กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ สำหรับปรากฏการณ์ “เจ๊จู” คลิปไวรัลที่โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน ด้วย 1 แสนไลค์ภายใน 1 สัปดาห์ มียอดวิว 2.5 ล้าน ภายใน 2 วัน “ไผท ผดุงถิ่น” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ จะผลักดันให้ “ เจ๊จู” ไปต่ออย่างไร เรามีคำตอบ
ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Builk.com และนายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ บอกว่า คลิปเจ๊จูโด่งดังเป็นกระแสไวรัล ผไทบอกว่า เป็นความฟลุกจริงๆ เพราะความตั้งใจในตอนแรกคือเราต้องการทำคลิปวิดีโอแนะนำวงการก่อสร้างในอีกมุมหนึ่งว่า การนำไอทีเข้ามาช่วยเปลี่ยนวิธีการทำงานคือให้ร้านขายวัสดุก่อสร้างได้อย่างไร อีคอมเมิร์ซมาช่วยอะไรได้บ้าง
เนื่องจาก Builk.com บุกหนักด้านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น หลังจากกลุ่มผู้ลงทุนเพิ่มก็คือ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) (ไม่เปิดเผยตัวเลขการลงทุน) และ ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ (ลงทุนส่วนตัว) จึงได้ความรู้ในด้านการทำอีคอมเมิร์ซจากภาวุธมาพอสมควร
ภาพรวมของโปรเจกต์การโปรโมต เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี แต่เริ่มมาทำคลิปวิดีโอช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยการตั้งเพจของเจ๊จู หรือ I-JU วัสดุก่อสร้าง เมื่อวันที่ 22 เมษายน เป็นร้านที่สมุมติขึ้นมา โดยมีเจ๊จูเป็นคาแร็กเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้น พร้อมกับสื่อสารด้วยคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับคำคม พร้อมแฝงด้วยการขายสินค้าวัสดุก่อสร้างเป็นมุกตลก
“อีคอมเมิร์ซกับก่อสร้างยังเป็นอะไรที่อธิบายยากอยู่ บิลค์จึงต้องดีไซน์การนำเสนอให้เข้าใจง่ายมากที่สุด เลยออกมาเป็นรูปภาพ และวิดีโอ ตอนทำคลิปยังบอกกับทีมงานเลยว่ามันไม่ไวรัลหรอก อย่าไปคิดอะไรให้มันไวรัลนะ แค่ให้กลุ่มเป้าหมายเราดูแล้วเข้าใจก็พอแล้ว”
ปรากฏว่าคลิปเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนแชร์คอนเทนต์ภายในเพจ หลังจากนั้น 3 วันทางทีมงานของบิลค์ก็ได้ปล่อยคลิปวิดีโอเพื่อรู้จักกับเจ๊จูให้มากขึ้น
“เรื่องคลิปวิดีโอเราเคยประสบความสำเร็จกับคลิปเฮียอู๋เมื่อ 3 ปีก่อน เป็นคลิปที่อธิบายชีวิตผู้รับเหมาคนหนึ่งว่าเคยลำบากยังไง แล้วใช้ไอทีเข้ามาดีขึ้นอย่างไร คลิปนั้นไม่ไวรัล แต่คนในวงการก่อสร้างยิ้มและเข้าใจ เราต้องการให้เป็นแบบนั้น เราเลยต่อยอดมาเป็นเจ๊จู ตอนแรกเราก็คิดว่าให้เท่าเฮียอู๋ก็ดีแล้ว แต่ปรากฏว่าไปไกลกว่าเฮียอู๋อีก”
สำหรับนางเอกของโปรเจกต์นี้อย่าง “เจ๊จู” ไผทบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก “เจ๊จง” เจ้าของร้านข้าวหมูทอดชื่อดังย่านพระราม 4 เพราะมีคาแร็กเตอร์ที่ชอบไอทีอย่างที่ต้องการพอดีพอดี
“ตอนแรกจะใช้ชื่อว่าเจ๊กวง เพราะอยากได้ชื่อแบบจีนๆ แต่มาดูแล้วมันไม่ติดปากเท่าไหร่ และพอดีได้ไปทานข้าวร้านหมูทอดเจ๊จง แล้วเห็นเจ๊จงกำลังหัดเล่น Facebook Live เลยมาคิดว่านี่เป็นคาแร็กเตอร์ที่เราต้องการ อยากได้เจ๊ที่เล่นไอทีหน่อย เลยมาเป็นเจ๊จู เป็นคุณป้าฮิปสเตอร์ ชอบสตีฟ จ็อบส์ คืออยากให้มันตรงข้ามกับคาแร็กเตอร์มนุษย์ป้า”
ไผท บอกว่า ในตอนแรกทางทีมงานได้เขียนบทให้เจ๊จูไม่ประสบความสำเร็จในการขายของบนโลกออนไลน์ บนเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เพื่อที่จะสื่อว่าให้เจ๊มาใช้บริการเว็บไซต์ของ Builk.com จะขายของง่ายกว่า แต่พอมีกระแสขึ้นมา เพจดัง ร้านดัง เหมือนกับว่าร้านเจ๊จูประสบความสำเร็จในการขายของ ทำให้ทางทีมงานต้องปรับการสื่อสารเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
“ถึงแม้ร้านจะดังแค่ไหน แต่เจ๊จูก็ขายของออนไลน์ไม่ได้ คนไปคิดว่าจะไปฝากร้านตามอินสตาแกรมของดารา แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่ถูกที่ถูกเวลา ควรมาขายในคอมมูนิตี้ที่มีแต่ผู้รับเหมาอย่าง Builk เจ๊จูจะได้ออเดอร์เต็มๆ เป็นตัวอย่างให้คนขายวัสดุก่อสร้างเห็นว่าควรขายให้ถูกที่”
สำหรับในอนาคตคาแร็กเตอร์ของเจ๊จูก็ยังคงอยู่ เพจของเจ๊จูก็ยังคงอยู่ แต่จะแยกออกจาก Builk ชัดเจน ให้เป็นคาแร็กเตอร์ของเจ๊จูต่อไป ไผทบอกว่า หรืออาจจะพาเจ๊จูไปออกงานอีเวนต์บ้าง อย่างที่ล่าสุดได้พาไปงานสถาปนิก 59 และงาน Startup Thailand เจ๊จูก็ได้รับความนิยมอย่างมาก มีคนเข้ามาขอถ่ายรูปพร้อมทำท่าจับคางที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเจ๊จู
“เราเชื่อว่า Life cycle ของเจ๊จูคงไม่นาน ไม่มีเน็ตไอดอลคนไหนอยู่ได้นานอยู่แล้ว คนจะมีประสบการณ์กับอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดแน่ๆ บนโลกโซเชียล แต่เราอยากให้เจ๊จูเป็นคุณป้าที่น่ารักก็จะมีโพสต์คอนเทนต์บ้าง แต่เราไม่คิดรายได้จากตรงนี้ ตอนนี้มีเอเจนซี่ หรือแบรนด์เข้ามาถามเต็มไปหมดเรื่องจะให้เจ๊จูโฆษณาสินค้าให้ แต่เราไม่เอา ไม่ได้อยากหารายได้ตรงนี้ แต่ว่าในปีนี้จะมีโปรเจกต์เซอร์ไพรส์ของเจ๊จูอย่างแน่นอน”
Builk เตรียมบุกอีคอมเมิร์ซ
บิลค์เป็นสตาร์ทอัพที่มีอายุได้ 6 ปีแล้ว โดยที่ผ่านการสร้างโมเดลธุรกิจมาหลายสเต็ปพอสมควร เริ่มต้นจากสเต็ปแรกที่ได้ทำโปรแกรมฟรีให้ใช้ และบิลค์ก็จะได้รายได้จากค่าโฆษณา สเต็ปสองพอมีคนใช้งานเยอะขึ้นก็มาทำบิ๊กดาต้าส่งให้กับแบรนด์ เอาข้อมูลเรื่องการก่อสร้าง ผู้รับเหมาใช้แบรนด์อะไรเยอะ มาถึงสเต็ปที่สามได้เข้าเรื่องอีคอมเมิร์ซ เริ่มขายเองก่อนจากการดูออเดอร์ของผู้รับเหมา แล้วสั่งรวมกันทีเดียวทำให้ลดต้นทุนได้ และสเต็ปที่สี่ทีจะทำคือมาร์เก็ตเพลส
“บิลค์ได้เริ่มทำอีคอมเมิร์ซเริ่มเมื่อปีที่แล้ว เป็นช่วงทดลองโมเดลธุรกิจอยู่ว่าจะขายวัสดุก่อสร้างอย่างไร ปีที่แล้วมี 30 รายการที่เอาขึ้นมาขายก่อน ปีนี้มีของมาขายเยอะขึ้น ปีนี้เราก็มาคิดว่าจะเชิญพวกร้านวัสดุก่อสร้างรายเล็กๆ จริงๆ เราอยากจะเป็นมาร์เก็ตเพลสมากๆ แต่มันยังไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เลยถอยออกมาลองขายเองดูก่อน เลยเปิดร้านจำลองชื่อว่า Yello พอเราขายเป็น รู้ว่าคนซื้อคนขายต้องการอะไร เราก็จะเปิดมาร์เก็ตเพลส แผนในการเปิดมาร์เก็ตเพลสอยู่ในปีนี้อยู่ในไตรมาส 4 แต่คลิปเจ๊จูทำให้เรามาเร็วขึ้น จะใช้ชื่อว่า Builkmarketplace คลิปเจ๊จูทำให้เราง่ายขึ้น ก็มีร้านค้าส่วนหนึ่งที่มาจากเจ๊จูอยากฝากขาย”
บิลค์มองโอกาสสำคัญจากการบุกตลาดของห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ ตามต่างจังหวัดอาจจะทำให้ร้านเล็กๆ ปิดตัวลงได้เหมือนกัน บิลค์จึงพยายามที่พลักดันให้ร้านกลุ่มนี้เข้ามาขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของบิลค์ และมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศมากมาย ทำให้ช่วยแข่งขันกันได้
“ความท้าทายใน Builk ยังมีอีกเยอะ ตอนนี้เราเพิ่งเข้าถึงกลุ่มผู้รับเหมาที่เป็น Under 40 อยู่เอง มีสองทางคือรอให้รุ่นใหญ่ๆ ส่งธุรกิจมาให้รุ่นลูก หรือจะดึงคนรุ่นใหญ่ๆ มาปรับใช้ไอที จากจำนวนผู้รับเหมาทั้งหมดในไทย 80,000 ราย มีผู้ใช้ไอที 10,000 รายและไม่แอ็กทีฟด้วย เราต้องการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ของบิลค์ที่แต่เดิมมีจำนวน 45,000 ร้าน จากจำนวนทั้งหมดในไทย 1 ล้านร้านค้า ทำให้มีโอกาสอีกเยอะ ทำได้อีกหลายปีเลย”
“สตาร์ทอัพ” ยังไงก็ต้องใช้เวลา
ในฐานะที่ไผทเป็นนายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ด้วย จึงได้ฉายภาพวงการสตาร์ทอัพในยุคปัจจุบันว่าคึกคัก และตื่นตัวกันดี แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง
“วงการสตาร์ทอัพในบ้านเราตอนนี้ตื่นตัวกันดี แต่เราเป็นประเทศสุดท้ายแล้วจริงๆ ที่พูดเรื่องสตาร์ทอัพ ในบรรดาประเทศดาวรุ่ง เมืองไทยพูดเรื่องสตาร์ทอัพเป็นกลุ่มเล็กๆ ตอนปี 2012 เราเสียโอกาสไปเยอะแล้ว ถ้าจะทำต้องเอาประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาพื้นฐานยังเป็นเรื่องกฎหมายมันยังล้าหลังอยู่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติ หรือหุ้นส่วนต่างๆ จะกังวล กฎหมายพื้นฐานด้านการออกหุ้น
เราไม่ค่อยมีความต่อเนื่องในเรื่องนโยบาย สิ่งที่พูดกับรัฐบาลก็คือ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปัญหาของคนไทยอย่างจราจร หรือการพูดคุยกัน การสื่อสาร จะถูกสตาร์ทอัพต่างประเทศเข้ามาตี และพวกนี้มาเร็วและแรง เงินก็ไหลออก ทุกวันนี้เงินก็ไหลไปให้เฟซบุ๊ก หรอืกูเกิลกันหมดแล้ว”
ส่วนในด้านเงินลงทุนจากวีซีนั้น มีจำนวนเยอะขึ้นปีละ 100% ปี 2558 ที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญ แต่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ปาเข้าไป 500 ล้านเหรียญแล้ว ปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นอีกเพราะรัฐบาลสนับสนุน
“ในประเทศไทยตอนนี้มีจำนวนสตาร์ทอัพประมาณ 1,000 ราย อัตราการตาย 90% เราเห็นเยอะว่าที่เปิดมา 6 เดือน แต่โมเดลธุรกิจไม่เกิดก็เลยเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ซึ่งส่วนใหญ่สตาร์ทอัพเป็นในกลุ่มของไอที เพราะทำให้ขยายตัวได้เร็ว คือการนำไอทีมาใส่ในธุรกิจอื่นๆ เป็นเรื่องที่แก้ปัญหาอะไรอย่างหนึ่ง
โดยที่เทรนด์สตาร์ทอัพในช่วง 2-3 ปีทีแล้วคนคิดว่าทำแอปพลิเคชั่นอะไรก็รวย แอปอะไรก็ได้ บ้าๆ บอๆ ที่ไม่แก้ปัญหาอะไรให้มนุษย์ อย่างที่สองอีคอมเมิร์ซ อย่างปีทีแล้วเป็นอูเบอร์ ฟอร์ซัมติง มาร์เก็ตเพลส IoT เป็นไอตามกระแสไอทีของโลก
สุดท้ายไผทได้ฝากคำแนะนำในการที่จะลงมือทำสตาร์ทอัพโจทย์ต่อไปของสตาร์ทอัพในไทย “คีย์เวิร์ดคือการค้นหา รู้จักลองผิดลองถูก ทดลอง ปรับแผน พอสำเร็จก็ทำอีก ไม่สำเร็จก็หยุด ทีมงานเริ่มต้นต้องมีสกิลครบ คนทำธุรกิจ เทคโนโลยี ดีไซน์ มีโอกาสให้สตาร์ทอัพไปต่อได้ ในการลงทุนเบื้องต้นมีการลงทุนในระดับหลักแสนก่อนก็พอแล้ว”