ธุรกิจหญ้าสนาม : มูลค่าตลาดปี’47…เกือบ 1,000 ล้านบาท

หญ้าสนามที่เห็นคุ้นตาตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร สนามบิน สนามกีฬาหลายๆประเภท โดยเฉพาะสนามกอล์ฟ การขยายตัวของธุรกิจหญ้าสนามนั้นที่น่าสนใจ ผู้ประกอบการในธุรกิจหญ้าสนามคาดว่ามูลค่าของธุรกิจหญ้าสนามในปี 2547 นี้จะสูงถึงเกือบ 1,000 ล้านบาท จากที่เคยมีมูลค่าเพียง 200 ล้านบาทในปี 2538 หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญในปี 2547 ที่ทำให้ธุรกิจหญ้าสนามขยายตัว คือการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจบ้านจัดสรร ธุรกิจหญ้าสนามนอกจากจะป้อนตลาดในประเทศแล้วยังมีการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง โดยตลาดสำคัญคือมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมทั้งยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วยถ้าได้มีการศึกษาตลาดและพัฒนาพันธุ์หญ้าสนามให้ตรงกับความต้องการของตลาด

แหล่งปลูกหญ้าสนามแหล่งใหญ่ดั้งเดิมของประเทศคือเขตมีนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหญ้าสนามส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันเขตมีนบุรีก็ยังคงเป็นแหล่งปลูกหญ้าสนามที่สำคัญโดยมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 2,535 ไร่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากความต้องการหญ้าสนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ปลูกหญ้าสนามในเขตมีนบุรีเริ่มเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงงานสูงขึ้น ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกโดยเฉพาะปุ๋ยที่มีราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้พื้นที่ปลูกหญ้าเริ่มมีราคาค่าเช่าที่ดินสูงขึ้น และเริ่มขยับห่างจากตัวเมืองไปชานเมืองไกลออกไปมากขึ้น รวมทั้งยังเผชิญเนื้อที่มีจำกัด ดังนั้นธุรกิจหญ้าสนามจึงขยายตัวไปเขตใกล้เคียงคือ เขตคลองสามวา 1,025 ไร่ ลาดกระบัง 70 ไร่ หนองจอก 28 ไร่ คันนายาว 27 ไร่ และประเวศ 25 ไร่ รวมทั้งในบางจังหวัดที่เป็นจังหวัดใหญ่ๆก็เริ่มมีเกษตรกรหันมาปลูกหญ้าสนามกันบ้างแล้ว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลเนื้อที่ปลูกหญ้าสนามทั้งประเทศ

พันธุ์ที่นิยมปลูกมี 4 พันธุ์คือ พันธุ์นวลน้อย ซึ่งปลูกง่าย ลูกค้ามีความต้องการสูง ปรับตัวเข้าได้กับทุกฤดู พันธุ์มาเลย์ ซึ่งจะขายดีและเป็นที่นิยมสำหรับบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ พันธุ์เบอร์มิวด้า แม้ว่าจะปลูกง่ายกว่าหญ้านวลน้อย ค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ลูกค้าไม่นิยมเพราะดูแลรักษายาก แต่เป็นที่นิยมนำไปปูบนกรีนในสนามกอล์ฟ ดังนั้นการปลูกจึงต้องมีการทำสัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรกับเจ้าของลูกค้า และพันธุ์ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมเฉพาะบางกลุ่ม

ขั้นตอนการปลูกเริ่มจากการปรับดินให้แน่นเพื่อการแซะหญ้าได้ง่ายขึ้น นำเลนมาตีปักดำหญ้า และใช้เลนโรย ซึ่งจะโรยหนาหรือบางก็แล้วแต่เทคนิคของเกษตรกรแต่ละราย ถ้าโรยหนาหญ้าจะโตเร็วและการโรยเลนแต่ละครั้งจะใช้ปลูกหญ้าได้ 2 ครั้ง เมื่อดำหญ้าเสร็จแล้ว 2 วันจึงใส่ปุ๋ย รดน้ำวันละ 3 ครั้ง หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ใช้ลูกกลิ้งๆทับ จัดการดูแลรักษาไปเรื่อยๆ จนมีใบยาวเขียว หากใบยาวเขียวได้ 15 วันจึงทำการแซะขายแต่ถ้าเร่งปุ๋ยก็อาจจะแซะขายได้เร็วกว่านี้ ในการปลูกหญ้าแต่ละครั้งใช้เวลา 24-40 วัน เท่ากับว่าในแต่ละปีสามารถแซะหญ้าไปขายได้ 6-8 ครั้ง

ต้นทุนในการผลิตหญ้าสนาม ประมาณตารางเมตรละ 15-25 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของหญ้า โดยประกอบด้วยค่าเช่าที่ดิน ค่าเลนสำหรับเทกลบพื้นก่อนการปลูกหญ้า ค่าแรงงาน(ค่าจ้างดำหญ้า ค่าแซะ และค่าแบก) และค่าปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะยากำจัดหนอน ซึ่งจัดเป็นศัตรูพืชสำคัญสำหรับหญ้าสนาม ตลอดจนค่าน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำ ส่วนราคาจำหน่ายหญ้าสนามจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุ์ของหญ้า

กล่าวคือ หญ้านวลน้อยตารางเมตรละ 18 บาท หญ้ามาเลเซียตารางเมตรละ 23-25 บาท หญ้าญี่ปุ่นตารางเมตรละ 30 บาท ส่วนหญ้าเบอร์บิวด้าราคาจะใกล้เคียงกับหญ้าญี่ปุ่นแต่ทางผู้จำหน่ายจะบวกเพิ่มค่าปุ๋ยด้วย โดยปุ๋ย 1 กระป๋องซึ่งสามารถใช้โรยได้ 10 ตารางเมตรจะราคาประมาณ 850 บาท สำหรับการจำหน่ายปลีกพ่อค้าหรือผู้รับจัดสวนจะบวกกำไรเฉลี่ยตารางเมตรละ 2-3 บาท ทั้งนี้ขึ้นกับระยะทางและค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตามราคาจำหน่ายหญ้าสนามในช่วงระยะ 10 ปีมานี้มีการปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 50.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวตามต้นทุนต่างๆที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าที่ดิน ค่าแรงงาน ค่าน้ำมันที่ใช้ในการขนส่ง และค่าปุ๋ย

ตลาดหญ้าสนามในประเทศคือ ธุรกิจจัดสวนตามบ้านจัดสรรและสถานที่ต่างๆ ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันธุรกิจปั๊มน้ำมันมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและแต่ละปั๊มมีนโยบายในปรับพื้นที่บางส่วนของปั๊มเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ธุรกิจสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุมจะใช้หญ้ามากถึง 6-7 แสนตารางเมตร ธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้ความต้องการหญ้าสนามเพิ่มขึ้นเป็นครั้งคราวคือ ช่วงเทศกาลเช็งเม้งซึ่งลูกค้าซื้อไปปูสุสานเพื่อให้สวยงาม ประเพณีการไปไหว้สุสานบรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนจะมีปีละครั้งในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง(ปลายมีนาคมถึงต้นเมษายน) โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในส่วนนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 15.4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ผู้ประกอบการในธุรกิจหญ้าสนามคาดว่ามูลค่าของธุรกิจหญ้าสนามในปี 2547 นี้จะสูงถึงเกือบ 1,000 ล้านบาท จากที่เคยมีมูลค่าเพียง 200 ล้านบาทในปี 2538 หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากธุรกิจหญ้าสนามจะส่งป้อนตลาดในประเทศแล้วไทยยังมีการส่งออกหญ้าสนามไปจำหน่ายต่างประเทศด้วย ตลาดต่างประเทศที่สำคัญคือ มาเลเซียและสิงคโปร์ โดยที่การส่งไปยังมาเลเซียจะผ่านทางด่านปาดังเบซาร์ ส่วนสิงคโปร์นั้นกระทรวงสาธารสุขจะต้องฉีดยาฆ่าเชื้อก่อนเนื่องจากการส่งออกหญ้าสนามนั้นมีดินติดไปด้วย ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาติดต่อซื้อเอง โดยสั่งจะซื้อครั้งหนึ่งเป็นหลายแสนตารางเมตรเพื่อนำไปปูสนามกอล์ฟ ซึ่งลูกค้าต่างประเทศนิยมหญ้าสนามจากประเทศไทย เนื่องจากหญ้ามีมาตรฐาน เกาะกันแน่น และมีดินติดน้อย ตลอดจนมีราคาถูกกว่าหญ้าในต่างประเทศ

ธุรกิจหญ้าสนามนับว่าเป็นธุรกิจเกษตรอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยในปี 2547 มีปัจจัยหนุนสำคัญ คือการขยายตัวของธุรกิจบ้านจัดสรร นอกจากนี้ไทยยังสามารถส่งออกหญ้าสนามไปจำหน่ายยังประเทศใกล้เคียงได้อีกด้วย โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ คาดว่าด้วยชื่อเสียงของหญ้าสนามของไทยนั้น ไทยยังน่าจะมีโอกาสในการเจาะตลาดหญ้าสนามในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งคงต้องมีการศึกษาถึงความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ทั้งนี้เพื่อผลิตหญ้าสนามให้ตรงกับความต้องการของตลาด