การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ : ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าไทย

ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้านั้นถือเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความต้องการเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมเป็นสำคัญ และเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงตลาดส่งออกนำรายได้เข้าประเทศตลอดมา จึงทำให้ปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมหลายด้านด้วยกัน ทั้งอำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนค่าขนส่ง ราคาจำหน่าย และรายได้ของผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมามีการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสัดส่วนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดรวม และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยมีสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้ารายใหญ่ของโลกและเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งมีอำนาจซื้อสูงเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 ที่ผ่านมาการนำเข้าเครื่องหนังและรองเท้าของสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวลดลงจากปีก่อนสาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทำให้อัตราการนำเข้าของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้มีอัตราที่ชะลอตัวลงตาม ส่วนในด้านการผลิตนั้นอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้ามีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 – 60 ของต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทำให้การเปลี่ยนแปลงของค่าอัตราแลกเปลี่ยนย่อมกระทบต่อต้นทุนการผลิตผ่านการนำเข้าวัตถุดิบ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสภาวะการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าของไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงของการขยายตัวของตลาดนำเข้าหลักและค่าอัตราแลกเปลี่ยน

ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญปัญหานานัปการทั้งด้านเศรษฐกิจการเงิน และปัญหาสินเชื่อซับไพร์มหรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยความเสี่ยงสูง (Subprime Mortgages) ในสหรัฐที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูสถานการณ์ความเป็นไป โดยมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งจะแสดงออกมาเป็นระลอกๆ ถ้าปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสิ้นเชิงก็อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดการชะลอตัวลงและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) สภาวะการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การลดลงของอุปสงค์ในสหรัฐ ทั้งการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการลดลงของกิจกรรมด้านการลงทุน ธนาคารกลางสหรัฐจึงได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐลงเหลือร้อยละ 1.3-2.0 สำหรับปีนี้ และคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ลงอีกจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าของสหรัฐที่ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และยังทำให้กระแสเงินทุนยังมีแนวโน้มไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะสนับสนุนให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐรวมทั้งค่าเงินบาทด้วย สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าไทยนั้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐดังนี้

การลดลงของอุปสงค์ในสหรัฐ – โดยที่ผ่านมาสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้า ตลาดส่งออกของไทยทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้ามีตลาดสหรัฐเป็นตลาดใหญ่อันดับหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกสหรัฐสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องหนังไม่รวมรองเท้าหนังร้อยละ 31 ของมูลค่าส่งออกรวม คิดเป็นมูลค่า 87.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผลิตภัณฑ์รองเท้าทุกประเภทมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่า 242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากการพึ่งพิงตลาดส่งออกสหรัฐในระดับที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสัดส่วนตลาดส่งออกเป็นสำคัญ โดยในปี 2550 การลดลงของอัตราการเติบโต GDP สหรัฐในอัตราร้อยละ -0.7 จากปีก่อนส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าเครื่องหนังและรองเท้าสหรัฐขยายตัวลดลงร้อยละ -2.7 และ -5.5 ตามลำดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหาตลาดส่งออกในประเทศอื่นๆ ทดแทนด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาดและรักษาระดับกำไรของผลประกอบการ จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ประเทศที่เศรษฐกิจคาดว่าจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเบื้องต้นอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีน รัสเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ เป็นต้น โดยคาดว่าจะขยายตัวในปี 2551 ในอัตราร้อยละ 10.8, 6.5, 5.4, และ 5.1 ตามลำดับ และประเทศเหล่านี้ยังมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องหนังและรองเท้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราสูงเช่นกัน โดยจากข้อมูลการนำเข้าล่าสุดช่วง 9 เดือนแรกปี 2550 พบว่าจีนมีการนำเข้าเครื่องหนังเป็นมูลค่ารวม 358.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37 รัสเซีย 308.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.8 และแอฟริกาใต้ 122.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 สำหรับรองเท้าทุกประเภทจีนมีการนำเข้าเป็นมูลค่านำเข้ารวม 526.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 รัสเซีย 1,656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 117 และแอฟริกาใต้ 472.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 โดยในปัจจุบันกลุ่มประเทศดังกล่าวยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้าจากไทยไม่มากนักประมาณร้อยละ 1.0-2.0 ของมูลค่าส่งออกของผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้าโดยรวม ยกเว้นตะวันออกกลางที่มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกรองเท้าจากไทยกว่าร้อยละ 6.0 ทำให้ประเทศเหล่านี้น่าจะยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตและมีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดนำเข้าที่สดใสสำหรับเครื่องหนังและรองเท้าในภายภาคหน้า

ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย – ธนาคารกลางสหรัฐซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปถ้าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ จึงเป็นแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยอาจจะมีแนวโน้มต้องปรับลดลงตามเพื่อกันเงินทุนไหลเข้าประเทศเพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสองประเทศ ซึ่งสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเครื่องหนังและรองเท้ามีสภาพคล่องที่ดีขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ซึ่งถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศมาตรการหนึ่งที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าที่ความต้องการเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประชากร

การแข็งค่าของเงินบาท – แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีส่วนทำให้เงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียและส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นรวมทั้งค่าเงินบาทด้วย ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าควรติดตาม โดยผู้ผลิตอาจได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบในต้นทุนถูกลง แต่ในขณะเดียวกันผู้ส่งออกก็จะได้รับผลกระทบจากการรับรู้รายได้ในรูปเงินบาทที่ลดลง โดยปัญหาดังกล่าวน่าจะเห็นชัดในผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิตจากบริษัทต่างประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการได้มีการตกลงราคากับผู้รับจ้างไว้ก่อนที่จะผลิตสินค้า แต่เมื่อถึงเวลาส่งมอบสินค้าค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นทำให้ผู้รับจ้างผลิตสูญเสียรายได้เมื่อเปลี่ยนเป็นเงินสกุลบาทและอาจประสบกับภาวะขาดทุนได้

เมื่อมาพิจารณาด้านโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างการตลาด และความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยน พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าใช้วัตถุดิบนำเข้าที่ต้นทุนผันแปรตามค่าเงินบาทในอัตราส่วนประมาณร้อยละ 50 ของต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้การแข็งค่าของเงินบาทย่อมจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบในรูปเงินบาทลดลง ส่วนด้านโครงสร้างการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้านั้นมีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 30 และตลาดส่งออกร้อยละ 70 ซึ่งรายได้จากการส่งออกนี้ย่อมจะผันแปรตามค่าเงินบาทและมีผลต่อการรับรู้รายได้ในรูปเงินบาท โดยแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทย่อมจะทำให้การรับรู้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกและรับจ้างผลิตจากบริษัทต่างประเทศลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนั้น การแข็งค่าของเงินบาทอาจลดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งก็จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยอาจแข่งขันได้ยากขึ้น สำหรับผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อผู้ประกอบการนั้นก็แตกต่างกันไปตามโครงสร้างการผลิต ถ้าผู้ผลิตนำเข้าวัตถุดิบมากก็จะได้ประโยชน์จากวัตถุดิบนำเข้าที่มีราคาถูกลงชดเชยกับรายได้จากการส่งออกที่ลดลง ส่วนผู้ผลิตที่นำเข้าวัตถุดิบน้อยก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากราคานำเข้าวัตถุดิบที่ลดลง

แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก – การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบนั้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าที่จะต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นตาม ทั้งต้นทุนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนการขนส่งสินค้าไปขายยังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ และทำให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้น ผลกระทบทางการตลาดจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามเป็นการบั่นทอนอำนาจซื้อของผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บทสรุปและข้อคิดเห็น
ในปีนี้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าต้องคอยติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสหรัฐ อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจสหรัฐในระดับสูง ผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐในอัตราสูงควรกระจายความเสี่ยงด้านการตลาด ลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐและพยายามขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจยังมีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ จีน รัสเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ เป็นต้น และมีแนวโน้มการนำเข้าเครื่องหนังและรองเท้าในอัตราสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังมีการส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นเป็นสัดส่วนน้อย นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การแข็งค่าของเงินบาท และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการควรต้องติดตามสถานการณ์เพื่อสามารถปรับตัวตั้งรับด้านการบริหารต้นทุนการผลิตและสต๊อกสินค้า ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่กันไปด้วย