ขณะที่การออกเหรียญ ZMT มี “ไชยา–สถิตย์” ผู้เป็นพ่อ “เอภลาภ–พราว” และลูกชายรองนายกฯ “วิษณุ” เป็นทีมที่ปรึกษา จับโป๊ะ! ท่องคาถาจับมือ ก.ล.ต.แก้ปัญหา–โปร่งใส ขณะที่ “รื่นวดี” โต้ไม่รู้เรื่องยื่นศาลขอพักชำระหนี้ที่สิงคโปร์ เตรียมเรียกผู้บริหารแจงด่วน หลังนำส่งข้อมูลที่ไม่ใช่สาระสำคัญ พร้อมถก “ดีเอสไอ–ตร.ไซเบอร์” หาช่องฟันอาญา–แพ่ง ยันเอาผิดได้แม้ยื่นพักชำระหนี้ เหยื่อผู้เสียหายนัดบุก ก.ล.ต. วันนี้ (1 ส.ค.)
จากกรณีที่แพลตฟอร์ม “Zipmex” หรือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี เหตุได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ Zipup+ ของลูกค้าถูกนำไปฝากไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ และนำไปลงทุนกับ Babel Finance และ Celsius ซึ่งประสบปัปญหา จนไม่สามารถทำธุรกรรมใน Z Wallet ได้ สร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 53 ล้านดอลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท
เหตุดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนจำนวนมาก มีการตั้งกลุ่มผ่านสื่อโซเชียล ทั้งเฟซบุ๊ก และไลน์กรุ๊ป “ผู้เสียหาย ซิปเม็กซ์ (Zipmex)” และรวมตัวเข้าแจ้งความฟ้องร้องค่าเสียหายที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดยรวบรวมหลักฐานผู้เสียหาย 744 ราย มูลค่ามากกว่า 600 ล้านบาท และมีส่วนหนึ่งเดินทางไปยื่นดำเนินคดีกับผู้บริหารซิปเม็กซ์ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ เอภลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ได้ออกมาชี้แจงเป็นระยะๆ ว่า อยู่ระหว่างร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยความโปร่งใส และนำสินทรัพย์มาคืนให้ลูค้กค้า ประเด็นสำคัญคือ การดำเนินคดีกับคู่ค้า Babel Finance และ Celsius และเร่งเจรจากขายกิจการเพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัล และเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย
แต่พฤติกรรมผู้บริหารกลับตรงกันข้าม เนื่องจากการออกมาชี้แจงแต่ละครั้ง เป็นการพูดย้ำคำเดิมๆ ไม่สามารถตอบคำถามหรือข้อเรียกร้องของผู้เสียหาย แถมยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนและระยะเวลาที่แน่นอน
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อจู่ๆ วันที่ 28 ก.ค. 65 เว็บไซต์ของ ซิปเม็กซ์ กรุ๊ป (www.zipmex.com) ขึ้นประกาศว่า บริษัทฯได้ยื่น “Moratorium relief” ต่อศาลสิงคโปร์ สำหรับกิจการในกลุ่มของ Zipmex รวมทั้ง Zipmex ในประเทศไทย หรือ พูดง่ายๆ ว่า ซิปเม็กซ์สิงคโปร์ ยื่นขอศาลสิงคโปร์ให้คุ้มครองปลอดหนี้นั่นเอง
โดยระบุว่า 22 ก.ค. ซิปเม็กซ์ กรุ๊ป ได้มอบหมายให้สำนักงานทนายความ มอร์แกน ลิวอิส สแตมฟอร์ด แอลแอลซี (Lewis Stamford LLC) ได้ยื่นคำร้อง 5 ฉบับ ตามมาตรา 64 ของรัฐบัญญัติการล้มละลาย, การปรับโครงสร้างกิจการ, และการยุบเลิกกิจการ ปี 2018 ของสิงคโปร์ เพื่อยื่นขออนุญาตหยุดพักชำระหนี้ เพื่อจะได้ห้ามและจำกัด ไม่ให้มีการเริ่มต้นหรือการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของกระบวนการทางกฎหมายในการเรียกร้องเอากับบริษัทเหล่านี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจจะนานถึง 6 เดือน
กิจการในเครือของ Zipmex Group ที่ขอความคุ้มครองด้วยการขอหยุดพักชำระหนี้ ตามคำร้องที่ยื่นไปครั้งนี้ได้แก่
ซึ่งตามกฎหมายของสิงคโปร์ บริษัทเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้หยุดพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติได้เป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเวลา 30 วัน หรือจนกระทั่งศาลสิงคโปร์มีคำตัดสินเกี่ยวกับคำร้องที่ยื่นไป แล้วแต่เวลาไหนจะน้อยกว่ากัน
แต่ประเด็นสำคัญดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. กลับไม่รู้เรื่องตั้งแต่อย่างใด เพียงรับทราบเมื่อสื่อนำเสนอข่าวในวันที่ 28 ก.ค. 65 ทั้งที่บริษัทได้ยื่นเรื่องต่อศาลไปตั้งแต่ 22 ก.ค. 65 ขณะที่ผู้เสียหายคนไทย ที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมากก็ได้ เพิ่งรับทราบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเช่นกัน
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ในประกาศฉบับดังกล่าวระบุ เจ้าหนี้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการหารือในวันที่ 29 ก.ค. จะต้องลงทะเบียนภายในเวลา 5 โมงเย็น ของวันที่ประกาศ (28 ก.ค.) ซึ่งกระชั้นชิดเกินไปหรือไม่ แถมวิธีการลงทะเบียนก็ไม่มีรายละเอียดเพียงพอ เพียงบอกว่าให้ส่งอีเมลไปที่ [email protected] ประเทศสิงคโปร์
หรือนี่คือความโปร่งใส และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ เพื่อคืนความยุติธรรมและนำทรัพย์สินมาคืนให้แก่ผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ” ในครั้งนี้ ตามคำจำกัดความของ “เอกลาภ” ซีอีโอ ซิปเม็กซ์ ที่ย้ำทุกครั้งที่ออกมาชี้แจงความคืบหน้า
หลังสำนักงาน ก.ล.ต. รับทราบข่าว จึงได้สั่งการด่วนให้ ซิปเม็กซ์ ชี้แจงรายละเอียดกรณีที่เว็บไซต์ของ ซิปเม็กซ์ กรุ๊ป (www.zipmex.com) มีการยื่น Moratorium relief ต่อศาลสิงคโปร์ สำหรับกิจการในกลุ่มของ Zipmex รวมทั้ง Zipmex ในประเทศไทย พร้อมทั้งติดต่อกับลูกค้าซึ่งเข้าข่ายเป็นเจ้าหนี้ ก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ 28 ก.ค. 65 เพื่อให้สามารถใช้สิทธิในการเข้าฟังกระบวนการตามศาลสิงคโปร์ (case conference) ในวันที่ 29 ก.ค. 65
ด้านเอกลาภ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แจงกรณีดังกล่าวระบุ การยื่นขอพักชำระหนี้ (moratoriums relief) เป็นการดำเนินการของ Zipmex Asia Pte. Ltd (บริษัทแม่ของซิปเม็กซ์ซึ่งดำเนินการในประเทศสิงคโปร์) และ Zipmex Pte. Ltd. (บริษัทในเครือของซิปเม็กซ์ในประเทศสิงคโปร์) เพื่อให้ทั้ง 2 บริษัทสามารถดำเนินการเจรจาทางธุรกิจและบรรลุกระบวนการการลงทุนในกลุ่มบริษัท โดยนักลงทุนหรือบุคคลภายนอกอย่างปราศจากเหตุขัดข้องใด ๆ อันจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนในกลุ่มบริษัท เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ทั้งนี้ กระบวนการยื่นขอพักชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายประเทศสิงคโปร์ และไม่มีผลกระทบทางกฎหมายหรือมาตรการการควบคุมมายัง ZIPMEX รวมถึงบริษัทในเครือในประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย (ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง)
ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการได้ตามปกติ และในการให้ความร่วมมือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ในประเทศไทย รวมถึงบรรดา Zipsters ให้มีความเข้าใจอันดีถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ Z Wallet
ทั้งนี้บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และเรียกคืนความมั่นใจให้แก่ลูกค้าและนักลงทุน ซึ่งในขณะนี้ ซิปเม็กซ์มีความคืบหน้าในทางที่ดีจากการเจรจากับนักลงทุนหลายราย โดย ซิปเม็กซ์ หวังว่ากลยุทธ์ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้สถานการณ์ของซิปเม็กซ์ เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น
ประเด็นสำคัญ กับคำถามที่ตามมา คือ ทำไม? Zipmex Asia Pte. Ltd ได้ยื่นคำร้องตั้งแต่ 22 ก.ค. 65 แต่เพิ่งประกาศเมื่อ 28 ก.ค. 65 และ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย เอง ไม่แจ้งให้นักลงทุนชาวไทย ที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายมากที่สุดรับทราบ เพื่อเตรียมตัวในการเข้าหารือวันที่ 29 ก.ค. 65 หรือเตรียมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าจะอ้างว่าเป็นการดำเนินการของ Zipmex Asia Pte. Ltd ก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะ “เอกลาภ” เองก็มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับผู้บริหาร รวมทั้งยังคนไทยเป็นมีผู้บริหารระดับสูง และถือหุ้นใน Zipmex Asia Pte. Ltd ด้วยเช่นกัน
โดย ibit ได้สำรวจเครือข่ายความสัมพันธ์และโครงสร้างผู้ถือหุ้นระหว่าง Zipmex Asia Pte. Ltd และซิปเม็ก ประเทศไทย พบว่า บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด หรือซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ถือหุ้นโดย เอกลาภ ยิ้มวิไล ในสัดส่วน 51%, Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้น 49% และ ลิม เหว่ย ซีออง มาร์คัส (มาร์คัส ลิม) จำนวน 1 หุ้น (ตารางประกอบข่าว)
ซึ่ง มาร์คัส ลิม ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเซน และเป็นพาร์ตเนอร์คนสำคัญที่ “เอกลาภ” ชักชวนมาร่วมธุรกิจ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex ด้วย
แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว กลับพบพิรุธสัดส่วนการถือหุ้น ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ที่ เอกลาภ ไม่ได้ถือหุ้นโดยตรงแม้สักหุ้นเดียว เป็นแค่การถือหุ้นทางอ้อม ผ่าน 3 บริษัท คือ เอกลาภ ถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย ซับซิเดียรี จำกัด และเป็นบริษัท ซิปเม็กซ์ ซับซิเดียรี จำกัด ที่ถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) เมื่อคำนวณอัตราส่วนการถือหุ้นออกมาแล้วพบว่า เอกลาภถือหุ้นทางอ้อมเพียง 6.77% เท่านั้น
ขณะที่ Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้นใน ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ทางตรง 49% และทางอ้อมผ่านบริษัททั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 49% เมื่อคำนวณและรวมกันแล้วทำให้ Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้น ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย รวม 93.23%
โดยสรุป บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ถือหุ้นโดย Zipmex Asia Pte. Ltd 93.23% และเอกลาก 6.77%
สำหรับโครงสร้าง Zipmex Asia Pte. Ltd มีทุนจดเบียนในส่วนของหุ้นสามัญจำนวน 2,800,945 หุ้น และหุ้นบุริมสิทธิ์ 1,887,150 หุ้น โดย Segway Ventures Pte.Ltd. ของมาร์คัส ลิม เป็นถือหุ้นใหญ่ คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,353,347 หุ้น
ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ที่ถือใน Zipmex Asia Pte. Ltd ประกอบด้วย เอกลาภ ยิ้มวิไล ถือหุ้น 232,220 หุ้น, พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ถือ 162,811 หุ้น, ภาคย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ถือ 85,470 หุ้น และพัชร ล้อจินดากุล ถือ 16,590 หุ้น
ส่วนหุ้นบุริมสิทธิ์นั้นมีทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสัญชาติไทย เช่น นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ถือ 35,264 หุ้น และถือผ่านบริษัท วี เวนเจอร์ส เทคโนโลจีส์ จำกัด (บริษัทในเครือบมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) อีกจำนวน 70,529 หุ้น, Pacharee Rak-Amnouykit ถือ 29,325 หุ้น บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) ถือ 51,133 หุ้น, บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) ถือ 150,933 หุ้น และบจ.กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถือ 52,897 หุ้น
สำหรับ Zipmex Pte. Ltd (Zipmex Singapore) นั้น ทุนจดทะเบียนหุ้นสามัญจำนวน 7,449,940 หุ้น มี Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้นทั้งหมด 100% และบริหารงานโดย มาร์คัส ลิม
ขณะเดียวกัน ibit ยังได้เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดไวท์เปเปอร์การออกเหรียญ ZMT หรือ Zipmex Token พบว่า ZMT ออกโดย Zipmex ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตในการทําธุรกรรมระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งใน สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซียและไทย จำนวนทั้งหมด 200 ล้านเหรียญ ทยอยปล่อยเหรียญหมุนเวียน 66 ล้านเหรียญ ในปี 64 และครบจำนวนในปี 66
สัดส่วนการจัดสรรเหรียญ Community Development 38% Team 22% Treasury 20% Private Sales 15% Partner, Advisors, Early Investors 5%
โดยหัวเรือหลักคือ มาร์คัส ลิม และบุคคลสัญชาติไทย 2 คน คือ เอกลาภ ยิ้มวิไล และ พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส่วนที่เหลือเป็นต่างชาติ ได้แก่ James Tippett, Allan Timlin, Jonathan Low, Ken Tabuki, Kelvin Lam และ Nicholas Chan
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทีมที่ปรึกษา จำนวน 3 คน ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเกี่ยวข้องกับผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ คือ ไชยา ยิ้มวิไล บิดา เอกลาภ ยิ้มวิไล และยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2560, อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และสังกัดวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้อำนวยการ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบันฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ส่วนคนที่ 2 คือ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ บิดา พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, ประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น
ส่วนคนสุดท้าย วิชญะ เครืองาม บุตรชาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งเป็นนักกฎหมายและนักการเมืองผู้คร่ำหวอด ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหลายชุดและในหลายหน่วยงาน และเป็นราชบัณฑิตสาขาวิชากฎหมายปกครอง ขณะที่ วิชญะ ผู้เป็นบุตรชาย ถือว่าเจริญตามรอยเท้าพ่อ เรียนจบนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อปริญญาโท และเอก ดีกรีด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และเป็นผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงกฎหมาย และรับตำแหน่งสำคัญทั้งในแวดวงราชการและเอกชน
ล่าสุด 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้สั่งให้ ซิปเม็กซ์ แจ้งความคืบหน้ากระบวนการพักชำระหนี้ หลังจากได้มีการหารือเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 65 และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ที่เข้าข่ายเป็นเจ้าหนี้สามารถใช้สิทธิได้ภายในเวลาที่กำหนดโดย ซิปเม็กซ์ ได้แจ้งรายละเอียดและกระบวนการขอพักชำระหนี้ ระบุ หลังจากสำนักงานทนายความ มอร์แกน หลุยส์ สแตมฟอร์ด ซึ่งซิปเม็กซ์ แต่งตั้งดำเนินการยื่นศาลขอพักชำระหนี้ เมื่อช่วงก่อนเที่ยงวันที่ 29 ก.ค. 2565 โดยศาลได้มีการสั่งการ ดังต่อไปนี้ (โดยเวลาที่อ้างอิงคือ เวลาท้องถิ่นสิงคโปร์)
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ขณะนี้ ก.ล.ต.ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ที่อาจเข้าข่ายการประกอบธุรกิจอื่น นอกเหนือจาก พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอาญา เพราะอาจมีกรณีเข้าข่ายความผิดอีกหลายอย่างอยู่เหมือนกัน รวมถึงดำเนินการทางแพ่งระหว่างลูกค้าและซิปเม็กซ์ด้วย
น.ส.รื่นวดี กล่าวถึง โปรแกรม ZipUp+ หรือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญ นั้น ซิปเม็กซ์ไม่ได้มาหารือกับ ก.ล.ต.มาก่อน โดยก.ล.ต. ได้รับแจ้งหลังเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 65
ทั้งนี้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำหนดการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ชัดเจน “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย“
“ก.ล.ต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พอทราบเรื่อง ก็ได้ออกหนังสือให้ทางซิปเม็กซ์ชี้แจงทันที ซึ่งจนถึงวันนี้สิ่งที่ ก.ล.ต.ได้รับกลับมานั้นยังไม่ได้รายละเอียดอะไรเลย แม้แต่ข้อมูลลูกค้ารายบุคคลที่ได้รับความเสียหาย มีเพียงข้อมูลภาพรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น“ น.ส.รื่นวดี กล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินการขั้นต่อไปนั้นจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การทำธุรกรรมตรงนี้ผิดกฎเกณฑ์หรือตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ อะไรอีกหรือไม่ เพราะธุรกรรมตรงนี้ยังมีข้อสงสัยจากจากประชาชนและผู้ลงทุนอีกมาก และ 2. ประสานงานร่วมมือการทำงานร่วมกับดีเอสไอและตำรวจไซเบอร์ เพื่อพิจารณาว่ามีประเด็นผิดกฎหมายอื่นว่าอย่างไรอีกบ้าง
ขณะที่แนวทางการช่วยเหลือผู้เสียหายนั้น น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายออกหนังสือเรียกผู้บริหาร ซิปเม็กซ์ เข้ามาพบที่สำนักงาน ก.ล.ต. โดยด่วน เพื่อชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม และแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้า
น.ส.รื่นวดี กล่าวเพิ่มเติมถึง กรณีที่ Zipmex สิงคโปร์ได้ยื่นพักชำระหนี้ (Moratorium relief) ว่า คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเรื่อง Cross Border ซึ่งสิ่งที่บริษัท Zipmex สิงคโปร์ ยื่นพักชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลายของสิงคโปร์นั้น จะไม่เข้ามากระทบกับโอเปอเรชั่นหรือกิจการของ Zipmex ในประเทศไทย เพราะกฎหมายไทยวันนี้เราใช้ “หลักดินแดน” ยังไม่ได้ปรับใช้ UNCITRAL cross border insolvency เพียงแต่ถ้าทรัพย์สินของบริษัทไปอยู่ในสิงคโปร์และเป็นของคนไทย ก็จะต้องให้ไปใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็สามารถดำเนินการกับบริษัทเขาได้
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้เสียหาย Zipmex Thailand เตรียมเดินไทยไปเร้องที่สำนักงาน ก.ล.ต. (ถ.วิภาวดีฯ) ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น. เพื่อ 1.ยื่นเอกสารสำคัญ โดยมีหนังสือร้องขอรับการคุ้มครองดูแลตามอำนาจของ ก.ล.ต. ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง 2.เพื่อแสดงจุดยืนของกลุ่มผู้เสียหายทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เสียหายยังเสนอประเด็นคำถามให้ ก.ล.ต. จี้ถามผู้บริหารซิปเม็กซ์ ประเด็น Zipup+ เพื่อคลายข้อสงสัยและปกป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุน (อ่าน ตาราง คำถามดังๆ ที่ ก.ล.ต. ต้องถาม Zipmex)
]]>ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล ผู้ผลิตและสร้างสรรค์ภาพยนตร์-ซีรีส์แอนิเมชัน ควงพันธมิตรทั้งไทย-เทศเปิดตัวระบบนิเวศของ “คราวน์ โทเคน” (CWT) และพัฒนาแพลตฟอร์ม NFT ในชื่อ “ADOT” สร้างประสบการณ์เชื่อมต่อคอนเทนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (IPs) กับโลกการเงินดิจิทัล มุ่งไปสู่โลกอนาคตใน “เมตาเวิร์ส” โดยเหรียญ CWT เริ่มเทรดบน ZIPMEX แล้วตั้งแต่สัปดาห์ก่อน
ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) (T&B Media Global Thailand) เป็นผู้ผลิตและสร้างสรรค์ภาพยนตร์-ซีรีส์แอนิเมชันชั้นนำของไทย ผลิตผลงานทั้งที่ฉายในไทยและต่างประเทศ โดยมีงานที่ชาวไทยรู้จักดีอย่าง “เชลล์ดอน” มาถึงวันนี้ T&B กำลังก้าวไปอีกขั้นของการสร้างระบบนิเวศในธุรกิจสื่อบันเทิง ผ่านการจับมือพันธมิตรหลากหลายสร้าง “คราวน์ โทเคน” (CWT) และแพลตฟอร์ม “ADOT” สำหรับซื้อขาย NFT
คราวน์ โทเคนนี้เป็นเหรียญรูปแบบ Utility Token ที่จะมาเชื่อมโยงกับ ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IPs) ซึ่งก็คือคอนเทนต์และคาแรกเตอร์ที่ครีเอเตอร์ผลิตออกมาผ่านสื่อภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน เปิดประสบการณ์ใหม่ของผู้ถือคราวน์ โทเคนจะได้มีส่วนร่วมและรับสิทธิประโยชน์กับคอนเทนต์ ในแบบที่แตกต่างจากที่เคย
รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์ม ADOT มาเป็นพื้นที่ซื้อขาย สะสม แลกเปลี่ยน NFT จากครีเอเตอร์ ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ เกิดกิจกรรมใหม่ระหว่างครีเอเตอร์กับแฟนๆ
แน่นอนว่า T&B ไม่ได้สร้างระบบนิเวศนี้ด้วยตัวคนเดียว “ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศที่จะร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น
พันธมิตรระดับโลกอย่าง Mr. Andrew รวมถึง Mr. Kenji Xiao และ Sunac Culture Group จะร่วมกับ T&B ทุ่มทุนสร้างผลงานแอนิเมชันสู่ตลาดโลก 6 เรื่อง ระหว่างปี 2022-2025 ได้แก่ Legends of the Two Heroes, FriendZSpace, Looking for Gods, New Legend, The Forestias และ Blue City ซึ่งแอนิเมชันเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดเป็น NFT บนแพลตฟอร์ม ADOT อีกด้วย
“ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด
คุณพรรณธร ลออรรถวุฒิ, CFA, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มบริษัท T&B Media Global และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท VUCA Digital กล่าวว่า แพลตฟอร์ม ADOT จะเชื่อม IPs ที่ทั้งมีทั้งภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน เพลง และเอ็นเทอร์เทนเมนต์ในรูปแบบต่างๆ มาสู่สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Assets ซึ่งจะสร้างโอกาสเพิ่มมูลค่าและต่อยอดให้กับศิลปินคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ผู้ผลิต
รวมไปถึงผู้ชมจะได้มีส่วนร่วมและได้รับประสบการณ์รูปแบบใหม่ๆ เมื่อเข้าถือครองคราวน์ โทเคน- CWT จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย ทั้งการรับ NFT Airdrop จากแอนิเมชันทั้ง 6 เรื่อง สิทธิในการโหวตทิศทางของภาพยนตร์และแอนิเมชันในเครือ T&B สิทธิในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์และ NFT รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ จาก SMO Live Platform ซึ่งพัฒนาโดย Tree Roots Entertainment บริษัทในเครือ T&B และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมใน “Translucia Metaverse” ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ ของ T&B
คุณพรรณธร ลออรรถวุฒิ, CFA, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มบริษัท T&B Media Global และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท VUCA Digital
สำหรับแพลตฟอร์ม ADOT จะทำอะไรได้บ้าง? Mr. Roy Hui, Pellar Technology ประเทศออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนระดับสากล จะเป็นผู้พัฒนาโปรเจ็กต์นี้ Hui อธิบายถึงทิศทางของแพลตฟอร์ม NFT ใหม่นี้ว่า จะมีลูกเล่นให้กับครีเอเตอร์มากขึ้น เช่น Utility Function ครีเอเตอร์สามารถกำหนดได้ว่าเมื่อนักสะสมเก็บผลงานครบทั้งคอลเล็กชันแล้ว สามารถนำมาแลกเป็น NFT ชิ้นพิเศษได้ ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิต่อเนื่องเป็นการเข้า Meet & Greet กับศิลปิน
คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า MQDC ได้เห็นความสำคัญกับการนำนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ อย่างเช่น โทเคนดิจิทัล มาต่อยอดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในกลุ่มที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน ศูนย์การค้า ธุรกิจการให้บริการ รวมถึงนวัตกรรมทางการเงิน ภายใต้แนวคิด “For All Well-Being” พร้อมตอกย้ำความเชื่อมั่นว่านวัตกรรมการเงินในครั้งนี้จะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
คุณวิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเซิร์ช ได้ประกาศความเป็นไปได้ด้วยความร่วมมือของบริษัท Search Entertainment จะเป็นผู้ผลิตและดูแลการสร้างคอนเทนต์ NFT ขณะที่ VUCA Digital จะดูแลด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างคอมมูนิตี้
ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งพันธมิตรที่สำคัญของ T&B ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการนำ CWT เข้าไปลิสต์บน ZIPMEX ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565 ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของวงการบันเทิงในการต่อยอดธุรกิจ
พันธมิตรในการสร้างอีโคซิสเต็มนี้ต่างเห็นตรงกันว่า แพลตฟอร์ม NFT และเหรียญ CWT จะช่วย “เปลี่ยน” และ “เปิด” โอกาสธุรกิจใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ช่วยสร้างรายได้ ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ และทำให้ครีเอเตอร์กับแฟนๆ มีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้โลกเสมือน สร้างนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ที่ไร้ขีดจำกัด โดย “คราวน์ โทเคน” กำลังจะเปิดซื้อขายในระดับภูมิภาคเร็วๆ นี้อีกด้วย
]]>บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้า สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยามและสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ ผนึกกำลัง ZIPMEX (ซิปเม็กซ์) ผู้ให้บริการ แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยน สินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย ที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ด้วยการมอบสุดยอดแห่งประสบการณ์ที่แตกต่างและบริการหรูหราเหนือระดับที่ไม่อาจหาซื้อได้จากโลก Offline สู่แพลตฟอร์ม Online นับเป็นการผสานศักยภาพอันโดดเด่นของทั้ง 2 บริษัท สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกของวงการค้าปลีกไทย และตอกย้ำความเป็นผู้นำในการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างตรงใจให้กับผู้บริโภค ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดการลงทุนแบบใหม่ในโลกดิจิทัล
สรัลธร อัศเวศน์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริหารสมาชิก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เผยว่า
“สยามพิวรรธน์ ผู้นำในธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำแห่งการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้ชีวิต หรือ ‘The Icon of Innovative Lifestyle’ โดยมุ่งเน้นนำเสนอคอนเซ็ปต์แปลกใหม่ในการพัฒนาโครงการต่างๆ การค้าปลีกชนิดใหม่ๆ และคอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์ล้ำยุคหลายประเภทที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยหรือเป็นครั้งแรกในโลก และในครั้งนี้เราได้ตอกย้ำกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจร่วมกับ ZIPMEX ในรูปแบบ “Collaborate to Innovate” ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรระดับผู้นำธุรกิจให้บริการด้านการลงทุนและสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม ZIPMEX ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย แลกเปลี่ยนเพียงแห่งเดียวที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังและสำนักงาน ก.ล.ต. สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรก และครั้งสำคัญของวงการค้าปลีกไทย”
“สำหรับการผสานศักยภาพกับ Zipmex ในครั้งนี้ สยามพิวรรธน์ได้ดึงเอาจุดแข็งที่ส่งผลให้ศูนย์การค้าในเครือของสยามพิวรรธน์ครองความเป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาโดยตลอด คือการรังสรรค์ประสบการณ์ความหรูหราระดับโลกที่แตกต่างและนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแบบครบทุกมิติของไลฟ์สไตล์ที่ไม่อาจหาซื้อได้จากโลก Offline สู่แพลตฟอร์ม Online มอบให้กับผู้ใช้งาน ZIPMEX ผ่านแพลตฟอร์ม ZipWorld ซึ่งการผสาน ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะส่งผลให้สยามพิวรรธน์สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูงอีกด้วย”
การจับมือกับกลุ่มสยามพิวรรธน์นับเป็นการร่วมสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ในการมอบประสบการณ์สุดพิเศษที่เรียกว่า “Money Can’t Buy Experiences” ต้องแลกซื้อผ่านแพลตฟอร์ม ZipWorld (ซิปเวิลด์) ของ ZIPMEX โดยใช้ Zipmex Token (ZMT) เพื่อให้ลูกค้าได้เป็นคนแรกในการเข้าถึงคอลเลกชั่นเอ็กซ์คลูซีฟ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง Offline และ Online เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าทั้งสองแบรนด์
พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ZIPMEX) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า
“เป็นที่ทราบดีว่าปัจจุบัน โลกของ คริปโตเคอเรนซี่กำลังได้รับความสนใจ และได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ ZIPMEX ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า และมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทตัดสินใจมาร่วมลงทุน กับแพลตฟอร์มของเรา ทำให้ ZIPMEX มีฐานลูกค้าที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น หนึ่งในความแตกต่างของ ZIPMEX คือ เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดและได้รับประสบการณ์ ที่ไม่เหมือนใคร เรียกว่า เป็นเอ็กซ์คลูซีฟที่หาได้จากเราเท่านั้น เรามองถึงการนำเทคโนโลยี NFT (Non-Fungible Tokens) มาสู่ผู้ใช้งานทั่วไปได้ง่ายขึ้นโดยตั้งเป้าหมายให้ใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเป็นสินค้าหรือบริการที่จับต้อง และสัมผัสได้จริง บนแพลตฟอร์มที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนไทย เรามีพันธมิตรจำนวนมาก ครอบคลุมทุก ความต้องการ พร้อมจะมอบ ประสบการณ์สุดพิเศษให้กับลูกค้าของเรา และล่าสุดเราได้จับมือกับ กลุ่มสยามพิวรรธน์ พันธมิตรคนสำคัญ ที่มีเป้าหมาย เดียวกัน คือ การมอบประสบการณ์เหนือระดับให้กับลูกค้า”
การร่วมมือกันครั้งนี้จะทำให้ ZIPMEX ได้ขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มของไลฟ์สไตล์มากขึ้น “เปิดโอกาสให้ลูกค้าของ ZIPMEX เอง ได้สัมผัสถึงประสบการณ์ใหม่ๆ และเป็นครั้งแรกที่มีการผนึกกำลังแบบนี้กับกลุ่มรีเทล ทำให้เรารู้สึกเป็นเกียรติ เป็นอย่างมากที่ได้พาร์ทเนอร์อย่างสยามพิวรรธน์ มาร่วมผนึกกำลังต่อยอด Cashless Society ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้ม กระแสโลก รวมถึงในอนาคตที่โลกเสมือนจริงกำลังเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของเราทุกคนมากขึ้น” คุณพราวกล่าว
คุณสรัลธรกล่าวทิ้งท้าย “การผนึกกำลังความร่วมมือกันในครั้งนี้จะส่งผลให้สยามพิวรรธน์ สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้ลงทุนในโลก Digital หรือ Trade Online ที่มีกำลังสูงซื้อ พร้อมกับการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าตอกย้ำความเป็นผู้นำในการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างตรงใจให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง”
]]>