าวปิดท้าย

]]>
1267071