มนต์เสียงกลอง

เมื่อช่วงเวลาเศร้าหมองของคอเมรัยจบสิ้นลง หลังจากความพยายามเอาข้อกำหนดห้ามโฆษณาขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ “อคติของความปรารถนาดี” ที่ประสงค์ร้าย ของคนที่อ้างว่าห่วงใยผู้อื่น ด้วยการบังคับคนให้เป็นคนดีด้วยกติการัฐอย่างฝืนธรรมชาติ ล้มเหลวลงไป งานฉลองการกลับมาของโฆษณาเมรัยก็เริ่มต้นขึ้น

แม้จะยังคงรักษาภาพลักษณ์ในเชิงบวกเอาไว้ ไม่มีเรื่องของฮาร์ดเซลส์เข้ามาทำให้ภาพลักษณ์เปรอะเปื้อนโดยไม่จำเป็น
ในกรณีอย่างนี้ ไม่มีอะไรดีกว่าเสียงดนตรี

เมื่อเบียร์ช้างโหมโรงก่อนด้วยโฆษณาเกี่ยวกับ “ความสามัคคี” และคนตีกลอง โดย แอ๊ด คาราบาว จอมสุดขั้วเจ้าเก่าเจ้าเดิม ซึ่งถูกวิจารณ์ท่าทีทางการเมืองเชียร์เผด็จการไปพอเบาะๆ ค่ายอื่นก็ไม่รีรอเช่นกันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องนัดหมายให้ยุ่งยาก

เบียร์สิงห์ของตระกูลภิรมย์ภักดี ก็เป็นหนึ่งในสินค้าเบียร์ที่ลงมาโหมโปรโมตอย่างจริงจังด้วยเสียงดนตรี

เพียงมาคราวนี้ ไม่ครบวง เพราะมีแต่กลอง แต่นั่นก็เป็นความเหนือชั้นอีกแบบหนึ่งในสไตล์ที่วงการศิลปะคุ้นเคยคือ Minimalism ใช้ทรัพยากรให้น้อย แต่ได้เนื้อมากๆ

เสียงกลองในภาพยนตร์โทรทัศน์ของเบียร์สิงห์ชุดนี้จึงมีพลังยิ่งนัก

ฟังแล้ว คิดถึงมนต์ขลังของความดิบเถื่อนทีบริสุทธิ์ใกล้กับธรรมชาติยุคคุณไสยครองเมืองครั้งกระโน้นเลยทีเดียว เหมาะสำหรับตลาดคนหนุ่มสาวยิ่งนัก

ในศาสตร์ว่าด้วยปรัมปราคติ หรือ Mythology นั้น เสียงกลองคือดนตรีชิ้นแรกของมนุษย์ที่ให้จังหวะจะโคน และความหมายของพิธีกรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มอย่างมีพลังที่สุด

ตำนานปรัมปราของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์เชื่อเหมือนกันว่า ในแกนกลางของโลก (เช่น เขาไกรลาส) ซึ่งเป็นแดนต่อแดนเชื่อมสวรรค์และนครเข้าด้วยกันนั้น มนุษย์ที่ผ่านเส้นทางดังกล่าวจะถูกขับกล่อมด้วยมนต์เปลี่ยนวิญญาณ เพื่อหลอมละลายและสลายจิตที่หยาบกระด้างเข้าด้วยกันกับสรรพสิ่งต่างๆ เสียก่อน ที่จะก้าวล่วงไปสู่ดินแดนแห่งการหลุดพ้น

มนต์ขับกล่อมเหล่านั้น มักลองเป็นเครื่องมือสำคัญแรกสุด ตามมาด้วยเสียงร้อง และเครื่องดนตรีอื่นๆ บรรเลงตามมา ก่อนที่จะมีการร่ายรำเพื่อเฉลิมฉลองเทพ

หากปราศจากเสียงกลองเสียแล้ว มนต์เสน่ห์ก็สิ้นความขลัง และไม่สามารถเปลี่ยนจิตวิญญาณใดๆ ได้

หลายชนเผ่าถือว่าเสียกลองนั้น คือสัญญะของความอุดมสมบูรณ์ ยานพาหนะ หรือสะพานสายรุ้ง ระหว่างโลกกายภาพและโลกแห่งวิญญาณ

ทุกจังหวะของเสียงกลอง ส่งผลทางโสตประสาทอันเร้นลับเพื่อทำให้จิตวิญญาณโลดแล่นเป็นอิสระจากสิ่งรัดรึงรอบด้าน เพื่อเริ่มต้นการเดินทางอันยาวไกล

ว่ากันว่า พ่อมดหมอผี หรือนักบวชที่ไม่สามารถสนองตอบสัมผัสของพลังเสียงกลองได้ ย่อมยากจะพบทางสว่างของการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณได้ตลอดไป

การนำเอาเสียงกลองมาใช้อย่างโดดเด่นในภาพยนตร์ชุดนี้ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือจะโดยแนวคิดทางศิลปะอื่นๆ ก็ถือเป็นจินตนาการที่ล้ำลึกยิ่งนัก

เริ่มต้นจากการเคาะเสียงกลองริมหาดของคนต่างเชื้อชาติ และสีผิว ด้วยลีลาเสียงกลองที่ขัดแย้งกันเอง จากนั้นก็ลงมือจับจังหวะกันเอง จนกระทั่งกลายเป็นการสอดประสานอย่างมีพลัง

ดนตรีภาษาสากล ดังกวีที่ว่า “ชนใด ไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก…”

เมื่อได้ที่ เสียงกลองก็กลายเป็นเครื่องปลุกเร้ามิตรภาพที่มีความหมายยิ่งนัก ไม่ต้องอาศัยภาษาอื่นๆ อีกต่อไป

ภาพของคนหนุ่มสาวที่ถูกเสียงกลองดึงดูดเข้าหากันอย่างถูกมนต์ดำสะกดในตอนท้าย มีความหมายที่เกินคำบรรยายใดๆ

คิดได้ไง ??!!

สวยทั้งเสียง สวยทั้งภาพ และสวยทั้งความหมาย

ส่วนจะมีนัยส่งไปถึงเครื่องดื่มอย่างเบียร์สิงห์ …ซึ่งยามนี้กลับมาเป็นขวัญใจคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีรสนิยมอีกครั้งหรือไม่?

ไม่เห็นจะต้องสรุปให้เสียเวลา!!!

เป็นโฆษณาที่สมกับการรอคอยยิ่งนัก

ปล่อยให้พวกไดโนเสาร์นอนกอดพร้อมกับฝันร้ายด้วยคำขวัญต่อต้านแอลกอฮอล์ไปเรื่อยๆ ให้ชีวิตอับเฉาไปก่อนเวลาอันสมควร

แล้วก็ไม่รู้ว่า ด้วยเพราะมนต์เสียงกลองนี้รึเปล่า ที่ให้ค่ายไฮเนเก้น ต้องเข็น Tiger Translate เข้ามาเพิ่มความร้อนแรงในตลาดกับเขาด้วย โดยคอนเซ็ปต์ดนตรีเช่นกัน แต่เพิ่มดีกรีเป็น “ไปให้สุด อย่าหยุดคลั่ง”

สุดขั้วไปเลย!!

To live, and let live, not just die.

รายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์โฆษณาชุด “มิตรภาพ” ความยาว 30 วินาที

เจ้าของแคมเปญ : บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
เอเยนซี่ : บริษัท ครีเอทีฟ จูซ จีวัน จำกัด
ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ : จิรวุฒิ ดุษฎีพรรณ์
ผู้เขียนข้อความโฆษณา : จิรกิตติ์ พิตรพิบูลย์วงศ์
ผู้กำกับศิลป์ : อภิคม กิรานุชิตพงศ์
ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต :
จุฑารัตน์ ชิงดวง

ศรีประภา เกียรติสุวรรณ์
วางแผนกลยุทธ์ :
วิทวัส ชัยปาณี
สงกรานต์ เศรษฐสมภพ
พรมสันต์ จิตรนาศิลป์
ขจรศักดิ์ โพธิ์พิพัฒน์
โปรดักชั่นเฮาส์ : บริษัท อุมบะ อุมบะ จำกัด
ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา : บุรินทร์ รัมมณีย์
เริ่มออกอากาศ : กุมภาพันธ์ 2550