เทสโก้ โลตัส ผนึกกำลังกรมวิชาการเกษตรตามโมเดลประชารัฐ หนุนเกษตรกรไทยเพาะไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงใช้เอง ต้นทุนเพียง 10% เทียบกับการใช้ยาฆ่าแมลง

ฤดูแล้งที่ผ่านมา นอกจากเกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาผลผลิตน้อยลงเนื่องจากขาดน้ำใช้ในการเกษตรแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เกษตรกรที่ปลูกผักต้องรับมือ คือ ปัญหาแมลงระบาด กัดกินผลิตผลโดยเฉพาะกะหล่ำปลี ผักกาดขาว และมะเขือเทศ ที่บางแห่งเสียหายเกือบครึ่ง ไม่สามารถขายได้ นำมาซึ่งการสูญเสียรายได้

เทสโก้ โลตัส ในฐานะผู้รับซื้อผักและผลไม้ตรงจากเกษตรกรไทยมากถึงปีละ 150,000 ตัน จึงได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเดินสายให้ความรู้กับเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ในการเพาะไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Steinernema sp. Thai strain) ไว้ใช้เอง โดยมีต้นทุนค่าวัสดุเพาะเลี้ยงเพียงแค่ 100 บาทต่อไร่ต่อครั้ง เทียบกับการใช้ยาฆ่าแมลง ที่มีต้นทุนระหว่าง 700-1,000 บาทต่อไร่ต่อครั้ง โดยนอกจากจะช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันและกำจัดแมลงอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของเกษตรกรจากการใช้สารเคมี และความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

นางสาวพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “ด้วยมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพที่เทสโก้ โลตัส กำหนดสำหรับการรับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกร ที่ผ่านมาในช่วงหน้าแล้งที่มักจะพบปัญหาแมลงระบาด ผลิตผลที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะผักใบ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว และผักคะน้า ในบางส่วนไม่ผ่านมาตรฐานด้านคุณภาพของเรา แต่วิธีการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเพิ่มการใช้ยาฆ่าแมลง เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ของเทสโก้ โลตัส เพราะอาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ฉะนั้น เราจึงได้ประสานงานไปยังกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการและมีผลงานวิจัยไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย โดยเทสโก้ โลตัส ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐและเกษตรกรที่เราทำงานด้วย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรสามารถเพาะไส้เดือนฝอยไว้ใช้เองได้ โดยเลือกเกษตรกรในอำเภอฮอด อมก๋อย และแม่สะเรียง จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เป็นโมเดลต้นแบบ ก่อนขยายผลไปสู่เกษตรกรในเขตพื้นที่อื่นๆ”

นางจัน ปานง้วน อายุ 40 ปี เกษตรกรจากอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าสวนมะเขือเทศขนาด 3 ไร่ของตน ประสบกับปัญหาหนอนกินเกสร ทำให้ผลมะเขือเทศมีตำหนิและไม่สามารถขายได้ในราคาที่ดี ที่ผ่านมา ต้องพ่นยากำจัดแมลง ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากถึงร้อยละ 50-60 ของรายได้จากการขายผลผลิตทั้งหมด หลังจากที่ได้ดูการสาธิตจากเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรแล้ว รู้สึกมีความสนใจที่จะทดลองเพาะไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงเอาไว้ใช้เอง และคิดว่าวิธีการไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ก็ล้วนเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด

ส่วนนายวรวุฒิ พนมไพร อายุ 42 ปี เกษตรกรจากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ปัญหาที่ตนและเพื่อนเกษตรกรประสบในช่วงฤดูแล้งนี้ คือปัญหาแมลงและโรค โดยเกษตรกรขาดความรู้ว่าต้องใช้สารชนิดใดในการกำจัดแมลงชนิดต่างๆ จึงทำให้เกิดการลองผิดลองถูก เปลี่ยนยาฆ่าแมลงที่ใช้ไปเรื่อยๆ ในบางครั้งมากกว่า 20 ชนิด หมดเงินกับค่ายา ค่าปุ๋ย ไปเป็นจำนวนมาก ผลผลิตครึ่งต่อครึ่งโดนแมลงกินไม่สามารถขายได้ ที่ผ่านมาตนรู้สึกว่าขาด “หัวเรือ” ที่ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา ประกอบกับการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ทำให้มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรและภาครัฐค่อนข้างมาก

ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย เป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร โดย ดร. นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา สังกัดสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เริ่มงานวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เพื่อนำมาใช้ลดหรือทดแทนสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมถึงสารชีวภัณฑ์การค้าอื่นๆ ที่มีราคาค่อนข้างสูง หาซื้อยาก อาจประสบปัญหาขณะเก็บรักษา และช่วงเวลาในการขนส่งผลิตภัณฑ์ที่มีผลทำให้สารชีวภัณฑ์ลดประสิทธิภาพในการฆ่าแมลงได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย ที่มีคุณสมบัติทนทานอุณหภูมิได้สูง มีศักยภาพในการกำจัดแมลงได้หลายชนิด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงขยายปริมาณในอาหารเทียมแบบง่ายๆ และมีต้นทุนต่ำ โดยใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ซื้อหาได้ง่ายตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ ฟองน้ำ น้ำมันหมู หม้อนึ่งฆ่าเชื้อ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรสามารถทำใช้เองได้ไม่ยุ่งยาก

การทำงานของไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง คือเข้าสู่ตัวแมลงผ่านทางช่องเปิดตามธรรมชาติ ได้แก่ ทางปาก ช่องขับถ่าย หรือรูหายใจทางผิวหนังของแมลง จากนั้น ไส้เดือนฝอยจะปล่อยแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดของแมลง สร้างสารพิษที่มีผลทำให้แมลงเกิดภาวะเลือดเป็นพิษและตายภายในเวลา 12 ชั่วโมง โดยไส้เดือนฝอยมีความปลอดภัยต่อมนุษย์ เนื่องจากไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลือดอุ่น ทำให้ผู้บริโภคไว้วางใจได้ว่า ผักและผลไม้มีความปลอดภัยอย่างแน่นอน

ดร. นุชนารถ กล่าวเสริมว่า “ความสำเร็จอย่างแท้จริงของการวิจัยครั้งนี้ ไม่ได้อยู่แค่เพียงได้เทคโนโลยีและการคิดค้นเท่านั้น แต่รวมไปถึงการนำไปขยายผลและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสิ่งสำคัญคือการยอมรับของเกษตรกร ซึ่งเทสโก้ โลตัส มีบทบาทในการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเมื่อนำไปใช้และปฏิบัติจริง เกษตรกรจะเห็นผลว่าไส้เดือนฝอยสามารถกำจัดแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถกำจัดศัตรูพืชที่สำคัญในผักได้อย่างครอบคลุม ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบ ด้วงหมัดผัก รวมถึงปลวกในสวนผลไม้ สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน อีกด้วย”

เป้าหมายของเทสโก้ โลตัส และกรมวิชาการเกษตรในเบื้องต้นคือการให้เกษตรกรตั้งกลุ่มเพื่อผลิตไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง และกระจายไส้เดือนฝอยที่เพาะได้ไปสู่เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ และจะมีการเดินสายเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

“การร่วมมือกันตามโมเดลประชารัฐ เป็นการผนวกจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เทสโก้ โลตัส ทำงานร่วมกับเกษตรกรจำนวนมากทั่วประเทศไทย จึงทราบดีถึงปัญหาที่เกษตรกรประสบ แต่ขาดความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิค ซึ่งในจุดนี้ กรมวิชาการเกษตรสามารถเติมเต็มให้ได้” นางสาวพรเพ็ญ กล่าวสรุป

กรรมวิธีการทำอาหารเทียมเพื่อเพาะไส้เดือนฝอย

  • ใช้ไข่ไก่ 4-5 ฟอง ผสมน้ำมันหมู 130 ซีซี และน้ำ 260 ซีซี คลุกกับก้อนฟองน้ำตัดรูปทรงสี่เหลี่ยม 40 กรัม แล้วนำไปใส่ในภาชนะกล่องพลาสติกพร้อมฝาปิดหรือถุงทนร้อน แบ่งเท่าๆ กัน จำนวน 20 กล่องหรือถุง จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งไอน้ำเดือดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

  • เมื่ออาหารเทียมเย็น ทำการใส่หัวเชื้อไส้เดือนฝอย 50,000 ตัวต่อภาชนะ ด้วยกระบอกฉีดยาพร้อมเข็มสะอาด นำไปบ่มเพาะเป็นเวลาเพียง 7 วัน หัวเชื้อไส้เดือนฝอยจะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้มากกว่า 300 เท่า หรือได้ไส้เดือนฝอยเฉลี่ย 15 ล้านตัวต่อภาชนะ หรือ 20 ภาชนะได้ 300 ล้านตัวต่อ 1 รอบการผลิต

  • เกษตรกรสามารถนำไปพ่นกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ในพื้นที่เฉลี่ย 1 ไร่ คิดเป็นต้นทุนประมาณ 100 บาทต่อการพ่น 1 ครั้ง โดย 1 ฤดูปลูกพ่นกำจัดแมลงเฉลี่ย 5 ครั้ง คิดเป็นเงิน 500 บาทต่อไร่