การรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยด้วยโซลูชั่นทางธุรกิจ (Tackling Elder Issues via Business Solutions)

ในเสวนาครั้งที่ 3 โดย “เอจจิ้ง2.0 บางกอกแชปเตอร์” ในประเทศไทย

เอจจิ้ง2.0 (Aging2.0) เครือข่ายนวัตกรรมระดับโลก ที่มีเป้าหมายในการเร่งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุทั่วโลก ได้ขยายกิจกรรมโดยทีมงานอาสาสมัครในประเทศไทย ผ่านกิจกรรม “เอจจิ้ง2.0 บางกอกแชปเตอร์”(Aging2.0 Bangkok Chapter) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผู้สูงวัย ในประเทศไทย พร้อมเฟ้นหาสตาร์ทอัพไทยบนเวที “เอจจิ้ง 2.0 โกลบอล สตาร์ทอัพ เสิร์ช” (Aging2.0 Global Startup Search)เพื่อเป็นตัวแทนจากประเทศไทยขึ้น ประกวดชิงเงินทุนบนเวทีโลก ในงาน Aging2.0 OPTIMIZE Conference ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมงานอาสาสมัคร “เอจจิ้ง2.0 บางกอกแชปเตอร์” ได้จัดเสวนาครั้งที่3 ในหัวข้อ การรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยด้วยโซลูชั่นทางธุรกิจ (Tackling Elder Issues via Business Solutions) โดยได้รับความเอื้อเฟื้อสถานที่จัดงานจาก บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ณ Ananda Campusอาคาร FYI Center เพื่อพูดคุย ปันทัศนะ และประสบการณ์ รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา ความท้าทาย ที่มาพร้อมกับโอกาสในทางธุรกิจสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุโดยในงานดังกล่าวมี

  1. 1. คุณกรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย เริ่มต้นการเสวนาด้วยการแสดงข้อมูลและทัศนะเกี่ยวกับภูมิทัศน์ใหม่ของสังคมและเศรษฐกิจไทยใน พ.ศ. 2593 เมื่อประเทศก้าวเข้าสู่สังคมคนสูงอายุ ปัญหาและความท้ายทาย ที่มาพร้อมกับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์
  2. 2. นพ.ไพฑูรย์ เบญจพรเลิศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ได้มาพูดถึงเรื่อง การล้มของผู้สูงอายุไม่เป็นเพียงแค่การล้ม และควรทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถเดินเหินได้อย่างปลอดภัย
  3. 3. คุณธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Younghappy ที่มีความรู้ทั้งทางด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ รวมทั้งมีประสบการณ์ทางด้านการสร้างชุมชน

และท้ายสุดของการเสวนา รสลิน นีรนาทโกมล แอมบาสซาเดอร์ของเอจจิ้ง2.0 ในประเทศไทย ได้ update timeline ของกิจกรรมสำคัญ ๆ ของAGING2.0 Bangkok Chapter

คุณกรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย เริ่มต้นการเสวนาด้วยการกล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ประการที่มีผลกระทบอย่างมากในโลก คือการย้ายของประชากรชนบทสู่เมือง (Urbanization) เพื่อโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า นำมาซึ่งความจำเป็นในการหาวิธีใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่า ประการที่ 2 คือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรต่าง ๆ อย่างไร โดยเฉพาะในประเทศไทย Dependency ratio หรืออัตราส่วนพึ่งพิงของผู้ทำงานกับผู้สูงอายุ ปัจจุบันอยู่ที่ 5:1 แต่อีก 20 ปีข้างหน้าอัตรา Dependency ratio จะเป็น2:1

ไทยจะเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์อย่าง “เร็ว” และ “แรง” ที่สุดในโลก คุณกรณ์กล่าว พร้อมชี้ให้เห็นผลกระทบของการเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุว่าเมื่อถึง พ.ศ. 2593 ที่จำนวนผู้สูงอายุจะมีมากถึง 20 ล้านคน รายได้ของรัฐจะลดลงต่อเนื่องจากภาษีรายได้และภาษีบริโภคลดน้อยลง ในขณะที่รายจ่ายของภาครัฐจะสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านงบด้านสาธารณสุข สวัสดิการรักษาพยาบาล และกองทุนต่าง ๆ ผลกระทบทางด้านผลิตผลทางการผลิตในภาพอุตสาหกรรมจะขาดบุคลากรที่มีทักษะ ในขณะที่ภาคการเกษตรผลผลิตจะน้อยลงเนื่องจากอายุเฉลี่ยของชาวนาในปัจจุบันคือ 53 ปี การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ผลกระทบสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงของวิธีการและลักษณะของการบริโภคตามอายุของประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไป

“หนึ่งในคำตอบคือ “more with less” ด้วยการใช้เทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือการใช้ Fintech เป็นต้น ทั้งนี้ เทคโนโลยีไม่ได้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลก แต่การที่เราไม่นำลูกค้ามาเป็นศูนย์กลาง (customer-centric) เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ จะต้องมีทั้ง “Hi-tech” และ“Hi-touch” ด้วยการคำนึงถึง “Premium content” และ “User experience” ควบคู่กันไปด้วยเสมอ คุณกรณ์กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นพ.ไพฑูรย์ เบญจพรเลิศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด เปิดประเด็นด้วยการชี้ให้เห็นผลกระทบจาก “การล้ม” ที่มีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยจากการล้มอาจทำให้ผู้สูงอายุกระดูกร้าวไม่กล้าเดินเพราะเจ็บ กลายเป็นคนที่นอนติดเตียง ส่งผลให้ปอดอักเสบเพราะกล้ามเนื้อปอดไม่แข็งแรง และสามารถเรื่องใหญ่ถึงปอดติดเชื้อ ซึ่งปัจจัยของการล้มมาจาก 3ปัจจัย คือ จากบุคคลแต่ละคน โดยขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สายตา การทรงตัว และการใช้ยาบางชนิดที่อาจมีผลต่อการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่ทำ ต่างเป็นปัจจัยที่อาจเกิดการล้มได้

“คำถามคือ จะให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวปลอดภัยได้อย่างไร คำตอบคือ การใช้ไม้เท้า หรือเครื่องช่วยเดินที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งคุณหมอผู้รักษาจะเป็นผู้แนะนำได้ดีที่สุด แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ล้มบ่อยถึง 3 ครั้งต่อปี แนะนำให้มาฝึกออกกำลังกายที่โรงพยาบาล เพื่อสร้างกล้ามเนื้อและฝึกการเคลื่อนไหว รวมถึงควรมีผู้ดูแลตลอดเวลา ที่สำคัญคือต้องปรับสภาพภายในบ้านให้เหมาะสม” นพ.ไพฑูรย์กล่าวเสริม

คุณธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Younghappy ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อผู้สูงอายุ ได้แชร์ประสบการณจากการทำธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ โดยได้กล่าวถึง Younghappy ว่าเป็นธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในการสนับสนุนผู้สูงอายุให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้ โดยเป็นสังคมที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ด้วยบริการ 6H ซึ่งเป็นบริการเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ Happy Trip, Happy Job, Happy Health, Happy Value, Happy Time, และ Happy Tech

“Happy Tech เป็นบริการสอนผู้สูงอายุใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งเป็นบริการแรกของบริษัทฯ Happy Trip เป็นการจัดทริปพาผู้สูงอายุไปเที่ยวโดยไม่มีลูกหลานไปด้วย ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือผู้ใหญ่จะมีความสุขที่ได้เดินและทำอะไรด้วยตัวเอง Happy Job เป็นการหางานให้ผู้สูงอายุได้ทำ โดยล่าสุดได้จับมือกับ Aroma Group ในการจัดหาบาริสต้าวัยเก๋าไปทำงานในร้านกาแฟต่าง ๆ ของ Aroma Group ส่วน Happy Value คือการนำผู้สูงอายุที่มีความรู้กลับไปทำงานให้กับสังคม จะเห็นว่ากิจกรรมของ Young Happy มุ่งเจาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ยัง activeด้วยความเชื่อที่ว่า หากเราช่วยให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีสุขภาพกายและใจที่ดี ก็จะช่วยยืดและลดภาระปัญหาในการดูแลผู้สูงวัยในระดับหนึ่ง” คุณธนากรกล่าว

อนึ่ง กิจกรรมโดยทีมงานอาสาสมัคร “เอจจิ้ง2.0 บางกอกแชปเตอร์” ในประเทศไทยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผู้สูงวัยในประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ ไตรมาส พร้อมเฟ้นหาสตาร์ทอัพไทยไปแสดงศักยภาพบนเวทีระดับโลกอย่างAging2.0 Global Startup Search นับเป็นการสนับสนุนให้ Ecosystem ด้านHealthcare ที่ดีพร้อมสำหรับผู้สูงวัยในประเทศ ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่ยุคสูงวัยแบบสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า