สุขภัณฑ์คอตโต้ เปิดเวทีให้คลื่นลูกใหม่โชว์ฝีมือออกแบบในโครงการ Smart & Style

โครงการ Smart & Style หรือโครงการออกแบบสินค้าสุขภัณฑ์ เป็นโครงการดีๆ อีกโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างสุขภัณฑ์คอตโต้ และ 3 สถาบันการศึกษา คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นายนิพนธ์ ธีรนาทสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด ในเครือเซรามิค ซิเมนต์ไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์คอตโต้และโตโต้ กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และสนับสนุนสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบ โดยให้นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานดีไซน์ชุดสุขภัณฑ์ส่งเข้ามาประกวด ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มโครงการนี้เป็นปีแรก แต่ผลงานที่ออกมาถือว่าเกินความคาดหมาย สามารถสะท้อนให้เห็นถึงภาพความก้าวหน้าด้านงานดีไซน์เซรามิคยุคปัจจุบันที่โดดเด่นไม่ด้อยกว่าใคร

โดยในปีนี้มีผลงานที่ชนะการประกวด 10 ผลงาน มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 ผลงาน ได้แก่ Prism, Firefly, Neogeo มหาวิทยาลัยศิลปากร 4 ผลงาน ได้แก่ Soft Collection, Erotic, Ast Partrast, For Maximum Weight และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 3 ผลงาน ได้แก่ Femme Curve, Minim, Tung ซึ่งสุขภัณฑ์คอตโต้ได้มอบเงินจำนวน 1 แสนบาทต่อ 1 สถาบัน รวมรางวัล 3 แสนบาท

กิติศักดิ์ เตียวตระกูล ธนสรณ์ เจนการกิจ เรวัติ จึงสุระ พิมพ์อุมา ศิระยรรยง พิภาวี ชวาลรัตน์ และ ตรียุทธ พรหมศิริ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกับคิดผลงานที่ชื่อ Prism เล่าถึงแนวคิดของผลงานชิ้นนี้ว่า “ผลงานชิ้นนี้คิดภายใต้โจทย์ที่เรากำหนดกันเองว่า เราอยากจะทำสุขภัณฑ์สำหรับนักธุรกิจที่มีสไตล์ ชอบความสะอาด เรียบ เนี้ยบ หรู ก็เลยคิดถึงปริซึมขึ้นมา เราจึงนำเอาฟอร์มของปริซึมมาพัฒนาโดยลดทอนรายละเอียดบางส่วนออก แต่คงไว้ซึ่งความเรียบหรู”

“พวกเราทุกคนรู้สึกดีใจที่สุขภัณฑ์คอตโต้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาได้รวมกลุ่มกันแสดงความคิดสร้างสรรค์ในครั้งนี้ การที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการพัฒนาการออกแบบ แล้วมีหน่วยงานเอกชนเปิดเวทีให้นักออกแบบไทย โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ของสังคม ได้แสดงฝีมือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ จุดนี้จะทำให้วงการออกแบบของไทยมีการพัฒนามากขึ้น” นี่คือความคิดเห็นจากใจของน้องๆ จากรั้วจามจุรี

ชนนาท ปรีชญา นักศึกษาคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน For Maximum Weight สุขภัณฑ์แนวสนุกสนานที่เรียกรอยยิ้มด้วยดีไซน์ล้อเลียนสรีระของคนอ้วน กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของความคิดคือ ต้องการทำสุขภัณฑ์สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักส่วนเกิน โดยอาศัยหลักการส่อเสียด ประชดประชัน ไม่ว่าจะเป็นด้านรูปธรรม และนามธรรม แต่นำเสนอในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะสนุกสนาน สดใส ขี้เล่น ของโทนสีที่สะดุดตา เพราะเราคิดว่าการกินเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับการขับถ่าย และการชำระล้าง เป็นการเปรียบเปรยและเป็นจิตวิทยาที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว แล้วปกติสีของสุขภัณฑ์ทั่วไปมักจะมีสีขาว แต่สุขภัณฑ์ชุดนี้ เราทำให้มีสีสันสดใส ซึ่งนับว่าเป็นการฉีกแนวจากสุขภัณฑ์ทั่วๆ ไป”

สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อโครงการนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่เขาจะได้คือ ช่วยฝึกให้เขามีการคิดที่เป็นระบบ รู้จักการวางแผน ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่ดีเวลาที่จบการศึกษาและต้องออกไปทำงานจริงๆ

อรรถพล สุจิรภิญโญกุล นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ออกแบบสุขภัณฑ์ที่ชื่อว่า Femme Curve กล่าวว่า นักออกแบบหลายๆ คนมักจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากส่วนโค้งเว้าที่สวยงามของหญิงสาว ดังนั้น เขาจึงต้องการฉีกแนวคิดนี้ด้วยการนำเอารูปร่างที่เป็นจุดด้อยของหญิงสาวมาเป็นแบบ เช่น ช่วงสะโพก ต้นขา และขา ซึ่งหญิงสาวหลายๆ คนมักจะรู้สึกไม่มั่นใจและคิดส่วนสัดส่วนตรงนี้เป็นปมด้อยของตัวเอง โดยหยิบยกเอาสิ่งที่หลายๆ คนมองข้ามตรงนี้มาทำให้สวยงาม ดูคล้ายงานประติมากรรมลอยตัว ซึ่งเป็นงานที่น่าสนใจทีเดียว

ผลงานทั้ง 10 ชิ้น จากฝีมือของนิสิตนักศึกษาทั้ง 3 สถาบัน นับเป็นการพิสูจน์ให้ทุกคนรู้ว่าวันนี้ ไอเดียของเด็กไทยไม่เป็นรองใครและหากมีการสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง แน่นอนว่าฝีมือของเด็กไทยจะมีการพัฒนาและโดดเด่นไม่ด้อยกว่าชาติอื่น