การเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)…ผลกระทบต่อนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย

จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มต้องปรับลดอัตราภาษีนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นมลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ยกเว้นในประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ที่จะค่อยๆ ทยอยปรับลดอัตราภาษีนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นม สำหรับประเทศไทยจะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553

จากการปรับลดอัตราภาษีตามข้อตกลงดังกล่าวนั้น ไทยอาจจะต้องระวังในเรื่องของการลักลอบนำเข้านมผงที่ไม่ได้คุณภาพ และมาตรฐานจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนม และผลิตภัณฑ์นมของไทยมาก ดังนั้น ไทยจะต้องมีมาตรการควบคุม และตรวจสอบในเรื่องของคุณภาพ และมาตรฐานของนมผงที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังต้องมีการตรวจสอบเรื่องกฎของแหล่งกำเนิดสินค้าที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

โครงสร้างอุตสาหกรรมนม และผลิตภัณฑ์นมของไทย
ปี 2551 ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประมาณ 19,243 คน จำนวนโคนมประมาณ 530,000 ตัว มีกำลังการผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยประมาณ 2,568 ตัน/วัน ทั้งนี้ ใช้สำหรับโครงการอาหารเสริม (นม) หรือนมโรงเรียนประมาณ 1,100 ตัน/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 42.8 ใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบให้โรงงานนม UHT พาสเจอร์ไรซ์ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ หรือที่เรียกว่า ตลาดนมพาณิชย์ประมาณ 1,353 ตัน/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 52.7

ปัญหาสำคัญ คือ ปริมาณน้ำนมดิบอีกประมาณ 115 ตัน/วัน หรือประมาณร้อยละ 4.5 ซึ่งยังไม่มีผู้รับซื้อ ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณน้ำนมดิบล้นตลาด

ในส่วนของตลาดนมในประเทศไทยนั้น นมพร้อมดื่มถือเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มของไทยจะผลิตมาจากน้ำนมดิบภายในประเทศ และจากนมผงนำเข้าจากต่างประเทศ โดยผลผลิตที่ได้จะออกมาในรูปนมสด มีทั้งรสจืดและรสหวาน และในรูปนมปรุงแต่ง ซึ่งมีการเติมกลิ่นและรสต่างๆ ตามความนิยมของผู้บริโภค เช่น รสช็อคโกแล็ต รสกาแฟ และรสสตรอเบอรี่ เป็นต้น

สำหรับนมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในโครงการอาหารเสริมโรงเรียน หรือนมโรงเรียนนั้น จะต้องผลิตจากน้ำนมดิบที่ผลิตขึ้นภายในประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ การผลิตนมผง หางนม เนยและเนยแข็ง รวมถึงผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ เช่น ไอศกรีม นมเปรี้ยว เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์นมเหล่านี้ในประเทศไทยยังมีปริมาณการผลิตไม่มากนักเพราะต้นทุนในการดำเนินการสูง จึงมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นมประเภทอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่

ปัญหาสำคัญของการเลี้ยงโคนมของไทยคือ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียแล้ว ต้นทุนในการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศเหล่านี้มาก จึงทำให้มีผู้ประกอบการธุรกิจนมของไทย หันไปพึ่งการนำเข้านมผงจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ไทยยังขาดการวิจัย และพัฒนาพันธุ์โคนม และผลิตภัณฑ์นมอย่างต่อเนื่อง ขาดการสนับสนุน และให้การส่งเสริมจากทางภาครัฐ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมของไทยยังไม่พัฒนามากนัก

สถานการณ์การค้านม และผลิตภัณฑ์นมของไทย
เมื่อพิจารณาถึงภาวะการค้านม และผลิตภัณฑ์นมของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 พบว่าไทยยังคงเสียเปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 4,006.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะการนำเข้านมผงขาดมันเนยมีมูลค่ามากกว่าการส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นมของไทยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไทยยังคงเสียเปรียบดุลการค้าในกลุ่มสินค้านม และผลิตภัณฑ์นมพอสมควร

สำหรับภาวะการส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นม1 พบว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นมมูลค่า 4,010.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ภาวะทางเศรษฐกิจที่หดตัวในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลกระทบต่อกำลังการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ประเภทของผลิตภัณฑ์นมที่ส่งออกมากกว่าร้อยละ 37.9 เป็นนม และครีมที่ทำให้เข้มข้น หรือเติมน้ำตาล รองลงมา ได้แก่ นม และครีมที่ไม่ทำให้เข้มข้น หรือไม่เติมน้ำตาล ร้อยละ 25.9 และบัตเตอร์มิลค์ โยเกิร์ต ร้อยละ 18.8 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นมที่สำคัญของไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85.0 ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา (สัดส่วนร้อยละ 22.2) สิงคโปร์ (สัดส่วนร้อยละ 14.2) และลาว (สัดส่วนร้อยละ 13.3) ตามลำดับ นอกจากนี้ ไทยยังมีการส่งออกนม และผลิตภัณฑ์นมไปยังประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 9.1 ด้วย

ในขณะที่การนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นมของไทยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์ และออสเตรเลียมากถึงร้อยละ 64.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ไทยนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นมมูลค่า 8,016.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าในรูปของนมผงขาดมันเนยถึงร้อยละ 34.4 เพื่อนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมต่างๆจำหน่ายในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากนมผงขาดมันเนยที่นำเข้ามามีราคาถูกกว่าน้ำนมดิบที่เกษตรกรไทยผลิตได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยต่างหันไปพึ่งการนำเข้านมผงจากต่างประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ เช่น ไอศครีม ร้อยละ 26.7 และ นมผงมีไขมัน ร้อยละ 21.0 ตามลำดับ

ตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยส่วนใหญ่เป็นประเทศในอาเซียนด้วยกัน หากมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นมลงเหลือร้อยละ 0 ตามกรอบอาฟตาในปี 2553 คาดว่า ไทยจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นทั้งประเทศที่เป็นสมาชิกเก่า รวมถึงประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ ตามปริมาณการบริโภคนมของผู้บริโภคที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมพร้อมดื่มที่ใช้น้ำนมดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นแนวทางในการช่วยลดปัญหาภาวะน้ำนมดิบในประเทศล้นตลาดด้วย ถึงแม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยจะมีโอกาสในการหันไปนำเข้านมผงจากต่างประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า แต่ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปนมผงเป็นนมพร้อมดื่ม ประกอบกับคุณภาพของนมพร้อมดื่มที่ทำจากนมผงนั้น จะมีคุณภาพ และรสชาติที่แตกต่างจากนมพร้อมดื่มที่ทำจากน้ำนมดิบ อีกทั้งคาดว่า ปี 2553 ราคานมผงในตลาดโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้ไทยน่าจะมีโอกาสที่จะขยายการส่งออกนมพร้อมดื่มไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า

แต่ในขณะเดียวกัน ในระยะยาว ไทยจะต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐาน และรสชาติของนมพร้อมดื่มให้มีความสม่ำเสมอ รวมถึงควรมีการทำการตลาดนมพร้อมดื่มของไทยให้มากขึ้น โดยเน้นในเรื่องของการใช้น้ำนมโคดิบแท้มาทำการผลิต ซึ่งถึงแม้ว่านมพร้อมดื่มที่ผลิตจากนมโค 100 % จะมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องของคุณภาพ มาตรฐาน และรสชาติของนมพร้อมดื่มได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขันผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มจากการปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ยังคงมีปัจจัยพึงระวังบางประการที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมนม และผลิตภัณฑ์นมของไทย ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

การลักลอบนำเข้านมผงเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน จากการปรับลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ตามกรอบข้อตกลงอาฟตาในปี 2553 นั้น อาจทำให้มีการลักลอบนำเข้านมผงเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกเข้ามา อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย จนทำให้เกิดปัญหาน้ำนมดิบในประเทศล้นตลาดเนื่องจากมีราคาที่สูงกว่าได้ ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการออกมาตรการเพื่อรองรับกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

การสวมสิทธิ์จากประเทศอื่น ๆ นอกอาเซียน นมผงจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะสามารถส่งเข้ามาทำการแข่งขันกับไทยได้โดยการสวมสิทธิ์จากประเทศอื่น ๆ นอกอาเซียน เช่น กรณีออสเตรเลีย อาจจะไปใช้ฐานการผลิตในประเทศสมาชิกในอาเซียนบางประเทศ โดยนำเข้านมผงต้นทุนต่ำจากออสเตรเลียไปละลายน้ำแล้วบรรจุกล่องเป็นนมพร้อมดื่มและทำการส่งมาขายในไทย เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงวางแนวทางการรองรับ โดยในส่วนของน้ำนมดิบและนมพร้อมดื่มมีมาตรการรองรับไว้ 3 มาตรการคือ

1.การบริหารการนำเข้า โดยกำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า รวมถึงต้องรายงานการนำเข้า การใช้ การจำหน่าย และสต็อกคงเหลือภายใน 1 เดือน อีกทั้งมีบทลงโทษหากไม่ดำเนินการ

2.การวางระบบติดตามการนำเข้า โดยมีมาตรการรองรับโดยวางระบบติดตามสถิติการนำเข้า โดยประสานความร่วมมือจากกรมศุลกากร รวมถึงติดตามข้อมูลการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ตลอดจนนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังการนำเข้า และวางมาตรการรองรับ เช่น มาตรการปกป้องและมาตรการปกป้องพิเศษ

3.การติดตามตรวจสอบ ประเมินผล เพื่อประเมินสถานการณ์และหาทางแก้ไข เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมนม และผลิตภัณฑ์นมของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้ผลิต และเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมควรมีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมไว้รองรับกับการแข่งขันที่จะเกิด ดังนี้

กำหนด และบังคับใช้มาตรการการนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นม โดยรัฐบาลจะต้องมีมาตรการปกป้องสินค้านม และผลิตภัณฑ์นมในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ การเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า รวมถึงการดูแลทางด้านแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น

การพัฒนาภาคการผลิตด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

-การวิจัย และพัฒนาพันธุ์โคนมที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เนื่องจากมีผลต่อประสิทธิภาพในการเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโต การผสมติด ความสมบรูณ์และปริมาณการให้น้ำนม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำนมของโคนมให้มากขึ้น

-การวิจัย และพัฒนาด้านอาหารสัตว์ ปัจจุบันอาหารที่ใช้เลี้ยงโคนมของไทยส่วนใหญ่จะเป็นอาหารข้น ซึ่งต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนในการเลี้ยงสูงมาก ประกอบกับอาหารประเภทหญ้ามีไม่เพียงพอกับความต้องการของโคนม ดังนั้น จึงควรมีการจัดสรรปริมาณสารอาหารที่ใช้เลี้ยงโคนม ประกอบกับการพัฒนาหญ้าที่ใช้เลี้ยงโคนมให้มีปริมาณสารอาหารเพียงพอ และเหมาะสม จะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนมของไทยได้

-เพิ่มพูนความรู้ให้แก่เกษตรกรมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรไทยนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนา และดำเนินการผลิตตามหลักที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้นมของไทยมีคุณภาพสูง และสามารถส่งออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้

สร้างระบบตลาดที่เข้มแข็งภายในประเทศ โดยการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงคุณค่าทางโภชนาการ และดำเนินการด้านการสร้างคุณภาพและมาตรฐานในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ควรเน้นส่งเสริมให้ผู้บริโภคในประเทศมีการบริโภคนมสดภายในประเทศ และเน้นการใช้วัตถุดิบที่มาจากโคนมในประเทศเป็นสำคัญ

กล่าวโดยสรุป จากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้านม และผลิตภัณฑ์นมลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ภายใต้กรอบอาฟตานั้น คาดว่า ไทยจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนมพร้อมดื่มที่ใช้น้ำนมดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบ ขณะที่ในระยะยาว ผู้ประกอบการไทยจะต้องพยายามรักษาคุณภาพ มาตรฐาน และรสชาติของนมพร้อมดื่มให้มีความสม่ำเสมอ รวมถึงควรมีการทำการตลาดนมพร้อมดื่มของไทยให้มากขึ้น โดยเน้นในเรื่องของการใช้น้ำนมโคดิบแท้มาทำการผลิต ซึ่งถึงแม้ว่านมพร้อมดื่มที่ผลิตจากน้ำนมโคดิบ 100 % จะมีราคาที่สูงกว่า แต่ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องของคุณภาพ มาตรฐาน และรสชาติของนมพร้อมดื่มได้

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนม และผลิตภัณฑ์นมของไทยก็ควรมีการวิจัย และพัฒนาที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการวิจัย และพัฒนาพันธุ์โคนมที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย การวิจัย และพัฒนาด้านอาหารสัตว์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงลดต้นทุนซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของธุรกิจนี้ อีกทั้งควรเพิ่มพูนความรู้ทั้งเชิงวิชาการ และเชิงปฏิบัติให้แก่เกษตรกรมากขึ้น รวมถึงสร้างระบบตลาดภายในประเทศให้มีการขยายตัวมากขึ้น หากไทยมีการพัฒนาศักยภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ก็จะมีผลต่อการสร้างศักยภาพการผลิตที่เข้มแข็งซึ่งก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมนม และผลิตภัณฑ์นมของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างเต็มที่