เปิดสูตรอาหาร “น้องเมย์” สู่แชมป์โลก

หลังคว้าแชมป์ 3 รายการรวดภายใน 3 สัปดาห์ ในที่สุด น้องเมย์-รัชนก อินทนน์ ก็ก้าวขึ้นแท่นเป็นนักแบดมินตันสาวมือวางอันดับ 1 ของโลกได้สำเร็จ สร้างความดีใจให้กับคนไทยทั้งประเทศที่คอยส่งแรงเชียร์ให้กับนักตบลูกขนไก่ขวัญใจคนนี้มาโดยตลอด

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เส้นทางการเป็นแชมป์โลกไม่ได้สวยหรู เพราะเกือบทั้งหมดของชีวิตน้องเมย์ต้องทุ่มเทให้กับแบดมินตันอย่างหนัก ในทุกย่างก้าวของชีวิตต้องเพียรพยายามฝึกซ้อม เคร่งครัดในวินัยการกินอาหาร เพื่อให้สมรรถภาพร่างกายสมบูรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาศาสตร์อันเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้นักกีฬาทั่วโลกประสบความสำเร็จ

เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจกับวิทยาศาสตร์การกีฬามากยิ่งขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด เพื่อพูดคุยกับโค้ชและนักวิทยาศาสตร์การกีฬาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอาหารการกิน การออกกำลังกาย ที่น้องเมย์ต้องทำเป็นประจำ ให้ทราบกันว่ากว่าจะเป็นนักแบดมือวางอันดับ 1 ของโลก ต้องผ่านการดูแลเคี่ยวเข็ญอย่างไรบ้าง

นายอับดุล อุ่นอำไพ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา บ้านทองหยอด กล่าวว่า การดูแลนักกีฬาแบดมินตันโดยเฉพาะน้องเมย์จะต้องใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยใน 2 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ การฝึกซ้อมเพื่อเสริมสมรรถภาพด้านสรีรวิทยา และด้านโภชนาการการกีฬา ที่จะดูแลด้านอาหารการกินไปจนถึงธาตุอาหารเสริม

อับดุล เผยว่า นักวิทยาศาสตร์การกีฬาได้วางแผนให้น้องเมย์กินอาหาร 3 มื้อ สลับกับการฝึกซ้อม 3 ครั้งต่อวัน โดยสามารถเลือกกินอาหารได้ไม่จำกัดประเภท อาจเป็นข้าวหรืออาหารสัญชาติอื่นๆ ก็ได้ตามแต่ต้องการ แต่จะต้องกินในปริมาณและช่วงเวลาที่กำหนด พ่วงไปกับโปรแกรมอาหารเสริมที่เทรนเนอร์จัดให้ สลับกับการออกกำลังวันละ 3 ครั้ง สัปดาห์ละ 6 วันเว้นไว้เพียงวันจันทร์ที่จัดให้เป็นวันหยุดของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด

การออกกำลังกายรอบแรกจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 7.00-9.00 น. เป็นการวอร์มร่างกายแบบ Physical Fitness ที่จะเน้นการยืดเหยียดและเวท เทรนนิง เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหลักที่นักแบดมินตันต้องมี เมื่อจบการออกกำลังรอบเช้าก็จะให้ธาตุเหล็ก, วิตามินรวม 21 ชนิด เสริมด้วยวิตามินซีและโอเมก้า 3 ชนิดเม็ดเพื่อบำรุง กินคู่กับน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนเหงื่อที่สูญเสีย ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัวแล้วกลับมาเจอกับเทรนเนอร์อีกครั้งในเวลา 12.00 น.

หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จ การซ้อมรอบหฤโหดของวันก็เริ่มขึ้น อับดุลเผยว่า การซ้อมรอบกลางวันของน้องเมย์จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 12.00-15.00 น. การซ้อมรอบนี้เน้นการตีแบดโดยเฉพาะ โดยจะจัดให้น้องเมย์ซ้อมกับโค้ชและนักกีฬาผู้ชาย เพราะนักกีฬาแบดหญิงในบ้านทองหยอดที่มีทุกวันนี้ยังไม่มีใครต้านน้องเมย์ได้ โดยจะซ้อมทั้งลูกตบ ลูกหยอด ลูกหน้าเน็ท และลูกระดมตบที่จะตีอัดใส่น้องเมย์ในคราวเดียวทีละ 20 ลูก ซึ่งการฝึกในรูปแบบนี้จะทำให้นักกีฬาได้ทั้งฝีมือ ความว่องไว เทคนิค และความแข็งแกร่ง ซึ่งระหว่างแข่งขันก็จะมีให้พักจิบเครื่องดื่มเกลือแร่บ้าง เพราะออกกำลังเกิน 1 ชั่วโมง และหลังจากซ้อมเสร็จก็จะให้ดื่มน้ำส้มหรือน้ำมะพร้าวสด ซึ่งเป็นน้ำตาลกลูโคสธรรมชาติที่นอกจากจะทำให้รู้สึกสดชื่น ยังช่วยเรียกแรงให้กลับคืนมาได้ไว ก่อนจะเริ่มซ้อมอีกครั้งในรอบเย็นที่เวลา 19.00-21.00 น.

นักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำตัวน้องเมย์ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การซ้อมในรอบนี้จะไม่หนักเท่ารอบกลางวัน โดยจะเน้นให้น้องเมย์ตีเป็นเกมส์ เหมือนกับการแข่งขันและในช่วงท้ายจะเล่นแข่งกันร่วมกับนักกีฬาคนอื่นแบบ 3 ต่อ 3 จนครบ 2 ชั่วโมง ซึ่งการซ้อมแบบนี้จะทำให้นักกีฬาจะได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ชินสนาม ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ของกันและกัน โดยหลังจากนั้นภายใน 30 นาที น้องเมย์จะต้องกินเวย์โปรตีนในน้ำนมไร้ไขมัน 0% ที่มีการผสมแคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินซี และเหล็กลงไปด้วย เพื่อบำรุงและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

“สูตรทั้งหมดไม่ได้คำนวณขึ้นพิเศษ เป็นสูตรมาตรฐานที่แนะนำข้างฉลาก เราเน้นให้นักกีฬาได้รับสารอาหารครบถ้วนและได้วิตามินเสริมโดยเฉพาะธาตุเหล็ก เพราะน้องเมย์เป็นคนที่เวลามีประจำเดือนจะมีเยอะทำให้อ่อนเพลียง่าย แล้วก็มีภาวะเลือดจางนิดหน่อยจึงต้องอัดเข้าไปมากหน่อย เรื่องของหวานกินได้ไม่ห้าม แต่นักกีฬาจะรู้ลิมิตตัวเอง อย่างน้องเมย์ชอบกินชาไข่มุกก็ให้กินได้ เพราะซ้อมหนักยังไงก็เบิร์นหมด แต่ถ้าเป็นทัวร์นาเมนที่ไปต่างประเทศก็จะคอยเตือน เพราะไปอยู่ที่อื่นแน่นอนว่าไม่ได้ซ้อมเต็มที่อยู่แล้ว ต้องคอยดูแลน้ำหนักตัวด้วยเพราะมีผลกับความคล่องตัว”

อับดุล เผยต่อไปว่า การออกกำลังของน้องเมย์จะเน้นทุกส่วนในร่างกายเพราะแบดมินตันเป็นเวลาที่ต้องเคลื่อนไหวใช้ความเร็ว แต่จะเน้นหนักไปที่การออกกำลังแขนและขา เพราะขาที่แข็งแรงจะทำให้ไปถึงลูกได้เร็วขึ้น นักกีฬาแบดจึงต้องออกกำลังขาด้วยท่า leg lung ที่เป็นการก้าว-ย่อ ท่านี้จะทำให้เมื่อยต้นขาด้านหน้าแต่จะทำให้ได้ความแข็งแรง พละกำลังและความไว ส่วนแขนจะเน้นการสร้างกล้ามเนื้อไตรเซปด้วยการเล่นเวทเทรนนิงและการกระดกข้อมือ โดยการฝึกซ้อมทั้งหมดจะอยู่ในสานตาเทรนเนอร์เพราะท่าออกกำลังต่างๆ มีความเสี่ยงต่อกระดูกสะบักหรือข้อเท้าพลิกที่หากทำไม่ถูกต้องก็อาจทำให้บาดเจ็บได้

“จะเป็นนักกีฬาระดับโลกได้ต้องมีวินัย ซึ่งข้อนี้น้องเมย์ทำได้ดี นัดซ้อมกี่โมงเขาก็จะมาเตรียมตัวก่อนครึ่งชั่วโมง มายืดเส้นคอยน้องๆ คนอื่น บางอย่างไม่อยากทำ แต่ถ้าโค้ชบอกว่าดีเขาก็ทำ เช่นบางทีไปแข่งต่างประเทศระหว่างพักนักกีฬาก็จะต้องกินกล้วยหอมครั้งละ 1 ลูกเพื่อเพิ่มกำลัง เมย์ไม่ค่อยอยากกิน เพราะบางทีกล้วยเมืองนอกมันไม่อร่อยแข็งไปบ้างงอมไปบ้าง แต่เขาก็ฝืนใจกินนะครับ บางทีก็กินครึ่งใบ ผมเลยใช้วิธีพอน้องเผลอๆ ก็ชวนให้กินลูกใหม่อีกครึ่งลูก กลายเป็นครบ 1 ลูกพอดี สงสารแต่ก็ต้องฝืนใจเพราะเป้าหมายของเราคือโอลิมปิก สนุกดีที่ได้ร่วมงานกับเด็กที่มีความตั้งใจแบบนี้” อับดุล เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ดีนอกจากการดูแลด้านโภชนาการและด้านสรีรวิทยาของนักกีฬาแล้ว อับดุล เผยว่า วิทยาศาสตร์การกีฬายังมีความจำเป็นต่อนักกีฬาในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ด้านชีวกลศาสตร์ทางกีฬา ด้านแห่งเทคนิคที่จะช่วยให้นักกีฬาได้เปรียบเชิงกล ด้านนี้โค้ชจะนำมาใช้มากในเรื่องการเคลื่อนไหว การวางท่า การจับไม้ให้ได้องศาเพื่อให้ได้แรงตบที่เหมาะสมเป็นฟิสิกส์อย่างหนึ่งที่นำมาใช้จริง ด้านการบาดเจ็บทางกีฬาก็จำเป็นเช่นกัน เพราะในการแข่งขันย่อมมีการบาดเจ็บ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาต้องดูแลบาดแผลหรือปฐมพยาบาลเป็น ถึงไม่หายก็ต้องทำให้อาการนักกีฬาดีขึ้นก่อนส่งถึงมือแพทย์ได้ รวมไปถึงด้านจิตวิทยาการกีฬาซึ่งด้านนี้จะมีผลมากในช่วงการแข่งขัน เนื่องจากบางครั้งนักกีฬาอาจไม่มั่นใจ อาจได้รับแรงกดดัน ถูกคู่แข่งหรือกองเชียร์ข่มขวัญ จนทำให้ฟอร์มการเล่นแย่ลง โค้ชและนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่อยู่ข้างสนามจึงมีหน้าที่ให้กำลังใจและปลุกความมั่นใจของนักกีฬาด้วย

“คนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้ว่าวิทยาศาสตร์การกีฬามีประโยชน์อย่างไร แต่ในวงการกีฬาอาชีพนี้ถือว่าขาดไม่ได้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่บ้านเรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ มีสถาบันที่ให้การศึกษาทางด้านนี้น้อย ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์ ทุนวิจัย หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ยังไม่ค่อยมี ทำให้ประเทศไทยค่อนข้างขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์การกีฬา หากมีโครงการที่จะสร้างนักกีฬาเก่งๆ ในอนาคตผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักวิทยาศาสตร์การกีฬาจะถูกสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย” อับดุล กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายภัททพล เงินศรีสุข หรือโค้ชเป้ ผู้ฝึกซ้อมกีฬาให้กับนักแบดมินตันบ้านทองหยอด เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เขาเป็นผู้ฝึกสอนน้องเมย์มาตั้งแต่อายุ 11 ปีจนตอนนี้ผ่านมา 10 ปี ได้เห็นพัฒนาการของน้องเมย์ขึ้นมาเป็นลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเขาเชื่อว่านอกจากจะเป็นวุฒิภาวะที่โตขึ้นของน้องเมย์ ทำให้จัดการความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันได้ดีขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลของวิทยาศาสตร์การกีฬาในลักษณะการฝึกซ้อมและกินอาหาร ที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬา โค้ชและเจ้าหน้าที่ของบ้านทองหยอดได้ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างนักกีฬาแต่ละคนอย่างตรงจุด

“เรื่องการออกกำลังและอาหารโดยตรงจะเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ผมเป็นโค้ชจะเน้นเรื่องเทคนิค ภาพรวมการแข่งขัน ไปจนถึงเรื่องของน้ำหนักตัวนักกีฬา เมย์เป็นคนอดทน มีวินัย เรื่องการซ้อมไม่เคยห่วง และยังกินอาหารได้ดี กินเยอะ ไม่เลือกมากเท่าไร แต่ติดที่เป็นลูกอีสานชอบกินส้มตำ กินข้าวเหนียว น้ำหนักจึงขึ้นง่าย หรือเป็นคนที่ค่อนข้างอ้วนง่ายนั่นเอง บางครั้งจึงต้องลดอาหารให้กินผักผลไม้ หรือกินโปรตีนจากปลาแทน แล้วเขาก็ไม่เหมือนนักกีฬาคนอื่นอีก บางคนก่อนแข่งจะต้องกินขนมปัง หรืออะไรที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเยอะๆ จะได้ตื่นตัว แต่สำหรับเมย์ไม่ได้เลย ถ้ากินของพวกนี้เยอะจะเฉื่อย เล่นไม่ดี อันนี้ผมใช้วิธีสังเกต ซึ่งตอนหลังพอเราจับทางได้ก็ใช้วิทยาศาสตร์พวกปริมาณอาหารเข้ามาจับ ทำให้ฟอร์มการเล่นดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นว่ากีฬาไม่ใช่เรื่องของฝีมืออย่างเดียว เรื่องอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ” โค้ชเป้ กล่าวทิ้งท้าย

1_may

รัชนก อินทนนท์ ในการแข่งขันรอบเซมิไฟนอล ในการแข่งขันสิงคโปร์โอเพ่นเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2016 ที่ผ่านมา (WONG MAYE-E/ AP)

2_may

รัชนก อินทนนท์ ในการแข่งขันรอบเซมิไฟนอล ในการแข่งขันสิงคโปร์โอเพ่นเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2016 ที่ผ่านมา (WONG MAYE-E/ AP)

3_may

รัชนก อินทนนท์ ในการแข่งขันซีเกมส์ ที่ประเทศสิงคโปร์ (JOHN OBREN/ REUTERS)

4_may

รัชนก อินทนนท์ ในการแข่งขัน BWF Worldchampionship ณ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2015 (DARREN WHITESIDE/ REUTERS)

5_may

อับดุลและน้องเมย์ในอิริยาบถสบายๆ ขณะเก็บตัวเข้าแข่งขัน

7_may

การฝึกซ้อมของนักแบดมินตันบ้านทองหยอด

8_may

นายอับดุล อุ่นอำไพ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา บ้านทองหยอด ขณะกำลังยืดเส้นให้น้องเมย์

9_may

นายภัททพล เงินศรีสุข หรือโค้ชเป้ ผู้ฝึกซ้อมกีฬาให้กับนักแบดมินตันบ้านทองหยอด

ที่มา : http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9590000039658